.
มีบทรายงาน - ‘ธีรยุทธ’ นำทีม 5 Think Tank เปิดพื้นที่เสรีภาพ จัดถก 8 ปัญหาหลัก
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: สกัดจุดธีรยุทธ บุญมี
ใน www.prachatai.com/journal/2012/03/39806 . . Sat, 2012-03-24 16:52
ธีรยุทธ บุญมี เป็นนักเรียนสวนกุหลาบ เริ่มสร้างชื่อเสียงด้วยการสอบได้ที่หนึ่งของประเทศสายวิทยาศาสตร์ ในระดับ ม.ศ.๕ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ หลังจากนั้น ได้สร้างเกียรติประวัติโดยเข้าร่วมในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และมีบทบาทสำคัญมากในกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ต่อมาก็ได้เข้าร่วมกับขบวนการสังคมนิยม และร่วมต่อสู้ในเขตป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนถึง พ.ศ.๒๕๒๔ จึงได้กลับเมือง และไปเรียนหนังสือต่างประเทศ เมื่อกลับมา ก็ทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ผ่านมา
ในทางวิชาการ ธีรยุทธมีงานเขียนและแปลหนังสือหลายเล่มและได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ความรู้ใหม่ในด้านทฤษฎีสังคมในทางสากล ให้เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากขึ้น หลายคนอาจจะกังขาในการที่เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในระยะอันใกล้นี้ แต่เมื่อเทียบผลงานทางวิชาการของเขากับนักวิชาการด้านสังคมวิทยาไทยคนอื่น ต้องถือว่า การได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ของอาจารย์ธีรยุทธ เป็นเรื่องที่เหมาะสม
ที่มากกว่างานวิชาการ คือการที่ธีรยุทธแสดงบทบาทเป็นนักคิดของยุคสมัย ที่สวมเสื้อกั๊กเป็นสัญลักษณ์ แล้วเสนอข้อวิเคราะห์สังคมและการเมืองเป็นระยะ และข้อเสนอของเขามักจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทุกครั้ง ธีรยุทธเป็นนักประดิษฐ์คำทางการเมือง ที่มักจะถูกนำไปใช้ แต่ปัญหาในการแสดงข้อวิเคราะห์ทางการเมืองของเขาในระยะหลัง เป็นการสะท้อนแต่เพียงว่า ธีรยุทธได้ถอยไปจากการเป็นนักวิชาการของประชาชน เลิกฐานะนักคิดประชาธิปไตย และกลายเป็นนักคิดแบบชนชั้นนำที่รับใช้สถาบันหลักไปเสียนานแล้ว และการเสนอข้อวิเคราะห์สังคมหลายครั้งของเขา ก็เป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเช่นนี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ธีรยุทธได้เสนอเรื่อง ตุลาการภิวัฒน์ ให้ศาลเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนดี ตัดสินอรรถคดีด้วยบรรทัดฐานและดุลพินิจที่ดี และเน้นหลักความเป็นธรรม จึงควรให้ตุลาการเข้ามาจัดการกับนักการเมืองทุจริต และเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไป ปรากฏว่า หลังจากรัฐประหาร กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ข้อเสนอของเขาก็เป็นจริง เพราะพวกตุลาการทั้งหลายได้รับโอกาสให้เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้เต็มที่ ต่อมาธีรยุทธก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การให้อำนาจตุลาการแทรกแซงทางการเมืองเช่นนี้ เป็นการ “เพิ่มพื้นที่แห่งความยุติธรรมในสังคมไทยให้กว้างขวางขึ้น”
ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๐ เมื่อครบรอบปีรัฐประหาร ธีรยุทธ บุญมี ได้เสนอทัศนะเหลวไหลอย่างชัดเจนเมื่อออกมาประเมินว่า คณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจนั้น “สอบผ่าน” โดยไม่ได้วิเคราะห์เลยว่า การรัฐประหารเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองที่ถูกต้องหรือไม่ และไม่ได้พูดถึงลักษณะที่เป็นอนุรักษ์นิยมปฏิกิริยาของการรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ได้พูดถึงการล้มระบอบรัฐสภา ทำลายประชาธิปไตย และฉีกรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าเป็นการรองรับการกระทำเหล่านั้นให้มีความชอบธรรมไปด้วย
พ.ศ.๒๕๕๒ เมื่อรัฐบาลพรรคพลังประชาชนของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช บริหารประเทศ ธีรยุทธ บุญมี ได้อธิบายว่า สังคมไทยอยู่ในยุค ๕ เสื่อม คือ ความสามัคคีเสื่อม การเมืองเสื่อม สถาบันวิชาการ-สื่อเสื่อม กองทัพ-ชนชั้นนำเสื่อม และ คุณธรรมเสื่อม เหลือสถาบันเดียวที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ คือ ศาลยุติธรรม ที่ยึดหลักปกครองโดยกฎหมายและความเป็นธรรม และยังได้อธิบายว่า การปกครองโดยกฎหมายนั้นเก่าแก่กว่าประชาธิปไตย เพราะการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยเสียงข้างมากอาจโน้มนำไปสู่เผด็จการรัฐสภา หรือการปกครองโดยแกนนำพรรคเสียงข้างมาก จึงต้องให้ตุลาการเข้ามาตรวจสอบ
สรุปได้ว่า ธีรยุทธ บุญมี มีความเห็นอย่างมั่นคงว่า อำนาจตุลาการจะเป็นพลังในการแก้ปัญหาของสังคมไทย แต่คงต้องกล่าวแย้งว่า ข้อเท็จจริงในระยะ ๕ ปีมานี้ ไม่ได้พิสูจน์เลยว่า ข้อเสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์ถูกต้อง กลับกลายเป็นว่า พวกผู้พิพากษาเหล่านี้ เริ่มต้นด้วยการยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหาร นำเอากฎหมายรัฐประหารมาใช้เป็นหลักในการตัดสินอรรถคดี แล้วสร้างตนเองเป็นเทวดารุ่นใหม่ เงินเดือนสูง ต่ออายุราชการจนถึง ๗๐ ปี และยังยึดมั่นว่าตัวเองถูก แต่ไม่ได้ถูกตรวจสอบทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งเลย นอกจากนี้ การตัดสินคดีทางการเมืองก็ผิดพลาด ใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ได้ จิตใจเหี้ยมโหดอำมหิต และ อนุรักษ์นิยม ริดรอนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา และชอบตัดสินให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เข้าคุกอยู่เสมอ ในที่สุด ตุลาการภิวัฒน์แทนที่จะเป็นแนวทางแก้ปัญหา กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือของฝ่ายอำมาตย์ในการรักษาอำนาจ และปราบปรามประชาชน
หลังจากนั้นแล้ว ธีรยุทธ บุญมี ได้เงียบหายไประยะหนึ่ง หรือยุติบทบาทไปตลอดสมัยที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ได้กลับมาสวมเสื้อกั๊กเสนอข้อวิเคราะห์สังคมอีกครั้งในวันที่ ๑๘ มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่เห็นจุดยืนอันไม่เปลี่ยนแปลงของธีรยุทธ และจะทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์บิดเบี้ยวไปด้วย
ธีรยุทธเริ่มโดยอธิบายว่า การเมืองของสมัยปัจจุบัน เป็นยุคของ”ทักษิณ-การเมืองรากหญ้า ประชานิยม” วิกฤตการเมืองไทยรุนแรง เพราะการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่า เสื้อแดงไม่มีตัวตนเพราะถูกจ้างมา โง่จึงถูกหลอกมา ไร้การศึกษาจึงถูกชักจูงโดยทักษิณ แต่ชาวรากหญ้าเสื้อแดงกลับมองว่า ทักษิณมีบุญคุณล้นเหลือเพราะประชานิยม แต่เขายังเห็นว่า ประชานิยมน่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงในอนาคต พลังรากหญ้าเสื้อแดงมีลักษณะเฉพาะ ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการชุมนุมเป็นครั้งคราว แต่ยังไม่เป็นขบวนการการเมือง ไม่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองแต่อย่างใด จากนั้น ก็ได้พยายามอธิบายว่า รากเหง้าของปัญหามาจากการรวมศูนย์อำนาจ และความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไป จึงเกิดสภาพการเมืองแบบ ๒ ขั้วอำนาจ คือ ศูนย์อำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับศูนย์อำนาจรากหญ้า แต่ละส่วนมีฐานที่มั่น ที่มาความชอบธรรม ควบคุมอำนาจที่ต่างกันชัดเจน จึงไม่มีทางออกจากการรอมชอมในระยะสั้น เพราะปัญหาฝังลึกมานาน
ธีรยุทธ อธิบายต่อไปว่า ทางออกของเรื่องจะต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เช่น ต้องคิดเรื่องประชาธิปไตยรากหญ้าที่มีการตรวจสอบ เรื่องผลร้ายของประชานิยม เรื่องการปรับตัวเข้าหากันของกลุ่มที่ขัดแย้ง ใจความสำคัญอยู่ที่ ธีรยุทธ เสนอว่า “โดยส่วนตัวผู้เขียนยังเชื่อว่าทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ จะเห็นได้จากการปราศรัยกับชาวบ้าน ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน นอกจากอ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอ มากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย” และว่า “ประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น”
ในกรณีนี้เอง จึงจับได้ว่า ธีรยุทธก็ยังคงเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นปัญหาหลักของบ้านเมือง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่มีความแตกต่างไปจาก พรรคประชาธิปัตย์ หรือ ฝ่ายพันธมิตร เพียงแต่ว่า ธีรยุทธพยายามใช้คำอธิบายอันวกอ้อมให้ดูเป็นกลาง และไม่ให้เห็นว่า เป็นการมุ่งโจมตีฝ่ายประชาชนรากหญ้ามากเกินไป แม้ว่าจะไม่ได้เสนอหลักตุลาการภิวัฒน์ แต่ก็ยังแฝงนัยว่าฝ่ายทักษิณเป็น”คนชั่ว” และ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็น”คนดี” จึงต้องให้ฝ่ายคนดีหาแนวทางใหม่ในการอธิบายแก่สังคมให้เป็นที่ยอมรับ
ประเด็นสำคัญที่ธีรยุทธไม่ได้พูดถึงมีหลายเรื่อง เช่น การเข่นฆ่าสังหารประชาชนที่เกิดขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ.๒๕๕๓ การใช้มาตรา ๑๑๒ เป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชน และบทบาทของฝ่ายอำมาตย์ในการทำลายล้างประชาธิปไตย แต่กลับเสนอว่า “เป็นที่ประจักษ์ชัดจากความขัดแย้งปัจจุบันว่า ได้ลุกลามไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์”
เขาจึงไม่มีความเข้าใจในปรากฎการณ์ตาสว่างที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ข้อวิเคราะห์ของเขาจึงไม่มีอะไรใหม่ และไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนแต่อย่างใด
++
ประชาธิปไตยเป็น 'สิ่งแปลกปลอม' ที่นำเข้าจากต่างประเทศ(?)
โดย นักปรัชญาชายขอบ
ใน www.prachatai.com/journal/2012/03/39827 . . Tue, 2012-03-27 00:24
“ผมคิดว่าปัญหาในบ้านเรา ตั้งแต่ความคิดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความรับผิดชอบ รัฐธรรมนูญ และอะไรหลายอย่างที่เราเสนอกันนั้น เป็นสิ่งแปลกปลอมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ...ผมเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่แปลกปลอมจากที่อื่นเอาใช้บ้านเราไม่ได้ผล โดยเฉพาะช่วงหลังเป็นจีเอ็มโอเยอะ ผมเป็นพวกมาร์กซิสต์เก่า เพราะเคยเข้าป่า ไม่วางใจพวกต่างชาติมากๆ เพราะฉะนั้น พวกจีเอ็มโออันตรายมาก และขอร้องชาวต่างชาติว่าอย่าสรุปความคิดเป็นของท่านเอง”
ธีรยุทธ บุญมี (www.matichon.co.th./play_clip.php?newsid=1332495112)
ยอมรับว่าพยายามอ่านแล้วผมก็ไม่เข้าใจว่า ธีรยุทธกำลังบอกอะไร หรือจะเสนออะไร
ถ้าบอกว่าประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ต้องหมายความว่าศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือแม้แต่คณิตศาสตร์ก็เป็น “สิ่งแปลกปลอม” สำหรับสังคมไทยด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เรานำเข้าจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน
แต่ความจริงคือ อะไรที่เป็นของสากล เช่น ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน คณิตศาสตร์ ถ้ามันเป็นของสากลมันก็เป็นของมนุษยชาติทั้งหมด ไม่มีใครจะอ้างสิทธิว่าเป็นความคิดของประเทศตนที่เหมาะกับประเทศของตนเท่านั้น หรือว่าเป็น “สิ่งแปลกปลอม” สำหรับประเทศไทย หรือประเทศใดๆ ในโลก
ธีรยุทธยังพูดอีกว่า “ผมคิดว่าโครงสร้างการเมืองทุกที่เป็นผลผลิตของท้องถิ่น เป็นการเสนอให้เราได้คิดแบบสองส่วน ส่วนหนึ่งมองแบบโครงสร้างทางสังคมที่เป็นความจริง สร้างวัฒนธรรมต่างๆ อีกอันหนึ่งอาจจะมองเป็นแบบโพสต์โมเดิร์นก็ได้ มีวาทกรรมเกิดขึ้นในแต่ละช่วงแต่ละสมัย เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น เป็นทั้งโอกาสและไม่ใช่โอกาสที่จะเอาแนวคิดสังคมใหม่ๆ มาเสริมในบ้านเรา”
คำถามคือ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ หรือโครงสร้างการเมืองที่เป็นความจริงเฉพาะของสังคมไทย หรือวัฒนธรรมไทยซึ่ง “ดีกว่า” แนวคิดประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพแบบสากล ที่เราจะต้องสร้างขึ้นมาจาก “ท้องถิ่น” ของเรา หากเราเห็นว่าของสากลมันแปลกปลอมสำหรับเรา
บางทีสิ่งเราเรียกกันว่า “ความเป็นไทย” “เอกลักษณ์ไทย” หรือ “ลักษณะพิเศษของสังคมไทย” นั่นต่างหากที่เป็น “สิ่งแปลกปลอม” ต่อวิถีชีวิตตามเป็นจริงในสังคมไทยปัจจุบัน เช่น การรักนวลสงวนตัว แต่งก่อนอยู่ ระบบอาวุโส การรู้จักที่สูงที่ต่ำ การยกย่อง “คนดี” ที่ซื่อสัตย์ไม่โกงแต่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย การเรียกร้อง “การเมืองที่มีจริยธรรม” แต่ให้คงไว้ซึ่ง “ระบบอำนาจที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้” ซึ่งขัดต่อหลักจริยธรรมสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค
สิ่งเหล่านี้เป็นต้น ล้วนแต่เป็น “สิงแปลกปลอม” ไม่กลมกลืนกับวิถีชีวิตจริงของผู้คนในสังคมไทย และ “แปลกประหลาด” ในสายตาสังคมโลกทั้งสิ้น!
หรือพูดให้เห็นภาพตามข้อเท็จจริงเลยก็คือ “ลักษณะเฉพาะ” ของความเป็นไทยในทางการเมืองอย่างที่พูดกันว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า “เสียงส่วนใหญ่อาจผิดได้” อย่างที่ฝ่ายไม่เชื่อถือ “การเลือกตั้ง” พยายามตอกย้ำ แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่การดึงดันว่า “เสียงส่วนน้อยต้องถูกเสมอ” เช่น
- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า การอ้างสถาบันกษัตริย์มาต่อสู้ทางการเมืองเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ก็ต้องชอบธรรม
- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า รัฐประหารถูกต้อง ก็ต้องถูกต้อง
- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า การเอาผิดนักการเมืองด้วยกระบวนการที่สืบเนื่องจากรัฐประหารถูกต้อง ก็ต้องถูกต้อง
- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า การนิรโทษกรรมฝ่ายทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำได้ ก็ต้องทำได้
- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า การนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ก็ต้องทำไม่ได้
- เสียงส่วนน้อยยืนยันว่า การพูดความจริงเบื้องหลังรัฐประหารไม่ได้ ก็ต้องไม่ได้
ฯลฯ
ถามว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ดังกล่าวนี้เป็น “สิ่งแปลกปลอม” หรือไม่?
พูดถึงวาทกรรม “ประชาธิปไตยเป็นสิ่งแปลกปลอมที่นำเข้าจากต่างประเทศ” ของธีรยุทธแล้ว ทำให้เห็นภาพความคิดที่เน้นชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง พลเมืองเข้มแข็งที่ตอนนี้นำมาตอกย้ำใหม่อย่างคล้องจองกัน คือความคิดเรื่อง “สังคมสมานุภาพ” ของคุณหมอประเวศ วะสี ดังที่เขากล่าวตอนหนึ่งว่า
อำนาจในสังคม มี 3 อำนาจใหญ่ ได้แก่ พลังอำนาจรัฐ พลังอำนาจทุน ซึ่งใหญ่โตมาก และพลังงานอำนาจทางสังคม ซึ่งเล็กมาก จุดสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำคือการสร้างพลังอำนาจทางสังคมให้เสมอกับ 2 อำนาจแรก แล้วทำงานเชื่อมโยงกัน
และหากเป็นเช่นนั้นได้ก็จะเกิดสังคมที่เรียกว่า "สังคมสมานุภาพ" คือสังคมที่อานุภาพต่างๆ เสมอกัน เพราะฉะนั้น แม้เราจะพยายามสร้างภาครัฐหรือทุนให้เก่งหรือมีสมรรถนะ แต่ถ้าภาคสังคมไม่เสมอกัน สังคมก็จะไม่ได้ดุล เกิดความไม่เป็นธรรมมาก
แนวทางสำคัญในการสร้างสังคมสมานุภาพต้องเอาวัฒนธรรมเข้ามาช่วย โดยวิธีที่เรียกว่า "ชุมชนจัดการตนเอง" เพราะการปกครองประเทศที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง นับเป็นหลุมดำในประเทศไทย ก่อปัญหาร้อยแปด ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ มีคอรัปชั่น เกิดรัฐประหารได้ง่าย ( www.matichon.co.th./play_clip.php?newsid=1332585834)
ซึ่งผมแปลกใจมากที่คุณหมอไม่ได้พูดถึง “อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้” ซึ่งใหญ่โตกว่าอำนาจทุนมาก แปลกใจเพราะว่า คุณหมอเป็นคนเสนอทฤษฎี “ความจริงองค์รวม” ที่เน้นการมองให้เห็นความจริงทั้งหมด ไม่ควรมองแบบ “แยกส่วน” และให้เห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กันของความจริงทั้งหมดตามกฏอิทัปปัจจยตา แต่ทำไมคุณหมอถึงจงใจ “แยกส่วน” มองเฉพาะ 3 อำนาจเท่านั้น
แล้วที่ว่า “การปกครองประเทศที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง นับเป็นหลุมดำในประเทศไทย...” นั้น ถามว่า รูปแบบการรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ คือมรดกตกทอดจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่หรือ
“ระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้” ต่างหากที่รวมศูนย์ทั้งการปลูกฝังอุดมการณ์ ปรัชญาความเชื่อ ระบบคิด การคิดแทนผ่านหน่วยงานราชการ ระบบการศึกษา สื่อมวลชน ฯลฯ
ภายใต้ระบบเช่นนี้ ประชาชนไม่สามารถปกป้องรัฐบาลที่ตนเลือก และกำกับให้รัฐบาลที่ตนเลือกทำตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สังคมเป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เช่น การเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้แทนปวงชนออกกฎหมายปฏิรูประบบที่ตรวจสอบไม่ได้ให้ตรวจสอบได้ตามหลักการประชาธิปไตยสากล ฉะนั้น “ภาคสังคม” จะเข้มแข็งได้อย่างไร?
หรือถ้าภาคสังคมเข้มแข็ง พลเมืองเข้มแข็งในความหมายว่ามีวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ตระหนักในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคมากขึ้น ก็จะมีปัญหาว่า ความเข้มแข็งเช่นนี้จะไปกันได้อย่างไรกับ “ระบบอำนาจที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้” (จะเป็นไปได้หรือที่ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมประชาธิปไตยของสังคมและพลเมืองจะไม่ขัดแย้งกับ“ระบบอำนาจที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้”)
ฉะนั้น แนวคิดสังคมเข้มแข็ง พลเมืองเข้มแข็งของธีรยุทธ และแนวคิด “สังคมสมานุภาพ” ของคุณหมอประเวศ ที่ปฏิเสธการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เรียกร้องการกระจายอำนาจถึงระดับชุมชน หรือการสร้าง “ประชาธิปไตยจากระดับชุมชน” แต่ไม่ได้เรียกร้อง “อย่างจริงจัง” ให้แก้ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยระดับชาติ คือการปฏิรูป “ระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้” ให้ตรวจสอบได้ จึงเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งในตัวเอง และไม่มีทางที่แนวคิดเช่นนี้จะสร้างสังคมให้มี “สมานุภาพ” หรือ “มีอานุภาพเสมอกัน” ได้จริง
จะว่าไปแล้วทั้งสองแนวคิดนี้ก็เป็น “แนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ” อันเป็น “สิ่งแปลกปลอม” อย่างหนึ่งใน “ยุคเปลี่ยนผ่าน” (transition) ที่สังคมไทยต้องการแก้ปัญหา “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ในทางหลักการและอุดมการณ์ระดับชาติอย่างยิ่ง !
+++
‘ธีรยุทธ’ นำทีม 5 Think Tank เปิดพื้นที่เสรีภาพ จัดถก 8 ปัญหาหลัก
จาก www.prachatai.com/journal/2012/03/39843 . . Wed, 2012-03-28 13:48
สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์-พระปกเกล้า-ทีดีอาร์ไอ-วิจัยสังคม จุฬา-สมาคมนักข่าว จับมือแถลงภารกิจขยายพื้นที่เสรีภาพ เตรียมจัดเวทีถก 8 ประเด็นหลัก สถาบันพระมหากษัตริย์, hate speech, ความเหลื่อมล้ำ, กระบวนการยุติธรรม, ประชานิยม, ชาตินิยม,เสรีภาพในการประท้วง ประเดิมครั้งแรกชวนนักวิชาการถกเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ
28 มี.ค.53 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 สถาบันร่วมแถลงข่าว “ภารกิจขยายพื้นที่เสรีภาพให้กับสังคมไทย 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 และ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” โดย ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย แถลงว่า ภารกิจนี้เริ่มต้นที่ 5 สถาบันแต่หวังจะขยายแนวร่วมออกไปเรื่อยๆ โดยกิจกรรมจะออกมาในรูปแบบเวทีสาธารณะทางวิชาการ ในช่วงปี 2555-2556 ในประเด็นที่จำเป็นต่อสังคมไทยและอาจจะมีการทำงานวิจัยด้วย
ทั้งนี้ ในวันนี้เป็นการแถลงข่าวเปิดตัวความร่วมมือ จากนั้นมีการจัดเสวนาวิชาการเกี่ยวกับประเด็น “เสรีภาพในสังคมไทย” โดยเน้นเสรีภาพทางวิชาการ โดยการแถลงข่าวในวันนี้มีผู้สื่อข่าวเข้าร่วมจากหลากหลายสำนัก สำหรับรายชื่อ 5 สถาบัน ได้แก่ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ธีรยุทธ กล่าวถึงประเด็นที่จะมีจัดเวทีวิชาการ โดยมีกำหนดคร่าวๆ ประมาณ 2 เดือนต่อ 1 หัวข้อ คือ
1.เสรีภาพในสังคมไทย
2.ปัญหาทุรวาทกรรม โทสะวาท หรือ hate speech จะแก้ไขอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
3.การแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
4.กระบวนการยุติธรรมกับประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน
5.นโยบายประชานิยม ผลดี ผลเสีย ต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทย
6.ความคิด “ชาตินิยม” ข้อดี ข้อเสีย
7. ความหมาย ความสำคัญ ของเสรีภาพในการประท้วง การแสดงหาจุดร่วม ความเหมาะสม ความพอดีในการประท้วง
8.สถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมเสรีประชาธิปไตยและในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารและโลกาภิวัตน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเอกสารแถลงข่าวที่แจกผู้สื่อข่าวไม่มีข้อ 8 แต่นายธีรยุทธได้เพิ่มเติมภายหลังโดยระบุว่ามีการพิมพ์ตกหล่น และย้ำว่าข้อสุดท้ายเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่พิจารณากันตั้งแต่ต้น และเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ทั้งนี้ ทั้ง 5 สถาบันเห็นพ้องกันว่า
“ปัจจุบันมาถึงยุคสมัยที่ควรจะขยายพื้นที่ทางสิทธิเสรีภาพให้กว้างขวางเพิ่มเติมขึ้นอีกโดยหลักการว่า เสรีภาพก็คือ การใช้สิทธิอำนาจของตัวเองเพื่อรับผิดชอบต่อตัวเอง ผู้อื่น และส่วนร่วม การขยายพื้นที่เสรีภาพจึงบ่งชี้ว่า ประชาชนทุกคนทุกฝ่ายเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน จึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกในการเสนอประเด็นปัญหา องค์ความรู้ ทัศนะต่างๆ ที่จะทำความเข้าใจปัญหา ผลดี ผลเสีย หนทางแก้ไขในทุกๆ ประเด็น”
“ถ้ามันมีบางปัญหาที่พูดถึงมันไม่ได้ เสนอแนะไม่ได้ ความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศก็จะลดน้อยลงไป ก็เป็นปัญหาว่าประเทศนี้จะก้าวต่ออย่างไร” ธีรยุทธกล่าว
นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวว่า เหตุผลที่ต้องจัดเวทีเสวนาวิชาการเช่นนี้ เพราะสภาวะที่สังคมมีความขัดแย้งสูง ทางออกค่อนข้างตีบตัน เสรีภาพทางวิชาการจะช่วยแสวงหาทางออกจากภาวะตีบตันได้ นอกจากนี้รัฐบาลยังสนใจแต่นโยบายระยะสั้น นโยบายสาธารณะไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างได้ เสรีภาพทางวิชาการจะช่วยนำเสนอทางออกขณะเดียวกันก็เติมเต็มพื้นที่เสรีภาพในสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพที่มากับความรับผิดชอบ
“ตอนนี้นักวิชาการไม่กล้าแสดงออก เพราะเวลานี้ง่ายต่อการถูกตีตรา มีต้นทุนในการแสดงออกที่ค่อนข้างสูงมาก เราเห็นตัวอย่างของนักวิชาการที่พยายามแสดงออกความคิดแล้วมีปัญหา อาจต้องคดี ถูกแบล็กลิสต์เรื่องงานวิจัย”นิพนธ์กล่าวและว่าเวทีเช่นนี้น่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เวทีนี้เป็นเวทีที่ไม่มีโทสะวาท เวทีที่จะใช้ความรู้ทางวิชาการมาพูดคุยกัน เห็นต่างก็ไม่เป็น แต่รับกันได้แล้วสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ในภาวะที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันชัดเจน
บวรศักดิ์ยังกล่าวถึงประเด็นเสรีภาพทางวิชาการ โดยตั้งคำถามต่อวงประชุมว่า เสรีภาพทางวิชาการคือเสรีภาพของนักวิชาการหรือไม่ และคือสิ่งที่นักวิขาการพูดหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่งเสรีภาพทางวิชาการคือการเลือกเสพผลงานทางวิชาการของสังคมและสื่อด้วย เราต้องดูการเลือกเสพวิชาการของสื่อไทยและของสังคมไทยด้วยว่าเสพยังไง
“วันนี้ สิ่งที่เราพบข้อหนึ่งจากรายงานปรองดองของพระปกเกล้า จริงๆ มีมิติเยอะ เฉพาะมิติเรื่องการเสพอย่างเดียว ผมว่าคนที่จะอ่านรายงาน เฉพาะฉบับย่อก็ได้ไม่เกินสิบหน้า ในนี้ไม่รู้มีกี่คน แต่มี position ไปแล้วทุกคน” บวรศักดิ์กล่าว และว่าถ้าอ่านรายงานอย่างลึกซึ้งจะพบว่าข้อเสนอนิรโทษกรรม,คตส., การสร้างความเป็นธรรม การหาความจริง ฯลฯ เป็นประเด็นที่คนวิจัยเสนอให้ไปพูดคุยในสังคม ไม่ใช่ข้อเสนอสุดท้าย แต่หัวใจอันแรกสุดที่เขาพูดว่ามีสงครามปรองดอง เพราะพฤติกรรมทุกคนเหมือนเดิม จุดยืนเหมือนเดิมมันจึงไม่เกิดการแก้ปัญหา จึงเสนอว่าต้องสร้างบรรยากาศการปรองดองก่อนในหมู่นักการเมืองและในประเทศ และให้นำประเด็นต่างๆ ไปหารือกันว่าจะนิรโทษแบบไหนถ้าจะให้อภัยกัน ความจริงจะเปิดเผยได้แค่ไหน
“มีคนเดียวเท่านั้นจาก 47 คนที่บอกว่าให้เปิดเผยชื่อทุกคนทุกเหตุการณ์ นอกนั้นบอกว่าต้องลืม แต่นักวิจัยก็ยืนของเขาว่า ลืมไม่ได้ เพราะเดี๋ยวก็จะทำอีก แต่ก็ต้องเปิดแบบมีขั้นมีตอน แล้วก็ยกตัวอย่างของอังกฤษขึ้นมาว่า 30 ปีให้หลังถึงมาเปิด และเปิดชื่อบุคคลกับเหตุการณ์ เขามี position ของเขามาจากการศึกษา แต่ทั้งหมดการเลือกเสพ เลือกเอาข้อเสนอ ทั้งที่หัวใจคือกระบวนการพูดคุยกันในสังคมเพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกันให้ได้ว่าจะเอาแบบไหน” บวรศักดิ์กล่าว
เขากล่าวอีกว่า การใช้งานวิชาการ เราคงต้องพูดถึงเหมือนกันว่าเสรีภาพทางวิชาการเราต้องคุ้มครอง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย อะไรที่ free โดยไม่มี value เลยนั้นไม่มี แม้แต่ fact ก็ย่อมมีข้อโต้แย้งเสมอ ประเด็นอยู่ที่มัน valid หรือไม่
สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ได้รับการพูดถึงมากคือ อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยซึ่งหลายคนพูดเรื่องรัฐประหาร แต่อำนาจภายในระบบเองก็มีปัญหา เหมือนทีใครทีมัน เสียงข้างมากตัดสินถูกให้เป็นผิดได้ ดังนั้น ไม่ใช่ปัญหาการยึดอำนาจที่เป็นประเด็นอย่างเดียว ถ้าไม่มีเวทีแบบนี้ก็จะไม่ค่อยมีพื้นที่การพูดคุย รวมถึงเรื่องราวอื่นๆ ในทางสังคมด้วย ในสถานการณ์แบบนี้ พื้นที่เสรีภาพถูกคุกคามในความหมายของการแบ่งขั้วทางการเมืองด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราต้องขยายใจให้มองกว้างกว่าเดิม ไม่ใช่ข้างใดข้างหนึ่ง และต้องร่วมกับคนหลายๆ ลักษณะไม่เฉพาะคนในวงวิชาการ
ในช่วงของการสัมมนา ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เริ่มต้นด้วยการนำเสนอกรอบในการทำความเข้าใจเรื่องเสรีภาพในทางวิชาการ โดยกล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่หลักในการค้นคว้าและนำเสนอความเป็นจริง บทบาทของมหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่เป็นตัวแทนสำนึกของสาธารณชน ในเรื่องหรือทัศนะที่มีต่อการเมืองทั้งที่ดีและเลวก็ควรนำเสนอได้ แต่แปลว่ามีส่วนร่วม มีบทบาทในทางการเมืองด้วยหรือไม่ มีบทบาทได้แค่ไหน ถ้าไปมีส่วนร่วมก็คงเป็นสมรภูมิย่อยๆ ในมหาวิทยาลัย ประสบการณ์จากต่างประเทศสรุปว่า นักวิชาการควรเสนอ fact หรือข้อเท็จจริง ไม่ใช่สัจธรรม สิ่งที่นักวิชาการเสนอ แม้บอกว่าเป็นความดี ความเลว ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเท่านั้น ต้องไม่มีคุณค่าเชิงตัดสิน แต่มันเป็นสิ่งทำได้ยาก ฉะนั้น ทางออกก็คือ พยายามที่จะทำให้การพูดนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง
ธเนศกล่าวว่า ในสังคมยุโรปเขาแยกรัฐกับศาสนจักรชัดเจน แต่ในสังคมเรามันรวมกันไปหมด จะเห็นได้ว่าเราพูดถึงศีลธรรมกันเยอะมากในเรื่องการเมือง ถ้าเริ่มต้นด้วยศีลธรรมเสียแล้ว มันไม่มีแล้วเสรีภาพในความคิดเห็น เพราะศีลธรรมต้องเชื่อ ต้องศรัทธา
โคทม อารียา กล่าวว่า เสรีภาพไม่ว่าจะอย่างไรก็โดนจำกัด สังคมมีกรอบบางอย่างบังคับอยู่เสมอในบางเรื่อง แม้แต่รัฐธรรมนูญก็มีการจำกัดเสรีภาพไว้ ยกเว้นข้อเดียวคือเสรีภาพสมบูรณ์ในทางความเชื่อ ตนมองว่าหากจะพยายามเอาอะไรไปกำกับเสรีภาพ ก็ควรเป็น ความมีเหตุผล เพราะ “ความจริง” ที่เราบอกว่า รู้ นั้นเป็นมายาคติของนักวิชาการ แม้แต่ข้อเท็จจริงก็ยังเห็นต่างกัน ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการก็น่าจะประกอบด้วยความสามารถ 2 อย่าง คือ การค้นคว้าศึกษาโดยใช้หลักเหตุผล และนำสิ่งที่ค้นคว้าศึกษามาเปิดเผย นี่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้องค์ความรู้ของมนุษย์ก้าวหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพทางวิชาการก็ควรต้องจำกัดเหมือนเสรีภาพทั่วๆ ไป ขณะเดียวกันถ้าเป็นเรื่องการเมือง ถ้าเราจำกัดเสรีภาพทางวิชาการในทางการเมืองแล้ว มันจะกลายเป็นการกดขี่ข่มเหงในเรื่องความคิดและความเชื่อ ถ้าคิดว่าไม่สำคัญเท่าเรื่องกายภาพ แสดงว่าเราไม่เข้าใจมนุษย์ มีการกดขี่ที่ไหนมันจะมีการต่อสู้ที่นั่น บางทีรุนแรงกว่า จำกัดวงได้ยากกว่าความรุนแรงทางกายภาพด้วยซ้ำไป ดังนั้น ควรเปิดพื้นที่ทางวิชาการให้กว้างที่สุด และนักวิชาการก็ต้องไม่ “ขายตัว” รับใช้ผลประโยชน์
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอมีบทบาทแตกต่างจากสถาบันทางวิชาการโดยเน้นการนำเสนอนโยบาย ซึ่งนโยบายจะเป็นเรื่องที่ไปไกลว่าข้อเท็จจริง การศึกษาข้อเท็จจริงเป็นเพียงขั้นต้นของการเสนอแนะนโยบาย ต้องใช้การตัดสินเชิงคุณค่าอย่างแน่นอน แต่พยายามใช้ดุลยพินิจโดยปราศจากอคติ เพราะหน่วยงานอย่างเราถ้าไม่มีความเชื่อถืออยู่ไม่ได้เลย โดยหลักแล้วนักวิจัยมีหลักความรับผิดชอบสำคัญที่ยึดถือ คือ พูดในสิ่งที่ตัวเองรู้เรื่อง นักวิชาการพูดในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้เยอะซึ่งสร้างปัญหา, สิ่งที่กล้าพูดต้องกล้าเขียน เป็นหลักประกันว่าไตร่ตรองมาดีแล้ว, กล้าพูด กล้าเสนอต่อรัฐบาลก็ต้องกล้าเสนอต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ, การวิจัยนโยบายความรับผิดชอบต้องมุ่งที่การวิเคราะห์ วิจารณ์ ความคิด การกระทำ ไม่ใช่ตัวบุคคล, วิจารณ์โดยมีข้อเสนอแนะทางนโยบายที่เป็นไปได้จริง หากไม่มีข้อเสนอแนะเป็นการวิจารณ์โดยไม่รับผิดชอบ, การวิพากษ์วิจารณ์ ต้องลดภาษาการประชดประชัน นักวิชาการไทยมีปัญหาเรื่องนี้ ทำให้คุยกันไม่ได้ ไปไกลกว่าตัวประเด็นแต่เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก, การเกี่ยวข้องกับการเมือง อันที่จริง Think Tank ในต่างประเทศอาจฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองได้ แต่เมืองไทยยังไม่มีทางเลือกขนาดนั้น หากสังกัดกับขั้วการเมืองอาจมีปัญหา เพราะสังคมเราไม่ได้รุ่มรวยทางเลือกขนาดนั้น
กฤตยา อาชวนิจกุล จากมหิดล ความพยายามในวันนี้ควรเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ว่าจะมีวิกฤตทางการเมืองหรือไม่ ถึงเวลาต้องหยุดมาตรการปิดปาก ความสำคัญเรื่องนี้ในสังคมไทยไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครสั่งให้เราไม่พูด แต่อยู่ที่ว่าเราสั่งตัวเองไม่ให้พูด เรื่องที่ควรจะคุยควรเป็นประเด็นผลกระทบต่อสาธารณะ ทั้งนี้ แนวทางความเชื่อเรื่องเสรีนิยม บนหลักประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม มีหลักอันหนึ่งว่า เราควรมีความสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏการณ์ ความเชื่อต่างๆ และอยากให้สื่อกระแสหลักให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในทุกมุมมอง
อภิชาต สถิตนิรมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า 20 กว่าปีก่อนหน้านี้ไม่เคยจัดเรื่องนี้ในที่นี้เลย ดังนั้น การจัดงานในวันนี้จึงเป็นตัวชี้วัดความตกต่ำทางวิชาการโดยตัวมันเอง ปัญหาใหญ่สุดคือ ทำอย่างไรจะทำลายการเซ็นเซอร์ตัวเองได้
ปัญหาเรื่อง objectivity นั้น เห็นว่า นักวิชาการควรแบจุดยืนตนเองเลยดีกว่าว่าเชื่อแบบไหน ใช้วิธีคิดไหน ในโลกปัจจุบันบอกไม่ได้ว่า ไม่มีการตัดสินหรือให้คุณค่าต่อสิ่งใดๆ แต่หากเปิดตัวเองออกมา สาธารณชนจะเห็นข้อเสนอต่างๆ ว่าอยู่ภายใต้มุมมองแบบใด
อภิชาตกล่าวว่า เสรีภาพทางวิชาการโดยตัวเองก็คือกลไกในการตรวจสอบ ยิ่งไม่มีพื้นที่นำเสนอ ยิ่งไม่มีกลไกตรวจสอบนักวิชาการ ยิ่งขยายพื้นที่สาธารณะ ความรับผิดชอบของนักวิชาการต่อตนเองยิ่งมากขึ้น
“ปิดพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ ผมว่าปิดมหาลัยไปดีกว่า และถ้าเราไม่สามารถทำลาย self censorship ได้ ผมว่าปิดมหาลัยก็มีค่าเท่ากัน” อภิชาตกล่าว
อุทัย ดุลยเกษม กล่าวว่า Right to information เป็นเรื่องสำคัญ และถึงที่สุดแล้วในแวดวงวิชาการถ้าไม่แตะเรื่องสถาบันก็ไม่เคยเห็นการถูกเซ็นเซอร์ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่กึ๋นมากกว่า เพราะดูๆ แล้วนักวิชาการคิดเหมือนกันเยอะ ส่วนที่คิดต่างก็มี นอกจากนี้ยังพบว่าแวดวงวิชาการมีความน่าเบื่อ ยกตัวอย่างแวดวงเศรษฐศาสตร์ เราไม่มีตลาดทางวิชาการที่ลึก ที่มีคนเล่น คนอ่าน ที่เถียงกันไปมา บทความวิชาการก็น่าเบื่อ ช่วงหลังยิ่งสอนให้คนเป็นวิศวกร คิดโจทย์แคบๆ โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายไม่ค่อยเห็น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย