.
พลิกฟื้นประเทศไทย !
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 40
"ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นปัญหาระดับโลกทั้งในทางธรณีวิทยาและในทางความรู้สึกของมนุษย์...
ปัญหาระดับโลกต้องการแนวทางการแก้ไขระดับโลก
ฉะนั้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติจึงเป็นปัญหาระดับโลกถึงสองเท่าในตัวเอง "
Peter Hough
Understanding Global Security (2008)
การเกิดขึ้นของ "อภิมหาอุทกภัย" สำหรับประเทศไทยในปี 2554 ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งแก่ชีวิตของบุคคล ชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก
ความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะประเมินออกมาเป็นตัวเลขอย่างหยาบๆ ได้ก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลที่เกิดขึ้นนั้นประเมินค่ามิได้
เพราะในหลายๆ ส่วนเป็นผลที่เกิดขึ้นในจิตใจของประชาชนจนยากที่จะคิดตีออกมาเป็นตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์
ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องตระหนักอย่างมากว่า สิ่งที่จะต้องเผชิญหลังจากกระแสน้ำหลากผ่านไปแล้วก็คือ การฟื้นฟูประเทศไทยครั้งใหญ่
และหากรัฐบาลสามารถพลิกฟื้นสถานะของประเทศได้จริงแล้ว ก็จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับอนาคตของรัฐบาล เพราะความสำเร็จของการฟื้นฟูประเทศนั้น คือหลักประกันสำคัญที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในหมู่ประชาชน และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดทอนเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการน้ำท่วมที่อ่อนแอในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วม
แต่หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการฟื้นฟูประเทศแล้ว ความอ่อนแอในการบริหารจัดการน้ำท่วมก็จะกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ติดอยู่กับรัฐบาลนี้ และอาจจะกลายเป็นปัจจัยลบต่อการเลือกตั้งในอนาคตอย่างแน่นอน แม้ในความเป็นจริงทุกฝ่ายยอมรับว่า วิกฤตน้ำครั้งนี้เป็น "น้ำมวลใหญ่" อย่างที่สังคมไทยไม่เคยเผชิญมาก่อนก็ตามที
แต่ก็มิได้หมายความว่า ประเด็นนี้จะสามารถใช้เป็น "ข้อแก้ตัว" ในทางการเมืองได้เสมอไป
ดังนั้น ถ้าพิจารณาถึงปัญหาการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตน้ำ ก็น่าจะมีภารกิจหลักที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
1) การแก้ไขความขาดแคลนด้านอาหาร ปัญหาสถานการณ์ "ความมั่นคงด้านอาหาร" (Food Security) จะเป็นประเด็นสำคัญหลังจากวิกฤตการณ์น้ำท่วม เพราะพื้นที่ที่เป็นแหล่งเกษตรในภาคกลางเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตด้านอาหาร โดยเฉพาะกับกรณีของผลผลิตข้าวในปี 2555
ในอีกด้านหนึ่งผลของน้ำท่วมทำให้เกิดความขาดแคลนอาหารในภาวะเฉพาะหน้า ดังนั้น รัฐบาลอาจจะต้องเตรียมการในการจัด "คลังอาหารสำรอง" ในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ พร้อมกับการเตรียมการในเรื่องของ "ระบบแจกจ่ายอาหาร" ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความขาดแคลนอาหารจะเป็นปัจจัยโดยตรงต่อความอยู่รอดของรัฐบาล รัฐบาลจะต้องตระหนักไว้เสมอว่า "ความหิว" เป็นปัจจัยสำคัญในการโค่นรัฐบาลมาแล้วในหลายประเทศ
ในกรณีเช่นนี้รัฐบาลอาจจะต้องร่วมมือกับกลุ่มเอกชนที่เป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อช่วยแก้ไขความขาดแคลนที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะถ้ารัฐบาลสามารถทำให้ประชาชน "ท้องอิ่ม" ได้แล้ว โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่รอดก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย
2) เร่งผลิตน้ำสะอาด ผลจากอุทกภัยครั้งนี้ยังทำให้เกิดความขาดแคลนน้ำสะอาดอย่างมาก โดยเฉพาะการผลิตน้ำประปาในหลายๆ พื้นที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากสภาวะน้ำท่วม ดังนั้น การเร่งผลิตน้ำสะอาดจะช่วยลดความขาดแคลนน้ำดื่ม และขณะเดียวกันก็ช่วยต่อการลดเงื่อนไขของการระบาดของโรคต่างๆ
การขยายขีดความสามารถในการผลิตน้ำดื่มนี้ อาจจะพึ่งพาต่อเครือข่ายของเอกชนผู้ผลิตน้ำดื่มที่มีสถานประกอบการในจังหวัดต่างๆ ได้โดยตรง และในขณะเดียวกันก็ให้บริษัทเหล่านี้ป้อนผลผลิตไปยังจังหวัดขาดแคลน
ในกรณีนี้รัฐบาลสามารถตรวจสอบกำลังการผลิตน้ำของเอกชนได้ในทุกจังหวัด อันจะช่วยให้รัฐบาลประเมินขีดความสามารถของการผลิตน้ำจากผู้ผลิตในประเทศได้ และอาจจะไม่ต้องนำเข้าเป็นจำนวนมากจากต่างประเทศ
3) การควบคุมโรคต่างๆ หลังจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ น่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และในบางกรณีอาจจะเป็นโรคติดต่อได้ ดังนั้น การเร่งผลิตน้ำสะอาดจะเป็นหนทางหนึ่งในการลดการขยายตัวของเชื้อโรค
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะต้องตระเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับประชาชนเป็นจำนวนมาก บางส่วนอาจจะเป็นโรคพื้นฐาน เช่น โรคตาแดง โรคน้ำกัดเท้า หรือบางส่วนอาจจะพบกับโรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น
ดังนั้น ปัญหา "ความมั่นคงด้านสาธารณสุข" (Health Security) จะเป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไข อย่างน้อยก็เพื่อเป็นหลักประกันที่จะไม่นำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโรคในวงกว้าง
4) การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ผลจากน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดครั้งนี้ได้ทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือนของประชาชนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลควรจะต้องเข้ามาช่วยเหลือในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งในกรณีนี้อาจจะมีความหมายหยาบๆ ใน 3 ส่วนคือ ตัวบ้าน ระบบไฟฟ้า และระบบประปาของบ้าน
ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือทำอย่างไรที่รัฐบาลจะช่วยในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ราคาถูกช่วยเหลือประชาชน และปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ จำนวนช่างฝีมือในการซ่อมแซมนี้จะมีมากน้อยเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ เพราะการซ่อมแซมเช่นนี้ในบางส่วนต้องการแรงงานฝีมือด้วย
5) การซ่อมแซมยานพาหนะ นอกจากน้ำท่วมจะทำความเสียหายให้บ้านเรือนเป็นจำนวนมากแล้ว รถยนต์ก็อาจจะเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เพราะมีรถยนต์เป็นจำนวนมากจอด "จมน้ำ" อยู่ รัฐบาลอาจจะต้องร่วมมือกับบริษัทรถยนต์จัดตั้ง "ศูนย์ซ่อม" ขึ้นในหลายๆ พื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน
จะคิดเอาง่ายๆ ว่า ซ่อมบ้าน-ซ่อมรถเป็น "ธุระส่วนตัว" ของประชาชนที่จะต้องหาทางรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ เพราะมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง
6) การซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน การเร่งซ่อมแซมถนนและระบบคมนาคมขนส่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ชีวิตทางสังคมกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพราะหากระบบถนนกลับคืนสู่ปกติได้ ก็จะทำให้การลำเลียงสิ่งของต่างๆ เพื่อแก้ไขความขาดแคลนในหลายๆ พื้นที่เป็นไปได้โดยเร็ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การฟื้นระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ได้จะเป็น "ตัวช่วย" ที่สำคัญในการฟื้นฟูประเทศ
7) การฟื้นฟูชุมชน การฟื้นฟูชีวิตในชุมชน นอกจากจะเป็นเรื่องของการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลแล้ว มีประเด็นที่น่าพิจารณาเพิ่มเติมก็คือ การฟื้นฟูสถานที่สำคัญในชุมชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล วัด (หลังจากการฟื้นฟูแล้ว อาจจะช่วยเป็นที่พักพิงของผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยบางส่วนได้บ้าง) ตลาด (เป็นจุดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระดับชุมชน)
รัฐบาลจะต้องตระหนักว่าการฟื้นตัวของสถานที่สำคัญในชุมชนจะช่วยสร้างให้ชุมชนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และอาจจะมีส่วนต่อการฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชน เช่น ในกรณีของวัด หรือสถานที่ประกอบศาสนกิจของศาสนาอื่นๆ เป็นต้น
8) การฟื้นฟูเมือง การฟื้นฟูเมืองไม่ใช่จะเป็นแต่เรื่องของการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของเมืองเท่านั้น หากแต่ในเบื้องต้นอาจจะต้องคิดถึงการทำความสะอาดเมืองและพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญก็คือ การจัดการกับขยะและบรรดาของเสียต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และในกรณีของโรงงานอุตสาหกรรมอาจมีสารพิษแฝงตัวอยู่
การจัดการเช่นนี้เป็นประเด็นที่จะต้องคิดถึงในอนาคต และอาจเปรียบเทียบได้กับกรณีการจัดการทำความสะอาดของญี่ปุ่นหลังจากประสบเหตุสึนามิ หรือการทำความสะอาดเมืองนิวออร์ลีนหลังจากประสบเหตุพายุใหญ่ เป็นต้น
ในกรณีเช่นนี้เราอาจจะสร้างเครือข่ายของภาคประชาสังคมร่วมกับภาครัฐในการทำกิจกรรมเช่นนี้ร่วมกัน ตลอดรวมถึงบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะบทบาทของ อบต./อบจ. ในหลายท้องที่มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
9) การฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรและผู้เลี้ยงสัตว์ หลังจากน้ำลดแล้ว รัฐบาลอาจจะต้องช่วยเหลือในการจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชแก่เกษตรกร หรืออาจจะต้องช่วยในการจัดหาพันธุ์สัตว์ช่วยเหลือผู้เลี้ยงสัตว์บ้างในบางกรณี เพราะพวกเขาอาจจะไม่มีรายได้เพียงพอในการซื้อหาสิ่งเหล่านี้
10) การรักษาความสงบเรียบร้อย หลังจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ผ่านพ้นไปแล้ว อาจจะเกิดความยากจนขยายตัวเป็นวงกว้าง อันอาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตำรวจอาจจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน อันจะเกิดปัญหาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล้นจี้ ดักชิงวิ่งราว และอาจไปจนถึงการปล้นใหญ่ เป็นต้น
ดังนั้น การจัดสายตรวจออกลาดตระเวนในการป้องกันอาชญากรรมจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนให้เกิดขึ้น และทั้งจะเป็นคำยืนยันอย่างดีว่า รัฐบาลสามารถให้ความมั่นใจในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้จริง
11) เร่งเยียวยาผู้เสียหาย รัฐบาลคงจะต้องพิจารณาในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติในครั้งนี้ให้ได้อย่างเป็นธรรมมากที่สุด เพราะปัญหาเกิดขึ้นแก่ประชาชนเป็นจำนวนมากและเป็นปัญหาวงกว้าง ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังอาจจะต้องเร่งพิจารณาประเด็นนี้ เพราะเงินความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะมีส่วนต่อการฟื้นฟูชีวิตของประชาชนในเบื้องต้น
และประเด็นสำคัญก็คือ จะต้องขจัดปัญหาการคอร์รัปชั่นในกรณีนี้ให้ได้ เพราะเป็นเงินที่ให้เป็นการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย มิฉะนั้นจะกลายเป็นมลทินทั้งแก่รัฐบาลและแก่ผู้เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องตระหนักว่า ความขาดแคลนและความยากลำบากจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ดังนั้น การจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนเพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน
12) เร่งฟื้นฟูจิตใจประชาชน การฟื้นฟูสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ การฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชน ต้องยอมรับความจริงว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ได้สร้าง "ความเครียด" และความ "หวาดกลัว" ให้เกิดแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ดังจะเห็นได้ว่าหลายๆ ครอบครัวอยู่ในสภาพ "หมดตัว" จากปัญหาน้ำท่วม
ดังนั้น การฟื้นฟูจิตใจของประชาชนจึงเป็นประเด็นที่นักสุขภาพจิตและนักจิตวิทยาจะต้องเร่งหาคำตอบ และรัฐบาลก็จะต้องรีบเร่งสนับสนุน อย่างน้อยจะต้องทำให้สภาพที่แม้จะ "หมดตัว" แต่ก็ไม่ "หมดใจ" เกิดขึ้นได้จริง หรืออย่างน้อยก็จะต้องหาวิธี "สร้างกำลังใจรวมหมู่" ให้เกิดขึ้นในจิตใจของประชาชนผู้เสียหายทั้งหลาย
สู่อนาคต
ภารกิจ 12 ประการในข้างต้นเป็นการทดลองนำเสนอถึงสิ่งที่เป็นความเร่งด่วนสำหรับรัฐบาล เพราะหากรัฐบาลสามารถทำภารกิจทั้งหลายนี้ได้สำเร็จ ก็จะเป็นปัจจัยโดยตรงในการลบล้างข้อกล่าวหา นายกฯ "มือใหม่" หรือรัฐบาล "อ่อนหัด" กับการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นได้ และจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
แต่ถ้าในวิกฤตน้ำท่วม ก็จัดการอ่อนแอ หลังวิกฤตน้ำท่วมก็ยังอ่อนแออีก อนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะถูกท้าทายอย่างยิ่ง!
++
รำพึงรำพันในสายน้ำ!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1630 หน้า 38
"ภัยพิบัติทางธรรมชาติถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม-การเมือง
เนื่องจากมันเป็นผลของความรู้สึกเปราะบางและอ่อนแอของมนุษย์ต่อภยันตรายทางธรรมชาติ
ยิ่งเสียกว่าตัวภยันตรายนั้นเอง "
Peter Hough
Understanding Global Security (2008)
ผมก็เหมือนกับคนกรุงเทพฯ อีกหลายๆ คน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ดังนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยปิดเทอม ผมก็มักจะเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเช่นทุกๆ ปี
แต่ปีนี้สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม แตกต่างจากปีก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นวงกว้างอย่างไม่เคยเห็นกันมาก่อน
บ้านผมที่จังหวัดพิษณุโลกถือได้ว่าเป็นจังหวัดแนวหน้าของเหตุน้ำท่วม เพราะอย่างน้อยน้ำเริ่มส่งสัญญาณอันตรายตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันตกของฝั่งแม่น้ำน่าน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือพื้นที่ฝั่งแม่น้ำยมนั่นเอง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวมาโดยตลอดในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาถึงปัญหาน้ำท่วมใหญ่
การเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลกในช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นอะไรที่ต้องการการเตรียมตัว เพราะเส้นทางคมนาคมทางบกถูกตัดขาดเป็นส่วนๆ จากเดิมการเดินทางด้วยรถทัวร์หรือรถโดยสารปรับอากาศจากกรุงเทพฯ ไปพิษณุโลกนั้น จะใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง แต่การเดินทางในช่วงนั้นอาจจะใช้เวลาถึง 10 ชั่วโมงก็ได้ เพราะเส้นทางสายเอเชียที่จังหวัดอยุธยาขาด และเส้นทางจากจังหวัดนครสวรรค์ไปจังหวัดพิจิตรและจังหวัดพิษณุโลกก็ขาดอีกเช่นกัน ยกเว้นแต่จะหาทางอ้อมออกไปทางจังหวัดสระบุรี
ดังนั้น การเดินทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ การโดยสารเครื่องบิน ซึ่งก็มีแต่เพียงสายการบิน "นกแอร์" สายเดียวเท่านั้น
เมื่อเครื่องเดินทางออกจากดอนเมือง มองจากหน้าต่างเครื่องบินแล้วไม่เหมือนกับการบินขึ้นไปสู่ภาคเหนือของประเทศเอาเลย เพราะเมื่อมองลงไป แทนที่จะเห็นส่วนที่เป็นแผ่นดิน กลับเหมือนกับเครื่องบินโดยสารของเราบินไปภาคใต้และกำลังบินผ่านอ่าวไทย เพราะมองเห็นแต่ผืนน้ำขนาดใหญ่ จนเสมือนหนึ่งว่าเราบินอยู่เหนือทะเล
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เราบินอยู่เหนือจังหวัดอยุธยา สิงห์บุรี ลพบุรี และอ่างทอง ไม่ใช่บินอยู่เหนือทะเลแต่อย่างใด
เมื่อเครื่องบินผ่านเข้าจังหวัดพิจิตร และเริ่มมีประกาศเตือนถึงการเตรียมตัวลงสู่จังหวัดพิษณุโลก มองออกไปนอกหน้าต่าง ก็เห็นแต่ผืนน้ำ จนดูราวกับส่วนของพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลกที่น้ำไม่ท่วมเป็นเกาะอยู่ท่ามกลางน้ำผืนใหญ่ล้อมรอบตัว
ผืนน้ำขนาดใหญ่ที่ผมมองเห็นจากทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร จนถึงพิษณุโลกนั้น คือที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนเป็นจำนวนมาก และขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งเพาะปลูกขนาดใหญ่
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารในปีหน้าจะเป็นเช่นไร
แน่นอนว่าน้ำใหญ่ผืนนี้เป็นทั้งวิกฤตของสังคมไทยที่ผู้คนหลากหลายอาชีพ หลากหลายฐานะ ล้วนแต่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่แตกต่างกัน และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า น้ำผืนนี้ได้กลายเป็นวิกฤตของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
คำถามทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้จึงมีแค่เพียงประการเดียวว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะจมหายไปกับสายน้ำหลากครั้งนี้หรือไม่
หรือล้อกันเล่นๆ ว่า น้ำหลากคราวนี้จะทำให้ "ปูจมน้ำ" หรือไม่
ในระหว่างที่ผมเที่ยวเล่นอยู่ในพิษณุโลกในช่วงกลางเดือนตุลาคม ระดับน้ำในแม่น้ำน่านหน้าวัดใหญ่ (วัดพระพุทธชินราช) เริ่มลดระดับลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็เป็นคำตอบที่น่ากลัวสำหรับพื้นที่ที่อยู่ถัดจากจังหวัดพิษณุโลกลงไป เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณว่า น้ำหลากของแม่น้ำน่านเริ่มไหลลงใต้แล้ว และจุดรับน้ำใหญ่ก็คือจังหวัดนครสวรรค์
ดังนั้น เมื่อฝนในภาคเหนือเริ่มหยุดลง พร้อมๆ กับการลดลงของระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก ภยันตรายใหญ่จึงเกิดแก่จังหวัดนครสวรรค์ดังที่เรารับทราบกันจากภาพข่าว และขณะเดียวกันเมื่อฝนเริ่มทิ้งช่วง อากาศก็เริ่มเย็นลง ผมรู้สึกได้ทันทีว่าอากาศช่วงค่ำนั้น มีกลิ่นไอของความเย็นเข้ามาจริงๆ แล้ว...
อากาศเย็นกำลังมาเยือนหลังจากน้ำลด หรือที่พยากรณ์ชาวบ้านชอบพูดเสมอก็คือ "ปีไหนน้ำมาก ปีนั้นหนาว"
สัญญาณเช่นนี้บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญว่า ในขณะที่น้ำยังท่วมภาคกลาง และจ่อรอที่จะบุกเข้ากรุงเทพฯ (ในขณะนั้น) อากาศในภาคเหนือกลับเริ่มเย็นลง ฤดูน้ำหลากกำลังผ่านพ้นไปแล้ว สายฝนที่เคยโปรยปรายลงมาเริ่มห่างหายไป
ขณะที่ผมนั่งรับลมเย็นอยู่ที่บ้านจังหวัดพิษณุโลก ก็อดคิดแบบวิชาทหารไม่ได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังเผชิญกับแนวรบ 4 แบบ คือ แนวรบในภาคเหนือที่อากาศเย็นกำลังมาเยือนหลังน้ำท่วม แนวรบในภาคกลางที่ยังต้องทำสงครามกับน้ำท่วม แนวรบในกรุงเทพฯ ที่ต่อสู้เพื่อป้องกันน้ำท่วม และแนวรบในภาคใต้ที่กำลังเผชิญกับมรสุมและน้ำท่วม ปัญหาคือแนวรบนี้ท้าทายรัฐบาลอย่างยิ่ง
อยู่บ้านได้ไม่นานนักก็ต้องกลับกรุงเทพฯ...
ผมเดินทางกลับด้วยเครื่องบินเช่นในช่วงขาไป ภาพผืนน้ำใหญ่ยังคงเห็นไม่แตกต่างจากตอนขามา แต่เมื่อเครื่องบินเข้าใกล้สนามบินดอนเมือง ก็มีความรู้สึกคล้ายกับตอนที่เครื่องกำลังจะร่อนลงที่จังหวัดพิษณุโลก กรุงเทพฯ เป็นเหมือนเกาะใหญ่อยู่กลางน้ำ มองลงไปเห็นผืนน้ำของจังหวัดอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรีล้อมรอบ
เห็นแล้วก็อดใจหายไม่ได้...
วัดที่ผมไปทำบุญประจำที่จังหวัดอยุธยา บ้านเพื่อนพ้องน้องพี่ที่จังหวัดปทุมธานี และบางส่วนที่อยู่ในจังหวัดนนทบุรี ล้วนแต่มีอาการเดียวกันก็คือ ถูกถาโถมด้วยมวลน้ำขนาดใหญ่
ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ในสถานการณ์ "มหาอุทกภัย" ครั้งนี้ก็คือ การโทรศัพท์หากันว่ายังปลอดภัยกันอยู่หรือไม่ อพยพไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง มีอะไรขาดแคลนที่พอจะช่วยเหลือกันได้บ้าง
และสำคัญที่สุดก็คือ ต่างเป็นกำลังใจให้แก่กันและกัน เพราะข่าวที่ได้รับในแต่ละวัน ดูจะไม่ใช่ข่าวดีอะไรนัก โทรศัพท์จากพรรคพวกเพื่อนฝูง ล้วนแต่มีข้อความคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเอ่อหน้าหมู่บ้าน... น้ำทะลักเข้ามาในหมู่บ้าน...
และลงท้ายด้วย น้ำท่วมหมู่บ้านแล้ว!
แน่นอนสิ่งเหล่านี้กลายเป็น "เหยื่ออันโอชะ" ทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับกลุ่มบุคคลที่ไม่ชอบรัฐบาลแล้ว ความอ่อนแอในการบริหารจัดการของรัฐบาลกลายเป็นคำยืนยันที่ทำให้พวกเขาไม่ชอบรัฐบาลนี้มากขึ้นไปอีก
แต่สำหรับกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลก็อดใจ "ตุ๊มๆ ต่อมๆ" กับอนาคตของรัฐบาลไม่ได้ เพราะวิกฤตน้ำคราวนี้มีเดิมพันสูงถึงอนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ดูจะไม่มีใครคาดเดาได้ว่าในที่สุดแล้ว จะเกิดผลอะไรขึ้นกับรัฐบาลนี้
ในอีกด้านหนึ่งก็มีวาทกรรมที่กำลังถูกสร้างแข่งกับข้อเสนอเรื่อง "นารีขี่ม้าขาว" ช่วยน้ำท่วมก็คือ การอาศัยความเชื่อแบบเก่าที่บอกว่า บ้านเมืองต้องถูกปกครองโดยบุรุษเท่านั้น (หรือรัฐบุรุษก็ตาม) ซึ่งก็ล้วนแต่พยายามนำเสนอว่า ผู้หญิงปกครองบ้านเมืองไม่ได้ เพราะจะเป็นอาเพศ และผูกโยงต่อให้น่าเชื่อถือว่า น้ำท่วมบ้านเมืองคราวนี้ก็เป็นเพราะมีผู้หญิงเป็นผู้ปกครองประเทศ... อะไรทำนองนั้น
เอาเข้าจริงๆ แล้ว ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าอะไรจริงระหว่าง "นารีขี่ม้าขาว" กับ "นารีน้ำท่วม" เพราะประเด็นอยู่ที่ขีดความสามารถในการบริหารจัดการกับปัญหาที่ประเทศต้องเผชิญต่างหาก และไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรี หากไร้ซึ่งความสามารถเช่นนี้แล้ว จะอาศัยวาทกรรมหรูๆ บ้าง อาศัยความเชื่อแบบเก่าๆ บ้างมาขับเคลื่อน เอาเข้าจริงๆ ก็ล้วนล้มเหลวไม่แตกต่างกัน และก็ไม่จำเป็นต้องเท้าความหลังไปถึงรัฐบาลที่แล้วให้ต้องโกรธเคืองกันว่า ก็เป็นตัวแบบชนิดหนึ่งของรัฐบาลที่ขาดขีดความสามารถในการบริหารจัดการประเทศ
การขาดขีดความสามารถเช่นนี้ทำให้ประชาชนไม่มีความหวังในอนาคต และก็เป็นเพราะการไม่มีความหวังกับรัฐบาลชุดที่แล้วไม่ใช่หรือที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเกิดขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลนี้ทำให้ประชาชนหมดหวัง ชะตากรรมสุดท้ายก็คงไม่แตกต่างจากรัฐบาลที่แล้ว
ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นทั้งความหดหู่และความน่าตกใจที่เห็นมวลน้ำขนาดใหญ่ค่อยๆ เคลื่อนตัวลงมาจากอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รอที่จะเปิดการเข้าตีกรุงเทพมหานาคร ภาพข่าวทางโทรทัศน์ ทางเครือข่ายสังคม ยิ่งดูก็ยิ่งตกใจกับปรากฏการณ์ของมหาอุทกภัย
เพื่อนและคนที่รู้จักหลายๆ คนในพื้นที่บางบัวทองนั้น ล้วนแต่มีชะตากรรมคล้ายกันคือ น้ำท่วมบ้านชั้นล่าง เป็นแต่ว่าจะมีความสูงของระดับน้ำเท่าใด และขณะเดียวกันก็รอกันว่า น้ำจะเปิดการรุกเข้ากรุงเทพฯ เมื่อใด
ส่วนผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ บนถนนราชพฤกษ์ ซึ่งบางส่วนของถนนนี้จมไปแล้วกับสายน้ำ ถ้าคิดแบบวิชาทหาร แนวป้องกันใหญ่ของถนนราชพฤกษ์ในส่วนที่ผมอยู่ก็คือถนนรัตนาธิเบศร์ ถ้าน้ำจากบางบัวทองตัดสินใจไม่เดินทางไปด้านตะวันตกสู่บางเลน ไทรน้อย ศาลายา และอื่นๆ แล้ว แนวตั้งรับนี้ก็เปราะบางเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้าศึกอีกด้านหนึ่งก็แทรกซึมเข้าสู่ด้านตะวันออกจากถนนบางกรวย-ไทรน้อย
แล้วเสียงพลุในเช้าวันหนึ่งประมาณเวลา 6 โมงก็ปลุกคนในหมู่บ้านเราให้ใจหายใจคว่ำ ยิ่งเมื่อทราบว่าแนวตั้งรับที่ไทรม้าใต้แตกจากการรุกของน้ำ ก็ยิ่งอดหวั่นใจลึกๆ ไม่ได้ และในอีกมุมหนึ่ง เมื่อน้ำจากบางบัวทองไม่ยอมเดินทัพออกไปทางตะวันตก กลับรุกผ่านแนวตั้งรับทางด้านวัดสวนแก้วเข้ามา พื้นที่ราชพฤกษ์แถบที่เราอาศัยอยู่ก็ยิ่งเปราะบางมากขึ้น
พวกเราที่พยายามอยู่กันในหมู่บ้านล้วนแต่อยู่ด้วยค่ำคืนที่หวาดผวา เพราะไม่แน่ใจว่าตื่นเช้าขึ้นวันใดแล้วจะพบว่าบ้านของตัวเองอยู่ท่ามกลางทะเลสาบใหญ่ เรื่องราวเช่นนี้กลายเป็นชะตากรรมร่วมกันของคนชานเมืองกรุงเทพฯ
พวกเราที่เป็นประชาชนไม่รู้ลึกๆ หรอกว่า การเมืองที่ดอนเมืองเป็นอย่างไร... ไม่ว่าจะเป็นการเมืองภายในพรรครัฐบาล ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่งระหว่างรัฐบาลกับ กทม. ที่อำนาจในการปิด-เปิดประตูน้ำอยู่ที่ใคร ทำไมอุโมงค์ที่คลองด่านบ้าง อุโมงค์ใหญ่ที่ กทม. ชอบออกข่าวบ้าง จึงแทบไม่มีน้ำไหลผ่าน
ในขณะที่น้ำที่บางบัวทองในบางจุดท่วมมิดหัวคน หรือเจ้าหน้าที่คณะผมบางคนเพิ่งซื้อบ้านชั้นเดียวในแถบรังสิต-ปทุมธานี บ้านของเขาเหล่านั้นจมหายไปกับสายน้ำเหมือนกับของหลายๆ คน... การบริหารจัดการของรัฐบาลกลายเป็นปัญหาใหญ่แล้ว แม้ทุกคนจะยอมรับว่าน้ำครั้งนี้มวลใหญ่เกินคาดก็ตาม
อนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเหลือแต่เพียงประการเดียวก็คือ จะต้องเร่งฟื้นฟูประเทศให้ได้ และขณะเดียวกันก็ต้องเร่งเยียวยาทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจ พร้อมๆ กับเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนให้ได้...
รัฐบาลยิ่งลักษณ์อ่อนแอกับการบริหารจัดการวิกฤตน้ำแล้ว แต่จะอ่อนแออีกครั้งกับการบริหารจัดการหลังวิกฤตน้ำไม่ได้ มิฉะนั้นแล้ว "ปู" จะจมน้ำและถูกกระแสน้ำหลากพัดพาหายไปอย่างช่วยไม่ได้ !
ในที่สุดน้ำก็เริ่มเข้าในหมู่บ้าน ผมและครอบครัวต้องอพยพออก อันเป็นชะตากรรมเดียวกันกับคนชานเมืองหลายๆ ครอบครัว
ผมเคยคิดว่า เราอาจจะเป็น "boat people" หลังจากปี 2520 แต่คนไทยกลับต้องเป็น "boat people" ในปี 2554
ไม่ใช่จากปัญหาคอมมิวนิสต์ แต่จากปัญหาน้ำท่วม!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย