.
วิกฤติข่าวสารความรู้
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 40
วิกฤติข่าวสารความรู้นับได้ว่าเป็นวิกฤติขั้นสูง กล่าวคือเมื่อผู้คนได้เริ่มรู้สึกว่าเกิดวิกฤตินี้ขึ้น ก็แสดงว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจ-การเมืองได้พัฒนาไปอย่างลึกซึ้ง จนมีลักษณะกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเช่นนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ บางส่วนเกิดขึ้นก่อน เช่น ในหมู่นักปรัชญาและนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งในกลุ่มลัทธิหลังสมัยใหม่ (Post-modernism) เป็นต้น
สำหรับมวลชนรากหญ้าที่ต้องตรากตรำทำมาหากินมักเกิดช้ากว่า
แต่ในปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าชาวรากหญ้าทั่วโลกจะได้เห็นถึงวิกฤตินี้ และพยายามสร้างความรู้ข่าวสารของตนขึ้นมาเองในขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ
สนามรบทางข่าวสารความรู้ได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญ ที่จะคลี่คลายพัฒนาไปอย่างน่าจับตา
รัฐกับการควบคุมข่าวสารความรู้
รัฐเป็นสถาบันแห่งอำนาจความรุนแรง และใช้อำนาจความรุนแรงนี้เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจ ระบอบปกครอง และแบบทางวัฒนธรรมของตนไว้อย่างสุดฤทธิ์ในหมู่ประชาชนของตนและในท่ามกลางรัฐอื่นด้วยกัน
ตัวอย่างการใช้อำนาจความรุนแรง เช่น การจับคนไปขัง ริบทรัพย์ ประหารชีวิต ขจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน และก่อสงคราม
ในด้านข่าวสารความรู้ รัฐได้เข้าไปควบคุมจัดการทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตหรือการนำเข้าความรู้ การเก็บรักษา และการกระจาย และเป็นการทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง เช่น ผู้ที่เผยแพร่ความรู้หรือความคิดที่ไม่พึงประสงค์ ก็อาจถูกประหารชีวิตเสีย เช่น กรณีโสเครติส มีการเผาทำลายหนังสือที่เห็นว่าเป็นอันตรายต่อรัฐ กระทั่งเผาคนทั้งเป็นที่เห็นว่าเป็นพวกนอกรีต เช่น เป็นแม่มดหรือพ่อมด เป็นต้น
กล่าวได้ว่าความมั่นคงของรัฐนั้นดูได้จากว่าสามารถควบคุมข่าวสารความรู้ไม่ให้เป็นภัยต่อระบอบปกครองของตนได้ดีเพียงใด
กล่าวกันในระยะหลังว่า "ความรู้คืออำนาจ" หรือพูดให้เจาะจงว่า ความรู้ช่วยให้รักษาอำนาจไว้ได้
การดูแลควบคุมข่าวสารความรู้ของรัฐนั้น อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม
กลุ่มแรกเป็นด้านการผลิตหรือทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วยองค์ความรู้ที่ใช้ในการผลิต เช่น การเกษตร อุตสาหกรรม และการบริหารจัดการ ในนี้ที่สำคัญเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบชลประทาน การสร้างและบำรุงรักษาส้นทางขนส่ง ระบบบัญชีและอื่นๆ
ข่าวสารความรู้กลุ่มที่สองเป็นด้านการเมือง ได้แก่ การสร้างระบบปกครองที่สามารถอธิบายได้ว่ามีความชอบธรรม ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง เมื่อคำนึงถึงว่าอารยธรรรมมนุษย์มีการเปลี่ยนผ่านหลายครั้ง ตั้งแต่ยุคเจ้าทาสจนถึงยุคทุนนิยม รัฐต่างๆ ก็สามารถปรับปรุงรูปแบบรัฐของตนตามสถานการณ์ไปได้ ความรู้พวกนี้มักเก็บไว้ในชนชั้นสูง แม้จนถึงในปัจจุบัน
ข่าวสารความรู้กลุ่มที่สามเป็นด้านวัฒนธรรม ได้แก่ วิถีดำเนินชีวิต ประเพณีความเชื่อ ค่านิยมต่างๆ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน แต่รัฐก็สามารถทำได้ดี ส่วนหนึ่งโดยผ่านประเพณีความเชื่อเดิม บอกว่าควรกินอะไร แต่งตัวแบบไหน เชื่อถืออะไร อะไรดี อะไรชั่ว
เป็นการสู้รบทางวัฒนธรรมที่กลุ่มหลังสมัยใหม่ให้ความสำคัญมาก เกิดสงครามทางวาทกรรมต่างๆ
การควบคุมข่าวสารความรู้โดยรัฐในรูปแบบต่างๆ
รัฐเข้าไปควบคุมข่าวสารความรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่ การควบคุมกลไกตลาด ทำให้ตลาดเป็นตลาดเดียว ซึ่งจะช่วยให้ข่าวสารความรู้ไปในทิศทางเดียวกัน มีเงินตราเดียว และมีมาตรฐานเดียวหรือคล้ายคลึงกัน
ถ้ามีหลายตลาด เช่น ตลาดใต้ดิน ก็เกิดข่าวสารความรู้อีกแบบหนึ่ง เกิดเป็นอิทธิพลมืด ที่ท้าทายต่ออำนาจรัฐได้
ในบางแห่งกลุ่มอิทธิพลมืดเหล่านี้ได้ก่อรูปขึ้นเป็นรัฐซ้อนรัฐ ดังในกรณีกลุ่มผู้ค่ายาเสพติดในเม็กซิโก เป็นต้น ได้จัดตั้งกองกำลังของตนโรมรันพันตูกับกองกำลังของรัฐ ก่อความสับสนว่าใครเป็นใครระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับอาชญากร
สำหรับการควบคุมที่สำคัญ ได้แก่ การใช้กลไกรัฐมีตำรวจ ทหาร ศาล และหน่วยงานลับต่างๆ ปฏิบัติโดยอาศัยอำนาจทางกฎหมาย เพื่อควบคุมการผลิต การเก็บรักษาและการแพร่กระจายข่าวสารความรู้ ไม่ให้เป็นอันตรายแก่อำนาจรัฐมากเกินไป ซึ่งเห็นได้ทั่วไป
เช่น ข้ออ้างการปิดเว็บโป๊อนาจาร ปฏิบัติการตามกฎหมายนี้มักได้ผลอย่างจำกัด จำต้องกระทำควบคู่กับปฏิบัติการลับ เช่น การข่มขู่คุกคาม การลอบทำร้าย การอุ้มฆ่า การสร้างสถานการณ์ การปล่อยข่าวลือข่าวลวง การสร้างข่าวกลบข่าว ฯลฯ ซึ่งได้กลายเป็นศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับรัฐสมัยใหม่ในการรักษาอำนาจของตนไว้
นอกจากนี้ ยังอาศัยการควบคุมโดยตรงซึ่งจะขอกล่าวถึงในที่นี้เพียง 2 ประการ ได้แก่ การควบคุมผ่านระบบการศึกษา และศาสนาความเชื่อ
รัฐกับระบบการศึกษา
แต่ละปีรัฐจัดสรรเงินงบประมาณมหาศาลเพื่อการศึกษา และโดยทั่วไปสูงกว่าค่าใช้จ่ายทางทหาร สะท้อนให้เห็นความสำคัญของระบบการศึกษาที่มีต่อความมั่นคงของรัฐ
ระบบการศึกษาช่วยความมั่นคงของรัฐในหลายประการ ได้แก่
(ก) การสร้างพลเมืองดีของรัฐ เช่น สำนึกในบุญคุณของแผ่นดิน ยินดีเสียภาษีและการเสียสละอื่น สำนึกในความชอบธรรมของรัฐ รวมทั้งเกิดความรักชาติ
(ข) สร้างสำนึกการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เช่นขยันหมั่นเพียรปฏิบัติหน้าที่การงานของตน ไม่กระทำการอันเป็นอันตรายต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ลักขโมย มีมารยาทอันดีงาม
(ค) เป็นคนงานที่ดีในทางเศรษฐกิจ มีความรู้ความสามารถตามที่ตลาดแรงงานต้องการ
(ง) มีรสนิยมที่ดี ได้แก่ รสนิยมแบบเมืองที่เป็นศูนย์กลางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม
การควบคุมระบบการศึกษาของรัฐโดยผ่านงบประมาณ (ในประเทศพัฒนาแล้วงบประมาณก้อนใหญ่มาจากรัฐบาลท้องถิ่น) ที่สามารถกำหนดนโยบายการศึกษาของชาติได้ ที่ลึกลงไปเป็นการควบคุมผ่านหลักสูตรและวิชาครู ในด้านหลักสูตรซึ่งรวมทั้งการมีข้อสอบมาตรฐานนั้นโดยพื้นฐานจะเอื้อต่อความมั่นคงของรัฐ
ในระยะหลังมีการสร้างหลักสูตรที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน เป็นหลักสูตรที่ถือเด็กเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้ถือตัวหลักสูตรเป็นศูนย์กลางเหมือนที่เคยปฏิบัติ
แต่หลักสูตรแบบถือเด็กเป็นศูนย์กลางนี้ ในเนื้อแท้ก็ยังคงเป็นหลักสูตรที่เอื้อต่อรัฐเหมือนเดิม เพียงแต่ว่ามีการปรับเปลี่ยนใหม่ตามความต้องการของตลาดแรงงานที่ต้องการแรงงานที่มีความคิดริเริ่ม และพัฒนาศักยภาพของตนเองเต็มที่เพื่อการแข่งขันเท่านั้น
สำหรับในด้านวิชาครูนั้น การเกิดวิชาครูจะด้วยเหตุผลข้ออ้างใดก็ตาม เนื้อหาสำคัญมีอยู่ว่าต้องมีการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นครู ว่าจะต้องผ่านการฝึกอบรมที่เข้มข้นก่อน เพื่อเป็นผู้ปฏิบัติการหลักในการรักษาระบบการศึกษาของรัฐไว้
การดูแลจัดการระบบการศึกษาของรัฐนั้น ครอบคลุมตั้งแต่ระดับล่างสุดคือการหัดเขียน ก.ไก่ ข.ไข่ ไปจนถึงการวิจัย การผลิตความรู้ในสถาบันการศึกษาชั้นสูง
ในปัจจุบันภาคเอกชนมีบทบาททางการศึกษามากขึ้น รวมทั้งแนวคิดเรื่องเสรีภาพทางวิชาการที่ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐจะมีอำนาจลดลง แต่ในแก่นแท้แล้วก็ยังคงมีอิทธิพลครอบงำอยู่ โดยการผ่านกลไกการดูแลจัดการต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว รวมทั้งการประเมินมาตรฐานของสถาบันการศึกษา ซึ่งช่วยในการจัดระเบียบการศึกษามากขึ้น
แม้ว่าจะมีการทุ่มงบประมาณ การดูแลจัดการหลายรูปแบบ แต่ระบบการศึกษาทั่วโลกดูจะมีปัญหามาก และหลายแห่งรวมทั้งในประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ ยากที่จะดำเนินต่อไปได้เช่นเดิม
วิกฤติการศึกษาแสดงออกหลายประการ ได้แก่ การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงว่าระบบการศึกษานั้นมักก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติของชาติได้ เนื่องจากเป็นระบบใหญ่อุ้ยอ้าย มักมีทัศนะท่าทีตามรัฐนิยม
อย่างในกรณีวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ก็ไม่ได้มีการกล่าวเตือนจากสำนักศึกษาที่มีชื่อเสียง เมื่อเกิดวิกฤติแล้วก็แก้ไขไปตามอาการจนป่านนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัว กล่าวได้ว่าเป็นวิกฤติเชิงมหภาค
อีกประการหนึ่งเป็นวิกฤติเชิงจุลภาค แสดงออกที่การศึกษาไม่สามารถแก้ปัญหาของส่วนบุคคลได้ เช่น การมีงานทำ การมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับเหมือนเช่นเดิม ทั้งยังมีราคาแพงขึ้นมาก ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ได้รับการศึกษาสูงมากขึ้น เกิดการแข่งขันที่จะมีการศึกษาสูงกว่าผู้อื่น ต้องกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น เป็นการแข่งขันที่ให้ผลตอบแทนลดลง
อีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดการย้ายฐานอุตสาหกรรมและการจ้างงานไปที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ ส่วนในประเทศพัฒนาแล้วทั้งในยุโรปและสหรัฐเกิดการว่างงานสูงอย่างยืดเยื้อ
ในสหรัฐเมื่อทศวรรษที่ผ่านมานักศึกษาน้อยกว่า 1 ใน 3 กู้เงินเพื่อการศึกษา แต่ในปี 2008 นักศึกษาที่กู้เงินมาเรียนในระดับปริญญาตรีถึงร้อยละ 67 จำแนกได้ดังนี้ ร้อยละ 62 ของผู้จบการศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐกู้เงินเพื่อการศึกษาเฉลี่ย 20,200 ดอลลาร์ ร้อยละ 72 ของผู้จบการศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนกู้เงินเฉลี่ย 27,650 ดอลลาร์ ร้อยละ 96 ของผู้จบการศึกษามหาวิทยาลัยที่ประกอบการเพื่อกำไร กู้เงินเฉลี่ย 33,050 ดอลลาร์ (ดูบทความของ Kathy Kristof ชื่อ Debt in America: Students Buried in Education Loan ใน cbs.com 260711)
ปัจจุบันหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาของนักศึกษามียอดสูงกว่าหนี้บัตรเครดิตเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ประมาณว่าทะลุหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์ และอาจกลายเป็นวิกฤติหนี้ใหญ่ของสหรัฐได้
รัฐกับศาสนาความเชื่อ
รัฐกับศาสนามีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน โดยมีกำเนิดและจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน แต่ก็ได้เข้ามาเชื่อมประสานกันได้อย่างน่าทึ่ง บางครั้งแนบแน่น บางครั้งแย่งอำนาจ และบางทีก็ห่างกัน
ในด้านศาสนานั้น เมื่อมนุษย์ไม่สามารถค้นพบศักยภาพและความหมายของชีวิตตนเอง ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับการทำงานของเขา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และมนุษย์กับธรรมชาติ เขาได้เข้าไปหลบภัยอยู่ในศาสนา ที่เป็นเหมือนโลกเสมือนจริงที่ยังไม่เป็นจริง หรือไม่อาจเป็นจริงขึ้น ภายใต้โครงครอบของศาสนา มนุษย์ได้ความรู้สึกกระตือรือร้น ได้หลักแห่งศีลธรรม และฐานะตำแหน่งของตนในธรรมชาติ
รัฐที่ถือกำเนิดขึ้นจากความรุนแรง เพื่อจัดลำดับความสัมพันธ์ของคนในสังคมให้มั่นคง พ้นจากความเป็นอนารยชน หรือช่วยพัฒนาผู้คนขึ้น แต่ก็เพื่อทำให้กลายเป็นพลเมืองดี สมาชิกที่ดีของสังคม และคนงานที่ดีของตลาดเป็นสำคัญ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในช่วงเริ่มต้นเป็นในทำนองว่า รัฐเข้าโอบอุ้มและประทับตรายอมรับศาสนาในรูปแบบต่างๆ ทำให้บรรดานักบวชในศาสนานั้นๆ ได้มีอิทธิพล ความมั่งคั่ง ขณะที่เหล่านักบวชผู้ทรงอิทธิพลนี้ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบรัฐ
ต่อมา เมื่อมีการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และปฏิวัติอุตสาหกรรม อิทธิพลของศาสนาลดลง เกิดยุคสมัยใหม่ต้องการแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน สร้างรัฐที่เป็นแบบโลกวิสัย (Secular) ขึ้น แต่ศาสนาก็ยังคงมีบทบาทและอิทธิพลสูง จนกระทั่งมีผู้เสนอแนวคิดเรื่องการปะทะกันทางอารยธรรม ซึ่งเนื้อหาใหญ่คือการปะทะกันทางศาสนา นั่นคือการเมืองหันไปใช้ศาสนาเป็นอาวุธสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เช่น การเสนอยุทธศาสตร์ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น
การปะทะกันทางอารยธรรมหรือทางศาสนานี้ดูคล้ายจะทำให้โลกย้อนกลับสู่ยุคกลางของยุโรป และนี่ไม่น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีอะไร
++
วิกฤติสื่อมวลชน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 36
สื่อมวลชนตะวันตกเกิดขึ้นในท่ามกลางการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม การผลิตปริมาณมาก (Mass Production) และการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน และได้แสดงบทบาทต่างกันไปตามสถานการณ์
โดยในช่วงแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 15-18 สนับสนุนการค้า การลงทุน การสำรวจบุกเบิกและการคิดค้น การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ เรื่องทางด้านศาสนาและการปฏิรูปศาสนา การสร้างรูปการจิตสำนึกแบบทุนและแสงสว่างทางปัญญา และการปฏิวัติประชาธิปไตย
หลังจากนั้น ในศตวรรษที่ 19 เสริมความเข้มแข็งของระบบทุนและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนระบบอาณานิคม เช่น ในบทกวีที่ใช้ถ้อยคำว่า "ภาระคนผิวขาว" ("White Man"s Burden" by Rudyard Kipling, เผยแพร่ปี 1899) และรัฐชาติ เพื่อลดทอนความขัดแย้งในหมู่ประเทศตะวันตกด้วยกัน
รวมทั้งการต่อต้านขบวนการกรรมกรและสังคมนิยม
แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้นัก จนเกิดสงครามโลกขึ้นถึง 2 ครั้ง เกิดรัฐสังคมนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก และประเทศอาณานิคมทั่วโลกได้ต่อสู้จนได้รับอิสรภาพ
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สื่อมวลชนมีความหลากหลายมากขึ้น กล่าวจากจุดของประเทศตะวันตกได้ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
การทำสงครามเย็นต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์
การเผยแพร่แนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่เริ่มต้นในทศวรรษที่ 1980
และสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในต้นศตวรรษที่ 21 จนถึงปัจจุบัน
สำหรับสื่อมวลชนในที่อื่นได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากอิทธิพลของตะวันตก แต่ก็มีลมหายใจของตนเอง โดยทั่วไปมีลักษณะประชาชาติ ประชาธิปไตย ค้นหาวิถีการพัฒนาประเทศตามสถานการณ์ความเหมาะสม กระทั่งสร้างระบบสังคมใหม่ขึ้น
เช่น ในรัสเซีย พรรคบอลเชวิกได้ผลิตหนังสือใต้ดินเพื่อการปฏิวัติจากระบบซาร์ในรัสเซียหลายฉบับ ที่รู้จักกันดีได้แก่ "ประกายไฟ" หรือ Iskra เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ปี 1900 มีคำขวัญว่า ประกายไฟไหม้ลามทุ่ง
และ "สัจจะ" หรือ Pravda เผยแพร่ปี 1912 แต่มีประวัติย้อนหลังไปถึงปี 1908 เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วได้เป็นกระบอกเสียงสำคัญของรัฐบาลในการต่อสู้ในสงครามเย็นกับตะวันตก จนขณะนี้ก็ยังดำรงอยู่ ในช่วงการปฏิวัติ หนังสือพิมพ์ทั้ง 2 เล่มนี้ตีพิมพ์ในต่างประเทศ แล้วลักลอบมาเผยแพร่ในประเทศ
ในประเทศไทย เทียนวรรณ นักหนังสือพิมพ์รุ่นแรกๆ ได้เขียนคำกลอนเรียกร้องประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาว่า "ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ/ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ/แม้นิ่งช้าล้าหลังยังไม่ทำ/จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย" (เสนอในปี พ.ศ.2450 สมัยรัชกาลที่ 5)
เหตุปัจจัยของวิกฤติสื่อมวลชน
ในศตวรรษที่ 21 ดูเหมือนว่าสื่อมวลชนกระแสหลักที่เคยทรงอานุภาพ สามารถหันเหประชามติโลก ไม่อาจทำได้เช่นนั้นได้อีกต่อไป วิกฤติสื่อมวลชนมีเหตุปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1) การตื่นตัวของประชาชนทั่วโลก ที่ต้องการความเป็นธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอนาคตที่ดีกว่า โดยเฉพาะการดิ้นรนของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการเป็นอิสระจากการกดขี่ทางเศรษฐกิจ-การเมืองในรูปแบบต่างๆ
2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร ที่ควรกล่าวถึงคือการแพร่หลายของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และการใช้อินเตอร์เน็ตที่แพร่ไปทั่วโลกในทศวรรษ 1990 ทำให้การสร้าง การเก็บ และการกระจายข่าวสาร มีความสะดวกและราคาถูกลงเป็นอันมาก เปิดทางให้ขบวนการสังคมใหม่และฝ่ายมวลชนรากหญ้าสามารถสร้างสื่อที่มีขนาดเล็ก เชื่อมต่อเพื่อสู้กับสื่อกระแสหลักได้
อนึ่ง สื่ออินเตอร์เน็ตนี้จำเป็นสำหรับโลกาภิวัตน์ ทั้งยังก่อให้เกิดอุตสาหกรรมข่าวสารและการสื่อสารที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น บรรษัทสร้างคอมพิวเตอร์ และ ซอฟต์แวร์ การสร้างและส่งดาวเทียมสื่อสาร ไปจนถึงบรรษัทด้านสื่อสังคมออนไลน์ มี กูเกิล เป็นต้น ที่นักเคลื่อนไหวและมวลชนรากหญ้านำมาใช้ประโยชน์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดหรือต้องการมาก่อน
ขณะนี้รัฐบาลทั่วโลกรวมทั้งในประเทศพัฒนาแล้วกำลังหาทางจัดการให้สื่ออินเตอร์เน็ตเอื้อต่อการค้าและการลงทุนของบรรษัทมากขึ้น เช่น การจับเว็ปที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ขณะเดียวก็พยายามสอดแนม จำกัดและสั่งปิดเว็บที่ไม่พึ่งประสงค์เป็นจำนวนมาก สมรภูมิไซเบอร์สเปซจึงนับว่าร้อนระอุขึ้นทุกที
3) สื่อและรัฐที่ควบคุมสื่อเหินห่างมวลชน กลายเป็นสื่อและรัฐเพื่อการโฆษณา ไม่ใช่สื่อมวลชน ความเชื่อถือของมวลชนต่อข่าวสารที่สื่อกระแสหลักเสนอลดลง เกิดจากวิกฤติศรัทธาอันแก้ไขยาก
และน่าจะเป็นสาเหตุวิกฤติที่สำคัญที่สุด
วิกฤติสื่อมวลชน : กรณีของสหรัฐ
สหรัฐได้ชื่อว่าเป็นประทีปแห่งเสรีภาพ สื่อมวลชนสหรัฐเป็นแบบอย่างของความมีเสรีของสื่อสำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ก็มีนักวิชาการทางด้านสื่อสารมวลชนและนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพชาวสหรัฐจำนวนเพิ่มขึ้นได้ชี้ให้เห็นว่า สื่อมวลชนในสหรัฐนั้นหาได้มีเสรีภาพดังที่แสดงภาพลักษณ์ไว้ไม่
หากแต่ยังคงมีการเซ็นเซอร์ข่าวสารไม่ต่างกับในประเทศกำลังพัฒนา เพียงแต่ว่ากระทำอย่างแนบเนียน เนื่องจากเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง เหมือนรัฐไม่เกี่ยวข้อง
วิกฤติสื่อมวลชนสหรัฐมีรายละเอียดมาก ในที่นี้กล่าวในด้านเศรษฐกิจ-การเมืองตามการเคลื่อนไหวและการตีความ อาจแบ่งเป็น 3 ระยะด้วยกัน เพื่อให้เห็นภาพโดยง่ายดังนี้
1. ช่วงขบวนการซ้ายใหม่ (New Left เข้มข้นทศวรรษ 1960 ค่อยแผ่วในทศวรรษ 1970) ซึ่งแกนนำเป็นขบวนการนักศึกษาที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์อีกจำนวนไม่มาก ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิประชาชน การปฏิรูประบบการศึกษา และต่อต้านสงครามเวียดนาม ที่เรียกว่าซ้ายใหม่ อธิบายว่าต่างกับซ้ายเก่าที่เป็นการเคลื่อนไหวในประเด็นของคนงานเป็นสำคัญ
สำหรับซ้ายใหม่ต่อสู้กับภาวะแปลกแยก การขาดปทัสถานหรือหลักคุณค่าทางสังคม ทำให้สังคมเกิดภาวะแตกแยก (Anomie) และลัทธิรวบอำนาจ (Authoritarianism)
การเคลื่อนไหวที่สำคัญ ได้แก่ การเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการแสดงออก (1964-1965) การต่อต้านกลุ่มอำนาจนำ (Establishment) ผู้นำการเคลื่อนไหว เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้ลูก มัลคอล์ม เอกซ์ รวมทั้งการเผยแพร่หนังสือ "การขัดขืนและประชาธิปไตย" โดยโฮเวิร์ด ซินน์ (ปี 1968) การต่อต้านสงครามเวียดนาม
เกิดการนิยมผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเช่น เหมาเจ๋อตง โฮจิมินห์ และคาสโตร และขยายการต่อสู้นี้ไปเพื่อคนผิวสีและชนชาติส่วนน้อยอื่น เช่น สนับสนุนการเคลื่อนไหวพรรคพยัคฆ์ทมิฬ (Black Panther Party) มีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนผิวดำอย่างคึกคักในทศวรรษ 1960 และ 1970
สำหรับขบวนการซ้ายใหม่ในยุโรปดำเนินไปอย่างคึกคักในเยอรมนี และส่งผลกระทบอย่างสูงที่ฝรั่งเศส ในการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะปฏิวัติจนโค่นรัฐบาลนายพลเดอโกลได้ในการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 1968 ซึ่งบางคนเห็นว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองโลกตะวันตก
2. ช่วงโครงการข่าวเซ็นเซอร์ (Project Censored เริ่มปี 1976) ขบวนการซ้ายใหม่ทำให้เกิดความรู้สึกทั่วไปว่าเสรีภาพในสหรัฐไม่ได้งดงามอย่างที่วาดไว้ ในปี 1976 ได้มีศาสตราจารย์ทางด้านวารสารศาสตร์ท่านหนึ่งคือ คาร์ล เจนเซน ได้เป็นหัวแรงในการจัดทำโครงการนี้ขึ้นในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย โดยเล็งเห็นว่าการเสนอข่าวของสื่อมวลชนสหรัฐนั้นมีการเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างหนัก
ข่าวหลายข่าวที่เป็นข่าวสำคัญมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กลับไม่ได้มีการนำเสนอเท่าที่ควร
ถึงปี 1993 โครงการนี้ได้จัดทำข่าวเซ็นเซอร์ 25 ข่าวต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงแรกเป็นที่ฮือฮาและมีผู้กล่าวถึงกันมาก ข่าวที่ถูกเซ็นเซอร์นี้มักมีลักษณะการเมืองแนวซ้าย วิพากษ์บรรษัทใหญ่ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม กระทรวงกลาโหมสหรัฐ และการทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเป็นพันธมิตรกับฝ่ายซ้ายในทางภววิสัย แม้ว่าจะประกาศตัวว่าเป็นเพียงโครงการทางสื่อมวลชนแบบเจาะลึกและเป็นกลางเป็นวิชาการ
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังเมื่อมีวิทยุ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก ที่ได้เปิดโปงสื่อมวลชน และมีลักษณะสู้รบกว่า โครงการนี้ก็ลดระดับความดังลงด้วย
เพื่อให้เห็นผลงานล่าสุด ขอยกตัวอย่างข่าวเซ็นเซอร์ 5 อันดับแรกจากทั้งหมด 25 ข่าวในปี 2012 ได้แก่
1. ทหารสหรัฐฆ่าตัวตายมากกว่าตายในการรบ
2. กองทัพสหรัฐชักใยสื่อสังคมออนไลน์
3. โอบามาอนุญาตให้มีการลอบสังหารข้ามชาติ ซึ่งมีชาวอเมริกันถูกซีไอเอลอบสังหารไปอย่างน้อย 2 คนตามโครงการนี้
4. วิกฤติอาหารโลกขยายตัว
5. บริษัทเรือนจำเอกชนให้เงินอุดหนุนออกกฎหมายต่อต้านผู้อพยพ เพื่อจะได้มีนักโทษมากๆ
3. การผลิตความยินยอม (เผยแพร่ปี 1988) ขณะที่โครงการข่าวเซ็นเซอร์ชี้ว่ามีการเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างกว้างขวาง เอ็ดเวิร์ด เอส. เฮอร์แมน ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์สื่อมวลชนและศาสตราจารย์โนม ชอมสกี นักภาษาศาสตร์ นักคิดและนักเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มอำนาจนำในสหรัฐ ได้พยายามหาคำตอบว่า เหตุใดจึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ ทั้ง 2 ได้เขียนหนังสือชื่อ การผลิตความยินยอม (Edward S. Herman และ Noam Chomsky, Manufacturing Consent : The Political Economy of the Mass Media, 1988) ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือคลาสสิคในการวิพากษ์สื่อมวลชนสหรัฐ มีการทำเป็นภาพยนตร์สารคดีออกเผยแพร่จนถึงปัจจุบัน
อาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้แสดงแบบจำลองการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda Model) เพื่อใช้วิจารณ์สื่อมวลชนสหรัฐว่า เนื่องจากมีความไม่เท่าเทียมกันในความมั่งคั่งและอำนาจ ก่อให้เกิดผลกระทบหลายระดับต่อผลประโยชน์ของสื่อมวลชน ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการสร้างเครื่องกรองหลายชั้น เพื่อคัดกรองข่าวสารที่เหมาะสำหรับตีพิมพ์ออกไป ลดทอนข่าวสารที่ก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจให้น้อยที่สุด และเปิดทางให้รัฐบาลและกลุ่มผลประโยชน์ผู้มั่งคั่งและมีอำนาจ ส่งสารไปยังสาธารณชน
เครื่องกรองนี้ทั้งหมดมี 5 ชั้นด้วยกัน สามารถคัดกรองข่าวหรือเซ็นเซอร์ตนเองได้หมดจด ไม่ต่างกับสื่อมวลชนในประเทศกำลังพัฒนา เครื่องกรองดังกล่าว ได้แก่
1. ขนาดและการรวมศูนย์เป็นเจ้าของสื่อในกลุ่มน้อยนิด ก่อให้เกิดการคำนึงถึงผลประโยชน์ของเจ้าของและกำไรของบริษัทสื่อนั้นๆ เหนือสิ่งอื่น
2. การโฆษณาสินค้าได้กลายเป็นรายได้หลักของสื่อมวลชน ดังนั้น สื่อมวลชนจึงต้องช่วยรักษาผลประโยชน์ของผู้โฆษณาโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่ๆ ด้วย
3. การที่สื่อมวลชนต้องพึ่งแหล่งข่าวจากรัฐบาล บริษัทธุรกิจ และ "ผู้เชี่ยวชาญ" สร้างเป็นสายสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ต่างตอบแทนขึ้น
4. การวิพากษ์โจมตี ซึ่งจะเป็นการจัดแถวสื่อมวลชนให้อยู่ในระเบียบ
5. ข้ออ้างเรื่องต่อต้านคอมมิวนิสต์ และในปัจจุบัน ได้แก่ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย
ทั้ง 2 ได้สรุปว่า ในทางแก่นแท้แล้ว สื่อมวลชนสหรัฐที่เป็นของบรรษัท ขายผลผลิตซึ่งได้แก่ ผู้อ่านและผู้รับชม ให้กับบริษัทต่างๆ
สื่อมวลชนระดับชาติมักเสนอและรับใช้ทัศนะของชนชั้นนำและกลุ่มที่สามารถสนองการลงโฆษณาได้สูงสุด
สื่อมวลชนในสหรัฐเป็นสถาบันทางอุดมการณ์ที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสนับสนุนระบบที่เป็นอยู่โดยการขึ้นต่ออำนาจของตลาด การยึดถือภายในองค์กร และการเซ็นเซอร์ตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การครอบงำนี้ย่อมไม่อาจเป็นอย่างสัมบูรณ์ เช่น ไม่สามารถกลบเกลื่อนพิษภัยน่าสยดสยองของสงครามเวียดนามได้ ช่องทางยังเปิดให้การสื่อสารในชุมชนและของมวลชนอยู่
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย