http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-27

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รัฐบาลกับค่าครองชีพ

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รัฐบาลกับค่าครองชีพ
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.


ไม่ต่างจากรัฐบาลอื่นๆ รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ตอบสนองต่อเสียงบ่นเรื่องของแพงด้วยการทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านบาทแก่ธงฟ้า ในขณะที่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์สัญญาว่าจะไปเข้มงวดกวดขันควบคุมราคาสินค้า

ของแพงจริงหรือไม่ยังเถียงกันได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นเรื่องอ่อนไหวทางการเมือง ฉะนั้นเมื่อมีเสียงบ่น รัฐบาลก็ต้องทำอะไรสักอย่างสองอย่าง แทนการยืนยันว่าไม่แพ้งไม่แพงเฉยๆ แต่มาตรการทั้งสองอย่างนี้ก็รู้กันมานานแล้วว่าไม่มีผล ธงฟ้าเป็นเพียงหยดน้ำในมหาสมุทรของอุปทานสินค้าในตลาด และการควบคุมราคาสินค้าหากทำสำเร็จ ย่อมหมายถึงสินค้าย่อมหลบเข้าสู่ตลาดมืด ซึ่งทำให้ราคายิ่งแพงขึ้นไปอีก แต่โชคดีที่ระบบราชการไทยไม่มีสมรรถภาพจะควบคุมได้จริง

แต่เอาเถิด ก็ยอมรับว่าเป็นความจำเป็นทางการเมือง ที่ต้องทำอะไรสักอย่างสองอย่างเพื่อตอบสนองเสียงบ่น

ทว่าไม่คิดจะทำอะไรที่จำเป็นจริงๆ เพื่อผดุงค่าครองชีพของประชาชนบ้างหรือ ถึงอย่างไร ราคาน้ำมันและการเพิ่มค่าแรง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ย่อมมีผลให้สินค้าราคาแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าหวังว่ารายได้ของประชาชนจะเพิ่มขึ้น ก็น่าจะคิดหาทางที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่ขึ้นเร็วเกินไปนัก



มาตรการที่คิดมาอย่างรอบคอบเพื่อบรรเทาค่าครองชีพนั้น ไม่แต่เพียงทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเครื่องอุปโภคบริโภคได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้สมรรถภาพด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมพัฒนาขึ้นไปพร้อมกันด้วย

มาตรการที่ขาดไม่ได้ในการผดุงค่าครองชีพ ก็ไม่พ้นสามสี่อย่างดังต่อไปนี้

รัฐบาลต้องพยายามจนสุดกำลังที่จะรักษาการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด ความเป็นธรรมนั้นมีสองด้าน

ด้านแรกคือตลาดเสรี แม้ว่าในทางกฎหมาย เราได้ยกเลิกมาตรการที่เปิดให้มีการผูกขาดตัดตอนไปมากแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ การผูกขาดตัดตอนก็ยังมีอยู่ในสินค้าหลากหลายชนิด ไข่ไก่จะมีราคาที่เป็นธรรมได้ ก็เพราะผู้ผลิตทุกฝ่ายมีโอกาสแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีบริษัทที่ผูกขาดการเพาะหรือนำลูกไก่เข้าเพียงไม่กี่ราย ไม่มีบริษัทใดผูกขาดการผลิตอาหารไก่ ไม่มีบริษัทใดใช้ช่องโหว่ในการทำเกษตรเชิงพันธสัญญาเอาเปรียบเกษตรกร ฯลฯ หากรัฐใส่ใจที่จะไปทำให้ตลาดได้แข่งขันกันอย่างเสรีในทางปฏิบัติ รัฐก็ไม่ควรไปควบคุมราคา เพราะรัฐไม่มีทั้งสมรรถภาพและประสิทธิภาพในการควบคุมราคา ตลาดทำได้เองอย่างมีสมรรถภาพและประสิทธิภาพมากกว่า แต่ต้องเป็นตลาดเสรีที่แท้จริง

ด้านที่สองสัมพันธ์กับความเป็นเสรีของตลาด นั่นก็คือรัฐบาลควรส่งเสริมให้เกิดทางเลือกในการบริโภคให้มาก ทางเลือกในที่นี้ไม่ได้หมายความเพียงสินค้าที่แปลกใหม่ออกไป แต่ต้องเป็นสินค้าที่แตกต่างในด้านวัตถุดิบ, การผลิต, การลงทุน หรือการจัดองค์กร เป็นต้น เช่นหากชาวบ้านสามารถผลิตแชมพูคุณภาพที่เท่าเทียมหรือดีกว่าจากพืชได้ ก็จะทำให้เกิดแชมพูทางเลือก ซึ่งช่วยตรึงราคาแชมพูญี่ปุ่นไว้ทางอ้อม แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าอย่าคิดเพียงสินค้า หากในสามสี่ปีที่ผ่านมาซึ่งเราอุดหนุนค่าเดินทางของประชาชนอยู่นี้ ยอมแบ่งเงินไปลงทุนกับการสร้างทางจักรยานที่ปลอดภัยทั่วทั้งกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ก็จะลดค่าครองชีพของคนอีกจำนวนมาก นับตั้งแต่ส่งลูกไปโรงเรียน จนถึงไปกลับจากที่ทำงาน ทั้งยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน


ในประการต่อมา ผู้ผลิตจะสามารถแข่งขันกันได้มากขึ้น ก็ต้องใช้ความรู้ในการลดต้นทุนหลายอย่างหลายประการ เกินกว่าความรู้ในการกดขี่เอาเปรียบแรงงานเพียงอย่างเดียว รัฐบาลจึงควรส่งเสริมให้เกิดและแพร่ขยายความรู้ซึ่งเหมาะสมแก่เศรษฐกิจสังคมไทยเหล่านี้ด้วย หรือแม้แต่มีมาตรการที่จูงใจให้ใช้ หรือในทางกลับกันก็อาจลงโทษทางเศรษฐกิจหากไม่ใช้ไปพร้อมกัน แน่นอนว่าจะส่งเสริมให้เกิดและแพร่หลายได้ รัฐบาลก็ต้องลงทุนกับการวิจัยอย่างจริงจังกว่านี้

การลดต้นทุน ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การผลิตเพียงอย่างเดียว แม้ว่าการลดต้นทุนด้านนี้ก็มีความสำคัญ เพราะกระบวนการผลิตของไทยเคยมีต้นทุนถูกจากปัจจัยด้านแรงงานถูกเพียงอย่างเดียว ถึงเวลาที่จะต้องคิดและเรียนรู้การลดต้นทุนด้วยวิธีอื่นๆ อีกมาก (อย่างน้อยก็ให้สอดคล้องกับการเพิ่มค่าแรง) นับตั้งแต่การใช้พลังงาน, การเพิ่มประสิทธิภาพของคนงาน, การบริหารที่ไม่สิ้นเปลือง, การหาหรือสร้างวัตถุดิบภายในเพื่อทดแทน ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ต้องการความรู้ที่มาจากการวิจัย ซึ่งรัฐสามารถสนับสนุนได้

นอกจากการผลิตแล้ว ยังต้องคิดค้นหาวิธีลดต้นทุนด้านอื่นๆ อีกมาก นับตั้งแต่การกระจายสินค้า (ซึ่งการสื่อสารในระบบดิจิตอลเพียงอย่างเดียวก็ช่วยลดไปได้มากแล้ว แต่ยังทำได้มากกว่านี้อีกหากคิดค้นกันให้มากขึ้น) ค่าขนส่ง การเก็บรักษาพืชผลการเกษตรเพื่อเพิ่มการต่อรองในตลาดของเกษตรกร แต่ในขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนให้แก่พ่อค้าไปพร้อมกัน และการบริหารจัดการที่มีราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น

การลดต้นทุนในภาพกว้างเช่นนี้ จะเพิ่มสมรรถภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยโดยรวมไปพร้อมกันด้วย


แน่นอนว่า นโยบายการเงินและการคลังมีส่วนช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อ (ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มักถือว่าเป็นดัชนีสำคัญสุดในการบอกว่าของแพงหรือไม่) รัฐบาลที่ผ่านมาได้ใช้มาตรการนี้ตลอดมา และโดยทั่วไปก็ต้องถือว่าทำได้ดีพอสมควร (เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ) แต่มักเป็นงานของหน่วยงานเฉพาะด้านเพียงไม่กี่หน่วย น่าจะเปิดให้สาธารณชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่านี้

สินค้าที่กระทบค่าครองชีพมาก หากไม่นับพลังงานแล้ว ก็คือสินค้าเกษตร รัฐบาลควรพัฒนาการเกษตรอย่างจริงจัง ไม่เฉพาะแต่ด้านโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ต้องคิดถึง "ระบบเกษตร" ทั้งระบบ ไม่ใช่ปล่อยให้เกษตรกรถูกบังคับให้ผลิตมากขึ้น แต่ก็ยังได้รายได้เท่าเดิม หากรัฐบาลสามารถปฏิรูป "ระบบเกษตร" ได้ทั้งระบบ ข้าวปลาอาหารจะไม่สมบูรณ์เฉพาะคนไทยชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น แต่คนไทยทุกคนก็จะสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น เราจะไม่เป็นครัวของโลกเฉพาะในครัว แต่มีผลผลิตอันอุดมสมบูรณ์หนุนหลังครัวอยู่ด้วย

แน่นอนว่าสุขภาพที่ดีช่วยลดค่าครองชีพได้มาก การรักษาพยาบาลฟรีเป็นเพียงส่วนเดียวของสุขภาพ เพราะเวลาที่เสียไปและร่างกายที่สมประกอบน้อยลง ย่อมกระทบต่อรายได้ทั้งในปัจจุบันและอาจจะอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลมีหน้าที่มากกว่า สสส. เช่นเมืองซึ่งเป็นที่อยู่ของคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นพื้นที่ซึ่งขาดอนามัย มีมลภาวะทั้งด้านอากาศ, เสียง และน้ำ จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สสส.ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าเที่ยวสาปแช่งคนกินเหล้าสูบบุหรี่ แต่รัฐบาลสามารถทำได้มากกว่านั้น และควรจะลงมือทำกันเสียที น้ำท่วมก็เป็นปัญหา แต่ไม่ใช่ปัญหาเดียว



ของแพงไม่ใช่ธุระของกระทรวงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว และว่าที่จริงกระทรวงพาณิชย์ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าธงฟ้าและทำท่าควบคุมราคา อันเป็นมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ก็รู้ว่าไม่บังเกิดผลอะไร

ของแพงเป็นธุระของรัฐบาลโดยตรง เพราะมาตรการตอบสนองที่จะบังเกิดผลจริง ย่อมเกี่ยวพันกับทุกกระทรวงของรัฐบาล ตราบเท่าที่รัฐบาลไทยไม่เข้าใจหรือแสร้งไม่เข้าใจประเด็นนี้ คนไทยก็จะรู้สึกว่าของแพงทุกครั้งที่รายได้เพิ่มไม่ทันรายจ่าย แล้วรัฐบาลก็จะชักธงฟ้าขึ้นปลอบใจตลอดไป

แต่เราไม่จำเป็นต้องทำอย่างนี้ หากเรามีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แข็งกล้าพอจะพัฒนาระบบทุนนิยมของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรัฐยังต้องมีบทบาทในการรักษาความเป็นธรรมในระบบทุนนิยมให้ได้

ทุนนิยมที่มีประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียวยังเป็นคำตอบที่ไม่พอ เพราะถึงอย่างไรก็ยังมีคนบางกลุ่มที่รายได้ของเขาเพิ่มขึ้นไม่ทันกับอัตราเงินเฟ้อ รัฐยังมีหน้าที่ต้องปกป้องคนเล็กๆ เหล่านี้ แต่จะปกป้องอย่างไรไม่ให้เสียประสิทธิภาพของระบบทุนนิยม เป็นเรื่องที่ต้องคิดไตร่ตรองให้ดี

ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ทุนนิยมทั้งโลกประสบความล้มเหลวในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ในขณะที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างล้นเหลือในทุกประเทศที่ดำเนินเศรษฐกิจทุนนิยม (แม้แต่ไม่เต็มที่เช่นไทยหรือจีน) แต่ช่องว่างทางรายได้ไม่เคยลดลงในทุกสังคม มีแต่จะถ่างกว้างขึ้นทั้งสิ้น (รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย) รัฐจึงจำเป็น และมีหน้าที่หลักตรงนี้ กล่าวคือคอยพิทักษ์ปกป้องคนเล็กคนน้อย ผ่านการควบคุมตัวระบบที่ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบของคนใหญ่ต่อคนเล็ก

การพิทักษ์ปกป้องเชิงสัญลักษณ์ เช่น ธงฟ้า, รถเมล์ฟรี, ไฟฟ้าฟรี, แจกเงิน ฯลฯ มีประโยชน์ในทางสัญลักษณ์เท่านั้น และทำได้ง่าย แต่การกลับไปทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม, การสร้างและเผยแพร่ความรู้ด้านการลดต้นทุน, การพัฒนา "ระบบเกษตร" ฯลฯ ทำได้ยาก แต่มีผลจริงและจีรังยั่งยืนกว่า


ปัญหากลับมาอยู่ที่ว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์มีเจตนารมณ์ทางการเมืองจะทำเช่นนั้นหรือไม่ คำตอบคือไม่มี เพราะได้ทุ่มเทไปกับเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะอยู่ให้รอดทางการเมืองเท่านั้น จริงอยู่เจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่ออยู่ให้รอดย่อมมีความจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เจตนารมณ์เพียงเท่านี้ไม่เพียงพอ ถึงอย่างไรรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ก็มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจึงต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ใช่อำมาตย์

ต้องไม่ลืมว่าอำมาตย์ในปัจจุบันไม่มีอำนาจพอที่จะล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่มีอำนาจพอจะค้ำจุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์

หากอำมาตย์มีอำนาจมากอย่างที่คุณยิ่งลักษณ์คิด เขาล้มรัฐบาลนี้ไปนานแล้ว



.