http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-14

เขื่อน = เตาปฏิกรณ์ปรมาณู การเมืองฯ โดย มุกดา สุวรรณชาติ และ "ยิ่งทุบ ยิ่ง..."

.
มีโพสต์ กระทู้ของ sao..เหลือ..noi ที่โพสต์อ้างอิงบทความ " ขยะ ..โดย วงค์ ตาวัน "

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เชิญชมคลิบคันๆ ก่อนบทความหลัก

ชมคลิป "ณัฐวุฒิ" อภิปรายเรื่องน้ำท่วมเวลา "11.11น. 11-11-11" พร้อมมุขแสบคันถึง "อภิสิทธิ์-สาทิตย์"
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 17:00:00 น.

ช่วงค่ำที่ผ่านมา ในเวลาพิเศษ วันพิเศษ เดือนพิเศษ และปีพิเศษ คือ 11.11 pm (23.11 น.) วันที่ 11 เดือน 11 ปี ค.ศ.2011 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นักปราศรัยของกลุ่มนปช. ที่ปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กำลังกล่าวอภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาโดยไม่ลงมติ เพื่อเปิดอภิปรายเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมหนัก

ณัฐวุฒิกล่าวถึงความล้มเหลวในการจัดการน้ำของรัฐไทย ซึ่งหากวันนี้เราไม่สามารถจัดการน้ำได้ คนที่แพ้จะไม่ใช่รัฐบาล กทม. นายกรัฐมนตรี หรือผู้นำฝ่ายค้านแต่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หมายถึงคนไทยทุกฝ่ายจะพ่ายแพ้ด้วยกัน

ณัฐวุฒิยังอภิปรายชื่นชมทหารที่ออกมาทำงานช่วยเหลือน้ำท่วมตามคำสั่งของรัฐบาล พร้อมทั้งยังฝากคำถามไปยังรัฐบาลชุดก่อนว่า น่าจะไปสอบถามทหารว่าระหว่างการแบกกระสอบทรายกับแบกสไนเปอร์ไปยิงประชาชน พวกเขาเต็มใจจะปฏิบัติภารกิจไหนมากกว่ากัน


ส.ส.เพื่อไทยยังกล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลั่งน้ำตาต่อหน้าสาธารณะบ่อยครั้งว่า "ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ล้วนแต่ต้องหลั่งน้ำตาเมื่อเห็นความทุกข์ยากของประชาชน มีแต่เผด็จการและทรราชย์เท่านั้นที่เพิกเฉยต่อความบาดเจ็บและล้มตายของราษฎร"

นอกจากนี้ ณัฐวุฒิยังคงไม่ทิ้งลวดลายการปล่อยมุขขำๆ แสบๆ คันๆ ถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อีกด้วย

ส่วนจะเป็นมุขเรื่องอะไรนั้น ติดตามแบบครบถ้วนกระบวนความได้ที่ คลิปวิดีโอด้านล่างนี้

http://www.youtube.com/watch?v=Gp73tBCdtTw


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


เขื่อน = เตาปฏิกรณ์ปรมาณู การเมือง = เตาหลอม ... ยิ่งลักษณ์
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1630 หน้า 20


เขื่อนและเตาปฏิกรณ์ปรมาณู...
ผลิตไฟฟ้าได้และมีอำนาจทำลายล้างได้

ถ้าไม่เกิดมหาอุทกภัยคราวนี้ เราก็จะเห็นแต่ด้านดีของเขื่อน ถ้าเปรียบเทียบกับเตาปฏิกรณ์ปรมาณูซึ่งใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ เขื่อนก็ใช้พลังน้ำผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เช่นกัน นอกจากนั้น ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และในชีวิตประจำวันของมนุษย์

วันนี้คนไทยได้ตระหนักถึงอันตรายที่มาจากเขื่อน

ได้รู้จักคำว่า มวลน้ำยักษ์ เหมือนกับได้รู้จักคำว่าสึนามิเมื่อหลายปีก่อน

ประสบการณ์ล่าสุดของเตาปฏิกรณ์ฯ ที่เราได้รับรู้ คือสึนามิถล่มจนเตาปฏิกรณ์ฯ ในญี่ปุ่นเกิดปัญหาระบบหล่อเย็นพัง และเกิดการระเบิดขึ้น รังสีรั่วไหลจนต้องย้ายคนออกจากเมืองจำนวนมาก

เขื่อนของประเทศเราไม่ได้ระเบิดไม่ได้พัง แต่เราควบคุมปริมาณน้ำได้ไม่ดีจึงต้องระบายออกมาจำนวนมากในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้เกิดมหาอุทกภัย ที่มีผลกระทบกับคนหลายจังหวัดนับสิบล้านคน โรงงานอุตสาหกรรมถูกน้ำท่วมหลายพันแห่ง ความเสียหายจนบัดนี้ยังประเมินไม่ได้


ความผิดพลาดที่ต้องห้าม

สองฉบับก่อนผู้เขียนได้ตั้งคำถามไปว่า เป็นความผิดพลาดของคนถึง 20% หรือไม่ หรือเป็นเรื่องดินฟ้าอากาศที่ทำให้เกิดอุทกภัยใหญ่ในครั้งนี้

สองสัปดาห์ต่อมาก็ได้เห็นคำตอบจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อน การระบายน้ำจากเขื่อนไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วม โดยอ้างการปล่อยน้ำจากเขื่อนในวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ว่าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำออกรวมกันวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคิดเป็น 16.7% ของน้ำที่ไหลผ่านนครสวรรค์

สิ่งที่ กฟผ. อ้าง เป็นเหตุการณ์หลังจากน้ำท่วมมาเกือบเดือนแล้ว แต่ในช่วงวิกฤติเฉพาะเขื่อนภูมิพลเขื่อนเดียวก็ปล่อยน้ำวันละเกือบ 100 ล้าน ลบ.ม. สองเขื่อนก็ไม่ต่ำกว่า 150 ล้าน ลบ.ม. กฟผ. ยังอ้างว่ามีการบริหารจัดการน้ำ ด้วยเกณฑ์ระดับน้ำควบคุม ซึ่งมีเส้นควบคุมน้ำตัวบนและเส้นควบคุมน้ำตัวล่าง

คือสรุปว่าถ้ากำหนดให้มีการรักษาน้ำอยู่ในช่วงนี้ ตามเวลาแต่ละเดือนก็จะไม่มีปัญหา

แต่ถ้าเราย้อนดูในปี 2553 กฟผ. ก็ใช้ระบบควบคุมน้ำแบบนี้ และยังกักน้ำไว้น้อยกว่าปี 2554 เมื่อฝนมาก็ระบายน้ำออกเยอะกว่าปี 2554

แต่น้ำก็ยังท่วม พอถึงปี 2554 ปริมาณน้ำฝนมากเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม แต่กลับระบายน้ำออกจากเขื่อนน้อยมากๆ ปริมาณน้ำในเขื่อนจึงมีมากกว่าทุกปี

พอถึงเดือนมิถุนายนก็สูงถึง 60% แล้ว ใครก็รู้ว่าเดี๋ยวนี้เมืองไทยมีฝนหนักและพายุตลอด 3 เดือนคือ กรกฎาคม, สิงหาคม, กันยายน ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้น้ำจะต้องล้นเขื่อนและเกิดน้ำท่วมใหญ่แน่นอน

เส้นควบคุมน้ำทั้งตัวบนตัวล่าง กฟผ. และคณะอนุกรรมการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เคยพิสูจน์บ้างหรือไม่ว่ามันยังใช้ได้อยู่ ในสภาพความแปรปรวนของภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนไป

เราไม่เคยตระหนักถึงอันตราย ไม่เคยคิดว่าเรามีเตาปฏิกรณ์ฯ ขนาดใหญ่เก็บไว้ในรูปเขื่อน แต่เรามีความรู้สึกว่า เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีอยู่เหมือนทะเลสาบ มองดูสวยงาม ล่องแพได้ ผลิตไฟฟ้าได้ เวลาหน้าแล้งก็จะเอาน้ำมาใช้เป็นปกติทุกปี

แต่เขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าไม่ใช่ทะเลสาบ เช่น เขื่อนภูมิพลที่มีความจุหมื่นสามพันกว่าล้าน ลบ.ม. เมื่อปล่อยน้ำลงมาจึงมีปริมาณและพลังมหาศาล มีอำนาจทำลายล้างซึ่งจะกินพื้นที่กว้างไกลมาก คนจะเดือดร้อนจำนวนมาก จนเป็นเรื่องที่ห้ามทำผิดพลาดอย่างเด็ดขาด



มหาอุทกภัยทดสอบเราแล้ว
เปิดสภา...พูดถึงปัญหาน้ำท่วมและวิธีแก้ไขให้เต็มที่

คงไม่มีนายกฯ คนไหนลงไปดูว่าระดับน้ำในเขื่อน ถ้ายังไม่เกิดปัญหาขึ้น สภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ ปี 2554 คือ ในเดือนพฤษภาคมที่ฝนเริ่มมามากขึ้นก็มีการประกาศยุบสภา ทั้งรัฐบาลเก่าของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กำลังจะไปและรัฐบาลใหม่ของเพื่อไทยที่กำลังจะมา ก็ไปโรมรันพันตูกันอยู่บนเวทีการเมือง ระดับน้ำในเขื่อนคงต้องปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายประจำ กว่าจะถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมก็เริ่มมีน้ำท่วมบางแห่งแล้ว ทำให้บางหน่วยเลือกตั้งมีปัญหา

กว่าจะรับรอง ส.ส. เสร็จก็สิ้นเดือนกรกฎาคม พอตั้งรัฐบาลเสร็จก็ปลายเดือนสิงหาคม ถึงตอนนั้นนายกฯ อภิสิทธิ์ก็จากไป โดยไม่รู้ว่าระดับน้ำสูงต่ำเท่าไร นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เข้ามารับตำแหน่ง โดยไม่รู้ระดับน้ำเช่นกัน

วันนี้คนไทยจำนวนมากฝากชะตาชีวิตไว้กับความมั่นคงของระบบน้ำ ถ้ามีปัญหาน้ำมากก็จะเกิดอุทกภัยใหญ่ ถ้าน้ำน้อยไปก็เกิดความแห้งแล้ง

เรามีนักวิชาการอยู่มากมาย ซึ่งวันนี้ได้มีโอกาสโผล่หน้าออกมาเสนอความเห็นเรื่องน้ำ จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรามีคนเก่งๆ เยอะ แต่ทำไมมาปล่อยน้ำให้ท่วมมิดหัวตัวเอง หรือคนเก่งเหล่านี้ไม่มีโอกาสไปทำเรื่องน้ำเลย วันนี้มหาอุทกภัยเป็นปัญหาของประเทศและปัญหาการเมืองขนาดใหญ่

เรื่องนี้เมื่อเปิดสภาคงได้เอาไปพูดกันในรายละเอียด และจะได้รู้กันว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ที่สภาเลื่อนมาสองสามครั้ง อาจเป็นเพราะต้องการความสามัคคีร่วมใจกันต้านภัยน้ำท่วม

แต่ถึงวันนี้สมควรหาความจริงกันได้แล้ว ควรจะมีความชัดเจนว่าเราจะดูแลเขื่อนอย่างไร จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดและอันตรายน้อยที่สุด

และถ้าจำเป็นต้องปล่อยน้ำจะมีวิธีผันน้ำ อย่างไรจึงจะไม่เกิดน้ำท่วม ต้องใช้เวทีสภาให้เป็นประโยชน์เพราะเป็นเวทีหลักทางการเมือง

มหาอุทกภัยครั้งนี้ได้ทดสอบระบบความมั่นคงของประเทศ และชี้จุดอ่อน, ทดสอบระบบการแก้ปัญหาภัยพิบัติ, ทดสอบความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ, ทดสอบความเข้มแข็งของระบบสังคมของไทยตั้งแต่ระดับประเทศ ชุมชน และครอบครัว และทดสอบความแข็งแกร่งของแต่ละคนว่าจะผ่านเบ้าหลอมนี้ได้หรือไม่



สนามการเมือง
จะหลอม "ยิ่งลักษณ์" ให้เป็นอะไร

ปกติเบ้าหลอมทางการเมืองร้อนจนเหล็กก็ละลายได้ ที่ว่าไม่เคยร้องไห้ก็เห็นร้องกันมาทุกคน ไม่เว้นแม้แต่นายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ที่ใครๆ ว่าเสียน้ำตายากที่สุด

นายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์ที่ปากบอกว่าไม่ร้องไห้ น้ำก็ไหลออกตามาหลายรอบแล้ว เบ้าหลอมทางการเมืองร้อนแรงยิ่งนัก แต่จะหลอมคนให้ออกมาแบบไหน ขึ้นอยู่กับจุดยืนและสิ่งแวดล้อมทางการเมืองที่จะเป็นเหมือนแม่พิมพ์

หลายปีที่ผ่านมาเราได้นักการเมืองหลายแบบ เช่น นายชวน หลีกภัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

คนสุดท้ายที่ผ่านแม่พิมพ์ประชาธิปัตย์ (ปชป.) คือนายอภิสิทธิ์ จากวันแรกที่เข้าวงการเมืองจนถึงวันที่ออกจากตำแหน่งนายกฯ ยังคิดไม่ออกว่าเขาถูกหลอมให้เป็นอะไร รู้แต่ว่าต่างจากวันแรกมาก

วันนี้นายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์กำลังเข้าสู่การหล่อหลอม เริ่มต้นด้วยอภินันทนาการโดยล้างน้ำที่เย็นฉ่ำหมื่นล้าน ลบ.ม. แต่หลังจากน้ำลด จะต้องถูกหลอมด้วยไฟการเมืองแน่นอน

คำวิพากษ์วิจารณ์ที่จะผ่านจากระบบสภา ผ่านจากระบบสื่อสารมวลชน ผ่านจากคำซุบซิบ ผ่านจากการโพสต์ด้วยปลายนิ้วในระบบอินเตอร์เน็ต ล้วนแล้วแต่เป็นไฟทั้งสิ้น

ศัตรูที่มีอยู่รอบด้านแม้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง แต่ก็เกิดโดยธรรมชาติทางการเมือง และมองนายกฯ คนนี้ เป็นแค่เหล็กชิ้นเดียว ที่ต้องทำลายก่อนถูกหลอมให้เป็นอาวุธ

วันที่ทักษิณเข้ามาในวงการเมือง ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นเศรษฐีโง่ๆ คนหนึ่ง เดี๋ยวก็ต้องเผ่น แต่สุดท้ายแม้จะลงทุนใช้ทุกอย่างที่มีมาขับไล่ ก็ยังทำไม่สำเร็จ

มีผู้วิเคราะห์ว่า นายกฯ หญิงคนนี้ผ่านเข้ามาในเบ้าหลอมการเมืองที่โหดที่สุดยิ่งกว่าทักษิณ ถ้าผ่านไปได้ก็จะเป็นอันตราย ศัตรูต้องทำลายแต่ต้นทาง

วันนี้จึงต้องผ่านทั้งกระแสความรัก ความชัง ทั้งน้ำและไฟ เหล็กชิ้นนี้จะถูกหลอมให้เป็นอะไร ถ้าเป็นแค่มีดโกนก็บอบบางเกินไป ควรจะหลอมให้เป็น...ดาบ ที่จะใช้ได้ตั้งแต่ผ่าฟืน ทำกับข้าว จนถึงออกรบ แต่ดาบดี ต้องเผา ต้องตีและชุบหลายครั้ง

ก็ได้แต่หวังว่านี่คือเหล็กน้ำพี้ เพราะถ้าไม่สำเร็จก็จะเป็นแค่เหล็กที่ถูกไฟเผา

การเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย รับประกันได้ว่าตั้งแต่มีประเทศไทยมา เราไม่เคยได้นายกฯ ที่เป็นคนโง่ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนเพราะการเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การถูกล็อตเตอรี่ รางวัลที่หนึ่ง แต่จะต้องฝ่าฟัน ต่อสู้ ใช้กำลังความสามารถของตนเองและกำลังการสนับสนุนจากคนจำนวนมาก จึงจะมีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ได้

ไม่มีใครงอกออกมาจากดิน แล้วเป็นนายกฯ

การวิจารณ์ว่านายกฯ โง่เพราะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่ถูกใจเป็นเรื่องที่บางคนพูดไปตามอารมณ์ เป็นเรื่องปกติ ถ้ามีรายละเอียดของความบกพร่อง รัฐบาลก็ต้องเก็บรับเพื่อนำไปปรับปรุง

แต่ก็มีบางคนที่มีเป้าหมายเพื่อทำลาย เพราะนี่เป็นโอกาสดีที่สุด ของฝ่ายตรงข้ามขณะที่รัฐบาลยังไม่ทันตั้งตัวก็มีน้ำหมื่นล้านตันวิ่งเข้าใส่ ต่อให้ยอดมนุษย์ก็แก้ปัญหาไม่ได้

รัฐบาลปัจจุบันต้องโดนด่าแน่นอน จะไปอ้างว่ารัฐบาลเก่าดูแลน้ำไม่ดีก็ไม่มีผลอะไรเพราะเขาไม่ได้รับผิดชอบแล้ว และที่ประชาชนต้องการทันทีคือความช่วยเหลือ ซึ่งรัฐจะช่วยได้อย่างจำกัด เพราะความเดือดร้อนของประชาชนจะกระจายกว้างมาก เป็นล้านครอบครัว อีกทั้งการปฏิบัติการช่วยเหลือก็จะมีความผิดพลาด ทำให้การด่าตามน้ำและ วิจารณ์แบบทับถมได้ผลดีที่สุด คู่แข่งไม่มีทางละเว้นและจะมีของแถมให้

นี่คือเกมการเมืองที่ต้องยอมรับสภาพ

คนที่วิจารณ์ว่าคนอื่นโง่นั้น มักจะคิดว่าตัวเอง เป็นผู้ฉลาดสุดยอดทั้งสิ้นทั้งๆ ที่ไม่เคยทำอะไรสำเร็จเลยในชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นแค่ลูกหาบ หรือเหยื่อ แต่ถ้ารู้วิธีก็จะใช้พวกเขาทำงานได้

สภาพของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ในวันที่ถูกน้ำจู่โจมเข้าใส่ เป็นเหตุการณ์ระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย การบริหารของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ในวิกฤต ผู้เขียนก็เห็นว่า ทำได้ไม่ดีนัก

แต่ถ้าถามว่า จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ดีกว่านี้อย่างไร ผู้เขียนก็ตอบไม่ได้ กลับไปคิดสามวันก็ตอบได้เพียงแค่เล็กน้อย

ที่คิดได้มีแต่การป้องกันระยะยาว มีการระดมผู้รู้ทั้งเมืองไทยและเมืองนอกมาร่วมกันคิดก็ยังไม่มีแนวคิดอะไรที่เฉียบขาดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

มีที่ช่วยได้บางส่วนคือการที่ ดร.พิจิตต รัตตกุล นำกระสอบทรายยักษ์ มาชะลอการไหลของน้ำทางทิศเหนือ กทม.

แต่ความสำเร็จของการแก้ปัญหา มหาอุทกภัยคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องโง่หรือฉลาด และไม่ควรขึ้นอยู่กับกระสอบทราย แต่เป็นเรื่องของการเตรียมการจัดระบบป้องกันภัยพิบัติขนาดใหญ่ซึ่งประเทศเราไม่มี ในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วมี



ความเป็นจริงในสายน้ำ

มหาอุทกภัยได้พัดพาหลายสิ่งที่หลบซ่อนอยู่ในซอกลึกของสังคม ออกมาให้เราเห็น สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อยู่ในตรอก ในซอก ในสวน ในนาไร่ คนเจ็บป่วย พิการ สารพัดปัญหาของคนที่ยากดี มี จน ลอยออกมากับสายน้ำผ่านจอโทรทัศน์ ผ่านอินเตอร์เน็ต

นี่คือผู้คนที่ต้องต่อสู้และเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งชีวิต เวลาปกติก็ลำบากยากจนกว่าคนอื่น เวลาน้ำท่วมก็ท่วมจนมิดหลังคา มิดหัว ไม่มีปัญญาหลบไปพักผ่อนในโรงแรมหรือ อพาร์ตเมนต์เป็นที่พักพิงชั่วคราว ที่ดีที่สุดคือศูนย์อพยพหรือไม่ก็เป็นหลังคาบ้านตัวเอง แม้กระนั้นพวกเขาก็ยังถูกขอร้องให้เสียสละ

คนที่ต้องเสียสละคนแรกคือคนที่ถูกหาว่าโง่ที่ออกมารับเป็นนายกรัฐมนตรี

วันนี้น้ำตาต้องไหล เหงื่อไคลต้องหยด แต่ก็ต้องเดินหน้าช่วยเหลือผู้คนที่ยากลำบากต่อไป

ในเมื่อตัวเองไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุดและไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด ก็ต้องหาวิธี ระดมความแข็งแรง ระดมสมองของคนที่มีกำลังมากกว่า และฉลาดกว่ามารับใช้ประชาชนให้เต็มที่ ไม่ว่าคนพวกนั้นจะคิดเหมือนหรือแตกต่าง



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1630 หน้า 8


"นํ้า" ยังไม่ทันลด "ตอ" ผุดออกมาหลายจุด ต้องสะสางกันครั้งใหญ่ ลำดับแรกเลย "ส่วนราชการ" ที่รับผิดชอบโยนกลองกันเมามัน และทำท่าจะตกที่นั่งเสือลำบากสุดคือ "กรมชลประทาน" ที่กำกับดูแลเขื่อน

คนที่รับไปเต็มๆ คือ "ธีระ วงศ์สมุทร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตีกระแทกไปยัง "บรรหาร ศิลปอาชา" หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาตัวจริงเสียงจริง

ถูกมรสุมรุมกินโต๊ะว่า "ชนวนน้ำท่วม" มาจาก "เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์" กรมชลประทานวิเคราะห์มวลน้ำผิดพลาดกักเก็บน้ำไว้มากกว่าปริมาณทุกๆ ปี

ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2554 ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมกระหน่ำ 3-4 ลูกซ้ำซ้อน ทำให้ปริมาณน้ำเต็มเขื่อนรวดเร็ว แทนที่จะปล่อยน้ำออกจากเขื่อนตามสันเขื่อนเหมือนทุกๆ ปี ก็ต้องหันมาใช้วิธีระบาย

กรมชลประทานไม่เด้งรับ "ก้อนอิฐ" รีบเด้งเชือกหนี อ้างว่า ผู้ที่จะชี้ขาดปริมาณน้ำในเขื่อนมากน้อยขนาดไหนได้ คือ "การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ" ไม่ใช่กรมชลฯ แต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์น้ำท่วม 2554 ขยายความขัดแย้งมาสู่ "ภาคการเมือง" เต็มๆ แล้วเช่นกัน ระหว่าง "เพื่อไทย" แกนนำรัฐบาลกับ "ประชาธิปัตย์" ไม่ต้องพูดถึง คู่นี้ สร้างประเด็นขัดแย้งกันได้ตลอดเวลาและทุกกรณี

ปัญหาการเก็บน้ำให้ล้นเขื่อนที่มาของน้ำท่วมใหญ่ ต้องรอดูว่า "เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์" จะงัดไม้ตายอะไรสาดโคลน เพื่อปัดความรับผิดชอบ เพราะตามวันเวลาที่รับผิดชอบมันคาบเกี่ยวทั้งรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"


แต่ทำท่าว่า "พรรคชาติไทยพัฒนา" จะโดนฟาดบาดเจ็บมากกว่าใครเขาเพื่อน ถึงขนาดร่ำลือกันว่า "นายใหญ่ดูไบ" จะอาศัยสถานการณ์หลังน้ำลด ส่งซิกปรับ ครม. "ปู 1" คาดหมายกันว่า จะชิงลงมือประมาณปลายเดือนมกราคม

โดยกระทรวงเป้าหมายคือ เกษตรและสหกรณ์ ด้วยการขอสลับกระทรวงรับผิดชอบ ระหว่างชาติไทยพัฒนากับเพื่อไทย เป็นการปรับโควต้ากันไปในตัวด้วย เพื่อให้เข้ากับ "แผนฟื้นฟูน้ำท่วม 55" หมายความว่า กระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว กล่องดวงใจอีกดวงของพรรคร่วมลำดับที่ 2 ต้องโดนสลับฟันปลาตามไปด้วย

ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย มีแนวโน้มสูงยิ่งว่า จะโดนซิวหลายเก้าอี้ ที่ก้นร้อนลำดับแรกสุดคือ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ มีบทบาทน้อยมาก เห็นสิ่งปกติได้จาก ผู้อำนวยการ "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย" โดยเครือข่ายภารกิจ ต้องเป็นหน้าที่ของ "มท.1" เพราะกำกับดูแลผู้ว่าฯ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสายตรงของการบังคับบัญชา

แต่กลับกลายเป็นว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายเป็น "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่ง "ผิดปกติ" มาตั้งแต่ต้น

เป้าหมายที่สองที่จะโดนเชือดคือ รัฐมนตรีที่กำกับดูแล "สื่อ" ทุกด้าน "น้ำท่วม 54" งานด้านประชาสัมพันธ์ละอ่อนเป็นอย่างมาก "ปู" ถูกรุกฆาตมาทุกกรณี ต้องหามืออาชีพ กล้าได้กล้าเสียมารับผิดชอบ งานกำกับดูแลสื่อทั้งทีวี-วิทยุ เพื่อให้โทรโข่งของรัฐบาลแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม



ที่ถูก "ล็อกเป้า" โดนของหนักแน่อีกจุดคือ "กรุงเทพมหานคร" หรือ "กทม." ที่มี "ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร" เป็นผู้ว่าฯ เนื่องจากประเด็นหนึ่งการประสานงานกับ ศปภ. เครื่องจูนกันไม่ติด เพราะสังกัดคนละพรรคการเมือง แถมเป็นพรรคคู่ปรับระหว่าง เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์

ต้องยอมรับว่าสาเหตุที่น้ำท่วมขังกรุงเทพฯ และปริมณฑล จุดหนึ่งมาจากความขัดแย้งของ "คนการเมือง" ทำให้การบริหารจัดการน้ำไม่ราบรื่น สมดุล

จุดเปราะบางของ "กทม." คือการปล่อยให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ทั้งๆ ที่เป้าหมายเดิมจะรักษาที่มั่นไว้ 19 เขตเป็นอย่างต่ำ

เหตุที่เป็นเช่นนี้ นอกจากต้นตอมาจากความขัดแย้งในการบริหารจัดการน้ำแล้ว ปมหนึ่งมาจากปัญหาเครื่องสูบน้ำ

และทำท่าว่า "น้ำลดตอผุด" เพราะเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำของ กทม. หลายจุดประสิทธิภาพต่ำ บางจุดสำนักระบายน้ำ กทม. เพิ่งติดตั้งเมื่อ 4-5 ปี แต่กลับใช้งานไม่ได้ ทั้งๆ ที่ว่า อายุใช้งานของเครื่องสูบน้ำ 15-20 ปี แสดงว่า ต้องมีปัญหาไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับระบบติดตั้ง ต้องเปิดโปงกันแหลกแน่นอน

"กทม." เป็นจังหวัดที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทย มีเครื่องสูบน้ำสูงสุด มีประสิทธิภาพสุด แต่การประชุม กู้วิกฤตภัยน้ำท่วมทุกครั้ง กทม. ขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ ล่าสุด ศปภ. ระดมมาทุกภาคส่วนสนับสนุนไปอีก 70 เครื่อง ท่ามกลางความมึนงง

ประจักษ์ชัดว่า ระบบการจัดตั้งเครื่องสูบน้ำของ กทม. มีปัญหามาแบบสะสม จะทุจริตคอร์รัปชั่นกันหรือไม่ โปรดติดตามตาอย่ากะพริบ



++

ยิ่งทุบ ยิ่ง... (ตามอัธยาศัย)
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1630 หน้า 9


มหาวิกฤตน้ำท่วม ตอนนี้ยังไม่ถึง "ที่สุด"

ยังประเมินไม่ได้ว่า "จุดสุดท้าย" จะร้ายแรงเพียงใด

การหาผู้ที่รับผิดชอบ หรือ การล่า "แพะ" มาเชือดจะทำกับแพะตัวโตขนาดไหน หรือต้องทั้งฝูง จึงจะสาสม

ตอนนี้ยังประเมินชัดๆ ลงไปไม่ได้

ซึ่งก็คงเหมือนกับผลโพลล่าสุดเกี่ยวกับตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ยังก้ำๆ กึ่งๆ อยู่

โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง "ประเมินผลงานรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 เดือน"

ปรากฏว่า

คะแนนการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เฉลี่ย 4.98 คะแนน จาก 10 คะแนน ถือว่า "สอบตก"

คะแนนด้านความขยันทุ่มเทในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ได้ 5.61 คะแนน จาก 10 คะแนน ถือว่า "สอบผ่าน"

ผลสำรวจที่ทั้งตก ทั้งผ่าน สอดคล้องกับ กระแสสังคมที่ดำรงอยู่ขณะนี้ นั่นก็คือ ผสมปนเปกันไปทั้ง

ไม่เอา "ยิ่งลักษณ์"

และเอา "ยิ่งลักษณ์"



ในประเด็นแรก "ไม่เอา" ยิ่งลักษณ์ หรือ การให้คะแนน "สอบตก" นั้น

จะพบว่า มีดีกรีที่รุนแรงแตกต่างกันไป

ที่หนักสุดก็คงเป็นแบบ ถ้าทุบ ก็ทุบให้ตาย ไม่ปล่อยเอาไว้ให้ทำความเสียหายมากไปกว่านี้

จึงไม่น่าแปลกใจ สำหรับข้อกล่าวหาในทางร้ายที่มีต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหนักหน่วง ตั้งแต่ โง่ ไร้สมอง ไร้ฝีมือ

เลยไปถึงการขุดเอา "เพศสภาพ" รวมถึง "ถิ่นกำเนิด" คือการเป็น "หญิงชาวเหนือ" ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาประจานทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำนองว่า มีดีก็แค่เรื่อง "ขายตัว"

นี่ถ้าไม่เกลียดเข้าไส้ ก็คงคิดไม่ได้ไกลถึงเพียงนี้แน่


ขณะเดียวกัน ข่าวปล่อย-ข่าวลือ ก็ทะลักล้นออกมาไม่ขาดสาย เพื่อตอกย้ำความไม่เข้าท่าของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ตั้งแต่ ขนาดเบา คือ การย้ายข้าราชการ และปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อหาแพะรับบาปแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์

เรื่อยไปจนถึง ข่าวการประเมิน บทบาทนายกรัฐมนตรีของ "กองทัพ" 12 ข้อ ที่ล้วนแต่แสดงให้เห็นจุดอ่อนด้อย ชนิดที่ปล่อยเอาไว้ไม่ได้

แม้กองทัพจะออกมาปฏิเสธ

แต่ข่าวนี้ก็ยังอื้ออึง อึมครึม เคลียคลอไปกับข่าว "ปลดนายกรัฐมนตรี"

ทั้งจะปลดโดย "ทหาร" ที่ไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ทั้งจะปลดโดยการผสมโรงของนักการเมืองบ้าน 111 ที่หวังจะคืนสังเวียนหลังพ้นโทษแบน



ขณะเดียวกัน ในส่วนพรรคประชาธิปัติย์ ก็ไม่ต้องพูดถึง

กระแส น.ส.ยิ่งลักษณ์ "สอบตก" เป็นไปอย่างเข้มข้น

อย่าง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเงา ซัดอย่างเต็มเหนี่ยวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีขีดความสามารถไม่ถึงขั้นเป็นนายกฯ

ดังนั้น ไม่ว่าจะปรับ ครม. กี่ครั้ง แต่หากนายกฯ ยังเป็นอย่างนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

หากเห็นแก่ประเทศชาติ สงสารประเทศไทย ทุกคนที่เป็นรัฐบาลควรสุมหัวกันแล้วเลือกคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นนายกฯ คนใหม่

เพราะถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ เพื่อประเทศไทย

เหล่านี้ คือ ความรู้สึกที่สอดคล้องกับผลโพลที่บอกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ สอบตกในฐานะนายกรัฐมนตรี

พร้อมๆ กับมีการขยายวง ด้วยการ "ร่วมด้วยช่วยทุบ" ทุบแบบให้ตาย

เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไว



อย่างไรก็ตาม ผลโพลอันที่สอง ก็มีความน่าสนใจ

เป็นความน่าสนใจที่มีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ "สอบผ่าน" ในประเด็น ความขยันทุ่มเทในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ

ซึ่งก็สอดคล้องกับความรู้สึกของชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง นั่นคือ ยังให้โอกาส น.ส.ยิ่งลักษณ์ "ทำงาน" ต่อไป

ภายใต้ความเชื่อที่ว่า วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ถึงจะเปลี่ยนใครเข้ามาทำหน้าที่ รวมถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เอง ก็ไม่แน่ว่าจะรับมืออยู่

การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลจึงไม่ใช่ประเด็นหลัก

ประกอบกับแม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะด้อยประสบการณ์ในเรื่องน้ำ และด้อยประสบการณ์กับการบริหารในภาวะวิกฤต

แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความอดทน มีท่าทีรับฟัง ไม่ตอบโต้ พร้อมปรับปรุงแก้ไข และก้มหน้าก้มตาทำงาน


ล่าสุด ก็ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติอีก 2 คณะ

คือ 1) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)

มี นายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน

กรรมการล้วนแต่บิ๊กเนม เช่น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ผู้ออกแบบนโยบายประชานิยมมากมายในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

นายวิษณุ เครืองาม อดีตเลขาธิการ ครม.

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ ปตท.

นายกิจจา ผลภาษี อดีตอธิบดีกรมชลประทานผู้คร่ำหวอดเกี่ยวกับระบบระบายน้ำ การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำและเคยเป็นที่ปรึกษาสำนัก

งานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร

ประธานสภาอุตสาหกรรม

ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย

เลขาธิการนายกฯ

เลขาธิการ ครม.

2) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)

มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน แต่มอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการ

มีการดึง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาผู้ทำงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นที่ปรึกษา

ส่วนกรรมการมีทั้งอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ นักวิชาการด้านน้ำ เช่น นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ

นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน

นายกิจจา ผลภาษี อดีตอธิบดีกรมชลประทาน

นายรัชทิน ศยามานนท์ อดีตอธิบดีกรมการผังเมือง

นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม

นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร

นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายสนิท อักษรแก้ว ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและยังเคยเป็นเลขานุการ รมต.เกษตรฯ

นายสมบัติ อยู่เมือง นักวิชาการจากศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทยภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยาน สิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ คณะกรรมการผลักดันน้ำ

จากรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดก็ดูดี และพอจะเป็นความหวังกับการฟื้นฟูประเทศได้

และหากมีผลงานที่เป็นรูปธรรม และเข้าตาตรงนี้จะเป็นการเรียกเสียงสนับสนุน "ให้โอกาส น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำงานต่อไป" เพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง



นี่จึงเป็นกระแส 2 กระแส ที่ดำรงอยู่ในภาวะน้ำที่ยังเอ่อล้น

คือ กระแส "ทุบ" แบบ "ทุบให้ตาย" เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

อีกกระแส เป็นกระแสที่เชื่อว่า ยิ่ง "ทุบ" หรือยิ่งเคี่ยวกรำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ่ง "หอม" หรือ "แกร่ง" ขึ้น

ในนาทีนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่า กระแสไหนจะกำชัย

ต้องรอให้น้ำลด เพื่อให้เห็น "อะไรต่อมิอะไร" ผุดขึ้นมาก่อน

ตอนนี้จึงเป็นช่วง "ตามอัธยาศัย" สำหรับคนไทยว่าจะเลือก "ทุบ" แบบไหน



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

โพสต์เพิ่มภายหลัง

กระทู้จาก www.pintip.com/cafe/rajdumnern/
ของคุณ sao..เหลือ..noi ที่โพสต์เผยแพร่และเสริมบทความจาก นสพ.ข่าวสด
(www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dPREUxTVRFMU5BPT0=)

ขยะ
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกไม่มีมุม
วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7656 ข่าวสดรายวัน หน้า b


ในเมื่อคนทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ล้วนได้รับผลกระทบจากอภิมหาน้ำท่วมคราวนี้ถ้วนหน้า ไม่ว่าหมู่บ้านกระต๊อบมุงจากของคนยากคนจน หรือหมู่ บ้านจัดสรรหรูหราของเหล่าเศรษฐีไฮโซ ก็โดนจมไม่ต่างกัน

ทุกคนในประเทศนี้จึงต้องยอมรับความจริงที่ว่า ต่อไปนี้ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ให้สามารถรับมือได้ดีในอนาคต

เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนพบเห็นตำตาและโดนผลกระทบเหมือนๆ กัน คือ ปัญหาน้ำเน่า ความสกปรกของกองขยะที่ลอยเกลื่อน

ขยะไม่เพียงทำให้น้ำที่ท่วมขังเน่าเหม็นเท่านั้น

แต่ยังเป็นอุปสรรคให้กับระบบระบายน้ำตามคูคลองต่างๆ อีกด้วย ไปอุดตามประตูระบายน้ำหลายประตู

มีตั้งแต่ขวดสารพัด กล่องโฟมใส่อาหารมีมากมาย ไปจนถึงวัสดุเหลือใช้ตามบ้านเรือน

ฟูกที่นอนทั้งอันก็มี ไปลอยแอ้งแม้งอุดช่องระบายน้ำเห็นๆ

นี่คือเครื่องประจานว่า คนไทยไม่เคยทะนุถนอมลำน้ำคูคลอง

กินอะไรเสร็จ ดื่มอะไรเสร็จ ก็โยนทิ้งน้ำ ของเหลือใช้ในบ้าน ก็โยน

สุดท้ายวันนี้ ของที่โยนทิ้งกันอย่างมักง่ายได้ย้อนกลับมาทำร้ายเราทุกคน!


ในการฟื้นฟูบ้านเมืองหลังจากที่น้ำลดลง ในการวางแนวทางป้องกันภัยพิบัติทำนองนี้ในอนาคตอันใกล้

น่าจะมีการตั้งหัวข้อรณรงค์ใกล้ตัวที่ทุกคนต้องช่วยกัน

นั่นคือต้องช่วยกันรักษาความสะอาดลำน้ำคูคลองอย่างเข้มงวด

อาจจะต้องออกกฎระเบียบเทศบาล กฎกทม.ออกมาเพิ่มเติมด้วยซ้ำ

ต่อไปนี้ต้องห้ามทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างลงน้ำ ต้องช่วยกันรักษาน้ำให้ปราศจากสิ่งปฏิกูล

แม้แต่การรณรงค์ทุกบ้านเรือนงดเว้นการใช้สารเคมี หันมาใช้น้ำยาอีเอ็มกันตั้งแต่บัดนี้ !

เพื่อช่วยให้ท่อระบายน้ำทุกบ้านไม่เน่าเหม็น

แทนที่จะมาระดมปั้นอีเอ็มบอลเพื่อไปโยนตอนน้ำท่วม ก็ให้ทุกบ้านใช้อีเอ็มเป็นเรื่องปกติ


เรื่องน้ำสูงน้ำท่วมเป็นธรรมชาติที่ยากจะควบคุมได้

แต่ถ้าท่วมแล้วสะอาดไม่เน่าเหม็น

ระบายเร็วไม่มีขยะกีดขวาง

ชีวิตเราจะมีความสุขกันมากขึ้น ทั้งยามน้ำแล้ง น้ำท่วม !


********************************************************

กำลังดูข่าวช่อง 3 ทีมงานไปเยี่ยม ปชช. ตามหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมย่านฝั่งธนบุรี
พบว่า เรื่องที่ร้องเรียนส่วนใหญ่คือ น้ำไม่ระบายเพราะลำคลองไม่เคยมีการลอกเลย มาหลายปีแล้ว และขยะก็เต็มลำคลอง
แจ้งไปที่เขต ก็ไม่มีการตอบสนอง
สุดท้าย บางหมู่บ้าน ก็ลงขันข่วยกันเก็บขยะ และ ร้องไปที่ทหารให้มาช่วยขุดลอกลำคลอง

....หลายหมู่บ้านค่ะ ที่มาจากเหตุนี้ กทม. จะว่ายังไง ?

จากคุณ : sao..เหลือ..noi [FriendFlock]
เขียนเมื่อ : 15 พ.ย. 54 07:25:01 A:58.8.168.16 X



.