http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-28

งานความมั่นคง : มิติที่ขาดหายของรัฐบาล โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

งานความมั่นคง : มิติที่ขาดหายของรัฐบาล
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 39


"ผลพวงจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น
ทำให้แนวคิดใหม่ด้านความมั่นคงให้ความสนใจ
ทั้งในส่วนของความเป็นจริงทางทหารของโลกสมัยใหม่
และความเป็นจริงของโลกในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ควบคู่กันไป"
Craig A. Snyder
Contemporary Security and Strategy


นับตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 แล้ว นักสังเกตการณ์ทางการเมืองมีความเห็นคล้ายๆ กันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีท่าทีที่ "ไม่ชอบ" งานความมั่นคง ทั้งที่ในความเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ภารกิจด้านความมั่นคงเป็นงานหลักประการหนึ่ง และไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ก็ไม่อาจหลีกหนีไปได้

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะด้วยภูมิหลังของตัวนายกรัฐมนตรีเองที่เติบโตมาจากโลกธุรกิจ ซึ่งอาจจะเป็นอะไรที่ห่างไกลจากโลกความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงของประเทศจึงเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคย หรือบางทีอาจจะถูกมองด้วยสายตาของผู้ที่เป็นนักธุรกิจมาก่อนว่า ปัญหาความมั่นคงมีความซับซ้อน จึงไม่ใช่ประเด็นที่รัฐบาลซึ่งเพิ่งจะได้อำนาจรัฐมา ควรจะเข้าไปแตะต้อง เพราะอาจจะนำมาซึ่งความยุ่งยากได้ไม่ยากนัก

หรืออย่างน้อยก็อาจถูกมองด้วยสายตาว่า ปัญหาความมั่นคงไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ที่ผู้นำรัฐบาลจะสามารถแสดงศักยภาพอันนำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นๆ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะไม่เคยกล่าวถึง หรือแสดงท่าทีต่อปัญหาความมั่นคงเท่าใดนัก
จนอาจกล่าวได้ว่างานความมั่นคงเป็น "จุดอ่อน" ที่สำคัญของรัฐบาลและตัวนายกฯ เองเป็นอย่างยิ่ง
และกลายเป็น "มิติที่ขาดหาย" ไปในรัฐบาลยิ่งลักษณ์


ว่าที่จริง รัฐบาลชุดที่แล้วก็ประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน แต่ก็ใช้วิธีของการแก้ปัญหาด้วยการโอนงานความมั่นคงออกจากตัวนายกรัฐมนตรีไปรวมศูนย์ไว้กับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงผู้เดียว
ดังจะเห็นได้ว่า แนวคิดเช่นนี้เปิดโอกาสให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีบทบาทด้านความมั่นคงอย่างมาก จนอาจต้องยอมรับว่ารองนายกฯ สุเทพ ในยุครัฐบาลเดิม
ถือได้ว่าเป็นพลเรือนที่เข้ามามีบทบาทในงานด้านนี้อย่างกว้างขวาง เพราะในอดีตนั้น รองนายกฯ ความมั่นคงมักจะเป็นผู้ที่มีอดีตเป็นนายทหารระดับสูงมาก่อน จนกลายเป็นตำแหน่งที่ผูกขาดเอาไว้รอนายทหารระดับสูงที่เกษียณออกจากกองทัพ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดูจะใช้ตัวแบบเดียวกันกับรัฐบาลที่แล้วด้วยการโอนงานความมั่นคงออกจากตัวนายกฯ แต่ก็ไม่มีลักษณะรวมศูนย์ เพราะใน ครม. ยิ่งลักษณ์ 1 มีทั้งรองนายกฯ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ และต่อมาคือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่รับผิดชอบดูแลงานความมั่นคงโดยตรง เช่น การกำกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.)
แต่ก็มีรองนายกฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่คอยดูแลงานด้านตำรวจ จนอาจถือได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 มีรองนายกฯ ความมั่นคง 2 คน

แม้การแบ่งงานในลักษณะนี้จะไม่ใช่ปัญหาโดยตรง แต่ก็ดูจะเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลไม่ได้มีรองนายกฯ ความมั่นคงเพียงคนเดียวที่ต้องรวมศูนย์งานไว้ในแบบเดิม
การแบ่งงานเช่นนี้อาจจะเป็นข้อดี คือแยกงานตำรวจออกมาจากงานความมั่นคงอื่นๆ แต่ก็มักจะทำให้ขาดการบูรณาการงานความมั่นคงทั้งระบบเข้าด้วยกัน
และหากรองนายกฯ คนใดคนหนึ่งมีอาการ "เกียร์ว่าง" กับงานความมั่นคงด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาการบริหารจัดการความมั่นคงของประเทศประสบปัญหาอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากปรากฏการณ์ในช่วงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1

นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์เองก็อาจจะไม่ได้เตรียมตัวที่จะเข้ามาเป็น "ผู้จัดการ" ความมั่นคงเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งก็อธิบายได้ไม่ยากนักจากปัญหาความไม่คุ้นเคยกับปัญหาที่จะต้องเผชิญ
ประกอบกับงานนี้มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายทหารอยู่มาก จนทำให้รัฐบาลเกิดอาการ "เกร็ง" เพราะกังวลว่าการทำอย่างใดอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศ อาจจะนำไปสู่การกระทบกระทั่งกับฝ่ายทหารได้ และที่สำคัญอาจจะกลายเป็น "ชนวน" ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะคิดอย่างไร หรือเป็นอย่างไรก็ตาม ปัญหาความมั่นคงไทยไม่เคยต้องรอเวลาให้รัฐบาลพร้อมแล้วจึงจะเข้ามาแก้ไข หากแต่ทุกรัฐบาลล้วนแต่เผชิญกับปัญหาที่มักจะมีอาการ "ไหลบ่า" เข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลทุกครั้งไป!



เมื่อเริ่มตั้งรัฐบาลนั้น ทุกฝ่ายดูจะกังวลอย่างมากกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะกลัวว่าจะเกิดการเปิดฉากต่อต้านรัฐบาลทันทีหลังจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว

แต่ไม่มีใครเตรียมการที่จะต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องภัยคุกคามทางธรรมชาติ แต่หากดูด้วยความเป็นธรรมแล้ว ก็คงต้องยอมรับว่าโจทย์ชุดนี้ใหม่ และใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะแบกรับได้

แม้มหาอุทกภัยจะทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลง แต่ก็เปิดโอกาสให้นายกฯ หญิงแสดงความ "ขยัน" ในการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน อันกลายเป็นปัจจัยที่ช่วยกอบกู้วิกฤตรัฐบาลได้อย่างดียิ่ง

การต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ ไม่ได้หมายความว่าปัญหาเก่าจะสิ้นสุดลง ปัญหาสำคัญ 2 ประการ (อย่างน้อย) ที่รอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จัดการ ได้แก่ ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาสัมพันธภาพไทย-กัมพูชาที่เสื่อมทรามลงจากกรณีปราสาทพระวิหาร
นอกจากนี้ รัฐบาลเองก็ยังเผชิญกับเรื่องราวที่ไม่คาดคิดในอีกแบบหนึ่ง ได้แก่ กรณีการสังหารลูกเรือจีน 13 ศพในลำน้ำโขง และต่อมามีการจับกุมทหารไทยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารดังกล่าว ประเด็นนี้ทำให้ปัญหาความมั่นคงในลุ่มน้ำโขงเป็นเรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณาอย่างละเลยไม่ได้

ในอีกด้านหนึ่งก็พอจะเริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของการเมืองในพม่า โดยเฉพาะผลพวงจากการปรับนโยบายของทำเนียบขาวที่ประกาศชัดเจนว่า การแซงก์ชั่นหรือการปิดล้อมทางเศรษฐกิจจะไม่ใช่ทิศทางหลักของนโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อพม่า พร้อมๆ กับการเดินทางเยือนพม่าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ และสำทับด้วยสัญญาณใหม่ที่เป็นภาพของการสวมกอดระหว่าง นางฮิลลารี คลินตัน และ นางออง ซาน ซูจี ซึ่งก็มาพร้อมกับการลดท่าทีที่แข็งกร้าวของรัฐบาลทหารของพม่าลง
ดังนั้น หากพม่าตัดสินใจเปิดประเทศในอนาคตอันใกล้ ก็จะมีประเด็นด้านความมั่นคงหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องนำมาคิดต่อไป เพราะไทยจะอยู่เฉยๆ โดยไม่นำพาต่อความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ใหม่เช่นนี้ไม่ได้

ในอีกมุมหนึ่ง ปัญหาอาจจะดูไกล แต่ก็ไม่ไกลจนละเลยไม่ได้ก็คือ วิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป อันนำไปสู่คำถามใหญ่ในอนาคตก็คือ การดำรงอยู่ของ "ยูโรโซน" ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจชุดนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องคิดหาลู่ทางเตรียมรับมือในอนาคต
เรื่องราวเหล่านี้มาพร้อมกับปัญหาราคาน้ำมัน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นผลพวงโดยตรงจากวิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านในปัญหาอาวุธนิวเคลียร์
อันทำให้ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานเป็นประเด็นที่จะต้องเตรียมประเทศให้พร้อม หากสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวขยายตัวไปสู่สงคราม ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาราคาพลังงาน อีกทั้งยังอาจนำไปสู่สภาวะการขาดแคลนพลังงาน หากรัฐบาลอิหร่านตัดสินใจหยุดการส่งออกพลังงานเพื่อเป็นมาตรการตอบโต้กับการปิดล้อมและการคุกคามของโลกตะวันตก

ปัญหาความยุ่งยากเช่นนี้ยังทำให้เกิดคำถามด้านความมั่นคงอีกประเด็นหนึ่งในอนาคตก็คือ หากเกิดสถานการณ์สงครามระหว่างสหรัฐ กับอิหร่านจริงๆ แล้ว รัฐบาลไทยจะกำหนดจุดยืนต่อปัญหาเช่นนี้อย่างไร
เพราะไทยคงถูกกดดันจากความสัมพันธ์ทางการเมืองและความมั่นคงที่ใกล้ชิดกับวอชิงตัน
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับปัญหาความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับเตหะราน ซึ่งการตัดสินใจเลือกย่อมจะส่งผลกระทบในทางหนึ่งทางใดอย่างแน่นอน



การเตรียมรับมือกับปัญหาความมั่นคงเหล่านี้ดูจะเป็นทิศทางที่ไม่ชัดเจนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการที่ พล.ต.อ.โกวิท ซึ่งเข้ามาเป็นรองนายกฯ ความมั่นคงในเวลานั้น อาจจะไม่มีความคุ้นเคยกับประเด็นปัญหาเช่นดังที่กล่าวในข้างต้นเท่าใดนัก

นอกจากนี้ ด้วยความไม่คุ้นเคย และอาจจะผนวกกับการขาด "วิสัยทัศน์ด้านความมั่นคง" ของรัฐบาลและของหน่วยงานความมั่นคงหลักจึงทำให้งานความมั่นคงของรัฐบาลในขณะนั้นเป็นไปอย่างไม่มีความชัดเจน

อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นได้จาก "ปัญหาตกค้าง" ที่สำคัญ 3 ประการ

1) ไม่เห็นท่าทีของรัฐบาลกรุงเทพฯ ที่ชัดเจนว่าจะกำหนดเส้นทางเดินในอนาคตอย่างไรกับกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งศาลโลกได้ออกมติชั่วคราวที่กำหนดให้คู่กรณี (รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา) ต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ที่ศาลโลกได้กำหนดให้เป็น "เขตปลอดทหารชั่วคราว" ตลอดรวมถึงประเด็นสำคัญก็คือรัฐบาลจะทำความเข้าใจกับประชาชนในบ้านอย่างไร เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถูกปลุกระดมและนำมาซึ่งความแตกแยกอย่างมากในสังคมไทยนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

2) รัฐบาลจะกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายต่อปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร จะคิดแต่เพียงว่า รัฐบาลแพ้เสียงการเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าว จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างยุทธศาสตร์และนโยบายต่อปัญหานี้

ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะความรุนแรงที่ทวีมากขึ้นในภาคใต้ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยอะไรก็ตาม ย่อมกลายเป็นภาระที่ตกอยู่บนบ่าของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3) รัฐบาลจะกำหนดท่าทีต่อกองทัพอย่างไร หรือกล่าวในทางทฤษฎีก็คือ จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพในสถานการณ์การเมืองหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อย่างไร เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพเช่นรัฐบาลเดิมที่ถือกำเนิดขึ้นในค่ายทหาร

และแม้บทบาทของทหารจะเป็นบวกในภาวะน้ำท่วม แต่ก็ยังคงมีคำถามอยู่ตลอดเวลาว่า แล้วในภาวะน้ำปกติ บทบาททหารจะเป็นเช่นไร ซึ่งปัญหานี้สะท้อนผ่านความกังวลของหลายๆ ฝ่ายที่ดูจะคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่า ในท้ายที่สุดแล้ว

ความสัมพันธ์นี้อาจจะจบลงด้วยการรัฐประหารอีกครั้งหรือไม่!



เรื่องราวที่กล่าวอย่างสังเขปในข้างต้นเช่นนี้ยังถูกสำทับด้วยปัญหาของการก่อการร้าย ซึ่งมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ในทั้ง 2 กรณี (คลังระเบิดที่สมุทรสาคร และกรณีระเบิดที่สุขุมวิท) และได้กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แม้เรื่องนี้อาจจะตอบง่ายๆ ได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์โชคดีที่การระเบิดไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายขนาดใหญ่ แต่ก็น่าจะถือได้ว่า "สัญญาณนาฬิกาปลุก" ได้ดังขึ้นเพื่อให้ต้องคิดถึงเรื่องราวของการก่อการร้ายและการรักษาความมั่นคงเมืองของไทยในอนาคตอย่างจริงจัง จะคิดแต่พึ่งพา "พระสยามเทวาธิราช" (เพราะไม่เกิดระเบิดขึ้น) โดยไม่ทำงานคู่ขนานไปกับท่านก็คงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในด้านหนึ่งก็ได้มีการปรับคณะรัฐมนตรีและมีการจัดวางตัวบุคคลใหม่ แต่ดูเหมือนจวบจนปัจจุบันในขณะที่ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงที่ทวีมากขึ้นในแต่ละวัน ก็ไม่ได้มีท่าทีที่ชัดเจนของการขับเคลื่อนงานความมั่นคงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2

หรือว่าในที่สุดแล้วงานความมั่นคงยังคงเป็น "มิติที่ขาดหาย" ของรัฐบาลต่อไป!



.