.
วันสิ้นโลก
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1644 หน้า 38
สภาวะอากาศโลกที่ผันผวนแปรเปลี่ยน ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาความจริงว่า เป็นเรื่องของธรรมชาติหรือเพราะน้ำมือคนกันแน่?
ฤดูหนาวที่ยุโรปในเวลานี้ ผิดปกติเพราะอะไร ทำไมอุณหภูมิในบางพื้นที่ติดลบถึง 40 องศาเซลเซียส
อย่างที่บัลแกเรีย นอกจากจะมีหิมะตกหนักแล้ว ยังมีฝนเทกระหน่ำซ้ำอีกต่างหาก ทำให้เขื่อนแตก น้ำที่เย็นยะเยือกทะลักใส่หมู่บ้านปกคลุมหนาถึง 2.5 เมตร พอๆ กับระดับน้ำที่ท่วมคราวน้ำท่วมใหญ่ของบ้านเรา
ชาวบัลแกเรียนตกอยู่ในอาการหวาดผวา เพราะอากาศอันเลวร้าย ไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ ถนนหนทางจมอยู่ใต้หิมะกองหนา
ที่สาธารณรัฐเช็ก อุณหภูมิติดลบ 35 องศาเซลเซียส และคงความเย็นยะเยือกนานถึง 10 วัน ถือเป็นสถิติใหม่ เช่นเดียวกับที่สวิตเซอร์แลนด์ และโปแลนด์ มีผู้คนติดกับอยู่กับความหนาวเย็น บางคนอนาถา ไร้ที่อยู่ต้องซุกหัวนอนใต้ถุนตึกหรือสะพานลอย หรือไม่ก็สถานีรถไฟใต้ดิน คนเหล่านี้รอความตาย
ทั่วทวีปยุโรปมีรายงานว่า หนาวตายไปแล้วเฉียดๆ 400 คน
ความหนาวเย็นทำให้ความต้องการปริมาณการใช้พลังงานความร้อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก บางแห่งโรงไฟฟ้ามีเชื้อเพลิงไม่เพียงพอ ต้องเร่งสั่งนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการสั่งซื้อก๊าซจากรัสเซียเพื่อมาผลิตเป็นพลังงานความร้อน
หิมะปกคลุมมากเท่าไหร่ ความต้องการ "ความร้อน" เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายและบ้านเรือนเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ
ที่ฝรั่งเศส การต้องการใช้กระแสไฟฟ้าทำสถิติใหม่
ที่บอสเนีย หิมะสูงถึง 1.5 เมตร ปกคลุมหมู่บ้านนานถึงหนึ่งเดือน เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด อาหารการกินหมด คนในหมู่บ้านราว 40 คน ติดแหง็ก
อากาศหนาวเย็นยังแผ่จากทวีปยุโรปไปปกคลุมเมดิเตอร์เรเนียนและทะลุเข้าไปถึงทวีปแอฟริกาเหนือ
ชาวแอลจีเรีย ไม่เคยเจออากาศเย็นจัด หิมะคลุมบนพื้นถนน ไม่สามารถควบคุมรถได้ เกิดอุบัติเหตุรถชน รถคว่ำเสียชีวิตไปแล้ว 19 คน
เช่นเดียวกับที่ตูนิเซียตอนใต้ มีหิมะตกให้เห็นในรอบ 40 ปี
แต่ข้ามไปที่ทวีปอเมริกาเหนือ ปรากฏว่า ในปีนี้พื้นที่ที่หิมะเคยตกหนักในฤดูหนาว กลับมีปริมาณหิมะน้อยมาก จนเกิดคำถามว่า "นี่เป็นฤดูหนาวจริงหรือ"
นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรุตเกอร์ส บันทึกสถิติหิมะที่ปกคลุมในพื้นที่ต่างๆ พบว่า เดือนมกราคมที่ผ่านมา ปริมาณหิมะน้อยลงถึง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปริมาณหิมะที่ตกในปี 2510
ปีที่แล้ว หิมะตกหนักในรัฐต่างๆ ของสหรัฐมีมากถึง 20 กว่ารัฐ มีผู้เสียชีวิตเพราะอากาศหนาวเหน็บ 36 คน มีทรัพย์สินเสียหายเพราะฤทธิ์ "หิมะ" รวมแล้ว 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่มาปีนี้ หิมะที่ตกในเมืองบิสมาร์ก นอร์ธ ดาโกต้า มีเพียง 1 ใน 5 ของปริมาณหิมะปกติ ส่วนที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตต์ หิมะมีเพียง 1 ใน 3 หรือตกปกคลุมพื้นที่หนาเพียง 3 ฟุตเท่านั้น ถือว่า หิมะตกน้อยมาก ขณะที่ในตอนกลางของประเทศ เช่น ชิคาโก หรือมินนีอาโปลิส ปริมาณหิมะที่ตกมีน้อยกว่า ในมิดแลนด์ รัฐเท็กซัส
เมื่อดูสถิติอุณหภูมิของรัฐต่างๆ ในสหรัฐ พบว่า ทางตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิช่วงฤดูหนาวไม่ได้หนาวเย็นมากนักเหมือนปีที่ผ่านๆ มา มิหนำซ้ำบางแห่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 5 องศา
ที่รัฐโอไฮโอ นักกอล์ฟมีโอกาสได้เล่นกอล์ฟในเดือนมกราคม เป็นฤดูหนาว นักกอล์ฟหลายคนเป็นงง อะไรเกิดขึ้นกับสภาวะอากาศ
แต่เมื่อขยับขึ้นไปดูที่รัฐอลาสก้า ปรากฏว่า อุณหภูมิของที่นั่นเย็นสุดๆ มีหิมะตกหนักหนาถึง 328 นิ้ว ที่เมืองวาลเดซ หรือสูงเฉลี่ย 10 ฟุต
นักวิทยาศาสตร์ที่มองในแง่ดีเชื่อว่า อากาศแปรปรวนปีนี้เกิดจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ "การเคลื่อนตัวของกระแสลมแอตแลนติกเหนือ" (North Atlantic Oscillation หรือ NAO) กระแสลมหนาวเย็นจากทวีปอาร์กติก พัดแผ่มาปกคลุมยุโรป
แต่กระนั้น มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากฟันธงว่า ความแปรปรวนของสภาวะอากาศโลก เกิดจากผู้คนทำลายป่า ต้นไม้และการปล่อยควันพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหลังนี้ ทำนายว่า ถ้าคนยังทำลายธรรมชาติอย่างนี้อีกต่อไป วันสิ้นโลกอาจมาเร็วกว่ากำหนด
++
แก้ปลายเหตุก็ยังดี
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 39
ป่าริมข้างทางไปเขื่อนสิริกิติ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ยังหนาแน่น ถ้าเป็นหน้าฝนคงจะเขียวครึ้มร่มรื่นกว่าวันที่ตาม คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ไปดูแผนตรียมการป้องกันน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ
คุณยิ่งลักษณ์นำทัวร์บรรดารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วมครั้งนี้ ดูมาดเข้มเอาจริงเอาจังน่าชมเชย มีการระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่มาจัดแผน เตรียมโครงการรับมืออย่างเต็มที่ รวมไปถึงการทุ่มงบประมาณจำนวนถึง 350,000 ล้านบาทให้กับการรับมือน้ำท่วมมาก่อนหน้านี้
แต่กระนั้น ผู้คนยังรู้สึกเป็นกังวลว่า ปีนี้อาจจะเกิดน้ำท่วมซ้ำเหมือนปีที่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างซึ่งรับน้ำเต็มๆ ที่ปล่อยออกจากเขื่อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนสิริกิติ์ หรือเขื่อนภูมิพล จ.ตาก
ความเชื่อที่ว่า การปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้วในปริมาณมากมายมหาศาลและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ใต้เขื่อนล้มเหลวเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ยังคงมีอยู่
แม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ดูแลเขื่อนหรือกรมชลประทานจะออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบหลายๆ ครั้งแล้วก็ตาม แต่ปรากฏการณ์ "ท่วมใหญ่" ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นยังฝังใจอยู่ลึกๆ
พื้นที่หลายแห่งที่มีน้ำท่วมสูงเป็นเมตร เป็นพื้นที่ที่ไม่เคยเจอน้ำท่วมมาก่อน หรือท่วมก็ไม่มากเท่า ครั้นเขื่อนใหญ่ปล่อยน้ำลงมาอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณมาก น้ำทะลักท่วมอย่างหนักหน่วงรุนแรงและกินเวลานาน
คุณยิ่งลักษณ์เห็นด้วยกับข้อเสนอของหน่วยงานด้านป่าไม้ให้มีการปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำ ดูแลอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ และทำฝายแม้วเพื่อชะลอการไหลของน้ำจากที่สูง เป็นเรื่องที่ดี แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบจะสายเกินแก้
แต่การลงมือปลูกป่า ดูแลต้นไม้ทำตอนนี้ ก็ยังดีกว่าไม่ทำเอาเสียเลย
ปัญหาคือทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและเอาจริงกับการปราบปรามกลุ่มลักลอบตัดไม้ทำลายป่าแค่ไหนเพราะเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่
ถ้าป่าไม้ของเมืองไทยยังอุดมสมบูรณ์ การบุกรุกพื้นที่ป่าหรือแหล่งรับน้ำมีไม่มาก ระบบนิเวศน์ไม่ได้เปลี่ยนสภาพ ทางน้ำไหลยังเป็นไปอย่างธรรมชาติ ถึงจะมีพายุเข้าหลายลูก การสูญเสียเนื่องจากเหตุน้ำท่วมจะไม่เป็นเหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน
การเห็นชอบของคุณยิ่งลักษณ์ให้มีการแก้ปัญหาลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ด้วยการขุดลอกคลองน้อยใหญ่ ใช้วิธีผันน้ำจากแม่น้ำยม แม่น้ำน่านไปยังแหล่งน้ำขนาดใหญ่บริเวณพื้นที่เชื่อมรอยต่อระหว่าง จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย หรือรวมไปถึงการพัฒนาบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ให้เป็นแหล่งรับน้ำในเขตภาคกลางตอนเหนือ เป็นเรื่องถูกต้อง เพราะเป็นแก้ปัญหาถูกจุด ดีกว่าไปตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างเขื่อน
ในอดีตที่ผ่านมา พื้นที่ที่เป็นแหล่งรับน้ำธรรมชาติ ทั้งคลอง หนองบึง มีอยู่จำนวนมาก แต่เมื่อคนมีจำนวนมากขึ้น ความเจริญของเมืองขยายตัวไปเร็ว ขณะที่ผู้ดูแลบริหารจัดการประเทศ ไม่ได้เอาใจใส่กับระบบนิเวศน์ ผังเมือง ทำให้การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ
การบุกรุกถมคูคลอง หนองบึง ทำให้ทางน้ำธรรมชาติเปลี่ยน ไม่มีพื้นที่รองรับเมื่อมีฝนหนัก น้ำเหนือหลาก น้ำทะลักท่วมบ้านท่วมเมือง
นายกฯ ได้ไปเห็นรับรู้ปัญหาที่ จ.พิษณุโลก มีแม่น้ำยมสายเก่า มีคลองน้อยใหญ่เชื่อมต่อกันมากมาย มีบึงใหญ่อย่างบึงระมาน ใน อ.บางระกำ แต่แหล่งทางน้ำหรือแหล่งเก็บน้ำเหล่านี้ มีการบุกรุกถมที่ทำให้ตื้นเขิน
เช่นเดียวกับบึงบอระเพ็ด เมื่อ 50 ปีที่แล้วมีพื้นที่กักเก็บน้ำกว่า 2.5 แสนไร่ ปัจจุบันเหลือแค่ 1.3 แสนไร่ พื้นที่รับน้ำหายไป 50 เปอร์เซ็นต์
ถามว่าทำไมจึงหายไปมากมายขนาดนี้ คนในพื้นที่นครสวรรค์ตอบชัดเจนว่า คนของรัฐไม่เอาใจใส่ ปล่อยให้ชาวบ้านบุกรุก เจ้าหน้าที่บางคนรู้เห็นเป็นใจ
พื้นที่บึงบอระเพ็ด หลายแห่งกลายเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ มีคนจับจองเป็นเจ้าของทำไร่ ทำนา และสร้างบ้านเรือนอยู่กันอย่างสบายใจเฉิบ
เพราะฉะนั้น อย่าแปลกใจ ทำไมจึงมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่นครสวรรค์เมื่อปีที่แล้ว ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล
การที่นายกฯ พยายามปั้นให้เกิดโมเดลป้องกันน้ำท่วม อย่างที่บางระกำ หรือที่บึงบอระเพ็ด ก็ดี เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน หรือการรุกจี้หน่วยงานรัฐให้รื้อสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในลำน้ำสาธารณะ ทั้งคูคลองหนองบึง รวมถึงการรณรงค์ป้องกันป่า ปลูกต้นไม้ ดูแลรักษาระบบนิเวศน์ เป็นสิ่งที่ควรให้กำลังใจ
เพราะนี่เป็นหนทางที่ช่วยให้สภาพแวดล้อมดีๆ ที่เคยมีอยู่แล้วถูกทำลายไป กลับคืนมา
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย