http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-18

นิติเหลิมภิวัตน์ โดยใบตองแห้ง, ..ฯนอนคุกอย่างน้อย1คืน, บาทก้าวอภัยโทษ โยนหินถามทาง

.
มีข้อความความคิดเห็นท้ายบทความแรก และ มีลิงค์บทเรียบเรียงชื่อ "สมศักดิ์ เจียมฯ" วิพากษ์รบ.-แกนนำนปช.
มีบทความ ' พ.ร.ฎ.อภัยโทษ "ทักษิณ" ระเบิดเวลาการเมือง จุดไฟกลาง "น้ำ" และ "ลมหนาว" '
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: นิติเหลิมภิวัตน์
จากเวบไซต์ ประชาไท . . Thu, 2011-11-17 17:59


ปุจฉา : ทักษิณเป็นนักโทษแล้วหรือยัง
วิสัชฮา: เป็นแล้ว พันธมิตรเรียก นช.ทักษิณมาตั้ง 3 ปีแล้ว

น้ำเน่าท่วมกรุงเทพฯ เดือดพล่านขึ้นมาทันที เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวาระจร “ลับ” ได้ลงมติผ่านร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายรับพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งตามกระแสข่าว มีหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งว่า นักโทษที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษคือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี โดยไม่จำเป็นต้องรับโทษมาก่อน และตัดข้อยกเว้นความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.ออกไป

เข้าข่าย “ทักกี้” พอดี โป๊ะเชะ!

ข่าวนี้อ้าง “แหล่งข่าว” ในคณะรัฐมนตรี และรายงานตรงกันทุกสำนัก แม้สันนิษฐานว่าตรงกันเพราะนักข่าวสมัยนี้ทำงานด้วยฟอร์เวิร์ดเมล์ แต่เมื่อดับเบิ้ลเช็ค ทริปเปิ้ลเช็ค ก็ค่อนข้างแน่ใจว่าจริง ท่าทีของ ดร.เหลิม ผู้นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.ก็แบะท่ามาก่อนแล้วว่าจะหาช่องอภัยโทษให้ได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีผู้เป็นน้องสาวสวมบท “นารีขี่ ฮ.ไม่มีเรดาร์” ตีตั๋วเที่ยวเดียวไปตรวจน้ำท่วมสิงห์บุรีแล้วอ้างว่ากลับไม่ได้ กลับมาแล้วก็ไม่เข้าประชุม ครม.พิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับพี่ชาย

จึงค่อนข้างแน่ใจได้ 99.99% ว่ามีการร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจริง ที่เหลือ 00.01% คือยังไม่มีใครเห็นตัวร่าง ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวครบทุกข้อหรือไม่

ซึ่งถ้าเป็นจริง ก็เชื่อขนมกินได้ว่า ยิ่งลักษณ์คงไม่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยใช้โอกาสเดินทางไปต่างประเทศ แล้วมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาการเป็นผู้ลงนามแทน

ไม่ขัดกฎหมายแต่....

พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เป็นกฎหมายที่ออกในวโรกาสมหามงคล ตามประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้แก่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน 2539 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 9 มิถุนายน 2549 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกปีที่ 60 วันที่ 5 พฤษภาคม 2553

การพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ พระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว แก่นักโทษที่เหลือโทษน้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เจ็บป่วยระยะสุดท้าย ฯลฯ และพระราชทานอภัยโทษลดโทษ 1 ใน 2, 1 ใน 3, 1 ใน 4 ฯลฯ แก่นักโทษที่ประพฤติดี โดยจำแนกตามฐานความผิดที่ต้องโทษ


พระราชกฤษฎีกาแต่ละฉบับ มีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามยุคสมัย แต่ก็มีสาระสำคัญบางประการที่สืบทอดมาเกือบทุกฉบับ เช่น ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ ทุกฉบับจะมีมาตรา 4 กำหนดว่า

“ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้.....”

ส่วนที่แตกต่างก็คือเงื่อนไขการอภัยโทษที่เปลี่ยนไป เช่น พรฎ.ปี 2542 มาตรา 6(1) ให้ปล่อยตัว “ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่รวมกันไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”

แต่ พรฎ.ปี 2547 เปลี่ยนมาตรา 6(1) ให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษจำคุกที่เหลือโทษไม่เกิน 1 ปี ฉบับหลังๆ ก็ก๊อปกันต่อมา

พรฎ.ปี 2542 มาตรา 6(2)จ ให้ปล่อยตัวคนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ โดยต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีหรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษ

แต่ พรฎ.ปี 53 ซึ่งออกโดยพรรคประชาธิปัตย์ มาตรา 6(2)ง กำหนดให้ปล่อยตัว “คนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ.... และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป”

ประเด็นนี้ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตร เคยเขียนลงผู้จัดการออนไลน์วันที่ 12 กันยายน 2554 ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์วางรากฐานไว้ให้พรรคเพื่อไทยสวมตอต่อ แต่ตอนนั้นปานเทพคาดว่าทักกี้จะใช้เวลาติดคุกไม่กี่ชั่วโมง โดยเดินทางกลับประเทศไทยก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ เพียง 1 วันก็พอ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเรือนจำ เพียงถูกกักขังอยู่ที่ด่านตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ถือว่าอยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว (มาตรา 4 “ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”)

แต่ถ้า พรฎ.ปี 54 เป็นไปตามกระแสข่าว ทักกี้ก็จะ “เรียนลัดตัดตอน” กลับมางานแต่งลูกสาวโดยไม่ต้องเข้าห้องกรงให้เป็นมลทิน ยั่วพวกสลิ่มทักษิโณโฟเบียให้คลั่งยิ่งกว่าโรคกลัวน้ำ

ถามว่าถ้า พรฎ.2554 ไม่มีมาตรา 4 ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องย้อนไปดูกฎหมายแม่ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 7 ว่าด้วยการอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ ตั้งแต่มาตรา 259 ถึงมาตรา 261 ทวิ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษออกตามมาตรา 261 ทวิ

“มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้

มาตรา 260 ผู้มีเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมี หน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อ พระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้

มาตรา 261ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้

การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

จะเห็นได้ว่า ป.วิอาญา ไม่ได้กำหนดเลยนะครับว่า การขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องกลับมาติดคุกก่อน

ส่วนที่ถกเถียงกันเมื่อครั้งเสื้อแดงล่าชื่อกัน 2 ล้านกว่าคนถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นระเบียบราชทัณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าต้องเป็นผู้ถูกคุมขังอยู่ก่อนเท่านั้น

ฉะนั้นถ้าพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2554 จะ “แหกคอก” ยกมาตรา 4 ออกไป ก็ไม่ขัด ป.วิอาญาที่เป็นกฎหมายแม่ จะยกระเบียบราชทัณฑ์มาคัดค้านก็ไม่ได้ เพราะพระราชกฤษฎีกามีศักดิ์เป็นกฎหมายที่เหนือกว่าระเบียบของหน่วยงานราชการระดับกรม

เพียงแต่มีคำถามว่าทำไม้ ทักกี้จะยอมเปลืองตัวกลับเข้าประเทศมานอนในห้องกักของ ตม.(หรือนอนโรงเรียนพลตำรวจบางเขน) ซัก 2-3 วันไม่ได้ ทำไมต้องทำให้มันวุ่นวายใหญ่โตกว่าที่ควรจะเป็น

การตราพระราชกฤษฎีกานี้จึงสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ไม่ขัดต่อกฎหมาย รัฐบาลมีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย แต่มีความเหมาะสม ชอบธรรมทางการเมืองหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างน้อย รัฐบาลก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบทางการเมืองต่อกระแสต้านที่จะลุกฮือขึ้น



การยกเว้นความผิด

พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษทุกฉบับ จะมีข้อยกเว้นผู้ต้องโทษตามความผิดร้ายแรง ไม่ให้ได้รับการปล่อยตัว แต่ได้รับเพียงการลดโทษ ซึ่งลดโทษน้อยกว่าผู้ต้องโทษในคดีอื่นๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในมาตรา 8 ของ พรฎ.ทุกฉบับ โดยฉบับแรกๆ จะกำหนดความผิดไว้ในมาตรา 8 นั้น แต่ต่อมามีการเพิ่มฐานความผิดมากขึ้น ก็ทำเป็นลักษณะความผิดท้ายพระราชบัญญัติ

ตัวอย่างเช่น มาตรา 8 พรฎ.2542 เขียนตรงๆ ว่า

“ภายใต้บังคับมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในลักษณะความผิดดังต่อไปนี้

(๑) ความผิดตามมาตรา ๑๙๐ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๒๒ มาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๗๖ วรรคสอง มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๗๗ ทวิ มาตรา ๒๗๗ ตรี มาตรา ๒๘๐ มาตรา ๒๘๒ มาตรา ๒๘๓ มาตรา ๒๘๙ มาตรา ๓๑๓ วรรคสอง หรือวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(๒) ความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ

ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้......”

แต่ พรฎ.ปี 2547 มาตรา 8 เปลี่ยนไปเขียนว่า

“ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้.....”

ข้างท้ายก็มีบัญชีความผิดเป็นหางว่าว

แต่กล่าวโดยสรุปว่า ความผิดร้ายแรงนี้กำหนดแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น พรฎ.ปี 2530 (เฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา) กำหนดให้ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายนอกราชอาณาจักร อยู่ในความผิดร้ายแรง แต่พอปี 2539 กลับไม่มีความผิดต่อความมั่นคงฯ แต่มีความผิดกฎหมายยาเสพติดเข้ามาแทน และปี 2542 มีกฎหมายป่าไม้เข้ามาแทน เนื่องจากสังคมเริ่มตระหนักถึงกระแสรักษ์โลก

ถ้าย้อนไปดู พรฎ.เก่าๆ เช่นปี 2514 (ฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี) ยุคถนอม กิตติขจร หนักกว่าอีก มาตรา 8 เขียนว่า

“ผู้ต้องโทษในลักษณะความผิดดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้

(๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา
.............................
(๓) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”

ที่น่าสนใจคือ พรฎ.ปี 2553 รัฐบาลประชาธิปัตย์ มีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงต่อราชอาณาจักร มาตรา 107-135 (รวม 112) กลับมาติดโผ ทั้งที่หายไปร่วม 20 ปี ขณะที่ พรฎ.ปี 2549 รัฐบาลทักษิณ เพิ่มความผิดฐานก่อการร้าย ซึ่งก็ติดโผเรื่อยมาจนถึง 2553

ส่วนความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น ปี 2542 ไม่มี (ตอนนั้นยังไม่มี ป.ป.ช.) เพิ่งมีครั้งแรกในปี 2547 แล้วก็มีต่อมาทั้งปี 2549,2550,2553

ถามว่าถ้า พรฎ.2554 ตัดออกแล้วขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่ขัดหรอกครับ เพราะมีการเพิ่มลดมาทุกฉบับ แต่มันไม่ใคร่สวยตรงที่ความผิดฐานนี้มีอยู่ในทั้ง พรฎ.ปี 47 และ 49 ซึ่งผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี



เรื่องการเมือง อย่าอ้างพระราชอำนาจ

พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแตกต่างจากการพระราชทานอภัยโทษตาม ป.วิอาญา มาตรา 259-261 ซึ่งเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคล

พูดง่ายๆ ว่าฎีกาเสื้อแดงเข้าข่ายมาตรา 259-261 ขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณคนเดียว แต่การออก พรฎ.ตามมาตรา 261 ทวิ ไม่ได้ระบุชื่อทักษิณ เพราะมีผู้เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ (ทั้งปล่อยตัวและลดโทษ) ตามเงื่อนไขต่างๆ 2 หมื่นกว่าคน โดยหลัง พรฎ.บังคับใช้จะมีการตรวจสอบรายชื่อส่งศาลให้สั่งปล่อยตัวหรือลดโทษ

เพียงแต่ผู้สูงอายุ 62 ที่เข้าเงื่อนไขต้องโทษจำคุก 2 ปี ในความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. อยู่ระหว่างหลบหนี และลูกสาวกำลังจะแต่งงาน คงมีเพียงคนเดียว คริคริ

ป.วิอาญามาตรา 261 กับ 261 ทวิ แม้เขียนคล้ายกันคือ “ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้” กับ “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้”

แต่ที่ต่างกันก็คือ 261 ทวิ เพิ่มว่า “การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

ผมเห็นว่าตรงนี้ทำให้มีความแตกต่างในเรื่อง “พระราชอำนาจ”

แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 187 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย” แต่เราจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์แสดงความไม่เห็นชอบ ต่อร่างพระราชกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรี “ถวายคำแนะนำ” รัฐธรรมนูญให้อำนาจพระมหากษัตริย์แสดงความไม่เห็นชอบ (หรือสิทธิ VETO) เฉพาะร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 151 เท่านั้น (และยังให้อำนาจรัฐสภาลงมติยืนยัน 2 ใน 3)

ย้ำว่า นอกจากร่างพระราชบัญญัติแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์แสดงความไม่เห็นชอบ ต่อพระราชกำหนด หรือร่างพระราชกฤษฎีกา หรือแม้แต่การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรต่างๆ เสนอ

เพียงแต่ในฐานะองค์ประมุข หากเกิดความไม่ชัดเจนในกระบวนการ (เช่นกรณีคุณหญิงจารุวรรณ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแบบค้างคา) ในหลวงก็ไม่ลงพระปรมาภิไธย (ซึ่งเป็นเพราะปัญหากระบวนการ ไม่ใช่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตัวบุคคล)

ต้องยอมรับว่าเรื่องพระราชอำนาจในกฎหมายไทยมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่นอกจากการอิงหลักการประชาธิปไตยแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่สามารถเทียบเคียงได้คือดูจากการปฏิบัติ ที่ในหลวงทรงปฏิบัติมาตลอด 65 ปี และทรงมีพระราชดำรัสไว้ชัดเจนในเรื่องมาตรา 7 ว่าพระองค์ไม่ได้มีพระราชอำนาจที่จะทำตามอำเภอใจ

ถ้าเราดูย้อนหลังตลอด 65 ปีจะเห็นว่าในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกฤษฎีกาทุกฉบับที่คณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ นั่นแปลว่าอะไร แปลว่าการออกพระราชกฤษฎีกาใดๆ เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ อย่าเอาสถาบันมาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างเช่นพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง 2 เมษา 2549 พรรคไทยรักไทยเคยอ้างพระราชอำนาจ แต่ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ยืนยันว่าอ้างไม่ได้ เพราะการลงพระปรมาภิไธยไม่ได้หมายความว่าในหลวงเห็นชอบให้เลือกตั้งวันที่ 2 เมษา คณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ มาตามกระบวนการ ในหลวงก็ทรงลงพระปรมาภิไธย

พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษก็เช่นกัน แม้ชื่อ พรฎ.ระบุว่า “พระราชทานอภัยโทษ” แต่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ เมื่อเงื่อนไขหลักการนั้นๆ เอื้อให้ทักษิณ คณะรัฐมนตรีก็เป็นผู้รับผิดชอบ หากทรงลงพระปรมาภิไธย คุณก็จะอ้างไม่ได้ว่า ในหลวงทรงเห็นชอบ

ประเด็นนี้ต่างกับการพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 261 ซึ่งในทางปฏิบัติ สำนักราชเลขาธิการจะเข้ามามีส่วนพิจารณาประวัติและความประพฤติของนักโทษ การพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็น “พระราชอำนาจ” (น่าจะเป็นเพราะประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต มีทั้งอำนาจประหารชีวิตและให้อภัย เมื่อเปลี่ยนระบอบ อำนาจตุลาการเป็นของศาล แต่ยังคงอำนาจให้อภัยไว้ที่พระมหากษัตริย์ โดยถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ)

ที่พูดเรื่องนี้ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะผมไม่เห็นด้วยที่ ดร.เหลิมอ้าง “พระราชอำนาจ” ขณะที่ฝ่ายต่อต้านเช่นไทยโพสต์ก็พาดหัวอย่างไม่สมควรว่า “ทักษิณบังคับ......”

เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ถ้าจะฟัดกันก็ฟัดกันเลย อย่าอ้างสถาบัน การออก พรฎ.เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ในหลวงไม่เกี่ยว แต่ก็ไม่ใช่การ “บังคับ” ถ้าพูดอย่างนั้น พระราชกฤษฎีกาทุกฉบับในประเทศไทยก็ “บังคับ.....” เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่าพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิพระมหากษัตริย์ VETO ร่างพระราชกฤษฎีกา

เว้นเสียแต่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้าเช่นนั้นก็อาจยับยั้ง ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยจนกว่าจะมีความชัดเจน


ตุลาการภิวัตน์ VS นิติเหลิม

ถามว่าทำไมจึงต้องรีบเร่งเอาทักษิณกลับบ้าน ทั้งที่รัฐบาลกำลังอ่วมอรทัยกับน้ำท่วม

เงื่อนไขทางการเมืองมีหลายองค์ประกอบ ไปวิเคราะห์กันเอง แต่เงื่อนไขทางกฎหมายคือ การออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษทำได้เฉพาะวโรกาสมหามงคล ซึ่งนานๆ จะมีครั้ง

ผมไม่แน่ใจว่าปีหน้า ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ จะมี พรฎ.พระราชทานอภัยโทษหรือไม่ แต่ถ้าผ่านพ้น 12 สิงหาปีหน้าไป ก็ต้องรออีก 4 ปี จึงถึงวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีในปี 2559 และ 84 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกัน จากนั้นปี 2560 หรืออีก 6 ปีก็จะถึงวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ของในหลวง

ถ้าตกรถเที่ยวนี้ ถ้าไม่มีตั๋วปีหน้า ก็อีก 5 ปีเชียวนะครับ กว่าจะได้กลับมาอุ้มหลาน



ถามว่าเห็นด้วยไหม ในฐานะผู้สนับสนุนนิติราษฎร์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ตามหลักการประชาธิปไตย แน่นอนว่าผมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมหรือวิธีการไต่ไปข้างคูของ “นิติเหลิม”

แต่ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไร ผมก็จะบอกว่า “สะใจดี” เพราะตอนที่พวกนิติแหลโจมตีนิติราษฎร์ ผมก็บอกแล้วว่ารัฐบาลไม่เลือกใช้แนวทางนิติราษฎร์หรอก เขาจะหาวิธีเรียนลัดตัดตอนตามสไตล์ทักษิณ แล้วเป็นไง เห็นไหมล่ะ

หัวหน้าพรรคแมลงสาบโวยวายว่า นี่เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ ผมก็ไม่ได้บอกว่านี่เป็นการใช้อำนาจโดยชอบธรรม แต่จะบอกว่าหลักนิติรัฐถูกทำลายไปโดยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว และถูกกระทืบซ้ำโดยคำวินิจฉัยของตุลาการภิวัตน์ในหลายๆ คดี (อ.วรเจตน์เรียกคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยว่า “ประกาศคณะรัฐประหารในรูปคำวินิจฉัย”)

พวกพันธมิตรอ้างว่าหลักนิติรัฐถูกทำลายไปตั้งแต่คดีซุกหุ้น ผมเห็นด้วยว่าคดีซุกหุ้นทำให้หลักซวนเซ แต่ยังไม่ล้ม มาล้มเอาตอนรัฐประหารต่างหาก และหลังจากนั้นก็ถูกยำจนจำทางกลับบ้านไม่ได้

สื่อกระแสหลักพากันประณามว่า นี่คือวิธีการอันอัปลักษณ์ อัปยศ แต่ถามว่าวิธีการใช้ปืนใช้รถถังยึดอำนาจ แล้วตั้งฝ่ายตรงข้ามมาสอบสวน ชงลูกให้ตุลาการภิวัตน์วินิจฉัยว่า “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” คุณเรียกว่าอะไร เรียกว่าความถูกต้องชอบธรรมกระนั้นหรือ

คุณอาจพูดได้ว่านี่คือการใช้อำนาจทางการเมืองลบล้างความผิดของบุคคล แต่ถามว่าความผิดฐาน “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” นั้นได้รับการยอมรับว่ายุติธรรมในหัวใจผู้คนหรือไม่ ยกเว้นแต่ผู้คนที่ถูกปลุกให้มีแต่อคติและความเกลียดชังท่วมท้น

ถ้าพูดให้ถูก นี่ก็คือการ “ใช้อำนาจทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของปวงชน ลบล้างความผิดให้บุคคลที่ถูกกระทำโดยอำนาจนอกระบบ” ซึ่งถ้าบอกว่าต่างฝ่ายต่างไม่ถูกต้องชอบธรรม อำนาจการเมืองยังมีฐานที่มาโดยชอบกว่า


ย้ำว่าผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ แต่ทำไงได้ ในเมื่อไม่มีใครเอาด้วยกับการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตามหลักการตามแนวทางนิติราษฎร์ มันก็กลับไปสู่วิธีการแก้ปัญหาแบบบ้านๆ ดิบๆ เหมือนสังคมที่ไม่มีหลัก นั่นคือ กลับไปสู่การเอาชนะกันด้วยกำลังอำนาจ วัดกันว่าใครมีพวกมากกว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองที่จะรุนแรง หรือกระทั่งบ้าคลั่ง นับแต่นี้เป็นต้นไป

ว่าแต่ ขอเตือนพวกเสื้อเหลือง พวกสลิ่มเฟซบุค และพรรคแมลงสาบไว้ว่า การต่อสู้ของพวกคุณคงจะลำบากซักไม่หน่อย ถ้าพวกคุณคิดหวังแต่จะให้มีการรัฐประหาร หรือให้มีอุบัติเหตุใดล้มรัฐบาล หรือตั้งเป้าจะไปสู่การล้มระบอบด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพราะมันมีแต่อับจน ไม่มีคนสนับสนุน ไม่ว่านานาชาติ หรือแม้แต่ “อำมาตย์” ส่วนหนึ่งก็ดูเหนื่อยล้า และอยากประนีประนอมกับอำนาจจากการเลือกตั้งมากกว่า

เพราะนอกจากจะมีการตั้งธงทอง จันทรางศุ เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร ก็ยังทำให้พวกเสื้อเดงเชียงใหม่มึนตึ้บ เมื่อชื่อ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ตกหายไปจากโผย้ายผู้ว่าฯ เฉยเลย

แต่จะมีอะไรซับซ้อน พลิกผัน หลอกกันอีกทีหรือไม่ ต้องตามจับตาอย่ากระพริบ


ใบตองแห้ง
17 พ.ย.54

* อ่านต้นฉบับและมีข้อคิดเห็นต่อท้าย ที่ http://www.prachatai.com/journal/2011/11/37903
มีข้อคิดเห็นน่าบันทึกไว้

Submitted by เกาทัณฑ์สยบฟ้า (visitor) on Thu, 2011-11-17 22:06.

๑. คารวะในข้อมูล ค้นคว้ามาเกือบครบถ้วน / คนพาดหัวไทยโพสต์อาย...
๒. การเรียบเรียงประเด็น ลำดับภาพทำให้ชัดแจ้งในความรู้
๓. ทักษิณ อายุ 63 ปี 8 เดือน
๔. ส่วนตัวไม่เห็นด้วย กับการออกพรฎ.ฉบับนี้ / ยังไงก็ยังไม่ได้กลับเร็วในปีนี้ หรือ ปีหน้า
๕. หลักไมล์ืัทางการเมืองที่น่าสนใจ / 3 ธันวาคม. ผลที่เกิด - คงมองเห็นทิศทางการเมืองกระดานใหญ่
๖. การเมืองไทยกลับมาเหมือนเดิม ไม่มีหลัก / ไม่เคารพประชาชน.


Submitted by น้องนาบ้านนา (visitor) on Thu, 2011-11-17 23:22.

มองให้สูง มองให้กว้าง ทำไม ดร.สุเมธ ยอมมาเป็นที่ปรึกษา กยน. ทำไมดร.โกร่งยอมเป็นประธาน กยอ. เพื่อประเทศชาติ แนวโน้วที่ดีไม่ให้คนไทยแตกแยกกันมากขึ้น ในเมื่อเลือกตั้งกี่ครั้งคนไทยส่วนใหญ่ก็เลือกพรรคการเมืองที่สืบทอดมาจากทักษิณ ครั้งหลังสุดถล่มทลาย 265 คน และเมื่อยอมรับตุลาการภิวัฒน์" ไม่ทุจริตติดคุก" ก็ควรต้องยอมรับการนิรโทษกรรมด้วยเช่นกัน และขอทีเรื่องคิดว่าไม่มีใครภักดีเท่าฉัน คิดสั้นเท่าหางอึ่ง


Submitted by konsankao (visitor) on Fri, 2011-11-18 11:37.

อ่านบทความ "ใบตองแห้ง" ก่อนนะครับ .. นี่คือความเห็นแย้งของ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"

...............

ที่จริง บทความนี้ดีนะ แต่มีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง และเป็นประเด็นใหญ่ด้วย ที่ผมเห็นว่า "ใบตองแห้ง" ตีความผิด (ไม่เพียงแต่ "ใบตองแห้ง" คนในพรรคเพื่อไทย จำนวนมาก ก็ตีความแบบนี้)

คือ ที่เขียนว่า

"จะเห็นได้ว่า ป.วิอาญา ไม่ได้กำหนดเลยนะครับว่า การขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องกลับมาติดคุกก่อน"

ผมว่า ไม่จริงนะ วิอาญา บอกว่า "คดีสิ้นสุด" ทีนี้ เราจะตีความ "คดีสิ้นสุด" ยังไง แน่นอน ศาลตัดสินแล้ว และถ้าไม่มีฝ่ายใด อุทธรณ์ ถือว่า "สิ้นสุด" ในแง่ศาล แต่คดีนั้น ถ้าบังเอิญ จำเลยหนีไปล่ะ ทาง จนท. ไม่สามารถ carry out คำตัดสินของศาล คือ ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาเข้าคุกตามคำตัดสินของศาลล่ะ จะถือว่า "สิ้นสุด" ไหม และ จำเลยที่หนีไปน้น จะถือว่า เข้าข่าย มีสิทธิ์ "ขออภัย" เพราะถือว่า "คดีสิ้นสุดแล้ว" ไหม?

ผมเห็นว่า เราควรต้องตีความว่า "ไม่"

เพราะอะไร? เพราะถ้า ตีความ (เช่นที่ ใบตองแห้ง และ เพื่อไทย หลายคนทำ) ว่า "สิ้นสุดแล้ว" หมายถึง แค่ ศาลตัดสิน และไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์แล้ว .. ผมว่า มันขัดเจตนารมณ์ของ วิอาญา เรื่องนี้ และจะทำให้เกิด precedent (ต้นแบบ) ที่ไม่ถูกต้อง ตามมาอย่างมหาศาล

อย่างที่ผมเคยยกตัวอย่างไป (ทุกคนคงตระหนักว่า ตัวอย่างที่ยกนี้ เป็นไปได้อย่างยิ่ง)

สมมุติ มีลูกคนรวยสักคน ขับรถไม่รับผิดชอบ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนทางด่วน คนตายเป็นเบือ หรือ ขับรถไม่รับผิดชอบ ไปชนคนที่ยืนรอรถทีป้ายรถเมล์ ตายหลายคน

ระหว่างดำเนินคดี แน่นอน ลูกคนรวยทีว่านี้ ได้รับประกันตัวไป (ตามประสาระบบยุติธรรมของไทย โอกาสไม่ได้ประกันน้อยมากในกรณีแบบนี้)

ทีนี้ ระหว่างพิจารณาไป อาจจะถึงจุดรอดคำพิพากษาแล้ว ลูกคนรวย และพ่อแม่ทีว่า เกิดกลัวว่า ศาลจะตัดสินว่า ผิด เลยหนีไปนอกเสียเลย ซึ่ง ทำได้ ไม่ยาก

ถามว่า ถ้า "ตีความ" วิอาญา อย่างที่ "ใบตองแห้ง" เสนอ คือ ไม่ขัด ที่จะยื่นขออภัย โดยไม่จำเป็นต้องติดคุกเลย

อย่างนี้ จะดีหรือ? จะเป็นธรรม หรือ "แฟร์" กับคนที่ตายไปจากอุบัติเหตุ ทีเกิดจากความประมาท ไม่รับผิดชอบของจำเลยหรือ?

ผมว่า คำตอบคือ ไม่ แน่นอน

ผมว่า นี่คือ spirit ของการขออภัยโทษ ไม่ใช่กรณีของไทย เท่านั้น ผมว่า ประเทศไหนๆ ก็ควรต้องถือแบบนี้ ถ้าบอกว่า "วิอาญา" เขียนไว้คลุมเครือเอง (ผมใช้คำว่า "ถ้า" อันที่จริง ผมไม่คิดว่า มันคลุมเครือขนาดนั้น) ผมว่า การตีความ ก็ต้องตีความ ตาม spirit นี้ครับ

อย่างที่ผมเขียนข้างต้น คือ ต้องถือว่า "คดีไม่สิ้นสุด" จำเลย ไม่มีสิทธิ์ขออภัย

คดีไม่สิ้นสุด เพราะศาลตัดสินแล้ว ไม่มีใครอุทธรณ์ก็จริง แต่จำเลย ไม่อยู่ หนีไปแล้ว จนท.รัฐ ไม่สามารถ carry out หรือ เอาคำพิพากษาของศาลมาดำเนินการได้ จึงจะนับว่า "สิ้นสุด" แล้วไม่ได้

และจึงจะให้จำเลยที่หนีไป ขออภัย ไม่ได้


Submitted by entagon (visitor) on Fri, 2011-11-18 12:08.

หนึ่ง นั้นคือ 15 ล้านคนเลือก 50 ล้าน ไม่ได้เลือก โห คิดได้ไง เอาเด็ก 1-17 ขวบ ไปไหน ถ้าเด็กมีสิทธิ์เลือก ป่านนี้ เพื่อไทยอาจได้เสียง เต็มสภาแล้วมั้ง พ่อคุณเอ๊ย
สอง เสื้อแดงส่วนใหญ่เทิดทูนสถาบัน และรักยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ลองไปโพลดู เอาแบบลับ ๆ ก็ได้ ไม่ต้องลงชื่อ เดี๋ยวจะหาว่าไม่จริง
สาม รัฐบาลปู มาจาก รธน 2550 จริงแท้ แต่ที่มาประชาชนมีทางเลือกไหม เขาบอกว่า ไม่เอา รธน ก็เอารัฐบาลแต่งตั้ง คุณจะเลือกแบบไหน
สี่ คุณหญิงซื้อที่ดินไม่ผิด เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องไม่มีใครผิด การกระทำทุกอย่างไม่ผิด ทักษิณผิดคนเดียว เป็นไปได้ไง คนทั้งบ้านทั้งเมือง โลกทั้งโลก เขาข้องใจ
ห้า การให้อภัยคนไม่ผิด มีแต่ไทยประเทศเดียวในโลก ก็ยังทำไม่ได้ สลิ่ม-ปัญญาชนหน้ามืดคัดค้านกันตรึม ไม่รู้ถือสัญชาติ ศาสนาอะไรกัน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย โลภ โกรธ หลง ทำไม่ได้ . . ละไม่ได้เลยหรือ
หก คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่เอาแล้ว อภิมหาอำนาจ สหประชาชาติ เขาก็แสดงตัวให้เห็นแล้ว จะเหลืออะไรให้คุณ ๆ ผู้หน้ามืดอ้างอีกล่ะ
เจ็ด รอไปก่อน อีก 3 ปี 9 เดือนเอง ก็ได้แก้แค้นแล้ว ขออวยพรให้สำเร็จนะ

ฯลฯ



+ + + +

* เชิญอ่านความเห็นของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1321596661&grpid=01&catid=&subcatid=
ชื่อบทเรียบเรียง "สมศักดิ์ เจียมฯ" วิพากษ์รบ.-แกนนำนปช. กรณีพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ถ้าแข็งพอช่วยทักษิณ ก็ต้องช่วยเสื้อแดงในคุกด้วย
วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 16:00:00 น.

< อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แสดงความผิดหวังที่แกนนำรัฐบาลและ นปช. ไม่หาทางออกให้คนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมและญาติพี่น้องที่เดือดร้อนว่า จะมีนิรโทษกรรมหรือไม่ >

เรื่องราวเพื่อการนี้ BotKwamDee จะมีการนำเสนอต่อไป..ซึ่งคงมีประเด็นการต่อรองของชนชั้นนำเรื่องอภัยโทษของทักษิณหากสำเร็จเพราะเอื้อผลประโยชน์ของคนชั้นเดียวกันมันง่ายกว่า...แต่กับคนเสื้อแดงความขัดแย้ง-โกรธเกลียด-มีมูลฐานแตกต่างกันอย่างมาก มวลชนต้องแสดงความเข้มแข็งของการเข้ามีส่วนร่วมในกลไกประชาธิปไตยไปต่อรองร่วมอย่างมีจังหวะต่อเนื่องของตนเอง


*และเชิญอ่านบทความที่น่าเกี่ยวข้อง ของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์

น้ำหนักของเสียงสวรรค์ และ การเมืองแห่งความโกรธ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/blog-post_04.html

ความนอบน้อมถ่อมตน, ... โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/08/freedom.html

ขบวนการคนเสื้อแดงกับสังคม-การเมืองไทย (1)(2)
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/09/n227rd.html

อะไรใต้น้ำ, ...โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/11/nphee2.html


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

++

ทักษิณ กร่อย! ยุติธรรม ชี้ต้องนอนคุกอย่างน้อย 1 คืน อีก 4 คดีต้องขึ้นศาล ยึดร่างพ.ร.ฎ.ปี 53
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 11:06:02 น.


แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการปล่อยตัวนักโทษ ตาม พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษหลายฉบับที่ผ่านมา เปิดเผยว่า นักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ จะต้องถูกกักขังอยู่ในเรือนจำก่อนที่ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 1 วัน เพราะต้องให้เรือนจำสำรวจรายชื่อนักโทษที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้รับการอภัยโทษ ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.พิจารณา เพื่อที่จะส่งเรื่องให้ศาลออกหมายส่งกลับมาที่เรือนจำ ให้ปล่อยตัวนักโทษรายดังกล่าวต่อไป ที่ผ่านมาจึงไม่มีนักโทษหนีคดีรายใดได้รับการปล่อยตัวจาก พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษแม้แต่รายเดียว

"การที่ร.ต.อ.เฉลิมอ้างว่าไม่สามารถเปิดเผยเนื้อหาใน พ.ร.ฎ.ได้ เนื่องจากเป็นความลับ โดยหลักการถือว่าถูกต้อง เพราะหากปล่อยให้ข้อมูลรั่วออกมาว่า พ.ร.ฎ.มีเนื้อหาอย่างไร ก็จะมีนักโทษต่อรองเรื่องลำดับชั้นให้ได้การลดโทษ ชิงมอบตัวก่อนที่ พ.ร.ฎ.จะประกาศใช้ หรือกรณีนักโทษบางกลุ่มไม่ได้รับการอภัยโทษ ก็อาจจะสร้างความวุ่นวายขึ้นมาภายในเรือนจำได้" แหล่งข่าวกล่าว


อีก4คดี"ทักษิณ"ต้องขึ้นศาล

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการอ้างว่า พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ มักกำหนดบทยกเว้นโทษให้กับนักโทษในคดียาเสพติดและคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษหลายฉบับที่ผ่านมา จะยกเว้นเฉพาะคดียาเสพติด หรือคดีอุกฉกรรจ์ อาทิ ฆ่าข่มขืนเท่านั้น ไม่เคยมีการยกเว้นคดีทุจริตคอร์รัปชั่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ก็หนีออกนอกประเทศมาตลอด โดยไม่เคยรับโทษแม้แต่วันเดียว อย่างไรก็ตาม หาก พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการอภัยโทษในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณยังต้องเจอกับคดีอื่นๆ อีกรวม 4 คดีที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการไต่สวนของศาลฎีกา ได้แก่

1.คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ 4,000 ล้านบาท

2.คดีแปลงสัญญาสัมปทานธุรกิจโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป

3.คดีทุจริตการออกหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัวโดยมิชอบ ที่ศาลฎีกาฯยกฟ้องผู้ถูกกล่าวหารายอื่นแล้ว มีเพียง พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังไม่มาต่อสู้คดี

และ 4.คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือซุกหุ้น ที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องหลังศาลฎีกาฯได้ตัดสินยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ คดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีโอกาสถูกตัดสินให้จำคุกเพิ่มเติมมี 3 คดี ได้แก่ คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีแปลงสัญญาสัมปทาน และคดีซุกหุ้น เนื่องจากศาลฎีกาฯเคยตัดสินทั้ง 3 กรณีว่า มีความผิดไว้ในคดียึดทรัพย์


มติกรมคุกยืนร่างพ.ร.ฎ.ปี"53

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมในระดับกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการได้เสนอความเห็นว่าให้คงร่าง พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ ตามปี 2553 แต่อาจแตกต่างกันในเรื่องของการลดวันต้องโทษ เนื่องจากเป็นปีมหามงคล จำนวนวันการลดวันต้องโทษอาจลดได้มากกว่า ส่วนคดีตามบัญชีแนบท้ายให้คงตามเดิม ขณะที่คณะกรรมการระดับกระทรวงก็มีความเห็นให้คงตามปี 2553 แต่สุดท้ายแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนใดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่จะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เข้าพิจารณาใน ครม.

"ปกติกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณายกร่างกฎหมายเกี่ยวข้องการกับขอพระราชทานอภัยโทษหมู่ ตามโอกาสต่างๆ ที่สำคัญๆ คณะกรรมการพิจารณาการพระราชทานอภัยโทษ มีเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" แหล่งข่าวกล่าว



++

บาทก้าว อภัยโทษ กลยุทธ์ โยนหิน ถามทาง มิใช่ "บังเอิญ"
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 13:13:33 น.


ไม่ว่าจะเป็นการ "หลุด" ออกข่าวว่ามีการผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษผ่าน ครม.เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน

มิได้เป็นเรื่องบังเอิญ

แม้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะระบุว่า "พวกที่เอาไปพูดเป็นพวกไม่รักษาความลับ เป็นพวกรัฐมนตรีไม่มีสปิริต เป็นคนไม่ประสีประสา ไม่รู้เรื่องอยากได้หน้านักข่าว"

เช่นเดียวกับ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังจังหวัดสิงห์บุรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมกับ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทั่งไม่สามารถเดินทางกลับทันประชุม ครม.

ก็มิได้เป็นเรื่องบังเอิญ

เพราะเรื่องทั้งหมดเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถเข้าร่วมได้ ขณะที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ไม่สามารถเข้าร่วมได้

ทุกอย่างล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง


เช่นเดียวกับ การนำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษโดยกระทรวงยุติธรรม กระทั่งผ่านความเห็นชอบเพื่อนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีก็เป็นเรื่องลับ

เป็นเรื่องลับในระนาบที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีย้ำว่า "ถ้ารักพระเจ้าอยู่หัว ก็เงียบไว้"

ในที่สุดแล้วจะมีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปรากฏเป็น 1 ในจำนวน 2.6 หมื่นคนที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 ปี 5 ธันวาคม 2554 หรือไม่

ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอคอย

แม้ฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็เชื่อได้เลยว่าจะไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล

ไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ไม่ว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน

เหตุผลก็เป็นอย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก

"ใครที่นำเรื่องนี้มาวิจารณ์ถือว่าไม่รู้จักกาลเทศะ เรื่องนี้เป็นเรื่องพระราชอำนาจ รัฐบาลยังเปิดเผยไม่ได้เพราะว่ายังไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือมีบทสรุปเช่นใด หากมาถามผมก็ยังเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นการประชุมลับ"



แม้รัฐบาลจะยังไม่รู้ว่าบทสรุปในขั้นสุดท้ายของร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่นอนอย่างที่สุดก็คือ รัฐบาลสามารถรับรู้และสัมผัสได้ถึงปฏิกิริยาสะท้อนกลับ

เป็นปฏิกิริยาเหมือนกับที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

นั่นก็คือ การออกมาคัดค้านและต่อต้านอย่างรุนแรงแข็งกร้าวของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

1 ถือเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ . . 1 เป็นการสร้างวิกฤตรอบใหม่

1 กระบวนการที่ทำมีพิรุธ ไม่โปร่งใส เป็นการแปลงหลักการสำคัญที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอด โดยยกหลักการคนทำผิดต้องรับโทษ ต้องสำนึกผิดแล้วจึงให้อภัยโทษออกไป ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก จะเป็นตัวการบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมในประเทศ

เป็นปฏิกิริยาที่ออกมาพร้อมกับการเคลื่อนไหวของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นายบวร ยสินธร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน

และแถลงการณ์ของกลุ่มสยามสามัคคีที่อ่านโดย พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์

ประสานเข้ากับแถลงยาวเหยียดจาก นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำสำคัญพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

บรรยากาศแห่งสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เริ่มหวนกลับ

แต่เป็นการหวนกลับโดยที่มีร่องรอยแห่งความแตกร้าว แยกกันเดิน และยังไม่อาจประสานและร่วมกันเข้าตีได้อย่างทรงพลัง

ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายของรัฐบาล ฝ่ายของพรรคเพื่อไทยดำเนินไปอย่างมีเอกภาพ และเดินหน้ารุกคืบจากการเปลี่ยนตัว ผบ.ตร.ถึงการปรับย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดและอธิบดีขนานใหญ่

ยิ่งกว่านั้น การร่วมมือระหว่างกองทัพกับรัฐบาลก็เป็นไปอย่างราบรื่น สดใส


เป็นไปไม่ได้ที่จังหวะก้าวสำคัญและใหญ่หลวงเช่นนี้จะดำเนินไปโดยมิได้มีการปูทางสร้างเงื่อนไข

อย่างน้อยการปล่อยเรื่องนี้เข้ามาก็เพื่อหยั่งกำลังของฝ่ายที่ต่อต้านว่ายังเป็นเอกภาพแข็งแกร่งอยู่หรือไม่ หรือว่ามีแต่เสียงดังโฉ่งฉาง หากแต่ไร้รากฐานการเข้าร่วมของมวลชนส่วนใหญ่อย่างเป็นจริง

การประลองกำลังอย่างเป็นจริงจึงน่าจะเริ่มภายหลังวันที่ 5 ธันวาคมเป็นต้นไป



++

พ.ร.ฎ.อภัยโทษ "ทักษิณ" ระเบิดเวลาการเมือง จุดไฟกลาง "น้ำ" และ "ลมหนาว"
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 9


ทันทีที่มีข่าวว่า "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ต้องค้างคืนที่จังหวัดสิงห์บุรีกะทันหัน ด้วยเหตุผลว่าเฮลิคอปเตอร์เอ็มไอ 17 ของประเทศรัสเซียไม่มีเรดาร์ไม่สามารถบินตอนกลางคืนได้

หลายคนเริ่มตงิดในใจสำหรับเหตุผลการค้างคืนดังกล่าว

เพราะวันรุ่งขึ้นเป็นวันอังคาร ซึ่งเป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี

ถ้า "ยิ่งลักษณ์" ไม่อยู่ รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 จะเป็นประธานในที่ประชุมแทน

แต่ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เดินทางไปกับ "ยิ่งลักษณ์" ด้วย

ดังนั้น คนที่จะเป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

"สารวัตรเฉลิม" นั้นคือหัวหมู่ทะลวงฟันทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และ "ทักษิณ ชินวัตร"

ผลงานชิ้นแรกของเขาก็คือการผลักดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. แทน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ในนามของ "การคืนความเป็นธรรม"

และเป็นไปตามคาดของคนในแวดวงการเมือง เพราะหลังจากหมดวาระปกติ ร.ต.อ.เฉลิม เชิญข้าราชการประจำและคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากที่ประชุม

และ "วาระลับ" ก็เริ่มขึ้น

เป็นเรื่องพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายในการเข้ารับพระราชทานอภัยโทษในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554

ซึ่งหากพิจารณาตามห้วงเวลาแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 20 วันก็จะถึงวันสำคัญดังกล่าว

แต่ที่ไม่ปกติก็คือ การกำหนดคุณสมบัติผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษว่าต้องมีอายุเกิน 60 ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีแล้ว

ข้อกำหนดที่พรรคประชาธิปัตย์เคยร่างไว้เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าข่ายได้รับการอภัยโทษต้องเป็นโทษที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติด และการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งเรื่องที่ต้องรับโทษมาก่อน

ทั้งหมดไม่มีในร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฉบับใหม่

นั่นหมายความว่า "ทักษิณ" ที่ยังไม่เคยรับโทษ และเป็นโทษเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นจะได้รับการอภัยโทษด้วย

แม้จะพยายามปิดลับอย่างยิ่ง และกันตัว "ยิ่งลักษณ์" ออกจากความเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว แต่สุดท้ายข่าวดังกล่าวก็หลุดออกมาถึงพลพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สื่อข่าว

จากนั้นมรสุมการเมืองระลอกใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น



แม้จะเป็นจังหวะเวลาปกติของการพิจารณา พ.ร.ฎ.อภัยโทษ

แต่เมื่อคนที่เกี่ยวข้องชื่อ "ทักษิณ"

และเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมอยู่ ซึ่งรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ก็เสียคะแนนจากความผิดพลาดในการบริหารงานไปมากพอสมควร

ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนตอนที่ชนะการเลือกตั้งใหม่ๆ

พ.ร.ฎ.อภัยโทษฉบับนี้จึงกลายเป็น "ระเบิดเวลา" ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

"ทักษิณ" นั้นเคยให้สัมภาษณ์ว่าจะกลับเมืองไทยในเดือนธันวาคม

พ.ร.ฎ.อภัยโทษฉบับนี้จึงเป็นการเดินหมากตามกำหนดการเดิม เพราะเป็น "โอกาส" เดียวที่สั้นและเร็วที่สุดในการนำ "ทักษิณ" กลับเมืองไทย

การวางตัว ร.ต.อ.เฉลิม เป็นผู้รับผิดชอบการออกกฎหมายอภัยโทษของ "ยิ่งลักษณ์" จึงเป็นการวางหมากเพื่อเดินเกมนี้โดยเฉพาะ

ถ้าไม่มีวิกฤต "น้ำท่วม" เกิดขึ้น ทุกอย่างน่าจะราบรื่นมากกว่านี้

แต่เมื่อรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" เกิดอาการสำลักน้ำ การตัดสินใจเดินเกมการเมืองโดยรักษาจังหวะก้าวแบบเดิมจึงเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง

เพราะเป็นการดึงความไม่พอใจเรื่อง "น้ำท่วม" ของคนกรุงและชนชั้นกลางมาผสานกับความไม่พอใจเรื่องการอภัยโทษ "ทักษิณ"

ประเด็นที่น่ากลัวก็คือ ความไม่พอใจเรื่อง "น้ำท่วม" เป็นแค่เรื่อง "ความรู้สึก" ที่ไม่สามารถแปรเป็น "มวลชน" ได้

แต่เรื่อง "ทักษิณ" สามารถแปรเป็น "ม็อบ" ได้


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในวันนี้ไม่เหมือนวันก่อน

แม้คนที่ไม่พอใจ "ทักษิณ" ยังคงมีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนกรุงและชนชั้นกลาง

ซึ่งส่วนใหญ่ "เสียงดัง"

แต่คนกลุ่มนี้ที่เคยผนึกรวมตัวกันและร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในอดีตก็เริ่มแตกคอกัน

พรรคประชาธิปัตย์ แตกคอกับ "สนธิ ลิ้มทองกุล"

"สมศักดิ์ โกศัยสุข" แตกคอกับ "สนธิ-พล.ต.จำลอง-พิภพ ธงไชย"

"ม็อบพันธมิตร" ในช่วงปลายรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เหลือคนน้อยมาก

ในขณะที่ "ม็อบเสื้อแดง" กลับเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างน่ากลัว และกลายเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง

การเผชิญหน้าระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรฯ ในวันนี้จึงไม่เหมือนกับยุครัฐบาล "สมัคร สุนทรเวช"

และนั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ "ทักษิณ" เลือกเดินเกมเร็ว



จากจังหวะก้าวของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ แสดงให้เห็นว่าบทเรียนที่ "ทักษิณ" สรุปจากเมื่อครั้งรัฐบาล "สมัคร" คือ "การเมือง" ต้องเดินเกมเร็วตั้งแต่ชนะเลือกตั้ง

ครั้งก่อน "สมัคร" ไม่รีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรืออภัยโทษตั้งแต่ชนะเลือกตั้ง เพราะคิดว่าจำนวนเสียง ส.ส. จะช่วยรักษาอำนาจได้ แต่สุดท้ายก็พิสูจน์ว่าความเชื่อดังกล่าวผิด

ครั้งนี้ ทุกอย่างจึงต้องเร็ว

ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่า "ทักษิณ" ประเมินแล้ว คนที่เลือกพรรคเพื่อไทย คือ คนที่ต้องการให้ "ทักษิณ" กลับบ้าน

เพราะการหาเสียงครั้งนี้พรรคเพื่อไทยชู "ทักษิณ" อย่างชัดเจน

ตั้งแต่ "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" หรือการปราศรัยเรียกคะแนนสงสาร "ทักษิณ" ในทุกเวทีหาเสียง

ถ้า "ความเชื่อ" ของ "ทักษิณ" และพรรคเพื่อไทยอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ 4 ประการคือ ประการแรกเชื่อว่าจำนวนประชาชน 15 ล้านเสียงและ 265 ส.ส. ในสภา คือ ปริมาณของคนที่สนับสนุนให้เขากลับบ้าน

คนกลุ่มนี้ก็ย่อมเห็นด้วยกับ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ

ประการที่สอง ถ้าเขาเชื่อว่าเสียงที่ดังวันนี้ก็คือกลุ่มเดิมที่เกลียด "ทักษิณ" และไม่เลือกพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว

ปริมาณคนเท่าเดิม แต่ตะโกนเสียงดังขึ้นเท่านั้นเอง

และเป็นคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

ประการที่สาม ถ้าเขาเชื่อว่าฐานเสียงในต่างจังหวัดของพรรคเพื่อไทยสะเทือนน้อยมากจากเรื่องน้ำท่วม

เสียงโวยรัฐบาลเรื่องปัญหาน้ำท่วม คือ เสียงคนกรุงเทพฯ และชนชั้นกลางส่วนหนึ่ง

ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่

ประการที่สี่ ถ้าเขาเชื่อว่า "ม็อบเสื้อเหลือง" จุดขึ้นยากเพราะ "สนธิ" กับ "ประชาธิปัตย์" แตกคอกัน

และยากที่จะจุดติดในช่วงที่น้ำยังท่วม กทม. อยู่

ถ้า "ทักษิณ" และ "เพื่อไทย" เชื่อเช่นนั้นจริงๆ

ไม่แปลกเลยที่เขาจะเดินเกมแตกหัก


เกือบ 5 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นเวลาที่นานมากสำหรับคนใจร้อนอย่าง "ทักษิณ"

เขาคงรอไม่ไหวแล้ว

20 วันที่เหลือ จึงเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยเข้าสู่วิกฤตอีกครั้งหนึ่ง

เป็นความร้อนแรงท่ามกลางสายน้ำและลมหนาวที่โชยมา



.