http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-26

ปริศนาหน้ากากไม้.., การฝังศพครั้งที่สองVSการฆ่าครั้งที่สอง โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
มีบทความปีที่แล้วเพิ่ม " โบสถ์ภิกษุณีที่ลำพูน โบสถ์สองสงฆ์ที่เชียงใหม่ เคยมี "ภิกษุณี" อยู่จริงในล้านนา! โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ "

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

บทความปีที่แล้ว ( 2553 )


ปริศนาหน้ากากไม้ฝาโลง วัฒนธรรมชาวเลบนดอยสูง ?
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1576 หน้า 76


คุณดาวใจ ไพจิตร นักร้องดาวค้างฟ้า ได้มอบโบราณวัตถุชิ้นประหลาดให้แก่พิพิธภัณฑ์หริภุญไชย ลำพูน ท่ามกลางความตื่นตะลึงของผู้พบเห็น เนื่องจากมันคือ "หน้ากากไม้ฝาโลง" ซึ่งมองแวบแรกเราต่างอุทานว่า นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมของบ้านเรา! เห็นทีจะนำเข้าจากต่างแดน ไม่แอฟริกา ก็จากนิวซีแลนด์ บาหลี ซาราวัก ฯลฯ

กว่าจะตัดสินใจรับหน้ากากมัมมี่ชิ้นนี้ ดิฉันเมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ลำพูนต้องขบคิดสรตะถึงปริศนาร้อยแปดพันเก้า โจทย์ข้อแรก ที่ต้องตีให้แตก (ก่อนที่หน้าดิฉันจะแตกยับชนิดหมอไม่รับเย็บ) คือเป็นของแท้หรือของทำเทียม? โจทย์ข้อสอง ถ้าแท้แล้วมีอายุสมัยใด โจทย์ข้อสาม คือเป็นของชนเผ่าไหน-เข้ามาได้อย่างไร ทำไมเพิ่งปรากฏบนแผ่นดินสยาม โจทย์ข้อสี่ คือ ใช้ฝังศพกันอย่างไร มีความเชื่อแบบไหน

การโผล่ขึ้นมาอย่างผิดที่ผิดทางเช่นนี้ ชวนให้หลายคนหวั่นใจว่าอาจเป็นของทำเทียม ศิลปินข้างกายของดิฉัน คุณมิตร ใจอินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดวางองค์ประกอบศิลปะและฝีมือช่างฉกาจฉกรรจ์ ชวนให้ฉงนเหลือใจว่าเป็นงาน Masterpiece ร่วมสมัยระดับปิกัสโซ กลุ่มคิวบิสม์ หรือเปล่า เส้นสายลายริ้วช่างตวัดได้อย่างเฉียบขาด ฝีมือแกะไม้ช่ำชองเอาเรื่อง วางจังหวะท่าทีลงตัว งานแนวนี้เป็นศิลปะกึ่งนามธรรม (Semi-Abstract) ดีไม่ดีคุณดาวใจอาจถูกพ่อค้าของเก่าเอาหน้ากากแอฟริกันที่ฝรั่งคนหนึ่งมาสร้างบ้านอยู่แถวน่านโยนทิ้ง เจอมุขนี้แรกๆ ดิฉันนอนไม่หลับอยู่หลายคืน ร่ำๆ เกือบนำส่งคืนคุณดาวใจอยู่เหมือนกัน

เผอิญหน้ากากไม้ชิ้นนี้พบในถ้ำค้างคาวแห่งหนึ่งบนดอยสูงชัน ห่างจากวัดผาเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน หลายสิบกิโลเมตร สำนักศิลปากรที่ 7 น่านได้ส่งนักโบราณคดีลงพื้นที่วัดผาเวียง ทราบมาว่าทางวัดเคยได้รับมอบหน้ากากไม้ฝาโลงชิ้นคล้ายคลึงกันนี้จำนวน 3-4 ชิ้น และได้นำจัดแสดงที่วัดอยู่นานถึง 4 ปี กระทั่งราวต้นปี 2550 นี้เองที่หน้ากากไม้ฝาโลงเหล่านั้นถูกลักลอบขโมยไปจากวัด และจู่ๆ ก็มาโผล่ที่ร้านขายของเก่าในเชียงใหม่ จนคุณดาวใจต้องรีบชิงซื้อตัดหน้านักสะสมของเก่าฝรั่งคนหนึ่งมาส่งมอบให้พิพิธภัณฑ์หริภุญไชยนี่แหละ

หลักฐานนี้ยืนยันว่าหน้ากากไม้ฝาโลงได้มาจากเมืองน่านจริงแถมยังมีอีกหลายชิ้น เมื่อนักโบราณคดีลงพื้นที่สำรวจในถ้ำขี้ค้างคาว ได้พบชิ้นส่วนของตัวโลงท่อนล่างในสภาพเปื่อยยุ่ย พร้อมด้วยเครื่องมือหินอีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อพิเคราะห์สภาพความเก่าผุของเนื้อไม้ พบรอยหยดของยางสีดำใช้เชื่อมติดกับลูกปัดหอยอันสึกกร่อนรอนราน น่าจะมีอายุร่วมรุ่นกับกำไลหอยที่นำเข้าจากหมู่เกาะมัลดีฟกลางมหาสมุทรอินเดียซึ่งมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั่วภูมิภาคนิยมนำมาทำเครื่องประดับ ซ้ำด้านในฝาโลงมีร่องรอยผ้าห่อศพคล้ายลายขิดเชือกทาบหยาบๆ ขณะที่ได้รับมอบใหม่ๆ คุณดาวใจโทรเชิญให้ไปรับที่ร้านขายของเก่า ดิฉันแบกอุ้มมากับมือ คราบน้ำเหลืองซากศพยังคละคลุ้ง คลุกเคล้ากับกลิ่นมูลค้างคาว กว่าจะล้างจนหมดกลิ่นต้องใช้เวลาหลายวัน

(ประทานโทษ ไม่ได้ล้างด้วยน้ำเปล่านะคะ ใช้น้ำยาล้างมือสารพัดยี่ห้อจนมือลอกถลอกปอกเปิกหมดแล้วกลิ่นก็ยังติดทนเหลือเกิน ส่วนเสื้อผ้าชุดนั้นไม่ต้องถาม โยนทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว)


ในด้านลวดลายศิลปะที่ตกแต่งใบหน้าเจ้าหญิงองค์น้อย (เพราะสูงไม่มาก) นั้น ใช้ลายเส้นวงโค้งก้นหอยแบบ Spiral Motif ในส่วนคิ้วกับดวงตาที่ต่อเนื่องคล้ายนกฮูก อันเป็นลวดลายพื้นฐานสากลของหลายเผ่าชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่บูชานกเป็นเทพเจ้า ได้แก่พวกเมารี อะบอริจินส์ จมูกเป็นเส้นเดียว ปากเล็กจู๋ ลำตัวแต่งด้วยวงโค้งเป็นคอ แขน เม็ดถันกลึงนูน ลักษณะโดยรวมเป็นงาน Primitive Art ท่อนบนมองเผินๆ ละม้ายกับหน้ากากของชนเผ่าวาตูลูลูกลางมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างมาก ส่วนการวางมือแปๆ บนลำตัวท่อนล่างที่ทำพอเป็นสัญลักษณ์ไม่เน้นความเหมือนจริงนั้นกลับพ้องกับวัฒนธรรมของชนเผ่าบนเกาะอีสเตอร์

จุดชี้ขาดความเป็นของแท้-ของเทียมก็คือ ของทำเทียมนั้นขาดจิตวิญญาณ ในขณะที่หน้ากากไม้ฝาโลงชิ้นนี้มีชีวิตจิตใจ ดูศักดิ์สิทธิ์ น่าหลงใหล เสมือนผ่านการใช้งานทางพิธีกรรมมาแล้ว ข้อสำคัญ เราไม่ควรลืมว่ามนุษย์ยุคโบราณแค่มีขวานหินเพียงด้ามเดียวก็สามารถถากไม้ได้ตามใจปรารถนา ไฉนจึงมองว่าต้องปิกัสโซเท่านั้นที่ทำได้



ดิฉันนำชิ้นส่วนเนื้อไม้ให้ รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดีพิสูจน์หาค่าอายุจากคาร์บอน 14 ผลก็คือมีอายุเก่าแก่ปาไป 3,200+/-400 และส่งให้กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ของกรมศิลปากรดำเนินการพิสูจน์เนื้อไม้ ได้ข้อสรุปว่าเป็นของแท้แน่นอนมิได้ทำเทียม พบคราบสารไนเตรท (มูลค้างคาว) ฝัง และการที่ผ่านเวลามากว่า 3,000 ปีเศษ แต่ยังไม่เปื่อยยุ่ยก็เพราะขี้ค้างคาวนี่แหละที่ช่วยอนุรักษ์เนื้อไม้ไว้ ส่วนเป็นไม้ชนิดใด สันนิษฐานว่าเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่มีวงปี ดูเผินๆ คล้ายกับว่าตัดออกมาเฉพาะส่วนของเปลือกนอก แต่ความจริงนั้น ใช้ทั้งส่วนที่เป็นกะพี้และแก่นผสมกัน

โดยปกติแล้ว วัฒนธรรมการฝังศพของชาวไทยล้านนา (กลุ่มไต-มองโกลอยด์) หรือชาวออสโตรเอเชียติก (มอญ-ขอม-ละว้า) กลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมภาคเหนือ หรือแม้แต่ชนชาวเขาส่วนใหญ่นั้น แทบไม่เคยพบการใช้หน้ากากไม้ฝาโลง ฝังไว้ในหน้าผาแนวตั้งแบบนี้มาก่อน มนุษย์ถ้ำก่อนประวัติศาสตร์หรือมนุษย์ที่ตกค้างในสังคมดั้งเดิมตามที่เรารับทราบนั้น เช่น แหล่งอารยธรรมบ้านวังไฮ ลำพูน ประตูผา ลำปาง ล้วนแล้วแต่ฝังศพแบบนอนยาวแนวราบ นำกระดูกใส่หม้อทุบให้แตกแล้วลงวางบนอกของหัวหน้าเผ่าหรือหัวหน้าครอบครัวทั้งสิ้น

ในด้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บนแผ่นดินสยาม ดิฉันพยายามเทียบเคียงกลุ่มชนที่มีการทำหน้ากากไม้ หรือรูปเคารพไม้แบบ Totem ประดับอยู่หน้าหมู่บ้าน ในสังคมดั้งเดิมแถบเมืองเหนือเท่าที่พอหาได้นั้น พบว่าชาวเผ่าลัวะยังคงทำรูปเคารพ "เสาสะกัง" (เสาอินทขีล-หลักเมืองบูชาพระอินทร์) ด้วยแท่งไม้แกะสลักเป็นลวดลายเรขาคณิตกึ่งนามธรรมอยู่ แต่ไม่เคยพบการทำรูปเหมือนบุคคล นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าเย้า ข่า รวมไปถึงวัฒนธรรม "ผีตาโขน" ที่ตกค้างของชาวเมืองเลยที่ควรศึกษาเปรียบเทียบ ทั้งหมดนี้ คือกลุ่มชนที่มีประเพณีการทำหน้ากากไม้สำหรับการส่งวิญญาณผู้ตาย

ฉะนั้น จะว่าไป ปริศนามัมมี่เมืองน่านชิ้นนี้ก็มิอาจกล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็นเรื่องไกลตัวเสียทีเดียว

มองออกไปยังอินโดจีน มีชนเผ่า "ข่าจราย" และอีก 2-3 ชนเผ่า ที่อาศัยอยู่ในเวียดนามตอนกลางบนภูเขาสูง เป็นวัฒนธรรมแบบ Highland Society ไม่ใช่วัฒนธรรมชาวเลของกลุ่มโพลีเนเซียน โอเชียเนีย แปซิฟิก แต่อย่างใด ชนเผ่าเหล่านั้นยังคงมีการทำ Totemnไม้แกะสลักรูปบุคคลปักอยู่หน้าทางเข้าหมู่บ้าน แต่ท่อนไม้เหล่านั้นไม่ได้มีรูปร่างเหมือนหน้ากากไม้ฝาโลงเสียทีเดียว


วัฒนธรรมหน้ากากฝาโลงของชาวเล ขึ้นมาสู่ดอยสูงได้อย่างไร เรื่องนี้มองได้สองแนวทาง

ข้อสันนิษฐานแรก อาจมีกลุ่มชนแถบทะเลจีนใต้แถวฟิลิปปินส์-เวียดนามที่เดินทางเร่ร่อนขึ้นมาติดต่อค้าขายกับชาวคาบสมุทรบนดอยสูง โดยผ่านแม่น้ำโขง และชนเผ่านี้ได้นำเอาวัฒนธรรมการฝังศพของตัวเองติดมาด้วยก็เป็นได้

ข้อสันนิษฐานที่สอง เป็นการมองย้อนศรว่ากลุ่มชนที่ทำหน้ากากไม้ฝาโลงนั้น จัดอยู่ในประเภทกลุ่มออสโตรเนเชียน (จาม ชวา มลายู) ครั้งหนึ่งหลายพันปีก่อนเคยอาศัยปะปนอยู่กับกลุ่มออสโตรเอเชียติก (ขอม มอญ ละว้า กลุ่มที่ไม่นิยมทำมัมมี่ฝาโลง) บนเทือกเขาสูงมาก่อนหน้าที่จะอพยพลงสู่ทะเล ไปกลายเป็นบรรพบุรุษของพวกเมารี อะบอริจินส์


ส่วนปริศนาที่สี่ ซึ่งท่านผู้อ่านสงสัยเหมือนดิฉัน อาทิ ฝังศพกันแบบไหน แนวนอนหรือแนวตั้ง ต้องขุดหน้าผากันอย่างไร ทำไมหน้ากากแผ่นเล็กจัง ฝังแค่หัว ครึ่งตัว หรือใช้เป็นโล่ประดับสถานะของหัวหน้าเผ่า? ปริศนาเหล่านั้น เห็นทีท่านต้องช่วยกันนั่งสมาธิดูทางในแล้วล่ะค่ะ

ฉะนั้น การได้มาซึ่งหน้ากากไม้ฝาโลงชิ้นนี้ จึงถือว่ามีคุณูปการยิ่งต่อวงการศึกษาทางโบราณคดีมานุษยวิทยาของประเทศไทย อย่างน้อยที่สุดทำให้เรารู้ว่า ยังมีชาติพันธุ์อีกมากมายหลายเผ่าที่เราไม่เคยมีการศึกษา กลุ่มชนเหล่านั้นยังถูกหลงลืมอยู่ตามหลืบถ้ำผาเถื่อน ดิฉันได้แต่หวังว่ามัมมี่เมืองน่านจะเป็นชนวนสำคัญที่ช่วยจุดประกายให้วงการโบราณคดีบ้านเราก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง

ข่าวด่วน ข่าวดี !เมื่อเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา ดิฉันได้ทำพิธีส่งมอบหน้ากากฝาโลงชิ้นนี้ให้เป็นของขวัญแก่คนน่านแล้ว เชิญเยี่ยมชมมัมมี่อายุ 3,200 ปีหนึ่งเดียวในสยามได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน



++

การฝังศพครั้งที่สอง VS การฆ่าครั้งที่สอง
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1577 หน้า 76


ภาพการทารุณกรรมย่ำยีศพของวีรชน 6 ตุลามหาโหด ไม่ว่าการเอารองเท้าแตะยัดใส่ปากศพที่ห้อยแขวนคอต่องแต่ง หรือการจุดน้ำมันก๊าดราดเผาไฟแล้วลากศพประจานไปทั่วลานทุ่งพระเมรุอย่างเมามัน ท่ามกลางกองเชียร์ จนกระทั่งช่างภาพชาวต่างชาติรางวัล "พูลิตเซอร์" ได้เขียนคำบรรยายใต้ภาพเหล่านี้ไว้ในหนังสือพิมพ์ไทม์ ว่า "การฆ่าครั้งที่สองของคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา"

ทุกครั้งที่ได้เห็นภาพพร้อมวลีสะเทือนขวัญนี้ ดิฉันมักหวนประหวัดนึกไปถึงการปลงศพของสังคมดั้งเดิมหรือสังคมบุรพกาล (Primitive Society) ในหลายๆ แห่งที่มีวัฒนธรรม "การปลงศพสองครั้ง" เสมอ ทว่า มีการปลงศพครั้งที่สองของมนุษย์ดึกดำบรรพ์สองพันปีมีรายละเอียดที่แตกต่างจากการสังหารศพครั้งที่สองของกลุ่มคนล้าหลังคลั่งชาติเมื่อ 34 ปีที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง

มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแถบบ้านเราราว 2,800-1,500 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะรู้จักยอมรับนับถือศาสนาพราหณ์หรือศาสนาพุทธ ยังคงนับถือธรรมชาติ มีความเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจผีบรรพบุรุษ ดังที่เรียกว่า Animism มนุษย์กลุ่มนี้ ถ้าอยู่ทางภาคเหนือแถบแม่น้ำปิง-แม่น้ำกวง (สาขาของแม่น้ำปิง) ก็จะถูกตำนานระบุว่าเป็นมนุษย์ป่าที่เกิดจากรอยเท้าสัตว์ตระกูลต่างๆ เช่น แรด โค ช้าง หรือเกิดมาจากนางเนื้อ ดังปรากฏข้อความในตำนานมูลศาสนาพรรณนาว่า

"ชนเหล่านี้เป็นมฤคชาติ อันธพาล ถึงอาจาระอคติ จัณฑาล หยาบคายดื้อกระด้าง มักประพฤติตามชาติของตน มีอยู่บางพวกเป็นมนุษย์มีลักษณะเป็นมนุษย์ป่า ย่อมไม่รู้ว่าสิ่งนี้ดีสิ่งนี้ชั่ว"

ความที่ชนกลุ่มนี้ยังไม่พัฒนาไปสู่ความเป็นอารยชนนี่เอง คือมูลเหตุแห่งการล่มจมของเมือง "มิคสังครนคร" หรือมีชื่ออีกอย่างว่า "สมันตรประเทศ" (ทั้งสองชื่อนี้ล้วนบ่งชี้ว่าเป็นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์) ผลักดันให้หัวหน้าเผ่า "ฤๅษีวาสุเทพ" ซึ่งน่าจะเป็นชาวต่างถิ่นแล้วอพยพเข้ามาเป็นผู้นำคนพื้นเมืองในดินแดนนี้จำต้องไปอัญเชิญพระนางจามเทวี ราชธิดาจากกรุงละโว้ ผู้มีอารยธรรมสูงกว่ามาเป็นกษัตริย์ปกครองแทน

นัยยะที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อความเหล่านี้ คือภาพสะท้อนให้เห็นว่าก่อนที่จะมีการอพยพเอากลุ่มคนมาจากกรุงละโว้นำกระบวนโดยพระนางจามเทวีขึ้นมาตั้งรกรากเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่แห่งอาณาจักรหริภุญไชยเมื่อปี พ.ศ.1204 หรือเกือบ 1,400 ปีที่ผ่านมานั้น ณ ที่แห่งนี้ เคยมีชาวพื้นเมืองหรือมนุษย์ป่าอาศัยอยู่ก่อนแล้ว

หลักฐานทางด้านโบราณคดีจากการขุดค้นพบโครงกระดูกที่บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ทั้งสองครั้งคือ ครั้งแรกในปี พ.ศ.2530 และอีกครั้งระหว่าง พ.ศ.2539-2541 โครงการศึกษาวิจัยก่อนประวัติศาสตร์ร่วมไทย-ฝรั่งเศสได้พบหลุมศพจำนวน 32 โครง มีไหขนาดใหญ่ หรือหม้อกระดูก ฝังอยู่ในทิศทางเดียวกับโครงกระดูก บางครั้งพบสองใบปากประกบกัน บางใบมีฝาปิดอยู่ โดยมากลำตัวป่องกลมรี คอคอดเว้าสูง ปากผายบาน รูปทรงคล้ายกับแคปซูล ทำให้นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเรียกว่า "หม้อแคปซูล" เนื้อหยาบหนาไส้ในสีดำ ก้นตัดมีลายเชือกทาบขนาดเล็กโดยรอบ บางใบมีลายเชือกทาบตลอดลำตัวจนถึงไหล่

วัฒนธรรมการบรรจุกระดูกในหม้อนี้ ถือว่าเป็นการฝังศพครั้งที่สอง เนื่องจากพบอยู่ในชั้นดินที่สูงกว่าโครงกระดูก และมีข้อน่าสังเกตว่าหม้อกระดูกเหล่านี้จะถุกทุบทำลายก่อนใส่ลงในหลุมศพ เชื่อว่าเป็นการส่งวิญญาณให้แก่ผู้ตาย

อันเป็นคติความเชื่อที่พบได้ทั่วไปในแหล่งฝังศพสมัยโลหะทั้งในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



ภาชนะดินเผา

เกี่ยวกับชื่อของ "บ้านวังไฮ" อันที่จริงคำนี้ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสสันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเรียกว่า "วังไห" มากกว่า เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่นับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาจนถึงสมัยหริภุญไชย ในอดีตชาวบ้านคงมีการพบหม้อไหภาชนะต่างๆ มากมาย จึงเรียกว่า "วังไห" แต่ต่อมามีการเพี้ยนไปตามสำเนียงของชาวยอง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแถบนี้ จึงกลายเป็น "วังไฮ" ไปในที่สุด

การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านวังไฮโดยกรมศิลปากรในปี 2530 และโดย ระหว่างปี 2539-2541 ได้พบโครงกระดูกมนุษย์รวมทั้งสิ้น 32 โครง ประกอบด้วย
โครงกระดูกเด็กเล็ก (ทารก) 2 โครง
โครงกระดูกเด็ก 4 โครง
โครงกระดูกเด็กหนุ่ม 1 โครง
โครงกระดูกผู้ใหญ่ (ทั้งชาย หญิง และสตรีมีครรภ์) 25 โครง

โครงกระดูกส่วนใหญ่นอนหงาย แขนขาขนาบข้างลำตัว กระดูกถูกแปรสภาพเนื่องจากชั้นดินมีเม็ดศิลาแลงปนอยู่มาก มีข้อน่าสังเกตว่าทิศทางการฝังนั้นนิยมหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ไม่มีศพใดหันไปทางทิศเหนือกับทิศใต้) ซึ่งคล้ายคลึงกับทิศที่พบในหลุมขุดค้นที่ร่วมวัฒนธรรมเดียวกันอีกสองแห่ง ณ แม่น้ำกวง นั่นคือ ที่บ้านยางทองใต้ และบ้านสันป่าค่า

โครงกระดูกส่วนใหญ่ไม่มีร่องรอยแสดงถึงการสิ้นชีวิตเนื่องจากบาดแผลใหญ่หรือร้ายแรง แสดงว่าคงไม่ค่อยมีการต่อสู้ ทำร้ายร่างกายหรือการศึกสงคราม ลักษณะเช่นนี้บ่งชี้ว่าประชากรสมัยสังคมดั้งเดิมที่บ้านวังไฮคงจะมีสภาพชีวิตและสังคมที่ค่อนข้างสงบสุข


หลุมศพเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการฝังศพที่มีความเชื่อในเรื่องโลกหน้า เนื่องจากพบเครื่องประกอบการฝังศพมากมายมีทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องประดับที่มีร่องรอยของการสวมใส่ตามบริเวณคอ แขน ข้อเท้า และภาชนะดินเผา วางประกอบอยู่ข้างศพ เป็นการอุทิศให้แก่ผู้ตาย

แบบแผนการฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านวังไฮมีความคล้ายคลึงกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่ร่วมสมัยกันทั้งที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง กล่าวคือมีการฝังศพสองครั้ง

ครั้งแรกเป็นการฝังศพด้วยการมัดข้อมือข้อเท้าและตกแต่งร่างกายผู้ตายด้วยเครื่องประดับ มีการอุทิศอาหารและสิ่งของเครื่องใช้สอยโดยเฉพาะภาชนะดินเผาร่วมกับศพ เมื่อผ่านไปได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงมีการฝังศพครั้งที่สอง ด้วยการนำกระดูกบางส่วนของผู้ตาย พร้อมด้วยสมบัติอีกส่วนหนึ่งใส่ลงในไหขนาดใหญ่หรือเรียกกันว่า "หม้อกระดูก" ใช้ฝาปิด บางครั้งก็ใช้หม้ออีกใบประกบปากแทนฝา ก่อนจะนำลงฝังมีการทุบทำลายหม้อให้แตกก่อน โดยเชื่อว่าเป็นการส่งวิญญาณให้แก่ผู้ตายไปสู่สุคติภูมิ จากนั้นจึงนำหม้อกระดูกฝังทับลงบนอกของศพ

มีข้อน่าสังเกตว่าหลุมฝังศพแต่ละหลุมพบสิ่งของเครื่องใช้เครื่องประดับฝังอยู่ด้วยในปริมาณที่แตกต่างกัน บางหลุมพบเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีมีค่าที่ผลิตจากต่างถิ่น ส่วนบางโครงไม่มีสิ่งของวัตถุอุทิศให้ผู้ตายเลย หลักฐานเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างทางฐานะหรือสถานภาพทางสังคม อาจเป็นไปได้ว่ามีสมาชิกในสังคมเพียงบางคนหรือบางครอบครัวเท่านั้น อาทิ พ่อมด หมอผี และหัวหน้าเผ่า ที่สามารถครอบครองวัสดุมีค่าจากต่างถิ่นได้ในปริมาณที่มากกว่าคนหรือครอบครัวอื่นๆ

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แม้ชุมชนบ้านวังไฮจะมีวิวัฒนาการมาจากสังคมบุรพกาล (primitive society) มีโครงสร้างทางสังคมเป็นแบบเผ่า มีประเพณีคติความเชื่อที่ยังคงยึดมั่นตามบรรพบุรุษอยู่ และยังคงใช้วัสดุดั้งเดิมที่มีกรรมวิธีการผลิตแบบง่ายๆ ประเภทหิน เหล็ก สำริด แต่ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีการยอมรับเอาอารยธรรมบางอย่างอันสูงส่งกว่าจากสังคมอื่นเข้ามาบ้างแล้ว มิใช่กลุ่มชนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว มีการแลกเปลี่ยนวัตถุและติดต่อค้าขายกับโลกภายนอก อาจเป็นพ่อค้าชาวอินเดียโดยตรง หรืออย่างน้อยที่สุด ก็อาจรับเอาลูกปัดอินเดียประเภทหินอาเก็ตและหินคาร์เนเลียนผ่านมาทางพ่อค้าทวารวดีก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม อารยธรรมด้านการปกครองกับด้านศาสนาแบบทวารวดีกลับยังไม่มีอิทธิพลต่อชนพื้นเมืองที่บ้านวังไฮมากนัก

เห็นได้จากประเพณีการฝังศพที่ยังคงทำแบบเดิมๆ คือยังไม่รู้จักวัฒนธรรมการเผา อีกทั้งยังไม่ปรากฏรูปเคารพทางศาสนาไม่ว่าพุทธหรือพราห์มณ์ในดินแดนแถบนี้ จนกว่าจะถึงพุทธศตวรรษที่ 13 นั่นคือการก่อเกิดอาณาจักรหริภุญไชย



+++

โบสถ์ภิกษุณีที่ลำพูน โบสถ์สองสงฆ์ที่เชียงใหม่ เคยมี "ภิกษุณี" อยู่จริงในล้านนา!
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1581 หน้า 91


ก็ไหนคอลัมน์นี้เมื่อสามฉบับก่อนเคยบอกว่า สังคมล้านนานั้นนิยมปักป้ายว่า "ผู้หญิงห้ามเข้า" บ้าง "ผู้หญิงห้ามขึ้น" บ้างล่ะ สะท้อนภาพโดยรวมว่าผู้หญิงถูกกีดกันจากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หลายจุดในวัด

แล้วไฉนจู่ๆ คราวนี้จึงมาบอกว่าเคยมีภิกษุณีในล้านนา

แน่หรือที่สังคมภาคเหนือเคยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้บวชเรียนเป็นถึง "ภิกษุณี" บทความสองตอนนี้มันไม่ขัดแย้งกันเองดอกหรือ?

ไม่แน่นอนค่ะ เรื่อง "ผู้หญิงห้ามเข้า-ผู้หญิงห้ามขึ้น" เป็นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมล้านนา ที่เชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุว่ามีการลงยันตร์ปกปักรักษาอยู่ มิเกี่ยวข้องอันใดกับการมองว่าผู้หญิงเป็นเพศต่ำต้อยกว่าชาย

ส่วนกรณีที่ล้านนาเคยมีภิกษุณีจริงหรือไม่นั้น ผู้อ่านต้องมาช่วยดิฉันพิสูจน์พร้อมๆ กัน

คราวนี้ดิฉันขนหลักฐานด้านโบราณคดีมาเพียบเลยค่ะ



หลักฐานแรกที่เห็นชัดๆ ก็คือ ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่ มีอุโบสถหลังหนึ่งค่อนข้างแปลกเพราะหันหน้าลงทางทิศใต้ แทนที่จะหันในแกนตะวันออก-ตะวันตกเหมือนโบสถ์-วิหารทั่วไป แต่เรื่องนี้ยังไม่แปลกเท่ากับป้ายที่ปักเรียกชื่อโบสถ์นี้ว่า "โบสถ์สองสงฆ์"

มาช่วยตีความคำว่า "สองสงฆ์" นี้กันหน่อยว่าควรจะหมายถึงสิ่งใด "ภิกษุกับภิกษุณี" หรือว่าหมายถึงการผูกพัทธสีมาของพระภิกษุสองนิกาย

และถ้าประการหลังถูก ก็ต้องวิเคราะห์ว่านิกายใดกับนิกายใดด้วย เพราะทางเหนือเองในอดีตมีการแบ่งแยกหลายนิกายมาก ที่เด่นๆ สามนิกาย ได้แก่ นิกายดั้งเดิมหริภุญไชย นิกายสวนดอก (ลังกาวงศ์สายรามัญ) นิกายป่าแดง (ลังกาวงศ์สายสีหล) หรือจะแบ่งนิกายแบบคามวาสีกับอรัญวาสี (นิกายเมือง-นิกายป่า?)

แล้วนักวิชาการท้องถิ่นเมืองเหนือคิดเห็นเช่นไรเล่า จากการสอบถามผู้รู้หลายสำนัก พบคำตอบว่า นักวิชาการมีความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง

ฝ่ายไม่เชื่อเห็นว่าเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ชาวบ้านทั่วไปคงเห็นใบสีมาสองหลักผูกซ้อนกันที่ทางขึ้นโบสถ์ แล้วพลอยทึกทักเอาว่าเป็นโบสถ์สองสงฆ์ไปเองกระมัง

ฝ่ายที่เชื่อว่าเคยมีภิกษุ-ภิกษุณีเคยทำสังฆกรรมร่วมกันในโบสถ์นี้จริง อ้างหลักฐานว่า เพราะโบสถ์แห่งนี้แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นสองส่วนให้น้ำหนักความสำคัญเท่ากันแบบหน้า-หลัง ไม่ได้วางพระประธานไว้ตอนในสุดเหมือนโบสถ์อื่นๆ แต่ทำบันไดทางขึ้นสองด้าน มีปราสาทตั้งอยู่กลางห้องโถงประดิษฐานพระพุทธรูปหันหลังชนกัน อันเป็นการแบ่งเขตสังฆกรรมชัดเจน

โดยเชื่อว่าด้านใต้ (ด้านหลัก) เป็นทางขึ้นของพระสงฆ์ และด้านเหนือเป็นทางขึ้นของภิกษุณี



ฝ่ายที่เห็นด้วยกับเรื่องการมีภิกษุณียังได้อ้างถึงเอกสารพับสาโบราณชิ้นหนึ่ง น่าเสียดายไม่ระบุปี พ.ศ. พรรณนาถึงเรื่องการบวชในอดีต ข้อความตอนหนึ่งปรากฏคำว่า "ภิกษุณี"ดังนี้

"การบวชนั้นต้องใช้น้ำเป็นอุทกสีมา ปริมาณของน้ำต้องมีความลึกเท่ากับภิกษุณีนุ่งผ้าสบงตามปกติ และชายผ้าของภิกษุณีต้องจุ่มลงในแม่น้ำลึกประมาณ 2 นิ้ว"

ข้อความดังกล่าวเขียนประหนึ่งว่าชาวล้านนาในอดีตรู้จักภิกษุณีหรือการนุ่งผ้าของภิกษุณีกันจนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

แล้วใครเป็นผู้มาเรียกขานชื่อโบสถ์หลังนี้ว่าโบสถ์สองสงฆ์หรือโบสถ์ภิกษุณี เรียกเมื่อไหร่ เป็นชื่อใหม่หรือเก่า อย่างน้อยที่สุด พ.ศ.2360 ยุคเจ้าหลวงคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่สองในยุคฟื้นฟู ได้มีการบันทึกไว้ว่า

...ได้ก่อธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ครอบ (กรวม) อุโบสถภิกษุณี...

สะท้อนให้เห็นว่า เคยมีโบสถ์ภิกษุณีอยู่จริงในวัดพระสิงห์ อย่างน้อยก็ก่อน พ.ศ.2360 แต่จะเก่าย้อนไปถึงสมัยกษัตริย์พระองค์ใดในนครเชียงใหม่นั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัด

ส่วนพระเจดีย์วัดพระสิงห์นั้นตั้งอยู่ประชิดกับอุโบสถสองสงฆ์อย่างมาก แสดงว่าส่วนหนึ่งของโบสถ์ภิกษุณีได้ถูกครอบทับกลายเป็นพื้นที่เขตประทักษิณขององค์พระธาตุไปแล้ว ยังคงเหลือโบสถ์ภิกษุณีอีกส่วนหนึ่งในเขตอุโบสถสองสงฆ์นั่นเอง


ในขณะเดียวกัน วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เมืองลำพูน ซึ่งมีฐานะเป็นวัดหลวงที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ ก็มีอุโบสถหลังหนึ่งนอกเขตกำแพงแก้วทางด้านทิศเหนือ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคณะสงฆ์อัฏฐารส มีชื่อว่า "โบสถ์ภิกษุณี"

รูปทรงทางสถาปัตยกรรมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ร่องรอยของใบสีมาล้อมรอบพระอุโบสถก็ไม่มีเหลือให้เห็น

ผิดกับที่วัดพระสิงห์ อีกทั้งไม่มีเอกสารใดๆ ระบุว่าโบสถ์แห่งนี้สร้างเมื่อไหร่ จะเก่าแก่ถึงยุคหริภุญไชยไหม หรือเพียงแค่ยุคล้านนา

มีข้อสังเกตว่าโบสถ์ภิกษุณีตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างพระเจดีย์ของฝ่ายสตรีสององค์ คือสุวรรณเจดีย์ สร้างโดยพระนางปทุมวดี พระมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช เมื่อประมาณ พ.ศ.1500 เศษและเจดีย์แม่ครัว หรือเจดีย์เชียงยัน สร้างร่วมสมัยกันโดยกลุ่มมหาอุบาสิกา

หากโบสถ์ภิกษุณีหลังนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสุวรรณเจดีย์และเจดีย์แม่ครัว เนื่องจากอยู่ในเขตพื้นที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ก็ย่อมหมายความว่า โบสถ์ภิกษุณีที่ลำพูนมีประวัติความเป็นมานับพันปีทีเดียว



หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่าในอดีตผู้หญิงเคยบวชเป็นภิกษุณีได้จริง ปรากฏชัดใน ศิลาจารึกอักษรมอญโบราณหลัก ลพ.1 เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย พบที่วัดดอนแก้วหรือวัดเชตวนาราม จารึกเมื่อราว พ.ศ.1628 กล่าวถึงการออกผนวชของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ (สววาธิสิทธิ) แห่งนครหริภุญไชย พร้อมด้วยพระมเหสี และพระโอรสอีกสองพระองค์ ขณะทรงครองราชย์สมบัติได้เพียงไม่กี่ปี

การทรงผนวชของพระมเหสีในที่นี้ สามารถตีความว่าทรงบวชเป็น "ภิกษุณี" ได้หรือไม่ ดิฉันเห็นว่า หากพระมเหสีของพระเจ้าสรรพสิทธิ์จะบวชด้วยการถือศีลแปดนุ่งขาวห่มขาวแบบแม่ชีหรือภาคเหนือเรียก "แม่ขาว" นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่ถึงขั้นต้องประกาศไว้ในจารึก เพราะอุโบสถศีลถือเป็นวัตรปฏิวัติในวันธรรมสวนะของพุทธมามากะอยู่แล้ว

ฉะนั้น การทรงผนวชในที่นี้น่าจะหมายถึงการบวชแบบภิกษุณีมากกว่า

หวังว่าต่อไปนี้นักสิทธิสตรีและกลุ่มรณรงค์เรียกร้องขอโอกาสให้ผู้หญิงไทยมีสิทธิ์บวชเป็นภิกษุณีได้ คงไม่ต้องไปอ้างความชอบธรรมกรณีศึกษาของภิกษุณีจากลังกาหรือประเทศอื่นๆ ในสายมหายานอีกต่อไปแล้ว ในเมื่อภิกษุณีเคยมีอยู่จริงในสยาม เพียงแต่สูญหายไปช้านาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายอันใด มีได้ เลิกได้ แล้วก็มีใหม่ได้อีก ไม่เห็นแปลก สังคมเปลี่ยน บางช่วงขณะอาจยกเลิกเพราะความจำเป็นบางประการ หากวันนี้พร้อมแล้วก็ว่ากันใหม่

เกรงอยู่แต่ว่าผู้มีอำนาจเดิมจะใจกว้างหรือใจแคบเท่านั้นเอง



.