.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คนเสื้อแดงกับพรรค พท.
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.
ผู้ร่วมรณรงค์แก้ไข ม.112 ท่านหนึ่ง ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ กล่าวในการอภิปรายว่า เขาอาจแบ่งกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ครก.และคณะนิติราษฎร์ออกได้เป็นสามกลุ่ม
หนึ่ง คือผู้ที่เห็นด้วยแต่กลัวความเดือดร้อนที่จะเกิดตามมา จึงไม่ขอลงนามร่วมด้วย
สอง คือผู้ที่เห็นด้วยแต่วิตกว่า อาจเป็นความผิดทางกฎหมายหรือสร้างความเดือดร้อน แต่เมื่อได้รับคำชี้แจงว่า นอกจากไม่ผิดกฎหมายแล้วยังเป็นสิทธิตามกฎหมายด้วยซ้ำ และถ้าจะเกิดความเดือดร้อนในภายหลังจากการกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่น การกระทำของพวกเขานั่นแหละ คือการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเราน่าจะเผชิญกับการละเมิดกฎหมายเช่นนั้นได้ คนกลุ่มนี้จึงกลับกระตือรือร้น ต่างขอแบบฟอร์มกันคนละหลายชุด เพื่อไปช่วยรณรงค์หาผู้ลงนามเพิ่ม นี่คือกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด
สาม คือผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอ และกระตือรือร้นจะลงนามพร้อมทั้งสำเนาหลักฐานที่จำเป็นอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีจำนวนน้อยกว่าสองพวกแรก
แต่หลังจากพรรค พท.ประกาศชัดแจ้งแล้วว่า จะไม่สนับสนุนข้อเสนอการแก้กฏหมายอาญา ม.112 ความกระตือรือร้นของกลุ่มที่สองก็หายไป
แบบฟอร์มที่ขอนำไปหลายชุดจึงไม่ได้รับคืน เหตุผลที่พอจะรับทราบได้จากปากคำของคนกลุ่มนี้ก็คือ แม้ว่าพรรค พท.ตัดสินใจไปในทางตรงข้ามกับความคิดเห็นของตน แต่การฝืนผลักดันการแก้ไขต่อไป ก็จะทำให้พรรค พท.ตกอยู่ในสภาพอึดอัดมากขึ้น อาจเกิดความแตกแยกในพรรค หรือแตกแยกในหมู่มวลชนซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรค
ความอ่อนแอของ พท. อาจหมายถึงการเกิดรัฐประหาร หรือการล้มรัฐบาลด้วยตุลาการภิวัตน์ หรือการตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร
ดังนั้น ในสภาพการเมืองดังที่เป็นอยู่ ถึงอย่างไรก็ต้องรักษาพรรค พท.เอาไว้ ดีกว่าปล่อยให้พวกอำมาตย์ตั้งรัฐบาลหุ่นของตนขึ้นอีก
ผมคิดว่าวิธีคิดของมวลชนคนเสื้อแดงดังกล่าวนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง
ประการแรก ไม่ว่าความคิดนี้จะถูกหรือผิด (ตามความเห็นของแต่ละคน) แต่นี่คือการพิจารณาไตร่ตรองทางการเมือง เพื่อเลือกทางเดินที่ตนคิดว่าดีที่สุดสำหรับตัวเองและมวลชนซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกับตน ขอให้สังเกตด้วยว่า จนถึงทุกวันนี้ พรรค พท.ยังทำอะไรตามสัญญาที่ให้ไว้แก่ฐานเสียงของตนไม่เต็มที่นัก ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงวันละ 300 บาท การประกันราคาพืชผลการเกษตร การเรียนฟรีจริง หรือปรับปรุงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฉะนั้น การพิจารณาไตร่ตรองทางเลือกของพวกเขา จึงเป็นการพิจารณาไตร่ตรองจากมุมทางการเมืองเป็นสำคัญ
ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับความคิดของเขาหรือไม่ แต่นี่ไม่ใช่พฤติกรรมทางการเมืองของคนโง่ ไร้การศึกษา ขายสิทธิขายเสียง อย่างที่คนชั้นกลางในเมืองบางกลุ่มวาดภาพไว้ แต่เป็นการประเมินเงื่อนไขทางการเมืองอย่างกว้างขวาง และเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร ด้วยเป้าหมายที่มุ่งประโยชน์ "ส่วนรวม" (โดยไม่ได้ทิ้งประโยชน์ "ส่วนตน") ไม่ต่างจากที่คนชั้นกลางในเมืองซึ่งพยายามจะรอนสิทธิประชาธิปไตยของเขา ถือว่าเป็นอุดมคติของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ประการที่สอง การมีพรรคการเมือง "ของเรา" ที่เราคุมไม่ได้ ดูจะเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นกับคนไทยทั้งประเทศ พรรค ปชป.สร้างตนเองให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์คนใต้ โดยที่คนใต้เองก็คุมพรรคปชป. "ของเรา" ไม่ได้ เช่นเดียวกับคนสุพรรณหรือคนชลบุรีกับพรรค "ของเรา" ของพวกเขา
พรรคการเมืองไทยไม่เคยเป็นเครื่องมือต่อรองเชิงนโยบายของประชาชนทั่วไป แต่เป็นเวทีต่อรองของกลุ่มชนชั้นนำ หรือคนที่สามารถก้าวเข้าสู่สถานะชนชั้นนำได้ พรรคการเมืองเพียงแต่เก็งเอาเองว่า จะดึงเอางบประมาณมาให้อะไรตอบแทนที่น่าจะทำความพอใจแก่ประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนเท่านั้น การอุดหนุนพรรคการเมืองหลายด้านซึ่งเริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 คือการเสริมสร้างเวทีการต่อรองของชนชั้นนำให้แข็งแกร่งเสียจนอำนาจในการควบคุมพรรคการเมืองของประชาชนถูกลิดรอนจนไม่เหลือ
อำนาจของประชาชนในการควบคุมนักการเมืองและพรรคการเมืองมาจากการจัดองค์กร แม้แต่ให้แต่ละคนสื่อสารความต้องการของตนแก่ ส.ส.เขต ก็ต้องอาศัยการจัดองค์กรในระดับหนึ่ง มากน้อยในแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน ปราศจากการจัดองค์กรทางสังคมที่เหมาะสมสำหรับการเมืองยุคใหม่ การควบคุมนักการเมืองและพรรคการเมือง จะเหลือแต่เพียงหีบบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเครื่องมือควบคุมที่ขาดไม่ได้ แต่ถ้าปราศจากการจัดองค์กรแล้ว ก็ไร้ประสิทธิภาพเกือบจะโดยสิ้นเชิง
ฉะนั้น เมื่อพรรค พท.แถลงจุดยืนของตนชัดเจนแล้วว่า ไม่ต้องการแก้ไข ม.112 ของ กม.อาญา ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคก็ไม่เหลือทางเลือกอะไรอื่น ไม่ว่าความเห็นของตนจะเป็นอย่างไรก็ตาม หากพยายามจะจัดองค์กรเพื่อกำกับควบคุม ส.ส.ในพื้นที่ โอกาสก็เป็นไปได้สูงว่าจะเกิดความแตกร้าวในหมู่เสื้อแดงด้วยกัน
เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ว่า สืบเนื่องมาตั้งแต่พรรค ทรท. พรรค พท.มีฐานเสียงระดับมวลชนเป็นครั้งแรกในการเมืองไทย แต่มวลชนก็ไม่สามารถควบคุมพรรคการเมืองได้อยู่นั่นเอง ไม่มีทั้งกลไกและการจัดองค์กร ไม่ว่าจากฝ่ายพรรคการเมือง หรือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะให้อำนาจการควบคุมแก่ประชาชนได้จริง
อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของประชาชนไทยในเรื่องนี้ อาจไม่ได้อยู่ที่กิจกรรมทางการเมืองของประชาชนเพียงอย่างเดียว ในสังคมประชาธิปไตยอื่นๆ บางสังคม องค์กรที่สร้างอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองได้ มีความหลากหลายมากกว่า "เสื้อแดง" หรือฐานมวลชนของพรรค แต่ประกอบด้วยสหภาพแรงงาน, สมาคมนายจ้าง, สมาคมอาชีพ, กลุ่มผลักดันประเด็นที่หลากหลาย ฯลฯ ล้วนไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อการควบคุมพรรคการเมืองโดยตรง แต่เนื่องจากผลประโยชน์ของกลุ่มหรือประเด็นทางสังคมที่กลุ่มต้องการผลักดัน เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ จึงรวมกำลังกันในการกดดันหรือควบคุมพรรคการเมืองผ่าน ส.ส.เขตในพื้นที่ของตน ครั้งนี้อาจสนับสนุนพรรคนี้ ครั้งหน้ากลับสนับสนุนพรรคอื่น
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความหลากหลายของกลุ่มเคลื่อนไหวสาธารณะมีความสำคัญ การมีมวลชนเป็นฐานเสียงเพียงอย่างเดียว จึงไม่ทำให้เกิดพรรคการเมืองที่ยอมอยู่ใต้การควบคุมของประชาชน แต่สังคมไทยไม่เปิดโอกาสให้มีการจัดองค์กรที่เป็นอิสระของประชาชนมากนัก ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีความหลากหลาย และไม่มีพลังพอจะรวมตัวกันเพื่อกดดันหรือควบคุมพรรคการเมืองได้
ประการที่สาม นับวันก็เห็นชัดมากขึ้นว่าพรรค พท.มุ่งจะประคองตนให้อยู่รอดในฐานะรัฐบาล มากกว่าตอบสนองความต้องการของมวลชนซึ่งเป็นฐานเสียง อาจจะเป็นเพราะพรรค พท.ก็รู้ว่ามวลชนฐานเสียงไม่มีทางเลือกทางการเมืองอื่น ปัญหามาอยู่ที่ว่า มวลชนเองเริ่มสำนึกหรือไม่ว่าตัวไม่มีทางเลือกอื่น และกำลังกลายเป็นเบี้ยที่ทิ้งได้บนกระดานการเมืองของพรรค พท.
กรณีการลงนามในข้อเสนอแก้ไข ม.112 ชี้ว่า มวลชนยังต้องการรักษาพรรค พท.ไว้ในฝ่ายบริหารต่อไป อย่างน้อยก็เพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านั้น ถึงอย่างไร ความเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดง ก็มีพลังได้ไม่มาก หากปราศจากการสนับสนุนของแกนนำซึ่งเป็นนักการเมืองของพรรค (ซึ่งได้ออกมาแสดงจุดยืนแล้วว่า ยังไม่ถึงเวลาสำหรับการแก้ไข ม.112)
ความคาดหวังที่ไม่อาจบรรลุผลได้เช่นนี้ของคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร จะดำรงอยู่ต่อไปเช่นนี้อีกนานเท่าไร? เรื่องนี้คาดเดาได้ยาก เพราะพรรค พท.เองก็อาจปรับเปลี่ยนมาทำท่าทีตอบสนองให้มากขึ้นได้ เช่น การยกระดับมาตรฐานของบริการจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้สูงเท่าเทียมกับผู้ประกันตนและข้าราชการ (ซึ่งท่านนายกฯเพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้) ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบเรียบนักระหว่างพรรค พท.และคนเสื้อแดงก็อาจดำเนินต่อไป โดยทั้งสองฝ่ายพยายามอยู่ร่วมกันให้ได้ เพราะถึงอย่างไร คนเสื้อแดงก็ไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวเลือกอื่นอยู่แล้ว
และคงไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวเลือกต่อไปอีกนาน ตราบเท่าที่ยังอยู่ใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือฉบับใหม่ ที่ไม่เอื้อให้เกิดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เป็นตัวเลือกด้านนโยบาย
การเมืองไทยอาจถึงทางตันในทรรศนะของชนชั้นนำ เพราะหากพวกเขาไม่ปรับตัว ระบบการเมืองจะตึงเครียดเกินกว่าจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงและราบรื่นได้ แต่ที่จริงแล้วการเมืองได้ถึงทางตันแก่ประชาชนระดับล่างมานานแล้ว เพราะเขาไม่เคยมีพรรคการเมืองที่อาจใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการสร้างนโยบายสาธารณะได้เลย
ในสมัยก่อน การไม่มีส่วนในการต่อรองนโยบายสาธารณะอาจไม่เห็นว่าเป็นทางตัน แต่บัดนี้ความไร้สิทธิดังกล่าวกลายเป็นทางตันที่สร้างความอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ
ทางตันนั้นฝ่าออกไปได้สองวิธี หนึ่งคือระเบิดมันทิ้ง หรือสองหาหนทางปรับให้มีทางฝ่าออกไปได้โดยสงบ จนถึงนาทีนี้ ยังไม่มีสัญญาณว่าทางเลือกที่สองนี้จะเป็นไปได้ในสังคมไทย
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย