.
เชิญชมวีดิโอของงานเวที "แขวนเสรีภาพ " ซึ่งในเฟรมนี้มี การอภิปรายที่สำคัญ เช่น อ.สมศักดิ์, อ.มุกดา ฯลฯ เปิดเฟรมหลักแล้วคลิกดูเฟรมย่อยที่ www.youtube.com/watch?v=NTf2xhym5Lw
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ขอคุยบ้างสิ
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 89
มีคนออกมาวิจารณ์เนื้อหาในแถลงข่าวของ ธีรยุทธ บุญมี กันอุ่นหนาฝาคั่ง ซึ่งธีรยุทธน่าจะต้องดีใจที่มีคน "คิดถึง" ทัศนคติของเขามากขนาดนี้ ฉันคงไม่วิจารณ์ "ข้อถกเถียง" ของเขา เพราะอ่านจนจบแล้วไม่รู้ว่าประเด็นหลักของผู้พูดอยู่ที่ไหนนอกจาก "ทักษิณเลว โกง ซุกหุ้น เลี่ยงภาษี ใช้เงินรัฐบาลซื้อประชาชน ทำให้ประชนรักและเป็นหนี้บุญคุณ"
-อือม-แน่ใจนะว่าพูดถึงทักษิณ
สิ่งที่อยากสะกิดทัศนะของธีรยุทธคือรายละเอียดกระจุ๊กกระจิ๊กที่สร้างความรำคาญใจในการอ่าน ซึ่งฉันจะแทรกลงไปในเนื้อหาที่ธีรยุทธได้พูดไว้ เพื่อให้เห็นว่าความลักลั่นของข้อถกเถียงหลักนั้นล้วนมาจากการที่ผู้พูดไม่อาจยอมรับความจริงข้อสำคัญที่ว่า "ทักษิณไม่ใช่คำตอบ"
การโต้ตอบนี้อิงจากเนื้อความจากข่าว หากผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ธีรยุทธพูดในวันแถลงข่าวก็ต้องยกประโยชน์ว่าเป็นเพราะนักข่าวสรุปมาผิด นอกจากนี้ ยังได้ตัดทอนบางส่วนออกไป เพราะจะยืดยาวเกินไป ยกมาเฉพาะส่วนที่มี "ปัญหา" หนักจริงๆ เท่านั้น
เชิญทัศนา
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1332048444&grpid=00&catid=01&subcatid=0100
..การเมืองยุคของทักษิณ ช่วงเกือบ 15 ปีที่พรรคการเมืองของทักษิณชนะการเลือกตั้งทั่วไป ได้เสียงข้างมากติดต่อกัน รวมทั้งสามารถขยายฐานรากหญ้า เสื้อแดง ระดมพลไปเลือกตั้งและชุมนุมประท้วงได้อย่างกว้างขวาง สะท้อนว่าทักษิณกลายเป็น 1 ใน 3 ของผู้มีบารมีทางการเมืองในช่วงหลัง พ.ศ.2500 ที่มีบทบาทเปลี่ยนโฉมการเมืองไทย ซึ่งได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ทักษิณจะช่วยให้การเมืองไทยดีขึ้นหรือประเทศล่มจมยังเป็นสิ่งต้องพิสูจน์ อีกยาวนาน..
ตอบ : ธีรยุทธ เป็นนักสังคมศาสตร์ น่าจะรู้ดีว่า ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมนั้นมาจากปัจจัยอันหลากหลายทั้งปัจจัยภายในภายนอก มิใช่เกิดจาก "มหาบุรุษ" คนใดคนหนึ่งที่จะบันดาลความเปลี่ยนแปลงในสังคม
นอกจากนั้น การไปเลือกตั้งไม่ได้เกิดจากการระดมพล แต่เป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยที่ต้องไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
ส่วนการประท้วงนั้น เริ่มจากกลุ่มประชาชนกลุ่มเล็กๆ ชื่อ กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ประท้วงการรัฐประหาร จากนั้นมีแนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นขบวนการที่เรียกว่า "คนเสื้อแดง" มีงานของนักวิชาการทางสังคมวิทยา เช่น อ.ปิ่นแก้ว เหลืออร่ามศรี ที่อธิบายปรากฏการณ์ Becoming Red หรือการกลายมาเป็นเสื้อแดง
คำว่า Becoming ชี้ให้เห็นว่า "เสื้อแดง" มิใช่การจัดตั้งสำเร็จรูปจากนักการเมือง
..เกิดการเมืองรากหญ้า-ประชานิยม วิกฤติการเมืองไทยรุนแรง เพราะการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ที่รุนแรงที่สุดคือการไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของอีกฝ่าย เพราะมองว่าไม่ใช่ของจริง ไม่ต้องสนใจจริงจัง เช่น ฝ่ายอนุรักษ์มองว่า เสื้อแดงไม่มีตัวตนเพราะถูกจ้างมา โง่จึงถูกหลอกมา ไร้การศึกษาจึงถูกชักจูงโดยทักษิณ แต่ชาวรากหญ้าเสื้อแดงกลับมองว่า ทักษิณมีบุญคุณล้นเหลือ..
ความข้อนี้ไม่สมบูรณ์ในเชิงตรรกะ เพราะธีรยุทธชี้ว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ยอมรับว่า "เสื้อแดง" มาเพราะเจตจำนงของตนแต่ถูกทักษิณใช้มา จากนั้น ธีรยุทธพึงแสดงเหตผลว่า แล้วฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษนิยมมองคนเสื้อแดงอย่างไร? มิใช่บอกว่า "เสื้อแดงมองทักษิณอย่างไร"-เพราะในข้อความนี้ "คนเสื้อแดง" อยู่ในสถานะของการ "ถูกอ่าน" มิได้เป็น "ตัวแสดง" ยกตัวอย่างเช่น
"ฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่าหนังสือพิมพ์มติชนเข้าข้างเสื้อแดง ส่วนฝ่ายเสรีนิยมมองว่ามติชนเสนอข่าวอย่างหลากหลายและเป็นกลาง" มิใช่ "ฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่าหนังสือพิมพ์มติชนเข้าข้างเสื้อแดง หนังสือพิมพ์มติชนกลับมองว่าฝ่ายเสื้อแดงมีบุญคุณและพูดรู้เรื่องมากกว่าจึงชอบเสนอข่าวเสื้อแดง"
เนื้อหาของธีรยุทธเป็นแบบประโยคหลัง
..3.การเมืองรากหญ้ามีความสำคัญต่อประชาธิปไตย ถ้าจะมองพัฒนาการการเมืองไทยในด้านสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ในช่วงราชาธิปไตยชาวบ้านไม่มีทั้งเสรีภาพและศักดิ์ศรี ต่อมาในช่วงเผด็จการทหารมีบางส่วนได้มีศักดิ์ศรีแต่ไม่มีเสรีภาพ ชนชั้นกลางในสังคมไทยเพิ่งจะมีเสรีภาพก็ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 และชาวบ้านระดับรากหญ้าเองก็มามีเสรีภาพในการแสดงออกหลัง 19 กันยายน 2549 การเมืองรากหญ้าจึงเป็นดัชนีบ่งชี้พัฒนาการของสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม ประชานิยมน่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงในอนาคต อย่างไรก็ตาม พลังรากหญ้า เสื้อแดงมีลักษณะเฉพาะ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการชุมนุมเป็นคราวๆ ยังไม่เป็นขบวนการการเมือง ไม่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองแต่อย่างใด..
ส่วนนี้มีความไม่ชัดเจนในการมุมมองทางประวัติศาสตร์ เพราะไม่ทราบว่ายุคราชาธิปไตยของธีรยุทธหมายถึงยุคไหน?
เมื่อพูดถึงยุคของเผด็จการก็มีหลายยุคและไม่มีความต่อเนื่องเป็นเส้นตรง และคงเป็นการ (มัก) ง่ายเกินไปที่จะฟันธงว่าเรามีเสรีภาพครั้งแรกหลัง 14 ตุลาคม 2516 เพราะรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดของไทยคือรัฐธรรมนูญปี 2517 นั้นมีอายุไม่ถึง 2 ปี
ไม่น่าเชื่อว่า ธีรยุทธจะข้ามประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 และไม่พูดถึงรัฐธรรมนูญปี 2519
แต่ที่พลาดอย่างมหันต์คือที่บอกว่า "รากหญ้ามีเสรีภาพในการแสดงออกหลัง 19 กันยายน 2549" ซึ่งคงต้องร้องหากันเสียงหลงว่า "ฮัลโหลๆๆๆๆๆ" ตำราเล่มไหนในโลกนี้ที่บอกว่าประชาชนจะมีเสรีภาพมากขึ้นหลังการรัฐประหาร???? เราอยู่ใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนถูกจับ ถูกกระชับพื้นที่จนตายไปเกือบร้อยศพ บาดเจ็บนับพัน-โอ้ว ท่านเรียกสิ่งนี้ว่า เสรีภาพ!!!
..พลังรากหญ้าไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ..
โอ้ว ท่านไปอยู่ที่ไหนมา-การสนับสนุนข้อเสนอนิติราษฎร์เรื่องการลบล้างผลพวงการรัฐประหารไม่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง จะเรียกว่าอะไร ?
..ก่อนรัตนโกสินทร์ไทยไม่ได้ปกครองแบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ มีความหลากหลายของรูปแบบการปกครอง ขนบ วัฒนธรรม เพิ่งมีการรวมศูนย์เบ็ดเสร็จทุกด้านในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยรัฐเป็นเจ้าของและผู้ใช้ทรัพยากรทุกอย่าง เชิดชูส่วนกลาง กดเหยียดของเดิม จึงเกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ความน้อยเนื้อต่ำใจในหลายๆ ด้านฝังลึกอยู่ เนื่องจากทุกอย่างรวมศูนย์ที่รัฐ ทั้งอำนาจและทรัพยากร ชนชั้นนำที่เข้ามามีอำนาจการเมืองล้วนหยิบฉวยใช้ประโยชน์จากรัฐทั้งสิ้น ส่วนชาวบ้านเกือบไม่เคยได้อะไรจากรัฐ จึงตำหนิชาวบ้านเต็มที่ไม่ได้ เมื่อประเทศต้องการให้มาลงคะแนนเป็นรากฐานให้ประชาธิปไตย พวกเขาจึงถือเป็นอำนาจต่อรองในการซื้อ-ขายเสียง ขอโครงการเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านตื้นตันใจกับทักษิณที่ใช้ประชานิยมผันเอาเงินของรัฐไปช่วยชาวบ้านอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง แม้ตัวเองจะไม่ยอมจ่ายแม้แต่สตางค์แดงเดียวก็ตาม..
ก่อนรัตนโกสินทร์ไทยไม่ได้มีความหลากหลายของรูปแบบการปกครอง หรือขนบวัฒนธรรม เพราะตอนนั้นยังไม่มี "ไทย" รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนรัตนโกสินทร์ย้อนหลังลงไปยังไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่อง "ความหลากหลาย" การมองว่า "รัฐ" เหล่านั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นการมองจากคอนเซ็ปต์ของ "รัฐ" แบบสมัยใหม่
ดังนั้น การเอารัฐรวมศูนย์ (ซึ่งรัฐรวมศูนย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับรัฐรวมศูนย์แบบราชการของไทยปัจจุบัน ก็เป็นรัฐคนละชนิดกัน) ไปวางเทียบกับรัฐก่อนรัตนโกสินทร์จึงผิดฝาผิดตัวอย่างน่ามึนหัวอย่างยิ่ง
ชวนให้สงสัยว่าหากอยากตำหนิปัญหารัฐรวมศูนย์ทำไมไม่ยกตัวอย่างรัฐสมัยใหม่ที่ไม่รวมศูนย์ เช่น รูปแบบของสหพันธรัฐ แต่ดันม้วนตัวย้อนหลังไปหารัฐแบบก่อนรัตนโกสินทร์นู่น
เรื่องชาวบ้านตื้นตันใจทักษิณเอาเงินรัฐไปช่วยชาวบ้านก็ต้องถามว่า เอาเงินรัฐไปช่วยชาวบ้านแล้วผิดตรงไหน??
หรือนายกฯ ต้องใช้เงินตัวเองมาช่วยชาวบ้าน แล้วช่วยชาวบ้านในที่นี้ทำผ่านนโยบายรัฐ ไม่ได้ไปช่วยในนามทักษิณ แต่ทำในนามรัฐบาล
ธีรยุทธน่าจะตรวจสอบเรื่องการใช้เงินรัฐไปช่วยชาวบ้านในนามส่วนตัวมากกว่า (ถ้ามี)
..ภาษา ขนบประเพณี วัฒนธรรม ของท้องถิ่นถูกทอดทิ้งละเลยไปมาก เช่น มีการรื้อถอนคุ้มจวนเจ้าเมือง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่สวยงาม แล้วสร้างศาลากลางที่อัปลักษณ์แบบไทยภาคกลางลงไปแทน วัดวาจำนวนมากก็ถูกเปลี่ยนเป็นแบบวัดภาคกลางแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีการใช้ภาษาบาลี ไปเป็นชื่อถนน อำเภอ ตำบล แทนชื่อท้องถิ่น ฯลฯ ยิ่งสร้างความแปลกแยก แทนที่จะสร้างความเข้าใจ เคารพซึ่งกันและกัน..
จวนเจ้าเมืองในที่นี้หมายถึง "คุ้มเจ้าเมือง" อย่าง เจ้าเชียงใหม่ หรือไม่?
หรือหมายถึง จวนเจ้าเมืองที่เป็นข้าราชการจากกรุงเทพฯ ที่ถูกส่งมาเป็น "เจ้าเมือง"?
ปัญหาเรื่ององค์ความรู้ในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่อง "ท้องถิ่น" ถูกละเลย แต่ธีรยุทธกำลังลดทอนความซับซ้อนของปัญหาให้เหลือเพียง ท้องถิ่นเท่ากับสวยงาม ภาคกลางเท่ากับอัปลักษณ์
ศาลากลางที่อัปลักษณ์แบบไทยภาคกลางคืออะไร? ไปแทนคุ้มจวนเจ้าเมืองที่สวยงามอย่างไร? หรือธีรยุทธกำลังจะบอกว่า หน่วยงานข้าราชการส่วนภูมิภาคควรอยู่ในจวนแบบสมัยรัชกาลที่ 5?
ปัญหานี้เกิดจากการที่ธีรยุทธไม่อยากจะยอมรับว่าปัญหาเรื่อง "ท้องถิ่น" แก้ได้โดยให้มีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง ซึ่งสัมพันธ์กับการส่งเสริมประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ที่ธีรยุทธยอมไม่ได้เพราะยังเชื่อว่าชาวบ้านโง่ ขายเสียง บ้าวัตถุ
ท้องถิ่นของธีรยุทธจึงม้วนกลับไปหาจวนเจ้าเมือง...ซะงั้น
..ความต่างในค่านิยม ความคิดพื้นฐานระหว่างรากหญ้ากับชนชั้นนำ ตอกย้ำความไม่เข้าใจกันเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านอยู่กับความยากจนมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย จึงชอบวัตถุจับต้องได้อย่างเห็นชัดๆ ชอบความไวทันใจแบบปาฏิหาริย์ ชาวบ้านจึงชอบตะกรุด หลวงพ่อคูณ (กูให้มึงรวย) แทงหวย ชอบทองคำ ซึ่งบ่งบอกถึงความรวยชัดๆ (มวยไทยเก่งๆ ได้แจกสร้อยทองคำ) ชาวบ้านยังมีค่านิยมแบบนักเลง มีน้ำใจให้กัน พึ่งพากันได้ ชอบฮีโร่หรือวีรบุรุษที่สร้างความหวัง (ส่วนใหญ่ไม่สมหวัง) ให้กับตน ชอบผู้นำที่ฉับไว กล้าได้กล้าเสีย ไม่ต้องยกแม่น้ำทั้งห้า ส่วนคนชั้นสูงชอบระเบียบ ความสงบ เรียบร้อย เพราะเท่ากับว่าคนที่ต่ำกว่ายอมรับโครงสร้างอำนาจเดิม และมองว่าระเบียบเป็นสิ่งเดียวกับประสิทธิภาพ แต่เมื่อใช้กับระบบราชการที่มีอยู่มานานจึงเชื่องช้า (นี่เป็นค่านิยมหลักของประชาธิปัตย์ที่ถูกวิจารณ์หนักมาตลอด) ชนชั้นสูงชั้นกลางเน้นการพึ่งตนเองและระบบ เน้นวัตถุเหมือนชาวบ้านเช่นกันแต่พยายามมีคำอธิบาย พวกเขาเน้นนามธรรม และชอบเทศนาคุณธรรม ความดี จึงเป็นที่มาของความต่างระหว่างประชาธิปไตยกินได้ของชาวบ้าน กับประชาธิปไตยดูได้ของชนชั้นสูง..
ยอมรับว่าอ่านทั้งย่อหน้านี้ไม่รู้เรื่อง เพราะคนต่างชนชั้นก็ต่างอุดมการณ์ ต่างอุดมคติ ต่างความฝัน ต่างค่านิยมกันอยู่แล้ว
มีสังคมไหนบ้างที่คนมีค่านิยมเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งสังคม แต่หลักการประชาธิปไตยที่เคารพเสียงข้างมาก อดทนอยู่ในกติกา คนจึงอยู่กับความแตกต่างได้โดยไม่จำเป็นต้องรักกัน หลักการประชาธิปไตยก็มีไว้เพื่อเป็นสนามให้คนได้ต่อรองเรื่องผลประโยชน์กันได้ ทะเลาะกันได้ โดยไม่ฆ่ากันเท่านั้น
จากนั้นใครจะนับถือผี นับถือเงิน นับถือเทพเจ้า จะคลั่งวัตถุ คลั่งไสยศาสตร์ ไหว้ตุ๊กแก ขอหวย ใครจะชอบผู้นำเด็ดขาด ใครจะชอบคนดีแต่พูด ใครจะชอบคนตอแหล สัปปะหลี้ (ภาษาเหนือค่ะ แปลว่า ปลิ้นปล้อน)-ก็ล้วนแต่เป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลล้วน
แต่ไม่ได้หมายว่าจะไม่ด่ากัน จะไม่วิจารณ์กัน
เฮ้อ...
..จะเข้าใจปรากฏการณ์เสื้อแดงได้ดีขึ้น ถ้ามามองทฤษฎีวงจรอุบาทว์หรือทฤษฎีสองนคราฯ ให้ลึกลงในระดับโครงสร้าง เราเคยอธิบายว่าการเมืองไทยเป็นสองนคราธิปไตย คือคนชนบทตั้งรัฐบาล-คนเมืองล้มรัฐบาล หรือคนชนบทซื้อ-ชายเสียงเลือกตั้ง-นักการเมืองถอนทุน ชนชั้นกลางไม่พอใจ ทหารรัฐประหาร เลือกตั้งใหม่
แต่นี่เป็นการมองเชิงปรากฏการณ์ ถ้ามองเชิงโครงสร้างเราจะมองเห็นวงจรของการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจการเมืองซ้อนทับอยู่ คือ ชนบทเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากร แรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งที่มาที่ชอบธรรมให้กับประชาธิปไตย (ซึ่งก็คือการเลือกตั้ง) ส่วนเมืองเป็นแหล่งผลิตใช้ทรัพยากร และเป็นผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตย และเพื่อให้วงจรนี้ดำรงต่อไปได้ก็มีการครอบงำชาวบ้าน โดยวาทกรรมความสำคัญของศูนย์กลางของประชาธิปไตยคนดี และมาตรการสุดท้ายคือรัฐประหาร..
ประเด็นนี้ ง่ายๆ เลยค่ะ ไม่ต้องเป็นศาสตราจารย์ก็พอรู้ แต่อยากถามคำเดียวว่า ตอนรัฐประหารปี 2549 ทำไมอาจารย์ไม่ออกมาต่อสู้ คัดค้าน แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าการรัฐประหารนั้นไม่ถูกต้อง!
แล้วถ้าชนบทเป็นที่มาของความชอบธรรมของประชาธิปไตย ใครที่ไหนจะมา "ครอบงำ" ชาวบ้านได้เล่า?
เว้นแต่อาจารย์จะเรียกการรักษา "สัญญาประชาคม" ที่พรรคการเมืองให้ไว้กับฐานเสียงของเขาว่าการ "ครอบงำ"-ใช่ไหม ?
..ผู้ที่ควรร่วมคิด ผลักดันประเด็นข้างต้นควรเป็นนักวิชาการเสื้อเหลือง แดง และนักวิชาการทั่วไปที่ไม่ยึดแนวสุดขั้วจนปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง ภาคธุรกิจ กลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งอยู่ตรงกลางมากที่สุด แต่ก็มีผลได้ผลเสียจากความขัดแย้งปัจจุบันมากที่สุด ควรมีบทบาทชดเชยสิ่งที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ ด้วยการลงทุนสร้างความยุติธรรม บรรยากาศ ค่านิยม ประชาธิปไตยให้กว้างขวางที่สุด..
เอ่อ...อ่านมาตั้งนาน เจอในสิ่งที่ ธีรยุทธอยากพูดแล้วคือ "นักวิชาการที่ไม่ยึดแนวสุดขั้ว" ควรได้ทำอะไรกับเขาบ้าง ได้ชดเชยสิ่งที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ
เอิ่ม... อาจารย์คะ ใครอยากทำอะไร ไม่มีใครห้ามนี่นา
อาจารย์วรเจตน์โดนชกหน้า ก็ยังไม่หยุดทำในสิ่งที่อาจารย์วรเจตน์เห็นว่าควรทำ ใช่ไหม?
เพราะฉะนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ "ควรมีบทบาทชดเชยสิ่งที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ"
ธีรยุทธ น่าจะวิจารณ์ นักวิชาการที่มีหน้าที่ที่ต้องทำแต่ไม่ได้ทำมากกว่า เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือหน่วยงานค้นหาความจริงทั้งหลายที่ป่านนี้จะหมดวาระแล้วยังไม่แจงความจริงสักกระผีกออกมา
..โดยส่วนตัวผู้เขียนยังเชื่อว่าทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตย รากหญ้าจริงๆ จะเห็นได้จากการปราศรัยกับชาวบ้าน ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน นอกจากอ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้ ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น..
ปัญหานี้ของธีรยุทธ ขอตอบง่ายๆ ว่า-อาจารย์ฟังทักษิณพูดมากเกินไป
และฟัง "ประชาชน" พูดน้อยเกินไป
เลยรู้จักแต่ทักษิณ แต่ไม่รู้จักประชาชน และไม่รู้จักคนเสื้อแดงที่มีอยู่อย่างหลากหลาย
คนที่ก้าวไม่พ้นทักษิณเสียทีก็คงมีท่านอยู่ด้วยแน่นอน 1 คน...เนอะ?
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เชิญชมyoutube ที่คำ ผกาสนทนากันถึง เวที "แขวนเสรีภาพ"
แล้ว พูดถึง "จัดหนักธีรยุทธ บุญมี" ( เริ่มนาทีที่ 03:50 จากทั้งหมด 18:56 นาที )
"จัดหนักธีรยุทธ บุญมี" Divas Cafe 19 03 55
www.youtube.com/watch?v=l8j1TOArazw
และมีวีดิโอของงานเวที "แขวนเสรีภาพ"
ซึ่งในเฟรมนี้มี การอภิปรายที่สำคัญ เช่น อ.สมศักดิ์, อ.มุกดา ฯลฯ ให้คลิกดูที่เฟรมย่อย
3 แขวนเสรีภาพ 18-3-2012
คลิกไป www.youtube.com/watch?v=NTf2xhym5Lw
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย