http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-10

"ศาสดา" @ เฟซบุ๊ก/ THE IRON LADY โดย คนมองหนัง, นพมาส

.

"ศาสดา" @ เฟซบุ๊ก
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 85


ชื่อของ "ศาสดา" กำลังดังก้องโลกไซเบอร์เมืองไทย

ก่อนหน้านี้ ผมรู้จักผู้ก่อตั้งเพจ "ศาสดา" ครั้งแรก ตอนเขาทำหน้าที่เป็นแอดมินเพจ "ธเนศ เขตยานนาวา"
"ร่างอวตาร" ในเฟซบุ๊กของ "ธเนศ วงศ์ยานนาวา" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ซึ่งรวบรวมเอาคำพูดคมๆ กวนๆ จากห้องเล็กเชอร์ของ อ.ธเนศ มาถ่ายทอดซ้ำในเครือข่ายสังคมออนไลน์

"ศาสดา" อธิบายว่า เขาชอบลีลาการสอนของ อ.ธเนศ ที่นำเอา "ความรู้ยากๆ" มาอธิบายยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายๆ โดยใช้คำพูดแบบ "ภาษาชาวบ้าน"
แต่ต่อมาจำเป็นต้อง "ปิด" เพจ "ธเนศ เขตยานนาวา" เพราะกลัวคนจะเข้าใจผิดคิดว่า อ.ธเนศ คือแอดมินของเพจดังกล่าว

แม้ผู้เป็น "ตัวจริง" จะบอกกับคนทำเพจ "อวตาร" ว่า "ถ้าเรื่องเสียดสี เรื่องล้อเลียน ไม่สามารถมีได้ ประเทศนี้แม่งก็ไม่มี freedom of speech ซึ่ง freedom of speech ก็คือ หัวใจสำคัญที่สุดของเสรีประชาธิปไตย" ก็ตาม


หลังจากนั้น เขาจึงหันมาก่อร่างสร้างเพจ "ศาสดา" ขึ้น โดยอธิบายคอนเซ็ปต์ของเพจนี้ว่า

"ชื่อของ "ศาสดา" เป็นการสื่อถึงการนำเสนอไอเดีย ความคิดอะไรบางอย่างออกมา ไม่ได้ต้องการให้คนอื่นเชื่อทั้งหมด ต้องการเพียงให้ตั้งคำถาม เพราะสุดท้ายสังคม จะเชื่อ หรือไม่เชื่อ จะถกเถียงอย่างไรก็เป็นเรื่องของคุณ ซึ่งทุกศาสนาก็ควรจะเป็นแบบนี้ ถ้าทุกความเชื่อ ทุกศาสนา สามารถเลือกเชื่อบางส่วน และตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้ โลกก็ไม่ต้องฆ่ากันแบบนี้"

เพจ "ศาสดา" มุ่งตั้งคำถาม-วิพากษ์ประเด็นการเมือง, ศาสนา และเซ็กซ์ ในสังคมไทย ด้วยภาษาบ้านๆ ตรงๆ และอารมณ์กวนๆ ตามสไตล์ที่สืบทอดมาจากเพจ "ธเนศ เขตยานนาวา"

แต่ประเด็นเรื่องศาสนานี่เอง ที่ส่งผลให้เพจ "สมาคม Report แห่งประเทศไทย" ระดมกำลังรายงานไปยังบริษัทเฟซบุ๊กให้ปิดเพจ "ศาสดา" เสีย ด้วยข้อหาสำคัญ คือ การดูหมิ่นศาสนา

ทว่า กระแสออนไลน์กลับตีกลับ เมื่อชาวเฟซบุ๊กจำนวนมากแสดงจุดยืนต่อต้านลักษณะการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของเพจ "สมาคม Report แห่งประเทศไทย"

กระทั่งจำนวนคนกด "ถูกใจ" เพจ "สมาคม Report" ลดฮวบลงกว่า 8,000 คน ภายในเวลาไม่กี่วัน ตรงกันข้ามกับเพจ "ศาสดา" ที่มีคนมากด "ถูกใจ" เพิ่มขึ้น



ล่าสุด "ฟ้ารุ่ง ศรีขาว" ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ ได้สัมภาษณ์แอดมินเพจ "ศาสดา" ที่ไม่ยอมเปิดตัวตนแท้จริง แต่เผยภูมิหลังเพียงแค่ว่า เขาเป็นชายหนุ่มวัย 24 ปี จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

(ดู "เปิดใจแอดมินเพจ 'ศาสดา' ผู้ตั้งคำถามเรื่อง SEX-การเมือง-ศาสนา หลังยุติศึกออนไลน์กับ 'สมาคม Report' " http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1330956846&grpid=01&catid=&subcatid=)

มีประเด็นน่าสนใจจากการสนทนาระหว่าง "ฟ้ารุ่ง" กับ "ศาสดา" ดังนี้

เมื่อฟ้ารุ่งถามว่า ยอมรับหรือไม่ว่าเพจ "ศาสดา" มีคำหยาบคาย โดยเฉพาะเรื่องเพศ ที่ใช้คำตรงๆ มาเรียกอวัยวะเพศหญิง-ชาย?

ศาสดาตอบกลับมาอย่างแหลมคมว่า "ปัญหาที่เรามองว่า "หยาบคาย" รับไม่ได้ ก็เพราะเป็นการมองแบบ "ชนชั้นกลาง" แต่ถ้าเราเป็น รากหญ้า ชาวนา ชาวสวน ชาวบ้าน คำนี้ก็ไม่ใช่คำหยาบคาย ชนชั้นล่าง เขาก็พูดกันในชีวิตปกติ นี่ยังไม่ต้องนับการละเล่นพื้นบ้านหลายๆ อย่าง เพลงฉ่อย อีแซว หนังตะลุง หรืออะไรก็ตาม คำพวกนี้ ธรรมดามาก

""คำหยาบคาย" หรือภาษาแบบชาวบ้านที่ใช้ในเพจนี้ จุดประสงค์จริงๆ คือ เพื่อ simplify ทำเรื่องง่ายให้เข้าใจได้ด้วยภาษาชาวบ้าน และสนุก บางเรื่องเป็นเรื่องวิชาการ แต่ถ้าจะเอามาอธิบายกันแบบนั้น ก็ยาก น่าเบื่อ ไม่มีใครอยากอ่าน มันเหมือนความรู้ที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ใครจะเอื้อมไปถึง ไอ้ที่ทำแบบนี้ทั้งหมด ก็เพื่อให้สิ่งที่ทำมันกระจายในวงกว้างได้

"คำเหล่านี้ ไม่ใช่คำหยาบโดยตัวมันเอง แต่หยาบด้วยสำนึกของเรา เพราะพอเราถีบตัวเองมาเป็น "คนเมือง" เป็น "ชนชั้นกลาง" ก็ต้องใช้คำที่สุภาพ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า สำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง มีคำว่า "ชักว่าว" แต่เราพูดในที่สาธารณะไม่ได้ ก็ใช้คำว่า "ไปสนามหลวง" แทน..."


เมื่อถามต่อว่า เห็น "ศาสดา" ไปตั้งคำถามที่เพจของ "ว.วชิรเมธี" บ่อยๆ ทำไมถึงไปถามท่าน?

ศาสดาชี้แจงว่า "ที่ถามท่าน ว. ไม่ใช่ว่าอยากสนุก หรือจะไปล้อท่าน แต่เพราะ ท่าน ว. เป็นเหมือนเซเล็บ พระผู้มีชื่อเสียง ในสังคมไทย เวลามีอะไรก็จะไปสัมภาษณ์ท่าน ว. หรือ โควตคำของท่าน ว. กลายเป็นมีอะไรก็จะนึกถึงท่านคนเดียว

"โฟกัสมากแบบนี้จะเป็นการ "ผูกขาด" การตีความธรรมะ เหมือนถ้าเราเรียนหนังสือกับครูคนเดียว ก็จะคิดว่า ความถูกต้องมีแต่แบบนั้นสิ่งเดียว ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย เพราะพุทธศาสนาเผยแผ่มาไม่ต่ำกว่า 2,500 ปี พระสงฆ์ แต่ละรูป อาจจะไม่ได้พูดถูกต้องทั้งหมด

"ถ้าเราเชื่อว่าท่านพูดถูกทั้งหมด แล้วเกิดกรณีมีความขัดแย้ง สักวันท่านอาจจะถูกตีความเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งเมื่อนั้น ฝ่ายตรงข้ามที่ถูกตีความว่าท่านไม่ได้เข้าข้าง ก็อาจโดนทำร้ายได้เลยทีเดียว

"สิ่งที่ผมทำทั้งหมดคือ การตั้งคำถามกับการผูกขาดการตีความเรื่องธรรมะของท่าน ว.วชิรเมธี และพยายามลดความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ว. ลง เพราะความศักดิ์สิทธิ์มันอันตราย

"ผมขอยกตัวอย่างเรื่อง ศาลพระพรหม ตรงแยกราชประสงค์ ที่มีคนบ้าไปทุบ สุดท้ายคนบ้านั้นโดนรุมกระทืบจนตาย พระพรหมเป็นปูน แต่คนบ้านั่นมีชีวิต นี่ละคือตัวอย่างว่าอะไรก็ตามที่มันศักดิ์สิทธิ์มากไป มันอันตรายเสมอ"


เมื่อถามว่าทำไมเพจ "ศาสดา" ถึงเน้นเรื่องศาสนาและเซ็กซ์?

เจ้าตัวอธิบายอย่างกระชับชัดเจนว่า "เพราะ 2 เรื่องนี้ ทรงอิทธิพลกับชีวิตมนุษย์มากที่สุด ถ้าชีวิตมนุษย์ขาดสองสิ่งนี้ ชีวิตก็จบแล้ว"

ฟ้ารุ่งถามจี้ทันทีว่า "ถ้าไม่ยอมก้มหัวให้กับระเบียบกฎเกณฑ์ที่ควบคุมสังคมเรื่องเซ็กซ์ รวมถึงความเชื่อทางศาสนา แล้วสังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?"

"เราไม่ได้ชวนให้คนยกเลิกกฎเกณฑ์ของสังคม แต่เราตั้งคำถามว่า หากเคร่งไป จะเหมือนกับเราหลอกตัวเองหรือเปล่า? ยกตัวอย่างเช่น เรารู้อยู่แล้วว่าเวลามีความต้องการทางเพศ ก็ต้องสำเร็จความใคร่ แต่ข้อสอบโอเน็ต กลับมีชอยส์ให้เลือก เป็น ชวนเพื่อนไปเตะบอล ปรึกษาครอบครัว พยายามนอนให้หลับ ไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ ชวนเพื่อนสนิทไปดูหนัง

"ผมมองว่า เป็นการโกหกตั้งแต่คนออกข้อสอบ ยันคนตอบคำถาม แทนที่จะสอนหรือเรียนรู้ รับรู้ความจริง ว่าจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร แต่กลับมีชอยส์ให้เลือกแต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้" คือคำตอบของศาสดา



ฟ้ารุ่งถามว่า เมื่อการทำเพจและสนทนากับแฟนเพจนั้นไม่ได้รับค่าตอบแทนจากใคร แล้วจะทำไป ทำไม?

ศาสดาตอบว่า "ผมเป็นคนขี้เหงา ชอบมีเพื่อนคุย ชอบแชร์ไอเดีย ทำอะไรแบบนี้มันก็สนุกดี แต่นอกจากได้ความสนุกแล้ว จริงๆ ผมก็มีเป้าหมายทางการเมืองด้วย

"ผมอยากเปลี่ยนสังคม แต่ผมไม่ใช่คนกล้าลุยสู้ ไม่กล้าพลีชีพ ไม่ชอบไปม็อบเพราะร้อนทนแดดทนฝนไม่ได้ ผมกระแดะ และไม่มีเวลาพอที่จะอุทิศตัวเองเป็นนักปฏิวัติอะไร แต่ผมใช้สื่อในโลกออนไลน์ผลักดันความคิด ตั้งคำถามกับความเชื่อหลักของสังคม

"ผมเชื่อว่า "การตั้งคำถาม" และ "การคิด" สามารถนำพาสังคมให้ก้าวหน้าได้ไม่แพ้การต่อสู้ในรูปแบบอื่นๆ เช่นกัน"


เมื่อถามว่าคุณเป็นคนเสื้อแดงหรือไม่?

แอดมินเพจดังให้คำตอบว่า "มีหลายครั้ง ผมก็ด่าคนเสื้อแดง แต่ไม่เห็นมีใครมาด่าว่าผมเป็นเสื้อเหลืองบ้างเลย? คือ ถามว่าลึกๆ ผมมีจุดยืนทางการเมืองไหม มันก็มี

"แต่ผมไม่อยากให้เอาตรงนี้มาโฟกัส เพราะถึงที่สุดถ้าคุณตราหน้าผมว่าเป็นแดง เหลือง หรือ หลากสี คุณก็จะไม่สนใจอะไรที่ผมเขียน ไม่ฟังที่ผมพูด และวิจารณ์ผมบนฐานของสีเสื้อที่ผมสังกัด โดยไม่ได้ตรองดูว่าสิ่งที่ผมพูด มันถูก หรือผิด หรือมีเหตุผลหรือไม่อย่างไร

"ความเห็นหลายอย่างอาจจะโดนใจเสื้อแดง เพราะผมสนับสนุนแนวทางแบบเสรีประชาธิปไตย และมันตรงใจเขา แต่ในเพจผมก็มีคนเสื้อเหลืองก็เยอะ หลายคนเข้ามาถกเถียง หลายคนคุยหลังไมค์ มาให้กำลังใจ แม้ไม่เห็นด้วยในแนวความคิดทางการเมือง บางคนก็กลายเป็นเพื่อนสนิทเลย แม้เราจะเถียงการเมืองกันบ่อยๆ ก็ตาม

"คือ เพจผมเนี่ย ไม่ว่าสีอะไรคุณก็อยู่ได้ เพราะผมไม่เคยลบคอมเมนต์ใคร ทุกสีเถียงตะลุมบอนกันทุกวัน หลายคนจึงมองว่า เพจของผมเนี่ย "สมานฉันท์" ของจริง บางเพจนี่คิดไม่ตรงเขาลบนะ แต่เพจผมไม่เลย ผมจะลบเฉพาะคอมเมนต์ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย เพราะผมเองก็รับผิดชอบไม่ไหว"



++

THE IRON LADY "สุดยอดการแสดง"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 87


กำกับการแสดง Phyllida Lloyd
นำแสดง Meryl Streep
Jim Broadbent
Alexandra Roach
Richard E. Grant
Olivia Coleman


ถึงตอนนี้ หลังจาก เมอริล สตรีป ได้รับรางวัลการแสดงยอดเยี่ยมของนักแสดงหญิงมาไม่รู้ว่าจากกี่สถาบัน รวมทั้งรางวัลใหญ่ที่สุดคือออสการ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีใครเข้าใจผิดอีกแล้วนะคะว่า The Iron Lady เป็นอีกเวอร์ชั่นของ The Iron Man ภาคสตรีนิยม

ขณะที่ Iron Man เป็นซูเปอร์ฮีโร่จากหนังสือการ์ตูน แต่ Iron Lady เป็นหนังไบโอพิก หรือหนังชีวประวัติของสตรีเรืองนามที่แกร่งที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษและประวัติศาสตร์โลก

มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของสหราชอาณาจักร ในฐานะหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม เธอได้รับเลือกตั้งถึงสามวาระต่อเนื่องกัน จนกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของอังกฤษ

หลังจากดำรงตำแหน่งอยู่ 11 ปี ด้วยบุคลิกแกร่งกร้าวจนสูญเสียความนิยมจากแวดวงในพรรคของตัวเอง เธอถูกคนในพรรคเดียวกันรวมหัวกันต่อต้านและเขี่ยกระเด็นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่งผลให้ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ.1990

ช่วงเวลาสิบเอ็ดปีในตำแหน่ง สตรีเหล็กผู้นี้มีทั้งคนชื่นชมและคนเกลียดชังมากมาย ว่ากันว่านโยบายที่ไม่ยอมลงให้แก่ใครของเธอแบ่งแยกอังกฤษออกเป็นสองฝักสองฝ่าย


นโยบายที่ผู้คนยังจดจำกันได้ขณะที่เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือการปราบปรามการประท้วงของกรรมกรเหมือง การประกาศสงครามกับอาร์เจนตินาเพื่อชิงอธิปไตยบนเกาะฟอล์กแลนด์ที่อังกฤษครอบครองมาช้านานคืนหลังจากอาร์เจนตินาส่งกองทหารขึ้นบุกยึด ซึ่งตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ฯลฯ

เรื่องราวการประท้วงอันยืดเยื้อของกรรมกรเหมืองและการปราบปรามอย่างไม่ยอมผ่อนปรนของรัฐบาลอังกฤษ กลายเป็นฉากหลังอันมีสีสันของภาพยนตร์และละครเพลงเรื่อง Billy Elliot ที่โด่งดังมาแล้ว

ส่วนเรื่องสงครามฟอล์กแลนด์ก็ปลุกเลือดรักชาติของอังกฤษขึ้นมา หมู่ฟอล์กแลนด์เป็นอาณานิคมที่มีพื้นที่เล็กนิดเดียวและอยู่ห่างไกลจากอังกฤษลิบลับ แต่การตอบโต้แก่อาร์เจนตินาเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและความยิ่งใหญ่ของจักรภพอังกฤษ

แม้ว่าสงครามฟอล์กแลนด์จะสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและการสูญเสียเลือดเนื้อของทหารอังกฤษไม่น้อย แต่ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ก็ทำให้ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ได้ชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งเป็นวาระที่สอง



ภาพยนตร์เรื่อง The Iron Lady เป็นการกลับมาร่วมงานกันของผู้กำกับ ฟิลลิดา ลอยด์ กับ เมอริล สตรีป หลังจากที่เคยร่วมงานกันมาแล้วในภาพยนตร์เพลงเรื่อง Mamma Mia! ที่สร้างจากละครเพลงชื่อเดียวกันซึ่งร้อยเรียงเรื่องราวขึ้นจากเพลงยอดนิยมในยุคปี 80 ของวงแอ็บบาที่เป็นหญิงล้วน

หลายคนมองว่า Mamma Mia! เป็นเรื่องที่ เมอริล สตรีป ต้องฉีกหน้าตัวเอง เพราะเธอต้องไปตากหน้าร้องเพลงเต้นรำเชยๆ แต่งตัวย้อนยุคเฉิ่มๆ เหมือนดาราร็อกยุคปี 80

แต่ผู้เขียนมองว่าเมอริลได้พิสูจน์ตัวเองว่าเธอเป็นนักแสดงแท้ๆ ที่เล่นได้ทุกบทบาท ไม่ว่าจะดรามาหรือคอเมดีหรือหนังเพลง ไม่ว่าเนื้อหาจะลุ่มลึกหรือตื้นเขิน แต่ทุกแคแร็กเตอร์ที่เธอสวมบทบาทก็โลดแล่นขึ้นมามีชีวิตของตัวเองเต็มที่ ด้วยพรสวรรค์อันหาได้ยากยิ่งของเธอ

และอย่างที่ทราบกันไปแล้ว บทบาทของ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ครั้งนี้ก็ทำให้ เมอริล สตรีป ได้ขึ้นไปรับรางวัลออสการ์เป็นครั้งที่สาม (ครั้งแรกจาก Kramer VS Kramer และครั้งที่สองจาก Sophie"s Choice) หลังจากมีผลงานโดดเด่นฝีมือขั้นเทพอย่างสม่ำเสมอ แทบไม่เว้นแต่ละปี แต่ก็ถูกลัดคิวไปให้นักแสดงคนอื่นๆ ที่มีโอกาสน้อยกว่ามาเรื่อยๆ

แม้ว่า The Iron Lady จะไม่ได้อยู่แถวหน้าๆ ของหนังที่โดดเด่นของปี แต่เมอริลก็ทำให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นขึ้นมาด้วยฝีมือการแสดงอย่างหาที่ติไม่ได้

ทุกครั้งที่เล่นหนัง ตัวตนของเมอริลมลายหายเข้าไปอยู่ในแคแร็กเตอร์ที่เธอเล่น แค่เล่นเป็นหญิงชราวัยแปดสิบกว่าก็กินขาดแล้ว

ยิ่งเป็นหญิงชราที่มีบุคลิกเฉพาะตัวที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครแบบ แมกกี้ แทตเชอร์ ด้วย ยิ่งยืนยันฝีมือขั้นเทพของเมอริลอย่างไม่มีข้อสงสัย


หนังจับเอาสตรีในประวัติศาสตร์ที่ยังอยู่ร่วมสมัยกับเราคนนี้ในปัจจุบัน ขณะเมื่อเธออายุแปดสิบกว่า และเริ่มมีอาการหลงลืมของคนแก่ จนได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดของคนในบ้าน เสมือนหนึ่งว่าเธอเป็นนักโทษอยู่ในบ้านของตัวเอง

(ผู้เขียนนึกไปถึงหนังไบโอพิกอีกเรื่องในช่วงเดียวกันนี้ และมีชื่อคล้ายคลึงกันมากคือ The Lady ซึ่งเป็นเรื่องราวของ ออง ซาน ซูจี ผู้มีฉายาว่า "กล้วยไม้เหล็ก" และใช้ชีวิตอยู่ในพม่าในฐานะนักโทษในบ้านของตัวเอง ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร)

เลดี้แทตเชอร์พำนักอยู่ในบ้านที่เธอยังเห็นสามีผู้ล่วงลับ เดนิส แทตเชอร์ (จิม บรอดเบนต์) อยู่ในบ้านและพูดจากับเธอประดุจยังมีชีวิตอยู่ จากปฏิสัมพันธ์นี้เอง ที่นำเธอย้อนกลับไปสู่อดีตตั้งแต่เธอยังเป็น มาร์กาเร็ต โรเบิร์ตส์ (อเล็กซานดรา โรช) ลูกสาวของพ่อค้าขายของชำ ซึ่งส่งเสริมให้เธอมุ่งมั่นจะก้าวพ้นจากความเป็นชนชั้นกลางและสตรีเพศขึ้นสู่โลกของการเมืองการปกครองที่เป็นโลกของบุรุษเพศล้วนๆ

จนกลายเป็นผู้นำที่แกร่งกล้าไม่แพ้บุรุษหน้าไหน

ขอจบด้วยการยกวาทะของมาร์กาเร็ตมาอ้างในที่นี้ว่า "ถ้าเราตัดสินใจทำอะไรที่ห้าวหาญหน่อย คนก็จะไม่ชอบเราหรอกในวันนี้ แต่พวกเขาจะขอบคุณเราในคนอีกหลายรุ่นอายุต่อไป"

ซึ่งสามีของเธอโต้กลับว่า "หรือไม่พวกเขาก็ลืมเธอและโยนเธอทิ้งไปในกองขยะ"

ไม่ว่าเลดี้แทตเชอร์จะได้รับคำขอบคุณจากชนรุ่นหลัง หรือว่าจะถูกโยนทิ้งไปในกองขยะ ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสินต่อไป



.