http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-07

การก่อการร้ายในเมือง : โจทย์ความมั่นคงใหม่! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

การก่อการร้ายในเมือง : โจทย์ความมั่นคงใหม่!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 36


"การก่อการร้ายนั้นเก่าแก่
เท่าๆ กับประวัติศาสตร์เลยทีเดียว"
Martin van Creveld
The Changing Face of War


กล่าวเตือน

สังคมไทยอาจจะโชคดีกว่าหลายๆ ประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาที่ไม่ต้องเผชิญกับการก่อการร้าย...ว่าที่จริงแล้วบางทีอาจจะต้องยอมรับว่า สังคมไทยแทบไม่เคยต้องเผชิญกับการก่อการร้ายจริงๆ เท่าใดนัก
ในสภาพเช่นนี้ทำให้ต้องยอมรับว่า การก่อการร้ายเป็นประเด็นความมั่นคงที่เรามีประสบการณ์ในการต่อสู้ไม่มาก

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ ในระยะที่ผ่านมา เป็น "สัญญาณเตือนภัย" ที่ชัดเจนว่า ทั้งรัฐบาลและสังคมไทยอาจจะต้องหันมาสนใจกับปัญหาการก่อการร้ายอย่างจริงจังแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมมาตรการในการรับมือปัญหาความรุนแรงนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเมืองในอนาคต


กล่าวนำ

หลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายกับสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ได้มีการประเมินเป้าหมายการโจมตีที่ผู้ก่อการร้ายอาจจะกระทำอีกในอนาคต และยอมรับกันว่า "เมือง" เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่อาจจะถูกก่อการร้ายได้ง่าย

ซึ่งนายกเทศมนตรี Martin O"Mally ของเมืองบัลติมอร์ ถึงกับกล่าวว่า เมืองในสหรัฐอเมริกาจะเป็น "แนวรบที่สอง" ของสงครามก่อการร้าย

และเขายังตอกย้ำด้วยว่า "เมืองใหญ่น่าจะเป็นเป้าหมายหลักของการก่อการร้ายมากที่สุด"

การเป็นแนวรบที่สองของเมืองในสงครามเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะเมืองเป็นศูนย์กลางของประชาชน ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมประจำวันของชีวิตทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ

และที่สำคัญก็คือ เมืองเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันทางสังคมที่ดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่

ในสถานะเช่นนี้ การโจมตีเมืองไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการก่อวินาศกรรม การก่อการร้าย หรือการก่อเหตุรุนแรง จึงส่งผลในทางจิตวิทยาอย่างมากกับสังคมนั้นๆ

ดังจะเห็นได้จากผลที่เกิดขึ้นจากการโจมตีมหานครนิวยอร์กในกรณี 11 กันยายน (9/11)

และวันนี้อาจจะต้องยอมรับว่า กรุงเทพฯ ก็เผชิญกับปัญหานี้ไม่แตกต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆ ของโลก



Soft Target

แต่สำหรับผู้โจมตีแล้ว เมืองเป็นเป้าหมายที่น่าจูงใจในการก่อเหตุมากที่สุด เพราะเมืองโดยทั่วไปแล้วมีความเปราะบางคือเป็น "เป้าหมายอ่อน" (soft targets) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เมืองเป็นเป้าหมายที่ระวังป้องกันได้ยาก หรือเป็นเป้าหมายที่ไม่มีความแข็งแรงทนต่อการโจมตี

สภาพเช่นนี้จึงทำให้ผู้มุ่งประสงค์จะก่อเหตุรุนแรงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการทำลายล้าง หรือเหตุผลของการโฆษณาชวนเชื่อ การใช้ความรุนแรงกระทำกับตัวเมืองจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสงครามกองโจรในเมือง หรือการก่อการร้ายก็ตาม

ในสงครามใหม่เช่นนี้ ผู้ปฏิบัติงานในแนวรบที่สองจึงไม่ใช่เรื่องของทหารแบบในสงครามตามแบบ หากแต่เป็นผู้รักษากฎหมายในส่วนต่างๆ พนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย หน่วยแพทย์และพยาบาล (หน่วยฉุกเฉินทางการแพทย์) ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

และที่สำคัญก็คือ บทบาทของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าว ซึ่งจะเป็นผู้เก็บข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนสังคมให้เตรียมรับกับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น


เรื่องราวเช่นนี้อาจจะเป็นประเด็นที่มีการตระเตรียมอยู่แล้วในสังคมตะวันตก เช่น หลายๆ สังคมในยุโรปล้วนแต่เคยมีประสบการณ์กับการก่อการร้ายภายในของตนเองมาก่อน หรือสังคมอเมริกาเองก็มีประสบการณ์ใหญ่จากกรณี 9/11 จนต้องมีการปรับระบบเมืองเพื่อรองรับกับสถานการณ์ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ในความเป็นเมืองของไทย ดูเหมือนเราจะให้ความสนใจกับเรื่องพวกนี้ไม่มากนัก

ด้านหนึ่ง เป็นเพราะสังคมไทยโดยทั่วไปไม่มีประสบการณ์กับเรื่องของความรุนแรงในเมือง ไม่ว่าจะในลักษณะของสงครามกองโจรในเมือง หรือการก่อการร้ายในเมืองก็ตาม

อีกด้านหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะความเชื่อว่าไทยไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งใหญ่ของโลก เมืองของไทยก็ไม่น่าจะตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากการก่อการร้ายระหว่างประเทศแต่อย่างใด

เราอาจจะไม่ค่อยยอมรับรู้ถึงสถานการณ์ระหว่างประเทศว่า การเลือกเป้าหมายการโจมตีอาจจะไม่เกี่ยวกับว่าประเทศไทยอยู่ในความขัดแย้งนั้นหรือไม่ หากแต่เกิดจากการแสวงหาเป้าหมายที่สามารถก่อเหตุได้ง่ายที่สุด พร้อมๆ กับการขยายตัวของปัญหาที่เป็นการก่อการร้ายในระดับโลก!

แต่บทเรียนจากปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากปี 2547 เป็นต้นมา ประกอบกับสถานการณ์ของการวางระเบิดในเมืองไม่ว่าจะเป็นในกรณีของกรุงเทพฯ หรือหาดใหญ่ในอดีต จนถึงสถานการณ์กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ทำให้การคิดทบทวนในเรื่องของการบริหารจัดการเมืองภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงเป็นหัวข้อสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับอนาคต

ฉะนั้น การปกป้องเมืองจากการคุกคามของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ จึงเป็นหนึ่งในวาระความมั่นคงไทยที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



มาตรการ

ดังนั้น หากพิจารณาความเป็นเมือง เมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงแล้ว ก็น่าจะต้องคิดสร้างมาตรการที่สำคัญๆ ได้แก่

1) สร้างระบบงานที่สามารถครอบคลุมระบบของเมือง

ในความเป็นเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน การจัดทำแผนเผชิญเหตุจึงต้องสามารถครอบคลุมหน่วยงานต่างๆ ที่สำคัญ และในบางกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะอยู่นอกเหนือเขตอำนาจทางกฎหมาย (jurisdiction) ของหน่วยงาน เช่น การขนส่งอาวุธหรือวัตถุระเบิดข้ามจากพื้นที่หนึ่งมาสู่พื้นที่ก่อเหตุ อาจจะผ่านเขตอำนาจทางกฎหมายของผู้รับผิดชอบที่ต่างกัน

ดังนั้น จึงต้องจัดระบบของการประสานงาน เช่น การกำหนดตัวบุคคล/ตำแหน่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบบของการส่งและประสานข้อมูลข้ามหน่วย หรือข้ามจากภาครัฐไปสู่องค์กรของภาคเอกชน

ตลอดจนสร้างระบบการฝึกซ้อมเพื่อให้เกิดความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมการในเรื่องทางการแพทย์เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

2) สร้างเมืองให้เข้มแข็ง

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เมืองมีความเป็น "เป้าหมายอ่อน" ในตัวเอง ดังนั้นจะต้องสร้างระบบรองรับที่จะช่วยให้เมืองมีความเป็น "เป้าหมายแข็ง" (hard targets) มากขึ้น เพราะเป้าหมายที่สามารถถูกก่อการร้ายจะพบได้ทั่วไปในพื้นที่เขตเมือง ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ โรงแรม ศูนย์การค้า สถานีขนส่ง หรือแม้กระทั่งปั้มน้ำมัน เป็นต้น

ดังนั้น การติดตั้งระบบของการเฝ้าตรวจเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด และระบบของการเฝ้าตรวจจะต้องได้รับการปฏิบัติทันที เมื่อมีสิ่งบอกเหตุผิดปกติขึ้น

แม้ระบบของการเฝ้าตรวจอาจจะป้องปรามการก่อเหตุร้ายไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เป้าหมายมีความเข้มแข็งมากขึ้น

3) สร้างระบบคุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน

ในการเข้าไปจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น การระเบิด หรือการแพร่กระจายของสารเคมีที่เกิดโดยการก่อการร้าย อาจทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติงานของฝ่ายรัฐได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ หรือชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด เป็นต้น

ดังนั้น จะต้องคิดค้นหามาตรการในการคุ้มครองบุคลากรเหล่านี้ ทั้งในช่วงของการปฏิบัติหน้าที่ หรือผลร้ายที่เกิดจากการปฏิบัติดังกล่าว

4) สร้างการสื่อสารกับประชาชน

ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น การให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก

จะคิดง่ายๆ ว่า ควรจะปิดข่าวที่เกิดขึ้นไว้ เพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่เกิดอาการวิตกจริต (panic) จนกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลลบแก่รัฐบาลมากกว่า เพราะการให้ข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน น่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้

การจัดเตรียมระบบและการกำหนดหน่วยงานและตัวบุคคลในการให้ข่าวสารแก่สาธารณชน จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดความกังวลเกินกว่าเหตุในสังคม

5) สร้างระบบสื่อสารระหว่างหน่วยงาน

เมื่อต้องเตรียมรับมือกับความรุนแรง หน่วยงานระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ หรือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนจะต้องมีระบบของการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน (interoperable communications) เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการไหลของข้อมูลแล้ว ยังจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน เช่น ในบางกรณีเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะต้องขอให้บริษัทเอกชนหยุดระบบการขนส่งของตน ก็จะต้องทำให้เอกชนเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

6) สร้างการมีส่วนร่วมของการตัดสินใจ

การตัดสินใจของฝ่ายรัฐในบางเหตุการณ์ต้องการความเข้าใจและการสนับสนุนจากภาคเอกชน เช่น การตัดสินใจหยุดระบบขนส่งไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศ อาจจะต้องให้เอกชนที่เป็นเจ้าของธุรกิจดังกล่าวมีส่วนร่วมในการรับรู้และตัดสินใจ เพราะการขาดข้อมูลในบางครั้งอาจทำให้ภาคเอกชนไม่ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และมองว่าการตัดสินใจของภาครัฐนำมาซึ่งความเสียหายทางธุรกิจได้

7) สร้างระบบการบริหารงานฉุกเฉินในพื้นที่

โดยทั่วไปแล้ว การมีแผนเผชิญเหตุในระดับประเทศเป็นเรื่องปกติ แต่การทำแผนเช่นนี้ในระดับท้องถิ่นหรือในระดับของพื้นที่แต่ละส่วนมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องรอการสั่งการจากหน่วยระดับบนเสมอไป กล่าวคือจะทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เกิดเหตุโดยตรงสามารถปฏิบัติงานได้ทันที



ปัญหาในอนาคต

ประเด็นที่กล่าวมาแล้วนี้ อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การจะทำให้สังคมสามารถดำรงอยู่ได้อย่างปลอดภัย หรือประสบกับความเสียหายให้น้อยที่สุดนั้น จะคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นเรื่องที่หน่วยข่าวกรองจะต้องคอยเป็นผู้แจ้งเตือนให้กับเราทุกครั้งเสมอไปไม่ได้

หากแต่น่าจะถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยในสถานการณ์ปัจจุบันควรจะต้องสร้างระบบของการป้องกันตัวเองให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะไม่มีหลักประกันในอนาคตเลยว่าสังคมไทยจะไม่ถูกท้าทายจากความรุนแรง!



.