http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-22

ธีรยุทธรีเทิร์น-ความผิวเผินยังคงเดิม โดย นักปรัชญาชายขอบ

.
- จาก "ธิดา โตจิราการ" ถึง "ธีรยุทธ บุญมี"...เสียดายคนที่เคยรู้จักกัน!
- มันฯ มือเสือ : ธีรยุทธกับ ปชป.
- ฐากูร บุนปาน : ขุมทรัพย์
- นฤตย์ เสกธีระ : มุมมองใหม่

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ธีรยุทธ บุญมี รีเทิร์น : ความผิวเผินยังคงเดิม
โดย นักปรัชญาชายขอบ
ที่มา www.prachatai.com/journal/2012/03/39712 . . Mon, 2012-03-19 01:11


ในที่สุดธีรยุทธ บุญมี ก็รีเทิร์น มาในมาดว่าที่ศาสตราจารย์ใหม่ แต่ยังสวม “เสื้อกั๊ก” ตัวเดิม ในการแถลงข่าวเรื่อง การวิเคราะห์การเมืองไทย แนวโน้มของวิกฤติปัจจุบัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่18 มีนาคม 2555

ผมติดใจข้อสรุปของธีรยุทธ และขอวิจารณ์เฉพาะส่วนท้ายการแถลงข่าวที่เขาสรุปว่า (ดู www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1332059266&grpid=06&catid=03)
“...ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น

ข้อสรุปดังกล่าว มาจากข้ออ้างที่ว่า “ทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ จะเห็นได้จากการปราศรัยกับชาวบ้าน ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน นอกจากอ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้

จะเห็นได้ว่า ข้อสรุปและข้ออ้างของธีรยุทธ สะท้อนถึงการวิเคราะห์ปัญหาการเมืองในระดับ “ปรากฏการณ์” และเป็นปรากฏการณ์ที่เลือกเน้นให้เห็นความผิดเฉพาะทักษิณเป็นด้านหลัก แต่ละเลยที่จะพูดถึงความผิดของฝ่ายอำมาตย์

ซึ่งเท่ากับธีรยุทธยังยืนยันแบบเดิมๆ ว่า ข้อกล่าวหาว่าทักษิณกระทำผิดต่างๆ นั้น คือ “เหตุผลอันสมควร” ในการทำรัฐประหาร 19 กันยา 49 และรัฐประหารนั้นก็มี “ความชอบธรรม”


แต่อย่างไรก็ตาม หากมองเผินๆ ดูเหมือนธีรยุทธจะพูดถึง “หลักการ” อยู่เหมือนกัน เช่นที่บอกว่า “ทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ” หรือ “ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน” หรือ “...มากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้

ประโยคตัวอย่าง (เป็นต้น) นี้ ดูเหมือนธีรยุทธกำลังเรียกร้อง “การสร้างประชาธิปไตยรากหญ้า” เรียกร้อง “โครงสร้างที่ยั่งยืน” หรือเรียกร้อง “ให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้”

แต่การยืนยันหรือการเรียกร้องเชิงหลักการต่างๆ เหล่านี้ เป็นการยืนยันบนฐานของการกล่าวหาว่า ทักษิณไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้เลย และไม่ได้คิดที่จะทำ สิ่งที่ทักษิณทำจริงๆ คือ “อ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่า”

ฉะนั้น ธีรยุทธจึงสรุปว่า “...ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น”

ข้อสรุปของธีรยุทธจึงชวน “ขบขันอย่างยิ่ง” มันชวนขบขันเพราะว่า เขาอ้างอิง “หลักการ” เพียงเพื่อจะดิสเครดิตทักษิณเท่านั้น แต่เขาไม่ apply หลักการเดียวกันนี้กับ “อำนาจนอกระบบ” คือถ้าเขายืนยัน “ประชาธิปไตย” และเขาซื่อสัตย์/เคารพในสิ่งที่ตนเองยืนยันจริงๆ ทำไมเขาไม่อ้างอิงหลักการประชาธิปไตยในการวิจารณ์อำนาจนอกระบบหรืออำมาตย์ใน “มาตรฐานเดียวกัน” กับที่วิจารณ์ทักษิณ

เช่น ทำไมเขาไม่กล้าพูดว่า อำมาตย์ทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำลายระบอบประชาธิปไตย และการกระทำเช่นนั้นมันสะท้อนว่า อำมาตย์ก็ “ไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจ” เช่นกันกับทักษิณ

การที่ธีรยุทธไม่ apply หลักการที่ใช้วิจารณ์นักการเมืองกับอำนาจนอกระบบใน “มาตรฐานเดียวกัน” ทำให้ข้อเรียกร้องของเขาข้างล่างนี้ยิ่งน่าขบขันยิ่งขึ้นไปอีก คือเขาเรียกร้องว่า

ผู้ที่ควรร่วมคิด ผลักดันประเด็นข้างต้นควรเป็นนักวิชาการเสื้อเหลือง แดง และนักวิชาการทั่วไปที่ไม่ยึดแนวสุดขั้วจนปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง ภาคธุรกิจ กลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งอยู่ตรงกลางมากที่สุด แต่ก็มีผลได้ผลเสียจากความขัดแย้งปัจจุบันมากที่สุด ควรมีบทบาทชดเชยสิ่งที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ ด้วยการลงทุนสร้างความยุติธรรม บรรยากาศ ค่านิยมประชาธิปไตยให้กว้างขวางที่สุด

ที่ผมขีดเส้นใต้ ผมเห็นว่าธีรยุทธควรเรียกร้องกับ “ตัวเอง” มากที่สุด ในฐานะนักวิชาการที่มี “ต้นทุนทางสังคมสูง” ธีรยุทธควรถามตนเองว่า “อะไรที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ?” หรืออะไรที่ทำไปแล้วผิดพลาดควรจะออกมา “ขอโทษ” สังคมหรือไม่? เช่น ธีรยุทธตระหนักหรือไม่ว่าบทบาทที่ผ่านมาของตนเองมีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหาร และตุลาการภิวัตน์ที่สร้าง “ระบบสองมาตรฐาน” ในกระบวนการยุติธรรมอย่างน่าอเนจอนาถที่สุด!



ธีรยุทธมีความเห็นอย่างไรครับ กับการที่นักศึกษาประชาชนถูกฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลา และประชาชนถูกฆ่าอีกในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 แต่ว่าชีวิตนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากขนาดนั้นไม่สามารถจะแลกได้แม้กระทั่งกับ “การแก้ไข ม.112 อันเป็นมรดกเผด็จการ”

ผมถึงติดใจว่า “การลงทุนสร้างความยุติธรรม บรรยากาศ ค่านิยมประชาธิปไตยให้กว้างขวางที่สุด” มันคืออะไร?

“ความยุติธรรม” มันหมายความว่าต้อง apply หลักการสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคกับ “ทุกคน” อย่างเท่าเทียมไหม? “ค่านิยมประชาธิปไตย” หมายถึงการยึดถือคุณค่าของการ apply หลักการสากลดังกล่าวไหม?

แต่ในบทวิเคราะห์ของธีรยุทธก็ไม่ได้ยืนยันหลักการดังกล่าวแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังมองว่า “เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจ เมืองไทยยุค 2 ก๊ก ก๊ก “คนเลว” โจโฉ จะชนะก๊ก “คนดี” เล่าปี่-ขงเบ้ง” ซึ่งเป็นการใช้ “คำย้อมสี” แบบเหมารวม เพราะอันที่จริงไม่มีทางจำแนกคนเป็น “กลุ่มคนดี” “คนเลว” ได้ขนาดนั้น และการต่อสู้ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เป็นความแพ้-ชนะของคนเพียงสองกลุ่ม แต่มันมีความหมายของแพ้-ชนะทางหลักการ อุดมการณ์ในระดับที่แน่นอนหนึ่งอยู่ด้วย

เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว การต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ดำเนินมาโดยตลอดและยังดำเนินต่อไป

เอาง่ายๆ แค่ว่าประเด็น “ทักษิณจะกลับบ้านได้หรือไม่?” ก็มีปัญหาเชิงหลักการที่ต้องถกเถียงกันอย่างซีเรียส เช่นเดียวกับประเด็นที่ “งอกเงย” ออกมาจากการต่อสู้ทางการเมืองกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เช่นข้อเสนอแก้ไข ม.112 การลบล้างผลพวงรัฐประหาร การนิรโทษกรรม สาเหตุทุกด้านหรือเบื้องหน้าเบื้องหลังของรัฐประหาร ฯลฯ ก็ยังมีปัญหาเชิงหลักการที่ต้องถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างจริงจัง

ไม่ใช่เรื่องที่จะฟันธงง่ายๆ ว่าสาเหตุทั้งหมดมาจาก “ทักษิณ” เพียงคนเดียวอย่างที่ธีรยุทธสรุป

ซึ่งเป็นข้อสรุปที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการวิเคราะห์การเมืองที่เน้นการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ ตัวบุคคล มากกว่าที่จะลงลึกถึง “หลักการ” หรือ “อุดมการณ์” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตยในทางหลักการ อุดมการณ์อย่างแท้จริง



+++

จาก "ธิดา โตจิราการ" ถึง "ธีรยุทธ บุญมี"...เสียดายคนที่เคยรู้จักกัน!
ในข่าวสด ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 02:09 น.


หมายเหตุ : นางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. เขียนบทความตอบโต้นายธีรยุทธ บุญมี ผอ.สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่วิเคราะห์การเมืองโดยช่วงหนึ่งพาดพิงถึงกลุ่มคนเสื้อแดง มีเนื้อหา ดังนี้

----------

ผู้เขียนมีพื้นฐานเป็นนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและนักวิจัย จึงให้ค่างานที่มาจากการค้นคว้าวิจัยแล้วนำมาสู่ข้อสรุปเป็นสมมติฐาน เป็นทฤษฎีเบื้องต้น จนถึงกลายเป็นงานทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับทั่วไป

งานของนายธีรยุทธ บุญมี นั้น ถ้าจะมีการอ้างถึงก็ที่พูดกันอย่างแพร่หลายเรื่องเดียวคือ สองนคราประชาธิปไตยของ อ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

อย่างไรก็ตามการประเมินคุณค่าของการวิเคราะห์การเมืองไทยนั้น ถ้าไม่มีที่มาของหลักคิด วิธีการ และฐานข้อมูล ก็ประเมินค่าตามฐานะกำลังของนักวิชาการนั้นๆ ว่ามีพละกำลังและมีผลงานทางวิชาการขนาดไหน?

นี่ไม่ใช่ผลงานทางวิชาการแน่นอน แต่เป็นการวิเคราะห์วิจารณ์ตามใจคิดของนายธีรยุทธ ในภาพรวมก็ไม่ได้พูดถึงเผด็จการทหาร การรัฐประหาร การดำรงอยู่ของระบอบอำมาตยาธิปไตย และการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

อุตส่าห์ต่อสู้จากยุค 14 ตุลา ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2516 กลับไม่พูดถึงการต่อสู้ของประชาชนให้ได้รัฐธรรมนูญของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเลยสักแอะ

ใช้คำพูดว่า 'การเมืองรากหญ้า-ประชานิยม' แต่ไม่พูดถึงระบอบประชาธิปไตย อ้างว่าในช่วงเผด็จการทหาร "ประชาชนบางส่วนมีศักดิ์ศรีแต่ไม่มีเสรีภาพ"

แล้วพูดว่า "ชาวบ้านระดับรากหญ้ามีเสรีภาพในการแสดงออกหลัง 19 กันยายน 2549"


นายธีรยุทธไม่พูดถึงเผด็จการทหารและรัฐประหารในทางลบเลยแม้แต่อักษรเดียว ตรงข้ามยังสรรเสริญด้วย แต่ที่ร้ายแรงคือไม่พูดถึงการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน และการลุกขึ้นสู้ของประชาชนแม้แต่น้อย

นายธีรยุทธไม่พูดถึงระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ฝังแน่นในสังคมไทย อันเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง และไม่พูดถึงพัฒนาการทางสังคม

เมื่อพูดถึงการเมืองของประชาชนก็จะเรียกว่า 'การเมืองรากหญ้า-ประชานิยม' ควบคู่กันอย่างดูถูกดูแคลนประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

แถมยังดูหมิ่นดูแคลน "..พลังรากหญ้า เสื้อแดง ว่ามีลักษณะเฉพาะ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและการชุมนุมเป็นคราวๆ ยังไม่เป็นขบวนการทางการเมือง ไม่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองแต่อย่างใด.."

แสดงว่านายธีรยุทธเห็นประชาชนส่วนใหญ่เป็น 'รากหญ้าประชานิยม' และเห็นคนเสื้อแดงไม่มีอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง คล้ายๆ กับที่พูดถึงพวกอนุรักษ์มองเสื้อแดงว่า ไม่มีตัวตนเพราะถูกจ้างมา โง่ จึงถูกหลอกมา ไร้การศึกษาจึงถูกชักจูงโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


ถ้านายธีรยุทธมองว่าคนเสื้อแดงไม่มีอุดมการณ์ เท่ากับว่านายธีรยุทธมองไม่เห็นประชาชน ไม่เห็นการต่อสู้ของประชาชน ไม่เห็นพัฒนาการการต่อสู้ของประชาชนที่ต่อสู้ติดต่อกันมายาวนานถึง 5 ปี

ซึ่งมีชุดหลักนโยบาย เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี มีชุดความคิดและทฤษฎีรองรับชัดเจนว่าคนเสื้อแดงมีแนวทางต่อสู้อย่างไร

มีการเปิดโรงเรียนผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองทั่วประเทศ มีการขยายตัวของคนเสื้อแดง และการยกระดับทางคุณภาพ มีผลงานปรากฏตั้งแต่การรณรงค์เลือกตั้ง การตรวจสอบการเลือกตั้ง จนโค่นล้มรัฐบาลของระบอบอำมาตย์ลงได้ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ (เฉพาะหน้า) ขั้นที่หนึ่ง

จากนี้จึงเข้าสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ขั้นที่สอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชนโดยประชาชน

ถ้าบรรลุใน 2 ปี คนเสื้อแดงจะก้าวเข้าสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ขั้นที่นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย (เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์) ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง

ชุดทฤษฎีการต่อสู้เปิดเผยสู่สาธารณะในการอบรมผู้ปฏิบัติงานออกอากาศทางโทรทัศน์และมีเอกสารข้อมูล นักวิชาการหรือผู้สนใจสามารถหาได้ไม่ยาก และสอบถามคนเสื้อแดงได้

ยิ่งกว่านั้น การจัดตั้งองค์กรของคนเสื้อแดงเพื่อรองรับการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ โดยสร้างความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ถ้าไม่ใช่เพราะอุดมการณ์การเมืองที่ต้องการประชาธิปไตยและความยุติธรรมแล้ว จะจัดตั้งองค์การมาทำไม

หาผลประโยชน์เช่นนั้นหรือ? จะเหนื่อยยากเสียสละแรงกายแรงใจกันทำไม ..พ.ต.ท.ทักษิณต้องใช้เงินสักเท่าไรถึงจะจ้างให้คนมาตาย มาบาดเจ็บในการต่อสู้ และสร้างความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้าน สู้กันขนาดนี้ ยาวนานเช่นนี้

นี่หรือที่นายธีรยุทธบอกว่าเป็นพวกไม่มีอุดมการณ์การเมือง?


ประชาชนที่นายธีรยุทธเรียกว่า 'พวกรากหญ้า-ประชานิยม' นี่แหละที่กำลังสร้างประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนขึ้นใหม่ บากบั่น อดทน เสียสละ ถูกปราบปรามก็กลับขยายตัวเติบใหญ่ ลุกขึ้นมาสู้ต่ออย่างไม่ขาดตอน

เพราะนี่คือการต่อสู้ของคนรากหญ้า ไม่ใช่ชนชั้นกลาง-ปัญญาชนเช่นในอดีต

นายธีรยุทธทำให้การต่อสู้ของประชาชนกลายเป็นเรื่องค่านิยมตลก มิน่าจึงจับแกนนำติดคุกตีตรวนเพื่อหวังทำลายความเป็นวีรบุรุษ แล้วไง?

ทำไมคนเสื้อแดงกลับมีจำนวนมากขึ้น กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ เติบใหญ่ขยายตัวเต็มแผ่นดิน

มุมมองใหม่ที่แม้อ้างว่าใช้วงจรอุบาทว์หรือทฤษฎีสองนคราฯ มาวิเคราะห์โครงสร้าง พูดถึงวงจรอุบาทว์กลับไม่โจมตีเผด็จการเลย อ้างว่าประชาธิปไตยในต่างประเทศไม่มีรัฐประหาร เพราะต้องมีการลงทุนทางด้านสังคมการศึกษาค่านิยม สร้างมหาวิทยาลัย สวนสาธารณะ หอศิลป ที่ฟังดนตรี ฯลฯ

โอ้โอ๋! ประชาธิปไตยแบบตะวันตกนี่ช่างสร้างง่ายเหลือเกิน? ความจริงคุณคิดว่าต้องสร้างชนชั้นกลางเสียก่อนจึงจะมีประชาธิปไตยใช่มั้ย?

ในประเทศที่ยากจน ไม่มีหอศิลป ไม่รู้จักฟังดนตรีฝรั่ง ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องมีประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนรากหญ้าที่จนๆ ใช่มั้ย?

แล้วก็พูดถึงการเมืองสองขั้วอำนาจ กลายเป็นก๊ก 'คนเลว' โจโฉ จะชนะก๊ก 'คนดี' เล่าปี่ ขงเบ้ง

น่าขำที่นายธีรยุทธพูดถึงสามก๊กแบบอนุรักษนิยมแท้ๆ คือโจโฉเลว เล่าปี่ดี ขอให้ไปอ่านสามก๊กเสียใหม่หลายๆ รอบ หลายๆ ฉบับ จะได้รู้จักโจโฉรอบด้านและรู้จักเล่าปี่รอบด้านหลายมุมมอง ไม่ใช่มองแบบอนุรักษนิยมด้านเดียว

นี่มิใช่นิยายปรัมปรา แต่เป็นชีวิตที่บันทึกได้ ลงท้ายก็พูดแบบคาถาของพวกอำมาตย์ คือ พวกคนดี พวกคนเลว


ตอนทำรัฐประหารได้อำนาจรัฐ พวกคุณมีแต่คนดีทั้งนั้น แล้วเป็นยังไง? แก้ปัญหาวิกฤตประเทศไทยได้มั้ย? กลับยิ่งเพิ่มวิกฤตประเทศไทยอันเนื่องจากคนดีเป็นใหญ่

จากนั้นสรุปว่า พวกประชาชนเสื้อแดง ทักษิณ เป็นพวกโจโฉ (คนเลว) พวกอำมาตย์เป็นคนดี (พวกเล่าปี่)

บทสรุปเรื่องไม่มีทางออกในระยะใกล้ มีแต่สิ่งที่ต้องทำในระยะยาว สรุปแล้วจริงๆ นายธีรยุทธเขียนไว้ในวรรคสุดท้ายคือ

"เท่ากับว่าประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพื่อแก้ปัญหา การซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้อิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น"

นี่แหละของจริงของนายธีรยุทธที่ต้องการบอกสังคมที่เขียนให้ดูดีไม่ใช่ของจริง และนี่คือความคิดว่ารากเหง้าปัญหาอยู่ที่พ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นคนเลว และพวกสนับสนุนก็เป็นคนเลวแบบโจโฉนั่นไง?

เสียดายนายธีรยุทธ คนที่เคยรู้จักจริงๆ



+++

ธีรยุทธกับ ปชป.
โดย มันฯ มือเสือ คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสด ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


งานเข้าทั้งสถาบันพระปกเกล้า และนายธีรยุทธ บุญมี

ประชาธิปัตย์นั้นชัดแจ้งว่ารับไม่ได้กับผลวิจัยปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ที่เสนอให้นิรโทษกรรมและล้มเลิกคดีที่ดำเนินการโดย คตส.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำจดหมายทักท้วงไปยังคณะผู้วิจัยสถาบันฯ ว่า เหตุใดในรายงานไม่เอ่ยถึงเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การแทรกแซงตุลาการในคดีซุกหุ้นปี ?

หรือเอ่ยถึงแต่ไม่ลงลึก เช่น การแทรกแซงองค์กรอิสระ การทุจริตเชิงนโยบาย การฆ่าตัดตอนยาเสพติด ปัญหาไฟใต้ ฯลฯ

การไม่ยอมรับกระบวนการตัดสินคดีความต่างๆ ของทักษิณ

รวมถึงความคลาดเคลื่อนในข้อมูลข้อเท็จจริงเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ตัดตอนเฉพาะบางส่วน และไม่มีการกล่าวถึงกลุ่ม 'ชายชุดดำ'

กรณีเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.2553 ยังมีความคลาดเคลื่อนโดยอ้างว่า วันนั้นมีผู้เสียชีวิต 91 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขความสูญเสียของทุกฝ่ายรวมกันในห้วงเวลา 2 เดือน

และไม่น่าเชื่อว่าไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดในวันนั้น

คือการเผาสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นเตอร์วัน สยามสแควร์ ตลาดหลักทรัพย์ ช่อง 3 ศาลากลางในหลายจังหวัด ซึ่งศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วหลายกรณี ?

เหล่านี้คือเนื้อหาคร่าวๆ ในจดหมาย ซึ่งสะท้อนตัวตนนายอภิสิทธิ์ได้ดีว่า

ระหว่างชีวิต 91 ศพกับอาคารสถานที่ถูกเผา นายอภิสิทธิ์ให้ความสำคัญเรื่องใดมากกว่ากัน


ส่วนที่บอกว่าผู้คนจดจำเหตุการณ์เผาสถานที่ต่างๆ ได้มากกว่าการตาย 91 ศพนั้น
ก็ไม่น่าจะจริง
ไม่เช่นนั้นนายอภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์คงไม่อยู่ในสภาพตกต่ำต่อเนื่องอย่างที่เห็น


เสียดายที่นายธีรยุทธเองก็ไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.53 ไว้ในบทวิเคราะห์ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในรอบเกือบ 20 ปี

หรือนายธีรยุทธ ก็เหมือนประชาธิปัตย์

ก้าวข้ามไม่พ้น 'ทักษิณ' เช่นกัน



+++

ฐากูร บุนปาน : ขุมทรัพย์
คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


ไม่ว่าจะชอบหรือชัง จะเชื่อถือหรือปฏิเสธ
แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันก็คือ บารมีของนักวิชาการ อดีตผู้นำนักศึกษา อดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง นายธีรยุทธ บุญมี ยังมีน้ำหนักอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย
ไม่อย่างนั้นแล้ว บรรดาพลพรรคคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยคงไม่เรียงหน้ากันออกมาตอบโต้เป็นข้อๆ เป็นชุดๆ อย่างที่เห็น

ทั้งที่หากตัดถ้อยคำประเภทสร้างสีสันออกไปแล้ว บทวิเคราะห์ครั้งล่าสุดของนายธีรยุทธก็มีประเด็นน่าสนใจหลายประการด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นการระบุว่ารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาจากการรวมศูนย์มากไป ทั้งอำนาจและทรัพยากร

จนกระทั่งท้ายสุดศูนย์กลางก็เอาไม่อยู่

ไปจนถึงความต่างในค่านิยม ความคิดพื้นฐานระหว่างรากหญ้ากับชนชั้นนำ ที่ชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรมมาตลอดชีวิต

หรือการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในระยะสั้นว่า น่าจะผ่านความรุนแรงไปได้อย่างน้อยช่วงหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเพื่อไทยเชื่ออย่างที่พูดว่าเวลาอยู่กับฝ่ายตน
ก็ไม่จำเป็นต้องกดดันให้เกิดการเผชิญหน้าของมวลชนที่มีความเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจนในปัจุบัน
และใช้โอกาสหรือเวลาที่มีแก้ไขความไม่ถูกต้องสะสมมานาน ทั้งในเชิงโครงสร้างและค่านิยม

กลับข้างกัน นายธีรยุทธก็เสนอให้สถาบันนักวิชาการ-นักคิดที่ใกล้ชิดราชสำนัก เช่น นายสุเมธ ตันติเวชกุล นพ.ประเวศ วะสี นายอานันท์ ปันยารชุน ควรสร้างการศึกษาค้นคว้า สร้างความรู้ที่ถูกต้องว่า สถาบันกษัตริย์ควรดำรงอยู่ในระบบเสรีประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์อย่างไร


ส่วนที่ นายนพดล ปัทมะ ทนายหน้าหอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมา "เหน็บ" นายธีรยุทธคืน ด้วยสำนวนประเภท
เป็นการรำพึงรำพันทางวิชาการ หรือนายธีรยุทธใช้อคตินำทางสู่ข้อสรุป ซึ่งหมิ่นเหม่และเข้าข่ายการใส่ร้ายป้ายสีและเป็นการหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ อันนักวิชาการที่มีมาตรฐานไม่พึงกระทำ
ก็เป็นเรื่อง "ขนมพอสมน้ำยา"


ตราบเท่าที่การถกเถียงนั้นไม่ใช่การยั่วยุปลุกปั่น ให้บรรดา "เกรียน" ทั้งหลายในทุกระดับ ออกมาอาละวาดหรือตายแทน
น้ำลายก็จะฆ่าคนไม่ได้

และโบราณท่านก็บอกว่า มีคนมาชี้จุดอ่อนก็เหมือนชี้ขุมทรัพย์ให้
แทนที่จะตั้งหน้าทะเลาะกับนักคิดนักวิชาการอยู่เรื่อยไป ถ้าจะใช้คำติติงหรือข้อวิจารณ์มาปรับปรุงตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายเสียหน้าอะไร

ไม่ใช่เพราะมีอำนาจหนที่แล้ว แล้วไม่ฟังใคร หรือฟังแต่ไม่ได้ยินหรอกหรือ

ถึงได้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ฉลาดจริงต้องจำได้สิ?



+++

นฤตย์ เสกธีระ : มุมมองใหม่
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.


หายไป 2 ปี เดาเอาว่าคอการเมืองคงคิดถึง
อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี มาคราวนี้บอกว่าเพิ่งพื้นจากโรคหัวใจ ยกระดับดีกรีเป็น "ศาสตราจารย์" ใหม่เอี่ยมอ่อง ออกมาเสนอบทวิจัยวิพากษ์การเมืองไทย
หลายคนคงอ่านกันแล้ว อีกหลายคนคงได้ฟัง

อ่านและฟังแล้วทราบว่า นอกจากอาจารย์ธีรยุทธบ่งบอกถึงการเมืองไทย ณ ปัจจุบัน ยังบอกถึงสาเหตุการขับเคลื่อนก่อนเกิดการเมืองไทย ณ ปัจจุบัน
พร้อมกันนั้นยังเสนอทางออกให้ด้วย

ทางออกดังกล่าวจับความได้ว่า ต้องยอมรับกันและกัน
ต้องยอมรับว่า ประเทศไทย ณ วันนี้มี "เหลือง" ยอมรับว่า ณ วันนี้มี "แดง" ยอมรับเรื่อง "รากหญ้า" ยอมรับเรื่อง "ฝ่ายอนุรักษ์"
รวมความแล้วคือ ต้องยอมรับซึ่งกันและกันนั่นแหละ

อาจารย์ธีรยุทธยังบอกอีกว่า การจะยอมรับกันและกันได้ต้องเปลี่ยนมุมมอง
ตรงนี้สิสำคัญ !

อาจารย์ธีรยุทธตั้งคำถามว่า ทำไมเสื้อแดงขยายตัว ชนะเลือกตั้งตลอด ?
คำตอบเรื่องนี้จะนำพาไปสู่ "มุมมองใหม่"
และ "มุมมองใหม่" จะนำพาไปสู่การยอมรับ ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การพูดคุยเรื่อง สมานฉันท์กันต่อไปในอนาคต

ดังนั้น คำถามสั้นๆ ที่อาจารย์ธีรยุทธถาม จึงน่าสนใจ
และเมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลของอาจารย์ธีรยุทธแล้ว บางทีหลายคนอาจได้คำตอบก็เป็นได้
ข้อมูลที่อาจารย์ธีรยุทธระบุว่ามาจากการวิจัย ได้สะท้อนภาพความเคลื่อนไหวการเมืองในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา

โฟกัสไปที่ฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายรากหญ้า

ข้อมูลที่ปรากฏออกมาระบุว่า การเมืองยามนี้ฝ่ายรากหญ้ากำลังรุ่ง ส่วนฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังตีบตัน คิดอะไรไม่ออก

ฝ่ายรากหญ้านั้น สะสมความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเนื่องมาจากระบบเหลื่อมล้ำตอกย้ำมารุ่นต่อรุ่น
ความรู้สึกนี้ฝังอยู่ในตัวคน รู้สึกถูกดูหมิ่นดูแคลน ไม่มีศักดิ์ศรี
กระทั่งปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้นโยบายประชานิยมสร้างบุญคุณให้กับชาวรากหญ้า เกิดเป็นความรู้สึกดีๆ กับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
จนปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง

แต่พอเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นวันที่ 19 กันยายน 2549
เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ฝ่ายรากหญ้ารู้สึกว่าถูกซ้ำเติม ยิ่งมีกระบวนการสองมาตรฐานไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยิ่งทำให้ฝ่ายรากหญ้าปฏิเสธอำนาจจากศูนย์กลาง


อาจารย์ธีรยุทธได้แยกระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับฝ่ายรากหญ้าเอาไว้ชัด
อาจารย์ธีรยุทธไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมที่ฟุ้งเฟ้อ เพราะเห็นว่ามีโอกาสนำพาประเทศไปสู่ความฉิบหาย
แต่ก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากพลังฝ่ายรากหญ้า

เมื่อเอาทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของ อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มาจับ
ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยที่ว่าด้วยประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งคนชนบทเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่คนเมืองเป็นผู้ล้มรัฐบาล
วันนี้พลังรากหญ้ากำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

คนชนบทเลือกแล้วก็ไม่อยากให้คนเมืองมาล้ม
ถ้าเสียงส่วนใหญ่เลือกแล้ว ไม่อยากให้เสียงส่วนน้อยมาล้ม
ถ้าจะล้มก็ขอให้ล้มเพราะเสียงส่วนใหญ่.... ล้มเพราะแพ้โหวตในสภา ล้มเพราะแพ้การเลือกตั้ง ล้มเพราะแพ้ประชามติ

ดังนั้น "มุมมองใหม่" ของอาจารย์ธีรยุทธ อาจจะหมายถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นจริง
หรือจะเรียกว่าเป็น "ความจริง" ที่เกิดขึ้นแล้วก็คงไม่ผิด

เป็นความจริงที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าได้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังเป็นไปในสังคมที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย"



.