http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-24

คนมองหนัง: น้าครับ/ นพมาส: THE IDES OF MARCH

.

น้าครับ
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 85


ผมอ่าน "นิตยสารสีสัน" มาตั้งแต่ช่วงปี 2541 ได้กระมัง
ถ้าจำไม่ผิด "สีสัน" เล่มแรกที่ผมซื้อ เป็นฉบับครบรอบ 10 ปี รางวัล "สีสัน อะวอร์ดส์" จึงมีสกู๊ปชิ้นหนึ่งซึ่งรวบรวมรายชื่อของศิลปินผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว ตั้งแต่ครั้งที่ 1-10 มานำเสนอ
ผมพก "สีสัน" เล่มนั้นไว้ตรงหัวนอน และใช้มันเป็นเอ็นไซโคลพีเดียทางดนตรีส่วนตัวอยู่นานนับสิบปี

เพราะก่อนหน้าช่วงปลายทศวรรษ 2530 ถึงต้นทศวรรษ 2540 อันเป็นยุคของค่ายเพลงเล็กค่ายเพลงน้อยแบบ "อินดี้" เฟื่องฟูนั้น ในปีหนึ่งๆ ผลงานของศิลปินเพลงไทยสากลไม่ได้ออกวางจำหน่ายด้วยจำนวนที่มากมายมหาศาลถึงขนาดนับไม่ถ้วน

ดังนั้น ผลรางวัล "สีสัน อะวอร์ดส์" สิบครั้งแรก จึงครอบคลุมความเคลื่อนไหวของวงการเพลงไทยช่วงปี 2531-2540 ได้ดีพอสมควร


ผมรู้จักรางวัล "สีสัน อะวอร์ดส์" ก่อนหน้า "นิตยสารสีสัน" ราว 1 ปีได้กระมัง
เป็นการทำความรู้จักผ่านผลรางวัลประจำปี 2539 ซึ่งประกาศตอนต้นปี 2540 ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์
ในช่วงปี 2539 ตอนเรียน ม.3 ผมชอบและเชียร์งานชุดแรกของวงดนตรีหน้าใหม่อยู่ 2 วง ได้แก่ "โยคีเพลย์บอย" กับ "โซล อาฟเตอร์ ซิกส์"
แต่ผลงานสองชุดนั้นก็ไม่ได้โด่งดังหรือขายดีอะไรนัก

ทว่า อยู่ดีๆ ตอนต้นปี 2540 ผมกลับอ่านข่าวพบว่า "โยคีเพลย์บอย" ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล "สีสัน อะวอร์ดส์" มากถึง 6 สาขา ส่วน "โซล อาฟเตอร์ ซิกส์" ได้เข้าชิง 5 สาขา
ก่อนที่ผลจะประกาศออกมาว่า "โซล อาฟเตอร์ ซิกส์" ได้รับไปมากถึง 3 รางวัล คือ "ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม" "ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม" และ "เพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม" (หรือรางวัล Record of the Year ของวงการดนตรีฝรั่ง)
ส่วน "โยคีเพลย์บอย" ที่เข้าชิงมากกว่า ไม่ได้รางวัลใดๆ ติดไม้ติดมือกลับไปเลย



อย่างไรก็ตาม ความทรงจำเรื่อง "โยคีเพลย์บอย - โซล อาฟเตอร์ ซิกส์" กับ "สีสัน อะวอร์ดส์" ของผมกลับมีปัญหาลักษณะ "ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน" อยู่มิใช่น้อย
เนื่องจากผมมัก "เลือกจำ" ด้วยอารมณ์ภาคภูมิใจแบบเข้าข้างตนเองมาตลอดหลายสิบปีว่า ตอนสมัย ม.3 ผมมีรสนิยมในการฟังเพลงที่ดีได้ด้วยศักยภาพของตัวเองล้วนๆ ก่อนที่รสนิยมดังกล่าวจะไปสอดคล้องกับผลรางวัลทางดนตรีซึ่งมี "มาตรฐานสูง" โดยบังเอิญ
ความทรงจำแบบนี้ใช้ปลอบประโลมตนเองได้ดีทีเดียว เมื่อเพลงที่เราชอบมัน "ไม่ดัง"

แต่ความทรงจำเช่นนั้นก็ถูกตั้งคำถามโดยตัวผมเองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า
ตอนนั้น เราเป็นนักฟังที่กระตือรือร้นขวนขวายหางานเพลงดีๆ ด้วยวินิจฉัยส่วนตัว 100 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งความอุตสาหะในฐานะผู้บริโภคของเราไปต้องตรงกับผลรางวัล "สีสัน อะวอร์ดส์" พอดี
หรือในอีกแง่หนึ่ง เราถูกกล่อมเกลาบ่มเพาะรสนิยมในการฟังเพลงจาก "พลังอื่นใด" กันแน่?

เช่น แน่นอน ตอนปี 2539 ผมอาจไม่รู้จัก "นิตยสารสีสัน" แต่ผมก็ติดตามฟังสถานีวิทยุ "ไพเรท ร็อก" หรือ "ไพเรท เรดิโอ" ของ "วินิจ เลิศรัตนชัย" ซึ่งเป็นเครือข่ายใกล้ชิดและนำเสนอเพลงที่มีรสนิยมคล้ายคลึงกับเพลงที่ "สีสัน" ชอบ อยู่ตลอดเวลา


อย่างไรก็แล้วแต่ นับจากปี 2540-2541 เป็นต้นมา ผมเริ่มมีความผูกพันกับ "สีสัน" ทั้งในฐานะนิตยสารรายเดือน และรางวัลทางดนตรี เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้บางครั้ง จะรู้สึกว่านิตยสารเล่มนี้ดูเชยเป็นบ้า และปรับตัวไม่ทันกับอุตสาหกรรมดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไป
บางปี ก็รู้สึกไม่โดนใจกับรายชื่อผู้เข้าชิงและผู้ได้รับรางวัล "สีสัน อะวอร์ดส์"

พอย้อนไปซื้อ "สีสัน" เล่มเก่าๆ จากแผงหนังสือแถวจตุจักร ก็ได้อ่านพบท่าทีแปลกๆ อย่างการแสดงความเห็นด้วยกับรัฐประหารของ รสช. ในปี 2534 (ก่อนหน้าการรัฐประหารดังกล่าว คอลัมนิสต์บางคนของ "สีสัน" ถึงกับเชียร์ให้ทหารออกมาแทรกแซงการเมืองด้วยท่าทีแบบ "โอ้อรชุน ไยไม่ยิงศร")

แต่ "สีสัน" ก็ทรงอิทธิพลต่อผมในแง่รสนิยมการเลือกฟังเพลง (อย่างไม่ต้องตั้งข้อสงสัยเหมือนดังกรณีเรื่อง "โยคีเพลย์บอย" และ "โซล อาฟเตอร์ ซิกส์")

เช่น ผมคงจะไม่รู้สึกอินหรือเห็นว่าเพลงของ "อีเกิลส์" มีความไพเราะติดหูในระดับสุดยอด ถ้าไม่เคยอ่าน "สีสัน"


เกร็ดที่ "พีค/ฟิน" สุด เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผมและ "สีสัน" เห็นจะเป็น "จดหมาย" ฉบับหนึ่ง
นับแต่การประกาศรางวัล "สีสัน อะวอร์ดส์" ปี 2539 เป็นต้นมา "สีสัน" ได้เพิ่มรางวัลสาขาร็อกเข้าไป ได้แก่ อัลบั้มร็อกยอดเยี่ยม, ศิลปินกลุ่มร็อกยอดเยี่ยม, เพลงร็อกยอดเยี่ยม, ศิลปินชายร็อกยอดเยี่ยม และ ศิลปินหญิงร็อกยอดเยี่ยม
ทว่า หลังจากนั้นไม่นานนัก รางวัลที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในบางสาขาก็มีอาการ "ผลุบๆ โผล่ๆ" เมื่อจำนวนศิลปินแนวร็อกผลิตผลงานออกมาไม่มากพอ เช่น รางวัลศิลปินหญิงร็อกยอดเยี่ยม ที่บางปีก็มี แต่บางปีก็หายไป
สุดท้าย ผมในฐานะ "แฟนคลับ" สีสันคนหนึ่ง จึงตัดสินใจเขียนจดหมายไปถึง "น้าทิวา" (ทิวา สาระจูฑะ - บ.ก.สีสัน) โดยใช้นามปากกาอะไรสักอย่างที่ผมก็หลงลืมไปแล้ว

และเสนอให้รวบรางวัล "ศิลปินชาย-หญิงร็อกยอดเยี่ยม" เข้าด้วยกัน กลายเป็นรางวัล "ศิลปินเดี่ยวร็อกยอดเยี่ยม" เผื่อปีไหน มีศิลปินหญิงแนวร็อกผลิตงานน่าสนใจออกมา เธอจะได้มีสิทธิเข้าชิงรางวัลสาขาใหม่ดังกล่าว โดยไม่ต้องรอให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ออกผลงานเพลงร็อกมากถึง 5 อัลบั้มในปีเดียวกัน
จดหมายฉบับนั้นถูกนำไปตีพิมพ์ใน "สีสัน" พร้อมคำตอบของน้าทิวาที่ระบุทำนองว่า ความคิดคุณน่าสนใจดี ทางเราก็คิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

แล้วใน "สีสัน อะวอร์ดส์" ครั้งต่อมา ก็เกิด "รางวัลศิลปินเดี่ยวร็อก" ขึ้นจริงๆ
ทำให้ผู้หญิงหวานๆ แก่นๆ อย่าง "กิฟท์ โมโนโทน" มีรายชื่อเข้าชิงรางวัลดังกล่าวเคียงข้างผู้ชายมาดเข้มๆ อยู่ครั้งหนึ่ง

รางวัลสาขานี้อาจกำเนิดมาจากข้อเสนอในจดหมายของผม หรือความคิดของน้าทิวาและพรรคพวกก็ได้
มันไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรนัก
เพราะสุดท้าย "รางวัลศิลปินเดี่ยวร็อก" ก็ยังต้องหายไปจากสารบบอยู่ดี ตามความซบเซาของอุตสาหกรรมเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเพลงร็อก



1-2 ปีหลัง ผมไม่ค่อยได้ควักกระเป๋าสตางค์ซื้อ "สีสัน" มากนัก
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับทัศนคติทางการเมืองของคอลัมนิสต์บางคน

แต่เมื่อได้พลิกอ่าน "สีสัน" ฉบับล่าสุด หน้าปก "วงพาราด็อกซ์" และสกู๊ปประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล "สีสัน อะวอร์ดส์" ครั้งที่ 24 ไปได้หน่อยหนึ่งที่แผงหนังสือ
ผมก็ตัดสินใจซื้อ "สีสัน" เล่มนี้ทันที ด้วยปัจจัยเพียงประการเดียว
นั่นคือ บทบรรณาธิการของน้าทิวา ที่เขียนถึงกรณีฝาแฝดบุกต่อย อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ในฐานะคนที่ตามอ่าน "สีสัน" มากว่าสิบปี และพอจะเข้าใจท่าทีทางการเมืองของบรรณาธิการ-คอลัมนิสต์หลายๆ คน ของนิตยสารเล่มนี้อยู่บ้าง

ผมไม่ผิดหวัง เมื่อน้าทิวาขึ้นต้นบทความด้วยการต่อต้านพฤติกรรมของคู่แฝดตระกูล "ศิลารัตน์"
แต่สุดท้ายกลับวกมาโจมตีข้อเสนอทางวิชาการของ "คณะนิติราษฎร์" โดยอาจจะไม่ได้อ่านข้อเสนอดังกล่าวอย่างละเอียดเพียงพอ

ทว่า ผมรู้สึกเสียใจกับข้อความหรือคำบางคำ ซึ่งเหมือนจะ "คมคาย" แต่ไม่ใช่ อาทิ

"ฝาแฝดคู่นั้นผิดแหงๆ สมควรที่จะได้รับโทษตามกฎหมาย พฤติกรรมของทั้งคู่แสดงให้เห็นว่าคนเรายังมักตัดสินปัญหากันด้วยกำลัง ยังดีที่ใช้แค่กำปั้น ถ้ามีอาวุธร้ายแรงอื่นๆ แทนที่หน้าตาจะมีแค่รอยช้ำ หน้าอกอาจจะมีรูให้เลือดมันไหลออกมาสูดอากาศข้างนอก"

หรือ

"ผมไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับฝาแฝดคู่นั้น เพราะผมไม่ใช่พวกเลฟทิสต์, ไรก์ทิสต์, เอ็กซ์ทรีมิสต์, อนาร์คิสต์ และยิ่งไม่ได้เป็นซิฟิลิส..."

ผมไม่แปลกใจอะไรที่น้าทิวามีมุมมองหรือตั้งคำถามประเภท "คณะนิติราษฎร์" ไม่รู้จัก "กาละเทศะ", คนไทยยังไม่พร้อม หรือ ถ้าข้อเสนอแก้ไข ม.112 ก่อให้เกิดการนองเลือดขึ้นมา "นิติราษฎร์" จะกล้ารับผิดชอบหรือไม่ ? (ราวกับจะลงโทษ "เหยื่อที่ถูกข่มขืน" กันอีกแล้ว)

แต่ผมก็รู้สึกเสียใจกับย่อหน้าปิดท้ายของบทบรรณาธิการที่ระบุว่า

"แต่ถ้า กลุ่มนิติราษฎร์ ยังดึงดันโดยไม่คิดถึงกาละเทศะและผลที่จะตามมา ในฐานะคนที่รักแผ่นดินเกิดของตนคนหนึ่ง ผมก็จะถือว่า กลุ่มนิติราษฎร์ เป็นพวกกระหายเลือด และยินดีจะสนองตอบให้-ด้วยความนับถือ"


ผมคงไม่ถึงกับเลิกซื้อ "สีสัน" ไปตลอดชีวิต
คงไม่ถึงกับเลิกตามผล "สีสัน อะวอร์ดส์" ซึ่งยังน่าจะเป็นรางวัลทางด้านดนตรี ที่ครอบคลุมวงการเพลงไทยสากลร่วมสมัยได้กว้างขวางและดีที่สุดอยู่
เพียงแค่ผมรู้เสียใจกับ "สีสัน" และ "น้าทิวา" เท่านั้นเอง



++

THE IDES OF MARCH "การเมืองเบื้องหลังการเลือกตั้ง"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 87



กำกับการแสดง George Clooney
นำแสดง Ryan Gosling
Philip Seymour Hoffman
George Clooney
Paul Giamatti
Evan Rachel Wood
Jeffrey Wright
Marisa Tomei


The Ides of March เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่พรรคเดโมแครตเลือกตั้งผู้แทนที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

บทภาพยนตร์เรื่องนี้เข้มข้นชวนติดตามและมีเนื้อหาหนักแน่นจนได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงจากสื่ออื่น เป็นบทภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีของ โบ วิลลินอน เรื่อง Farragut North

จอร์จ คลูนีย์ มีผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่นมากๆ ถึงสองเรื่องในปีเดียวกัน ทั้งในฐานะผู้กำกับฯ ผู้ร่วมเขียนบท และนักแสดง และเฉียดฉิวจะคว้ารางวัลออสการ์สำหรับการแสดงยอดเยี่ยมไปจากเรื่อง The Descendants

เพียงแพ้เสน่ห์หนุ่มใหญ่ฝรั่งเศส ฌอง ดูฌาร์แดง ไปอย่างสูสีด้วยศักดิ์ศรีและฝีมือที่ไม่แพ้กัน


ใน The Ides of March คลูนีย์เล่นเป็นตัวละครสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดคือผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย ไมค์ มอร์ริส ซึ่งเป็นผู้เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งขั้นต้น สำหรับการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ไม่ใช่ตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง

คู่แข่งของมอร์ริส คือวุฒิสมาชิกพูลแมน (ไมเคิล แมนเทล) นี่เป็นการแข่งขันในพรรคเดียวกัน เทียบได้กับตอนที่ ฮิลลารี คลินตัน แข่งกับ บารัค โอบามา ในพรรคเดียวกันเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อมา

ส่วนตัวละครหลักในการเดินเรื่องของหนังคือ สตีเฟน ไมเยอร์ส (ไรอัน กอสลิง) หนุ่มฉกรรจ์ไฟแรงวัยสามสิบปี ผู้เต็มไปด้วยอุดมคติและความใฝ่ฝันทางการเมือง

สตีเฟนเป็นเลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนในทีมแคมเปญของมอร์ริส มีบุคลิกและความสามารถในการสื่อสารกับสื่อมวลชน ปรับปรุงภาพลักษณ์ของผู้สมัครได้อย่างดีจนเรียกคะแนนนิยมให้แก่มอร์ริสได้พอดู

การเลือกตั้งไพรมารีที่โอไฮโอ ถือเป็นการเลือกตั้งสำคัญที่จะตัดสินชัยชนะให้แก่ตัวแทนพรรคที่จะได้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป ดังนั้น การฟาดฟันคู่แข่งจึงเต็มไปด้วยกลยุทธ์และเล่ห์เหลี่ยมทุกรูปแบบ

ขณะที่ พอล ซารา (ฟิลิป เซย์เมอร์ ฮอฟมัน) ผู้จัดการแคมเปญของมอร์ริส กำลังเจรจาขอเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกธอมป์สัน (เจฟฟรีย์ ไรต์) เพราะหากได้รับการสนับสนุน ก็จะทำให้ฐานเสียงมั่นคงขึ้นจนเชื่อได้ว่าจะนำไปสู่ชัยชนะ

สตีเฟนก็ได้รับการติดต่อจาก ทอม ดัฟฟี (พอล จาแมตตี) ผู้จัดการแคมเปญของคู่แข่ง ให้แอบไปพบปะกันลับๆ

ทอมเสนอให้สตีเฟนไปทำงานกับเขาแทน โดยอ้างว่าทีมของเขาได้ตกลงขอเสียงสนับสนุนจากธอมป์สันด้วยการเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศให้แล้ว และดูท่าว่าวุฒิสมาชิกพูลแมนน่าจะได้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแน่นอน

สตีเฟนยังคงเชื่อมั่นในผู้สมัครของเขา และนำเรื่องการพบปะครั้งนี้มาเล่าให้ พอล ซารา ฟังหลังจากเก็บงำไว้ไม่บอกแต่แรกพักใหญ่

ระหว่างนั้นสตีเฟนก็มีความสัมพันธ์กับเด็กฝึกงานสาวสวยคนหนึ่ง ชื่อ มอลลี สเติร์น (เอแวน เรเชล วูด) ซึ่งนำไปสู่ความลับอันอาจกลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่ของมอร์ริสได้ ในทำนองเดียวกับที่ บิล คลินตัน เคยมีกิ๊กเป็นเด็กฝึกงาน มอนิกา ลูวินสกี ที่ตกเป็นข่าวฉาวไปทั่วโลกมาแล้ว

สตีเฟนให้ความช่วยเหลือมอลลีในการจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าของเธอ

แต่แล้วเมื่อเขาถูก พอล ซารา ให้ออกจากทีมด้วยเหตุผลว่าใม่อาจไว้ใจในความภักดีของสตีเฟนได้อีกต่อไป หลังจากยอมไปพบปะอย่างลับๆ กับฝ่ายศํตรูคู่แข่งมาแล้ว สตีเฟนก็ใช้ความลับของมอลลีให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง ด้วยการนำเรื่องนี้ไปแบล็กเมลมอร์ริส

ภายในช่วงเวลาไม่นาน สตีเฟนได้เรียนรู้เกมการเมืองที่ "ไม่มีเพื่อนแท้ และศัตรูถาวร" ซึ่งทุกคนพร้อมจะใช้มิตรและคนใกล้ชิดเป็นฐานเหยียบเพื่อก้าวขึ้นสูงต่อไป



จากหนุ่มไฟแรงผู้มีอุดมการณ์ สตีเฟนกลายเป็นคนที่รู้จักเล่นเกมตามกระแส พร้อมจะหักหลัง เปิดโปงและทิ้งเพื่อนได้เมื่อถึงคราว

ภาพสุดท้ายที่สตีเฟนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อข้อถามที่ว่าเขามีเคล็ดลับอะไรจึงได้พาตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญอย่างรวดเร็วเท่านี้ เราเห็นใบหน้าอันเยือกเย็นว่างเปล่าของสตีเฟนจ้องนิ่งผ่านกล้องออกมา

ดูแล้วหนาวเยือกเลย ธีมของหนังคล้ายจะมุ่งเสนอเรื่องราวตามแบบของเฟาสต์ ซึ่งเป็นบุคคลในตำนานที่ตกลงขายวิญญาณให้แก่ปีศาจ เพื่อความยิ่งใหญ่ของตัวเอง

ใบหน้าอันว่างเปล่าของสตีเฟนในตอนจบบอกให้รู้ว่าต่อไปคนคนนี้จะไม่มีเพื่อนแท้ ไม่มีศัตรูถาวร เขาพร้อมจะฟาดฟันทุกอย่างที่ขวางหน้า ขายเพื่อน แทงข้างหลัง หรือทำอะไรก็ได้เพื่อสิ่งเดียวเท่านั้นคือ ความอยู่รอดของตัวเอง

เราได้เห็นเบื้องหลังเบื้องลึกของการเมืองสกปรก ณ ที่ซึ่งอุดมการณ์เป็นเรื่องรอง ชัยชนะเป็นเรื่องใหญ่ และอะไรๆ ก็สามารถเจรจาต่อรองซื้อขายกันได้ ต่อให้ไม่ใช่เพื่อเงินตรา แต่อาจเป็นอำนาจ หน้าตาหรือตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรี

ถึงแม้ว่าจะไม่มีการซื้อเสียงกันตรงๆ แต่การกระทำเยี่ยงนี้ก็ไม่ผิดกับการซื้อเสียงเลย

ฟังๆดูอาจจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเนื้อหาของหนังหนักสมองเหลือเกิน แต่บทภาพยนตร์ที่วางเรื่องราวอย่างแยบยล ทำให้เราสามารถติดตามเรื่องได้อย่างสนุก จับประเด็นได้ และไม่ยากเกินความเข้าใจของคนนอกวงการ

เป็นหนังดีที่น่าดูมากอีกเรื่องค่ะ



.