http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-14

เกาะติด "สื่อดาวเทียม" เอเอสทีวี-บลูสกาย-เอเซียอัพเดท ศึกชิงมวลชนกลางอากาศ

.
บทความเรื่องของสื่อ - " คุกคาม " โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เกาะติด "สื่อดาวเทียม" เอเอสทีวี-บลูสกาย-เอเซียอัพเดท ศึกชิงมวลชนกลางอากาศ
จากมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 23:00:00 น.


ถ้า "เอเอสทีวี" เป็นสื่อกลางของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) สถานี "บลูสกาย แชนแนล" หมายถึงสื่อของพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดียวกัน เอเชียอัพเดท, วอยซ์ทีวี หมายถึงตัวแทนของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดง

วันนี้ ทั้งสามค่ายต่างเดินหน้าช่วงชิงมวลชนกลางอากาศกันอย่างอุตลุด
ผ่านช่องทาง เครื่องมือ และเม็ดเงินที่ตัวเองมีอยู่ในมือ


จุดเสื่อม "พันธมิตรฯ" พัวพันการเมือง?

"สนธิ ลิ้มทองกุล" เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและกลุ่มธุรกิจ "เอ็มกรุ๊ป" ปลุกปั้นเอเอสทีวี จนกระทั่งได้รับความนิยมอย่างสูง ช่วงปลุกระดมขับไล่รัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" นายสนธิอ้างว่าสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรฯมีมากถึงล้านคน

ให้หลังเหตุการณ์ "รัฐประหาร" เดือนกันยายน ปี 2549 ความนิยมของกลุ่มพันธมิตรฯเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วและเสื่อมหนักมากขึ้นอีก เมื่อแกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯประกาศตั้งพรรค "การเมืองใหม่" ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น เคยประกาศอย่างดุดันว่า ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง

พรรคการเมืองใหม่ ทดสอบพลังศรัทธาของสมาชิกกลุ่มเสื้อเหลือง ด้วยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ปรากฏว่าผู้สมัครไม่ได้รับเลือกแม้แต่ที่นั่งเดียว!


ความเสื่อมศรัทธาที่มีต่อแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ยิ่งเห็นได้ชัดมากขึ้นเมื่อแกนนำออกมาเรียกร้องทวงคืนเขาพระวิหาร เมื่อเดือนมกราคม 2554 กลุ่มพันธมิตรฯไปร่วมชุมนุมน้อยลงมาก เหลือเพียงแค่สาวกสันติอโศกที่มาร่วมกิจกรรมกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมืองเท่านั้น

ก่อนนายอภิสิทธิ์จะประกาศยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รณรงค์ให้ "โหวตโน" เสียงขานรับก็ไม่ได้กระหึ่มเหมือนเก่า


เอเอสทีวีวูบ-สนธิเหน็บเสื้อเหลือง

ความนิยมที่ลดลงนั้น ส่งผลสะเทือนไปถึงรายได้ของเอเอสทีวี ซึ่งรูดหายอย่างรวดเร็ว

เดือนตุลาคม 2554 จอภาพ "เอเอสทีวี" ดำมืด เพราะ "สนธิ" ค้างค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมเอ็นเอสเอส 6 (News Sky Satellite)ของเนเธอร์แลนด์ รวม 6 เดือน เป็นเงิน 4 แสนเหรียญสหรัฐหรือราว 12 ล้านบาท

"สนธิ" บอกว่า พยายามเจรจาผ่อนชำระหนี้ แต่ NSS-6 เปลี่ยนเจ้าของใหม่ และรอขายทรัพย์สินอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นทรัพย์สินอะไรเพื่อระดมทุนปลุกเอเอสทีวีอีกรอบในระหว่างนั้นปรับแผนเผยแพร่สัญญาณเอเอสทีวีใหม่โดยเน้นส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและถ่ายทอดสัญญาณเสียงจากสถานีวิทยุชุมชน ความถี่ 97.75 เมกกะเฮิร์ตซ์

"เอเอสทีวีเป็นทีวีที่ยืนอยู่บนความถูกต้องแต่ไม่ค่อยมีใครมาลงโฆษณาเพราะขายความจริง การทำเอเอสทีวีเราไม่ได้เอาเงินจากการคอร์รัปชั่นแล้วมาสร้างทีวีเพื่อสนับสนุนการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นแล้วจะเห็นได้ชัดว่า ทีวีเสื้อแดงมีเงินเข้ามาสนับสนุนตลอดเวลาไม่มีหยุด ส่วนทีวีอีกฝ่ายหนึ่งมีเงินมีทองของเขา ส่วนของเราเนื้อๆ เลยคือเราต้องกัดฟันต่อสู้ เราสู้มาตั้งแต่ปลายปี 2547 รวมเวลาแล้วก็เกือบ 7 ปี" นายสนธิให้สัมภาษณ์หลังสัญญาณดาวเทียมเอเอสทีวีถูกตัด

"สนธิ" ยังบอกอีกว่า ตลอด 7 ปี ขายทรัพย์สินหมดไปพันกว่าล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 20-30 ล้านบาท หรือปีละ 240 ล้านบาท เพื่อเอาโปะเอเอสทีวีและยังเหน็บแนมสมาชิกเสื้อเหลืองที่ดูอยู่หน้าจอเอเอสทีวีว่า เป็นพวกนั่งเชียร์


จับตา10มีนาฯ "สนธิ" ปลุกพลัง พธม.

ให้หลังไม่นานนัก "เอเอสทีวี" ยิงสัญญาณขึ้นดาวเทียม NSS-6 อีกครั้ง แต่ใช้ช่องสัญญาณใหม่ คลื่นความถี่ 11635 H (horizontal) 27500 ในชื่อ "นิวส์วัน เอเอสทีวี ไลฟ์"

"นิวส์วัน" ยิงสัญญาณผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังสถานีส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียมที่ฮ่องกงแล้วส่งไปยังดาวเทียม NSS-6 ยิงสัญญาณลงมายังประเทศไทย

ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การกลับมาของเอเอสทีวี เป็นเพราะ "สนธิ" ขายทรัพย์สินไปชดใช้หนี้ให้กับเจ้าของ NSS-6 เรียบร้อยแล้ว หรือ ผู้เช่าช่องสัญญาณ NSS-6 อนุญาตให้เอเอสทีวีออกอากาศ

ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ "สนธิ" สามารถใช้เครื่องมือที่เคยทรงพลัง "นิวส์วัน" ปลุกกลุ่ม "พันธมิตรฯ" ต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ให้กระหึ่มเหมือนเมื่อครั้งลุกฮือขับไล่ "ทักษิณ" ได้หรือไม่ต้องติดตามดู

เนื่องเพราะพลังศรัทธาที่มีต่อแกนนำพันธมิตรฯ เสื่อมลง

และไม่เพียงจะเสื่อมเท่านั้น หากนายสนธิ เป็นแกนนำคนสำคัญยังเผชิญวิบากกรรมมากมาย โดยเฉพาะคดีการฟ้องร้องหมิ่นประมาท คดีหมิ่นเบื้องสูง คดีทุจริตตลาดหุ้นฯลฯ

ล่าสุด ศาลอาญา รัชดาฯ พิพากษาจำคุกนายสนธิ กรรมการบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด เป็นเวลา 85 ปี ฐานร่วมทำหลักฐานเท็จ ค้ำประกันให้บริษัทเอ็มกรุ๊ป กู้เงินธนาคารกรุงไทยจำนวน 1,078 ล้านบาท



กำเนิด "บลูสกาย" ใต้เงา ปชป.

ท่ามกลางความระส่ำระสายของ "เอเอสทีวี" บรรดาแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์กลับเห็นว่าอนาคตทีวีดาวเทียมจะเป็นพลังสำคัญยิ่ง

ในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 3กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยคว้าชัยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นเพราะการหาเสียงผ่านสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม

"เอเซียอัพเดท" และ "วอยซ์ทีวี" ที่ยิงสัญญาณทั้งภาพและเสียงของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยผ่านดาวเทียมตรงไปยังเป้าหมายสำคัญ อันได้แก่พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้ผู้ชมทั้งสองสถานีซึมซับแนวนโยบาย "เพื่อไทย" มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ

พรรคเพื่อไทยกวาดคะแนนมากถึง 15.74 ล้านเสียง เปรียบเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ 11.43 ล้านเสียง ทั้งๆที่พรรคประชาธิปัตย์คุมอำนาจการบริหารประเทศไว้ในมือ

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ถึงกับเอ่ยปากว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรจะมีสื่อ "ดาวเทียม" ไว้ในมือเพื่อรองรับในศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป

จากนั้นไม่นานนักพรรคประชาธิปัตย์อ้างว่า บรรดาคนชื่นชมและรักพรรคประชาธิปัตย์ลงขันระดมทุนจัดตั้งสถานีดาวเทียม "บลูสกาย แชนแนล" เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของพรรคประชาธิปัตย์และข่าวสารบ้านเมืองต่างๆ

แต่คนในวงการการเมืองและผู้เชี่ยวชาญทีวีดาวเทียม ปักใจเชื่อ "บลูสกาย แชนแนล" คือสื่อทีวีของพรรคประชาธิปัตย์


ศูนย์รวม ปชป.- คนเกลียด "แม้ว"

บลูสกาย แชนแนล จดทะเบียนด้วยทุน 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 โดยมี "วิทเยนทร์ มุตตามระ" "เถกิง สมทรัพย์" "บุรฤทธิ์ ศิริวิชัย" "ภูษิต ถ้ำจันทร์" และ "รักเกียรติ รัตนมณี" เป็นกรรมการ

สำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารกรุงเทพทาวเวอร์ ชั้น 8 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ระบุประเภทธุรกิจว่ารับถ่ายทำวิดีโอ เทป บันทึกภาพ ภาพนิ่ง

ถ้าจับโยงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ร่วมเป็นกรรมการของ "บลูสกาย แชนแนล" หนีไม่พ้นคนแวดล้อมพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มคนต้าน "ทักษิณ"

"วิทเยนทร์" เป็นคนสนิทของ "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ต่อมา ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีสำนักนายกฯ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

"เถกิง" ผู้อำนวยการสถานี "บลูสกาย แชนแนล" เคยเป็นผู้บริหารของบริษัทว็อชด็อกของกลุ่ม "เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" เจ้าของรายการ "คลายปม" ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ที่โดนเขี่ยทิ้งหลังรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เข้ามา

"บุรฤทธิ์" เคยเป็นหน้าห้อง "กรณ์ จาติกวณิช" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วน "ภูษิต" เคยเป็นผู้กำกับรายการเชื่อมั่นประเทศไทย ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์


สายล่อฟ้าปั่นกระแสถล่ม "ปู"

รายชื่อกรรมการของ "บลูสกาย แชนแนล" ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า ไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งในรายการเกือบทั้งหมดของบลูสกาย แชนแนลที่ออกอากาศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วเป็นรายการที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ร่วมผลิต ร่วมกิจกรรมเกือบทั้งสิ้น ตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ลงไปถึงสมาชิกคนดังๆของพรรค

อย่างเช่นรายการ "สายล่อฟ้า" เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ล้วนๆ ได้แก่ "ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต" "นายเทพไท เสนพงศ์" และ "ศิริโชค โสภา" มีเป้าหมายวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เน้นถล่มรัฐบาล”ยิ่งลักษณ์”เป็นการเฉพาะ

การนำประเด็น "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" มีภารกิจ "ว.5" ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์มาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเมามันในรายการ "สายล่อฟ้า" สร้างแรงกระเพื่อมทั้งบวกลบต่อภาพลักษณ์ของ "บลูสกาย แชนแนล"

นักสื่อสารมวลชน อย่าง "สมเกียรติ อ่อนวิมล" ถึงกับวิพากษ์ 3 เกลอร่วมจัดรายการ "สายล่อฟ้า" ว่า หยาบโลน ลามก ขาดจริยธรรม

แต่ "ศิริโชค" ออกมาตอบโต้ว่า "สมเกียรติ" มองแค่เสี้ยวเดียว และถือว่าการทำรายการนี้เป็นการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับประชาชน

แถมยังอ้างอีกว่า ประเด็น "โฟร์ซีซั่นส์" มีผู้ชมเข้าดูมากทำสถิติสูงสุด ออกอากาศไม่ถึงชั่วโมงมีผู้ส่งข้อความเอสเอ็มเอสเข้ามามากถึง 2 พันข้อความ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ "บลูสกาย แชนแนล" ถ่ายทอดสัญญาณ จำนวนคนดูเอเอสทีวี ที่ต่ำอยู่แล้วยิ่งต่ำลงไปอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นเขตอิทธิพลของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งใน กทม. ภาคกลางและภาคใต้ 14 จังหวัด เพราะคนดูเอเอสทีวีกับบลูสกายฯ อยู่ในฐานเดียวกัน


หวังผลการเมือง-ไม่เน้นกำไรธุรกิจ

"บลูสกาย แชนแนล" ใช้ทุนดำเนินงานมากน้อยเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่นอนมีผังรายการเผยแพร่ภาพตลอด 24 ชั่วโมง

ถ้านิวส์วัน เอเอสทีวี เสียค่าใช้จ่ายรายเดือนในการเช่าสัญญาณยิงดาวเทียมเดือนละเฉลี่ย20-30ล้านบาท บลูสกายแชนแนล ต้องใช้เงินไม่น้อยไปกว่านั้น เนื่องจากบลูสกาย ยิงสัญญาณไปยังดาวเทียม NSS-6 เหมือนนิวส์วัน รวมทั้ง KU-band , C-band และช่องสัญญาณของดาวไทยไทยคม

การทุ่มทุนของ "บลูสกาย แชนแนล" อย่างมหาศาล จึงมีเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าผลกำไรทางธุรกิจ เพราะตลอด3เดือนเศษ ทีวีดาวเทียมช่องนี้แทบไม่มีโฆษณา

กล่าวโดยสรุปจุดกำเนิดของ "บลูสกาย แชนแนล" เกิดขึ้นจากผลการพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ต่อพรรคเพื่อไทยซึ่งมีทีวีดาวเทียมเอเชียอัพเดท และวอยซ์ ทีวี เป็นเครื่องมืออันทรงพลังนั่นเอง



เอเซียอัพเดทยึดพื้นที่เหนือ-อีสาน

ย้อนกลับไปเดือนกรกฎาคม 2553 พรรคเพื่อไทย เปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมชื่อ "เอเชีย อัพเดท" ดำเนินงานของบริษัทเดโมเครซี นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (ดีเอ็นเอ็น) ตั้งอยู่ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลลาดพร้าว

กรรมการของดีเอ็นเอ็นในเวลานั้นมี 2 คนคือ "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน ปัจจุบันคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ "วิมล จันทร์จิราวุฒิกุล" อดีตคณะทำงานวิชาการและนโยบายพรรคพลังประชาชน (พปช.)

เอเชีย อัพเดท ดึงแกนนำเสื้อแดงมาอยู่หน้าจอทีวีไม่ว่าจะเป็น "จตุพร พรหมพันธุ์" "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" พร้อมป้อนลงรายการส่วนใหญ่มุ่งโจมตีรัฐบาล "อภิสิทธิ์"

เรตติ้งของเอเชีย อัพเดท กระฉูดในพื้นที่ที่มีคนเสื้อแดงหนาแน่น ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไต่อันดับเกือบรดต้นคอ "เนชั่น แชนแนล" ของกลุ่มเนชั่น

แต่เรตติ้งในภาคใต้เอเซีย อัพเดท แทบเป็นศูนย์ หลัง "บลูสกาย ฯ" ยิงสัญญาณ


ขณะที่ "วอยซ์ ทีวี" เป็นของตระกูล "ชินวัตร" มี "บรรณพจน์ ดามาพงศ์" "พานทองแท้ และ พินทองทา ชินวัตร" ถือหุ้นใหญ่

วอยซ์ ทีวี เจาะกลุ่มคนในเมืองที่นิยมชมชอบแนวทางของกลุ่มคนเสื้อแดงและนโยบายพรรคเพื่อไทย

แม้เพื่อไทยสามารถคว้าชัยชนะและจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว แต่ยังมองเห็นว่า ความจำเป็นที่ต้องขยายฐานผู้ชมผ่าน "เอเซีย อัพเดทและวอยซ์ ทีวี" เป็นเรื่องจำเป็น


เมื่อไม่นานมานี้ เอเซียอัพเดท รุกคืบด้วยการตะลุยติดตั้งกล่องรับสัญญาณในพื้นที่ภาคกลาง ที่พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ศึกชิงมวลชนกลางหาว เอเอสทีวี-บลูสกาย แชนแนล-เอเซีย อัพเดทและวอยซ์

เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง !!!



+++

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน : คุกคาม
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นวันนักข่าว บังเอิญประเพณีการให้นักข่าวได้พักปากกา 1 วัน ไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันแม้แต่ฉบับเดียว วางจำหน่ายในเช้าวันที่ 5 มีนาคมนั้น ได้ยกเลิกไปหลายปีแล้ว

สังคมทั่วไปเลยไม่ค่อยได้รับรู้ถึงวันสำคัญของสื่อมวลชนนี้

แต่สำหรับคนในวงการ ถือเป็นวันที่มีความหมาย ได้ศึกษาเรียนรู้จากนักข่าวรุ่นพ่อรุ่นพี่ ที่ใช้ปากกาเป็นอาวุธในการค้นหาความจริง เปิดโปงความไม่ถูกต้อง ยืนข้างประชาชนคนส่วนใหญ่ที่ทุกข์ยากและไม่มีปากเสียง

ที่สำคัญต้องเรียนรู้จิตใจกล้าหาญ ไม่หวั่นไหวต่ออำนาจมืด ปากกระบอกปืนเผด็จการ ที่มักจะดิ้นรนปกปิดกระจกสะท้อนความจริง

อันเป็นเครื่องตอกย้ำว่า หลักประกันของเสรีภาพสื่อมวลชนที่ดีที่สุด ก็คือการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนคนส่วนใหญ่มีสิทธิมีเสียง

หลักสำคัญที่นักข่าวรุ่นพี่รุ่นพ่อสั่งสอนกันมาประการนี้ จึงทำให้นักข่าวที่มีจิตวิญญาณ จะต้องเลือกข้างฝ่ายประชาธิปไตย ปฏิเสธอำนาจเผด็จการ

แม้จะเกลียดใครหรือจะรักใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ

แต่ต้องไม่หลงหลักการ ต้องไม่ฝักใฝ่เผด็จการ ไม่ไปร้องหาอำนาจที่ไม่อยู่ในมือของประชาชนคนส่วนใหญ่

เพราะนั่นคือหนทางทำลายเสรีภาพในการแสวงหาและนำเสนอข่าวสาร


ในบรรยากาศวันนักข่าวปีนี้ ต้องนึกถึงคำพูดขำๆ "อยากเตะนักข่าว" ของฝาแฝดที่ก่อเหตุชกนักวิชาการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไร้สาระเกินไป

จุดใหญ่ที่ต้องใส่ใจคือการกระทำของฝาแฝดคู่นี้ในการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ

สะท้อนภาพการปลุกปั่นต่อต้านนักวิชาการอย่างไร้เหตุผล ไม่อาจโต้เถียงด้วยสาระแห่งข้อมูล เลยหันไปใช้กำลังแทน

พฤติกรรมไม่ถูกต้องนี้ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย แม้จะเป็นสื่อแนวคิดขวาจัด ก็ไม่ควรเผลอเชียร์วิธีการอันธพาลนี้ได้


ช่วงหลายปีมานี้ สังคมไทยอยู่ในห้วงของความขัดแย้งระหว่างสี

อยู่ในห้วงถกเถียงกันระหว่างเกลียดคนขี้โกง กับคนที่มีอำนาจด้วยวิธีพิเศษและถูกอำนาจพิเศษนั้นชักใย จนนำมาสู่การปราบประชาชนล้มตายในการประท้วงทางการเมืองมากที่สุดเหนือกว่าเผด็จการทุกยุค

สื่อมวลชนบางส่วนก็เข้าไปร่วมในวังวนนั้น

แน่นอนจุดยืนความคิดของนักข่าว คอลัมนิสต์ ย่อมแตกต่างกัน

มีหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย มีฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง และฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตย มาตั้งแต่อดีตจนทุกวันนี้


แต่ถ้าไปถามนักข่าวที่มากความรู้ประสบการณ์ เขาจะบอกว่าคิดอย่างไรก็ตามเถอะ แต่ความเป็นนักข่าวต้องนำเสนอทุกอย่างบนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริง

ต้องแสวงหาความจริงมาให้ชัดเจนก่อนจะมีข้อสรุป

วันก่อนมีคนไปประท้วงนักอ่านข่าวทีวี ซึ่งดูให้ดีก็จะรู้จุดอ่อนได้ไม่ยากว่า บางทีในบางคนในวงการข่าวก็ไม่ได้มีพื้นฐานความเป็นนักข่าว ไม่ค่อยสันทัดเรื่องการค้นหาความจริงก่อนมีข้อสรุป

แต่การไปประท้วงด้วยใช้คำพูดจาอย่างเปิดเผยนั้น บ้างก็ไม่พอใจถึงขั้นมองเป็นการคุกคามสื่อ

ชาวบ้านเขาก็เลยขำกันใหญ่

ทีการไปดักต่อยนักวิชาการในมหาวิทยาลัย กลับไม่มองว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพ



.