.
มีบทความพิเศษ -บทพระเอ๊กพระเอก ของ "บิ๊กตู่" . . จับตาแผน "เจาะยาง ตท.12" ตอกลิ่ม "ธนะศักดิ์-ประยุทธ์"
และบทความ -กยอ.เดินหน้าฟื้นฟูประเทศ สร้างความมั่นใจนักลงทุน ของจริงหรือแค่พิธีกรรมแก้ขัด
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ใครจะช่วยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ฝ่าสายน้ำ...ข้ามเวลา 300 วัน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 20
มีหลายคนกังวลว่ารัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจเหมือน รัฐที่สร้างจากทรายซึ่งจะถูกน้ำเซาะให้สลายเพียงในพริบตา พวกเขาบอกว่ารูปแบบของสถานการณ์การเมือง คล้ายกับสมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ชนะเลือกตั้งเมื่อ 2 กรกฎาคม 2538 โดยชนะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และตั้งรัฐบาลผสม พอถึงเดือนตุลาคม 2538 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่นานถึง 2 เดือน
อยู่มาถึงเดือนกันยายน 2539 นายกฯ บรรหารก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและถูกบีบจนต้องยุบสภา นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ชนะเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ชนะพรรค ปชป. ตั้งรัฐบาลผสม พอถึงเดือนตุลาคม 2554 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่เช่นกัน และคงจะท่วมนาน 2 เดือน หลายคนจึงกลัวว่าเหตุการณ์จะย้อนรอยอดีต คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องถูกโค่นล้มลงไปในปีหน้า
ทีมวิเคราะห์ได้ฟังกระแสนี้แล้ว เห็นว่าการคิดแย่งอำนาจรัฐเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่จะทำด้วยวิธีไหน และมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
เมื่อลองไปค้นหารายละเอียดพบว่า แม้ช่วงวัน เดือน ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมและการเลือกตั้งจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ปัจจัยเกื้อหนุนทางการเมืองอื่นๆ มีความแตกต่างกันมาก
จึงไม่สามารถเอาวันเวลาและเรื่องน้ำท่วมมาเป็นตัวชี้วัดที่จะบอกว่า รัฐบาลจะถูกโค่นล้มในปีถัดไป
จากการค้นคว้าพบว่า ยังมีความแตกต่าง ในปัจจัยหลักทางการเมืองหลายประการ
เปรียบเทียบรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ปี 2554
กับรัฐบาลนายกฯ บรรหาร ปี 2538
1.รัฐบาลนายกฯ บรรหารชนะเลือกตั้งประชาธิปัตย์โดยมีเสียง 92 ต่อ 86 เสียง ชนะเพียงแค่ 6 เสียง นายกฯ บรรหารตั้งรัฐบาลผสมโดยรวมกับพรรคความหวังใหม่ พลังธรรมและประชากรไทย + พรรคเล็ก มีเสียงในสภา 233 จากเสียงทั้งหมด 391
แต่ถ้าดูคะแนนเสียงของพรรคชาติไทยเอง มีไม่ถึง 1 ใน 4 ของทั้งสภา (ซึ่งเป็นสัดส่วนที่กลุ่มอำนาจนอกระบบนิยมชมชอบมาก เพราะควบคุมง่าย สามารถเปลี่ยน หรือล้มรัฐบาลได้ง่าย)
ส่วนรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 265 เพียงพรรคเดียวก็มีเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภา และชนะ ปชป. ถึง 106 เสียง
เมื่อตั้งรัฐบาลผสม ก็มีเสียงในสภาถึง 300 เสียง (แบบนี้ล้มทางสภายากมาก) เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานคะแนนเสียงในสภา ความมั่นคงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงเหนือกว่ารัฐบาลคุณบรรหารมากนัก
2. สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร เหตุการณ์ชี้วัดการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับระบบประชาธิปไตยในยุคใหม่ก็คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ซึ่งมีการตื่นตัวของปัญญาชน เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 มีการตื่นตัวของชนชั้นกลาง และการเคลื่อนไหวเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ของกลุ่มคนเสื้อแดง ประชาธิปไตยที่เติบโตในยุคสุดท้ายได้แผ่กระจายกว้างออกไปในคนทุกชั้น มีการตื่นตัวสูงมาก
รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มาจากพื้นฐานของการเลือกตั้งขนาดใหญ่ ในขณะที่ยุคคุณบรรหารชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสี้ยวหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศ 19 ล้านกว่าคนเท่านั้น แต่ในยุคที่คุณยิ่งลักษณ์มีผู้ใช้สิทธิประมาณ 33 ล้านคน และพรรคเพื่อไทยก็ชนะด้วยเสียงเกือบ 16 ล้านเสียง
3. การอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อล้มรัฐบาลอดีตนายกฯ บรรหาร โดยพรรค ปชป. ในเดือนพฤษภาคม 2539 ก็เป็นเรื่องการบริหารและเรื่องสัญชาติของบิดานายบรรหารเอง จึงเป็นเรื่องน้ำลายในสภามิใช่เรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วมแต่อย่างใด
นายบรรหารจึงยุบสภาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2539 กรณีของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นการตัดสินว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไปก็คือการทำงานหลังน้ำท่วม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝีมือ
จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบพอสรุปได้ว่า โอกาสที่รัฐบาลจะถูกล้มโดยสังเกตจากความพ้องของวันเวลาการเลือกตั้ง และช่วงเวลาการเกิดอุทกภัย ไม่ใช่ปัจจัย แต่โอกาสที่รัฐบาลจะถูกล้มก็ยังมีตามปกติของการปกครองแบบนี้ มากน้อยตามสถานการณ์ แต่ใน 300 วันแรกเหมือนเด็กใหม่ยังมีจุดอ่อนมากต้องระวังให้ดี
แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังมีตัวช่วยอยู่อีกหลายตัว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะล้ม เช่น...
1. มีแนวร่วมที่เข้มแข็ง ฐานมวลชนของพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ต่างกับพรรคชาติไทยของอดีตนายกฯ บรรหารตรงที่พรรคเพื่อไทยมีแนวร่วมเป็นมวลชนคนเสื้อแดงกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ หลายล้านคน และในวันนี้พวกเขาได้เป็นผู้เสียสละทุ่มเทเพื่อเป็นกำลังสำคัญจนชนะเลือกตั้ง แม้จะมีการจัดตั้งแบบหลวมๆ แต่ก็มีความเข้มแข็งระดับหนึ่ง
สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้คาดว่าคนเสื้อแดงหลายแสนคนก็ได้รับเคราะห์กรรมจากมหาอุทกภัยไม่น้อยกว่าคนทั่วไปแต่ประเมินว่าพวกเขายังจะยืนหยัดสู้ตามแนวทางเดิมต่อไป เพราะเท่าที่สังเกตดูจากกระแสการต่อสู้ของคนที่มีอุดมการณ์ต่างกัน กรณีน้ำท่วมไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ใดๆ ทั้งสิ้นระหว่างคนที่มีความเห็นต่าง
ถ้าหากรัฐบาลจัดการเยียวยาแก้ไขได้ดี และคนเสื้อแดงช่วยกันขยายแนวร่วมในช่วงการฟื้นฟู อาจทำให้คนเสื้อแดงมีจำนวนมากขึ้นก็ได้
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าทำงานไม่ดี ก็ต้องเสียความนิยมลงไปตามสภาพของท้องถิ่นที่มีปัญหา
2. มีการสนับสนุนจากการเมืองระหว่างประเทศ กระแสประชาธิปไตยได้แผ่ไปทั่วโลก เกิดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง วงการเมืองระหว่างประเทศแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ซึ่งชนะเลือกตั้งมาอย่างถูกต้อง
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ยังต้องมาจากวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยจึงจะได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เปรียบของฝ่ายที่มีเสียงมากกว่าในสภา
3. มีกำลังทางเศรษฐกิจพร้อม ประเทศไทยยังมีฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีกำลังพอที่จะฟื้นฟูประเทศ ด้วยตัวเอง ซึ่งที่เจ้าสัว ธนินทร์ เจียรวนนท์ พูดไว้น่าสนใจที่สุดคือ ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองเป็นอันดับ 13 ของโลกประมาณ 2 แสน ล้านเหรียญ อันดับ 11 คือ สิงคโปร์ อันดับ 12 เยอรมนี อับดับ 13 ไทย อันดับ 14 ฝรั่งเศส การฟื้นฟูประเทศครั้งนี้ควรใช้เงินทุนของเราเอง และการจ้างงานเพื่อบูรณะหลังน้ำลดจะทำให้เงินสะพัดลงไปในทุกระดับ การว่างงานจึงไม่ใช่ปัญหา
วันนี้รัฐบาลมีเงินที่สามารถฟื้นฟู เยียวยา และทำโครงการป้องกันระยะยาวได้แน่นอน เพียงแต่จะต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อประชาชน
4. มีตัวช่วยจากบ้านเลขที่ 111 มีการพูดถึงการปรับคณะรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์น้ำท่วมกันมากซึ่งผู้วิเคราะห์คิดว่าถ้าจะมีก็น้อยมาก เพราะครั้งที่ผ่านมากว่าจะคัดกว่าจะตั้งได้ก็ต้องเปลี่ยนโผไม่รู้กี่รอบเนื่องจากคนมีฝีมือรุ่นเก่าถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปถึง 2 ชุด 100 กว่าคน ดังนั้น การปรับ ครม. ที่จะเกิดขึ้นจริงน่าจะอยู่ในเดือนมิถุนายน 2555 คือหลังน้ำลดประมาณ 6 เดือน เพราะคนบ้านเลขที่ 111 จะถูกปลดล็อกทางการเมือง ในช่วงเวลานั้นพอดี
ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นก็จะต้องจัดผู้ที่มีฝีมือและมีความเหมาะสมลงประจำตำแหน่งเพื่อช่วยบริหารประเทศและต่อสู้ทางการเมือง เข้าใจว่าการคัดเลือกจะเริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึงกลางปีหน้า ข่าวแจ้งว่าจะต้องเลือกเฟ้น อย่างเข้มข้นเพราะสภาพของเศรษฐกิจและการเมืองกำลังเป็นภาระหนักของผู้บริหารประเทศ
ผลของน้ำท่วมและภัยจากเศรษฐกิจโลกทำให้ทั้งผู้บริหารและประชาชนจะต้องร่วมกันต่อสู้อย่างเข้มแข็งจึงจะมีโอกาสผ่านไปได้โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยู่ในสภาพตกทุกข์ได้ยาก
วันนี้ใครคือตัวหลัก
อะไรคือปัจจัยหลัก
ที่จะทำให้รัฐบาลได้รับการยอมรับ
ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่ตัวหลักในการค้ำอำนาจรัฐของรัฐบาลชุดนี้ และไม่ใช่ปัจจัยหลักในสถานการณ์แบบนี้ หลายอย่าง เป็นแค่ตัวช่วย บางคนคิดว่าตัวหลักน่าจะเป็นคณะกรรมการ 2 ชุด ที่เพิ่งตั้งขึ้น คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารและจัดการน้ำ (กยน.)
แต่ผู้วิเคราะห์ บอกว่า วันนี้ทั้ง 2 ชุด ยังไม่ใช่ตัวหลัก เป็นแค่ตัวช่วย เช่นกัน
ทีมวิเคราะห์ยืนยันว่า วันนี้ ตัวหลักในการพานาวารัฐ ฝ่าสายน้ำไปข้างหน้า คือตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์เอง ภาพที่เป็นน้องสาวทักษิณอาจไม่หายไป แต่ภาพใหม่คือ นายกฯ หญิง ที่ขยันทำงานเพื่อประชาชน ใครจะว่าอะไรก็ไม่บ่น ไม่เถียง อาจจะดูแล้วไม่เก่งมากแต่ทุ่มเท สมาธิดี อดทน ถ้าได้ผู้ช่วยฝีมือดี น่าจะผ่าน 300 วันนี้ไปได้
ส่วนปัจจัยหลักที่จะเป็นกำลังสำคัญให้ผ่านด่านการเมืองหลังน้ำลดคือต้องทำผลงาน 3 ชิ้น
ผลงานระยะสั้นหลังน้ำลดทันที คือ เรื่องการฟื้นฟู บูรณะ เยียวยา แบบ สุจริต รวดเร็ว ทั่วถึง ถ้าพลาดจะเสียหาย ดังนั้น ใครที่ทำผิดพลาดจะต้องถูกลงโทษแบบไม่เกรงใจ
ผลงานระยะยาวคือการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนไทย นักท่องเที่ยวทั่วโลก และนักลงทุนทั่วโลกในการจัดทำโครงการป้องกันอุทกภัย เพื่อให้ทุกคนเชื่อว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่แบบที่ผ่านมา แผนงานขนาดใหญ่จะต้องถูกกำหนดอย่างรวดเร็ว มีเหตุผลให้คนที่รับรู้เชื่อว่าทำแล้วจะได้ผลจริง และจะต้องมีกำหนดการลงมือปฏิบัติโดยเร็วที่สุด
ผลงานตามนโยบายที่สัญญาไว้ ซึ่งจะต้องยืนยัน หรือยืดหยุ่น แต่ละโครงการ ตามสถานการณ์ แต่หลายข้อประชาชนก็รอคอย และยังมีความขัดแย้ง ดังนั้น การตัดสินใจของรัฐจะมีความสำคัญมากในช่วง 6 เดือนนี้
สรุปว่าการอยู่หรือไปของรัฐบาลในช่วง 300 วันแรก ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดง่ายๆ ด้วยน้ำมือฝ่ายตรงข้าม จะไม่เกิดด้วยปืน การยุบพรรคแบบเก่าก็ทำยาก รัฐที่เกิดจากการเลือกของคนส่วนใหญ่ มีฐานกว้าง รัฐที่เกิดจากการต่อสู้ เคี่ยวกรำหลายครั้งตลอด 5 ปี ย่อมแข็งแกร่ง สิ่งที่ต้องกังวลคือการบริหารและคนของรัฐบาลเอง
มหาอุทกภัยครั้งนี้ได้เตือนแล้วว่ากระแสของการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับกระแสน้ำ ยิ่งต่อต้าน ยิ่งปิดกั้นยิ่งรุนแรง
สายน้ำ ไหลไปตามธรรมชาติไม่มีใครต้านทานได้ อาจจะไหลมาจากหลายทิศหลายทาง
แต่กระแสของการเปลี่ยนแปลงน่ากลัวกว่ากระแสน้ำ เพราะการเปลี่ยนแปลงสามารถลอยผ่านมาได้ทางอากาศ ผ่านสื่อ ผ่านความคิด
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นถ้าใครไม่รู้จักปรับตัวเพื่ออยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกก็จะถูกกระแสการเปลี่ยนแปลงพัดจนจมหายไปในที่สุด
++
"ดร.โกร่ง"มือปราบ 4 วิกฤตไทย ภารกิจขบวนล่าสุด ปรับโฉม-ฟื้นเชื่อมั่น-กู้เศรษฐกิจ
โดย ศัลยา ประชาชาติ คอลัมน์ บทความพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 11
ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง กับการตัดสินใจแบบสายฟ้าแลบของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เมื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในฐานะนายกรัฐมนตรี เสนอกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 แต่งตั้ง ดร.วีรพงษ์ รางมางกูร หรือ "ดร.โกร่ง" นักวิชาการเศรษฐกิจแถวหน้าของเมืองไทย เข้ามามีบทบาทสำคัญในตำแหน่ง "ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ" (กยอ.)
โดยมีภารกิจใหญ่ในการแก้โจทย์ประเทศท่ามกลางวิกฤตหนักจากภัยพิบัติธรรมชาติน้ำท่วมพัดพาอุตสาหกรรม บ้านเรือน และเศรษฐกิจประเทศไทย จมน้ำต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้กว่า 3 เดือน
หลังจากนั้นไม่นาน "ดร.โกร่ง" ก็เปิดใจให้สัมภาษณ์ ด้วยอารมณ์เบิกบาน ยิ้มแย้มสลับกับเสียงหัวเราะระหว่างการตอบทุกคำถามอย่างมาดมั่น มีความสุข ภาคภูมิใจในโชคชะตาต้องกันกับการถูกเลือกเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองยามวิกฤต
หากรวมรัฐบาลนี้ด้วยก็เท่ากับ 4 วิกฤตเข้าไปแล้ว
"ไม่รู้เป็นอะไร ทุกครั้งที่มีวิกฤตผมมักจะต้องเข้ามาดูแลใน 4 รัฐบาล ครั้งแรก สมัยป๋า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นประเทศเกือบล้มละลาย ครั้งที่ 2 สมัยน้าชาติ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุคนั้นเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย การสู้รบระหว่างในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันทำให้เกิดความปั่นป่วนทั่วโลก ครั้งที่ 3 สมัยพี่จิ๋ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยต้องเผชิญสถานการณ์ต้มยำกุ้งจากค่าเงินบาทลอยตัว และครั้งที่ 4 ตอนนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเจอกับภัยพิบัติธรรมชาติน้ำท่วมยาวนาน เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่อยู่อาศัยของประชาชน การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลถึงเศรษฐกิจประเทศโดยรวม"
เป็นวรรคทองของ "ดร.โกร่ง" ผู้ที่สามารถใช้ความสงบ เยือกเย็น รอบคอบ สงบความเคลื่อนไหวในวิกฤตรุนแรงต่างๆ มาได้อย่างไม่ยากเย็น
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เขายืนยันว่า "ภารกิจหลัก" ของประธาน กยอ. คือใช้เวลาภายใน 1 ปี หรือ 12 เดือนนี้ วางกรอบแนวทางอย่างเป็นขั้นตอน จัดทำโครงสร้างประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ และวางระบบการปฏิบัติ ให้ภาครัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องสามารถลงมือทำต่อได้จนถึงขั้นตอนสุดท้ายให้บรรลุและสัมฤทธิผลตามเป้าหมาย
กรอบในการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศตามแนวทางของ ดร.วีรพงษ์ คือ ต้องมีหน่วยงานขึ้นมาสานต่อระยะยาวอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถหยิบโมเดล "อีสเทิร์นซีบอร์ด" สมัย เสนาะ อูนากูล เป็นเลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำไว้ มาใช้เป็นต้นแบบการแก้ปัญหาพิบัติภัยธรรมชาติของประเทศในวันนี้และวันข้างหน้าได้ ด้วยการตั้ง สศช. เป็นเลขาธิการของ กยอ. พร้อมกับจัดตั้งกองงานใหม่ขึ้นภายใน สศช. ทำหน้าที่ควบคุมดูแลขั้นตอนการปฏิบัติให้ลุล่วงตามระบบปฏิบัติของราชการ ทั้งการประมูล จัดซื้อ จัดจ้าง ในแต่ละเรื่องที่จะต้องพัฒนากันต่อไป
ยุทธศาสตร์ระยะเร่งด่วนจะต้องวางโครงสร้างให้เข้ากับแผนยุทธศาสตร์การสร้างอนาคตประเทศระยะยาวอีก 5 ปีข้างหน้าได้ด้วย
ส่วนยุทธศาสตร์ฟื้นความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติในไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ รวมไปถึงวิธีการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศกลับคืนมาโดยเร็วที่สุดนั้น
ดร.วีรพงษ์ อธิบายถึงวิธีการทำงานว่า ได้ขอให้ทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยจัดให้ไปพบกันและฟังข้อเสนอจากนักลงทุนญี่ปุ่นทั้งที่บริหารงานอยู่ในประเทศไทย และในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 70-80 % ของต่างชาติทั้งหมด
ไปพบก็เพื่อจะได้สอบถามถึงความต้องการในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้ ทุกบริษัทต้องการจะให้ไทยทำอะไรบ้าง เพื่อร่วมใจกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภาคการผลิต และการจ้างงาน 8 แสนคน กลับสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด
รวมทั้งจะไปพบไจก้า หรือรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งพร้อมจะสนับสนุนการเงินแก่ประเทศไทยนำมาใช้คลี่คลายวิกฤตครั้งนี้
การแก้ไขวิกฤตครั้งนี้รัฐบาลไทยต้องพร้อมเรื่องการเงินจะลงทุนใหม่เท่าไรก็ต้องยอม เพราะด้วยสถานะวันนี้การเงินการคลังของประเทศมั่นคงอยู่แล้ว สะสมมานานหลายสิบปี
ประธาน กยอ. ยืนยันว่าเมื่อได้แสดงความตั้งใจที่จะกอบกู้สถานการณ์อย่างแท้จริง เท่ากับให้ความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถอยู่ประเทศไทยได้ต่อไป ไม่ต้องย้ายการลงทุนไปที่อื่น
ส่วนภาคธุรกิจอื่นๆ ก็จะต้องฟังข้อเสนอจากผู้ประกอบการทุกฝ่าย จะต้องมาบอกกับ กยอ. ว่าต้องการให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง เพราะในคณะกรรมการชุดนี้มีตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย
"ผมมั่นใจว่าถ้าทุกอย่างทำตามแผนที่วางไว้ โดยสามารถสร้างความมั่นคง ลดความเสี่ยง ให้นักลงทุนต่างชาติ และผู้ประกอบการทุกภาคส่วนในประเทศได้ ก็สามารถขจัดความกังวลใจจากความเสี่ยงที่เขาต้องเผชิญมาตลอดอยู่แล้วทั้งเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันตลาดโลก ดังนั้น ก็ไม่ควรจะมีเรื่องรุนแรงอย่างภัยพิบัติรวมอยู่ด้วย"
ดร.วีรพงษ์ ยืนยันเสียงหนักแน่นว่าสิ่งที่จะทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเชื่อมั่นประเทศไทยสามารถรอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างสวยงามก็คือ ต้องวางโครงสร้าง จัดระเบียบการส่งเสริม และวางระบบการพัฒนา ไม่ให้เกิดน้ำท่วมประเทศซ้ำขึ้นอีกไม่ว่าจะเป็นปีหน้า ปีโน้น หรือปีไหนๆ ก็ตาม
สิ่งที่จะทำให้ กยอ. ช่วยรัฐบาลฟื้นฟูความเชื่อมั่น กอบกู้ความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเอเชีย พ้นวิกฤตภัยพิบัติน้ำได้ คนไทยก็ต้องช่วยกันคิด อ่าน ทำ เพราะตนเองนั้นจะเป็นผู้รับฟังเพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความสำเร็จทุกด้านเข้าด้วยกัน
แม้วิกฤตครั้งนี้มีความท้าทาย แต่ก็ไม่ได้เหนือไปกว่าความสามารถที่คนไทยจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับโฉมประเทศกลับมายืนในตำแหน่งผู้นำอาเซียนต่อไปได้
นั่นคือความมั่นใจในภารกิจล่าสุดของ "ดร.โกร่ง" ตัวช่วยสำหรับหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านงานกู้วิกฤตมาแล้วอย่างโชกโชน...
++
บทพระเอ๊กพระเอก ของ "บิ๊กตู่" กับ "นางเอกปู" และ "บิ๊กเจี๊ยบ" จับตาแผน "เจาะยาง ตท.12" ตอกลิ่ม "ธนะศักดิ์-ประยุทธ์"
รายงานพิเศษในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 16
ต้องยอมรับว่า การสงครามแห่งน้ำครั้งนี้ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยิ่งฉายแววแห่งความโดดเด่น จนลอยออกมาเหนือผู้นำเหล่าทัพคนอื่น
ไม่ว่าจะ รมว.กลาโหมชรา อย่างบิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ก็พยายามถ่อสังขารออกลุยตรวจน้ำท่วมจนแอบหอบ หรือ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ที่ยอมจมหายไปกับสายน้ำ และ บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ที่แค่การดูแลกองทัพอากาศดอนเมืองก็ยังสาหัส ต้องระดมทั้งทหารบก ทหารเรือเข้าช่วย
ส่วนบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ก็ออกสื่อแต่พองาม เพราะเน้นที่การแอบทำงานเงียบๆ และมักชอบแอบไปตรวจและเยี่ยมลูกน้อง แบบไม่ให้ตั้งตัว เพราะไม่ชอบให้เอิกเกริก และมีของติดไม้ติดมือไปฝากลูกน้องเสมอๆ
แต่คำโบราณว่า "ยิ่งโดดเด่น จะเป็นภัย" เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ. แห่งสยามประเทศ ก็มีบทบาทและพลังอำนาจสูงในการเมืองและในทางสังคมไทยอยู่แล้ว แถมด้วยตัวตน จุดยืนและแนวคิด ก็ยิ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำกองทัพที่มีบทบาทในยามวิกฤติเช่นนี้ไม่แพ้นายกรัฐมนตรี
จนที่สุดถูกจับให้เป็นคู่แข่งในการช่วงชิงความนิยมระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ในสายตาประชาชน
หยาดเหงื่อ ความเหนื่อยล้าของบรรดาพลทหาร หรือทหารเกณฑ์ และทหารชั้นผู้น้อย ได้สร้างคะแนนนิยมศรัทธาต่อกองทัพจากประชาชนอย่างมากโขในวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้
แม้จะมีทหารหลายคน ที่พูดตรงๆ ว่า ที่พวกเขาทำไปทั้งหมด ก็เพื่อประชาชน เพราะสงสารชาวบ้าน แต่หาใช่ต้องการทำให้ ผบ.ทบ. ได้คะแนนไปทั้งหมดคนเดียวแบบนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นทหารเรือหรือทหารอากาศ ที่ช่วยประชาชน ก็ดูเหมือนว่า คะแนนจะไหลไปกองรวมอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอด
เช่นเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องตกเป็นเป้า และเป็นตำบลกระสุนตก แห่งการถูกจ้องจับผิดและโจมตีจากคู่ปรับเก่า ที่แม้ว่าการสู้ศึกน้ำท่วมนี้จะทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ถูกกดให้จมน้ำไปก่อนก็ตาม แต่ใต้น้ำนั้นก็เกิดเกลียวคลื่นที่กำลังก่อตัวพร้อมที่จะเป็นสึนามิได้ทุกเมื่อ
แต่กระแสพระเอก ของ พล.อ.ประยุทธ์ และกองทัพ ก็ยังคงแรง และจะต่อเนื่องจนถึงหลังน้ำลด เพราะทหารจะต้องเป็นหน่วยหลักในการช่วยฟื้นฟูเก็บกวาด ซ่อมแซม
แถมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ปากบอกไม่อยากจะเป็นพระเอก แต่ก็เล่นเป็นพระเอ๊กพระเอก เพราะออกมาช่วย นางเอกปู ช่วยรัฐบาลเสมอๆ ในการตอกย้ำว่า น้ำท่วมครั้งนี้ ไม่ได้เป็นความผิดของใคร "อย่าไปโทษว่าใครผิด แต่เพราะน้ำเยอะ รัฐบาลก็พยายามทุกอย่าง กองทัพก็ช่วยสนับสนุนเต็มที่" พร้อมแอ่นอกรับผิดชอบร่วมกับรัฐบาล หากผลงานสอบตก
โดยเฉพาะนับวันวาจายิ่งคมคาย โดยเฉพาะเมื่อจับไมค์ปราศรัยต่อหน้าประชาชนที่ทหารไปช่วยในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ ที่เขากระซิบว่า "พูดทุกอย่างออกมาจากหัวใจ จึงไม่ต้องเตรียมตัว และไม่เคอะเขินใดๆ"
"เราต้องแก้ปัญหาด้วยความสามัคคี และเห็นอกเห็นใจกัน เราต้องใช้เวลาที่อยู่ด้วยกันนี้รักกันให้มากๆ อย่าไปต่อว่ากัน เพราะมีแต่จะทำให้เสียใจ"
"นิสัยคนไทยน่ารักหายไปนานแล้วช่วยทำให้น่ารักเหมือนเดิม อยากให้รู้ว่าไม่มีใครอยากปล่อยน้ำมา ไม่มีใครอยากให้น้ำท่วม ผมเข้าใจความรู้สึกว่าที่ต้องสูญเสียบ้าน สูญเสียทรัพย์สิน แต่อย่าให้สูญเสียความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ที่มีน้ำจิตน้ำใจ เป็นนิสัยคนไทย" คำคม ของ พล.อ.ประยุทธ์
รวมทั้งประโยคติดปากที่ว่า "คนไทยมีนิสัยไม่ยอมแพ้ อดทน" "ทหารจะไม่ทิ้งประชาชน"
นี่จึงเป็นโอกาสในวิกฤติที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้น้ำท่วมในการล้างคราบเลือดของคนเสื้อแดงที่เกาะมือทหาร และสร้างความแข็งแกร่งให้เก้าอี้ ผบ.ทบ. เพราะถือเป็นช่วงขาขึ้นของกองทัพ ที่ทำให้มีคนรักทหารมากขึ้น ช่วยการทำเสื้อยืดให้ทหาร มีคำสกรีนต่างๆ โดยเฉพาะ "ทหารของพระราชา" "ทหารของประชาชน" พร้อมปลุกกระแสทหารทำได้ทุกอย่าง และเป็นได้ทุกอย่าง ที่ผนวกกับโฆษณาส่งเสริมภาพพจน์ของ ทบ. ทั้ง 3 ชุดที่ออกมาพอดี ที่ล้วนสะกิดหัวใจ
ท่ามกลางความสุขในการได้ช่วยเหลือประชาชน ได้ใกล้ชิดชาวบ้านและเก็บคะแนนจากความเหน็ดเหนื่อยของทหารกว่า 5 หมื่นคน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ถูกล็อกออน log on ถูกล็อกเป้าไว้แล้ว รอแค่เจอจุดอ่อน และทีเผลอ เท่านั้น...
นอกจากต้องการทำงานแบบเงียบๆ ปิดทองหลังพระ ไม่อยากตกเป็นข่าว หรือยึดติดกับการต้องออกสื่อแล้ว กล่าวกันว่า สาเหตุหนึ่งที่ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.สส. ไม่ค่อยไปสุงสิงกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ประการสำคัญก็คือ เรื่องจุดยืนทั้งในทางการเมืองและในฐานะผู้นำกองทัพไทย
ด้วยรู้กันดีว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ นั้น แม้จะเป็นทหารรบพิเศษ ที่มีโค้ดลับว่า "03" ผู้เด็ดขาด แต่ตลอดชีวิตการเป็นนายทหาร ตั้งแต่ โรงเรียนนายร้อย จปร. เรื่อยมานั้น เขาถือเป็นทหารเสือราชินี แม้จะไม่เคยอยู่ ร.21 รอ. ก็ตาม แต่โดยหน้าที่และบทบาทแล้ว เขาคือทหารเสือพันธุ์แท้ และแถวหน้า ยิ่งกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เสียอีก
อีกทั้งบทบาทของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ในฐานะ ผบ.สส. ที่แม้จะเป็นผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพไทย แต่ก็ถูกบทบาทที่โดดเด่นของเพื่อนรัก ตท.12 อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. กลบเสียสนิท
เนื่องจาก ทบ. เป็นหน่วยหลักในการช่วยเหลือประชาชน เพราะเป็นเหล่าทัพที่ใหญ่ที่สุด มีทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์มากที่สุด
แม้ว่าเมื่อครั้งที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ให้ใช้ระบบการแก้ปัญหาภัยพิบัติของกองทัพ ด้วยการให้ใช้ ศปภ.บก.ทัพไทย และ ศปภ.ทบ. ศปภ.ทร. และ ศปภ.ทอ. ในการช่วยประชาชนนั้น เขามีจุดมุ่งหมายที่จะให้นายกรัฐมนตรี หรือ ศปภ.ของรัฐบาล สั่งการผ่าน ศปภ.บก.ทท. โดยตรงในฐานะหน่วยบังคับบัญชาของ 3 เหล่าทัพ จนมีการตั้ง พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสนาธิการทหาร เพื่อนรัก ตท.12 เป็นผู้ดูแล
แล้ววางระบบให้รองเสนาธิการทั้ง 3 เหล่าทัพ มาเป็นผู้ประสานงานและมานั่งประจำที่ บก.กองทัพไทย ถ.แจ้งวัฒนะ
แต่สุดท้ายและท้ายสุด รัฐบาล และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กลับยิงตรงไปที่เหล่าทัพ โดยไม่ผ่าน บก.ทัพไทย เพราะรวดเร็วกว่า โดยเฉพาะการประสานตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ.
เรียกได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ โทรศัพท์สายตรงหา พล.อ.ประยุทธ์ ทุกวัน แถมวันละหลายครั้งด้วยซ้ำ บทบาทของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ก็ดูจะเจือจางไป ประกอบกับที่ตัวเขาเองก็ชอบอยู่เงียบๆ เวลาไปภารกิจที่ไหน ก็จะห้ามไม่ให้นักข่าวติดตามไปทำข่าว
"ผมขอทำงานแบบเงียบๆ" คือคำตอบจาก พล.อ.ธนะศักดิ์ โดยไม่ห่วงว่า ใครจะกังขาในบทบาทของ ผบ.สส.
ด้วยเพราะในทางปฏิบัติแล้ว พล.อ.ธนะศักดิ์ ยังคงปฏิบัติภารกิจของ ผบ.สส. ตามปกติ โดยเฉพาะการแอบไปเยี่ยมให้กำลังใจทหารชั้นผู้น้อยของแต่ละเหล่าทัพแบบไม่ขอเป็นข่าว แม้แต่การเป็นผู้เอ่ยปากกับรัฐบาลและสำนักงบประมาณ ในการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงพิเศษให้พลทหารที่แช่น้ำช่วยประชาชนอยู่ อีกวันละ 120 บาท
ไม่แค่นั้น พล.อ.ธนะศักดิ์ พยายามที่จะรักษาระยะห่างกับฝ่ายการเมืองกับรัฐบาล ไม่เป็นฝ่ายเข้าหา และพยายามที่จะเลี่ยงการใกล้ชิดหรือร่วมคณะกับฝ่ายการเมือง แต่ตรงกันข้าม เขาพยายามสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกับ ผบ. 3 เหล่าทัพ
ทั้งการหาโอกาสรับประทานอาหารร่วมกัน และการมี "ภารกิจลับ" ร่วมกันในช่วงวิกฤติน้ำท่วมนี้ แต่ด้วยความเป็น ตท.12 ทำให้เขามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ผบ.ทร. เป็นอย่างมาก อาจด้วยเหตุผลตั้งแต่สมัยเรียนเตรียมทหาร และด้วยเหตุที่เป็น ตท.12 กับ ตท.13 จึงทำให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ เป็น "พี่เจี๊ยบ" ที่น่ารักเป็นกันเอง ของ "น้องหรุ่น" ที่มักลุยน้ำไปเยี่ยมปลอบขวัญทหารเรือและเยี่ยมชาวบ้านด้วยกันบ่อยๆ แถมเลือกที่จะมาเยือนกองทัพเรือ เป็นเหล่าทัพแรก ในฐานะ ผบ.สส.
รวมทั้งอาจจะไปร่วมต้อนรับหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดของ ทร. ที่กลับจากโซมาเลีย 28 พฤศจิกายนนี้ ที่สัตหีบ อีกด้วย ในฐานะที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ให้ความสำคัญด้านบทบาทกองทัพไทยในเวทีนานาชาติ
แต่ขณะเดียวกัน เขาก็เป็นน้องเจี๊ยบที่น่ารักของ บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ผบ.ทอ. ซึ่งเป็นรุ่นพี่ ตท.11 และเป็นเพื่อนรักของ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ.
แม้ทั้งคู่จะเหินห่างกัน ตั้งแต่เรียนจบและเส้นทางรับราชการที่แตกต่าง แต่ พล.อ.ธนะศักดิ์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นมีหัวใจสีม่วง แห่งความจงรักภักดี ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ที่ทำให้ทั้งคู่ได้มาทำงานใกล้ชิดกัน
ว่ากันว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้นหนุนสุดตัวให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ขึ้นเป็น ผบ.สส. ในช่วงการทำโผโยกย้ายเมื่อกันยายนที่ผ่านมา เพราะ พล.อ.ธนะศักดิ์ มีอายุราชการถึงปี 2557 จึงปิดโอกาสที่ฝ่ายการเมืองจะย้าย พล.อ.ประยุทธ์ ไปเป็น ผบ.สส. ในปีหน้า หรือเลวร้ายที่สุด ก็ไปเป็นปลัดกลาโหมเลย
ไม่แค่นั้น บรรดาผองเพื่อน ตท.12 ก็พยายามที่จะทำให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นใกล้ชิดชื่นมื่นกันมากขึ้น เพราะความเป็นหนึ่งเดียวจะทำให้รุ่น ตท.12 เปี่ยมพลัง เพราะถ้ามีรอยร้าวหรือระยะห่างเมื่อใด จะถูกฝ่ายการเมืองสอดแทรกทันที
จนนายทหารใน ตท.12 นี้ พูดกันว่าจะต้องให้ความสำคัญกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ เท่าๆ กัน เพื่อไม่ให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะไม่ว่าไปที่ไหน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ. แห่งเมืองไทย จะเป็นเบอร์ 1 และที่ 1 เสมอ
แต่กระนั้น ก็มี "แผนเหนือเมฆ" ของทหารแตงโม และฝ่ายการเมือง คิดที่จะตอกลิ่มให้ทั้ง พล.อ.ธนะศักดิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ แตกคอกัน หรืออย่างน้อยก็มีการแข่งขันกัน และมีแผนที่จะย้ายสลับให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ มาเป็น ผบ.ทบ. แล้วให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น ผบ.สส. หากในที่สุด ไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมได้
อย่าลืมว่า ในการโยกย้ายนายพลครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ชื่อของ พล.อ.ธนะศักดิ์ เต็งหนึ่งนิ่งบนเก้าอี้ ผบ.สส. โดยไม่มีใครมาแย่งชิงได้ ทั้งๆ ที่เขามีอายุราชการถึงปี 2557 ที่ฝ่ายการเมือง สามารถอ้างเป็นเหตุให้เขารอต่อไปอีกปี แล้วให้ พล.อ.เสถียร ข้ามไปเป็นปลัดกลาโหม จนเกิดเรื่องวุ่นวายและขัดแย้ง ถึงขั้นเกือบจะโหวต ตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 มาแล้ว
นั่นเป็นการแสดงว่า ฝ่ายการเมืองรู้ดีว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ ทหารเสือผู้นี้เป็นใคร จึงมีเสียงสะท้อนออกมาว่า "อย่าไปยุ่ง อย่าไปแตะ" ด้วยรู้กันดีว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำต้องไม่สร้างเงื่อนไขสร้างความขัดแย้งกับกองทัพ และไม่แตะต้องทุกอย่างที่เกี่ยวโยงใกล้ชิดกับสถาบัน
อันเป็นเหตุผลเดียวกับที่ รัฐบาลนี้ไม่แตะต้อง พล.อ.ประยุทธ์ ในการโยกย้ายที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
แต่ด้วยบทบาทและพลังอำนาจแฝงในทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงทำให้ฝ่ายการเมือง ไม่อาจปล่อยให้เขานั่งเป็น ผบ.ทบ. ต่อไปจนเกษียณปี 2557 เพราะกองทัพจะยิ่งแข็งแกร่ง แถมทั้งมี พ.ร.บ.กลาโหม เป็นเกราะกำบังการถูกแทรกแซง จึงทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย แกนนำเสื้อแดง และทหารกุนซือ หาทางที่จะย้าย พล.อ.ประยุทธ์ พ้นเก้าอี้ ผบ.ทบ. ให้ได้
อย่างน้อยก็เพื่อถอดสลักการปฏิวัติรัฐประหาร และการตะล่อมให้กองทัพ โดยเฉพาะ ทบ. กลับเข้ากรมกอง กลับสู่การเป็นทหารอาชีพ จนนำมาซึ่งความพยายามในการยกร่าง แก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม นั่นเอง
สายสัมพันธ์แห่งเพื่อนร่วมรุ่น แต่ไม่ใช่เพื่อนรักเพื่อนซี้ของ พล.อ.ธนะศักดิ์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จึงกลายเป็น "เหยื่ออันโอชะ" ของฝ่ายตรงข้ามในการตอกลิ่มกองทัพ ในเมื่อคนหนึ่งก็เป็นถึง ผบ.สส. ถือเป็นผู้บังคับบัญชาของ 3 เหล่าทัพ ส่วนอีกคนคือ ผบ.ทบ. แห่งเมืองไทย ที่ยังคงยิ่งใหญ่และเปี่ยมพลังอำนาจ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ เก็บตัวและไม่ปรากฏกายออกสื่อ ก็เพราะไม่ได้ต้องการไปแข่งขันกับ พล.อ.ประยุทธ์ และปล่อยให้เพื่อนตู่เป็นที่หนึ่งเสมอ เพราะการโดดเด่นมากแค่ไหน ย่อมหมายถึงการตกเป็นเป้า และเป็น "ตำบลกระสุนตก" ที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ไม่จำเป็นต้องเอาตัวเข้าเสี่ยง เพราะแค่เป็น ผบ.สส. แถมยาวนานเขาก็พึงพอใจแล้ว
แต่ทว่า ด้วยตำแหน่ง ผบ.แห่งกองทัพไทย พล.อ.ธนะศักดิ์ ก็ต้องมีเชิงมีศักดิ์ศรีและบารมีของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อเป่านกหวีด ผบ.เหล่าทัพ ต้องมาพร้อมหน้า โดยมีเขานั่งหัวโต๊ะ โดยไม่ต้องสนว่าใครเป็นรุ่นพี่เป็นรุ่นน้อง
แต่แน่นอนว่า พลังแห่งแผงอำนาจ ตท.12 ยังคงแข็งแกร่ง เพราะมีทั้ง ผบ.สส. และ ผบ.ทบ. และห้าเสือ และแม่ทัพนายกองคุมกำลัง และตำแหน่งที่คุมงบประมาณเพียบพร้อม ดังนั้น ฝ่ายตรงข้ามย่อมที่จะเล็งหาช่องโหว่ในการเจาะยาง เพื่อนำไปสู่ความอ่อนแอและแตกแยกของรุ่น และของกองทัพ
การเล่นบทพระเอกของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงแวดล้อมไปด้วยภัยทั้งที่มองเห็น รู้ว่าใครเป็นศัตรู และทั้งภัยที่มองไม่เห็น ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ใครชื่นชมจริงใจ ใครหมั่นไส้ ใครพี่น้อง มิตรคือศัตรู หรือศัตรูคือมิตร และ เพื่อนคือเพื่อนรักเพื่อนแท้หรือไม่เลย...
++
กยอ.เดินหน้าฟื้นฟูประเทศ สร้างความมั่นใจนักลงทุน ของจริงหรือแค่พิธีกรรมแก้ขัด
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 22
ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมที่กำลังสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อยู่ในขณะนี้
ชื่อของ นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยชื่อของ นายสุเมธ ตันติเวชกุล พลันปรากฏขึ้นมาพร้อมกับความหวังของคนไทย จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาว
นายวีรพงษ์ ได้รับการทาบทามจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ให้เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) มีอำนาจหน้าที่ในการระดมความเห็นและความรู้เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว เสนอแก่รัฐบาล
ขณะที่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้รับการทาบทามให้เข้ามาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มีอำนาจหน้าที่ในการทบทวนนโยบาย แผนงานและแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ระดมความคิดเห็นและความรู้เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาและวางระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศ
รวมทั้งจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและวางกรอบการลงทุนด้านการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ เสนอแก่รัฐบาล ทั้งนี้ ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการ กยอ.
นายวีรพงษ์ ได้เรียกประชุม กยอ. นัดแรก ขึ้นทันที เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ว่า ปี 2555 แม้ฝนฟ้าจะหนักหนาสาหัสเหมือนปีนี้ จะต้องจัดการบริหารน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ไม่ให้เกิดอุทกภัยหนักหนาสาหัสเหมือนปีนี้
ก่อนจะตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ประกอบไปด้วย
1. คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และต่างประเทศ มี นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธาน
2. คณะอนุกรรมการด้านการประสานความร่วมมือและสร้างความมั่นใจกับภาคเอกชน มี นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธาน
3. คณะอนุกรรมการด้านการจัดตั้งองค์กรและแนวทางปฏิบัติราชการแผ่นดิน มี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน
และ 4. คณะอนุกรรมการด้านการเงิน ตลาดทุน มี นายศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นประธาน ดูแล้ว มีความเหมาะสม ทั้งขอบเขตงาน และคนที่เข้ามารับผิดชอบ
สำหรับเป้าหมายระยะยาว นายวีรพงษ์ ระบุว่าจะต้องเชื่อมโยงการทำงานกับคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ที่มี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมถึงคณะกรรมการฟื้นฟู ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน, เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ความเป็นอยู่ของประชาชน และคุณภาพชีวิต ในการพัฒนาประเทศ คงต้องพัฒนาในแนวทางที่จะต้องนำปัจจัยเสี่ยงเรื่องอุทกภัยเข้ามาพิจารณาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ด้วย
ขณะที่มีข่าวว่า บริษัทประกันภัยจะไม่รับประกันต่อให้กับธุรกิจในประเทศไทย นายวีรพงษ์ ก็ยืนยันว่า ได้รับแจ้งว่า ในชั้นต้นนี้ การประกันภัยจะทำไปก่อน ยกเว้นเรื่องอุทกภัย ยังเจรจากันอยู่ว่าอุทกภัยเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของภัยธรรมชาติทั้งหมด เมื่อตกลงกันได้แล้ว ก็จะมาต่อรองเรื่องค่าธรรมเนียมเงื่อนไขต่างๆ หากฝ่ายรัฐบาลให้ความมั่นใจได้ว่าจะดำเนินการ ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ก็จะแบ่งเบาในเรื่องค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขในภาคธุรกิจสามารถประกันภัยเรื่องนี้ได้ โดยเบื้องต้นบริษัทรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศแจ้งว่าจะรับประกันแล้ว แต่อาจแพงขึ้น ก็พยายามทำให้ราคาเท่าเดิมหรือแพงขึ้นจากเดิมไม่มาก
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนของญี่ปุ่น ทั้งในส่วนของเจโทร และประธานหอการค้าญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า เจซีซี และประธานบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ในประเทศไทย นายวีรพงษ์ ยืนยันว่า ญี่ปุ่นมีความปรารถนาจะอยู่ประเทศไทย และขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ต่อไป เพราะไทยมีความได้เปรียบในหลายเรื่อง โดยเฉพาะมีแรงงานที่มีคุณภาพ เหนือประเทศอื่นในแถบเพื่อนบ้าน มีประสบการณ์ และมีความสัมพันธ์ที่ดี สามารถรับวัฒนธรรมการจ้างแบบญี่ปุ่นได้ ในชั้นต้นตอนที่โรงงานซ่อมแซม ได้ขอให้ไทยอนุญาตแรงงานตกงาน สามารถไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่นในประเทศอื่นได้
ที่น่าสนใจที่สุด ก็คือ มุมมองของเอกชนญี่ปุ่น นายวีรพงษ์ ระบุว่า "มีความเห็นร่วมกันว่า การแบ่งโซนอุตสาหกรรมในอนาคตข้างหน้า มีความจำเป็นแล้ว เขาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทั้งด้านการเงิน เทคนิค จะเข้ามาช่วยเหลือ เพราะญี่ปุ่นมีประสบการณ์เรื่องอุบัติภัย ภัยธรรมชาติมากมาย"
ส่วนกำหนดกรอบการทำงาน ปี 2555 ก็มีการวางแผนงานไว้แล้ว คือ
1. การลงทุนด้านบริหารจัดการน้ำในระยะยาวอย่างยั่งยืน เบื้องต้นคาดว่าจำเป็นต้องฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พิจารณาความเหมาะสมของการสร้างเขื่อนหรือแหล่งกักเก็บน้ำแห่งใหม่ สร้างทางเดินน้ำหรือฟลัดเวย์ และระบบระบายน้ำ การสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมหรือเขื่อน บริเวณพื้นที่นิคมและชุมชนรอบบริเวณให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม การปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่หรือลดรอบระยะเวลาเพาะปลูกในพื้นที่น้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำที่สมดุล
2. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เน้นการออกแบบให้สอดคล้องกับการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ
3. การวางแผนการใช้ดิน กำหนดใช้ที่ดินและผังเมืองใหม่ กำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อม สำหรับการลงทุนและการก่อสร้างทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน
4. การพิจารณาพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ทางเลือกใหม่ เช่น แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก
5. การพัฒนาธุรกิจประกันภัยของไทย พิจารณากลไกและรูปแบบประกันภัยรูปแบบใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ในกรณีบริษัทประกันภัยต่างประเทศไม่ประสงค์จะรับประกันบริษัทในไทยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง
6. การปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน
7. การร่วมมือกับต่างประเทศ โดยประสานความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ และรัฐบาล เพื่อระดมความรู้จากต่างประเทศ
ส่วนการจัดหาแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะการลงทุนระยะยาว จะไม่พึ่งพางบประมาณอย่างเดียว เช่น การระดมเงินจากตลาดทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน การออกกฎหมายพิเศษกู้เงินการใช้ทุนสำรองต่างประเทศ การร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ในโครงการที่มีผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ และการจัดตั้งองค์การถาวรและระบบบริหารจัดการ จะดำเนินการภายใน 9 เดือน
ส่วนการทำความเข้าใจกับสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน สื่อสารกับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะดำเนินการภายใน 6 เดือน
จากข้อมูลแม้จะดูดี เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ จากนี้ก็คงจะเหลือเพียงแต่การดำเนินงานของรัฐบาล จะยอมทำตามข้อเสนอแนะหรือไม่ เพราะบางเรื่องอาจจะไปเกี่ยวข้องผลประโยชน์ของบางคนในรัฐบาล
มิฉะนั้น ชื่อของ กยอ. และ กยน. ก็คงจะเป็นได้เพียงแค่พิธีกรรมอย่างหนึ่ง ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ขัดปัญหาน้ำท่วมเท่านั้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย