.
ความขัดแย้งขยายตัว แต่อย่ากลัวการต่อสู้...เพื่อความถูกต้อง
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 20
เป้าหมายการทำงานของฝ่ายรัฐบาลในปี 2555 คือ
จัดการเรื่องเยียวยาให้เสร็จโดยเร็ว ทั้งเรื่องคนเสื้อแดงและคนที่ถูกน้ำท่วมเพื่อสร้างความมั่นใจและความนิยมทางการเมือง
บริหารงานตามนโยบายที่ประกาศเอาไว้ ให้บรรลุเป้าหมายนโยบายหลัก เช่น ค่าแรง 300 บาท แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อสร้างความยุติธรรมในการปกครองและทำลายอำนาจลึกลับที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอำนาจเก่า ในการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 องค์กรใดจะไปเคลื่อนไหวก็ไปทำกันเอง รัฐบาลจะยังไม่รับเผือกร้อนในช่วงเวลานี้
ส่วนเป้าหมายทางการเมืองสามอย่างของกลุ่มอำนาจเก่าในปี 2555
คือขัดขวางการเยียวยา ขัดขาการทำงาน คัดค้านการแก้ไข
ขัดขวางการเยียวยา หมายความว่าทั้งถ่วง ทั้งขัดขวางการที่รัฐบาลจะเยียวยาคนเสื้อแดงและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 เพื่อลดการเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลและบั่นทอนความสามัคคีในหมู่แนวร่วม
ขัดขาการทำงาน อันนี้เป็นเป้าหมายตามปกติที่กลุ่มอำนาจเก่าต้องการให้ฝ่ายค้านทั้งนอกสภาและในสภาถ่วงเวลาสร้างอุปสรรค อ้างการตรวจสอบตามระบบผ่านองค์กรอิสระ ผ่านศาลตามแต่จะทำได้เพื่อทำให้การบริหารงานของรัฐบาลเดินไปได้ช้าที่สุด ถ้าล้มเหลวได้ก็ยิ่งดี เพราะจะเป็นผลเสียทางการเมืองต่อรัฐบาล
คัดค้านการแก้ไข ในขณะนี้กลุ่มอำนาจเก่ามุ่งที่จะคัดค้านการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพราะจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจที่ฝ่ายตนยึดกุมอยู่ ถ้าการแก้ไขสำเร็จ เชื่อว่าจะกลับตกไปอยู่ในมือของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเป้าหมายรอง เพราะกลุ่มอำนาจเก่ารู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลไม่กล้าแตะต้องเรื่องนี้
ดังนั้น ตลอดทั้งปี 2555 การต่อสู้วนเวียนอยู่ในสามเรื่องนี้ อาจจะซ้ำซากจนคนดูเบื่อ แต่ก็ต้องทนดู เพราะนี่จะเป็นบทเรียนทางการเมืองในชีวิตจริงของคนไทย ที่จำเป็นต้องศึกษาและรู้เท่าทัน
เมื่อมีการขัดขวางการเยียวยา
ความขัดแย้งจะขยายตัวอย่างไร
เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาพิพากษาให้คนขับรถเมล์ 207, นายจ้าง, เจ้าของสัมปทาน และ ขสมก. ร่วมกันจ่ายเงิน 9,856,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้กับบิดามารดา "น้องหุย" อดีตนักศึกษาเอแบค ที่พลัดตกลงมาเสียชีวิต ศาลถือเป็นความประมาทของจำเลยทุกคน
ด้านพ่อน้องหุยเผย ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่าง แม้เหตุการณ์จะผ่านมานาน แต่ยังเห็นเกิดอุบัติเหตุจากรถสาธารณะเป็นประจำ
คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้เงิน 10,747,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ถึงแม้ศาลฎีกาจะตัดสินให้ฝ่ายจำเลยลดลงมาบ้างแต่เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วก็ต้องจ่ายให้กับผู้เสียหายประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งไม่อาจถือเป็นมาตรฐานที่จะใช้กับทุกกรณีได้
แต่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าค่าของชีวิตคนก็ไม่ใช่น้อย
เมื่อครั้งที่ ครม. มีมติให้จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงปี 2553 เป็นเงิน 7.5 ล้านบาทต่อราย และผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ จะได้รับเงินลดหลั่นกันลงมาตามสภาพ
มีเสียงค้านว่าค่าเยียวยาสูงเกินไปและไม่เป็นธรรมกับผู้เสียชีวิตในกรณีอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนได้เคยยกตัวอย่างเปรียบเทียบการเสียชีวิตของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ ว่าเป็นเรื่องที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ในแต่ละกรณี และในกรณีของน้องหุยซึ่งศาลสั่งให้จ่ายประมาณ 10 ล้าน แต่ศาลก็ได้ระบุถึงการรับผิดชอบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่คนขับรถ เจ้าของรถ บริษัท และ ขสมก. ล้วนแต่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ
ถ้าเปรียบเทียบ กรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงครามสลายการชุมนุมและมีคนเสียชีวิตจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ถูกยิงที่หัวและหน้าอกย่อมไม่ใช่การประมาทแบบที่ทำให้คนตกรถเมล์ ดังนั้น รัฐบาล ศอฉ. ผู้บังคับบัญชา คงต้องสู้คดีนี้กันอีกนาน
การตรวจสอบงบประมาณที่ใช้
จะทำให้เรื่องบานปลาย
แต่เรื่องจะไม่จบเพียงแค่นั้นเพราะวันนี้ ปชป. กำลังนำความยุ่งยากเพิ่มเติมเข้ามา โดยการคัดค้านการเยียวยา อ้างว่านำเงินภาษีของคนทั้งประเทศ มาจ่ายให้แก่ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ ล้มตาย ซึ่งเป็นเงินจำนวนประมาณ 2,000 ล้าน และ ปชป. จะคัดค้านและตามตรวจสอบอย่างเข้มงวด
ฝ่ายเสื้อแดงก็แย้งว่าตอนมาปราบประชาชนก็นำเงินภาษีมาใช้ถึง 6,000 ล้านยังทำได้ ทำไมจะช่วยประชาชนไม่ได้ แต่เท่าที่ดูจากงบประมาณในส่วนของกองทัพที่ใช้ทหารประมาณ 6.7 หมื่นนาย โดยได้ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 300 บาท และค่าอาหารอีกวันละ 100 บาท ทาง ศอฉ. แจ้งว่ารวมแล้วใช้งบประมาณไปราว 3,000 ล้านบาท ส่วน สตช. ใช้กำลังประมาณ 2.5 หมื่นนาย ใช้งบประมาณกว่า 700 ล้านบาท งบประมาณดังกล่าวเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ เรื่อยไปจนถึงวันที่มีการยกเลิกเคอร์ฟิวภายใต้อำนาจของ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553
เชื่อว่าจะมีคนเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลกลับไปตรวจสอบการใช้งบฯ ปราบม็อบ เนื่องจากตัวเลขที่แจ้งว่ามีกำลังตำรวจ 25,000 นาย เข้ามาทำงานในระยะเวลา 80 วัน ถ้าตำรวจได้เบี้ยเลี้ยงกับค่าอาหารวันละ 400 ต้องใช้จ่ายวันละประมาณ 10 ล้านบาท ระยะเวลา 80 วันเท่ากับ 800 ล้าน แต่ตำรวจใช้งบฯ ไปเพียง 700 ล้าน แสดงว่ามีบางส่วนผลัดกันหยุด ผลัดกันลา
ในขณะที่ฝ่ายทหารแจ้งว่ามีกำลังพลเข้ามาทำงานนี้ 67,000 นาย ได้เบี้ยเลี้ยงและค่าอาหารวันละ 400 ถ้าทำงานทุกคน ต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงวันละ 26.8 ล้าน ถ้าทำ 80 วันเต็ม จะใช้เงิน 2,144 ล้าน ถ้ามีคนหยุด คนลาบ้าง น่าจะใช้งบฯ ไม่เกิน 2,000 ล้าน แต่รัฐบาลในยุคนั้นใช้งบฯ ถึง 3,000 ล้าน อาจจะใช้ต่อเนื่องไป นานเท่าไหร่ไม่มีใครรู้และจ่ายใครบ้าง แต่ตัวเลข 6,000 ล้านที่ฝ่ายเสื้อแดงอ้างมา ต้องไปสอบถามดู ว่ารวมค่ากระสุน ค่าเสียหายอะไรเข้าไปบ้าง
ถ้ามีการคัดค้านการตรวจสอบซึ่งกันและกันก็น่าจะเป็นเรื่องดี สำหรับเงินเยียวยาน่าจะตรวจสอบได้อย่างละเอียด เพราะรู้ตัวคนที่รับเงินและจำนวนเงิน
แต่การตรวจสอบงบฯ ที่ใช้ปราบ น่าจะสร้างปัญหาพอสมควร เพราะทหารมีจำนวนมาก แม้ว่าทหารผู้น้อยแต่ละหน่วยจะมีสมุดเล่มเล็กๆ จดไว้ว่าวันไหนใครมาบ้างแต่เรื่องแบบนี้ อาจทำให้บางคนเกิดปัญหาได้
นอกจากนี้ ยังจะมีบางคนไม่ยอมรับเงินเยียวยาครั้งนี้พวกเขาอาจฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาด้วยตนเอง ถ้านับรวมคดีที่อัยการฟ้องคงต้องมีอาชีพขึ้นศาลกันบ้าง
การขัดขาการทำงาน เป็นการขยายความขัดแย้งตามปกติ แต่เป็นเรื่องหยุมหยิมปกติ ที่มีมาก มีบ่อยจนน่ารำคาญ คนทำไม่สนใจว่าประชาชนจะได้หรือเสียอะไร ถ้าทำแล้วเป็นข่าวก็จะทำ ตั้งแต่เรื่อง ...พูด อังกิด ไม่ชัด หรือไปญี่ปุ่นทำไมไม่พูด อังกิด
และต่อไปเรื่องประเภทนี้อาจถูกเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ เพราะได้เวลาเข้าเวรแล้ว
แต่เกมแบบนี้ใช่ว่าฝ่ายค้านจะเล่นเป็นฝ่ายเดียว ทางรัฐบาลก็มีแนวหน้าลงไปปะทะ ไปเอาคืน เราคงได้เห็นข่าวทางสื่อกันทุกวัน รับรองว่าไม่มีใครจำได้ว่าสัปดาห์นี้ ใครยื่นฟ้องใคร และจะมีคนถูกถอดถอนกี่คน
ปัญหาใหญ่ของเมืองเราในปัจจุบันเกี่ยวโยงตั้งแต่ปากท้องของชาวบ้านในหมู่บ้าน ข้ามไปจนถึงยุโรป อเมริกา จีน อิหร่าน วันนี้ทุกคนในโลกเกี่ยวโยงกันไปหมด เรื่องที่คิดจะปิดประเทศ บรรพบุรุษของเราตั้งแต่รัชกาลที่ 4 รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้แล้วและเตรียมตั้งรับตั้งแต่นั้นมา
แต่ผ่านไปเป็นร้อยๆ ปี ลูกหลานไทยก็เอาแต่ตั้งรับ พวกเราสนใจแต่ปัญหาภายใน แย่งอำนาจแย่งผลประโยชน์กันเอง แย่งทรัพย์สมบัติและทรัพยากรที่มีอยู่ไม่มากนักในประเทศ ทั้งๆ ที่โลกข้างนอกกว้างใหญ่ไพศาล มีทรัพยากรและสิ่งมีค่าให้เราเข้าไปแสวงหามากมาย
การแก่งแย่งเวียนวนอยู่ในน้ำบ่อน้อยทำให้เราขัดแย้งกันมากขึ้น ความเก่ง ความแกร่งและความฉลาดก็สู้คนอื่นไม่ได้
ถ้าประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้า รัฐบาลจำต้อสร้างทีมงานมาปะทะสะสางอุปสรรคที่เกิดจากการคัดค้านและขัดขวางเหล่านี้และต้องสร้างทีมงานเพื่อไปบริหารและพัฒนาเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและภูมิภาค
การคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จะขยายตัวออกนอกกติกา
จากสภาสู่ท้องถนน
การแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ทีมวิเคราะห์แจ้งว่าตัวแสดงยังเปิดตัวออกมาไม่หมด เวลานี้มีตัวเก่าที่สวมบทใหม่เปิดออกมาแล้วเช่น คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านรัฐธรรมนูญฯ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน บางคนเรียกว่า 10 อรหันต์ เพราะดูถ้าจะมาในฟอร์มครูใหญ่ พวกเขาพยายามไปคิดกันจนได้ว่าจะมาร่วมในเกมนี้อย่างไรเพราะคาดว่า สภาผู้แทนฯ คงจะไม่มีใครเลือกเขาเข้ามาแน่
ผลสุดท้าย เมื่อไม่มีบัตรผ่านประตู ก็ใช้วิธีปีนขึ้นไปอยู่บนรั้ว ส่งเสียงเชียร์และวิจารณ์นักมวย
ผู้วิเคราะห์กล่าวว่า อีกไม่นาน ทั้งผู้ตรวจการฯ และ 10 อรหันต์คงมีงานเข้าจนรับไม่ไหวแน่ แต่การเล่นแบบนี้ถือว่าอยู่ในเกม แต่เรื่องใช้กำลังปล่อยให้ลามไม่ได้
ฉบับที่แล้วเขียนถึงคดีเล็กๆ เรื่องทำร้ายร่างกายว่าอาจไม่จบในศาลและทีมวิเคราะห์ก็เดาไม่ผิดว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร เรื่องนี้คงไม่จบจริงๆ เพราะจะมีการสืบต่อไปว่า บัตรอาสาสมัครทหารพรานที่ใช้มาขอซื้ออาวุธปืนร้ายแรงเป็นบัตรปลอมหรือไม่ เพราะพันเอกนายทหารพระธรรมนูญบอกว่าไม่เคยออกบัตรอะไรให้ใคร จึงน่าจะเป็นการแอบอ้างเพราะตนเคยรับราชการทหารพรานที่ 26 จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่ปี 2528 (ซึ่งช่วงเวลานั้น คู่แฝดน่าจะอายุไม่ถึง 5 ขวบ) คดีเล็กๆ นี้คงจะมีภาคสองให้ดูต่อไป
แต่ดูเหมือนมวลชนของพันธมิตรฯ จะไม่แยแสต่อคำพิพากษาศาล จึงมีคนมาทุบรถ วอยซ์ ทีวีเพื่อความสะใจ คงจะมีนักฟุตบอลได้ใบแดงอีกคนเร็วๆ นี้
เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังต้องใช้เวลาอีกนาน แม้วันนี้แต่ละฝ่ายจะอ้างสารพัดเหตุผล แต่ถึงที่สุดแล้วก็จะยกพวกมาขู่กัน แต่วันนี้ต่างกับเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เพราะไม่มีใครกลัวใคร
ผู้วิเคราะห์สรุปว่า สภาพสังคมปัจจุบัน กลุ่มคนที่ปรับตัวได้ แม้อยู่ได้ก็ยังลำบาก เพราะจะถูกกลุ่มคนที่ล้าหลังคอยถ่วงรั้งไว้
บางกลุ่มอาจพนมมือไหว้ตุ๊กแก
บางกลุ่มยังคร่ำครวญถึงความสุขเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว
แต่ทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่งอย่างที่พระพุทธเจ้าบอก
เมื่อเราไม่เปลี่ยน ความขัดแย้งก็จะต้องเกิด แม้เราไม่ไปหามัน มันก็มาหาเรา
ดังนั้น ผู้คนจึงไม่มีทางเลือกนอกจากสู้ แม้ความขัดแย้งขยายตัว ก็ไม่กลัวการต่อสู้ เพื่อความถูกต้อง
เพราะนั่นเป็นทางรอดทางเดียวเท่านั้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย