.
ชมวิดีโอขบวนการปรองดอง - ณัฐวุฒิ ปะทะ นิพิฏฐ์ @ช่องสาม , ดนตรีเพื่อนักโทษการเมืองผ่านลูกกรง
______________________________________________________________________________________________________
ปฏิวัติปรองดอง
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 98
ภายในระยะเวลา 5 ปีเศษ นับจากวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำรถถังออกมายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลทักษิณ ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างมวลชน 2 ฝ่าย ซึ่งใกล้ถึงจุดนองเลือดเต็มที
มาจนถึงวันนี้ พล.อ.สนธิ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ
เปลี่ยนจากฐานะหัวหน้าปฏิวัติ มาเป็นหัวหน้าของคณะกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการปรองดองแห่งชาติ
เหมือนจะเป็นการพลิกบทบาทของตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ
เพราะได้ทำให้ฝ่ายที่เคยต่อต้านพฤติกรรมของ พล.อ.สนธิ กลับมาเป็นฝ่ายเชียร์
ขณะที่อีกฝ่าย ซึ่งไม่เคยต่อต้าน มีท่าทีสนับสนุนเต็มที่ ไปจนถึงได้ประโยชน์จากการรัฐประหารล้มทักษิณ
กลับออกมาโกรธเกรี้ยวกล่าวหาบทบาทใหม่ของ พล.อ.สนธิ อย่างรุนแรง
คนที่เคยใช้อำนาจท็อปบู๊ตล้มรัฐบาลทักษิณ วันนี้กลับถูกกล่าวหาว่า รับใช้ทักษิณ
นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือในบ้านเมืองเรา ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 5 ปีเศษ
หลังการเกษียณอายุราชการในปี 2550 แล้ว พล.อ.สนธิ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกันมาตลอด โดยเป็นนายทหารสังกัดกองบัญชาการสงครามพิเศษหรือป่าหวายมาด้วยกัน
เป็นนายและลูกน้องที่ใกล้ชิดกัน
จนกระทั่งในปี 2554 พล.อ.สนธิ จึงโดดลงมาเล่นการเมืองตามระบบรัฐสภา ด้วยการเป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในฐานะปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1
มีหลายคนตั้งข้อสังเกตตั้งแต่วันนั้นแล้วว่า แทนที่จะเลือกทางเดินหลังถอดเครื่องแบบด้วยการกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน กลับโดดลงมาเหน็ดเหนื่อยเสี่ยงกับแรงปะทะการเมืองสารพัด
อาจจะหมายถึงการเข้ามาอาศัยสถานะ ส.ส. เพื่อเตรียมต่อสู้กับมรสุมบางประการ ที่ตั้งเค้าอยู่เบื้องหน้า
จนกระทั่งเมื่อโดดลงมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ปรองดอง
บ้างก็ว่า นี่คือการชำระล้างบาปในใจของอดีตหัวหน้าคณะปฏิวัติ
เพราะบัดนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ผลพวงจากการยึดอำนาจล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งในปี 2549 นั้น ยิ่งทำให้สถานการณ์บ้านเมืองเดินหน้าไปสู่ความรุนแรง
จนเกิดการนองเลือดในปี 2553 ตายไปถึง 98 ราย
คณะกรรมาธิการที่ พล.อ.สนธิ เป็นประธาน ได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า ไปทำการวิจัยศึกษา ต่อมาผลสรุปวิจัยได้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาต่อต้านอย่างดุเดือดเลือดพล่าน
ประเด็นทักษิณจะได้ประโยชน์ กลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่ประชาธิปัตย์นำมาเป็นเหตุผลในการคัดค้านอย่างหัวชนฝา
จากนั้น พล.อ.สนธิ ถูกกดดันซ้ำจาก พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งได้เรียกร้องให้เปิดเผย ใครอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน ซึ่งแน่นอน พล.อ.สนธิ ไม่มีทางจะตอบคำถามนี้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผสมโรงในประเด็นนี้ทันที ร่วมเรียกร้องให้เปิดเผยคนสั่งการปฏิวัติด้วย
จนทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องออกมาเสียดสีนายอภิสิทธิ์ ว่าทำไมเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วไม่เคยถาม
เป็นที่รู้กันว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน คือการล้มทักษิณ และมีการตั้งรัฐบาลเพื่อจัดการบดขยี้ทักษิณและเครือข่าย
จนกระทั่งปลายปี 2551 เกิดการพลิกขั้วการเมือง ทำให้นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ
ท่ามกลางข้อครหา เป็นรัฐบาลทั้งที่ไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการหารือในกรมทหารราบที่ 11
ต่อมาเบื้องหลังคำถามใครสั่งปฏิวัติ ได้รับการคลี่คลายว่า ผู้ที่หยิบมาพูด คงไปรับรู้ข่าวสารวงในว่า ก่อนหน้านี้คนใกล้ชิด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยหารือกับ พล.อ.สนธิ โดยเรียกร้องให้ออกมาทำความกระจ่างต่อสังคม ว่า พล.อ.เปรม ไม่ได้บงการปฏิวัติ
ทำให้เข้าใจผิดกันจนป๋าเปรมต้องตกเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง 2 สี
พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ หรือบิ๊กหมง อดีต ผบ.สูงสุด และอดีตนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ได้มอบหมายให้นายทหารคนสนิทของตนเอง คือ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.สนธิ เป็นผู้ดำเนินการ
แต่หลังจาก พล.อ.บัญชร ไปพูดคุยแล้ว ดูเหมือน พล.อ.สนธิ มิได้ตอบสนอง
แต่กระนั้นก็ตาม การนำคำถามนี้มาขยายต่อของ พล.ต.สนั่น และ นายอภิสิทธิ์ ไม่เป็นที่ยืนยันว่าได้รับมอบหมายจากป๋าเปรมแต่อย่างใด
ขณะที่ พล.อ.เปรม ก็เริ่มหลุดพ้นจากวังวนความขัดแย้งระหว่าง 2 สีไปเป็นลำดับ
นับจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างป๋ากับนายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในระหว่างการร่วมงานคอนเสิร์ตเพื่อความสมานฉันท์
ทั้งข่าววงในยืนยันว่า ความสัมพันธ์นี้จะดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
ในวันปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 นั้น ในสายตาของนักประชาธิปไตยที่หนักแน่นในหลักการ แม้จะรู้ดีว่ารัฐบาลทักษิณขาดความชอบธรรมในหลายด้าน แต่ไม่ยอมรับการใช้รถถังปืนใหญ่ออกมาล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
แต่บรรดาคนที่เกลียดชังทักษิณอย่างสุดจิตสุดใจ จะพากันปลาบปลื้มยินดี
จนเกิดภาพชาวบ้านถือดอกไม้ไปมอบให้ทหารบนรถถัง
บ้างถึงกับเพ้อคำว่า นี่คือดอกไม้ที่ปลายปืน
ทั้งที่คำว่า ดอกไม้ที่ปลายปืน หมายถึงเหตุการณ์นักศึกษาในอเมริกาเดินถือดอกไม้ไปเสียบที่ปืนของทหาร เพื่อเรียกร้องมิให้ใช้กำลังปราบม็อบต่อต้านสงครามเวียดนาม ก่อนจะลงเอยด้วยการสังหารนักศึกษาไป 4 คน
ต่อมาสถานการณ์บ้านเมืองไทย พัฒนาต่อไปเรื่อย จนพบว่าการรัฐประหารครั้งนั้นคือความผิดพลาด ทำให้ทักษิณกลับมาเป็นฮีโร่ ทั้งที่ปล่อยเลยไปอีกนิด สังคมจะเริ่มตระหนักถึงนโยบายอันผิดพลาดมากมายของทักษิณ
สุดท้าย ทักษิณควรจะถูกพิพากษาด้วยเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป
การเลือกใช้อำนาจปืน ทำให้ทักษิณได้คะแนนนิยมเพิ่ม และเกิดแรงต่อต้านกลุ่มอำนาจที่โค่นทักษิณ จนบ้านเมืองยิ่งร้อนระอุมากขึ้นไปเรื่อย
การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เป็นการดึงบ้านเมืองให้กลับมาสู่วิถีประชาธิปไตย และรัฐบาลน้องสาวทักษิณก็ได้คะแนนนิยมท่วมท้น
จนกระทั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติต้องลงมาสู่การเมืองในระบอบรัฐสภา และโดดเข้ามาผลักดันการปรองดองเอง
ทำให้กลุ่มที่เคยเชียร์สมัยที่เป็นหัวหน้าปฏิวัติ กลับมาต่อต้านอดีตหัวหน้าปฏิวัติอย่างเกรี้ยวกราด ด้วยข้อหารับใช้ทักษิณ
ตอนปี 2549 เคยมอบดอกไม้ให้ ปีนี้ปาก้อนหินใส่
พล.อ.สนธิ จะกลับหลังหันมารับใช้ทักษิณหรือไม่ก็ตามที
วันนี้ คนในสังคมน่าจะสรุปบทเรียนได้ว่า การเมืองไทยจะก้าวไปทางไหนก็ตาม ต้องอยู่บนหนทางประชาธิปไตย ไม่ใช่หนทางอำนาจนอกระบบ
ทักษิณ จะเลวร้ายอย่างไร ต้องไปด้วยประชาธิปไตย ไม่ใช่ปฏิวัติ
พล.อ.สนธิ จะมีเบื้องหลังหรือไม่ แต่ถ้าผลักดันให้บ้านเมืองปรองดองและก้าวหน้าไปบนเส้นทางประชาธิปไตย
ควรจะให้ดอกไม้หรือก้อนอิฐกันเล่า
++++
บทความเก่าครบรอบปี จากปี2554
หมดเวลาเหยี่ยว
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1593 หน้า 98
ประตูคุกที่เปิดให้ 7 แกนนำเสื้อแดง ได้ออกมาสัมผัสลมหายใจแห่งอิสรภาพ แน่นอนว่ามาจากความเมตตาของศาลที่อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราวได้ แต่พร้อมๆ กันก็เป็นผลจากการขึ้นเบิกความของพยานหลายปาก ซึ่งเน้นประเด็นการปรองดอง การสร้างสันติภาพขึ้นในบ้านเมือง
โดยเฉพาะ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเหตุการณ์ความไม่สงบ เพื่อนำไปสู่การปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ซึ่งเป็นผู้ทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
เสนอให้ยื่นประกันตัวแกนนำเสื้อแดง เพื่อเป็นหนทางไปสู่ความสมานฉันท์ในบ้านเมือง
นายคณิตจึงเป็นพยานปากสำคัญที่ขึ้นเบิกความ สนับสนุนให้แกนนำเสื้อแดงได้รับอิสรภาพ
เมื่อบวกกับพยานปากอื่นๆ เช่น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ผู้เดินสายสมานฉันท์กับทุกฝ่าย
ไปจนถึง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ซึ่งเบิกความในฐานะเคยทำหน้าที่ประสานงานกับแกนนำเสื้อแดงขณะชุมนุมเมื่อต้นปี 2553 ซึ่งยืนยันว่า ได้รับความร่วมมือดี อีกทั้งไม่เคยปรากฏพบว่ามีการสะสมอาวุธในพื้นที่การชุมนุม
เช่นเดียวกับ นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เบิกความให้เห็นว่า ระหว่างคุมขังแกนนำ นปช. 7 คน มีความประพฤติเรียบร้อยปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำทุกประการ ไม่เคยก่อความวุ่นวายและให้ความร่วมมือกับเรือนจำเป็นอย่างดี
แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยุค นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ก็ทำหน้าที่คัดค้านการประกันแกนนำเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ ไม่คัดค้านเพียง 2 ราย
สุดท้ายด้วยดุลพินิจของศาล ได้อนุญาตให้ประกันทั้ง 7 ราย
นำมาสู่บรรยากาศสันติภาพที่อบอวลไปทั่ว
สิ่งที่ถกเถียงกันต่อมาคือ รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนการยื่นประกันตัวแกนนำเสื้อแดงเหล่านี้หรือไม่ มีทิศทางมุ่งมั่นจะคลี่คลายบรรยากาศความขัดแย้งจริงหรือไม่
ทั้งนายกฯ อภิสิทธิ์และรองนายกฯ เทพเทือก อ้างทันทีว่า ผู้ที่ขึ้นเบิกความสนับสนุนการประกันตัว ล้วนเป็นคนของรัฐบาล ถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลนั่นเอง
แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ!?
ในเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังคงยื่นคัดค้านต่อศาลในวันดังกล่าว
อีกทั้งผู้ที่เบิกความหนุนการประกันตัวเพื่อปรองดองแม้จะอยู่ในสังกัดรัฐบาล แต่ก็เคยแสดงความหงุดหงิดในนโยบายของรัฐอย่างเปิดเผยมาแล้วก่อนหน้านี้
นายคณิตถือเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด โดยรัฐบาลไม่มีทีท่าขานรับมาก่อน
การเดินสายของเสธ.หนั่นถูกคนในประชาธิปัตย์แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดแจ้ง
ส่วนกรณี พล.ต.ต.วิชัย และ ผบ.เรือนจำนั้น ก็เป็นข้าราชการที่เข้าเบิกความให้ข้อมูลในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา
ทั้งหมดนี้จะบอกว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์มีทิศทางสนับสนุนการยื่นขอประกันตัวเพื่อความปรองดอง จึงไม่เต็มปากเต็มคำนัก!
ไม่เท่านั้น เริ่มมีกระแสข่าวแพร่สะพัดว่า สถานการณ์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังเข้าใกล้ทางตันทุกที
โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น สินค้าอุปโภคบริโภคแพงหูฉี่ ชาวบ้านเดือดร้อนกันหนักในเรื่องน้ำมันปาล์ม มือที่อุ้มรัฐบาลนี้อยู่เริ่มอยากจะปล่อยวางแล้ว
แต่กรณีของแพง กรณีคอร์รัปชั่น เป็นเพียงแรงเร่งเร้า
สาเหตุหลักที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เริ่มถูกกลุ่มอำนาจที่เคยสนับสนุนอุ้มชูทำท่าจะไม่เอาด้วย
คือปมปัญหาทางการเมือง ยิ่งอยู่ไปพลังเสื้อแดงยิ่งใหญ่โต!!
เพราะผิดพลาดตั้งแต่เริ่มปราบปรามนองเลือด ตามไล่ล่า จับกุมคุมขัง 9 เดือนไม่ยอมเปิดทางให้ยื่นประกันตัว
เหล่านี้เองยิ่งทำให้การชุมนุมของคนเสื้อแดงยิ่งมีคนเข้าร่วมมากขึ้น
เป็นนายกฯ ที่เขาส่งมาจัดการกับเสื้อแดง กลับทำให้เสื้อแดงยิ่งขยายตัว
นี่คือความผิดหวังรัฐบาลอภิสิทธิ์ในสายตากลุ่มอำนาจต่างๆ
ความผิดหวังนี้เริ่มแสดงออกในหลายอย่าง เช่น กรณีม็อบพันธมิตรฯ แตกหักกับรัฐบาล
ตามมาด้วยกระแสข่าวปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลเริ่มหนาหู
ล่าสุดเกิดกระแสใหม่ คือ ปฏิวัติเงียบ เปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างนุ่มนวล แต่เป้าหมายคือหยุดอภิสิทธิ์
เพราะอภิสิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของความผิดพลาด ยิ่งทำให้ศึกสองสีในบ้านเมืองร้อนระอุ
สีแดงยิ่งโต สีเหลืองก็เริ่มแตกคอลงสู่ท้องถนน
คดี 91 ศพก็รออยู่เบื้องหน้า
สำคัญที่สุดถึงวันนี้หลายฝ่ายเริ่มรู้แล้วว่า คดี 91 ศพนั้นนับวันยิ่งเพิ่มแรงกดดันอันมหาศาล!
จากคนเสื้อแดงเองที่ทวงถามการชดใช้หนี้ชีวิตให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบปรามรุนแรง โดยจำนวนคนร่วมในทุกเดินเพิ่มถึงหลายหมื่น
จากรัฐบาลต่างประเทศ ญี่ปุ่น อิตาลี ในกรณีช่างภาพเสียชีวิต
โดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้นตามจี้ติดตั้งแต่ต้น จนล่าสุดเมื่อสำนวนคดีของดีเอสไอเองยอมรับว่า นักข่าวญี่ปุ่นตายด้วยกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่รัฐ นี่จะทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นรุกไล่รัฐบาลไทยอย่างไม่ลดราวาศอก
ขณะเดียวกัน ทนายความของ นปช. ในต่างแดน โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เดินหน้าฟ้องร้องไปจ่อรออยู่ที่ศาลโลก โดยมีปมประเด็นสัญชาติอังกฤษของอภิสิทธิ์เป็นทีเด็ด ในการนำตัวนายกฯ ไทยไปขึ้นศาลระหว่างประเทศ
คดี 91 ศพจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้ จึงอาจจำต้องมีการลอยแพ หาคนรับผิดชอบ ก่อนจะพังกันทั้งยวง
นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ถ้าการปล่อยตัวแกนนำ นปช. จากคุก สะท้อนให้เห็นถึงการคลี่คลายบรรยากาศทางการเมือง โดยที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้รับรู้หรือร่วมในทิศทางนี้
เท่ากับรัฐบาลอภิสิทธิ์ก้าวเข้าถึงจุดอันตรายแล้ว ใกล้จะถูกกลุ่มอำนาจตัดหางปล่อยวัดแล้ว
ไม่ต่างจากเหตุการณ์ช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 หลังการปราบปรามนองเลือด ทำให้นักศึกษาประชาชนแห่เข้าป่า ลี้ภัยไปต่างแดน
รัฐบาลที่ขึ้นมารับช่วงครั้งนั้น ต้องทำหน้าที่กลบเกลื่อนความผิดพลาดชะล้างคราบเลือด
แต่เพราะต้องปกครองบ้านเมืองด้วยท่วงทำนองเผด็จการ เดินหน้าทำงานด้วยสไตล์เหยี่ยว
เพียงแค่ปีเดียว กลุ่มอำนาจที่หนุนหลังก็จำต้องให้คณะทหารสายพิราบเข้าปฏิวัติล้มรัฐบาล
พร้อมกับพลิกนโยบายการเมืองใหม่หมด เดินหน้านิรโทษกรรมผู้นำนักศึกษาที่ถูกจับในวันที่ 6 ตุลา ทันที
เปิดสัมพันธ์กับประเทศจีนเพื่อลดการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ลดพลังการต่อสู้ที่ดุดันในเขตป่าเขาให้แผ่วเบาลง
ในที่สุดแนวทางเด็ดปีกเหยี่ยวให้พิราบเข้ามาแทนที่ ก็ช่วยให้ปัญหาเบาบางลงไป
หรือว่าทิศทางที่อภิสิทธิ์ทำมาตลอดหลังพฤษภาเลือด ไม่ต่างจากท่วงทำนองรัฐบาลเหยี่ยวในยุคหลัง 6 ตุลา
หรือกำลังจะถูกเขี่ยทิ้ง เพื่อนำพิราบเข้ามาโบกบินแทน
ระหว่างนิรโทษกรรม 6 ตุลา 19 กับปลดปล่อยแกนนำเสื้อแดงในวันนี้
มีอะไรคล้ายกันหรือไม่!?
+++
ณัฐวุฒิ ปะทะ นิพิฏฐ์ ตอน1 เจาะข่าวเด่น 29 03 55
www.youtube.com/watch?v=ela_dju7shE
ณัฐวุฒิ ปะทะ นิพิฏฐ์ ตอน2 เจาะข่าวเด่น 30 03 55
www.youtube.com/watch?v=1BrdHBPZ2Bc
ชาย อิสระชน ใจถึงใจ ฝากสายใย ผ่านลูกกรง 28 3 2012
www.youtube.com/watch?v=lD60LXxGDRA
อเล็ก โชคร่มพฤก ใจถึงใจ ฝากสายใย ผ่านลูกกรง 28 3 2012
www.youtube.com/watch?v=xnDikBlpJEg
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย