.
รายงานพิเศษ - ปลุกทหารพันธุ์ใหม่ "ราชวัลลภ-ทม." สู้ บูรพาพยัคฆ์-ทหารเสือฯ เมื่อ "บิ๊กตู่" ลั่น "ชีวิตนี้ไม่เคยทำอะไรผิด"
คอลัมน์ โล่เงิน - คำมั่น "วินัย" ทำดีไม่ต้องวิ่งเต้น จัดเกรดโปรโมต "ช้างเผือก" "ไร้ผลงาน-เฉื่อยชา" คัดออก
______________________________________________________________________________________________________
วิเคราะห์ เกมรัฐสภา ผ่าน รายงานกรรมาธิการปรองดอง เอกภาพที่มีปัญหาฝ่ายค้าน
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 8
รัฐสภาเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของวันอังคารที่ 27 มีนาคม ตามที่กำหนด แต่กว่าจะนำญัตติเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ได้ก็เมื่อเวลา 16.50 น. ตามข้อเสนอของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในฐานะวิปรัฐบาล
และนั่นเท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการอภิปราย การประท้วง การอภิปราย อันดุเดือดและรุนแรง จนประธานต้องสั่งยุติการประชุมถึง 2 ครั้ง
ความวุ่นวายมิได้เป็นความวุ่นวายจากวาทกรรมอันคมคายของแต่ละฝ่ายเท่านั้น
หากแต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรายงานทั้งที่เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว. ในกลุ่ม 40 ต่างก็เข้ามารุมล้อมโดยรอบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
น่าสนใจก็ตรงที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตั้งรับด้วยความสงบ เยือกเย็นด้วยรอยยิ้ม
การประชุมภายหลังจากการยุติระยะสั้นๆ ถึง 2 คราวในเวลา 18.55 น. ท่ามกลางเสียงโห่ร้องจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ชี้แจงยาวเหยียด
กระนั้น ไฮไลต์ของการประชุมก็เข้าสู่จุดขมวดอย่างเข้มข้นเมื่อผ่านการอภิปรายมาพอสมควร 21.20 น. ประธานสั่งให้ลงมติ
ญัตติที่เสนอโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน
ปรากฏผลออกมาว่า ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบด้วย 173 เสียง ไม่เห็นชอบ 346 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
ญัตติที่เสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ให้เลื่อนรายงานขึ้นมาพิจารณาก่อน
ปรากฏผลออกมาว่า ที่ประชุมเห็นด้วย 348 เสียง ไม่เห็นชอบ 163 เสียง และงดออกเสียง 12 เสียง
เป็นอันว่าญัตติของ นพ.น่าน ศรีแก้ว ชนะ
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ พรรคประชาธิปัตย์มีเสียงโดยพื้นฐาน 159 เสียง ที่ได้มา 173 เสียง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน นั่นคือ จากพรรคภูมิใจไทย และอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
นั่นคือ ได้เพิ่มมา 14 เสียง
ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงโดยพื้นฐาน 300 เสียง ที่ได้มา 348 เสียงสะท้อนให้เห็นว่า 48 เสียง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการลงคะแนนให้ของพรรคฝ่ายค้าน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการลงคะแนนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
สะท้อนให้เห็นว่าภายในพรรคฝ่ายค้านมีเสียงแตก สะท้อนให้เห็นว่าภายในสมาชิกวุฒิสภาเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการมากกว่าเห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์
ปมเงื่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องขบคิดและพิจารณาอย่างหนักภายหลังจากสถานการณ์ทั้งการลงมติในเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการลงมติในเรื่องของคณะกรรมาธิการปรองดอง
เป็นเรื่องของเสียงภายในฝ่ายค้าน
แท้จริงแล้ว ในเมื่อรัฐบาลมีเสียงโดยพื้นฐาน 300 เสียง ที่ได้เพิ่มขึ้นมาแสดงว่ารัฐบาลได้รับการสนับสนุนมากกว่านั้น
เป็นเสียงอันได้มาจากภายในพรรคร่วมฝ่ายค้าน และเป็นเสียงอันได้มาจากบรรดาสมาชิกวุฒิสภา
สะท้อนความไม่เป็นเอกภาพภายในฝ่ายค้าน สะท้อนความไม่แข็งแกร่งของกลุ่ม 40 ส.ว.
++
คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 8
หากไม่มีประเด็น "การเมือง" มาเป็นอุปสรรค ทั้งปมปรองดอง-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปรับคณะรัฐมนตรี เชื่อว่า "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะนำพารัฐนาวา "ปู" ไปได้ยาวนานทีเดียว ในช่วง 2-3 เดือนหลัง มี "สัญญาณพิเศษ" บอกเหตุได้เด่นชัดดูดียิ่ง
ภาพลักษณ์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นช่วงนำคณะไปเยือนญี่ปุ่น หรือล่าสุด เกาหลีใต้ ร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ปี 2555 ร่วมกับผู้นำจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 53 ประเทศ ทั้ง สหรัฐ-จีน-รัสเซีย-อินเดีย ร่วมกับ 4 องค์กร คือ สหประชาชาติ ทบวงปรมาณูเพื่อสันติ ตำรวจสากล สหภาพยุโรป "โกอินเตอร์" เร็วกว่าที่คาดหมาย
หลังจากเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ "ยิ่งลักษณ์" มีภารกิจใหญ่อีกงาน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม World Economic Forum on East Asia ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2555
กับการเดินหน้าสานต่อ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ที่ตกลงจะตั้งให้แล้วเสร็จจากกำหนดเดิม ปี 2015 เร่งให้เร็วขึ้น
"ประชาคมอาเซียน" ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน-ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน-ประชาคมและวัฒนธรรม
มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอยู่อย่างสันติสุข ยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน มุ่งหมายให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเห็นชอบร่วมกันให้เร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญจำนวน 11 สาขานำร่อง เช่น สินค้าเกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ยางพารา สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพ การท่องเที่ยว และการขนส่งทางอากาศ
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก ซึ่งนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงต้องขยายการค้าและการลงทุนทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคให้สูงขึ้น สร้างอำนาจต่อรองของอาเซียนในเวทีโลก เพื่อลดอุปสรรคทางภาษี และมิใช่ภาษีต่างๆ ลง ตลอดถึงพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขึ้น
เนื่องจากอาเซียนเป็นตลาดที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการเจริญเติบโต มีประชากรรวมกันกว่า 550 ล้านคน
ประเทศไทย มีความได้เปรียบในสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อยู่จุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน มีเขตแดนที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก คือ สิงคโปร์-มาเลเซีย-ลาว-กัมพชา-พม่า จึงได้ประโยชน์สูง หากเร่งให้ "ประชาคมอาเซียน" สำเร็จรวดเร็ว "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี จึงเดินหน้าขับเคลื่อนเต็มสูบ
เพราะประเมินว่า หากบรรลุ กลุ่มทุนและบุคลากรต่างชาติ จะแห่มาเมืองไทยจำนวนมหาศาล จึงวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า
ขณะที่การบริหาร-จัดการนโยบาย ก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดหย่อน แต่พอเหลียวหลังมาดู "การเมือง" ถือว่าล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศค่อนข้างสำคัญทีเดียว
ฟาก "นิติบัญญัติ" จะเป็นตัวแปรให้การบริหารสะดุด
หลังจากมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ โดยเน้นไปที่มาตรา 291 เพื่อเปิดประเด็นการสรรหา ส.ส.ร.99 คน ที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งมาเป็นผู้แก้ไข
แม้ว่าเกมแก้รัฐธรรมนูญ "50 จะเดินหน้าไปเรียบร้อยแล้ว แต่พลันที่ผ่านสภา กลิ่นแปลกๆ ในทางการเมืองกลับโชยออกมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะข่าว "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" ที่หายออกจากสารบบอยู่ระยะหนึ่ง ก็กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง "กูรู" หลายรายดาหน้าออกมาฟันธง
หรือกรณีล่าสุด การ "ถามตรง" ของ "พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์" ต่อหน้าธารกำนัลน้อยใหญ่ กับ "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
ในฐานะ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ล้มล้าง "ระบอบทักษิณ"
ให้ตอบประเด็นว่า การปฏิวัตินั้น มีผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ-อำมาตย์ จริงหรือไม่ หรือปฏิบัติภารกิจคนเดียว ทั้งนี้ เมื่อได้คำตอบจริง ก็สามารถรุกคืบเข้าสู่การปรองดองได้ถูกต้อง จนล่าสุด "แผนปรองดอง" ได้สร้างความโกลาหลอลหม่านขึ้นในการประชุมรัฐสภา "กรรมาธิการ" สายประชาธิปัตย์ ยกทีมลาออกทั้งหมด เพราะไม่เห็นด้วยกับการรวบรัดเสนอแผนปรองดองเข้าสู่การพิจารณาในตอนนี้
ดังที่บอก ซีกบริหาร คือ "ยิ่งลักษณ์" ขยับทำแต้มนำห่างพรรคประชาธิปัตย์ออกไปรวดเร็ว แต่ "นิติบัญญัติ" กลับกระชากลากขาไว้ และ "กลิ่นปฏิวัติ" ก็เริ่มโชยลมออกมาอย่างต่อเนื่อง
สรุปแล้ว "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" กับประเทศไทย เสมือนกับเกมผูกขาด คู่กันตลอดกาล นับเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา แค่ 55 ปี มีปฏิวัติ-ยึดอำนาจถี่ยิบ
เริ่มจาก 16 กันยายน 2500 "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" ยึดอำนาจ "จอมพล ป.พิบูลสงคราม"
20 ตุลาคม 2501 "จอมพลสฤษดิ์" คนเดิม ปฏิวัติรัฐบาล "จอมพลถนอม กิตติขจร"
17 พฤศจิกายน 2514 คราวนี้ "จอมพลถนอม" ปฏิวัติและยึดอำนาจรัฐบาลตัวเอง
6 ตุลาคม 2519 "พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่" ยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง "ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช" 26 มีนาคม 2520 "พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ" ปฏิวัติรัฐบาล "ธานินทร์ กรัยวิเชียร" แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏ 20 ตุลาคม 2520 "พล.ร.อ.สงัด" เจ้าเก่า รัฐประหารรัฐบาล "ธานินทร์ กรัยวิเชียร"
1 เมษายน 2526 "พล.อ.สัญห์ จิตรปฏิมา" นำคณะยังเติร์ก หรือ จปร.7 ปฏิวัติรัฐบาล "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" แต่ไม่สำเร็จ 9 กันยายน 2528 "พ.อ.มนูญ รูปขจร" ก่อความไม่สงบ รัฐบาล "พล.อ.เปรม" แต่ไม่สำเร็จ
23 กุมภาพันธ์ 2534 "พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์" ปฏิวัติ รัฐบาล "พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" 19 กันยายน 2549" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" ปฏิวัติ ยึดอำนาจรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร"
ปี 2555-2556 แม้โลกจะเปลี่ยนแปลง เดินหน้าไปไกล แต่ "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" ในประเทศไทย ยังไว้วางใจไม่ได้
+++
ปลุกทหารพันธุ์ใหม่ "ราชวัลลภ-ทม." สู้ บูรพาพยัคฆ์-ทหารเสือฯ เมื่อ "บิ๊กตู่" ลั่น "ชีวิตนี้ไม่เคยทำอะไรผิด"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 14
หลังจากที่ปล่อยให้ บูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินี จาก พล.ร.2 รอ. ต่อแถวกันครองกองทัพบก มายาวนานตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 เรื่อยมา จนทำให้บรรดาทหารวงศ์เทวัญ ที่เติบโตจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ที่เคยครองอำนาจใน ทบ. มายาวนาน ถูกดองและข้ามหัว
จนผลักไสให้วงศ์เทวัญบางส่วนกลายพันธุ์ไปเป็นทหารแตงโม เพราะต้องการล้มรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพราะหวังว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยได้อำนาจรัฐ ก็จะคืนความชอบธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร ให้พวกเขา หรืออย่างน้อยก็ให้ยุติธรรมมากขึ้น
จึงมีการรวมกลุ่มปลุกกระแส ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (ทม.) และทหารราชวัลลภ ซึ่งถือเป็นทหารที่อยู่ในวงศ์เทวัญ เพราะทั้ง กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) และ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)
แม้ว่าปัจจุบัน ชื่อ ทม. จะใช้เรียกสำหรับทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ หรือ 904 เท่านั้น จากที่แต่ก่อนเคยใช้เรียกขาน ทหารของ ร.1 รอ. เรื่อยมาจนเรียกแค่ ร.1 พัน 4 รอ. เท่านั้นก็ตาม
แต่ก็เป็นที่ภาคภูมิใจของพวกเขาที่เป็นทหารของพระราชาตัวจริง เพราะโดยหน้าที่จะต้องดูแลถวายอารักขาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทหารเสือราชินี นั้น ถวายอารักขาเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ในระยะหลัง บทบาทของทหารราชวัลลภ ในทางการเมืองในกองทัพบก ในนามทหารวงศ์เทวัญ ลดน้อยลง เพราะไม่ได้คุมอำนาจ ตั้งแต่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ทบ. เรื่อยมา จนมาในยุค บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. จนมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนมายุค บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. ที่บูรพาพยัคฆ์ครองเมือง
ในกองทัพบก รู้กันดีว่า มีการวางทายาทอำนาจของ 3 ป. ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์ ระยะยาว ตั้งแต่การดัน บิ๊กโด่ง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ที่จะขึ้น พลเอก ห้าเสือ ทบ. ในการโยกย้ายกันยายน ปี 2555 นี้ เพื่อจ่อเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเกษียณกันยายน 2557
พล.ท.อุดมเดช แกนนำ ตท.14 ถือเป็น ทหารเสือราชินี ที่ครบเครื่องทั้งลักษณะทหาร รูปร่างหน้าตา เส้นทางเดินในสายคอมแมนด์ และความเป็นผู้นำ
แม้จะในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อ พล.ท.อุดมเดช เนื่องจากเขาก็แสดงความเป็นทหารอาชีพ เป็นกลไกของรัฐบาล ในการทำงาน และเข้ากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นอย่างดี เพราะเธอก็รู้ว่า พล.ท.อุดมเดช เป็นใคร
มีการวางตัวต่อกันไว้ ด้วยว่า ต่อจาก พล.ท.อุดมเดช ที่เกษียณ 2558 ก็จะต่อด้วย บิ๊กอิ๊ด พล.ต.ภาณุวัชร นาควงษม์ ผบ.พล.ร.9 แกนนำ ตท.17 ที่มีอายุราชการถึงปี 2561 และเป็นบูรพาพยัคฆ์ และต่อด้วย บิ๊กเข้ พล.ต.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผบ.พล.ร.2 รอ. น้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ แกนนำ ตท.18 ที่มีอายุราชการถึงปี 2562
และต่อด้วย ตู่น้อย พ.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. แกนนำ ตท.20 ยังเติร์กแห่ง ทบ.
แต่ก็เม้าธ์กันว่า ในหมู่บูรพาพยัคฆ์ด้วยกันเองก็ต้องแย่งชิงกันเองด้วยเหมือนกัน เช่น พล.ต.ภาณุวัชร กับ พล.ต.เทพพงศ์ เนื่องจากมีอายุราชการใกล้เคียงกัน
อีกทั้งก่อนหน้านี้ พล.ต.ภาณุวัชร เคยถูกเด้งจาก รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. ไปเป็น ผบ.มทบ.11 เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.เทพพงศ์ น้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. มาแล้ว ทั้งๆ ที่ พล.ต.ภาณุวัชร อาวุโสกว่า แต่กลับไม่ได้ขึ้น ผบ.พล.ร.2 รอ. บ้านเกิด
ส่วนฝ่ายวงศ์เทวัญ จะดันตัวแทนขึ้นชิงความชอบธรรม ทั้ง บิ๊กอ๋อย พล.ท.จิระเดช โมกขะสมิต รอง เสธ.ทบ. แกนนำ ตท.13 ที่มีอายุราชการถึงปี 2557 หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จากคดีเสื้อแดงกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะ พล.ท.จิระเดช ถือเป็นหัวแถวของวงศ์เทวัญ โดยเฉพาะการเป็น ทม. และทหารราชวัลลภ
เช่นเดียวกับ บิ๊กต๊อก พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่จะจ่อชิงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 ที่ก็เคยเป็นทั้ง ผบ.ร.11 รอ. และ ผบ.ร.1 รอ. ที่ต้องชิงกับ บิ๊กอู๊ด พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อนร่วมรุ่น ตท.15 ทายาทบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือฯ ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ วางตัวให้เป็นเต็งหนึ่งแม่ทัพภาคที่ 1 โดยทั้งคู่เป็น ตท.15 ที่มีอายุราชการถึง 2559 เหมือนกัน
ตัวแทนวงศ์เทวัญ และทหารราชวัลลภ ที่ต้องจับตามองคือ บิ๊กโชย พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เตรียมทหาร 16 อดีต ผบ.ร.31 รอ. ที่มีอายุราชการถึงปี 2560 และ บิ๊กแกะ พล.ต.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผบ.พล.1 รอ. แกนนำ ตท.17 ที่มีอายุราชการถึงปี 2560 ที่ก็มีเลือดผสมของบูรพาพยัคฆ์อีกด้วย ที่ต้องจับตามองว่า บูรพาพยัคฆ์ หรือทหารราชวัลลภ จะเข้าเส้นชัย
เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะดันนายทหารในสายบูรพาพยัคฆ์ เพราะว่ารู้จักสนิทสนมเติบโตด้วยกันมา ขึ้นสู่อำนาจ เพราะเขามองว่า พวกวงศ์เทวัญ และราชวัลลภ นั้น ส่วนใหญ่เป็นสายอำนาจเก่าของ ตท.10 ในสายของ บิ๊กโอ๋ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต เพื่อนซี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
แต่ทว่า พล.อ.พฤณท์ ก็ถือเป็นความหวังของวงศ์เทวัญ และราชวัลลภ ที่จะกลับมาแชร์อำนาจใน ทบ. เพราะในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.กลาโหม ก็น่าจะต่อรองได้บ้าง
โดยเฉพาะหากเมื่อ พล.อ.พฤณท์ ขึ้นเป็น รมว.กลาโหม ในอนาคตอันใกล้ พวกเขาก็จะมีความหวัง เพราะเขารู้กันดีว่า พล.อ.พฤณท์ นอกจากเป็นเพื่อนซี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว ยังจะเป็น "ว่าที่พ่อตา" ของ โอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกด้วย
แต่ทว่า ในการโยกย้ายกลางปีนี้ ไม่ปรากฏว่าฝ่ายการเมืองแทรกแซงหรือต่อรองตำแหน่งใดๆ ได้
จะเห็นได้ว่าโผทหารกลางปีนี้ ก็มีปฏิบัติการโผหลุดอีกครั้ง เนื่องจากมีการส่งให้ ผบ.เหล่าทัพ ลงนามท้ายคำสั่ง จึงทำให้มีการรั่วไหล แม้ว่าจะเป็นการเอาไว้ดูกัน แต่ทว่าก็เป็นการป้องกันการถูกแก้ไขล้วงลูกโผจากฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะ พล.อ.อ.สุกำพล รมว.กลาโหม อีกครั้ง หลังจากที่เคยทำมาแล้ว เมื่อโยกย้ายกันยายน 2554 ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแรกๆ โดยมี บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็น รมว.กลาโหม คนแรก
แต่ทว่า โผที่หลุดนั้นมีการแจกจ่ายกันเฉพาะในกองทัพบก แต่ไม่มีในกองทัพเรือและกองทัพอากาศ อันเป็นการสะท้อนเรื่องระเบียบวินัยของทหารได้ไม่น้อย
แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แฮปปี้ในโผนี้ กับข่าวที่ว่า เขาจะดันเพื่อน ตท.12 ขึ้นมาเป็นแผงอำนาจ แล้วดัน ตท.13 ออกไป เช่น การดัน บิ๊กนมชง พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รอง เสธ.ทบ. ขึ้นเป็น เสธ.ทบ. แทน บิ๊กบี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล แห่ง ตท.13 ที่ทำงานไม่เข้าขา ในการโยกย้ายปลายปีนี้ จนเขาต้องเอ่ยปากแจงกลางที่ประชุมว่า ไม่เคยคิดเช่นนั้น
แต่ในโยกย้ายกลางปี พล.อ.ประยุทธ์ นั้นร้อนไม่น้อยกับเสียงวิจารณ์ที่ว่า เขาจะดัน บิ๊กติ๊ก พล.ต.ปรีชา จันทร์โอชา รองแม่ทัพภาคที่ 3 น้องชายแท้ๆ ให้ขึ้นพลโท เป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 ทั้งๆ ที่ พล.ต.ปรีชา ต้องนั่งที่เดิมต่อไป เพราะต้องให้ พล.ต.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 ตท.14 รุ่นพี่ ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 ก่อน เพราะเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 ก่อน
ถึงขั้นที่เขาต้องพูดในที่ประชุมมอร์นิ่งบริ๊ฟของ ทบ. เพื่อชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมโยนให้เป็นความผิดของสื่อที่ต้องการโจมตีตนเอง
และพร่ำย้ำเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง เพราะเขาไม่ต้องการให้เป็นตราบาปในชีวิตของตนเองและตระกูล จันทร์โอชา ซึ่งก็ถือว่าเป็นตระกูลทหาร
พล.อ.ประยุทธ์ ขอร้องสื่ออย่าเขียนเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ว่า ตนเองพยายามจะผลักดันให้น้องชายเป็นแม่ทัพน้อยที่ 3
"คุณไม่รู้หรอกว่าผมคิดอะไร การแต่งตั้งโยกย้ายไม่มีใครกดดันผม แต่ผมมีคุณธรรม เพราะรู้ว่ายังไม่ถึงเวลาของน้องชายผม ผมไม่เคยทำอะไรที่ผิดตลอดชีวิตของผม เพราะฉะนั้น อย่าสร้างความผิดพลาดให้กับกองทัพบกของผม เพราะมันจะอันตรายมาก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ยิ่งเมื่อมีการปลุกกระแสเรื่อง คมช.2 หรือการปฏิวัติรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยิ่งรำคาญใจ จนตำหนิสื่ออย่างรุนแรงว่า "สมองกลวง" ที่เสนอข่าวคำพูดของฝ่ายตรงข้าม จนทำให้กระแสปฏิวัติกลับมาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์กับรัฐบาลและโดยเฉพาะกับนายกรัฐมนตรีหญิง กำลังไปได้ด้วยดี
ยิ่งเมื่อ "ลับลวงพราง ภาค 5" เปิดคำทำนาย โหร วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ อดีตโหร คมช. แห่งล้านนา ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในชาติปางก่อนที่เกิดเป็นทหารเอกพระองค์ดำหรือพระนเรศวรมหาราช ที่จะได้นำกู้ชาติ
แม้โหรวารินทร์ จะไม่ได้ระบุว่า จะได้กู้ชาติได้รูปแบบใด จะเป็นการปฏิวัติ หรือการกู้ชาติอย่างสงบ แต่ในยามนี้ ก็แนะนำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเป็น "ผบ.ทบ.คู่บุญ" ของนายกรัฐมนตรีหญิงไปก่อน ประมาณว่า จนกว่าฐานบุญของนายกรัฐมนตรีหญิงคนนี้จะหมด
เพราะโดยส่วนตัวนั้น พล.อ.ประยุทธ์ มีความเคารพนับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างมาก เพราะเขาเองก็มีคนเคยกระซิบว่า เขาเป็นนายทหารที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ส่งมาเกิด เพื่อมากู้ชาติ
"เมื่อใกล้ถึงเวลาแล้ว ผมจะบอก" โหรวารินทร์ เปรย
ท่ามกลางความเชื่อที่ว่า การกู้ชาติ อาจจะหมายถึงการปฏิวัติ เฉกเช่นที่โหรวารินทร์ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาด้านไสยศาสตร์ของ บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตอนเป็น ผบ.ทบ. ก่อนการปฏิวัติบอกว่า เขาเป็นทหารเอกพระเจ้าตากสิน ที่จะได้กู้ชาติ และเห็นภาพ พล.อ.สนธิ นำปฏิวัติ
แต่ทว่าในยุคนี้ โหรวารินทร์ ยังไม่เห็นภาพนั้นของ พล.อ.ประยุทธ์
แต่สำหรับ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่วันนี้ย้ายมาอยู่ฝั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ จากที่เมื่อ 19 กันยายน นั้นเขาเป็นตัวแทนของ พล.อ.สนธิ ไปประชุมร่วมกับองคมนตรีและประธานศาล และนักวิชาการรวม 7 คน ที่บ้านคนดัง "ป." ย่านสุขุมวิท ยังเชื่อว่า อาจจะมี คมช.2 เกิดขึ้นอีก
"ก็เพราะพวกนี้ยังอยู่กันครบ ยังไม่มีใครตายเลย ลองดูซิ แค่ตอนนี้พวกนี้หลบๆ อยู่ แล้วมีการหารือกันอยู่ตลอด แล้วก็ไม่มีใครกล้าบอกว่า เมืองไทยจะไม่มีปฏิวัติอีกแล้ว เพราะการจะปฏิวัติหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลสร้างเงื่อนไข หรืออยู่ที่กองทัพ หรือทหารคนถือปืน แต่อยู่ที่ "คนที่อยู่เบื้องหลังทหารที่ถือปืน" ว่าจะสั่งให้ทำหรือเปล่า" พล.อ.พัลลภ กล่าว
เพราะสำหรับ พล.อ.พัลลภ แล้ว แม้ว่าเขาจะย้ายข้างมา หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามจีบตามตื๊อ จนเล่าเบื้องหลังรัฐประหารให้เกือบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เขาบอกว่า "ยังไม่ถึงเวลา"
แต่บางเรื่องก็กำลังคิดอยู่ว่า "จะเปิดเผย" หรือว่า "จะให้ตายไปกับตัว"
แต่ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ อยู่ในสายตาของฝ่ายอำมาตย์ ทั้งหมด...
+++
คำมั่น "วินัย" ทำดีไม่ต้องวิ่งเต้น จัดเกรดโปรโมต "ช้างเผือก" "ไร้ผลงาน-เฉื่อยชา" คัดออก
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 14 หน้า 99
แม้จะมาถึงห้วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอดบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ถึงสารวัตร (สว.) วาระ 2554 แต่กระแสความเคลื่อนไหวในแวดวงสีกากี การวิ่งเต้นหาตั๋วยังมีอย่างต่อเนื่อง
ตามกำหนดเดิม พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งให้ผู้บัญชาการ (ผบช.) แต่ละ บช. ออกคำสั่งแต่งตั้งในวันที่ 29 มีนาคม 2555 และให้มีผลในวันที่ 2 เมษายน 2555 ขณะที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ขยายระยะเวลาแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2555
"การวิ่งเต้นมีแน่นอน แต่เราพยายามเอาระบบคุณธรรม คือทำดีได้ดีมาเสริมให้มากขึ้น" พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กำกับดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ พื้นที่ที่เหล่าสีกากีต่างหมายปองจับจอง เปิดเผยกับ "โล่เงิน" ในห้วงที่จัดทำบัญชีการแต่งตั้งผ่านไปแล้วประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และใกล้จะลุล่วง
ซึ่ง พล.ต.ท.วินัย เป็นคนหนึ่งที่เคยกล่าวว่า "ทำดีไม่ต้องวิ่งเต้น" โดยยกตัวอย่าง คดีที่ รอง สว.กก.สส.บก.น.5 (ร.ต.อ.พนม ผุยหนองโพธิ์) ติดตามแกะรอยจนมีผลงานจับกุมยาบ้า 1 ล้านเม็ด ยาไอซ์ 20 กิโลกรัม หากครบหลักเกณฑ์จะได้ขึ้นเป็นสารวัตร
"ผมเรียก รอง สว.กก.สส.บก.น.5 มาสอบถามแล้ว แต่ยังไม่ครบเกณฑ์ขึ้น สว. ผมตั้งใจว่าหากครบจะพิจารณาให้เป็น สว. ในงวดนี้ แต่นี่ยังไม่ครบ ปัจจุบันอยู่สืบ 5 ก็ถือว่าดีอยู่แล้ว"
พล.ต.ท.วินัย ยังกล่าวชื่นชม ร.ต.อ.พนม ด้วยว่า รอง สว. นายนี้ทุ่มเทการสืบสวน แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ ต้องการให้งานสัมฤทธิผล เป็นแบบอย่างว่าหากคุณทำดีก็ไม่ต้องวิ่งเต้นใคร ผู้บังคับบัญชาจะดูแล เพื่อให้ทุกคนมุ่งในการทำงาน เช่นเดียวกับการแต่งตั้งในครั้งนี้ เราเรียกประชุม รอง ผบช.น. ทุกสายงานไม่ว่าจะเป็น จราจร สืบสวน ปราบปราม เพื่อสอบถามว่าใครทำงานเข้มแข็ง ขยัน มีระเบียบวินัย จะถูกแต่งตั้งไปในทิศทางที่ดี
ทั้งนี้ พล.ต.ท.วินัย การันตีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายที่กำลังจะคลอดในระลอกนี้ว่า เมื่อคำสั่งออกมาแล้ว แต่ละคนจะตกใจเลยว่าไปอยู่ที่เหล่านี้ได้อย่างไร ที่ที่มีงานมากขึ้น ที่ที่สำคัญขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมพวกที่ทำงานแต่ไม่มีเส้น ให้มีขวัญและกำลังใจทำงาน ไม่ว่าจะเลื่อนตำแหน่ง การโยกย้ายไปอยู่ในที่ดีๆ หากทำให้เป็นแบบอย่าง คนอื่นจะได้ทำตาม ไม่ต้องมามัววิ่งเต้น ปลายปีก็ไปวิ่งผู้ใหญ่เอาตั๋วมาฝาก งานก็ทำไม่เป็น
"ครั้งนี้ทุก บก. จะมี "ช้างเผือก" ระดับรองผู้กำกับการถึงสารวัตร ที่ได้รับการดูแล 10-20 เปอร์เซ็นต์ โดยเจ้าตัวไม่ต้องรู้จักผู้บังคับบัญชาเลย และมีอีก 10-20 เปอร์เซ็นต์ ที่ทุกคนลงความเห็นว่าใช้ไม่ได้ จะถูกออกนอกหน่วย เอาที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นคนทำงานมาแทน เรียกง่ายๆ ว่าเอาคนใหม่ที่ดีกว่าคนเก่ามาอยู่
"หากเขามีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น รอง ผกก.ป. สวป. หรือ สว.สส. แต่มาอยู่แล้วไม่ดีก็ต้องคัดออก คัดสรรคนที่ดีกว่ามาอยู่แทน หากทำแบบนี้ได้สัก 3 รอบ ผมเชื่อว่า บช.น. จะเหลือแต่คนทำงานทั้งนั้น"
ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ พล.ต.ท.วินัย บอกว่า พิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาทั้งหมด รวมทั้งในห้วงวิกฤตอุทกภัย โดยยก พ.ต.อ.พงศ์อานันต์ คล้ายคลึง ผกก.สน.ตลิ่งชัน เป็นตัวอย่างว่า
"ผมไปพบและเห็นว่าช่วยเหลือชาวบ้านได้ดี คราวนี้ก็ได้รับการแต่งตั้งไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ส่วนคนที่ไม่ช่วยในขณะที่ประชาชนเดือดร้อน ไม่มีจิตอาสา ก็ถูกเสนอชื่อให้ออกนอกหน่วย เอาคนอื่นมีจิตอาสาที่จะมาทำงานมากกว่า ครั้งนี้เลยมีที่ช่วยน้ำท่วมแล้วได้ดี กับไม่ช่วยชาวบ้านแล้วออกนอกหน่วย ผมไปสัมผัสเอง รู้เลยว่าไปช่วยเหลือชาวบ้านจริงไหม หรือมาเฉพาะตอนที่ผมไปตรวจ
"ผมไปตรวจน้ำท่วมทุ่งมังกร เขตตลิ่งชัน ถามชาวบ้านว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจไหม ชาวบ้านในหมู่บ้าน 8-9 ราย ให้คำตอบว่านอกจากตำรวจนำอาหารมาส่งแล้ว ยังมาตรวจตราโจรทุกคืน ผกก.สน.ตลิ่งชัน จึงได้รับการโปรโมตไปอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญกว่า ส่วนบางที่ไปตรวจแล้วไม่เคยออกมาช่วยเหลือชาวบ้านก็ถูกส่งออก และจะคัดเลือกคนนอกหน่วยมา เช่นมี รอง ผกก. คนหนึ่งจาก บช.ภ.2 สมัครใจขอมาอยู่ใน บช.น. มีประวัติได้โล่ดีเด่น ได้รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ปราบปรามยาเสพติดดีเด่น แบบนี้ผมรับเลย เพราะคิดว่างานใน บช.น. หนักกว่างานในภูธร หากเอาคนเหล่านี้มาอยู่จะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่า"
ครั้นถามถึงกระแสข่าวว่ามี ผกก. ในนครบาลหมุนออกกว่า 20 คน จริงหรือไม่ พล.ต.ท.วินัย ยอมรับว่า จริง โดยเอาคนที่มีผลการประเมินต่ำสุดของแต่ละ บก. ออก ทำงานทั้งปีแล้วผลงานไม่เข้าตา จะเอาคนในหน่วยขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ต้องการให้ดีขึ้น เพื่อให้แข่งขันกันทำงาน
"ผมไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ไม่ได้บอกว่าไม่ดี การย้ายไปอยู่ที่อื่นเงินเดือนก็เท่าเดิม เพียงแต่ต้องการให้มันดีกว่าเดิม การจัดทำบัญชีไม่รู้สึกกดดัน หากเราคิดว่าจะสร้างหน่วยให้ดีขึ้น ก็ต้องคัดคนดีที่สุดมาอยู่ เอาคนที่มีประสิทธิภาพน้อยออก เพื่อให้การแข่งขันมีตลอด และหากคราวต่อไปยังเฉื่อยชา เหมือนสอบแล้วไม่ผ่านก็ต้องสับเปลี่ยน การสับเปลี่ยนไม่ได้ทำให้เขาเสียสิทธิ แต่การจะมาอยู่หน่วยที่รับผิดชอบสูง ปัญหาสูงก็ต้องเอาคนที่มีประสิทธิภาพ" ผบช.น. แจง
ต่อข้อถามอาจถูกมองว่าเป็นการ "ล้างบาง" ผบช.น. กล่าวว่า "ไม่ได้กังวลอะไรเลย เพราะเราตั้งใจทำให้หน่วยดีขึ้น 1.ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคือง และ 2.ไม่ได้มีเจตนาชั่วร้ายจะไปทำร้ายใคร หากเกรงอกเกรงใจหน่วยก็ไม่พัฒนา คิดอย่างนั้นมากกว่า ไม่ได้โกรธเขา ไม่มีเรื่องส่วนตัวเลย"
ทั้งนี้ พล.ต.ท.วินัย กล่าวถึงในส่วนกองกำกับการสืบสวน (กก.สส.บก.น.) ว่า ผกก.สืบสวน บางคนสมัยก่อนวิ่งเต้นมาอยู่แล้วทำงานไม่ได้ ขณะนี้เปลี่ยนหมด ตำแหน่ง ผกก.สืบสวน ไม่รับวิ่งเต้น ใครฝากมาก็ไม่ให้ เพราะเอาคนทำงาน เดี๋ยวพอผลประกาศออกมาแล้ว จะรู้ว่ากองสืบของ บช.น. มีคนดีขึ้นเยอะเลย
"ตำแหน่ง รอง ผกก.ป. สวป. สว.สส. เปลี่ยนเยอะ ผกก.กองสืบฯ ก็เปลี่ยนเยอะ ยืนยันว่าพวกที่เอามารับได้หมด ต่อไปจะให้กองสืบฯ แต่ละ บก. แข็งขึ้นเพื่อช่วยกองสืบฯ ใหญ่ (บก.สส.บช.น.) ที่ผ่านมาเอาเด็กมาลง ผกก.กองสืบฯ แต่ไม่ทำงาน ไม่เคยเห็นหัว รอง ผบช.น. ไปตรวจก็ไม่อยู่ แบบนี้อยู่ไม่ได้ เราเอางานเข้าว่า เหมือนมายกเครื่อง"
ซึ่ง พล.ต.ท.วินัย ทิ้งท้ายด้วยว่า หากเป็นไปได้ในการแต่งตั้งโยกย้ายงวดหน้าจะรับสมัครคนเข้ามาทำงาน เพราะคนอยากอยู่ บช.น. เยอะ หากดูแล้วดี จะเอาเข้ามา แต่หากกินข้าวร้อน นอนตื่นสาย ไม่ทำงานอยู่ไม่ได้ ไปอยู่ที่อื่น!!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย