.
อีกบทความ - ไม่รอบคอบ ? โดย สมิงสามผลัด
รายงานของแถม! การทำงานของกรรมการองค์กรอิสระ - กรรมการสิทธิ์ค้านซื้อแท็บเล็ตจากจีน-พร้อมถามหาที่เสียบปลั๊ก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์ : จริยธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดิน
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:10:00 น.
แนวคิดผู้ตรวจการแผ่นดิน (Ombudsman) มีกำเนิดมาจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียซึ่งปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่ดูแลปัดเป่าเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนแทนพระมหากษัตริย์ ต่อมาได้มีการพัฒนามาสู่ระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สำหรับประเทศไทย ผู้ตรวจการแผ่นดินมีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2542 โดยใช้ชื่อว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 3 ท่าน โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (24 สิงหาคม 2550) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันมี คุณผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นประธาน ได้รับเรื่องร้องเรียนให้พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีกระทำการไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เปิดแถลงภายหลังการประชุมโดยมีใจความสรุปว่า การแต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน และ คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีไม่ขัดกฎหมาย แต่ขัดจริยธรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การแต่งตั้ง ดร.นลินีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนและอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติหรือไม่ โดยให้นำระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 27 มาพิจารณา
2. การแต่งตั้งคุณณัฐวุฒิดำรงตำแหน่งโดยที่คุณณัฐวุฒิอยู่ในระหว่างถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีอาญา แต่นายกฯไม่ได้นำพฤติกรรมทางจริยธรรมของคุณณัฐวุฒิมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนเสนอแต่งตั้ง
หากจะเปรียบเทียบเรื่องนี้กับสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้วจะเห็นว่าแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลไม่เคยมีการนำประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองมาใช้กับพรรคประชาธิปัตย์เลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำเช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยทำในขณะนี้ แถมบางเรื่องเห็นได้ชัดเจนว่าไร้ซึ่งจริยธรรมและมนุษยธรรม ดังจะขอยกตัวอย่างมาเทียบเคียงเป็นรายกรณี ดังนี้
1.การแต่งตั้ง คุณกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งๆ ที่คุณกษิตนำพรรคพวกไปบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าพฤติกรรมของคุณกษิตก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือศรัทธาของประชาชน และไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติตามประมวลจริยธรรมข้อ 27 กระนั้นหรือ
อีกทั้งการบุกยึดสนามบินของคุณกษิตและพรรคพวกแสดงว่าเป็นการเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นกระนั้นหรือ ถ้าใช่ ต่อไปหากใครคิดจะประท้วงเรื่องใดก็ให้ไปยึดสนามบินเพราะไม่ผิดทั้งกฎหมาย และจริยธรรม
นอกจากนี้ การที่คุณกษิตออกมาด่านายกฯฮุน เซน ว่าเป็นกุ๊ย ก็ไม่ถือว่าเป็นการแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพตามประมวลจริยธรรมข้อ 11 กระนั้นหรือ
2.กรณีรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ปล่อยให้มีการฆ่าหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวง กลางวันแสกๆ โดยยังไม่สามารถหาตัวผู้สั่งการและตัวผู้ลงมือสังหารหมู่ประชาชน โดยคุณอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบอะไรให้เห็นเลยแม้แต่น้อย
อย่างนี้แสดงว่าคุณอภิสิทธิ์สูงส่งไปด้วยคุณธรรม จริยธรรมใช่ไหม เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นองค์กรใดออกมาร้องหาจริยธรรมจากคุณอภิสิทธิ์
เช่นเดียวกัน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่เห็นทำอะไรเลย ซึ่งผิดกับกรณีนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่ผู้ตรวจการดูจะกุลีกุจอเรื่องนี้เป็นพิเศษ รีบพิจารณาและเสนอให้นายกฯรับไปพิจารณาตรวจสอบพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีใหม่ และให้แจ้งกลับมายังผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 30 วัน
จริงๆ แล้วคนที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมผู้อื่นควรจะต้องเป็นผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยจริยธรรม ปราศจากซึ่งอคติ และมีมาตรฐานเดียวในการพิจารณาไม่ใช่หรือ
แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดที่มีคุณผาณิตเป็นประธานไม่แน่ว่าจะมีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วนหรือไม่ ทั้งนี้ อาจดูได้จากการแต่งตั้งที่ปรึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ท่าน ที่ล้วนแต่ประกอบด้วยบุคคลที่มีส่วนในการร่วมร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นผลผลิตของเผด็จการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
หรือไม่ก็เป็นกลุ่มบุคคลผู้ได้รับผลประโยชน์จากการรัฐประหารในครั้งนี้เกือบทั้งสิ้น นอกจากนี้ ที่ปรึกษาดังกล่าวยังประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลที่เกลียดทักษิณเป็นชีวิตจิตใจอีกจำนวนหนึ่ง แล้วอย่างนี้ยังจะพูดได้เต็มปากอีกหรือไม่ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินชุดนี้ปราศจากซึ่งอคติ และเพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม
ดังนั้น จึงอยากจะขอฝากเตือนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินว่าอย่าบ้าจี้ไปตามแรงกดดันของกลุ่มผู้มากบารมีเลย ไม่เช่นนั้นการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ นอกจากจะต้องยุบเลิกองค์กรศาลบางประเภท เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระที่ไม่อิสระสมชื่อ เช่น กกต. และ ป.ป.ช.แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินก็อาจเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่สมควรต้องถูกยกเลิกเช่นกัน
ตอนนี้จึงอยากจะเรียกหาจริยธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนที่ท่านจะทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของผู้อื่น
+++
ไม่รอบคอบ?
โดย สมิงสามผลัด
ในข่าวสดออนไลน์ วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
สับสนกันพอสมควรสำหรับความเห็น "ไม่ผิดแต่ไม่รอบคอบ" ของผู้ตรวจการแผ่นดิน
หลังนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา เจริญพานิช และนายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน
นั่งแถลงถึงผลการสอบสวนกรณีมีการร้องเรียนว่ารัฐบาลแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รมช.เกษตรฯไม่เหมาะสม
โดยสรุปว่านางนลินีที่ถูกกล่าวหาว่าติดแบล็กลิสต์ของทางการสหรัฐ
และนายณัฐวุฒิที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่ระหว่างถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายนั้น
มิอาจถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม
จึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาคำร้อง
แปลตามความก็คือ ไม่มีความผิด
และไม่ต้องส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการถอดถอน
แต่ตอนท้ายการแถลงข่าวนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินกลับเสริมเข้าไปด้วยว่า
นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขาดความรอบคอบในการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ และขาดความระมัดระวังในการแต่งตั้งนางนลินี
โดยให้ชี้แจงกลับภายใน 30 วัน
หากนายกฯยังเพิกเฉย ก็จะทำหนังสือรายงานต่อครม.และรัฐสภาต่อไป
ตรงนี้แหละที่ทำให้สับสน
ในเมื่อการแต่งตั้ง 2 รมต.ไม่ผิดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551
ไม่ผิดทั้งในแง่ของจริยธรรมและในแง่ของกฎหมาย
แล้วทำไมต้องชี้แจงกลับภายใน 30 วัน
ฉะนั้น การฟันธงว่าขาดความรอบคอบ ไม่ระมัดระวัง
เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้ตรวจการแผ่นดิน
หรือแค่ต้องการเอาใจกลุ่มที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล ?
ทำให้อยากรู้จริงๆ
ว่าหากมีคนยื่นให้ตรวจสอบจริยธรรมของอดีตนายกฯบางคนกรณีสั่งสลายม็อบจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ผู้ตรวจการแผ่นดินจะสรุปออกมาแบบไหน
ยังแทงกั๊กว่าปราบม็อบไม่ผิด แต่ไม่รอบคอบหรือเปล่า !?
+++
กรรมการสิทธิ์ค้านซื้อแท็บเล็ตจากจีน-พร้อมถามหาที่เสียบปลั๊ก
จาก www.prachatai.com/journal/2012/03/39525 . . Mon, 2012-03-05 22:55
กล่าวหาจีนผลิตสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ถามรัฐบาลกล้ารับประกันหรือไม่แท็บเล็ตจะไม่เกิดอันตรายต่อเด็ก และเตรียมปลั๊กสำหรับเอาแท็บเล็ตชาร์จแบตเพียงพอจำนวนนักเรียนต่อห้องหรือยัง
เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ รายงานวันนี้ (5 มี.ค.) ว่านายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการซื้อคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ว่า โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ตนไม่เห็นด้วยที่ ครม.อนุมัติซื้อแท็บเล็ตจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะสินค้าที่ผลิตจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคุณภาพ และไม่ได้มาตรฐาน รัฐบาลสามารถรับประกันได้หรือไม่ว่าแท็บเล็ตดังกล่าวมีคุณภาพ และจะไม่เกิดเหตุอันตรายต่อเด็กนักเรียนได้
รวมทั้งตนขอถามว่า นอกจากตัวเครื่องแท็บเล็ตแล้ว รัฐบาลได้เตรียมแบตเตอรี่และจุดเสียบปลั๊กไฟไว้รองรับด้วยหรือไม่ เพราะถ้าหนึ่งห้องเรียนมีนักเรียน 50 คน มีแท็บเล็ต 50 เครื่อง ก็จะต้องมีจุดเสียบปลั๊กไว้สำหรับชาร์จไฟฟ้า 50 ที่
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
หาอ่านข้อคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2012/03/39525
เช่น " ... สิทธิมนุษยชนของพยาบาลอาสาที่ถูกฆ่าในวัดในขณะปฏิบัติหน้าที่เพื่อมนุษยธรรม ของสื่อรวมทั้งสือต่างประเทศที่กำลังทำหน้าที่ของเขา ของนักวิชาการที่น่าจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่สำคัญเหรอจ๊ะ
สิทธิในชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กับสิทธิของเด็กนักเรียนที่จะเข้าถึงปลั๊กไฟ กสม. คิดว่าอันไหนสำคัญกว่ากันจ๊ะ..."
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
( นายปริญญา ศิริสารการ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ/หมายเลขสมาชิก 042 ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง-วันที่ 1 มกราคม 2550 และเคยเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา ที่มีกรณีพิพาทกับชุมชนเกี่ยวกับการทำธุรกิจเหมืองเกลือ จึงมีการอภิปรายถึงความไม่เหมาะสมในประวัติส่วนตัวเมื่อต้องมีการลงคะแนนรับรอง แต่ได้แรงสนับสนุนจาก ส.ว.บางคนที่เคยเป็นอดีต ส.ส.ร. 50 ทำให้มีคะแนนเพียงพอที่ได้รับการรับรองเป็น กสม.)
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย