.
เราจะร่วมฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:30:00 น.
นี่คือคำขวัญที่ทีวีหลายช่องใช้คล้ายๆ กัน ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เป็น "วิกฤต" หรือไม่?
นิยามคำว่าวิกฤต ตามใจผมเอง หมายถึงปัญหาที่ไม่อาจตอบได้ด้วยคำตอบเก่า แต่ต้องคิดคำตอบใหม่ และจัดให้ดำเนินการไปตามคำตอบใหม่นั้น จึงจะฝ่าวิกฤตออกไปได้
บัดนี้น้ำเริ่มจะแห้ง ที่เหลือตามทุ่งตามทางก็กำลังไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนเรียกว่า กลับสู่ระบบ (จัดการได้) ของน้ำแล้ว อย่างไรเสียภาคกลางและกรุงเทพฯก็เสียหายและไม่เสียหาย เท่ากับที่เสียหายและไม่เสียหายไปแล้ว ไม่มีอะไรมากกว่านี้ และไม่มีอะไรน้อยกว่านี้
เหมือนกับน้ำท่วมใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยนับพันๆ ครั้งมาแล้วในอดีต จะต่างกันในแต่ละครั้งคือมีสิ่งกีดขวางทางน้ำหลากลงทะเลมากน้อยผิดกันเท่านั้น
แต่ในขณะเดียวกัน จะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ซ้ำรอยเก่าอยู่เสมอมาเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เช่นมีคนอยู่ในดินแดนนี้มากกว่าเมื่อล้านปีที่แล้วไม่รู้จะกี่ล้านเท่า จึงมีความพยายามจะกำกับควบคุมน้ำที่หลากลงมาหลายต่อหลายอย่าง เพื่อไม่ให้ผู้คนเดือดร้อน สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง สิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำก็มีมากขึ้น ฉะนั้นน้ำท่วมในแต่ละครั้ง จึงเป็นปัญหาที่ไม่เหมือนครั้งที่แล้วเปี๊ยบ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันเสมอ
แต่ทุกรัฐบาลก็จัดการน้ำท่วมในลักษณะเดียวกันตลอดมา โดยมีเกณฑ์มาตรฐานเท่าที่ผมจับได้ดังต่อไปนี้
1. ตัวใครตัวมัน ผู้ว่าราชการฯของแต่ละจังหวัดจะได้รับมอบหมายให้ป้องกันไปจนถึงบรรเทาสาธารณภัย ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในมือหรือระดมมาได้จากผู้คนในจังหวัดของตน แต่ทรัพยากรในมือของผู้ว่าฯไม่ได้มีไว้เพื่อจัดการกับน้ำท่วมที่ใหญ่ขนาดนี้ จึงไม่ปรากฏว่ามีจังหวัดใดสามารถจัดการอะไรได้ในเรื่องน้ำ เหลืออยู่แต่จะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนได้ดีเพียงใด
ซึ่งโดยรวมๆ แล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้มากนักนอกจากจัดศูนย์พักพิง ซึ่งตอนจัดยังแห้งอยู่ สามารถเอารถขนอาหารและน้ำไปถึงได้ แต่จะหาเรือไปแจกอาหารและน้ำแก่คนที่ติดอยู่ตามบ้านเรือน จังหวัดทำไม่ไหว เนื่องจากไม่มีเรือหรือรถขนาดใหญ่เพียงพอที่จะขนไป
หลังน้ำลด มีการย้ายผู้ว่าฯกันหลายจังหวัด หากย้ายเพราะบกพร่อง ก็ควรที่รัฐบาลต้องระบุความผิดให้ชัด ไม่ใช่เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกโจมตีทางการเมืองนะครับ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ถูกโจมตีทางการเมืองได้ทั้งนั้น แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนในระบบราชการว่า ผู้ว่าฯควรทำหรือไม่ทำอะไรในเวลาเกิดสาธารณภัย โดยคำนึงด้วยว่า เราได้จัดทรัพยากรให้แก่ผู้ว่าฯในการจัดการกับสาธารณภัยขนาดใหญ่ไว้แค่ไหน อย่างไร
ตัวใครตัวมันในที่นี้ หมายรวมไปถึงการระดมสมรรถภาพของรัฐบาลกลางในการให้ข่าวสารข้อมูลด้วย เพื่อจะสามารถแจ้งเตือนจังหวัดต่างๆ ได้ด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่นปริมาณน้ำ ส่วนที่จะถูกท่วมมากน้อยแค่ไหนซึ่งไม่มีทางป้องกันได้ ต้องเร่งไปในทางบรรเทาทุกข์ ที่ไหนและอย่างไร ต้องจัดองค์กรทั้งภาครัฐและสังคมอย่างไร จึงจะร่วมฝ่าวิกฤตไปด้วยกันได้ ฯลฯ
แต่รัฐบาลกลางทุกชุดในเมืองไทย ยึดหลักตัวใครตัวมันเหนียวแน่นมาก รัฐบาลตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ จึงดูเหมือนมีหน้าที่เฉพาะกรุงเทพฯ ศปภ.เองเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อน้ำกำลังจ่อกรุงเทพฯอยู่แล้ว
2. เกณฑ์ของคุณค่าทุกอย่างอยู่ที่มูลค่า หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือมูลค่าทางธุรกิจถูกถือว่ามีคุณค่าสูงสุด
เหตุผลสำคัญที่ต้องรักษากรุงเทพฯชั้นในไว้ให้ได้นั้น อยู่ตรงที่ว่ามูลค่าทางธุรกิจที่จะเกิดความเสียหายสูงสุดต่อพื้นที่ขนาดเท่ากัน อันที่จริงการรักษากรุงเทพฯนั้นมีเหตุผลในทางอื่นที่ไม่ใช่มูลค่าทางธุรกิจอีกมาก แต่รัฐบาลเลือกที่จะไม่พูดถึง เช่นอย่างไรเสียก็ต้องมีพื้นที่แห้งสำหรับการบริหารจัดการบรรเทาสาธารณภัยขนาดใหญ่ ซึ่งกินพื้นที่ทั่วภาคกลางทั้งหมด และพื้นที่แห้งดังกล่าวนั้นไม่มีที่ใดเหมาะไปกว่ากรุงเทพฯ เพราะมีกำลังคนและทรัพยากรที่จะใช้เพื่อการนี้ได้ดีที่สุด
แต่การรักษากรุงเทพฯ ย่อมหมายถึงการกักน้ำไว้กับคนนอกกรุงเทพฯด้วย ฉะนั้นต้องทำให้น้ำที่ถูกกักออกนอกกรุงเทพฯมีทางระบายได้ด้วย ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนการใช้ทรัพยากร (กำลังเครื่องจักรและคน) อย่างไร ให้เกิดผลจริงจังมากกว่าการเรียกร้องการเสียสละแต่อย่างเดียว
เกณฑ์ดังกล่าวนี้ตัดสินอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างในการเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ เช่นทุ่มทรัพยากรไปกับการรักษานิคมอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้ทำอะไรเลยกับพื้นที่ซึ่งเป็นมรดกโลกของอยุธยา (ซึ่งมีขนาดเล็กกว่านิคมอุตสาหกรรม และที่จริงพระนครศรีอยุธยา "ชั้นใน" เล็กกว่าพระนครรัตนโกสินทร์ "ชั้นใน" เป็นอันมาก)
( ว่ากันว่าเพราะนิคมอุตสาหกรรมจ้างแรงงานมาก บางแห่งนับได้ถึง 6-7 หมื่นคน แต่ผมไม่แน่ใจว่าไร่มะละกอจ้างงานคนได้น้อย หากคิดตั้งแต่แรงงานในไร่ไปจนถึงแม่ค้าขายส้มตำทั่วประเทศ ซึ่งย่อมกระตุ้นการบริโภคขนมจีน, หมูปิ้ง, ข้าวเหนียว ทั้งการส่งออก รวมแรงงานทั้งหมดเหล่านี้คงหลายหมื่นเหมือนกัน แต่มูลค่าที่ได้จากมะละกอน้อยกว่าจักรยานยนต์แน่ )
ถ้าเอาความปลอดภัยและความอยู่ได้ของประชาชนเป็นตัวตั้ง สิ่งที่ต้องทุ่มเททรัพยากรลงไปรักษาไว้ให้ได้ก่อนอื่นทั้งหมด คือเส้นทางคมนาคม (และการสื่อสาร) เพราะจะทำให้สามารถนำเอาความช่วยเหลือไปถึงพื้นที่ได้สะดวกที่สุด อีกทั้งทำให้สินค้าเท่าที่ยังเหลืออยู่สามารถไหลเวียนไปได้ทั่วประเทศ
ลำดับถัดมาคือการจัดองค์กรภาคสังคม เพื่อให้สามารถกระจายความช่วยเหลือไปถึงทุกท้องที่ เรามีวัสดุอุปกรณ์และน้ำใจมากมาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือการจัดการ เพื่อทำให้วัสดุอุปกรณ์และน้ำใจนั้น ตกถึงมือผู้คนที่เดือดร้อนอย่างทั่วถึง ไม่ขาดแต่ไม่ล้นเกินในบางพื้นที่
3. การเยียวยาหลังน้ำท่วมทำได้ยากมาก แม้ทุกรัฐบาลตั้งใจทำให้ทั่วถึงอย่างไร ก็หนีไม่พ้นที่เศรษฐกิจภาคที่เป็นทางการเท่านั้น จึงจะสามารถประเมินความเสียหายของตนได้ชัดเจนและตรวจสอบได้ ส่วนเศรษฐกิจภาคที่ไม่เป็นทางการนั้นประเมินยาก ตัวเองก็อาจประเมินอย่างเป็นระบบไม่ได้ จึงต้องช่วยแบบเหมารวมซึ่งไม่เป็นธรรมในแต่ละราย
แม้แต่ดึงเอาสถาบันการเงินภาคเอกชนมาร่วมช่วยเหลือ คนในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการก็ยากที่จะเข้าถึง หรือถึงเข้าถึงได้ ก็ยากที่จะได้รับการผ่อนปรนอย่างเพียงพอที่จะฟื้นฟูตัวเอง สถาบันการเงินภาคเอกชนย่อมต้องระวังมิให้การผ่อนปรนของตนเกิดความเสียหายแก่ธุรกิจ กิจการส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจภาคที่ไม่เป็นทางการย่อมวางแผนฟื้นฟูให้ธนาคารเชื่อมั่นว่าจะกลับมาชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดได้ยาก
ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงโอกาสที่จะเกิดการทุจริต หรือเล่นพรรคเล่นพวก ย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะการตัดสินใจจ่ายเงินช่วยเหลือถูกกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ตราบเท่าที่เรายังไม่กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นจริงจัง เงินช่วยเหลือก้อนใหญ่ๆ เช่นนี้ย่อมถูกคดโกงหรือถูกนำไปหาเสียงทางการเมืองเป็นธรรมดา ในทุกรัฐบาลด้วย
ผมขอยกเกณฑ์มาตรฐานมาเพียงสามเรื่อง เพื่อชี้ให้เห็นว่า การจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยนั้น ไม่สู้จะต่างกันนักในรัฐบาลแต่ละชุด เพราะความบกพร่องไม่ได้มาจากตัวผู้นำรัฐบาลเท่ากับความบกพร่องเชิงระบบ เช่นนโยบายปกป้องกรุงเทพฯ (ด้วยราคามหาศาล) นั้น ทำกันมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยังไม่พูดถึงการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายอย่างในต่างจังหวัด เพื่อไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ให้กรุงเทพฯแล้ง
ผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า ผู้นำรัฐบาลแต่ละคนย่อมทำให้การบรรเทาสาธารณภัยแตกต่างกันบ้าง แต่ก็แตกต่างกันในเชิงสีสันเท่านั้น ภายใต้คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยกย่องกันว่าเข้มแข็งเด็ดขาด เหยื่อสึนามิบางหมู่บ้าน ก็ไม่ได้รับสิ่งของที่ระดมกันลงไปช่วยเลย
ในขณะที่บางหมู่บ้านได้กระทะมากเสียจนไม่รู้จะเอาไปแขวนไว้ที่ไหน ซ้ำร้าย ชาวบ้านบางแห่งจะกลับมาซ่อมแซมบ้านเรือนของตน กลับพบว่ามีนายทุนล้อมรั้วที่ดินทั้งหมู่บ้าน อ้างว่ามีโฉนดอยู่ในมือ แถมมีตำรวจและทหารคอยเฝ้ารั้ว ป้องกันชาวบ้านรื้ออีกด้วย เพราะผู้อ้างกรรมสิทธิ์นั้นเป็นนักการเมืองใหญ่คนหนึ่งในพรรคของคุณทักษิณเอง เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นแก่ชาวบ้าน ทั้งไทยและชาวเล ตลอดชายฝั่งที่โดนทำลายด้วยสึนามิ
แต่จะโทษคุณทักษิณกับความเลวร้ายทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะแกก็ต้องบริหารประเทศด้วยเครื่องมือที่ไม่ได้ออกแบบมาให้ช่วยใครได้จริง แต่ออกแบบมาให้ช่วยดำรงอำนาจของส่วนกลางไว้อย่างมั่นคงต่างหาก
ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงไม่เชื่อคำพูดของหลายคนที่ว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เปลี่ยนประเทศไทยไปอย่างมาก เพราะผมกลับมองเห็นแต่การซ้ำรอยเดิม เมื่อเราร่วมฝ่าวิกฤตออกมาได้ เราก็จะพบตัวเราคนเดิมที่ตัวแห้งแล้ว แต่ก็ยังแฝงฝังไปด้วยความเหลื่อมล้ำเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเปียกหรือแห้ง
เพราะเราก็ยังตอบปัญหาใหม่ด้วยคำตอบเก่าอย่างไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
++
คนเล็กๆ ที่จะเล็กตลอดไป
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 28
โฆษณาของบริษัทน้ำมันต่างชาติอันหนึ่ง มีภาพของเด็กผู้หญิงในชุดนักเรียนคนหนึ่ง กำลังขนขวดน้ำดื่มเปล่าไปห้าหกขวด ยืนมองถังขยะที่มีเครื่องหมายรีไซเคิล แต่มีขวดพลาสติกขนาดมหึมาเสียบอยู่หนึ่งขวด มีข้อความที่โผล่ขึ้นตรงกลางระหว่างเด็กนักเรียนและถังขยะว่า "เรื่องใหญ่ จัดการได้ด้วยพลังเล็กๆ"
น่าประทับใจนะครับ แก่คนเล็กๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของทั้งโลก พลังเล็กๆ ในภาพย่อมหมายถึงพลังของคนเล็กๆ อันแสดงออกได้ด้วยภาพของเด็กนักเรียนหญิงตัวเล็กๆ ด้วย
ยังมีความน่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งซึ่งแรงกว่านั้นเสียอีก นั่นคือ ภาพของคนเล็กๆ เช่น ตัวเราเอง อาจมีอำนาจกำกับควบคุมโลก ตลอดจนอยู่ "เหนือโลก" ได้ด้วย หากเราทำสิ่งที่ถูกต้อง
นี่คือความรู้สึกทางศาสนาซึ่งเราทุกคนต่างมีอยู่ลึกๆ ในใจ และขึ้นชื่อว่าศาสนา คือการบอกหนทางที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะบรรลุอำนาจ "เหนือโลก" ด้วยกันทั้งนั้น
ครั้นย้อนกลับมาถามตัวเองว่า จริงหรือที่ "เรื่องใหญ่ จัดการได้ด้วยพลังเล็กๆ" ถ้า "เรื่องใหญ่" ในที่นี้หมายถึงเรื่องทางโลกย์ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ปัญหาสังคม, ปัญหาการเมือง, ปัญหาทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าไม่จริงเลย ในโลกยุคปัจจุบันเราต่างเข้ามาอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเป็นปัญหาที่ก่อโดยกลุ่มคนจำนวนมาก อันเราไม่เคยเห็นหน้าค่าตา และไม่มีทางที่จะไปกำหนดพฤติกรรมของเขาได้
คนเล็กๆ นี่แหละครับ ที่ไร้พลังไปหมดสิ้นแล้วในโลกยุคปัจจุบัน
(คนเล็กๆ ในสังคมโบราณ อาจรู้สึกตัวว่าสามารถจัดการเรื่องใหญ่ได้ เพราะ "เรื่องใหญ่" ของสังคมโบราณเกิดขึ้นเฉพาะในท้องถิ่นแคบๆ ของตนเอง แต่ละคนในท้องถิ่นจึงพอมีพลังอำนาจที่จะเข้าไปจัดการควบคุมได้ในระดับหนึ่งซึ่งไม่เท่ากัน และด้วยวิธีการที่ไม่เหมือนกัน)
ตรงกันข้ามเลยทีเดียว "เรื่องใหญ่" ในโลกปัจจุบันนี้ต้องจัดการด้วยคนใหญ่ๆ ผมไม่ได้หมายถึงบุคคลเท่ากับสถาบัน, องค์กร, หรือการจัดองค์กรระดับชาติหรือระดับโลก เพื่อจัดการด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม
บุคคลแต่ละคน แม้อุดมด้วยจิตอาสา, จิตสาธารณะ, หรือจิตอื่นใดอันยังไม่ได้คิดศัพท์ขึ้นมาเผยแพร่ ล้วนมีความสำคัญและขาดไม่ได้ทั้งนั้นแหละครับ แต่เท่านี้ยังไม่พอจะแก้ปัญหา "เรื่องใหญ่" ได้
ยกตัวอย่างจากเรื่องขวดน้ำดื่มพลาสติกในโฆษณาก็ได้
การหาน้ำสะอาดดื่มนั้น คงเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตั้งแต่เรายังอยู่ในถ้ำ ดังนั้น จึงมีวิธีที่มนุษย์เผ่าพันธุ์ต่างๆ คิดขึ้นเพื่อได้น้ำสะอาดมาดื่มหลากหลายวิธี แม้แต่ทำให้น้ำมีแอลกอฮอล์ผสมเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนดื่ม (วงเล็บเบลอๆ ว่าเหล้า-เบียร์น่ะครับ) ก็ว่ากันว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงน้ำสะอาดได้
การทำน้ำดื่มในเชิงอุตสาหกรรมเป็นช่องทางการค้าที่นายทุนมองเห็นว่าให้กำไรสูง และแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนาก่อน ทั้งๆ ที่ผู้ต้นคิดเป็นคนจากประเทศพัฒนาแล้ว
อันนี้น่าสนใจนะครับ อยู่ๆ จะให้ผู้คนซึ่งเคยชินกับการหาน้ำสะอาดดื่มด้วยวิธีอื่นมานาน เลิกใช้วิธีนั้นแล้วหันมาควักสตางค์ซื้อน้ำจากพ่อค้ามาดื่ม ไม่ใช่เรื่องง่าย ยกเว้นแต่เขาเหล่านั้นต้องไปอยู่ในเงื่อนไขใหม่บางอย่าง เช่น ไปเที่ยวหรือไปทำงานในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ไว้ใจตั้งแต่น้ำดิบที่ประเทศนั้นมีว่าสะอาดพอไปปรับให้ดื่มได้หรือไม่ ไปจนถึงไม่มีเวลาและความสะดวกจะปรับน้ำไว้ดื่ม ฯลฯ จึงพร้อมจะซื้อน้ำที่พ่อค้าบรรจุขวดขายมาดื่ม
ทั้งยี่ห้อและพ่อค้าที่ผลิตน้ำดื่มขาย ก็ต้องเป็นที่ไว้วางใจด้วยว่าน้ำที่ผลิตขายนั้นสะอาดแน่ จึงควรมีขวดหรือทุนที่ดูเหมือนเป็นของคนชาติเดียวกัน
ในเมืองไทย น้ำดื่มบรรจุขวดเกิดขึ้นพร้อมกับจีไอซึ่งมีจำนวนมากพอจะเป็นตลาดได้ในสงครามเวียดนาม ยี่ห้อฝรั่งและดูเหมือนจะเป็นทุนฝรั่งเหมือนกัน บรรจุขวดแก้วซึ่งไม่มีปัญหาในการเก็บคืนนัก เพราะน้ำมันยังถูก ซ้ำตลาดน้ำดื่มยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ไม่กี่เมือง
น้ำดื่มใสสะอาดในขวดแก้วกลายเป็นสัญลักษณ์ของสถานภาพทางสังคมของผู้ดีกรุงเทพฯ หากแขกขอน้ำเปล่าดื่มก็ควรเทจากขวดแบบนั้นมากกว่าคนโทน้ำ ดังนั้น จึงแพร่หลายไปตามลำดับจนกลายเป็นน้ำดื่มปรกติของคนไทยจำนวนมากในเวลานี้
ไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น รวมไปถึงฝรั่งในเมืองฝรั่งเองด้วย ผมจำได้ว่าเมื่อไปอเมริกาหนแรกนั้น ฝรั่งยังดื่ม "น้ำกระทืบ" อยู่ ซึ่งก็คือน้ำประปาที่ไหลผ่านตู้ทำความเย็นนั่นเอง แต่เมื่อไปอเมริกาครั้งที่สอง ก็เห็นพกน้ำขวดลงเป้ไว้ดื่มเป็นปรกติแล้ว
ข่าวหลายปีมาแล้วบอกว่า ในฝรั่งเศสมีการรณรงค์ให้เลิกดื่มน้ำบรรจุขวดของพ่อค้า เพราะขจัดขวดพลาสติกได้ยาก อีกทั้งคิดไปก็หาได้มีความจำเป็นแต่อย่างใดไม่
แสดงว่าการดื่มน้ำสะอาดจากขวดที่พ่อค้าทำขายนั้นระบาดไปทั่วโลกฝรั่งเสียแล้ว
ในสถานการณ์เช่นนี้ คนเล็กๆ จะเข้าไปจัดการกับปัญหาอย่างไร ก็มีทางเดียวคือเลิกดื่มน้ำของพ่อค้าอย่างที่เขารณรงค์กันในฝรั่งเศส แต่ขอโทษเถิดครับ อีกกี่ปีกี่ชาติล่ะครับจึงจะสามารถทำให้สำนึกเช่นนี้แพร่หลายไปถึงคนเล็กๆ ทั่วไปหมด จนเป็นผลให้นายทุนหันไปทำอย่างอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกว่านี้ขาย ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่หลานคุณยายซึ่งไม่ดื่มน้ำขวดของพ่อค้า ได้เห็นโฆษณาหนุ่มหล่อสาวสวยดื่มน้ำขวดจนมีผิวพรรณงามในทีวี จะเสียวซ่านแค่ไหนล่ะครับ ก็จะเกิดสมาชิกน้ำดื่มบรรจุขวดคนใหม่แทนคุณยายขึ้นมา
แม้แต่การแก้ปัญหาอย่างที่โฆษณาแนะเอาไว้ คือรีไซเคิลขวดน้ำก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ บริษัทไม่มีทางเก็บขวดกลับไปรีไซเคิลได้เองหมด ต้องมีฐานชุมชนคอยเก็บไว้จำนวนมากๆ (ซึ่งคือต้นทุนที่บริษัทไม่ต้องจ่าย) เก็บเฉยๆ ก็ไม่ได้เพราะเปลืองที่ ต้องบี้ให้แบนด้วยการใช้แรงคนหรือเครื่องจักรก็ตาม จึงคุ้มพอที่บริษัทจะยอมเสียค่าขนส่งนำกลับไปรีไซเคิล
รีไซเคิลไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกอย่างนะครับ การรีไซเคิลวัสดุบางอย่างอาจสิ้นเปลืองพลังงานมากเสียจนไม่คุ้ม (แก่โลก) ผมไม่ทราบหรอกครับว่าการรีไซเคิลขวดพลาสติกคุ้มหรือไม่ แต่แน่ใจว่าทำยากมาก คนเล็กๆ อย่างเดียวทำไม่สำเร็จหรอกครับ
ต้องคนใหญ่ๆ ครับ
ในเมืองจีน หากซื้อของตามซูเปอร์ฯ โดยไม่หิ้วถุงมาบรรจุของเอง ก็ต้องซื้อถุงพลาสติกของเขา ราคาถุงละ 1 หยวน (ห้าบาท) ซูเปอร์ฯ จีนทำอย่างนี้ได้ ก็เพราะรัฐบาลเก็บภาษีถุงพลาสติกแพงจนกระทั่งให้ฟรีไม่ได้ ในเมืองไทยมีแต่การรณรงค์แจกถุงผ้า (ซึ่งเพิ่มมลภาวะมากขึ้น เพราะขนผลิตกันไปโดยไม่มีใครเอาไปใช้ กลายเป็นขยะในบ้านหรือในถังขยะ)เพื่อให้คนเล็กๆ ได้ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก โดยคนใหญ่ๆ ไม่ต้องทำอะไรนอกจากนั่งสั่งสอนเรื่องสิ่งแวดล้อม
จึงไม่ได้ผลอะไรเลยไงครับ
วิธีได้น้ำสะอาดไว้ดื่มสำหรับชีวิตในเมือง (ซึ่งกว่าครึ่งของคนไทยมีชีวิตอยู่) ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด คือทำน้ำประปาให้ดื่มได้ สนับสนุนส่งเสริมให้การประปาของทุกชุมชนทำอย่างนั้นให้ได้ทั่วไป
ในส่วนน้ำดื่มจากขวดพลาสติก ก็ลดผลกำไรของผู้ผลิตลงด้วยระบบภาษี นับตั้งแต่ภาษีสิ่งแวดล้อม, ภาษีขยะ, ฯลฯ (ภาชนะทางเดียวของสินค้าทุกอย่างควรมีภาระภาษีเพิ่ม) จนกระทั่งราคาต่อขวดแพงขึ้นเสียจนผู้บริโภคต้องคิดสองตลบก่อนซื้อ
ทั้งหมดนี้คนเล็กๆ จัดการไม่ได้หรอกครับ ต้องคนใหญ่ๆ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมสถาบันหรือองค์กรในภาครัฐ, ภาคสังคม, ภาคเศรษฐกิจ ฯลฯ เท่านั้น จึงจะจัดการได้ และบรรลุผลจริง
คนเล็กๆ ควรมีสำนึกต่อส่วนรวมแน่นอน ไม่ว่าในโลกยุคปัจจุบันหรืออดีต แต่เพื่อให้สำนึกนั้นมีผลได้จริง บทบาทที่ขาดไม่ได้ของคนเล็กๆ ในโลกปัจจุบันคือการกดดันอย่างเป็นระบบให้คนใหญ่ๆ ทำสิ่งที่จะมีผลดีต่อส่วนรวม เพราะแค่มีสำนึกอย่างเดียวไม่เพียงพอ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประโยชน์ส่วนรวมของโลกปัจจุบันมีมิติสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือมิติทางการเมือง
และนี่แหละครับคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราชอบเน้นกันแต่สำนึกของคนเล็กคนน้อย โดยปล่อยให้คนใหญ่คนโตลอยนวล เพราะเกรงว่าการยุให้คนเล็กๆ คิดถึงนโยบายสาธารณะ จะทำให้คนเล็กๆ เหิมเกริม ไม่ทำหน้าที่ของตัว(อย่างเดียว) ทะลึ่งไปยุ่งกับหน้าที่ของคนอื่น
...นักศึกษาไม่เรียนหนังสืออย่างเดียว ผ่าไปยุ่งการเมือง พระไม่เทศนาสั่งสอนอย่างเดียว แต่ผ่าไปร่วมประท้วงกับเขา ข้าราษฎรไม่ทำมาหากินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียอย่างเดียว ผ่าไปวิพากษ์วิจารณ์คนใหญ่คนโต ฯลฯ ...
ในอีกด้านหนึ่ง คือความรู้สึกทางศาสนา ผมคิดว่ามิติทางสังคมของศาสนาต่างๆ ถูกลดความสำคัญลงในโลกยุคปัจจุบัน เหลือแต่มิติทางปัจเจก ปัญหาใหญ่ๆ ทางสังคมจึงถูกแก้ได้ด้วยการอุทิศตัวของปัจเจก ความดีความชั่วของแต่ละบุคคลมีความสำคัญเสียยิ่งกว่าการจัดระบบ
ศาสนาจึงเซื่องลงในทางการเมือง เพราะจำกัดปริมณฑลแห่งอำนาจของแต่ละคนให้เหลือเพียงการจัดการตัวเอง โดยไม่มีอำนาจเหลือสำหรับจัดการส่วนรวม ทำดีโดยแยกขยะ ทั้งๆ ที่รู้เต็มอกว่าในที่สุดคนเก็บขยะก็เอาไปรวมกันอยู่นั่นเอง แต่ไม่เป็นไรจิตใจของผู้แยกขยะย่อมสูงขึ้น เพราะการกระทำที่ไม่เกิดผลอะไรนั้น !!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย