http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-02

ล้างพิษทางใจรับภัยน้ำท่วม, กดจุด รักษาลมปัจจุบัน โดย น.พ.บรรจบ, รวมพลังทำยาน้ำกัดเท้า

.

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
รู้สู้ flood ep.5 : ใจเย็นยามอพยพ
http://www.youtube.com/watch?v=6Y5J1LApdpU


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

โปร่งเบาและปล่อยวาง ล้างพิษทางใจรับภัยน้ำท่วม
โดย น.พ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล dr.banchob@balavi.com คอลัมน์ ธรรมชาติบำบัด
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 93


นํ้าเชี่ยวอย่าขวางเรือ เป็นสุภาษิตไทยแต่โบราณซึ่งบอกเราเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติ เจตนารมณ์ของคนกับพลังของน้ำได้เป็นอย่างดี

เรื่องของน้ำท่วมแท้ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของสยามประเทศมานานปี และภาวะน้ำหลากแท้ที่จริงมีคุณูปการนับอเนกอนันต์ต่อชาวกรุงสยามมาอย่างสม่ำเสมอ ก่อนอื่นต้องรู้ว่าคนไทยเป็นชาวน้ำชาวนา ดังคำพูดที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาคือดินแดนแห่งวัฒนธรรมที่คนไทยเราสร้างบ้านแปงเมืองมานับศตวรรษ

เราเป็นชาวที่ราบลุ่ม อาศัยน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาปลูกข้าว อาศัยน้ำหลากของแต่ละปีพาเอาดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยจากทางเหนือมาเจือจานทุ่งราบเจ้าพระยาให้อุดมสมบูรณ์ สั่งสมพืชพันธุ์ธัญญาหารได้มาก จนกระทั่งเหลือกินเหลือใช้ จึงทำให้คนไทยเรามีน้ำใจเยียบเย็นพอที่จะประจงประดิษฐ์ประดอยสร้างสรรค์อารยธรรมไทยขึ้นมาได้

คนไทยแต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยกลัวน้ำ เราปลูกบ้านใต้ถุนสูง เวลาน้ำหลากมาเราไม่เคยเดือดร้อน แถมดีใจเสียอีก เด็กๆ ได้ดำผุดดำว่าย ผู้ใหญ่หว่านแห ใส่เบ็ดราวเพื่อจับปลา จับกุ้งมาทำกะปิ ปลาร้า ปลาจ่อม อันเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่ธรรมชาติให้มา

น้ำหลากยังช่วยปกป้องกรุงศรีอยุธยาจากพม่าข้าศึกมากี่ยุคกี่สมัย

นี่คือชัยภูมิอันมั่นคงที่คนไทยได้ปกป้องเอกราชของตนเองมาโดยลำดับ

มาเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ ฝรั่งที่มาเมืองสยามในยุคนั้นถึงกับตะลึงงันกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่สร้างบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ อาศัยน้ำเป็นเส้นทางสัญจร จนเขาขนานนามว่า กรุงเทพฯ คือเวนิสตะวันออก

ด้วยเหตุฉะนี้จะเห็นว่า คนไทยกับน้ำ เป็นเสมือนบุตรในอุทรของพระแม่คงคา ที่ไม่อาจแยกจากกันได้

แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป คนไทยจึงสร้างตึกรามบ้านช่องแบบตะวันตก ถมคลอง สร้างถนน นั่นเท่ากับเราเริ่มทำตัวแปลกแยกกับสายน้ำ เราหันหลังให้ธรรมชาติ กระทั่งขัดขวางธรรมชาติ และพยายามดัดแปลงธรรมชาติให้เป็นไปตามใจเราที่ปรารถนา เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติให้จงได้

สุดท้ายธรรมชาติกับเราก็กลายเป็นปฏิปักษ์กัน และธรรมชาติก็ให้บทเรียนบทใหม่กับเรา

นั่นคือ ภาวะน้ำท่วม


ในการต่อสู้กับภาวะน้ำท่วม เรายังเอานิสัยเดิมๆ ที่จะต่อสู้ขัดขวางธรรมชาติมาเป็นแก่นแกนของกระบวนการรับภัยจากน้ำ เริ่มต้นจากการอั้นน้ำปริมาณมหาศาลไว้เหนือเขื่อนโดยประมาท หรือปราศจากเหตุผลอันสมควร ครั้นเมื่อถึงที่สุดแล้วตระหนักว่าอั้นไม่อยู่ ก็จำต้องปล่อยมวลน้ำขนาดมหึมาลงมาท่วมทับผู้คน ในระหว่างการต่อสู้กับน้ำ เราสร้างกำแพง ขนกระสอบทราย ยืนหยัดดันกับพลังน้ำด้วยกำลังแรงตามมโนสำนึกเดิมๆ ที่มีอยู่ ด้วยจิตใจที่มุ่งมาดจะเอาชนะอีกตามเคย

และแล้วเราก็แตกพ่ายจากหัวเมือง จังหวัดแล้ว จังหวัดเล่า จนกระทั่งน้ำตีโอบเข้าล้อมกรุง เราอยู่ในภาวะสับสนอลหม่าน ท่ามกลางข่าวลือ ข่าวลวงที่ขยายภัยธรรมชาติให้น่าแตกตื่น ตามพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ "ทำนบแตก น้ำทะลัก" "มวลน้ำมหาศาลบุกกรุง"

ขณะเดียวกันคนไทยบางส่วนก็ยึดรถแบ็กโฮ ทำลายพนังกั้นน้ำ เพื่อเฉลี่ยความเสียหายให้ทุกข์เท่าเทียมกัน อาจกล่าวได้ว่า จิตใจของคนกรุงยามนี้ เสมือนภาวะที่ไร้ผู้นำ แตกตื่น ขาดสติ ไม่ผิดอะไรกับชาวกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงแก่พม่าข้าศึก นี่คือความทุกข์ที่ท่วมท้นจิตใจคนไทยในยามนี้

"คุณหมอครับ ผมไม่ไหวแล้ว เฝ้าข่าวน้ำท่วมจนมึนหัวไปหมด ความดันเลือดของผมขึ้นสูงแล้วครับ" คุณภาระผู้หอบเขาความทุกข์ทั้งมวลในอินเตอร์เน็ตทุกเวป บวกเข้ากับข่าวหน้าจอโทรทัศน์ทุกช่องที่เขาเฝ้ามาตลอด 7 วัน เดินเข้ามาหาผมด้วยอาการมึนศีรษะ นอนไม่หลับ ความดันเลือดพุ่งสูง 160/100 ม.ม.ปรอท

คุณภาระเป็นผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตที่รักษาด้วยธรรมชาติบำบัด เขาดีขึ้นอักโขแล้วด้วยการฝังเข็ม สารเสริม และการบริหารร่างกาย แต่นิสัยของเขาเป็นไปตามชื่อ คือชอบเอาเรื่องทุกอย่างมาเป็นภาระ ซึ่งถ้าเขาเปลี่ยนนามสกุลซะด้วยเป็น นายภาระ หอบกระสอบทราย ก็น่าจะสะท้อนภาพลักษณ์ของเขาได้ชัดเจนมิบันเบา เขาน่าจะเป็นตัวแทนของคนกรุงอีกนับแสนคนในขณะนี้ที่พิกัดของสารอะดรีนาลบินกำลังถีบตัวขึ้นสูงโด่งในกระแสเลือดถ้วนทั่วทุกตัวคน

ในภาวะที่เขาเดินเข้ามาหา การแพทย์แบบแผนเรียกว่าความเครียด การแพทย์แผนไทยเรียกว่า ลมกลัดกลุ้มตีขึ้นเบื้องสูง ขืนปล่อยไว้อาจเส้นเลือดแตก ตีบ ตันในสมอง กลายเป็นอัมพาตกลับซ้ำเอาได้ง่ายๆ



รักษากาย

ผมเลือกใช้ตำรับยาไทยชื่อ เทพจิตตารมณ์ เริ่มจาก 3 เม็ด 3 เวลา เพิ่มได้จนถึง 5-7 เม็ด 3 เวลา ยานี้จะดึงลมที่ตีขึ้นศีรษะให้กลับลงล่าง

กินคู่กับยา เศียรสมุทร แก้อาการปวดมึนหัว ด้วยความตึงเครียดได้ดีนักแล กินแบบเดียวกับเทพจิตตารมณ์

พร้อมๆ กันนั้นให้ใช้ยา อดุลย์สำราญ 7 เม็ดก่อนนอนเพื่อปรับอารมณ์หงุดหงิดงุ่นง่านให้สำเริงสำราญขึ้นมาบ้าง กินคู่กับ ยาหอมภูล ประสิทธิ์ กิน 1/2 หลอดอมในปาก 2 เวลา ก่อนหัวถึงหมอน และก่อนหัวละจากหมอน

เป็นอันว่ารักษาลมตีขึ้นเบื้องสูงให้หายได้ นี่เป็นส่วนของการปรับกายให้เข้าสู่สมดุล แต่ธรรมชาติบำบัดก็บอกว่า ในภาวะอย่างนี้ต้องการการปรับใจด้วย



รักษาใจ

ในท่ามกลางความสับสนอลหม่านที่คนไทยกำลังไร้ที่ยึดเหนี่ยว ผมก็มีโอกาสได้ยินคำพูดอันเป็นมงคลประโยคหนึ่ง เปรียบเสมือนประทีปส่องทาง คำพูดประโยคนั้นได้ยินต่อๆ กันมาว่า "ถ้าน้ำมา จงอย่าไปขัดขวาง ปล่อยให้ผ่านมา แล้วผ่านไป"

ช่างเป็นดำริที่เป็นธรรมดา สอดคล้องกับธรรมชาติ บ่งบอกถึงความโปร่งเบา ปล่อยวาง และปราศจากทุกข์โดยสิ้นเชิง

จริงซินะ เหตุเพราะเรายึดติดกับการเอาชนะธรรมชาติ เราคิดแต่ว่าบ้านเราจะปล่อยให้น้ำท่วมไม่ได้ เราจึงต่อสู้ขัดขวางน้ำในทุกวิถีทาง เรายังคงทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับสายน้ำ เราต่อสู้ดิ้นรน ขนกระสอบทราย สร้างกำแพง ตั้งพนังกั้นน้ำ แต่ด่านแล้วด่านเล่า บทเรียนแล้วบทเรียนเล่า เราแพ้มาตลอด ต่อให้เรากั้นกำแพงให้สูง มันก็โผล่ขึ้นตามท่อระบาย ผุดขึ้นมากลางบ้าน สุดท้ายเราก็พ่ายแพ้และเหน็ดเหนื่อย ความพ่ายแพ้ที่แท้จริง ก็คือ เราพ่ายแพ้อัตตาของตัวเอง อัตตาที่ยึดติดกับความไม่ท่วม ความไม่เปลี่ยนแปลง

ถ้ากลับมาคิดในอีกแง่หนึ่ง คิดอย่างโปร่งเบา ปล่อยวาง ไม่ยึดติด ก็ในเมื่อคนไทยเราเกิดแก่เจ็บตายอยู่กับสายน้ำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยอมรับเสียว่า ความเป็นชาวน้ำชาวนาของเรานั้น บางปีเราก็เก็บเกี่ยวได้อุดมสมบูรณ์เต็มยุ้งเต็มฉาง บางปีก็ฝนแล้ง บางปีก็น้ำท่วม แล้วเราก็อดอยากปากหมอง มันเป็นของมันเช่นนี้เอง มีดีก็มีร้าย มีร่ำรวยก็มียากจน มีรุ่งเรืองก็มีย่อยยับอับโชค นี่คือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ลองใคร่ครวญตามประโยคที่ว่า "ถ้าน้ำมา จงอย่าไปขัดขวาง ปล่อยให้ผ่านมา แล้วผ่านไป" คิดเช่นนี้ได้ก็จะโปร่งเบา และปล่อยวาง ปัญญาก็จะเกิด อาจถึงกับพ้นทุกข์ได้ แม้ในยามคับขัน



++

กดจุด รักษาลมปัจจุบัน
โดย น.พ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล (www.balavi.com) คอลัมน์ ธรรมชาติบำบัด
(ดูรูป)ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 93


"ลมปัจจุบัน" ตามการแพทย์แผนไทยเกิดขึ้นเนื่องจากลมกองหยาบตีขึ้นเบื้องสูง เป็นเหตุให้เกิดอาการเหมือนเป็นลม และทำท่าจะหมดสติ

อาการลมปัจจุบัน แท้ที่จริงแล้วมีหลายสาเหตุ นอกจากที่เป็นอาการนำของการเกิดอัมพาต คือกำลังเกิดภาวะเส้นเลือดตีบ เส้นเลือดอุดตัน หรือเส้นเลือดแตกในสมองแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นซึ่งเป็นเหตุให้เป็นลม หมดสติได้

ยิ่งในภาวะที่เรากำลังเผชิญกับภัยน้ำท่วมกันทั่วประเทศ มีข่าวลือประเภทต่างๆ รอบตัว เดี๋ยวลือว่าเขื่อนร้าวแล้ว บ้างว่าเขื่อนแตก ใครที่ชอบเข้าเฟซบุ๊ก (facebook) จะเจอข่าวลือมากมาย บ้างก็ตกใจจากคำประกาศของรัฐบาลเอง

คนแก่ๆ ที่ดูโทรทัศน์ชนิดเปิดจอทิ้งไว้ทั้งวัน จะเจอเข้ากับข่าวร้ายข่าวแล้วข่าวเล่า ด่านกั้นน้ำแตกพ่ายมาทีละจังหวัด ตั้งแต่นครสวรรค์ อยุธยา ปทุมธานี แล้วก็นิคมอุตสาหกรรมมูลค่าเป็นพันๆ ล้าน แตกแล้วท่วม ท่วมแล้วแตก เป็นอย่างนี้ซ้ำซาก มันทำให้เกิดรอยชอกช้ำเข้าไปในจิตของผู้ชม

ถ้าไม่รู้จักวางจิตวางใจให้ถูกต้อง ก็พลอยทำให้เกิดความตกอกตกใจ วิตกกังวล หมองเศร้า เป็นผลให้ใครที่ร่างกายไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ก็อาจเกิดอาการเป็นลม หมดสติ

บางคนไม่ได้นอนมาหลายวัน อดข้าวอดน้ำ มีภาวะน้ำตาลเลือดต่ำ หรือแพ้แดด แพ้ความหนาวเพราะแช่น้ำจำเจ สุดท้ายก็อาจเกิด "ลมปัจจุบัน" ได้

เมื่อเกิดลมปัจจุบัน ถ้าบางคนมีเพียงอาการเล็กน้อย เช่น น้ำตาลเลือดต่ำ ร่างกายเพลีย จิตใจเพลีย ถ้าได้รับการแก้ ก็ฟื้นคืนได้โดยเร็ว แต่บางคนก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือเส้นเลือดแตก กลายเป็นอัมพาตได้

ไม่ว่าจะเป็นลม หมดสติที่มีสาเหตุจากอะไร แต่ถ้าคนรอบข้างรู้จักวิธีกดจุด ก็สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ ก่อนอื่นต้องปฐมพยาบาลโดยให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าที่รัดรึงอยู่แถวคอ หน้าอก หน้าท้องให้หลวม อย่าให้คนมุงดู เพราะแย่งอากาศหายใจ เปิดห้องให้อากาศถ่ายเทสะดวก แล้วให้หลักการกดจุด

ดังนี้ :

จุดหลัก

มี 4 จุดสำคัญ ได้แก่ :
- เหรินจง (renzhong) อยู่ตรงร่องเหนือริมฝีปากบน ตรงรอยต่อกับจมูก กดแรงๆ อาจใช้เล็บจิกก็ได้ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นอย่างแรง (รูปที่ 1)
- จงชง (zhongchong) อยู่ตรงกลางของปลายนิ้วกลาง กดแรงๆ ให้เจ็บ
- เหอกุ (hegu) อยู่ปลายสุดของรอยย่นระหว่างหัวแม่มือกับนิ้วชี้ กดกระตุ้นแรงๆ (รูปที่ 2 )
- ไท่ชง (taichong) อยู่ระหว่างง่ามนิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ กดกระตุ้นแรงๆ (รูปที่ 3)


จุดพิเศษ

มีจุดพิเศษอยู่บางจุด ซึ่งมิได้ระบุไว้ในตำราเวชกรรมฝังเข็ม แต่ภูมิปัญญาชาวจีนแต่โบราณรู้จักใช้กันมานานแล้ว เวลาแก้ไขคนเป็นลม หมดสติ เท่าที่ประมวลได้มี 3 จุดพิเศษ ดังนี้ :

- จุดพิเศษ 1 บนใบหน้า อยู่ใต้ริมฝีปากล่าง ตรงกลางระหว่างริมฝีปากล่างกับปลายคาง กดกระตุ้นแรงๆ (รูปที่ 4)
- จุดพิเศษ 2 อยู่ที่เอ็นของกล้ามเนื้อปีกอก (pectoralis) บริเวณที่เป็นผนังด้านหน้าของร่องรักแร้ ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ คว้าจับเอ็นกล้ามเนื้อปีกอก แล้วดึงแรงๆ ให้นิ้วมือของผู้รักษาหลุดออกจากกล้ามเนื้อปีกอก จะเกิดความรู้เจ็บมาก เป็นการกระตุ้นประสาทของผู้ป่วยให้ฟื้นตื่นขึ้นมา ทำได้ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา (รูปที่ 5-6)
- จุดพิเศษ 3 อยู่ที่เอ็นของกล้ามเนื้อขาหนีบ บริเวณที่กล้ามเนื้อด้านในของขามาต่อกับหัวเหน่า ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้คว้าจับเอ็นกล้ามเนื้อขาหนีบ แล้วดึงแรงๆ เช่นเดียวกับที่ทำกับจุดพิเศษ 2 ผู้ป่วยจะถูกกระตุ้นให้ฟื้นความรู้สึกขึ้นมา ทำทั้งสองข้าง (รูปที่ 7-8-9)

ด้วยวิธีอย่างง่ายๆ เช่นนี้ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสติขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วจัดการรักษาอื่นๆ ที่สอดคล้องกับสาเหตุของอาการลมปัจจุบันต่อไป



ยาไทย

ตํารับยาไทยแต่โบราณหลายสำนัก ล้วนมียาที่รักษาภาวะลมปัจจุบันได้ ทำสำคัญก็คือ ยาหอม นั่นเอง

ขึ้นชื่อว่ายาหอมไม่ว่าจะเป็นตำรับใด จะเข้าพิมเสนซึ่งมีกลิ่นหอม ฤทธิ์เย็น จะช่วยชูกลิ่น ยาหอมยังเข้าเกสรดอกไม้หลายชนิด

ที่สำคัญมีเกสรทั้งห้า ได้แก่ พิกุล บุนนาก สารภี บัวหลวง มะลิ ล้วนแต่มีฤทธิ์ชุบหัวใจ บำรุงจิตใจ หลายคนเวลาเดินทางไปไหนมาไหนมักจะพกยาหอมติดตัว ซึ่งมีประโยชน์มากเวลาเกิดลมปัจจุบันขึ้นมา

วิธีใช้คือ เอายาหอมครึ่งหลอด เทใส่ฝ่ามือ แล้วใส่ลงในปากผู้ป่วย ปล่อยให้อมไว้อย่างนั้น ไม่ต้องกังวลกับการกรอกน้ำ หรือเคี่ยวเข็ญให้ผู้ป่วยกลืนยาแต่อย่างใด

ยาหอมจะออกฤทธิ์ตั้งแต่ในปาก จมูก ช่วยฟื้นสติผู้ป่วยได้



เวชกรรมความคล้าย

โฮมีโอพาธีย์ หรือเวชกรรมความคล้ายมีสารบำบัดตัวสำคัญ ที่ใช้กับภาวะลมปัจจุบัน นั่นคือ อะโกไนต์ (aconite) ใช้ดีมากกับภาวะช็อกข่าวร้าย ตื่นตกใจเกิดขนาด กลัวเจ็บ กลัวป่วย กลัวตาย ลนลานทำอะไรไม่ถูก หน้าซีด หมดสติ แม้แต่อาการเจ็บเค้นอกอันสืบเนื่องจากหัวใจขาดเลือด ก็อาจใช้อะโกไนต์ได้

ให้ใช้ 1 เม็ดในศักยภาพ 6C หรือ 30C ใส่ปากผู้ป่วยเลย ปล่อยให้มันละลายเองในปาก คลื่นพลังของสมุนไพรตัวนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสติ กลับเป็นปกติทันที

ข้อสังเกต สารบำบัดเวชกรรมความคล้ายจะถูกสะเทินฤทธิ์โดยสารประเภทพิมเสน การบูร เมนทอล ดังนั้น ถ้าใช้สารบำบัดแนวนี้ ก็ไม่ควรใช้ยาหอม ยาดม ยาหม่อง เพราะมันจะหักกลบลบฤทธิ์กัน ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

ขอคนไทยเราช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผ่านพ้นวิกฤตภัยธรรมชาติครั้งนี้โดยไว



++

รวมพลังทำยาน้ำกัดเท้า
คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล คอลัมน์ สมุนไพร
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 93


นับเดือนและยังต่ออีกเป็นเดือนที่มวลน้ำก้อนโตยังอยู่ในเขตภาคกลางผ่านกรุงเทพฯ ไปถึงอ่าวไทย และน้ำทางอีสานก็กำลังท่วมล้นในหลายจังหวัด พี่น้องชาวใต้ก็กำลังเตรียมรับมือกับฤดูมรสุมของภาคใต้ ที่เห็นบทเรียนภาคกลางแล้วจึงคาดว่าปีนี้ฟ้าฝนไม่เบาแน่

มีเพื่อนพ้องหลายคนถามมาว่าทางมูลนิธิสุขภาพไทย จะช่วยทำยาน้ำกัดเท้าไปช่วยพี่น้องได้ไหม พอมีแต่ต้องช่วยกันทำแบบภูมิปัญญาใช้สมุนไพร ซึ่งต้องเตรียมการต่างจากระบบยาแผนปัจจุบัน ที่เห็นในสื่อโทรทัศน์น้องๆ นักศึกษาเภสัชศาสตร์ช่วยกันผลิต แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะจำนวนคนทุกข์มากจริงๆ

มาช่วยกันอีกแรงดีไหม บ้านใครยังแห้งมีวัตถุดิบมีจิตอาสา ร่วมแรงกัน


สูตรแรกง่ายสุดๆ เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ใช้สารส้มสะตุ ดินสอพองสะตุ วิธีทำสะตุ คือ นำสารส้มมาบดเป็นผงละเอียดเสียก่อน จากนั้นใส่ในหม้อดิน นำไปตั้งไฟ สารส้มจะฟูขึ้น ปล่อยไว้จนฟูขาวสะอาดดี จึงนำลงจากเตาไฟ สารส้มที่ผ่านไฟแบบนี้เรียกว่าสารส้มสะตุ สรรพคุณตามตำรายาไทยกล่าวว่า สารส้มช่วยสมานทั้งภายในภายนอก เฉพาะยาภายนอกช่วยแก้อาการคัน สมานแผล ห้ามเลือด ซึ่งเป็นอาการของน้ำกัดเท้า

สำหรับดินสอพองสะตุ ให้นำดินสอพองใส่กะทะ ตั้งไฟให้ร้อน คั่วดินสอพองให้สุกหรือผ่านความร้อนเพื่อทำให้สะอาดเช่นกัน

ดินสอพองมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อโรคอ่อนๆ และเป็นเหมือนแป้ง เมื่อทาผิวจะลดความชื้น แก้อาการคัน และไม่ให้เชื้อราลุกลามได้ง่ายนั่นเอง

สูตรที่ว่าให้ใช้สารส้มสะตุและดินสอพองสะตุ อย่างละเท่าๆ กัน นำผสมกันใช้ทาที่แผล (หยดน้ำสะอาดเล็กน้อยเพื่อให้ผงยาเป็นยาเหลวทาง่ายขึ้น) ใช้วันละ 3-4 ครั้ง

เวลานี้ที่ไหนๆ ก็เปียกไปหมด หรือยาดินสอพองหายากก็ไม่ต้องใช้ก็ได้ ให้ใช้เฉพาะผงสารส้มสะตุละลายน้ำทาก็ได้ ดังนั้นถ้าใครบริจาคก้อนสารส้ม มีอาสาสมัครมานั่งตำให้เป็นผง ตั้งเตาไฟใส่หม้อดินตามวีธีข้างต้น ปล่อยให้แห้งหาขวดใบเล็กๆ กรอกไว้แจกจ่าย ถ้าให้ดีอาสาสมัครช่วยกันทำฉลากวิธีใช้ติดข้างขวด คราวนี้เพื่อผู้ประสบภัยจะได้ใช้ถูกต้อง

ยังมีวิธีที่พื้นที่ไหนยังหาสารส้มได้ แล้วทำแบบสดๆ ใช้ทันทีก็ได้ คือเอาก้อนสารส้มก้อนเล็กๆ ใส่ในช้อน แล้วเอาช้อนไปลนไฟเทียนไข สารส้มจะค่อยๆ ละลายเป็นน้ำ ใช้ก้านไม้พันสำลีจุ่มลงไปในน้ำสารส้ม แล้วเอามาทาที่น้ำกัดเท้า ทาบางๆ วันละ 3-4 ครั้ง ก็ช่วยบรรเทาอาการได้ดี


สูตรที่สองขอแนะนำสมุนไพรที่น่าจะหาได้ง่าย คือ ขมิ้นชัน ซึ่งเป็นสมุนไพรยอดฮิตและสารพัดประโยชน์ ใช้กินแก้อาการท้องอืดเฟ้อ อาการโรคกระเพาะ กินเป็นยาบำรุง ใช้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวอย่างดี และใช้เป็นยาทาภายนอกแก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน ขมิ้นชันมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด และเป็นสมุนไพรหาง่ายจึงควรนำมาใช้ในยามวิกฤติ

วิธีเตรียมเพื่อนำไปช่วยเหลือคนจำนวนมาก ให้นำขมิ้นชันมาล้าง ฝานเป็นแผ่นบางๆ ไปตากแดดสัก 1-2 วันให้แห้ง นำไปบดผง หากมีคนบริจาคผงขมิ้นชันมาก็จะประหยัดเวลา ขั้นต่อไปให้หาน้ำมันงาหรือน้ำมันมะพร้าว อัตราส่วนโดยประมาณ น้ำมัน 4 ถ้วย (250 ม.ล.) หรือ 1 ลิตร ต่อผงขมิ้น 100 กรัม ให้เคี่ยวไฟปานกลางสัก 20 นาที เมื่อเย็นให้ใส่ขวดปิดฝา

ข้อแนะนำในยามนี้ขอให้เลือกขวดพลาสติกใบเล็กๆ ในการแบ่งบรรจุ เพื่อสะดวกในการขนส่งและนำไปใช้

หากเกิดความยุ่งยากในการบดผงขมิ้นชัน ให้ลองใช้ขมิ้นสด เมื่อฝานเป็นแผ่นๆ แล้ว นำไปทอดหรือเคี่ยวกับน้ำมันเลย โดยใช้อัตราส่วน ขมิ้นสด (ฝานแล้ว) 2 ถ้วย ทอดในน้ำมัน 1 ลิตร

หรือในบางพื้นที่ที่น้ำเริ่มลด ก็ใช้ขมิ้นสดล้างน้ำสะอาด นำมาตำคั้นเอาน้ำขมิ้นสดทาที่แผลได้ทันที


วิธีสุดท้ายที่ทำกันได้ง่ายๆ คือใช้สมุนไพรใบพลู ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย ที่เรียกว่า Betel oil น้ำมันพลูนี้ มีสรรพคุณตรงกับที่ภูมิปัญญาโบราณ คือ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราได้หลายชนิด ที่ช่วยแก้อาการคัน แก้กลาก เกลื้อน และโรคน้ำกัดเท้าที่มาจากเชื้อรา ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมผลิตเป็น เจลพลู หรือเรียกโก้ๆ ว่าพลูจีนอล สรรพคุณไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันเลย

ใบพลูยังดีกว่ายาต้านเชื้อราเฉยๆ เพราะใบพลูมีสรรพคุณลดอาการคันด้วย เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยจากพลูมีฤทธิ์คล้ายยาชาเฉพาะที่ (ฤทธิ์อ่อนๆ) จึงช่วยแก้อาการคัน

แต่เวลานี้องค์การเภสัชกรรมคงผลิตเจลใบพลูกันเต็มกำลัง ถ้าได้แรงเสริมจากอาสาสมัครนอกแนวน้ำท่วมช่วยกันน่าจะเป็นประโยชน์มาก

นำใบพลูมาล้างให้สะอาด หั่นซอยเป็นชิ้นเล็กก่อนแล้วใส่ครกตำให้ละเอียด จากนั้นหาภาชนะหรือโหลแก้วมาใส่ แล้วเทเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ให้ท่วมยา ปิดฝาแช่ทิ้งไว้ 1 คืน (อย่างน้อย 12 ชั่วโมง)

กรอกเอาแต่น้ำยาบรรจุขวดเล็กๆ เวลาใช้ให้เอาสำลีชุบน้ำยาใบพลูทาที่แผล วันละ 3-4 ครั้ง


ข้อแนะนำ เมื่อเดินลุยน้ำมาควรล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดเท้าให้แห้ง สำหรับวิธีทำที่แนะนำไว้ ควรคำนึงถึงความสะอาดด้วย เพราะทำจำนวนมากและมีการบรรจุขวดเล็กขวดน้อย เพื่อให้จิตอาสาที่ช่วยปรุงยาน้ำกัดเท้าจะได้บรรลุผลสำเร็จด้วยดี



.