.
รายงานเพิ่ม - "ธีรยุทธ บุญมี" "ริป แวน วิงเคิล" ตื่นแล้ว เปิดตัวสวย-ยึดพื้นที่ข่าว ยกระดับ "ความเป็นกลาง"
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สถาบันพระปกเกล้า "งานเข้า" นิรโทษฯ-ล้างคดี"คตส." อภิสิทธิ์-ปชป. จัดหนัก "ปรองดอง" ไม่ปรองดอง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 13
เวทีเสวนาผลการศึกษาวิจัยแนวทางปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า
จัดโดย คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนฯ ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา
มีขึ้นภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จาก"คู่ขัดแย้ง"ทางการเมือง ทั้งในเชิงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อรายงานแนวทางสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ที่นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาภายใน 60 วัน
นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าทีมผู้วิจัย เคยแถลงชี้แจงถึงที่มาของรายงานผลวิจัยชิ้นนี้ว่า ได้ศึกษาจาก 3 ส่วน คือ
ศึกษาประสบการณ์จาก 10 ประเทศ อันมีลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกับไทย คือ เกาหลีใต้ โคลัมเบีย ชิลี โบลิเวีย โมร็อกโค เยอรมนี รวันดา อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และไอร์แลนด์เหนือ
ศึกษาจากที่มาของความขัดแย้งในสังคมไทย
และจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง จำนวน 47 ราย ประกอบด้วย
แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และอดีตนายกรัฐมนตรี
นอกจากการสัมภาษณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว นายวุฒิสารยังเดินทางไปสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในต่างประเทศด้วย เป็นการไปเพียงคนเดียว เนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เป็นงบประมาณของสถาบันพระปกเกล้า
จากการศึกษา ทำให้พบว่า
ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีสาเหตุจากมุมมองต่อประชาธิปไตยที่ไม่ตรงกัน โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นแกนนำกลางความขัดแย้ง
ฝ่ายหนึ่ง ให้ความสำคัญกับ"เสียงข้างมาก"ในสภา อีกฝ่ายเห็นว่าประชาธิปไตยต้องมาพร้อม"คุณธรรม"และ"จริยธรรม" ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างอิงแนวคิดของตนเองเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ โดยมีสื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองคอยชี้นำสังคม
สุดท้าย มุมมองที่แตกต่างกันเรื่องประธิปไตย ถูกขยายผลเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงมากที่สุด และเป็นจุดสำคัญที่อาจส่งผลให้การปรองดองไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
อยู่ตรงข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ต่อแผนระยะสั้น 4 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คปอ.) เพื่อค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน
จากนั้นให้เลือกเวลาที่เหมาะสมในการเปิดเผยความจริง แต่ต้องไม่เปิดเผยตัวบุคคล เพื่อเป็นบทเรียนให้สังคมเรียนรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้งในอนาคต
ประเด็นที่ 2 นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองให้กับทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชา และนักการเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย
โดยแบ่งออกเป็นสองทางเลือก คือ
ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท กับออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้เฉพาะคดีที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ทั้งสองทางเลือก ยกเว้นความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ประเด็นที่ 3 สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือ คตส.
มีสามทางเลือกคือ
ดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้เฉพาะผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ดำเนินการใหม่ แต่ไม่รวมคดีที่ศาลตัดสินถึงที่สุดแล้ว
ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด แล้วให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ โดยไม่นับอายุความ
ทางเลือกสุดท้าย ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด แต่ไม่ให้มีผลย้อนหลังกับคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการ และคดีที่ตัดสินไปแล้ว
ประเด็นที่ 4 กำหนดกติกาทางการเมืองร่วมกัน เช่น การแก้ไขกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างนี้ผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ ต้องยุติการเคลื่อนไหวใดๆ ที่เป็นการใช้มวลชนเรียกร้อง หรือกดดันด้วยวิธีการผิดกฎหมาย
และไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดกับการรัฐประหารในอดีต
ปฏิกิริยาต่อรายงานของสถาบันพระปกเกล้า เสียงโต้แย้งหนักหน่วงที่สุดยังดังมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายอภิสิทธิ์ เขียนจดหมายเปิดผนึก 2 ฉบับ ส่งถึง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และคณะผู้วิจัยสถาบันพระปกเกล้า เรียกร้องให้ทบทวนรายงานฉบับดังกล่าว
และยังได้กลับลำ ยกเลิกประชุม "ครม. เงา"ของพรรค เพื่อเดินทางไปร่วมวงเสวนาของสถาบันพระปกเกล้า และกรรมาธิการวิสามัญปรองดอง โต้แย้งด้วยวาจาอีกครั้ง
เนื้อหาข้อโต้แย้งของนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ มุ่งไปที่ประเด็นความผิดพลาดคลาดเคลื่อน และการข้ามข้อเท็จจริงและเหตุการณ์สำคัญๆ โดยเฉพาะในช่วง"ทักษิณ"เรืองอำนาจเมื่อปี 2544-2549 ก่อนถูกโค่นอำนาจ
ไม่ว่าการแทรกแซงตุลาการในคดีซุกหุ้น การทำลายระบบนิติรัฐ แทรกแซงองค์กรอิสระ การทุจริตเชิงนโยบาย การฆ่าตัดตอนยาเสพติด ความรุนแรงในภาคใต้ กรณีกรือเซะ-ตากใบ
การกล่าวถึงเหตุผลซึ่งถูกใช้อ้างในการทำรัฐประหารไม่ครบถ้วนทั้ง 4 ข้อ การพยายามอธิบายเหตุผลการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ไม่อธิบายในส่วนของกลุ่มพันธมิตรฯ
แต่ประเด็นที่ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์โต้แย้ง และยอมรับไม่ได้มากที่สุด คือประเด็นการนิรโทษกรรม และล้มเลิกคดีที่ดำเนินการโดย คตส.
รวมถึงการที่ในรายงานละเลย ไม่กล่าวถึงข้อมูลข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน 2552 และระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 อย่างครบถ้วนทุกซอกทุกมุม
ไม่ว่ากรณีล้มประชุมอาเซียนที่พัทยา กรณี"คนชุดดำ"เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 หรือเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
ทำให้มองได้ว่าเป็นการเสนอทางออกตามความต้องการของคนกลุ่มเดียวหรือคนคนเดียว
บนเวทีเสวนาผลศึกษาวิจัยแนวทางปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกรรมาธิการวิสามัญปรองดอง ที่วันนี้เปลี่ยนบทบาทจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร มาสวมบท"นักปรองดอง"เต็มตัว
กล่าวเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้งและหันมาสร้างความปรองดอง เคารพในความเห็นต่าง ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
และว่า
"การให้อภัยซึ่งกันและกันโดยไม่มีเงื่อนไข จะเป็นหนทางนำไปสู่ความปรองดองได้"
ขณะที่ นายวุฒิสาร ตันไชย หัวหน้าคณะผู้วิจัย ระบุว่า ข้อเสนอและรายงานแนวทางสร้างความปรองดองดังกล่าว เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุป
นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาขัดแย้งคือ การสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะขณะนี้แต่ละฝ่ายยังติดยึดอยู่กับจุดยืนของตัวเอง ไม่ยอมเปิดใจรับกระบวนการปรองดอง แม้ปากจะพูดว่าอยากเริ่มกระบวนการปรองดองก็ตาม
อีกทั้งคณะกรรมาธิการฯ ต้องรวบรวมความคิดเห็นของตัวแทนการเมืองและประชาชนแนวร่วมของแต่ละฝ่าย จากเวทีเสวนารับฟังความเห็นต่างๆ
มาประมวลใส่แนบท้ายไว้ในรายงานก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนฯ คาดว่าจะเสนอได้ในราวกลางเดือนเมษายน ก่อนสภาจะปิดสมัยประชุมวันที่ 18
ไม่แน่ว่าสุดท้ายแล้วโฉมหน้า"ปรองดอง"ที่ยังต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบจากสภา
ออกมาแล้วจะเป็นตามที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอหรือไม่
++
ปรองดอง สมานฉันท์ บทบาท สถาบันพระปกเกล้า จุดประกาย "ความคิด"
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:00:07 น.
คำกล่าวของ นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า หัวหน้าคณะวิจัยเรื่องแนวทางสร้างความปรองดอง ที่ว่า
"ผลวิจัยไม่ใช่ข้อสรุป แต่เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามหาแนวทางที่ทำให้เกิดความเห็นร่วม"
ถูกต้อง
ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนกับ "อิฐล่อหยก" อย่างน้อยก็ทำให้ได้จดหมายเปิดผนึกจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 2 ฉบับติดต่อกัน
แม้ว่าจะเป็นท่าทีเดียวกันกับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
"กรรมาธิการเสียงข้างน้อยจะทำหนังสือคัดค้านแนวทางสร้างปรองดองของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นว่าให้มีการนิรโทษกรรมคดีการชุมนุมทางการเมืองที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง และการให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด"
อย่างน้อยสังคมก็รับรู้ว่า "เสียงข้างมาก" ภายในกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางความปรองดองแห่งชาติเห็นเป็นอย่างไร
นี่คือจุดเริ่มต้นอันจะนำไปสู่การปรองดองในทางเป็นจริงได้ในกาลข้างหน้า
หากไม่มีความขัดแย้ง แตกแยก เกิดขึ้นและดำรงอยู่นับแต่สถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2519 เป็นต้นมา คงไม่มีข้อเสนอว่าด้วยปรองดอง สมานฉันท์
แค่เพียง "คิด" ก็เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องควรส่งเสริม สนับสนุน
การอาสามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการปรองดองแห่งชาติด้วยตนเองของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ถือเป็นความเสียสละ
ไม่เพียงเพราะเคยดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ.มาก่อน
หากที่สำคัญเป็นอย่างมากยังเป็น ผบ.ทบ.ผู้เคยดำรงอยู่ในสถานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
เคยเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
อย่างน้อยเงาสะท้อน 1 ของการอาสาเข้ามาอยู่ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการก็เท่ากับยืนยันให้ประจักษ์ในความจำเป็นที่จะต้องมีการปรองดอง สมานฉันท์ ในทางเป็นจริง
มิใช่ "ดีแต่พูด" เอาเท่ แต่ไม่เคย "ทำ" เหมือนบางคน บางฝ่าย
ความหมายของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการปรองดองแห่งชาติ คือการลดทอนปริมาณบุคคลอันตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกันให้ลดน้อยลง แม้กระทั่งคนที่เคยก่อการรัฐประหารก็ยอมรับในความผิดพลาด
ลืมอดีตแล้วแสดงเจตจำนงที่จะเดินไปข้างหน้า
คล้ายกับปฏิกิริยาอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นเครื่องแสดงให้สัมผัสได้กับอุปสรรคและความยากลำบากในการปรองดอง สมานฉันท์
แต่ที่ไม่ควรมองข้างม คือ "สถานะ" ของพรรคประชาธิปัตย์
ความเป็นจริงที่ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เองก็ยอมรับ
คือ สถานะแห่งการเป็น "เสียงข้างน้อย"
ความเห็น "ต่าง" จากเสียงข้างน้อยควรให้ความเคารพ รับฟังอย่างมีโยนิโสมนสิการ ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าระยะจากเดือนกันยายน 2549 เรื่อยมาจนถึงเดือนมีนาคม 2555 มีการแปรเปลี่ยนในทางความคิดเป็นอย่างมาก
ผลวิจัยอันมาจากการทำงานของ 20 นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า คือ เครื่องยืนยัน 1
ความเห็นร่วมในลักษณะ "สมารมณ์" เป็นอย่างยิ่งของกรรมาธิการ "เสียงข้างมาก" อันสมคล้อยกับข้อเสนอจากการวิจัยทางวิชาการ คือ เครื่องยืนยัน 1
เป้าหมายของการวิจัย คือ จุดเริ่มต้นของความพยายามหาแนวทาง
พลันที่แนวทางแต่ละแนวทางปรากฏขึ้นและเสนอต่อสังคม นั่นหมายถึง โอกาสที่สังคมจะแสวงหาความเห็นร่วม
ความเห็นร่วมนั่นแหละเป็นคำตอบสุดท้ายของการปรองดอง สมานฉันท์
ปฏิกิริยาอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิกิริยาอันมาจากผู้มีส่วนกับรัฐประหาร 2549 จำนวนหนึ่ง
เป็นปฏิกิริยาที่สมควรล้างหูน้อมรับฟัง และให้ความเคารพ เพราะว่าข้อเสนอในเรื่องปรองดองย่อมสวนทางกับอารมณ์ความรู้สึกที่ตกผลึกตกค้างอยู่ในอนุสัยมาอย่างยาวนาน
เวลาต่างหากคือเครื่องเยียวยาและช่วยให้เกิดการปรองดองอย่างเป็นจริง
+++
"ธีรยุทธ บุญมี" "ริป แวน วิงเคิล" ตื่นแล้ว เปิดตัวสวย-ยึดพื้นที่ข่าว ยกระดับ "ความเป็นกลาง"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 11
ในที่สุด "ธีรยุทธ" ก็ยังคงเป็น "ธีรยุทธ บุญมี" คนเดิม
เขาสามารถยึดพื้นที่ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้นหลังการออกมาวิจารณ์การเมืองไทย
การแถลงหัวข้อ "การวิเคราะห์การเมืองไทย แนวโน้มของวิกฤตปัจจุบัน" ของ "ธีรยุทธ" กลายเป็นข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขว้าง
"ธีรยุทธ" ถือเป็นนักวิชาการที่มี "การตลาด" ในหัวใจ
ตั้งแต่สร้างการจดจำด้วยการใส่ "เสื้อกั๊ก" ตัวเดิม ในการแถลงข่าว
เขาจะเลือกแถลงข่าววันอาทิตย์ ที่มี "ข่าว" น้อย
เลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอ "สินค้า"
การแถลงข่าวครั้งล่าสุด "ธีรยุทธ" รู้ดีว่าเขาจะต้องถูกตั้งคำถามเรื่อง "ความเป็นกลาง"
เพราะตลอดช่วง 2 ปีกว่าของรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
"ธีรยุทธ" ไม่เคยออกมาวิจารณ์ "อภิสิทธิ์"
เขานิ่ง-นิ่ง และนิ่ง
การแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา "ธีรยุทธ" จึงต้องออกตัวก่อนว่าเหตุผลที่เขาไม่ได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาล "อภิสิทธิ์" เพราะเขาป่วยเป็นโรคหัวใจ ต้องทำบอลลูนเพราะหัวใจเต้นผิดปกติ
เข้าโรงพยาบาล 5-6 เดือน ทำให้พูดลำบาก
จากนั้นจึงเริ่มการวิเคราะห์การเมือง
ต้องยอมรับว่า แม้จะมีข้อครหาใดก็ตาม แต่การวิเคราะห์การเมืองของ "ธีรยุทธ" ครั้งนี้ ถือว่าวิจารณ์รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ไม่หนักหน่วงเหมือนตอนที่วิจารณ์รัฐบาล "ทักษิณ"
และมีหลายประเด็นที่น่าสนใจมาก
"ธีรยุทธ" วิเคราะห์ว่า "เสื้อแดง" ได้เปรียบ "ฝ่ายอนุรักษ์"
เพราะ 1.แนวทางและวาทกรรมในการต่อสู้ของเสื้อแดงจูงใจคนเล็กคนน้อย (แต่เป็นคนส่วนใหญ่) ได้ ส่วนความคิดอนุรักษ์จำกัดอยู่แค่ชาติและพระมหากษัตริย์
2. เสื้อแดงมีความชอบธรรมเรื่องประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความชอบธรรมสากลของโลกปัจจุบัน ส่วนความชอบธรรมของฝ่ายอนุรักษ์ เป็นเชิงประวัติศาสตร์ประเพณี ซึ่งเก่าแก่และสึกกร่อน
3. วิสัยทัศน์ของกลุ่มอนุรักษ์ตีบตัน แต่ฝ่ายเสื้อแดงเปิดกว้าง
แม้ "ธีรยุทธ" จะมองโอกาสของคนรากหญ้าจะมีมากกว่าในระยะยาว
แต่กลับสรุปแบบมีเหลี่ยมมีคมว่า เมืองไทยยุค 2 ก๊ก "ก๊ก" คนเลว "โจโฉ" จะชนะก๊ก "คนดี" เล่าปี-ขงเบ้ง"
ชัดเจนว่า "ธีรยุทธ" มองว่าฝ่ายใดคือ "คนดี"
และใคร เป็น "คนเลว"
"ธีรยุทธ" เชื่อว่าไม่มีทางออกในระยะใกล้ เพราะปัญหาฝังลึกมานาน ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าอีกฝ่ายจะล้มล้างหรือซ้ำเติมฝ่ายตน
และการขยายตัวของขั้วทักษิณ-รากหญ้า มีโอกาสทำให้เกิดการแตกร้าวระดับโครงสร้างและสถาบันมากขึ้น
เขาเชื่อว่าไม่มีใครสามารถพูดเพื่อลดความขัดแย้งได้ เพราะปัญหาลงลึกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีและฝังมาช้านาน เป็นอุดมการณ์พื้นฐานของแต่ละฝ่าย และ ที่จะเป็นปัญหาเสียหายร้ายแรงตามมาคือ แบ่งขั้ว แตกแยกขัดแย้งไปสู่สถาบัน ศาล และทหาร
สุดท้ายอาจเป็นเหมือนละตินอเมริกา ที่เกิดการรัฐประหารย่อยในกองทัพ
"ธีรยุทธ" เชื่อว่าสถานการณ์ประเทศไทยต่อจากนี้ อาจเกิดความรุนแรงเป็นระลอกๆ ปลายปี 2555 ถ้าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ จะลงประชามติ
"จะมีฝ่ายไม่ยอมลงประชามติ ไปรณรงค์ไม่ยอมรับ ชุมนุมประท้วง ฝ่ายรัฐก็ไม่สามารถใช้กำลังไหนไปควบคุม ก็จะมีมวลชนออกมาผลักดันในสิ่งที่ตัวเองสนับสนุน นี่คือปัญหา แต่ถ้าเกิดความรุนแรงย่อยๆ แล้วจะมีต่อ ครั้งที่ 2-3 แต่ถ้ามีรัฐประหาร ประเทศจะพังแบบเด็ดขาด ดังนั้น ใครคิดก็อย่าคิดทำ"
เป็นการส่งสัญญาณปราม "กองทัพ" อย่างตรงไปตรงมา
แม้ในคำแถลงของ "ธีรยุทธ" จะไม่มีการประดิษฐ์คำ ซึ่งเป็น "เอกลักษณ์" ของเขา แต่ในช่วงการตอบคำถามสื่อมวลชน เขาก็เสนอ "วาทกรรม" ใหม่
"ธีรยุทธ" บอกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ น่าจะไปเยี่ยมคนต่างจังหวัดมากๆ เพราะคนต่างจังหวัดชอบที่แต่งตัวสวยและเชื่อว่าจะติด 1 ใน 10 ผู้นำสตรีที่แต่งตัวดีที่สุดในโลก
"เป็นโฟโต้จีนิก คือ ถ่ายรูปขึ้น"
ส่วน "อภิสิทธิ์" นั้น เขาตั้งฉายาว่า "มาร์กเมาอู้" คือพูดกับชาวบ้านไปเรื่อย และเสนอว่าควรเจาะประเด็นลึกๆ จะดีกว่า
พร้อมกับเสนอว่า ให้ "ทักษิณ" กลับมารับโทษก่อน
"ส่วนตัวผม อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน พ.ต.ท.ทักษิณเคยท้าผมผ่านสื่อ ว่าท่านจะหลุดจากอำนาจก่อน หรือเสื้อกั๊กจะขาดก่อนกัน ปรากฏว่าท่านออกนอกประเทศมา 6 ปีแล้ว แต่เสื้อกั๊กผมก็ขาดแล้ว 2 รู ถือว่าเจ๊ากัน อยากให้กลับ เพราะถ้ากลับมารับโทษ หาทางสู้คดี กลับมาสารภาพอย่างลูกผู้ชาย ว่าผิด และมาทำเรื่องขอเงินคืนส่วนหนึ่ง เพราะบางส่วนคิดว่าเป็นของเขา บางฝ่ายอยากให้มีนิรโทษกรรม ผมยินดีช่วยนะ ถ้าท่านกลับมารับโทษก่อน"
จบคำแถลงของ "ธีรยุทธ"
"อภิสิทธิ์" นั้น ออกมาตอบโต้ทันทีแบบเบาๆ
เขาอธิบายเหตุผลว่าเหตุที่ต้องวิจารณ์รัฐบาลทุกเรื่อง เพราะการเมืองไทยนั้น ถ้าอีกฝ่ายพูดบ่อยๆ คนก็จะเชื่อ
แต่สิ่งที่ "อภิสิทธิ์" รีบตะครุบทันทีก็คือ เรื่องก๊ก "โจโฉ" คนเลว จะชนะก๊ก "คนดี" เล่าปี่-ขงเบ้ง
เพราะเป็นเหตุผลที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ดูดีขึ้น แม้จะพ่ายแพ้
ส่วนทางด้าน "นพดล ปัทมะ" ก็ออกมาตอบโต้เช่นกัน
เขาเล่นประเด็นเรื่องที่ "ธีรยุทธ" จงใจไม่พูดถึงเลย คือ เรื่องการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การทำลายหลักนิติธรรมและการแทรกแซงกระบวนการตัดสินของฝ่ายตุลาการอย่างเปิดเผย
และยังระบุด้วยว่าข้อสรุปของนายธีรยุทธ หมิ่นเหม่ และเข้าข่ายการใส่ร้ายป้ายสี และเป็นการหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งนักวิชาการที่มีมาตรฐานไม่พึงกระทำ อาจทำให้นายธีรยุทธถูกมองว่าเป็นขาประจำที่มาตามนัดเพื่อฟัด พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น
แต่โดยสรุปแล้ว การตอบโต้ "ธีรยุทธ" ครั้งนี้ ถือว่าค่อนข้างเบา
ส่วนหนึ่งเพราะบทวิเคราะห์ของ "นักวิชาการเสื้อกั๊ก" ครั้งนี้ ถือว่า "ใช้ได้"
มองการเมืองไทยอย่างเป็นระบบ และนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ
ที่สำคัญ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพื่อไทย และ "ทักษิณ" ไม่หนักหนาสาหัสนัก
แม้จะชัดเจนว่า "ธีรยุทธ" มอง "ทักษิณ" ในด้านลบเหมือนเดิม
แต่ความรุนแรงของคำวิจารณ์อยู่ในระดับรับได้
ในทางการตลาด นี่คือการเปิดตัวของ "ธีรยุทธ" ที่ประสบความสำเร็จสูงมาก
เพราะนอกจากจะยึดพื้นที่ข่าวได้แล้ว
การยอมรับความเป็นจริงของ "คนเสื้อแดง" และวิจารณ์รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ไม่แรงนัก
ในขณะที่แตะ "อภิสิทธิ์" บ้าง
ทำให้ภาพของ "ธีรยุทธ" ดู "เป็นกลาง" ขึ้น
หลังจากถูกวิจารณ์หนัก ว่า "เลือกปฏิบัติ" เพราะไม่เคยวิจารณ์รัฐบาล "อภิสิทธิ์" เลย
เมื่อดึงความรู้สึกของสังคมให้รู้สึกว่า "เป็นกลาง" แล้ว
น่าจับตามองว่าการแถลงข่าวของ "ธีรยุทธ" ครั้งต่อไป
จะรุนแรงกว่าครั้งแรกนี้หรือไม่
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย