http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-27

เอาเขาพระสุเมรุคืนมา?, +หลงว่าดีไม่มีใครเกิน โดย คำ ผกา

.


เอาเขาพระสุเมรุคืนมา?
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1632 หน้า 89


ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในสังคมหนึ่งๆ จะไม่มีความเห็นพ้องต้องกันในอุดมการณ์ทางการเมือง และมันคงเป็นเรื่องประหลาดมากถึงมากที่สุดหากในสังคมหนึ่งจะเต็มไปด้วยสมานฉันท์ สามัคคี กลมเกลียว เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รักในสิ่งเดียวกัน เกลียดในสิ่งเดียวกัน

จากนั้นเราที่อยู่ในโลกสมัยใหม่ย่อมรู้ดีว่า มีแต่สังคมที่รัฐประสบความสำเร็จในการล้างสมองพลเมืองอย่างหมดจดดังปรากฏในนวนิยาย 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล เท่านั้น ที่จะสร้างสังคมที่พลเมืองเห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่องได้

เพราะฉะนั้น ฉันอยากจะบอกคนที่รังเกียจรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลว่า "พวกคุณไม่ได้มีอะไรผิดปกติ"

ในสังคมที่ศิวิไลซ์ การเป็นฐานเสียงให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง จนกลายเป็นความภักดี และสามารถส่งมอบความภักดีนี้ลงสู่ลูกหลานได้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เช่น ครอบครัวของเราชื่นชมพรรคประชาธิปัตย์ ความชอบนี้ส่งผ่านถึงลูก ถึงหลาน ลามปามไปจนกระทั่งหากจะเลือกคู่ครองก็ต้องดูว่าสนับสนุนพรรคการเมืองเดียวกันหรือไม่ - เป็นถึงเพียงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใด เพราะจุดยืนและการเลือกข้างทางการเมืองย่อมสะท้อน โลกทัศน์ รสนิยม ไลฟ์สไตล์ มูลนิธิการกุศลที่เราจะเลือกให้เงินบริจาค ร้านอาหาร โรงแรมที่จะนอน หมู่บ้านจัดสรรที่จะเลือกอยู่ ยี่ห้อของรองเท้าบู๊ต - ชาแนล หรือ เบอร์เบอรี่? ฯลฯ

มันจะไม่มีอะไรแปลกประหลาดเลย ตราบเท่าที่ความไม่ลงรอย ไม่เห็นพ้องต้องกัน รักไม่ตรงกัน เกลียดในสิ่งที่ต่างกันนั้นดำเนินไปในกติกาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเราวัดกันที่เสียงข้างมาก

ระหว่างรอการเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า ฝ่ายค้านและผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน มีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ ด่าทอ เสียดสี เย้ยหยัน ตรวจสอบ เขียนภาพล้อ แปะรูปฝ่ายตรงข้ามลงบนกระดาษเช็ดก้น หรือแม้กระทั่งประดิษฐ์ hate speech ต่างๆ นานาขึ้นมาเพื่อทำลายความชอบธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง

ทว่า ในเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายยืนอยู่บนกติกาเดียวกัน กฎหมายที่ไม่เลือกปฏิบัติ มิใช่ด้วยการที่อีกฝ่ายหนึ่งได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออีกฝ่ายหนึ่งผูกขาดการโฆษณาชวนเชื่อ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสถูกฟ้องร้อง จับกุม คุมขัง จากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

พูดภาษาชาวบ้าน ถ้าคุณสามารถแปะรูปทักษิณไว้ที่กระดาษเช็ดตูด ฝ่ายที่สนับสนุนทักษิณก็ย่อมมีสิทธิเอาไอดอลของอีกฝ่ายหนึ่งไปแปะไว้ที่กระดาษชำระนั้นด้วยเช่นกัน ภายใต้การคุ้มครองหรือการละเมิดกฎหมายที่อยู่ในระนาบเดียวกัน



ทว่าสิ่งที่ชวนให้มึนอย่างยิ่งสำหรับฉันในช่วง 4- 5 ปีที่ผ่านมา (มึนจนอาทิตย์ที่แล้วไม่อยากเขียนอะไรเลย) คือ การแสดงความเห็นต่างทางการเมือง หรือการโจมตีรัฐบาลนั้นไม่ได้ยืนอยู่ในกรอบของการคิดต่างบนฐานของการยืนยันร่วมกันว่า - ต่อให้เราอยู่กับรัฐบาลที่ห่วยแตกที่สุด แต่เราจะรักษาหลักการของระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ - อันเป็นคุณค่าของสังคม "สมัยใหม่" ทุกสังคมมีร่วมกัน

ถามว่าคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยที่สังคมสมัยใหม่ยึดถือร่วมกัน (หลังจากที่ต้องรบราฆ่าฟัน ทำสงครามกลางเมือง ต่อสู้กับระบบศักดินา หรือการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็น Independent (โมงยามนี้ไม่อยากใช้คำว่า - เอกราช) คือหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, หลักการของหนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง และหนึ่งเสียงนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เลสเบี้ยน มีการศึกษาสูง ต่ำ ไม่มีการศึกษาเลย ไอคิวต่ำหรือสูง อยู่บ้านนอก หรืออยู่ในเมือง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐ คุณต้องมีหนึ่งเสียง อันเป็นความเสมอภาคในระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่เราพึงมีพึงได้

ความเสมอภาคระดับต่ำที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยเรียกร้อง - เราไม่ได้เรียกร้องว่าทุกคนต้องมีเงินในธนาคารเท่ากัน

ไม่ได้เรียกร้องว่าทุกคนต้องได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่มีคุณภาพเท่ากันเป๊ะ

ไม่เรียกร้องว่าทุกคนต้องมีที่ดินเท่ากันทุกตารางนิ้ว ไม่ได้เรียกร้องว่าต้องกินไวน์ กินอาหารจากร้านเดียวกัน อร่อยเท่ากัน ไม่ได้เรียกร้องว่าต้องมีรถยี่ห้อเดียวกันใช้ถ้วนหน้า

ความเสมอภาคระดับต่ำสุดนั้นเริ่มจากเสียงโหวตเพื่อเลือกตัวแทนของตนเองเข้าไปทำงานเป็นฝ่ายบริหาร เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยความหวังว่า บุคคลที่เราเลือกไปเป็นตัวแทนนั้นจะเข้าไปทำงานเพื่อขยับความเสมอภาคระดับต่ำสุดนั้นให้สูงขึ้นตามลำดับ

และพึงเข้าใจว่า ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจนั้นจำต้องมาพร้อมกับความเสมอภาคในฐานะของมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเสมอกันด้วย

ไม่ต้องพูดถึงรูปแบบรัฐสวัสดิการ ไม่ต้องพูดถึงโมเดลของรัฐในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นความใฝ่ฝันของเรา ขอเพียงเริ่มก้าวแรกที่ไม่มีใครบอกว่า คนคนหนึ่งเป็นคน ส่วนอีกคนมีค่าเท่ากับลิงบาบูน ประชาธิปไตยเริ่มจากที่นี่ ไม่มีวันเป็นจากที่อื่น ตำแหน่งอื่น ในหลายๆ สังคมในอดีต อาจผ่านประสบการณ์การต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากเชื่อว่าผู้หญิงมีความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากับผู้ชายทั้งไม่มีความสามารถในการคิดแบบใช้เหตุและผล ฯลฯ

ในวันนี้ สังคมไทยกำลังต่อสู้อย่างหนักเพื่อจะสอนคนที่ได้เรียนหนังสือสูงๆ แต่ขาดซึ่งสำนึกในสิทธิมนุษยชนอันเป็นส่วนหนึ่งของความศิวิไลซ์ (หรือพูดได้ว่า คนไทยที่มีการศึกษาสูงนั้นหวงแหนความป่าเถื่อนไว้อย่างเหนียวแน่น) ว่า สิทธิพื้นฐานของพลเมืองไม่ได้แปรผันตามระดับการศึกษา ระดับการศึกษาไม่ได้บอกวุฒิภาวะทางการเมือง ทั้งไม่บอกคุณภาพของการโหวต

ซึ่งคนอย่าง ซูโม่ตู้ หนูดี หมอนก ดร.เสรี และใครต่อใครอีกหลายคนดาหน้าออกมาพิสูจน์ให้เราเห็นจนตาสว่างแล้วสว่างอีก



ความน่าสนใจของการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นความต่างของผู้นิยมในระบอบการเมืองที่ต่างกันสองระบอบ

นั่นคือ ผู้ที่ต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับผู้ที่ไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตย แต่ยังไม่สามารถหาชื่อเรียกได้อย่างเหมาะสม และไม่อาจหน้าด้าน ดันทุรังใช้คำว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย" เพราะไม่เป็นที่ยอมรับในสากลโลก เว้นแต่จะกลับไปอยู่ในโลกพระอินทร์และมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของอารยประเทศแทนสำนักงานสหประชาชาติเท่านั้นที่ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" จะเป็นที่ยอมรับได้

เสียง "ต่าง" ทางการเมืองที่กระหึ่มอยู่ตอนนี้บอกอุดมการณ์ของพวกเขาชัดเจน เช่น

- "ประเทศนี้มีเจ้าของ" (แน่นอนว่า เจ้าของในที่นี้ไม่ได้หมายถึงประชาชน)

- "ชนะการเลือกตั้งมาเท่าไหร่ไม่สำคัญ" (แล้วอะไรสำคัญ?) "เพราะอำนาจ (จากเสียงส่วนใหญ่)ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ" (ถูกต้อง แต่ถามว่าแล้วอำนาจที่ไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่และไม่เคยต้องรับผิดชอบกับอะไรเลย จะอธิบายมันว่าอย่างไร?)

- สิบห้าล้านเสียงที่ไม่มีคุณภาพ เทียบกับสามแสนเสียงที่มีคุณภาพ เราเลือกสามแสนเสียง (คนพูดมีเทอร์โมมิเตอร์จุ่มวัดคุณภาพคนตั้งแต่เมื่อไหร่ ได้รับสิทธิธรรม ความชอบธรรมในการตัดสินคุณภาพของคนมาจากไหน อีหรอบนี้แถวบ้านเรียกว่า อุปาทาน)


ความอับจนและสิ้นหวังในระบอบประชาธิปไตยที่อิงเสียงข้างมากของชนชั้นกลางที่มีการศึกษาของไทยนั้นเกิดจากการมองไม่เห็นหนทางว่า "ชนชั้น" ของตนจะชนะในการโหวตได้อย่างไร

อาจารย์ทางรัฐศาสตร์ท่านหนึ่ง เคยเอ่ยว่า หากพรรคการเมืองขวัญใจชนชั้นกลาง ไม่สามารถปรับตัว ปรับนโยบายให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนทั้งประเทศได้ มีทางเดียวเท่านั้นที่พวกเขาจะชนะการเลือกตั้งคือ บรรดาชนชั้นกลางถึงชั้นสูงที่มีการศึกษาต้องเร่งผลิตลูกออกมาให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มฐานเสียงให้กับกลุ่มของตน สอดคล้องกับที่ชนชั้นกลางเหล่านี้พร่ำบ่นว่า "อันชนชั้นพวกเรานั้นมีลูกกันน้อยนิด มีกันครอบครัวละคนสองคน ปล่อยให้พวกโง่ พวกจน ผลิตลูกกันออกมาไม่ยั้ง แล้วเมื่อไหร่เราจะเลือกตั้งชนะพวกควายพวกบาบูนเสียที "

แต่ถึงชนชั้นกลางที่มีการศึกษาจะเร่งผลิตลูกสักแค่ไหน ก็ต้องรอกันอย่างน้อยอีก 20 ปีกว่าลูกๆ ของพวกเขาจะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง - ทางลัดของชนชั้นกลางที่มีการศึกษาที่ยังป่าเถื่อนและไม่เข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ จึงมีหนทางเดียว คือ

ทำอย่างไรจะเอาประเทศไทยออกจากการปกครองระบอบประชาธิปไตย



ที่น่าประหลาดใจมากกว่านั้น เมื่อมองไม่เห็นว่าจะผลิตลูกออกมาทันเป็นฐานเสียงให้พรรคการเมืองที่ตนเองสนับสนุน แทนการส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายฐานของชนชั้นกลาง ส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา การบริโภค การเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ต่อต้านการปิดกั้นเสรีภาพในการพูด คิด เขียน ตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน อัพเกรดตนเองให้ป่าเถื่อนน้อยลง มีมนุษยธรรม และมีความเป็นมนุษยนิยมมากขึ้น

ชนชั้นกลางเหล่านี้กลับหวงแหนต้นทุนทางสังคมของชนชั้นตนเอง และดีดดิ้นจะเป็นจะตายหากประชาชนคนอื่นจะเข้ามามีส่วนร่วมในต้นทุนทางสังคมเหล่านี้

ต้นทุนทางสังคมดังกล่าว ได้แก่ การศึกษา การเสพวรรณกรรม งานศิลปะ - เพียงรัฐบาลจะแจกแท็บเล็ตแก่เด็ก ป.1 ทุกคน ชนชั้นกลางที่อ้างตนเป็นเจ้าของต้นทุนทางวัฒนธรรม พาเหรดกันออกมาเต้นผาง เพื่อจะบอกว่า บรรดาพ่อแม่ที่ไร้การศึกษา ไม่มีปัญญาจะดูแลลูกให้ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างสร้างสรรค์

เทคโนโลยีอันสูงส่ง ทันสมัยเหล่านี้รังแต่จะนำพาเด็กกะเรวกะราด มีพันธุกรรมด้อยต้อยต่ำไปสู่ความเสื่อมเสีย เพราะมีแต่พ่อแม่ชนชั้นกลางที่มีการศึกษาเท่านั้นจะรู้ว่าจะสอนลูกให้ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นอย่างไร

ผู้อ้างตนผูกขาดเป็นเจ้าของต้นทุนทางวัฒนธรรมบางคนก็อ้างไปถึงว่า แท็บเล็ตที่ต้องกระแทกกระทั้นนั้นจะทำลายจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของเด็ก ไม่เหมือนการเขียนหนังสือลงสมุดด้วยกระดาษปากกาที่ละเอียดอ่อนมีความเป็นคนมากกว่า

คนผู้นี้ถึงกับประณามการแจกแท็บเล็ตของรัฐบาลว่าเป็นการ "อัปยศ" กันเลยทีเดียว

ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามว่า เราควรกลับไปจารใบลานแทนการใช้แท่นพิมพ์สมัยใหม่ในการผลิตหนังสือหรือไม่?

เพราะการจารอักขระลงใบลานก็ชวนให้คิดได้ว่าเป็นความนุ่มนวล ประณีต งดงาม พริ้งพรายมากกว่าแท่นพิมพ์สมัยใหม่เป็นไหนๆ


ปรากฏการณ์นี้เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน คนชั้นกลางมีการศึกษาของไทยตระหนักว่า ตนเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่มี "สมบัติ" อื่นใดไม่ว่าจะเป็นชาติกำเนิดอันสูงส่งหรือทรัพย์สินเงินทอง เพราะล้วนแต่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ตะเกียกตะกายอยากมีชีวิตที่ใกล้เคียงกับชนชั้นสูง มีทางกายภาพไม่ได้ก็ขอมีทางจินตนาการ (อารมณ์เดียวกับที่หญิงสาวชนชั้นกลางไทยจินตนาการถึงเจ้าชายจิกมี่) จึงไฝ่ฝันอยากเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชนชั้นสูง และพยายามแยกตนเองออกมาจากชนชั้นล่าง

ขณะเดียวกันก็หวาดผวาต่อการเข้ามาแข่งขัน คุกคามของชนชั้นล่างที่กำลังสั่งสมความเข้มแข็งของต้นทุนทางเศรษฐกิจและสร้างสมบัติทางวัฒนธรรมจำเพาะของตนเองขึ้นมาอย่างไม่แยแสต่อวัฒนธรรมที่ชนชั้นกลางครอบครองมาแต่เดิม

แน่นอนว่า ชนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ชอบน้องจ๊ะ คันหู มากกว่าวรรณกรรมจาก สนพ.ผีเสื้อ แน่ๆ

น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางที่เกิดใหม่เหล่านี้คือกลุ่มการเมืองที่เข้มแข็งยากจะโค่นล้ม หากประเทศไทยยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดเอาเสียงข้างมากเป็นหลัก



ชนชั้นกลางมีการศึกษาของไทยมีชีวิตอยู่บนเส้นด้ายเช่นนี้จึงไม่รีรอที่จะหันหลังให้กับอารยธรรม ภาวะสมัยใหม่ และความเป็นประชาธิปไตย มุ่งเดินหน้าต่อสู้เพื่อระบอบการปกครองที่ในโลกนี้มีเพียงตนและชนชั้นสูง ด้วยเชื่อสนิทใจ (ไม่เฉลียวใจว่าโดนกล่อมเกลาทางสังคมให้มีอุดมการณ์เช่นนี้ผ่านการศึกษา ศิลปะ วรรณกรรม ข่าวสารเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ) ว่าตนกับชนชั้นสูงจะร่วมมือกันสร้างสังคมในอุดมคติขึ้นมาได้โดยการสร้าง "ภาพตัวแทน" ของชนชั้นล่าง ที่ชนชั้นกลางให้คุณสมบัติเอาไว้ว่า คือ "คนชนบท ขาดการศึกษา ขาดรสนิยม ไร้เดียงสา ผิวดำหน้ากร้าน เสียงดัง หยาบโลน ซื่อใส ใจดี แต่บางครั้งก็สามารถหยาบเถื่อนได้ เพราะขาดการกล่อมเกลาที่เหมาะสม"

ชนชั้นกลางมีการศึกษาเชื่อว่าเราจะสร้างสังคม และประเทศชาติที่ดีงามได้โดยชนชั้นกลางจะคอยดูแลชนชั้นล่างเองว่า อะไรควรกินไม่ควรกิน อะไรควรดูไม่ควรดู อะไรควรอ่านไม่ควรอ่าน อะไรควรฟังไม่ควรฟัง อะไรควรซื้อไม่ควรซื้อ อะไรควรมี อะไรไม่ควรมี หาใช่ด้วยชนชั้นล่างเหล่านั้นเลือก "ตัวแทน" ของตนขึ้นมาบริหารประเทศ เพราะตัวแทนของชนชั้นล่างมักกระทำความอับอายให้ชนชั้นกลางอยู่เนืองๆ เช่น พูดภาษาอังกฤษไม่ถูกต้อง ไม่ฟังเพลง ไม่อ่านหนังสือ

ฉันมีคำแนะนำให้ชนชั้นกลางเหล่านั้นว่า หากอยากต่อสู้เพื่อจะมีอำนาจเหนือเสียงข้างมากจริงๆ ก็ควรเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามตนเองให้ได้ชัดเจนว่า จะเรียกระบอบการปกครองนั้นว่าอะไร และจะอธิบายต่อชาวโลกถึงโลกทัศน์ทางการเมืองของตนเองอย่างไร?

ทั้งนี้ เพราะศูนย์กลางของโลกใบนี้ไม่ใช่เขาพระสุเมรุอีกต่อไปแล้ว



++

บทความปีที่แล้ว ( 2553 )

หลงว่าดีไม่มีใครเกิน
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1576 หน้า 89


ลูกสาวเพื่อนไปประกวดการแสดงศิลปะไทย เธอไปฟ้อน หรือ รำ อะไรฉันก็จำไม่ได้ แต่จำคอมเมนต์ของกรรมการที่มีให้เธอว่า การแสดงของเธอนั้น "ไม่ authentic พอ" แปลว่า มันดูไทยแต่ไม่แท้ อันชวนให้ฉงนฉงาย การฟ้อนรำหรือแสดงอันใดที่เป็นของไทยแท้ และauthentic

แอบคิดต่อว่า ถ้าน้องเค้าสำแดงความจริงแท้ปราศจากสิ่งปลอมปนด้วยการสาธิต การฆ่าควาย หลั่งเลือดมาเป็นบัดพลีให้ผีปู่แสะย่าแสะ อันเป็นทั้งศิลปะ ทั้งวัฒนธรรม ทั้งพิธีกรรม ทั้งการร่ายรำ ขับขานและอันนี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยังมิได้ปลอมปนศิลปะขอม แขก หรือ จีน

หากกรรมการท่านจะยังบ่นอีกหรือไม่ว่า เอ้อ อันนี้ไม่ authentic เพราะไม่อย่างนั้นจะลองแสดงท่าองค์ลงประทับ หยิบเนื้อควายดิบมาฉีกกินจนเลือดย้อยมุมปาก รับรองว่า authentic จริงแท้แน่นอน

(แต่กรรมการอาจบอกว่า นั่นเป็นวัฒนธรรมอันป่าเถื่อนของชาวล้านนาประเทศมิใช่ไทย ก็เป็นได้)

ถามต่อว่าแล้วอย่างไรที่เรียกว่าไทยแท้อย่างที่กรรมการอยากเห็น พบว่าคุณสมบัติข้อหนึ่งคือ การแต่งชุดไทยนั้นหากไม่แต่งหน้าถือว่าไม่ใช่ชุดไทย

หมายเหตุเพิ่มเติมว่า ลูกสาวเพื่อนอาจจะคิดนอกกรอบไปสักนิดด้วยการบังอาจสำแดงการร่ายรำในชุดไทยโดยมิได้แต่งหน้า

ปั๊ดโธ่! นังหนู ไม่เห็นเหรอว่าตอนประกวดนางสาวไทย นางงามใส่ชุดไทย แล้วต้องต้องแต่งหน้าเข้มเป็นนางละคร เขียวเข้าไว้ แดงเข้าไว้ ไม่อย่างนั้นมันไม่ไทย


ในชีวิตของฉันหากถามว่าสิ่งใดยอกย้อน และอธิบายได้ยากที่สุดก็น่าจะคือความเป็นไทย และการรับรู้เกี่ยวกับความเป็นไทยของคนไทย

ในเวทีหนึ่งเราสามารถพูดเรื่องวัฒนธรรมไทยที่เราเชื่อว่าได้รับอิทธิพล อินเดีย ขอม มอญ ลาว จีน แต่ขณะเดียวกัน เราก็สามารถเชื่อมั่นว่ามันมีความเป็นไทยที่แท้อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง และช่วยไม่ได้ที่เราจะรู้สึกว่า สิ่งที่ตกผลึกหลายเป็นความไทยแท้แสนออเตนติกนั้น มันช่างสูงส่งเลิศเลอ น่าภาคภูมิใจ

และเหตุที่อะไรๆ ของไทยมันก็ดีเลิศประเสริฐศรีกว่าผู้อื่น ก็เนื่องจากคนไทยนั้นมีความสามารถพิเศษในการคัดกรองคัดสรร เลือกรับแต่สิ่งที่ดีๆ มาจากทุกวัฒนธรรม จากนั้นผสมผสานกับคุณสมบัติอันโดดเด่นที่มีอยู่เดิมของไทย (อันไม่ชัดเจนว่าคืออะไร) มันจึงดันให้อะไรก็ตามของไทยมันจี๊ดจ๊าด ดีงามกว่าชนชาติอื่นเสมอ

ขณะเดียวกัน มันก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดมากว่า แม้คนไทยจะมั่นอกมั่นใจในความดีเลิศประเสริฐศรีของตนเอง คนไทยนี่แหละกลับเป็นคนที่เปราะบางที่สุดเมื่อโดนวิพากษ์วิจารณ์ หรือโดนท้าทายจากคนในวัฒนธรรมอื่น

เช่น หากฝรั่งสักคนวิจารณ์ว่า เมืองไทยเต็มไปด้วยโสเภณี คนไทยจะเป็นเดือดเป็นแค้นอย่างหาที่สุดมิได้

ในทางกลับกัน หากคนไทย หรือเมืองไทยไปติดอันดับอะไรสักอย่างของโลก เช่น ทำธูปดอกใหญ่ที่สุดในโลก คนไทยจะปลาบปลื้ม ราวกับได้ส่งยานอวกาศขึ้นไปดวงจันทร์เป็นประเทศแรกของโลก หรือหากมีคนไทยสักคนไปเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศแล้วประสบความสำเร็จ มีนักการเมือง มีดารา มีคนดังจากทั่วโลกไปกิน ด้วยเคสนี้เคสเดียว สังคมไทยสามารถเอามาขยายความและอธิบายได้เป็นคุ้งเป็นแควถึงความโดดเด่น ลึกซึ้ง ซับซ้อนของอาหารไทยซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง "อารยธรรม" ของไทยที่สูงส่ง ประณีต ไม่แพ้ชาติใดในโลก

(นอกจากจะไม่แพ้แล้วยังชนะอีกด้วย)

คนไทยไม่ยักกะคิดว่า ความอร่อยก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญการไปกินอาหารจากประเทศแปลกๆ นั้นเป็นความ "ฮิป" อย่างหนึ่งของคนดังในประเทศโลกที่ 1 น่ะเธอ...

แหม ถ้าภายในปีสองปีนี้ประเทศไทยได้อัพเกรดเป็นประเทศโลกที่หนึ่งกับเค้าบ้าง รับรอง คนดัง ดารา นักการเมือง และบุคคลฮิปๆ ทั้งหลายต้องเฮโลกันไปกินร้านอาหารเอธิโอเปีย ซิมบับเว หรือ อุสเบกิซสถาน กันเป็นแน่แท้



ประเด็นเรื่องไทยแท้ไทยไม่แท้ยังมิทันจางหาย ข่าวกระทรวงศึกษาธิการออกมายกเลิกประกาศที่บอกว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองของไทยด้วย มันทิ้งร่องรอยความรู้สึกถึงการเป็นอาณานิคมของสยามประเทศเราจังเลย

หากประกาศนี้มีขึ้นในสมัยแรกสร้างชาติของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฉันคงไม่แปลกใจ

ทว่า ในปี 2010 มันชวนให้คิดว่า "อ้าว จะมาอ่อนไหวในประเด็นอาณานิคมอะไรในตอนนี้เล่า?"

ชะรอย ประเทศไทยจะเป็นเด็กพัฒนาการช้า เพราะดูจากหลายๆ เรื่อง (เช่น พัฒนาการของประชาธิปไตย) เรามีพัฒนาการที่ช้ากว่าประเทศที่เกิดรุ่นราวคราวเดียวกันนับร้อยปีทีเดียว ประเทศที่พัฒนาการปกติได้ก้าวข้ามเรื่องภาษากับอัตลักษณ์ของชาติไปสักสองหรือสามชาติแล้วมั้ง?

เพราะรู้แล้วว่า ยิ่งพลเมืองรู้หลายภาษาเท่าไหร่ยิ่งมีความได้เปรียบในการทำมาหากินมากเท่านั้น ไม่เพียงแต่เรื่องการทำมาหากิน ยิ่งหลากหลายภาษาก็ยิ่งได้เปรียบในการแสวงหาความรู้ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

ลองคิดดูว่า คนลาวนั้นได้เปรียบคนไทยแค่ไหนที่ฟัง อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ คนลาวย่อมได้อ่านทั้งหนังสือพิมพ์ไทย และหนังสือพิมพ์ลาว ได้ดูทั้งทีวีไทย ทีวีลาว ดูทั้งหนังไทยหนังลาว ในขณะที่คนไทยไม่รู้เรื่องประเทศลาวแม้แต่กระผีกริ้น กระนั้น ยังมานั่งทำหน้าเย่อหยิ่งจองหองว่า "ชั้นไม่ลดตัวไปเรียนภาษาบ้านนอกๆ พรรค์นั้นหรอกย่ะ"

ยัง ยังไม่พอ คนไทยยังสนุกสนานกับการนำมาภาษาลาวมาทำเป็นเรื่องขำขัน ล้อเลียน หัวเราะเยาะ ทั้งๆ ที่คนที่ควรจะถูกหัวเราะอย่างที่สุดคือคนไทย ที่นอกจากภาษาไทยและภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นแล้ว ก็ไม่เห็นจะรู้ภาษาอะไรอื่น

(อย่าลืมว่าคนลาวที่มีการศึกษา ยังรู้ภาษาฝรั่งเศส และรัสเซียอีกด้วย)

พระสงฆ์ทางเขมรนั้น ได้เข้ามาศึกษาต่อที่เมืองไทยไม่น้อย ฉันมีโอกาสได้พบกับพระเขมรที่มาเรียนหนังสือที่ประเทศไทย ท่านตั้งอกตั้งใจเรียนภาษาไทย อ่านภาษาไทย และพูดไทยได้คล่องเปรี๊ยะ สำเนียงชัดแจ๋ว แต่ถามว่า ทางฝ่ายคนไทยมีใครอยากเรียนรู้ภาษาเขมร อยากอ่านหนังสือเขมรบ้าง?

ในการเปรียบเทียบเช่นนี้ เราอาจมีคำตอบให้กับคนไทยที่ไม่เคยสนใจยากเรียนภาษาอินโดนีเซีย ลาว ยาวี มาเลย์ พม่า ไทใหญ่ (ทั้งๆ ที่เป็นภาษาสำคัญที่จะทำให้เราอยู่กับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสร้างสรรค์ และฉันเคยเขียนไว้หลายครั้งในเรื่องที่เราขาดแคลนงานวรรณกรรมแปลของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น นอกจากงานของปราโมทยา แล้ว เราได้อ่านวรรณกรรมร่วมสมัยเรื่องใดของ อินโดนีเซียบ้าง? ) ว่า มันอาจเป็นคำตอบเดียวกันกับที่ คนอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาอื่นๆ เพราะภาษาอังกฤษคือภาษาของโลก หากคุณพูดภาษาอังกฤษได้ คุณก็อยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ และหากไม่อยากแสวงหาความรู้อะไรที่พิสดาร พันลึก หรือที่เป็นหลักฐานชั้นต้นจริงๆ แล้ว การรู้ภาษาอังกฤษภาษาเดียว ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้มากสักเท่าใด

แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่า ครั้งหนึ่ง อังกฤษเป็นอาณาจักรที่มีเมืองขึ้นอยู่ทั่วโลกจริงๆ เคยยิ่งใหญ่มากจริงๆ และภาษาอังกฤษ กลายเป็นภาษากลางของโลกแล้วจริงๆ ในขณะที่อาณาจักรไทยนอกจากจะไม่ได้เป็นเจ้าอาณานิคมของใครอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ยังปริ่มๆ อยู่ในสถานะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเสียด้วยซ้ำไป

ดังนั้น คนไทยพึงตระหนักว่าเราไม่อาจทำเย่อหยิ่ง เหยียดหยาม คนลาว คนเขมร เวียดนาม พม่า อีกทั้งทำตัวเริ่ด เชิ่ด ว่าพวกแกนั่นแหละ สมควรต้องมาเรียนภาษาของชั้น เพราะชั้นเจริญกว่า ก้าวหน้ากว่า มิใช่ให้พวกชั้นไปเรียนภาษาของพวกแก

ไม่เพียงแต่ต้องเลิกดูถูกดูแคลนผู้อื่นและตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษอย่างไม่รังเกียจรังงอน เพราะดูเหมือนความสามารถทางภาษาอังกฤษของเด็กไทยโดยเฉลี่ยนั้น ติดอันดับรั้งท้ายของโลกเลยทีเดียว

( เลิกพูดเสียทีว่า ที่เราไม่รู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย สเปน ก็เพราะว่าเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร )


สังคมไทยพึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว พม่า เวียดนาม เขมร อินโดนเซีย มาเลย์ ยาวี สำคัญไปกว่านั้น การส่งเสริมให้เรียนภาษาสำคัญๆ ของโลกอย่างอาหรับก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและสมควรได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่ง

การเรียนรู้ภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านมิใช่ด้วยเหตุผลเพียง รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง แต่เพื่อสร้างความเข้าใจ และความเคารพต่อเพื่อนบ้าน (แทนที่จะมานั่งแย่งบันไดขึ้นปราสาทกัน) บนพื้นฐานของความรู้ มิใช่ด้วยพื้นฐานของอคติทางประวัติศาสตร์ที่พวกเราเขียนกันเอง เออกันเอง อวยกันเอง หรือ ในทางตรงกันข้าม ก็เข้าไปอคติแห่งความลุ่มหลงใน "อารยธรรม" ประเทศเพื่อนบ้านในฐานะที่เป็นวัตถุแห่งความประหลาด อัศจรรย์ จรรโลงใจ อันเป็นทัศนคติของเหล่าเจ้าอาณานิคมอยู่นั่นเอง (เช่น ชมชอบความซื่อใส บริสุทธิ์ ไร้เดียงสาของวัฒนธรรมหลวงพระบาง)

พ้นไปจากความเคารพในกันและกันบนฐานของความรู้แล้ว ยังจะนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันของภูมิภาคในฐานะที่เป็นหน่วยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจแห่งหนึ่งของโลก ลองนึกภาพ คนไทยพูดได้ ภาษาไทย พม่า ลาว มาเลย์ หรือ เวียดนาม คล่องแคล่ว แล้วค้าขาย เดินทาง พัฒนาการท่องเที่ยว ฯลฯ ด้วยกันกับเหล่าประเทศเพื่อนบ้าน หรือนักเขียนในภูมิภาคนี้ จัดสัมมนา อ่าน พิมพ์ ขายหนังสือ ข้ามพรมแดนกันไปมาอย่างสามัญ โอ้ววว มันต้องยอดเยี่ยมมากแน่ๆ

(ฝันกลางวันได้แล้ววว)



สําหรับฉัน สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยตอนนี้คือ ไม่ใช่การตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า การประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ทำให้เราดูไร้ศักดิ์ศรี ดูเป็นประเทศอาณานิคม

เพราะตอนนี้ สิ่งที่ทำให้ประเทศดูแย่กว่าการที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณานิคม คือการเกิดรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน และอาการสะลึมสะลือโดนยาสั่งของคนไทยจำนวนมากที่ยังหลงเชื่อว่าประเทศของตนมีอะไรบางอย่างที่ประเทศอื่นไม่มี

และนั่นเพียงพอแล้วที่จะทำให้เรามั่นใจว่าประเทศของเราดีเลิศประเสริฐศรีกว่าประเทศอื่น มีความสุขกว่าประเทศอื่น สามัคคีกว่า มีรอยยิ้มมากกว่าประเทศอื่น โชคดีกว่าประเทศอื่น มีน้ำใจกว่าประเทศอื่น

(สังเกตจากการช่วยเหลือน้ำท่วม มีสโลแกนสำคัญว่า "คนไทยไม่ทิ้งกัน" อันชวนให้คิดว่า คนอเมริกันที่ไปช่วยคนที่เจอพายุแคทรีน่า จะมีคำขวัญ คนอเมริกันไม่ทอดทิ้งกันบ้างหรือเปล่า? ยังไม่ต้องถกเถียงต่อในประเด็นที่ว่า การช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเราควรช่วยในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ โดยไม่ต้องคิดเลยว่าเขาจะเป็นคนชาติใด หรือภาษาใด นอกจากนี้ ยังไม่ได้พูดต่อไปในเรื่องที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่เกิดภัยธรรมชาติ สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญมากไม่น้อยไปกว่าเรื่อง "ธารน้ำใจ" คือประสิทธิภาพของรัฐในการเตือนภัย การอพยพผู้คน ก่อนจะเกิดภัยพิบัติ หรือแม้กระทั่งสาเหตุของปัญหาภัยพิบัติที่ต้องการการแก้ไขในระยะยาว)

แต่สิ่งที่จำเป็นต่อสังคมไทยอย่างยิ่งในเวลานี้ คือการตื่นขึ้นมาแล้วตระหนักรับรู้ถึงความกระจอกงอกง่อยของตนเอง รับรู้ถึงกำเนิดของประเทศอย่างที่มันเป็น ว่ามันไม่ได้กำเนิด เติบโต มาด้วยน้ำมือของมหาบุรุษ หรือสตรีคนใดคนหนึ่ง

ไม่ได้ยิ่งใหญ่ โสภา แต่อุบัติขึ้นท่ามกลางการแตกหัก ความขัดแย้ง เงื่อนไข ปัจจัยหลายประการ ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การถือกำเนิดขึ้นของอีกหลายร้อยประเทศบนโลกใบนี้ และมันอาจจะชัดเจนขึ้น หากเราได้เปรียบเทียบ "ชาติกำเนิด" ของเราร่วมกับชาติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ย และภายใต้เงื่อนไขที่คล้ายคลึงกัน

สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยตอนนี้ คือการตระหนักว่า ประเทศของตนเองยังด้อยพัฒนา ล้าหลัง ยากจน มีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม

(คนมีตังค์ส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติเพื่อจะได้เก่งภาษาทำมาหากินคล่อง แต่พอมาถึงคนธรรมดาสามัญ กลับบอกว่าอย่ารู้ภาษาอังกฤษมาก เพราะเราไม่ใช่ประเทศอาณานิคม) คนไทยไม่ได้มีความสามารถพิเศษมากกว่าคนชาติอื่น ไม่ได้ละเมียด ซับซ้อนอะไรนักหนา ศิลปะ วัฒนธรรมไทยก็งั้นๆ (แต่ไม่ได้แปลว่าพัฒนาให้ดีขึ้นไม่ได้) -เมื่อไหร่จะยอมรับความจริงกันเสียที


วินาทีนี้หากจะถามฉันว่า อะไรคือสิ่งที่ authentic ที่สุดในวัฒนธรรมไทย ก็คงบอกได้ว่า "ก็วัฒนธรรมการล่อลวงให้คนไทยลุ่มหลงตนเองอย่างหน้ามืดตามัวน่ะสิ authentic แท้ไม่มีใครเกิน"



.