http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-24

บัน คี มุน-คลินตัน นัยทางการเมืองรัฐบาลปู โดย จำลอง ดอกปิก, ผู้หญิงถึงผู้หญิง พลังใจจากฮิลลารี

.
มีโพสต์หลังบทความที่ 1 "คุยกับปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ : จับ'ใจความสำคัญ'จากท่าทีของฮิลลารี คลินตัน ต่อ'รัฐบาลพลเรือน'ไทย "

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -



บัน คี มุน-คลินตัน นัยทางการเมืองรัฐบาลปู
โดย จำลอง ดอกปิก คอลัมน์ ระหว่างวรรค
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและหารือข้อราชการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ของนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ

การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

ในทางการเมือง มีนัยยิ่งกว่าภาพปรากฏเบื้องหน้า ที่ดูเหมือนเป็นแค่เรื่องเกี่ยวกับมนุษยธรรม การเข้ามาให้ความช่วยเหลือประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตอุทกภัย

และเป็นการเตรียมการของฮิลลารี คลินตัน สำหรับการพบปะหารือระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซียประการเดียว


นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมา ประเทศไทยได้รับการจับตามองจากประชาคมโลกเป็นอย่างมาก แม้มีการคืนอำนาจให้กับประชาชน มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในระยะเวลาต่อมา และไม่มีการยึดอำนาจการปกครองจากฝ่ายกองทัพอีก

ทว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริงกลับถูกแทรกแซงอย่างหนักหลายรูปแบบ กระทั่งล้มไปในที่สุด อำนาจการปกครองประเทศเปลี่ยนมือ จากพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนสูงสุด มีการใช้อิทธิพลเหนือพรรคการเมืองเข้าไปแทรกแซง กดดันเพื่อการสถาปนารัฐบาลใหม่ กลายเป็นอีกชนวนเหตุการชุมนุมเรียกร้อง และการปราบปรามอย่างรุนแรงตามมา มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ภายหลังสถานการณ์ความรุนแรงในเมืองหลวง จึงถูกจับตามองจากนานาอารยประเทศอย่างใกล้ชิด กลุ่มทูตประเทศต่างๆ ในไทยถึงขั้นรวมตัวกันติดตามสถานการณ์ มาตั้งแต่ครั้งการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไป และเรียกร้องให้ยอมรับผลการเลือกตั้ง เช่นเดียวกันกับผู้นำหลายประเทศและหลายองค์กรที่แสดงความเป็นห่วง หากบิดเบือนเจตจำนงประชาชน ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของบัน คี มุน และฮิลลารี คลินตัน จึงเหมือนกับการตีตรารับประกันความชอบธรรมของรัฐบาล และเมื่อที่มาถูกต้อง ชอบธรรม การเสนอหรือให้ความช่วยเหลือจึงตามมาเป็นระลอก ไม่ปรากฏข่าวคราวการทบทวน หรือชะลอโครงการให้การช่วยเหลือ หรือความร่วมมือเพื่อเป็นการแสดงท่าทีตอบโต้ ที่มีที่มาไม่ชอบธรรมเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม ผู้นำนานาอารยประเทศจะให้การยอมรับก็เฉพาะแต่ความถูกต้องชอบธรรมในการมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพฤติการณ์ การบริหารประเทศ อันเป็นเรื่องกิจการภายในและรัฐบาลต้องรับผิดชอบผลการกระทำนั้น ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมือง หรือกฎหมาย อย่างเช่น การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ การยื่นถอดถอน หรือแม้แต่เรื่องที่อาจส่งผลสะเทือนทางการเมืองอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเรื่อง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ

เรื่องเหล่านี้เป็นวิถีทางการเมือง วิถีทางการเมืองที่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็ย่อมต้องอยู่ในครรลองของการเปลี่ยนแปลงภายใต้กติกาประชาธิปไตย ที่ไม่ว่าใครจะอยู่หรือไป ไม่ใช่เรื่องสำคัญ หากเป็นเจตจำนง เป็นการลงมติโดยประชาชน ที่นานาอารยประเทศให้การยอมรับ

ประทับตราที่มานั้นถูกต้องและชอบธรรม!!



++

คุยกับปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ : จับใจความสำคัญท่าทีของคลินตันต่อรัฐบาลพลเรือนของไทย
โดย พิณผกา งามสม ในเว็บไซต์ ประชาไท
Thu, 2011-11-17 15:26


สัมภาษณ์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ต่อกรณีการแถลงข่าวร่วมระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยซึ่งสาระสำคัญไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมและการกู้สนามบินดอนเมือง


# อะไรเป็นสัญญาณที่น่าสนใจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐวานนี้

ผมคิดว่ามีทั้งหมด 5 เรื่อง เรื่องแรกคือรัฐบาลสหรัฐยืนอย่างเข้มแข็งอยู่เบื้องหลังรัฐบาลพลเรือนของไทย สอง คือสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันประชาธิปไตย สาม คือสนับสนุนให้ไทยเคารพในหลักของกฎหมายและหลักการปกครองที่ดี หรือ Good Governance สี่ คือสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ห้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสมานฉันท์ด้านการเมือง ผมคิดว่านี่เป็นสาระที่สำคัญของรัฐบาลสหรัฐ

และที่สำคัญคือผมคิดว่าสหรัฐสหรัฐเริ่มเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้นในแง่ที่ว่า ที่ผ่านมา 20-30 ปีที่ผ่านมา ความสนใจของสหรัฐอยู่ที่การคงไว้ซึ่งมิตรภาพที่มีอยู่กับกองทัพและสถาบันอื่นๆ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่ผ่านมาทำให้สหรัฐต้องเปลี่ยนจุดยืน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยได้ และผมคิดว่าสหรัฐปรับตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน เป็นต้น แต่ปรับตัวช้าก็ยังดีกว่าไม่ปรับตัวเลย


# อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไท เมื่อหลายเดือนมาแล้วว่าสหรัฐได้ข้อมูลที่ช้าไม่อัพเดท ท่าทีของฮิลลารี คลินตันครั้งนี้น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงในด้านการรับข้อมูลข่าวสารด้วยหรือเปล่า

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจจะใช่ เพราะมีการเปลี่ยนตัวของเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงเทพฯ ด้วย และตั้งแต่การเปลี่ยนตัว ทูตคริสตี้ (เคนนีย์) ก็ออกมาแสดงบทบาททางการเมืองของไทยค่อนข้างมาก มีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสถานทูตกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมคิดว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

อีกส่วนหนึ่งคือ เคิร์ท แคมพ์เบล มาเมืองไทยเมื่อก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุม และอยากพบกับผู้นำคนเสื้อแดง ผมคิดว่านั่นก็เป็นสัญญาณที่สำคัญว่าสหรัฐอยากจะรู้จริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น และผมคิดว่ามีตัวแปรหลายอย่างเช่น ความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น สิ่งที่เกิดในอินโดนีเซีย หรือพม่า ฉะนั้น สหรัฐต้องกลับมาเน้นบทบาทนี้เหมือนเดิม คือ สนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

อีกเรื่องที่สำคัญคือจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองในสหรัฐเอง


# สหรัฐกังวลกับการที่จีน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย

แน่นอน แน่นอนมาก ในแง่ของภูมิภาค เราต้องเข้าใจว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันเป็นภูมิภาคที่อยู่ใต้อิทธิพลจีนมานานนับเป็นพันปีแม้ในปัจจุบันด้วยความใกล้ชิดกันด้านภูมิศาสตร์ เราบอกได้เลยว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเหมือนสนามหลังบ้านของจีน

สหรัฐเองก็รู้สึกยากที่จะเข้าถึง แต่บทบาทก็ต้องเปลี่ยนไปเพราะจีนแผ่บทบาทมากเลย ในส่วนของไทยเองจีนก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากในเมืองไทย ไม่ว่าจะช่วงวิกฤตการเมืองหรือวิกฤตน้ำท่วมก็ตาม แล้วจีนมีบทบาทสำคัญ คือไม่ได้เข้ามาเล่นกับการเมืองโดยตรง คือจีนคบได้กับทุกคนในเมืองไทย แต่สหรัฐมีข้อบกพร่องอย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ประชาไทไป นี่เป็นจุดสำคัญที่สหรัฐต้องกลับเข้ามาเพื่อมาสร้างความสัมพันธ์ด้านยุทธศาสตร์ที่มีต่อไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น


# วิธีพูดของคลินตันเมือวาน เป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญมากแค่ไหน เพราะที่ผ่านสหรัฐให้ความสำคัญกับตัวเล่นทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง แต่ท่าทีเมื่อวานเหมือนเป็นการย้ำว่ากำลังจะเปลี่ยนตัวผู้ที่สหรัฐกำลังจะให้การสนับสนุน

ผมก็ผิดหวังมากที่สื่อไทยไม่ได้ลงในรายละเอียดที่คลินตันพูด อาจจะเป็นเพราะสื่อนั้นทำรับใช้คนบางกลุ่ม ก็เลยไม่อยากพูดถึงประเด็นนี้ ผมคิดว่ามีความสำคัญ คือความสำคัญมีหลายๆ ด้าน ในแง่ของระดับรัฐมนตรีต่างประเทศมาเยือนไทยเอง และคนนี้ก็เป็นอดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง และเขามาเยือนไม่กี่ประเทศและเลือกมาไทย มันก็มีนัยยะสำคัญ

การมานั้นส่งสัญญาณหลายอย่าง สำคัญที่สุดก็คือ การให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และคลินตันเองก็ดีเฟนด์ให้ยิ่งลักษณ์หลายเรื่อง ดีเฟนด์กระทั่งว่ายิ่งลักษณ์ไม่ไปปรากฏตัวที่ฮาวายเพราะยิ่งลักษณ์ติดภารกิจ แต่เป็นสิ่งสำคัญมากที่ยิ่งลักษณ์จะต้องไปบาหลี ซึ่งเป็นการตีปลาหน้าไซ ถ้าหากใครจะโจมตียิ่งลักษณ์ว่าน้ำท่วมแล้วยังจะไปบาหลีอีก ผมคิดว่านี่จะช่วยได้เยอะมาก

# แต่เราก็อาจจะพูดได้ว่าสหัฐตอนนี้มีสถานภาพง่อนแง่น และตามปกติ ขณะที่คลินตันเดินทางไปที่อื่น ก็พบปะและแถลงร่วมกับรมต. ต่างประเทศของประเทศนั้นๆ ไทยเองต่างหากที่ให้ความสำคัญกับสหรัฐมากเกินไป

ผมว่านั่นไม่ใช่ประเด็นเลย เพราะแม้สหรัฐจะง่อนแง่น หรือลดบทบาทลงมา แต่สหรัฐเองก็ยังเป็นประเทศมหาอำนาจ เป็นซูปเปอร์พาวเวอร์ ไม่มีใครปฏิเสธความจริงได้ และที่สำคัญคือไทยให้ความสำคัญกับสหรัฐโดยตลอด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐมาเยือนไทยก็ต้องได้พบกับนายกอยู่แล้ว มันไม่ได้หมายความว่าเราไปให้ความสำคัญกับสหรัฐจนเกินเหตุ ผมว่าไม่ใช่

ถ้ามองในแง่การเมือง ธรรมเนียมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คงต้องหาโอกาสในการสร้างประเด็นทางการเมืองของตัวเอง และมีผู้นำระดับสูงขนาดนี้มาก็ต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิด


# ยิ่งลักษณ์เมื่อวานได้คะแนนไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำวิพากษ์วิจารณ์ที่สำคัญก็คือเรื่องการสื่อสารของยิ่งลักษณ์

เข้าใจครับ ผมเห็นแล้วผมก็เหนื่อยใจ แต่ทำอย่างไรได้ละครับ คนเราไม่ได้พัฒนากันแบบข้ามคืนน่ะ ยิ่งลักษณ์มีความสามารถแค่นี้ก็คือมีแค่นี้ และผมคิดว่าไฮไลท์อยู่ที่ฮิลลารี มากกว่าอยู่ที่ยิ่งลักษณ์ ผมบอกตรงๆ ว่ายิ่งลักษณ์เป็นตัวประกอบแล้วกัน ถ้าเกิดว่าฮิลลารีเป็นผู้นำแสดงฝ่ายหญิง ยิ่งลักษณ์ก็เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายหญิงและแมสเสจ อยู่ที่ฮิลลารีไม่ใช่อยู่ที่ยิ่งลักษณ์


# อาจารย์สรุปเรื่อง 5 ประเด็นหลักที่คลินตันพูดเมื่อวาน แต่ทั้ง 5 ประเด็นนั้นเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งในตัวเองของสหรัฐทั้งนั้นเลย

ถูกต้อง มันก็เป็นเกมPower Politic คือส่วนหนึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็น Lip Service เราคงไม่คาดหวังให้สหรัฐออกมาพูดว่าเราไม่สนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยเราสนับสนุนรัฐบาลทหาร แต่ผมคิดว่ามันมันมีนัยยะที่สำคัญเพราะว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ถ้าสหรัฐมาพูดแบบนี้ในสถานการณ์ธรรมดาที่เราไม่มีความขัดแย้งกัน เราก็ยังพอเข้าใจได้ว่ามันเป็น Lip Service แต่เมื่อสถานการณ์เราเป็นแบบนี้สิ่งที่สหรัฐพูดก็เลยมีความหมายขึ้นมา

และอย่างที่เราพูดกันตั้งแต่แรกที่มีความต้องการของสหรัฐที่ต้องการเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น มามีบทบาทกับเมืองไทยมากขึ้นมากกว่าแค่ลิปเซอร์วิส


# อาจารย์มีข้อสังเกตอย่างไรต่อท่าทีของสื่อไทยที่ไม่เสนอ 5 ประเด็นที่อาจารย์กล่าวมา

สื่อไทยมีการแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายเป็นหลายสี และทีเป็นสื่อกระแสหลัก เราก็รู้ว่าสื่อกระแสหลักอยู่ข้างใคร ฉะนั้นสาระสำคัญของที่คลินตันพูดมันไปจี้จุดเขา เขาก็มีเหตุผลที่เขาไม่อยากตีพิมพ์ ไม่อยากที่จะนำเสนอข่าว อาจจะอ้างว่าปิดต้นฉบับเร็วอะไรก็แล้วแต่ ก็คงต้องให้โอกาส ก็ดูเขาวันนี้อีกทีแล้วกัน ถ้าวันนี้ไม่เสนอข่าวอีกผมก็คิดว่าแย่มาก ถือว่าใช้ไม่ได้ ขาดความรับผิดชอบ ฝากถึงไทยโพสต์ด้วยว่าเขาแย่มาก มีการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบทั้งสิ้น

ฉะนั้นก็ดูกันต่อไป ให้เวลาอีกวันหนึ่งถ้าสื่อในเมืองไทยยังไม่เสนอข่าวนี้ ซึ่งเป็นข่าวใหญ่และออกไปทั่วโลก และหัวใจสำคัญที่คลินตันพูดมันไม่ใช่เรื่องดอนเมืองอะไรหรอก มันเป็น 5 ข้อที่ผมพูด ถ้าเขาไม่เสนอก็คือเป็นประเด็นทางการเมืองที่อยากจะเก็บซ่อนไว้

สุดท้ายฮิลลารีพูดเรื่องการสนับสนุนกระบวนการปรองดอง แต่ดูมุ่งหวังในด้านเสถียรภาพทางการเมือง มากกว่าเรื่องความเป็นธรรมของผู้ได้รับผลกระทบหรือการค้นหาความจริง

ฮิลลารีจะลงรายละเอียดก็คงไม่รู้มากน้อยสักขนาดไหน แต่เป็นการพูดในภาพรวม คือถ้ามีเสถียรภาพก็ไม่ใช่แค่ดีกับเรา แต่มันดีกับเขาด้วย ทั้งในแง่เศรษฐกิจที่เขามาลงทุนกับเรา เขาคงไม่ลงลึกเพราะไม่เช่นนั้นจะผูกมัดตัวเองเกินไป ว่าต้องมีการค้นหาความจริง แล้วมีการลงโทษผู้กระทำผิด

แต่มีคำถามหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการนิรโทษกรรมและอภัยโทษ แล้วคลินตันพูดว่า หวังว่าประเทศไทยจะมีการสมานฉันท์ต่อไป แต่ผมคิดในใจ ถ้าผมจะตีความคือ เหมือนฮิลลารีบอกว่าจะมีการสมานฉันท์ก็ต้องให้ทักษิณมีส่วนร่วมด้วย ถ้าทักษิณไม่มีส่วนร่วมด้วย การสมานฉันท์ก็จะไม่สำเร็จ


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เชิญอ่านต้นฉบับและข้อคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai3.info/journal/2011/11/37900

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
Joint Press Availability With Thai Prime Minister Yingluck Shinawatra
http://www.state.gov/secretary/rm/2011/11/177263.htm



++

ผู้หญิงถึงผู้หญิง พลังใจจากฮิลลารี
ใน น.ส.พ.ข่าวสด ฉบับวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7662 หน้า 25


ด้วยรอยยิ้มหวานบวกกับการไหว้ทักทายแบบไทยๆ ของ ฮิลลารี คลินตัน รัฐ มนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 เมืองลุงแซม แม้จะดูแปลกตาไปบ้าง แต่กลับสร้างความประทับใจในทันทีที่พบเห็น ในโอกาสที่หญิงเก่งแห่งทำเนียบขาวแวะเวียนมาเยือนประเทศไทย ประเทศพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียของสหรัฐ

โดยมีจุดประสงค์หลักเน้นหนักไปทางจัดสรรความช่วยเหลือเพื่อให้ไทยสามารถต่อสู้กับวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ได้นั่นเอง

แม้จะมีเวลาตามกำหนดการเพียงไม่กี่วัน แต่นางคลินตันยังแสดงสปิริตลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์อพยพกรุงเทพฯ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่พักพิงต่างบ้านของผู้ประสบอุทกภัยร่วม 1,400 คน

แต่ละคนแต่ละครอบครัวกำลังพักกายพักใจ แม้จะยังนึกถึงวันข้างหน้าไม่ออก แต่หลายคนยังมีรอยยิ้มต้อนรับผู้มาเยือน ซึ่งนางคลินตันให้คำนิยามว่า "ไบรต์ เชียร์ฟูล คอมเพล็กซ์" หรือ "ศูนย์รวมแห่งความสดใสร่าเริง"



เพราะที่นี่นอกจากจะบริการอาหารครบทุกมื้อแล้ว ผู้อพยพยังได้พักผ่อนในห้องโถงใหญ่ที่อากาศถ่ายเทเย็นสบายด้วยเครื่องปรับอากาศ และยังมีอาสาสมัครใจดีคอยช่วยเหลือกันอย่างคึกคัก ทั้งบริการตัดผม และรับเลี้ยงเด็กให้ฟรีๆ ไม่คิดสตางค์

ระหว่างเดินทักทายผู้คนภายในศูนย์แห่งนี้ ฮิลลารี คลินตันที่เพิ่งเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ยกมือขึ้นไหว้พร้อมกับรอยยิ้ม สื่อถึงความเห็นอกเห็นใจ ก่อนจะพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบในเรื่องที่เธอย้ำว่าสำคัญที่สุด ทั้งสุขภาพกายใจ และสภาวะของผู้ประสบภัย รวมถึงสวัสดิภาพของเด็กๆ ลูกหลานผู้อพยพที่วิ่งเล่นอยู่ท่ามกลางข้าวของเครื่องใช้และสัมภาระ ซึ่งวางระเกะระกะอยู่บนพื้น


"คุณได้รับความช่วยเหลือรึยัง ได้แล้วใช่ไหม ดีจ้ะ" ฮิลลารีพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับชายวัยกลางคนที่ก้มลงคำนับเธอด้วยความเคารพ ก่อนจะเดินให้กำลังใจผู้ประสบภัยจนถ้วนหน้า และยังสละเวลาให้สัมภาษณ์ผ่านรายการผู้หญิงถึงผู้หญิงว่า

"ฉันรักประเทศไทย และฉันรักคนไทย ฉันต้องการบอกกับพวกคุณว่าเราจะอยู่ข้างๆคุณ ไม่ใช่แค่ตอนนี้ แต่จะเป็นอีกหลายปีในอนาคต

เพราะเราเชื่อมั่นในประเทศไทย เราให้ความสำคัญ และเล็งเห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย มิตรภาพ และการเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมานานหลายปี "

พร้อมทิ้งท้ายด้วยประโยคภาษาไทยที่เพิ่งหัดในตอนนั้นว่า "สู้ๆ ค่ะ"

การเดินทางมาเมืองไทยของฮิลลารี คลินตัน ไม่เพียงสร้างความเข้าใจถึงภาวะที่คนในประเทศกำลังเผชิญหน้า แต่รัฐบาลสหรัฐ ยังเตรียมพิจารณามอบงบประมาณช่วยเหลือที่มีมูลค่ามากถึง 10 ล้านเหรียญ หรือราว 300 ล้านบาท

คลินตันในฐานะอาคันตุกะของรัฐบาล ยังมอบกำลังใจสำคัญแก่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในระหว่างการประชุมร่วมว่า สนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยความสมานฉันท์ทางการเมือง และมั่นใจในความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีที่ทำเพื่อประชาธิปไตย

"ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐบาลและประชาชนของประเทศไทยว่าจะร่วมกันกำหนดทิศทางต่อไปในรูปแบบใด แต่เราจะขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ก้าวที่เราได้เห็นมาโดยตลอด" ฮิลลารี่อธิบายความในใจ เช่นเดียวกับบางช่วงของบทสัมภาษณ์จากรายการดัง เมื่อเธอเอ่ยชมนายกฯ ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยว่า

"ฉันรู้สึกภูมิใจกับเธอนะ เพราะทันทีที่เธอเดินเข้ามายังห้องทำงาน และ ปัง! เธอต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ มันเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิง หรือแม้แต่ผู้ชาย แต่ยอมรับเถอะ ผู้หญิงถูกมองด้วยความแตกต่าง สองมาตรฐานชัดๆ เรารู้สึกได้ถึงการทำงานที่ต้องพยายามอย่างหนักหนา และต้องทำมากกว่า เพียงเพื่อพิสูจน์ตัวตนของเรา "

ฮิลลารี คลินตันกล่าวทิ้งท้ายในเชิงสัญลักษณ์ เหมือนจะเปรยๆ ถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ว่า เธอเองก็เข้าใจดีถึงหัวอกลูกผู้หญิงในแวดวงการเมือง



.