http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-03

ทหารฯ : ก่อน..,..หลัง 14 ตุลาคม 2516 โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.


ทหารกับการเมืองไทย : ยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1626 หน้า 36


"อดีตคือบทเริ่มต้น... ทหารต้องมีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องของอดีตเพื่อที่จะเข้าใจปัจจุบัน
และจะทำให้มองเห็นตัวเขาเองได้ในอนาคต "
กองทัพบกสหรัฐอเมริกา
PAM 200-20, 1956


โดยปกติแล้ว เรามักจะกล่าวถึงผลพวงของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในฐานะของการเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยร่วมสมัย

ซึ่งสถานะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยครั้งสำคัญในปี พ.ศ.2475 แล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีสถานะอะไรมากไปกว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ โดยมีรัฐประหารเป็นเครื่องมือหลักเพื่อการเปลี่ยนผู้ถือครองอำนาจ

และยิ่งเปลี่ยนมากเท่าใด การเมืองไทยก็ยิ่งมีความอนุรักษนิยมมากขึ้นเท่านั้น

ดังจะเห็นได้ว่า ผลพวงของการเปลี่ยนแปลงที่เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็น "การปฏิวัติทางการเมือง" ในปี 2475 นั้น มีอายุยืนยาวเพียง 15 ปีเท่านั้น!

ใครจะคิดบ้างว่าการยึดอำนาจของผู้นำทหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 นั้น คือการปิดฉากของการปฏิวัติ 2475 ลงอย่างไม่น่าเชื่อ

และใช่แต่เพียงเท่านี้ หากยังเป็นการฟื้นตัวอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกันของกลุ่มอำนาจก่อน 2475 ที่ดูเหมือนจะ "ถูกกวาด" ออกไปจากเวทีการเมืองไทยแล้ว

แต่กลับใช้เวลาเพียง 15 ปีก็สามารถกวาดพวก 2475 ออกไปจากเวทีการเมืองไทยได้โดยไม่ยากนัก



รัฐประหาร 2490 จึงเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นสัมพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยมก่อน 2475

และประเด็นสำคัญก็คือ กลุ่มอนุรักษนิยมนี้เรียนรู้บทเรียนสำคัญจากความเปลี่ยนแปลงในปี 2475 ว่า อำนาจที่จะใช้เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยนั้นคือพลังอำนาจทางทหาร

กล่าวคือ ถ้าพวกเขายังสามารถยึดกุมอำนาจของทหารในกองทัพได้แล้ว จะไม่มีโอกาสที่พวกกลุ่ม 2475 จะ "เจาะ" เข้าไปขยายผลทางความคิด จนทำให้ผู้นำทหารและทหารส่วนหนึ่งตัดสินใจเข้าร่วมเพื่อหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในระบอบการเมืองของประเทศ

นอกจากนี้ ถ้าพวกเขายังยึดกุมอำนาจในกองทัพได้อย่างแท้จริงแล้ว โอกาสที่จะทำให้ "ปฏิบัติการต่อต้านการปฏิวัติ" ประสบความสำเร็จตั้งแต่ในช่วงต้นนั้น อาจจะไม่ยากเย็นอะไรเลย หรืออย่างน้อยก็จะทำให้ "ปฏิบัติการบวรเดช" กลายเป็นชัยชนะของกลุ่มอำนาจเก่า และไม่ได้มีฐานะเป็น "กบฏบวรเดช" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเช่นที่ปรากฏในตำราเรียนปัจจุบัน

ดังนั้น เพียงแต่ถ้าพวกเขาคุมกองทัพได้จริงแล้ว เหตุการณ์ 2475 ก็จะไม่แตกต่างกับ "กบฏ ร.ศ. 130" ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทหารส่วนหนึ่งตัดสินใจที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พวกเขาเริ่มต้นคิดกันในประมาณปี พ.ศ.2452 และทำการเคลื่อนไหวภายในกองทัพในหมู่นายทหาร แต่ด้วยความหละหลวม และไม่ตระหนักถึงระบบงานแบบปิดลับขององค์กรจัดตั้งทางการเมือง ข่าวความเคลื่อนไหวจึงเริ่มรั่วไหลไปถึงรัฐบาล และตามมาด้วยการที่รัฐบาลส่งสายลับแทรกซึมเข้ามาในองค์กรนี้

เดาได้ไม่ยากนักว่า ชะตากรรมของพวกเขาจะจบลงอย่างไรในสถานการณ์ "เสียลับ"... ในปี 2454 (ร.ศ.130) กลุ่มผู้นำทหารที่คิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองชุดแรกของสยามก็ถูกกวาดจับทั้งหมด จากความเป็นนายทหาร พวกเขาได้เปลี่ยนสถานะเป็น "นักโทษการเมือง" ชุดแรกของการเมืองสยามสมัยใหม่

แต่ดูเหมือนกลุ่มอำนาจเก่าจะไม่ตระหนักว่า หน่ออ่อนของความต้องการเห็นสยามเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ระบอบการเมืองสมัยใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐานของการปกครองนั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วในกองทัพไทย

การกวาดจับกลุ่ม "กบฏ ร.ศ.130" อาจจะหยุดการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่เหลือนายทหารคนอื่นๆ ที่คิดในทำนองเดียวกัน



ในต้นปี พ.ศ.2467 ณ บ้านพักของ ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี (ยศในขณะนั้น) ที่กรุงปารีส กลุ่มนักเรียนพลเรือนและนักเรียนทหารไทยรวม 7 นาย ได้พูดคุยอย่างต่อเนื่องกันถึง 5 วัน ข้อสรุปตรงไปตรงมาก็คือ ต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม !

พวกเขาประสบความสำเร็จในเดือนมิถุนายน 2475 (21 ปีหลังจากความล้มเหลวของกลุ่ม ร.ศ.130) แต่ก็เป็นความสำเร็จอันเปราะบางยิ่ง เพราะด้วยความแตกแยกภายใน และกลุ่มทหารบางส่วนยังคงยึดติดอยู่กับอุดมการณ์อนุรักษนิยม ซึ่งต่อมากลุ่มทหารนี้ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของการฟื้นอำนาจของกลุ่มเก่าก่อน 2475

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มพลเรือน (ที่นำโดย อาจารย์ปรีดี พนมยงค์) และกลุ่มทหาร (ที่นำโดยหลวงพิบูลสงคราม)

ผลของความแตกแยกเช่นนี้กลายเป็นโอกาสให้เกิดการช่วงชิงอำนาจในการควบคุมกองทัพ

ดังนั้น เมื่อโอกาสมาถึง กลุ่มอำนาจเก่าก่อน 2475 ซึ่งมีอำนาจในการควบคุมกองทัพมากขึ้น จึงร่วมมือกับผู้นำทหารทำการยึดอำนาจได้สำเร็จในเดือนพฤศจิกายน 2490

และเพียง 15 ปีเท่านั้น การเมืองของกลุ่ม 2475 ก็ปิดฉากลง แม้ผู้นำทหารบางนายหลังรัฐประหาร 2490 จะเคยเป็นผู้นำทหารในยุค 2475 มาก่อน แต่ก็นับเนื่องไม่ได้ว่าพวกเขายังดำรงความคิดเป็นพวก 2475

ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มนายทหารที่เหลืออยู่นั้น พวกเขาไม่เคยอ้างถึงอุดมการณ์ 2475 อีกต่อไป จึงถือได้ว่า "ยุค 2475" นั้นจบลงด้วยการยึดอำนาจในปลายปี 2490

และเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองแบบอนุรักษนิยมชุดใหญ่ของสังคมไทย



การเมืองหลังรัฐประหาร 2490 วนเวียนอยู่กับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในหมู่ผู้นำทหารบก แม้จะมีทหารเรือเข้ามาเป็นตัวแทรกบ้าง เช่น ในกรณีของกลุ่มนายทหารเรือที่เรียกตัวเองว่า "คณะกู้ชาติ" ได้ก่อการจับกุม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนจากกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาชื่อ "เรือแมนฮัตตัน" ในเดือนมิถุนายน 2494

ปรากฏการณ์เช่นนี้ถือเป็นตัวแบบของความขัดแย้งระหว่างกองทัพบกกับกองทัพเรือในโครงสร้างอำนาจการเมืองในขณะนั้น และกองทัพอากาศได้ตัดสินใจร่วมมือกับกองทัพบก โดยนำอากาศยานเข้าทิ้งระเบิดจะเรือดังกล่าวเกิดไฟไหม้ จนฝ่ายก่อการต้องยอมแพ้

กรณี "กบฏแมนฮัตตัน" จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้กองทัพเรือต้องถอยออกไปจากวงจรอำนาจของการเมืองไทย

แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกองทัพอากาศในการเมืองไทย

และขณะเดียวกันก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการรวบอำนาจของกลุ่มทหารบกในการเมืองไทยที่ส่งผลให้นายทหารท่านหนึ่งในกองทัพบกกลายเป็น "ดาวจรัสแสง" ในเวทีการเมือง ได้แก่ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกกรุงเทพฯ)

ว่าที่จริงพลตรีสฤษดิ์มีบทบาทอย่างสำคัญมาตั้งแต่ครั้งปราบ "กบฏวังหลวง" ในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 แล้ว การก่อเหตุและพ่ายแพ้ในครั้งนี้ถือเป็นการปิดฉากอย่างสมบูรณ์ของกลุ่มอาจารย์ปรีดีและกลุ่มเสรีไทยในการเมืองไทย

แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณในอีกด้านหนึ่งว่า กลุ่มทหารเรือซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับกลุ่มอาจารย์ปรีดีจะเป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มทหารบก

ดังนั้น การกวาดล้างจับกุมกลุ่มนายทหารเรือจากกรณีกบฏแมนฮัตตันจึงเป็นโอกาสให้กองทัพบกผลักดันจนอำนาจของกลุ่มทหารเรือในการเมืองไทยต้องยุติลง

สถานการณ์เช่นนี้ก็ยิ่งทำให้บทบาทของ พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น และดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1) สูงเด่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะของผู้คุมกำลังทหารราบและทหารม้า ที่ใช้รถถังยิงถล่มที่มั่นของกลุ่มทหารเรือที่กองสัญญาณทหารเรือ จนได้รับชัยชนะ...

กำลังทหารเรือถูกย้ายออกไปอยู่นอกเขตเมืองหลวงที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และกองสัญญาณทหารเรือที่ถนนวิทยุ ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร (ปัจจุบันคือสวนลุมไนท์บาร์ซาร์)



หลังกรณีกบฏแมนฮัตตันก็ยังมีความขัดแย้งดำรงอยู่ภายในกลุ่มผู้นำ แต่ก็แตกแยกเป็นขั้วทหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ และมีฐานที่มั่นหลักคือบ้านพักของผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นที่แยกเทเวศร์ หรือถูกเรียกกันว่าเป็น "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์"

และขั้วตำรวจที่นำโดย พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ มีฐานหลักอยู่ที่บ้านพักของตระกูลชุณหะวัณที่ซอยราชครู หรือรู้จักกันในชื่อของ "กลุ่มราชครู"

ความขัดแย้งของผู้นำทหารและตำรวจชุดนี้จบลงด้วยวิธีการเก่าของการเมืองไทยด้วยการยึดอำนาจของกลุ่มทหาร โดยจอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจล้มรัฐบาลด้วยการรัฐประหารในเวลา 23:00 น. ของคืนวันที่ 16 กันยายน 2500

ในขณะที่จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีเองก็รู้ข่าวถึงการรัฐประหารที่จะเกิดขึ้น และได้เตรียมลงมือจับกุมจอมพลสฤษดิ์ในเวลา 24:00 น. ของคืนวันที่ 16 กันยายน เช่นกัน

มีคำอธิบายในภายหลังว่า ต่างฝ่ายต่าง "ถือฤกษ์" ที่แตกต่างกัน แต่ระยะเวลาที่แตกต่างกัน 1 ชั่วโมงนั้นก็เปลี่ยนโฉมหน้าของการเมืองไทย และทำให้จอมพลสฤษดิ์เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้อำนาจของกองทัพบกในการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น และก็ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วยว่า ศูนย์อำนาจนั้นรวมอยู่กับตัวจอมพลสฤษดิ์ แต่เขาก็ป่วยและต้องเดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา

แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2500 ที่กลุ่มทหารไม่สามารถควบคุมการเมืองในระบบรัฐสภาได้ จอมพลสฤษดิ์จึงตัดสินใจทำรัฐประหารครั้งที่ 2 โดยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ได้มีการประชุมผู้นำทหาร และในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าว พลเอกถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลลาออก และในเวลา 21:00 น. ของวันดังกล่าว จอมพลสฤษดิ์ก็ประกาศยึดอำนาจ

ผู้นำทหารหลังยุค 2500-2501 ล้วนแต่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมเป็นอย่างยิ่ง



ถ้ารัฐประหาร 2490 เป็นการปูทางให้แก่กลุ่มอนุรักษนิยมกลับเข้าสู่เวทีการเมืองไทยหลัง 2475... รัฐประหาร 2501 ก็คือการตอกย้ำให้การเมืองไทยทวีความอนุรักษ์มากยิ่งขึ้น ทั้งในมิติการเมืองภายในและภายนอก

และขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญระหว่างผู้นำทหารกับชนชั้นนำอนุรักษนิยม

เพราะหากปราศจากพลังอำนาจทางทหารแล้ว กลุ่มอนุรักษนิยมแบบเก่าจะหมดพลังไปตั้งแต่ยุคหลัง 2475 แล้ว

แต่ด้วยเพราะอำนาจทางการเมืองของกองทัพ พวกเขาสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ได้ไม่ยากนัก ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร 2490 และตามมาอีกครั้งด้วยรัฐประหาร 2501

การผสมผสานอำนาจของกลุ่มทหารกับอำนาจของกลุ่มอนุรักษนิยมหลังรัฐประหาร 2501 ทำให้รัฐบาลทหารไทยเป็นตัวแบบของรัฐทหารเต็มรูป แม้จอมพลสฤษดิ์จะถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 แต่ก็มีการสืบทอดอำนาจโดยพลเอกถนอม (ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นจอมพล)

ดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งของโลกและของสังคมไทยจะท้าทายต่ออำนาจของทหารในการเมือง และต่อพลังอำนาจของอุดมการณ์อนุรักษนิยมในการบริหารจัดการการเมืองของประเทศ

ความท้าทายเช่นนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้นำทหารเก่า พวกเขาคิดได้เพียงรับมือกับความท้าทายใหม่ด้วยวิธีการเก่าคือ ใช้กำลังทหารเข้าจัดการกับสิ่งที่ถูกถือว่าเป็น "ภัยคุกคาม" ไม่ต่างกับการใช้กำลังล้อมปราบในกรณีกบฏวังหลวง หรือกบฏแมนฮัตตัน

แต่ผลครั้งนี้แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง สังคมไม่ตอบรับกับการใช้กำลังของทหาร การปราบปรามการชุมนุมของประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 กลายเป็นการพ่ายแพ้ในตัวเอง หรืออย่างที่สำนวนภาษาอังกฤษกล่าวว่าเป็น "จุดเริ่มต้นของจุดจบ" (The beginning of the end) สำหรับรัฐบาลทหาร

แม้รัฐบาลทหารจะถูกโค่นล้มลง แต่กลุ่มพลังอนุรักษนิยมและอุดมการณ์ที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่รัฐประหาร 2490 กลับยังคงความเข้มแข็งในสังคมไทย

และจบลงด้วยเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519!



++

จากยังเติร์กสู่บูรพาพยัคฆ์ : ทหารหลัง 14 ตุลาคม 2516
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 36


"การจะเป็นนายทหารที่ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องรู้ประวัติศาสตร์
และต้องอ่านประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน...
สิ่งที่จะต้องรู้ก็คือ มนุษย์มีพฤติกรรมตอบโต้ต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร "
จดหมายจากพ่อถึงลูก
นายพลจอร์จ แพตตัน
6 มิถุนายน 2497


การเปลี่ยนแปลงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ใช่ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่ต่อการเมืองไทยเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อกองทัพไทยด้วย เพราะกองทัพไทยในช่วงก่อน 14 ตุลาฯ นั้น นายทหารในกองทัพอยู่ในบริบทการเมืองแบบที่มีรัฐบาลทหารเป็นผู้ปกครอง

ในเงื่อนไขเช่นนี้กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลทหาร ผู้นำทหารระดับสูงจึงมักจะสวม "หมวก 2 ใบ"

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขาเป็นทั้งผู้นำการเมืองและผู้นำกองทัพพร้อมกันไป

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องของการควบคุมทหารโดยพลเรือน (civilian control) อย่างที่วิชารัฐศาสตร์กล่าวถึง หากแต่เป็นการควบคุมทหารโดยทหาร

หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือ การควบคุมโดยรัฐบาลทหารนั่นเอง ซึ่งโดยหลักการก็ไม่แตกต่างกันที่กองทัพมีสถานะเป็น "กลไกการเมือง" มากกว่าจะได้รับอนุญาตให้มีฐานะเป็นอิสระทางการเมือง เพราะมิฉะนั้นแล้ว ผู้นำกองทัพเองก็อาจจะกลายเป็นคู่แข่งขันทางการเมืองกับผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหารได้

และขณะเดียวกัน การควบคุมนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้นำกองทัพมีอิสระในฐานะ "รัฐซ้อนรัฐ" และหวนกลับมาตัดสินใจยึดอำนาจจากรัฐบาลทหารเสียเอง

ดังนั้น ในยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผู้นำรัฐบาลอย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ตลอดจน จอมพลประภาส จารุเสถียร จึงควบคุมกองทัพไว้ในมือ และด้วยการมีสองสถานะคือ เป็นทั้งผู้นำรัฐบาลและผู้นำทหาร

และในขณะเดียวกันผู้นำทหารอีกส่วนหนึ่งก็ถูกดึงเข้าร่วมเป็นรัฐบาลด้วย ดังนั้น โอกาสที่จะมีผู้นำทหารที่เป็นอิสระจากรัฐบาลทหารจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อจอมพลถนอมได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เขาได้สละตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้แก่จอมพลประภาส และดำรงตำแหน่งในกองทัพเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่เพียงตำแหน่งเดียว

แต่ในทางการเมืองก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศควบกันไปรวมถึง 3 ตำแหน่ง (นายกฯ, รมว.กห. และ รมว. กต.)

ส่วนจอมพลประภาสนั้น นอกจากจะเป็นผู้บัญชาการทหารบกแล้ว ก็ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบคู่กันไป



สภาพเช่นนี้อธิบายได้แต่เพียงอย่างเดียวว่า ผู้นำทหารเข้ามาคุมรัฐบาลและคุมกองทัพอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้นำทหารสายอื่นเข้ามาเป็น "คู่แข่งขัน" ในการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้นำทหารที่ไม่ใช่สายรัฐบาลจอมพลถนอมจะก่อตัวและเติบใหญ่ในกองทัพไม่ได้ และการควบคุมเช่นนี้ยังขยายไปถึงบทบาทของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งเป็นบุตรของจอมพลถนอม และเป็นบุตรเขยของจอมพลประภาส โดยได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 ซึ่งถือว่าเป็นกรมทหารหลักของหน่วยกำลังรบในกองทัพภาคที่ 1 (คู่กับกรมทหารราบที่ 1)

ในทางการเมือง พ.อ.ณรงค์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (กตป.) อันเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชั่นในภาคราชการ

ซึ่งการขยายบทบาททั้งในทางการเมืองและการทหารเช่นนี้ ได้นำไปสู่ความขัดแย้งกับกลุ่มผู้นำทหารบางส่วน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความขัดแย้งได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้นำทหารเหล่านี้ด้วย

ดังนั้น เมื่อความขัดแย้งดังกล่าวขยายตัว ปัจจัยดังกล่าวจึงกลายเป็นรอยแยกในหมู่ผู้นำทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นจนนำไปสู่การพังทลายของรัฐบาลทหารแล้ว ก็เกิดการปรับเปลี่ยนขนาดใหญ่ภายในกองทัพ

แต่ที่สำคัญก็คือเกิดช่องว่างเป็นเสมือน "สุญญากาศแห่งอำนาจ" ภายในกองทัพไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ดังได้กล่าวแล้วว่า แต่เดิมนั้นกองทัพถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากผู้นำรัฐบาลและผู้นำทหารในทำเนียบรัฐบาล ผู้นำในกองทัพจึงต้องอยู่ในสายของผู้นำรัฐบาลเท่านั้น แต่การควบคุมเช่นนี้สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐบาลจอมพลถนอม

เมื่อช่องว่างแห่งอำนาจเปิดออก ใช่ว่าจะมีแต่ผู้นำทหารเก่าที่เคยขัดแย้งกับกลุ่มจอมพลถนอมดำรงอยู่เท่านั้น หากแต่ยังเปิดโอกาสให้นายทหารในระดับกลางขยายบทบาทขึ้น จนกลายเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ในกองทัพ เพราะในช่วงก่อน 14 ตุลาฯ นั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่นายทหารระดับกลางจะสร้างตัวเองจนกลายเป็นกลุ่มอำนาจที่ซ้อนอยู่กับอำนาจกับกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพได้

ช่องว่างแห่งอำนาจเช่นนี้ทำลายโครงสร้างการบังคับบัญชาแบบเก่า เพราะอำนาจในกองทัพที่เคยผูกขาดอยู่กับนายทหารระดับสูงในการควบคุมกำลังรบนั้น ขยับตัวลงมาอยู่กับนายทหารระดับกลางซึ่งเป็นผู้คุมหน่วยกำลังจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บังคับการกรม หรือระดับผู้บังคับกองพัน (ราบ ม้า ปืน)

กล่าวคือ ตำแหน่งเหล่านี้เป็นผู้ควบคุมอำนาจกำลังรบอย่างแท้จริง ไม่ใช่ระดับของผู้บัญชาการกองพล หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เนื้อแท้ของกำลังรบนั้นอยู่ในระดับกองพันและกรมเป็นสำคัญ ซึ่งการขยับของฐานอำนาจในกองทัพเช่นนี้ต้องถือเป็นเรื่องใหม่ และทำให้นายทหารระดับกลางหลายคนรู้สึกว่า อำนาจที่แท้จริงอยู่กับพวกเขา มากกว่าจะอยู่กับนายทหารระดับสูงในกองทัพ

ความตระหนักในพลังอำนาจของนายทหารระดับกลางในฐานะผู้ควบคุมอำนาจกำลังรบทำให้พวกเขากลายเป็น "ศูนย์กลางอำนาจ" ในกองทัพมากกว่าบรรดานายพล ซึ่งดูเหมือนจะถูกทำให้ "ขาลอย" จากการควบคุมกำลังรบ เพราะอำนาจถูกรวมศูนย์ไว้ในมือของผู้บังคับกองพันและผู้บังคับการกรมซึ่งเป็นความแตกต่างอย่างมากจากในอดีต

ต้องยอมรับว่ากลุ่มทหารระดับกลางที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในแบบแผนแห่งอำนาจเช่นนี้ก็คือ กลุ่มอดีตนักเรียนนายร้อยของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7 หรือที่เรียกกันว่า "จปร.7"

หรืออีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือ "กลุ่มยังเติร์ก" อันเป็นชื่อที่ได้มาจากการที่นายทหารเหล่านี้ยึดถือเอาตัวแบบของผู้นำทหารอย่างมุสตาฟาเดมาลของตุรกี (อันเป็นผู้นำทหารที่เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมตุรกีสมัยใหม่)



ด้วยความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขารวมกลุ่มกันในแนวราบคือ การรวมกลุ่มของรุ่น 7 ด้วยกันเอง ซึ่งในขณะนั้นหลายคนเป็นนายทหารระดับผู้บังคับการกรม ซึ่งคุมกำลังรบหลักของกองทัพบก และในขณะเดียวกันก็มีการรวมกลุ่มในแนวตั้งคือ การขยายกลุ่มไปสู่นักเรียนนายร้อยรุ่นอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นนายทหารที่คุมกำลังระดับกองพัน เช่น นายทหารบางส่วนที่มาจากอดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 2 (ตท.2) อันเป็นดังฐานล่างของกลุ่มยังเติร์กในการคุมกำลัง

ตัวแบบเช่นนี้กลายเป็นเรื่องใหม่ของการทหารกับการเมืองไทย เพราะเป็นบทบาทของนายทหารระดับกลางที่ก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่ของการเมืองไทย ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ของนายทหารระดับชั้นนายพลเท่านั้น

และเมื่อ จปร.7 ก้าวสู่อำนาจในลักษณะเช่นนี้ นายทหารรุ่นพี่กลุ่มหนึ่งก็ตัดสินใจสร้างฐานของตนเองในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน อันเป็นที่มาของ "ศึกสายเลือด" ในกองทัพบกไทย

นายทหารกลุ่ม จปร.5 ซึ่งเป็นรุ่นพี่ในโรงเรียนนายร้อยก็เริ่มค่อยๆ ก่อตัวขึ้นบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลของการต่อสู้ทางการเมืองภายในกองทัพ ความขัดแย้งชุดแรกจบลงด้วยความล้มเหลวของกลุ่มยังเติร์กในการก่อรัฐประหาร 1 เมษายน 2524 และได้ค่อยๆ เปิดช่องว่างให้กลุ่มนายทหารอื่นๆ ซึ่งต่างก็ต้องการเข้าสู่เวทีแห่งอำนาจเช่นกัน ได้มีโอกาสมากขึ้น

และยิ่งเมื่อกลุ่มยังเติร์กประสบความล้มเหลวในการรัฐประหารครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 กันยายน 2528 แล้ว ก็ยิ่งชัดเจนว่า ช่องว่างของนายทหารระดับกลางเปิดกว้างอย่างมากอีกครั้ง เพราะกลุ่มยังเติร์กซึ่งคุมอำนาจในระดับกลางได้ถูกทำลายลงจากการพ่ายแพ้ในการก่อรัฐประหารถึง 2 ครั้ง

ช่องว่างเช่นนี้กลายเป็นโอกาสอย่างดียิ่งของกลุ่ม จปร.5 ซึ่งแทรกตัวเข้ามาเป็นฐานอำนาจใหม่ในกองทัพ และค่อยๆ ทะยานขึ้นสู่การเป็นนายทหารระดับสูงของกองทัพในเวลาต่อมา

ในอีกด้านหนึ่งความล้มเหลวของรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งก็เปิดโอกาสให้การเมืองไทยพัฒนามากขึ้น เพราะเท่ากับการส่งสัญญาณว่า รัฐประหารอาจจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้ง่ายนัก เพราะในทั้งสองเหตุการณ์มีนายทหารถูกจับกุมและถูกให้ออกจากราชการ

จนมีนายทหารที่เคยร่วมในการก่อการอย่าง พ.ต.รณชัย ศรีสุวรนันท์ (ยศในขณะนั้น) กล่าวเล่นๆ ว่า ถ้ามีคำสั่งให้เคลื่อนกำลังอีก นายทหารอาจจะต้องใช้เวลา "ผูกเชือกรองเท้าบู๊ตนานขึ้นกว่าเดิม" เป็นต้น



แต่บทบาทของ จปร.5 ที่ขยายมากขึ้นนั้น ในที่สุดก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะปะทะเข้ากับบทบาทของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ และความขัดแย้งนี้จบลงด้วยการใช้เครื่องมือเก่าในการจัดการปัญหาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 กลุ่มทหารในชื่อของ "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) ได้ตัดสินใจยึดอำนาจ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าเบื้องหลังรัฐประหารคือ กลุ่มทหาร จปร.5

อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ทางการเมืองของกลุ่ม จปร.5 ก็ถูกท้าทายเมื่อเกิดการต่อต้านรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของกลุ่มทหารดังกล่าว การชุมนุมขนาดใหญ่เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้หวนกลับมาอีกครั้ง

และรัฐบาลของ พลเอกสุจินดา คราประยูร ก็ตัดสินใจใช้วิธีการเดิมในการแก้ไขปัญหา

การล้อมปราบบนถนนราชดำเนินในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2535 จบลงในบริบทเดียวกันกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ กระสุนนัดแรกที่ลั่นออกจากปากกระบอกปืนเอ็ม-16 ของทหารก็คือสัญญาณของความพ่ายแพ้ของทหาร และจบลงด้วยการลาออกของรัฐบาลพลเอกสุจินดาเช่นเดียวกับรัฐบาลจอมพลถนอม ซึ่งก็คือจุดจบของ จปร.5 ในทางการเมือง (แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเหตุการณ์พฤษภาคม 2553)

หลังจากการสิ้นสุดของยุค จปร.5 และ จปร.7 แล้ว ดูเหมือนความพยายามที่จะสร้างกลุ่มในลักษณะดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นเตรียมทหารรุ่น 1 ของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หรือเตรียมทหารรุ่น 2 ของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือเตรียมทหารรุ่น 6 ของกลุ่ม คมช. (คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข") ซึ่งก็ดูจะเป็นการสิ้นยุคทองของทหารระดับกลางในการเมืองไทย

จนกระทั่งปัจจุบัน การขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มเตรียมทหารรุ่น 12 ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพยายามรวมกลุ่มทั้งในแนวนอนและแนวตั้งในชื่อของ "บูรพาพยัคฆ์" ซึ่งกลุ่มนี้ดูจะประสบความสำเร็จในการคงไว้ซึ่งอำนาจทั้งในทางการเมืองและการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับความสนับสนุนจากอำนาจพิเศษอย่างมาก แต่ก็เป็นความสำเร็จภายใต้ความท้าทายอย่างมาก ว่าจากบทเรียนของนายทหารรุ่นพี่ พวกเขาจะดำรงอำนาจเช่นนี้ไปได้อีกนานเท่าใด

อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มบูรพาพยัคฆ์ต้องเผชิญกับความท้าทายมากกว่ากลุ่มทหารอื่นๆ จนไม่มีใครกล้าตอบว่าสุดท้ายแล้ว ทหารกับการเมืองชุดนี้จะจบลงอย่างไร?



.