.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
หลังอ่านบทความหลัก เชิญกลับมาชมคลิปอภิปรายเมื่อ 5 พ.ย. 54 สำหรับวันอาทิตย์นี้
น้ำท่วม(ปาก)#5 (จบ): "คำ ผกา"จัดเต็มเรื่องน้ำท่วม(+ตอบทวิตเตอร์)
http://www.youtube.com/watch?v=gxy0QWa1Kd8
ที่มา : www.prachatai.com/journal/2011/11/37938 และ เว็บไซต์ประชาธรรม
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เรียนรู้จาก "น้ำ"
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 24
บ้านผมอยู่ถนนสายไหมครับ
เมื่อ 1 เดือนก่อน ถ้ามีใครถามว่า "สายไหม" อยู่ตรงไหน
ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะทำท่างงๆ และตอบว่า "ไม่รู้จัก"
แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็ตาม
บางคนอาจเล่นมุขว่าเป็นฝาแฝดกับ "โรตี"
ส่วนผม เวลาน้องๆ ถามว่าถนนสายไหมอยู่ที่ไหน
ผมจะบอกว่าไกลมากกกก...
เพราะถนนสายไหมมีชื่อภาษาอังกฤษคือ Silk Road
แฮ่ม...เป็นเส้นทางการค้าขายระหว่าง "จีน" กับ "ยุโรป" ครับ
เชื่อไหมครับว่าตอนที่ผมเริ่มปักหลักเพื่อสร้างความเจริญให้กับเขตสายไหมเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
เวลาเรียกรถประจำตำแหน่งที่คนทั่วไปเรียกว่า "แท็กซี่" แล้วบอกว่าไปถนนสายไหม
แท็กซี่ส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก
ต้องบอกทางแท็กซี่เกือบทุกคัน
ยัง ยังไม่พอ
แผนที่ กทม. สมัยนั้น ไม่มี "ถนนสายไหม" ในแผนที่ครับ
ทั้งที่อยู่ใน กทม. แท้ๆ
มีแต่ถนนพหลโยธิน โรงพยาบาลภูมิพล แล้วก็จบแค่นั้น
ไม่มี "ถนนสายไหม"
นั่นคือเรื่องราวเมื่อวันก่อน
แต่วันนี้ วันที่เกิดอภิมหาอุทกภัยในเมืองไทย และคลื่นน้ำขนาดใหญ่จ่อเข้าเมืองกรุง
คนทั้งประเทศได้รู้จักความยิ่งใหญ่ของ "เขตสายไหม" และ "คลองหกวา" เป็นอย่างดี
เพราะนี่คือ "ด่านหน้า" ของ กทม. ที่ต้องเผชิญกับ "อภิมหาน้ำ"
เป็น "ผู้เสียสละ" โดยไม่ได้ตั้งใจ
สถานีโทรทัศน์ทุกช่องเอ่ยชื่อเขตสายไหมทุกวันมาเป็นเวลาเกือบครึ่งเดือน
"ถ้าพนังกั้นน้ำที่คลองหกวาไม่สามารถต้านทานน้ำได้ เขตสายไหมจะเป็นพื้นที่แรกที่น้ำท่วม"
รายงานแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ฟังข่าวทีไรสะดุ้งทุกครั้งไป
สะดุ้งแล้ว สะดุ้งอีก
สะดุ้งจนน้องๆ ที่ "มติชนออนไลน์" จะขำทุกครั้งที่ข่าวโทรทัศน์เอ่ยถึงชื่อ "เขตสายไหม"
เพื่อนที่รู้ว่าผมอยู่เขตสายไหมจะโทร.มาถามเป็นประจำว่าน้ำท่วมหรือยัง
"ตอนนี้กำลังสบตากันอยู่" เป็นคำตอบของผม
ครับ เหมือนกับเรายืนสบตาดูเชิงกับ "สายน้ำ"
เจ้าน้ำก็ไม่ยอมปล่อยหมัดเสียที
กระทบเท้าขู่ตลอด
กระทบเท้าที ผมก็สะดุ้งที
ล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ผมก็ตัดสินใจลาพักร้อน
กะจะแลกหมัดกับ "สายน้ำ" แบบตัวต่อตัว
เป็นไง เป็นกัน
การเผชิญหน้ากับน้ำท่วมครั้งนี้ทำให้หลายคนได้รู้ว่า "กระสอบทราย" หนักจริงๆ
ตอนซื้อครั้งแรก ผมรู้สึกว่าเจ้าของร้านเอาเปรียบ
ตักทรายไม่เต็มถุง
ตอนซื้อรู้แต่ "ปริมาณ" ไม่รู้ "น้ำหนัก" เพราะมีคนแบกถุงทรายขึ้นรถให้
แต่พอตอนยกลงเองจึงรู้ว่ามันหนักจริงๆ
ดังนั้น เมื่อซื้อถุงทรายเที่ยวที่ 2 ผมจะบอกคนตักทรายด้วยเสียงนุ่มนวล
"ครึ่งถุงก็พอ แบ่งให้คนอื่นบ้าง"
คนเมืองจันท์เป็นคนมีน้ำใจครับ
น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้คนกรุงได้ "ความรู้" มากมาย
นอกจากทำให้คนกรุงรู้จัก "เขตสายไหม" แล้ว
ทุกคนยังรู้จักถนนและคลองใน กทม. เป็นอย่างดี
รู้เลยว่าคลองนี้เชื่อมกับคลองอะไร
นอกจากนั้น ยังรู้จักวิธีป้องกันน้ำท่วมหลากหลายวิธี
รวมทั้งการเรียงกระสอบทรายที่ถูกต้อง
เราได้ "ความรู้" จากเหตุการณ์นี้เยอะมาก
เยอะพอๆ กับ "กล้ามเนื้อแขน"
ไม่ต้องเสียเงินค่าฟิตเนส กล้ามก็เป็นมัดๆ ได้
"ความรู้" อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนได้เรียนรู้
คือ ได้รู้ว่าอะไรคือ "ของสำคัญ" ของเรา
เพราะพื้นที่ชั้นสองมีอยู่ไม่มากนัก
รัฐบาลและ กทม. จะเตือนว่าให้ยก "ของสำคัญ" ขึ้นที่สูง
คำเตือนนี้เป็นการบังคับให้เรา "เลือก" หรือ "ไม่เลือก" อะไร
และทำให้เรารู้ว่าอะไรคือ "ของสำคัญ" ที่แท้จริงของเรา
ในอีกมุมหนึ่ง "อมร" บอกว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะทำให้สาวๆ ได้รู้เสียทีว่าการที่ "ผู้ชาย" คนไหนบอกว่าจะนำ "แฟน" ขึ้นหิ้งเป็นการแสดงความรักรูปแบบหนึ่ง
เพราะการให้โอกาสไปอยู่บนที่สูงแสดงว่าเธอเป็น "คนสำคัญ" ของเขา
...ต้องภูมิใจ
อุตส่าห์พักร้อนมาเพื่อแลกหมัดกับเจ้า "น้ำ"
แต่เจ้าน้ำกลับหนีไปถนนวิภาวดีและพหลโยธิน
ไม่กล้าเข้าถนนสายไหม
จนถึงวันอังคารที่ผมกลับไปทำงาน น้ำก็ยังแค่กระทบเท้าขู่
น้องถามว่าบ้านพี่เป็นไงบ้าง
ผมจะบอกว่า "ฝุ่นเยอะ"
แต่ไม่รู้ว่าวันที่ "มติชนสุดสัปดาห์" วางแผง
"ฝุ่น" จะยังมีหรือเปล่า?
หลักการรับมือกับ "น้ำ" ของผมนั้นคือการตั้งรับในจุดที่ต่ำสุด
เอา "ของสำคัญ" ขึ้นที่สูง
อะไรที่เอาขึ้นไม่ได้ หรือขี้เกียจเอาขึ้น
ผมจะคิดแบบ "ป๋า-ป๋า"
โซฟาตัวนี้เก่ามากแล้วอยากเปลี่ยนพอดี
ตู้เย็นซื้อมาตั้ง 10 ปีแล้ว กำลังอยากซื้อใหม่
เฟอร์นิเจอร์บิลด์อิน รำคาญมานานแล้ว กำลังอยากเปลี่ยนใหม่ ฯลฯ
ตั้งใจจะปักหลักสู้กับน้ำดูซะตั้ง
อยากว่ายน้ำบนถนน
อยากลอยแพยางไปทั่วหมู่บ้าน ฯลฯ
"แล้วถ้าน้ำท่วมระดับมิดหัวล่ะ" น้องคนหนึ่งถาม
"ไม่ยาก" ผมหัวเราะ
"หนี"
ครับ ในหนังสือ "สามก๊ก" เขาบอกว่า 1 ในกลยุทธ์การต่อสู้
"หนี" คือ สุดยอดกลยุทธ์
เมื่อ "ของสำคัญ" ที่สุดของเรา คือ "ชีวิต"
เราต้องยกขึ้นที่สูง
เอาชีวิตพ้นจากน้ำให้ได้ครับ
++
จิตอาสา
โดย หนุ่มเมืองจันท์ คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1629 หน้า 24
ก่อนอื่น ผมขอยกเลิกข้อเขียนทั้งหมดในฉบับที่แล้วอย่างเป็นทางการ
เพราะท้าทายไม่ทันขาดคำ "น้ำ" ก็มาเยือนอย่างเป็นทางการเลยครับ
ไม่มีแล้ว "ฝุ่นเยอะ"
น้ำเริ่มเอ่อเข้ามาช้าๆ จนถนนหน้าบ้านเจิ่งไปด้วยน้ำ
ตอนปิดต้นฉบับอยู่ประมาณครึ่งแข้ง
เทียบกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อื่นแล้ว "เด็ก" มากเลย
แต่สำหรับถนนนอกหมู่บ้านที่เชื่อมต่อกับเส้นทางอื่นๆ
ไม่ "เด็ก" เลยครับ
ประมาณ "คนทำงาน" เลยทีเดียว
เพราะเกินหัวเข่าประมาณขาอ่อน
เดินแล้ววิ้บวิ้วดี
ตัวบ้านไม่มีปัญหา แต่การเดินทางไปทำงานมีปัญหา
หมู่บ้านของผมเป็นหมู่บ้านรุ่นเก่าที่มีทะเลสาบอยู่กลางหมู่บ้านที่คนชอบนำปลามาปล่อย
และห้ามจับ
ปลาที่ปล่อยก็มีทั้งปลาดุก ปลาช่อน
และปลาคาร์พ
ตัวเบ้งๆ ทั้งนั้น
ตอนเย็นก็จะมีคนเอาอาหารมาเลี้ยงปลา
ปลาที่นี่จึงเป็นมิตรกับคนอย่างยิ่ง ระดับเอาอาหารปลาวางบนมือ ปลาก็ยังมาตอดเลย
ดังนั้น พอน้ำท่วมครั้งนี้ "ถนน" กับ "ทะเลสาบ" ก็กลายเป็นหนึ่งเดียว
อาณาจักรของ "ปลา" ก็ขยายพื้นที่โดยปริยาย
จากแค่ในทะเลสาบก็กลายเป็นทั้งหมู่บ้าน
สนุกสิครับ
น้องปลาทั้งหลายก็ออกมาเริงร่าเต็มถนนไปหมด
ในมุมหนึ่ง บรรยากาศในหมู่บ้านช่วงนี้จึงโรแมนติกอย่างยิ่ง
เหมือนอยู่บ้านริมทะเลสาบ มีปลาคาร์พว่ายอยู่ริมรั้ว
แต่เวลาเดินลุยน้ำบนถนนต้องระวังหน่อย
ระวังเหยียบปลาครับ
เพราะพอน้ำกระเพื่อม ปลาคงคิดว่ามีคนมาให้อาหาร
มันจะว่ายมารุมตอม
คงคิดว่าขาเราเป็นอาหาร
เห็น "ขนหน้าแข้ง" เป็น "สาหร่าย"
ฟังแล้วดูสนุกจัง
แต่ชีวิตจริงไม่สนุกหรอกครับ
ในหมู่บ้านของผมนั้นมีคนที่ยังอยู่ไม่ถึงครึ่งหมู่บ้าน
ที่เหลือปิดบ้านและอพยพไปแล้ว
ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะแสดงตัวชัดเจนว่าพร้อมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ช่วงน้ำเริ่มตีโอบ กรรมการหมู่บ้านที่ไม่ยอมแพ้ก็จะกระจายเสียงตลอดเวลา
ซอย 4 กำแพงเริ่มพัง
บ่อบำบัดน้ำเสียเริ่มมีน้ำรั่วเข้ามา
ขอแรงคนในหมู่บ้านที่เหลืออยู่มาเป็น "จิตอาสา"
ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี
วันแรก คนจะเยอะที่สุด
แต่พอวันหลังๆ คนก็เริ่มร่อยหรอ หรือสลับกันมา
ตามกำลังที่มีอยู่
ท่ามกลางความเหน็ดเหนื่อยมีความน่ารักแฝงอยู่
อย่างวันหนึ่งที่น้ำเริ่มเอ่อท่วมขึ้นเรื่อยๆ คนกลุ่มหนึ่งก็เริ่มมีความเห็นว่าปล่อยให้น้ำเข้ามาเถอะ
หมู่บ้านของผมค่อนข้างสูง ถ้าปล่อยให้ระดับน้ำเท่ากับด้านนอก
ก็จะสูงขึ้นอีกไม่เกิน 17 ซ.ม.
พอไหว
แต่มีคนหนึ่งแย้งว่าบางบ้านน้ำเริ่มปริ่มแล้ว ถ้าไม่สู้ต่อน้ำคงท่วมบ้านคนกลุ่มนี้อย่างแน่นอน
"เขาไม่อยู่บ้านด้วย สงสารเขา"
ครับ แทนที่จะคิดว่าทำไมต้องสู้เพื่อคนอื่น
แต่เขากลับคิดแบบใจเขาใจเรา
หรือตอนกำแพงกระสอบทรายท้ายซอยเริ่มพัง ก็มีการเสนอให้ขยับมากั้นแนวต่อไปซึ่งจะทำให้บ้านที่อยู่นอกแนวน้ำสูงขึ้น
ทั้งที่บ้านเหล่านั้นไม่มีคนอยู่แล้ว
แต่มีคนแย้งว่าไม่เป็นธรรมกับบ้านเหล่านั้น
น่ารักมาก
แต่ที่น่ารักที่สุดคือ เด็กกลุ่มนี้
เป็นวัยรุ่นชายกลุ่มหนึ่งที่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะมองด้วยสายตารำคาญเป็นประจำ
พวกเขาจะเล่นสเก็ตบอร์ดตรงถนนรอบหมู่บ้านทุกเย็น
รุ่นแรกที่เล่น ตอนนี้ทำงานแล้ว
แต่ยังมีการถ่ายทอดวิทยายุทธ์จากรุ่นสู่รุ่น
รุ่นใหม่ที่เล่นเป็นประจำคือเด็กที่เคยขี่จักรยานเล่นตามพ่อแม่ในวันก่อน
วันนี้เขากลายเป็นวัยรุ่น
ส่วนรุ่นพี่จะจับกลุ่มคุยกันที่โต๊ะหินอ่อน บางคนก็สูบบุหรี่และแอบซดเบียร์
นั่งดูรุ่นน้องเล่นสเก็ตบอร์ดบนถนน
ในสายตาผู้ใหญ่ เด็กกลุ่มนี้คงจะเฮี้ยวและน่าหมั่นไส้
แต่เชื่อไหมครับ วันที่คนในหมู่บ้านต้องสู้กับกระแสน้ำที่ทะลักเข้ามา
เจ้าเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ คือ กำลังหลักในการกรอกทรายและขนทราย
กรอกทรายตั้งแต่ตีสอง ถึงเช้า
กลับไปนอนแล้วตอนบ่ายมาลุยต่อ
ไม่มีบ่นสักคำเดียว
แรงเด็กหนุ่มเหลือเฟือจริงๆ
เย็นวันหนึ่ง ผมเห็นผู้ใหญ่ที่เคยมองวัยรุ่นกลุ่มนี้ด้วยสายตาที่ทั้งหมั่นไส้และรำคาญเดินมาหาเจ้าเด็กสเก็ตบอร์ดกลุ่มนี้
ส่งเบียร์กระป๋องแพ็กใหญ่ให้
แล้วนั่งซดเบียร์ร่วมกันหลังเลิกงาน
ท่ามกลางความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
ผมเห็น "ความงดงาม" เกิดขึ้นมากมาย
ทั้งจุดเล็กๆ ในหมู่บ้านที่น้ำท่วมแค่หน้าแข้ง จนมิดหัว
เห็นคนมากมายที่ช่วยเหลือกันโดยไม่รู้จัก
เห็นน้ำใจที่พร้อมจะหลั่งไหลไปในจุดที่เดือดร้อน
ดวงตาเราอาจเห็น "น้ำ" ที่ท่วมร่างกาย
แต่หากเปิดใจกว้าง
ใจของเราจะสัมผัสได้ถึง "น้ำใจ" ที่งดงามยิ่ง
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ มี "หน่ออ่อน" ของความงดงามผุดขึ้นมาในสังคมไทยให้เห็นอย่างชัดเจน
เป็น "หน่ออ่อน" ของคำว่า "จิตอาสา" ครับ
โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว
ใครจะไปนึกว่าการลงแรงช่วยผู้อื่นหรือช่วยสังคมกลายเป็นความเท่ของคนหนุ่มสาวยุคนี้
ทุกจุดที่ประกาศว่าต้องการ "จิตอาสา"
เราจะพบคนหนุ่มสาวมากมายชักชวนกันไปลงแรง
แบบไม่เกี่ยงความสบาย
มีบางคนใช้วิธีการชวนเพื่อนแบบใหม่
กวน-กวน ตามวัย
เขาบอกว่าถ้าใครยังไม่มีแฟนให้ไป "จิตอาสา"
ไม่รับประกันว่าจะเจอหนุ่ม-สาวหน้าตาดีหรือเปล่า?
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ได้เจอ "คนดี"
++
ชีวิตแบบ"เซน"
โดย หนุ่มเมืองจันท์ คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1630 หน้า 24
ว่าจะไม่เขียนเรื่อง "น้ำท่วม" แต่นึกเรื่องอื่นไม่ออกจริงๆ ครับ
เพราะชีวิตช่วงนี้วุ่นวายแต่เรื่องน้ำท่วม
ผมเชื่อว่าคนกรุงทุกคนต้องปรับวิถีชีวิตกันใหม่ ไม่ว่าจะเป็น "ผู้ประสบภัย" หรือ "ผู้อพยพ"
สำหรับ "ผู้ประสบภัย" แค่การเดินทางก็ต้องวางแผนครั้งใหญ่แล้วครับ
เส้นทางต้องเปลี่ยนไป จะหลบน้ำทางไหน จะใช้รถหรือเรือช่วงไหน
จากเดิมที่ใช้เวลาเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานประมาณ 30 นาที
เชื่อไหมครับว่าบางคนต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง
งงกันไปพักใหญ่ก่อนปรับตัวได้
ชีวิตช่วงนี้เป็น "ชีวิต" ที่มี "ดีไซน์"
ออกแบบการเดินทาง ออกแบบการใช้ชีวิต
ถือเป็นการฝึกสมองรูปแบบหนึ่ง
แม้แต่ "ผู้อพยพ" ที่ละม้าย "นักท่องเที่ยว" ก็เหมือนกัน
ต้องวางแผนตลอด
เพราะแม้จะกลับบ้านที่ต่างจังหวัด แต่ความคุ้นชินก็ไม่เหมือนสมัยเด็ก
ต้องวางแผนการขยับตัว ไปโน่น ไปนี่ ไม่ให้เบื่อ
น้องคนหนึ่งกลับบ้านที่ต่างจังหวัด เธอบอกว่าเหมือนกับไปเที่ยวเลย
ผมถามว่ากลับบ้าน ทำไมจึงเหมือนกับการท่องเที่ยว
เพราะ "ท่องเที่ยว" ต้องหมายความว่าได้ไปสถานที่แปลกๆ ที่ไม่คุ้นเคย
น้องบอกว่าตอนแรกที่กลับบ้าน เธอยังไม่รู้สึกว่าเป็นการท่องเที่ยวเท่าไรนัก
จนได้เข้าร้าน "เซเว่นอีเลฟเว่น"
ความรู้สึกของ "นักท่องเที่ยว" จึงเข้าสิงสู่
เพราะเธอได้พบในสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อนในเมืองกรุง
"เจออะไร" ผมถาม
"สินค้าในร้านมีครบเลย น้ำก็มี ไข่ก็มี มาม่าก็มี"
ครับ บรรยากาศแบบนี้ในเมืองกรุงไม่มี
ส่วน "พี่เก้ง" จิระ มะลิกุล ก็หนีไปบางแสน
"พี่เก้ง" บอกว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการไปต่างจังหวัด คือ ไม่ต้องเจอกับข่าวน้ำท่วม
เขาไม่ยอมรับข่าวสารอะไรเกี่ยวกับ "น้ำท่วม" เลย
"เข้าร้านอาหารร้านไหน ถ้าพี่เจอสรยุทธ พี่เดินออกเลย"
"สรยุทธ" เป็นสัญลักษณ์ของ "ข่าวโทรทัศน์" ครับ
ถ้าร้านไหนเปิดโทรทัศน์ดูข่าว ซึ่งตอนนี้ละเลงแต่เรื่องน้ำท่วม "พี่เก้ง" จะหนีทันที
ครับ การเลือกที่จะไม่รู้ในบางเรื่องและบางครั้งก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งเช่นกัน
แต่ไม่ว่า "ผู้ประสบภัย" หรือ "ผู้อพยพ" ต้องติดตามเหมือนกันก็คือ น้ำที่ท่วมบ้านขึ้นหรือลง
ใครที่อพยพก็จะโทร.มาถามเพื่อนบ้านหรือพี่น้อง
"วันนี้น้ำขึ้นหรือลง"
แค่ได้ยินคำว่า "เหมือนเดิม" ก็ยิ้มแล้ว
แต่ถ้าได้ยินว่า "น้ำลด" ลงแล้ว
แบบนี้เฮเลย
แม้จะแค่ 1 เซนติเมตรก็ตาม
นอกจากนั้น ยังมีการติดตามข่าวกันเป็นทอดๆ เหมือนวิ่งผลัด
ที่ "มติชนสุดสัปดาห์" มีผู้ประสบภัยที่อยู่แนวเดียวกัน 3 คน
คือ เล็ก ผม และอู
"เล็ก" อยู่ลำลูกกา เป็นไม้หนึ่ง
ผมอยู่สายไหม เป็นไม้สอง
"อู" อยู่วัชรพล เป็นไม้สาม
ผมจะถาม "เล็ก" ทุกวันว่าที่บ้านน้ำลดหรือยัง
เพราะถ้าต้นทางลดลง สักพัก "สายไหม" ก็จะลดตาม
"อู" ก็จะถามผมเช่นกันว่าที่ "สายไหม" ลดหรือยัง
เพราะถ้าลดเมื่อไร วัชรพลก็จะได้อานิสงส์ตามมา
ความสุขของเราเป็น "เซนติเมตร" ครับ
ลดลงแค่ "1 เซ็นต์" ก็มีความสุขแล้ว
คงคล้ายผู้หญิงที่ลดความอ้วน
ชั่งน้ำหนักทุกเช้า
เช้าไหนลดลง 1 ขีดก็ดีใจ
บางคนดีใจมาก ตอนเย็นฉลองทันที
"ข้าวขาหมู" 1 จาน
แต่มีบางคนเหมือนกันที่อยากให้ "น้ำท่วม"
น้องคนหนึ่งทำงานอยู่แถวซอยอารีย์
เธอเฝ้ารอว่าเมื่อไรน้ำจะท่วม
เพราะถ้าน้ำมาถึงที่ทำงานเมื่อไร
เจ้านายบอกว่าคงต้องปิดสำนักงาน แต่ไม่ให้พนักงานหยุดงาน
เขาให้เลือกว่าจะไปประจำที่สาขาไหน
ที่สีลม หรือว่าเชียงใหม่
ตอนนี้น้องจึงพยายามแกล้งเปิดประปาลงท่อระบายน้ำทุกวัน
หวังว่าจะเพิ่มปริมาณน้ำในท่อ
จะได้ท่วมเร็วๆ
เธออยากไปเชียงใหม่ครับ
ประสบการณ์เรื่อง "น้ำท่วม" ครั้งนี้ คนกรุงทุกคนจะจดจำไปอีกนาน
ผมชอบมุมคิดของ "นิ้วกลม" ที่บอกว่าอนาคตอีกสักประมาณ10-20 ปี
เพื่อนๆ มานั่งคุยกันเรื่องน้ำท่วมปี 2552
แต่ละคนคงเล่าประสบการณ์ของตัวเองอย่างสนุกสนาน
"ความทุกข์" วันนี้จะกลายเป็น "เรื่องสนุก" ในวันนั้น
แต่คนที่ต้องนั่งเซ็งที่สุด คือ คนที่ไม่ใช่ "ผู้ประสบภัย"
ไม่เคยนั่งเรือ ไม่เคยลุยน้ำเท่าเอว
คนที่โชคดีวันนี้ จะกลายเป็นคนที่เซ็งที่สุดในวันนั้น
ผมนึกถึงเด็กผู้ชายที่ล้อมวงคุยกันเรื่องประสบการณ์ฝึก รด. ที่ "เขาชนไก่"
ทุกคนจะเล่ากันอย่างเมามัน
แม้วันที่อยู่เขาชนไก่จะเป็นวันที่ทรมานที่สุดวันหนึ่ง
แต่พอผ่านไปแล้วนำมาเล่าใหม่
"ความทุกข์" ก็จะกลายเป็น "เรื่องสนุก"
และคนที่นั่งเซ็งที่สุด ก็คือ คนที่ไม่ได้ไป "เขาชนไก่"
ครับ "ความทุกข์" ที่เกิดขึ้นในวันนี้เกิดจากความไม่เคยชิน
แต่เดี๋ยวเราก็ชิน เดี๋ยวก็ปรับตัวได้
และที่สำคัญเดี๋ยวมันก็ผ่านไป
การใช้ชีวิตของคนกรุงวันนี้จึงต้องถือลัทธิเซน
ต้องปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น
แต่อย่าลืมถามทุกวัน
"น้ำลดกี่เซ็นต์แล้ว"
นี่คือ การใช้ชีวิตแบบ "เซน" ที่แท้จริง
++
สะเทินน้ำ-สะเทินบก
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 24
ถึงเวลาที่จะอพยพประจำสัปดาห์แล้ว
อย่างที่ผมเล่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าตอนนี้คนเมืองกรุงชีวิตต้องมี "ดีไซน์" ครับ
ต้องวางแผนตลอดว่าจะทำอย่างไร
บ้านผม หลังจากเจอน้ำตีโอบเข้ามา จนเหลืออีก 1 เซนติเมตร "น้องน้ำ" จะมาเป็นสมาชิกในบ้าน
ชีวิตที่เคยขับเคลื่อนแบบมีปฏิทินเวลาแน่นอน ก็ต้องเปลี่ยนมาวางแผนชีวิตใหม่
เพราะแม้ว่า "น้องน้ำ" จะไม่เข้าบ้าน แต่ทั้งถนนในหมู่บ้านและนอกบ้านล้วนเต็มไปด้วยน้ำ
ไม่ว่าจะเป็นถนนสายไหม พหลโยธิน วิภาวดีรังสิต เพิ่มสิน หรือสุขาภิบาล 5 ทุกเส้นทางล้วนแต่อยู่ในขั้น "ห้ามรถวิ่ง" ทั้งสิ้น
ทุกถนน ระดับน้ำเกินหัวเข่าครับ
ที่ผ่านมาผมใช้วิธีแบ่งเวลา 1 สัปดาห์เป็น 2 ภาค
ภาคผู้อพยพประมาณ 4 วัน อีก 3 วันทำงานที่บ้าน
ให้น้องขับรถ "โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์" ไปส่งด้านหลังหมู่บ้าน
ครับ ใช้คำว่า "ขับ" นั้นถูกต้องแล้ว
เพราะสามารถใช้ได้ทั้ง "รถ" และ "เรือ"
ระดับน้ำแค่ไหนหรือครับ
เอาเป็นว่าพอน้องจอดรถปั๊บ ต้องรีบพุ่งตัวออกทันที
ประตูรถเปิดไม่ได้ เพราะน้ำจะเข้า
ต้องปีนออกทางหน้าต่างครับ
ค่อยๆ ปีนก็ไม่ได้ ต้องพุ่ง เพราะขืนช้าน้ำจะซึมเข้าทางขอบประตู
บทเรียนครั้งนี้ทำให้ผมอยากเสนอ "โตโยต้า" ว่าควรจะปรับปรุงรถฟอร์จูนเนอร์ให้มี "ประตู" ตรง "กระจกด้านหน้า" ด้วย
เวลาลงจากรถจะได้สง่าผ่าเผยหน่อย
วันนี้น้ำที่ถนนสายไหมลดลง และมีรถเมล์สายใหม่บริการ
"สายไหม - ตลาดวงศกร - สุขาภิบาล 5 - วัชรพล"
ผมจึงวางแผนการเดินทางใหม่ ใช้ "รถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน" แทนการปีนออกจากรถฟอร์จูนเนอร์
ผมเผื่อเวลาการเดินทางเพิ่มขึ้น
จากประมาณ 40 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
เพิ่มให้เท่าตัวเลย
2 ชั่วโมง
ออกจากบ้านสายหน่อย จะได้ไม่ต้องรอรถเมล์นาน
ว่าแล้วก็เตรียมเป้บรรจุเสื้อผ้าประมาณ 4 คืน
พร้อมแล้ว ลุยเลย
การเดินทางครั้งนี้คล้ายๆ กับการวิ่ง+ว่ายผลัด 4x100
ไม้แรก นั่งเรือติดเครื่องยนต์ของหมู่บ้าน
จากหน้าบ้านของผม ไปจอดป้ายที่หน้าหมู่บ้าน
จากนั้นลุยน้ำประมาณหัวเข่า ไปที่คอสะพาน
ไม้สอง ลง "เรือพาย"
ไม่ใช่สิ ต้องเรียกว่า "เรือเข็น"
คือ เป็นเรือขนาดนั่งได้ 2 คน แต่แทนที่จะพาย เขาบอกว่าเดินเข็นไปเรื่อยๆ เร็วกว่า
ค่าบริการ 30 บาท
เข็นจากหน้าหมู่บ้านไปหน้าปากซอย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
เรื่อยๆ ไปเรียงๆ จนถึงถนนสายไหม
บนถนนสายไหมช่วงนี้น้ำแค่ตาตุ่ม
ข้ามฝั่งไปยืนรอ "รถเมล์ฟรี เพื่อประชาชน"
ผลัดที่สามครับ
รอประมาณ 20 นาที
รถเมล์ยามน้ำท่วมนั้นต่างจากรถเมล์ช่วงปกติ
เพราะสามารถเรียกจอดได้ตลอดทาง
ผมชอบบรรยากาศบนรถมาก
เหมือนรถ 2 แถวในต่างจังหวัดยุคก่อนเลย
เป็นกันเองมากครับ
"ผู้โดยสาร" จะช่วยเหลือกระเป๋าและคนขับตลอด
"รอคนข้างหลังด้วย"
"เดี๋ยวๆ รอคนในซอยด้วย"
หรือตอนคนแน่นๆ พอรถจอด "กระเป๋า" ก็จะตะโกนถาม "ด้านหลังมีลงหรือเปล่า"
ถ้าไม่มีใครขยับตัวลง
ผู้โดยสารที่อยู่ด้านหลังก็จะตะโกนบอก "ไม่มี ไปได้"
น่ารักมาก
วิ่งได้พักหนึ่ง ถึง "บิ๊กซี" ถนนสายไหม
รถจอดป้ายนิ่งและนาน ผมเห็น "คนขับ" แวบลงจากรถ
ขณะที่กำลังงง "กระเป๋า" ก็ตะโกนแจ้งข่าวด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ
"คนขับปวดท้องค่า ขอเข้าห้องน้ำหน่อย"
สุดยอดด...
เข้าใจครับ เรื่อง "ความทุกข์" แบบฉับพลันอย่างนี้
เก็บอั้นนานไม่ดี
และดูจากเวลาประมาณเกือบ 10 นาทีในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของเขา
คาดว่า "ทุกข์" ของ "คนขับ"
คงจะ "หนัก" พอสมควรทีเดียว
ในช่วงน้ำท่วม "น้องน้ำ" จะทำให้คนเสมอภาคกัน ไม่ว่าคนจน-คนรวย
หน้าหมู่บ้านใหญ่ที่เห็นชื่อก็รู้ว่าบ้านระดับราคาไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทแน่นอน
ผู้หญิงคนหนึ่งโบกรถให้จอด
เห็นการแต่งตัวก็รู้ระดับ แต่ยิ่งชัดเมื่อเธอมายืนอยู่ข้างหน้าผม
ห่างกันประมาณ 3 ช่วงเก้าอี้
แต่กลิ่นน้ำหอมที่โชยมาชัดเจนยิ่ง
ครับ ในสถานการณ์ปกติ เราไม่มีทางได้กลิ่นนี้บน "รถเมล์ฟรี เพื่อประชาชน" อย่างแน่นอน
คนมีเงินอาจมีรถเบนซ์ บีเอ็ม มินิ ฯลฯ
แต่คงไม่มีใครซื้อรถ 10 ล้อ หรือรถบัสเก็บไว้แน่นอน
แฮ่ม...ยกเว้น "เจ๊เกียว"
ผมนั่งรถเมล์ที่เคลื่อนตัวฝ่าสายน้ำไปอย่างช้าๆ
จนถึงปากซอยวัชรพล
ขยับข้อมือดู "นาฬิกา"
2 ชั่วโมงครึ่งครับ
ยืนรอแวบเดียว แท็กซี่ว่างคันหนึ่งผ่านมา
"ไปถนนประชาชื่น"
คนขับทำท่าลังเล ผมเลยย้ำคำที่เขาอยากได้ยิน
คล้ายกับการสั่ง "ก๋วยเตี๋ยว"
"แห้ง ไม่ท่วม"
แท็กซี่ขึ้นทางด่วนทันที แต่อย่างที่รู้ครับ พอเปิดให้ขึ้นฟรี
"ทางด่วน" ก็เปลี่ยนเป็นแค่ "ทางลอยฟ้า"
ติดหนึบ ไม่มี "ด่วน"
ถึง "มติชน" ผมขยับข้อมือดูเวลา
จากบ้านมาที่ทำงาน
4 ชั่วโมงครับ
อย่าแปลกใจ ที่ผมพุ่งพรวดเข้าห้องน้ำทันที
เป็นทุกข์เบาๆ แต่ยาวนาน...
ครับ ชีวิต คือ การเดินทาง
ถ้าเรายังคงเดินทางบนเส้นทางเดิม เราก็จะไม่มีวันที่จะได้ประสบการณ์ใหม่
ต้องเดินทางที่บนเส้นทางใหม่เท่านั้นจึงจะได้
เช่นเดียวกับ "ชีวิต"
ทุกครั้งที่พบกับ "ปัญหา" ใหม่
เราจะพบวิธีการแก้ปัญหาแบบใหม่และบทเรียนใหม่
อย่างครั้งนี้ ผมได้บทเรียนใหม่ 1 บท
ต่อไปถ้าคนขับจอดรถแล้วเข้าห้องน้ำเมื่อไร
ผมจะเดินตามคนขับลงไปทันที
ถือคติ "ทุกข์ที่ดี ไม่มีอั้น"
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย