.
ปูสำลักน้ำ! มรสุมรัฐบาลยิ่งลักษณ์
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 36
"เราไม่สามารถหยุดยั้งพลังของธรรมชาติได้ แต่เราสามารถที่จะป้องกันพลังดังกล่าว
ในการสร้างความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ "
นายโคฟี อันนัน
อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ
หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทยแล้ว พวกเขาเตรียมตัวอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันนโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท หรือเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เป็นต้น
แต่ดูเหมือนพวกเขาไม่ตระหนักว่า สิ่งที่รอรัฐบาลใหม่อยู่ข้างหน้านั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้คาดคิดมาก่อน...
ไม่ใช่พายุการเมืองอย่างที่หลายคนกังวล หากแต่เป็นพายุทางธรรมชาติที่นำพาปัญหาชุดใหม่มาสู่รัฐบาล จนดูเหมือนว่ารัฐบาลวันนี้ยังตั้งตัวไม่ติดกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ถ้าจะกล่าวโทษว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับมือกับปัญหาภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ได้ดี ก็คงจะจริง!
แต่ทุกรัฐบาลก็ดูจะไม่เคยตระหนักว่าภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น เป็นปัญหาความมั่นคงชุดใหม่ ซึ่งหากไม่เตรียมแผนการรองรับแล้ว ก็อาจทำให้รัฐบาลหมดความน่าเชื่อถือลงได้ไม่ยากนัก อย่างน้อยบทเรียนของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดี
ในกรณีนี้ แน่นอนว่าน้ำท่วมอาจจะไม่ได้ทำลายรัฐบาลโดยตรง แต่ก็ทำให้รัฐบาล "หมดสภาพ" ลงอย่างรวดเร็ว เพราะปัญหาน้ำท่วมกลายเป็นภาพสะท้อนอย่างดีถึงความอ่อนด้อยของรัฐบาลในเรื่องของการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องตระหนักมากขึ้นว่า สถานะของตนแตกต่างอย่างมากจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะบททดสอบของการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้เป็นเสมือน "เดิมพันสูง" กับอนาคตของรัฐบาล เพราะกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมที่แม้จะแพ้การเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็พร้อมจะใช้วิธีการต่างๆ ในการกลับเข้าสู่อำนาจครั้งใหม่
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องกระทำจึงมิใช่เพียงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้เท่านั้น หากแต่ยังจะต้องคิดแก้ไข "เกมการเมือง" ที่มากับปัญหาน้ำท่วมด้วย
ในด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจากคณะรัฐมนตรีที่กำเนิดขึ้นนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่มีความเข้มแข็งในมิติของการบริหารจัดการ ดังจะเห็นได้ว่าศูนย์ของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ในอาการที่ถูกวิจารณ์ว่า "มั่ว" และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายคนรู้สึกว่าการตั้งผู้รับผิดชอบมีลักษณะ "ผิดฝาผิดตัว" กล่าวคือ ประธานของศูนย์แทนที่จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ควบคุมงานในด้านของงานบรรเทาสาธารณภัย กลับกลายเป็นการเอารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขึ้นมาเป็นหัวหน้าศูนย์
เรื่องราวเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่งให้คำตอบอย่างดีว่า ความสำเร็จของนโยบาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเลิศหรูของตัวหนังสือ หากแต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดี เพราะไม่ว่าตัวนโยบายจะดีเลิศอย่างไรก็ตาม แต่หากขาดการบริหารจัดการที่ดีแล้ว ก็เท่ากับว่า รัฐบาลไม่สามารถผลักดันให้ความสวยหรูของนโยบายปรากฏเป็นจริงได้
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วมขนาดใหญ่เช่นนี้จึงสะท้อนอย่างมากถึงการขาดการบริหารจัดการที่ดี เพราะแม้นายกรัฐมนตรีและคณะ จะมีความตั้งใจดีเพียงใดก็ตาม แต่การขาดการบริหารจัดการที่ดีนั้น ทำให้กลไกต่างๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นไม่สามารถเดินไปสู่จุดหมายปลายทางที่ได้ตั้งไว้
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดการตรวจสอบกลไกเหล่านี้ ก็ทำให้เกิดคำถามว่า กลไกที่ถูกจัดตั้งขึ้นสามารถจัดการกับปัญหาภัยพิบัติครั้งนี้ได้มากน้อยเพียงใด
ความไม่ตระหนักในมิติของการบริหารจัดการเช่นนี้ ทำให้เกิด "ช่องโหว่" สำหรับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการโจมตีทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกนำมาใช้ขยายผลให้เห็นว่า ผู้นำรัฐบาลนั้น "มือใหม่" เกินไปกับการบริหารประเทศ
และการขยายผลเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนจากข้อความต่างๆ ที่ปรากฏในเว็บไซต์ และที่สำคัญก็คือการใช้โทรทัศน์ที่ประกาศตัวว่าเป็น "สื่อสาธารณะ" เป็นเครื่องมือสำคัญในการโจมตีรัฐบาล
ด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสื่ออนุรักษนิยมสุดขั้วอย่างกรณีเอเอสทีวีนั้น ไม่สามารถขยายผลในวงกว้างได้เท่าที่ควร ในขณะเดียวกันสื่อกระแสหลักก็มีรายการเป็นของตนเอง และไม่สามารถใช้ในการโจมตีทางการเมืองได้มาก เพราะความจำกัดของรายการ ดังนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมที่มีความเชื่อว่า วิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จะเป็นเงื่อนไขในการล้มรัฐบาล จึงจำเป็นต้องอาศัย "สื่อสาธารณะ" เป็นเครื่องมือของการเคลื่อนไหวทางการเมือง
เช่น การเปิดประเด็นว่ารัฐบาลปกปิดข้อมูลเรื่องน้ำท่วม หรือการนำเสนอเพื่อก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความใหม่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผู้นำรัฐบาลดูจะหลงลืมไปว่า กลไกหลักที่จะต้องทำหน้าที่เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ก็คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เพราะ สมช. เป็นหน่วยงานเชิงนโยบายที่มีการประชุมหลายครั้งหลายคราจนนำไปสู่การมี "นโยบายเตรียมความพร้อมแห่งชาติ" อันเป็นผลจากการพัฒนาในอดีตที่เราเคยมีแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ กล่าวคือเป็นการยกระดับจากแผนเป็นนโยบายและอยู่ภายใต้การกำกับของ สมช.
ดังนั้น การบริหารจัดการที่อ่อนแอของรัฐบาลนี้ ยังเป็นคำถามโดยตรงถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วยว่า แล้วนโยบายดังกล่าวยังคงสภาพอยู่หรือไม่
และถ้ายังมีสภาพอยู่แล้ว บทบาทของ สมช. คืออะไร หรือเลขาธิการ สมช. ถูกปลดไป และรองเลขาฯ ที่เหลืออยู่อีก 3 คน ก็ไม่ยอมทำงานให้รัฐบาล จนนโยบายนี้กลายเป็นเพียงตัวหนังสือบนกระดาษ และไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริง
ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้ว ก็สมควรที่จะต้องมีการตรวจสอบและทบทวนบทบาทของ สมช. กันใหม่
สำหรับนโยบายเตรียมพร้อมแห่งชาตินั้น ยังแตกแขนงออกเป็นแผนงานสำคัญอีก 2 ส่วนคือ แผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และแผนบริหารสภาวะวิกฤต ซึ่งก็แทบจะไม่ปรากฏเลยว่าแผนทั้งสองนั้นได้ถูกนำมาใช้มากน้อยเพียงใด
ฉะนั้น อาการ "เกียร์ว่าง" ของสภาความมั่นคงเช่นนี้ บ่งบอกอย่างดีถึงอนาคตของรัฐบาลในการจัดการปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดรวมถึงปัญหาความมั่นคงที่สำคัญอื่นๆ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เป็นต้น ถ้า สมช. ทำตัวเป็น "เกียร์ว่าง" แล้ว การบริหารจัดการงานความมั่นคงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในอนาคตจะอยู่ในสภาพใด เพราะ สมช. เป็นหน่วยทางนโยบายที่จะต้องทำหน้าที่ประสานและกำกับงานความมั่นคงของประเทศ
ซึ่งหาก สมช. ไม่ทำงานเสียแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คงต้องเตรียมพบกับ "วิกฤตการบริหารจัดการความมั่นคง" อย่างแน่นอน
อีกทั้งรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานความมั่นคงในส่วนของ สมช. เอง ก็ไม่ได้แสดงศักยภาพของการเป็น "ผู้บริหารความมั่นคง" ของประเทศแต่อย่างใด นอกจากซ่อนตัวอยู่ในหลืบของทำเนียบรัฐบาล
เรื่องราวเช่นนี้เท่ากับบอกอย่างชัดเจนว่า "นโยบายเตรียมพร้อมแห่งชาติ" จะต้องนำมาคิดและทบทวนใหม่อย่างจริงจังแล้ว (พร้อมๆ กับบทบาทของ สมช.) มิฉะนั้นนโยบายนี้จะเป็นเพียงเศษกระดาษในลิ้นชักของ สมช. เท่านั้น
ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็คือ "แผนพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลัง" ของฝ่ายทหาร ซึ่งเราอาจจะยอมรับว่าแผนนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์สงครามในช่วงปลายยุคสงครามเย็นตามแนวคิดเรื่อง "พื้นที่ส่วนหลัง" (rear areas) หรือพื้นที่หลังแนวสงคราม
ถ้าจะคิดว่าเราเตรียมเฉพาะการรับภัยสงครามก็คงไม่ผิดอะไรนัก แต่หากเปรียบเทียบระหว่างการถูกโจมตีจากข้าศึก กับการถูกโจมตีจากภัยธรรมชาติมีความคล้ายคลึงกันแล้ว แผน/แนวคิดในการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะนำมาพิจารณา
แต่อาจจะเป็นเพราะสงครามเย็นยุติไปพร้อมกับการสิ้นสุดของภัยคุกคามทางทหารแบบเดิม แนวคิดเรื่องการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังจึงดูจะกลายเป็นอดีตไป และก็ไม่เคยถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการเตรียมพื้นที่ส่วนหลังเพื่อรับมือกับภัยคุกคามของธรรมชาติ
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่เคยเตรียมรับมือกับข้าศึกที่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเป็นส่วนหนึ่งของตัวแบบของปัญหาความมั่นคงใหม่
นอกจากนี้ในการฝึกรบร่วมผสม "คอบบราโกลด์" ก็มีการนำเอาแนวคิดเรื่องของการอพยพประชาชน หรือที่เป็นแนวคิดของการอพยพบุคคลที่ไม่ใช่ทหาร (Non-combatant Evacuation Operations) หรือที่เรียกกันว่า "นีโอ" (NEO) มาใช้เป็นแนวทางการฝึก
ซึ่งหากพิจารณาดูในสถานการณ์ที่สังคมไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่เช่นนี้ แนวคิดนี้น่าจะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับรัฐบาลและกองทัพ (ในฐานะกลไกรัฐ) ในการช่วยเหลืออพยพประชาชน
แต่ดูเหมือนสำหรับผู้เกี่ยวข้องแล้ว แนวคิดเรื่อง "นีโอ" เป็นสิ่งที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาปฏิบัติในสถานการณ์สงครามหรือใช้กับพื้นที่ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ และกองทัพได้รับคำสั่งให้ทำการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ดังกล่าว แต่ดูเหมือนเราจะไม่นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่สังคมต้องเผชิญภัยทางธรรมชาติเท่าใดนัก ดังนั้นแนวคิดนี้จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องนำมาคิดคำนึงในอนาคต
ในอีกส่วนหนึ่งในหมู่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และงานบรรเทาสาธารณภัย ก็มีการถกแถลงถึง "แผนบรรเทาสาธารณภัย" (Disaster Relief Plan) กันมาอย่างยาวนานพอสมควร จนถึงวันนี้ไม่มีความชัดเจนว่าแผนนี้ยังคงใช้แนวทางในการปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด
แต่ก็เห็นชัดเจนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นว่า การเตรียมแผนบรรเทาสาธารณภัยเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต
และก็อาจจะต้องถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในงานด้านความมั่นคง
ดังจะเห็นได้ว่า โลกในปัจจุบันได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นในแต่ละปี จะคิดเตรียมแต่เพียงภัยในรูปแบบของสึนามิไม่ได้ หากจะต้องคิดถึงภัยธรรมชาติในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องคิดมากขึ้นในเรื่อง "การฟื้นฟูสังคมไทยหลังน้ำท่วม" เพราะปัญหาในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็มีความต้องการแบบหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์ภัยพิบัตินี้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว การฟื้นฟูสังคมจะเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูจิตใจของประชาชน การให้ความช่วยเหลือในเรื่องของปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ซึ่งจะมีความต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะอุณหภูมิของอากาศที่เริ่มลดลงในหลายพื้นที่
อีกทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องพิจารณาถึงบทเรียนของการทำความสะอาดพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมหรือพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งตัวแบบของน้ำท่วมขนาดใหญ่และเป็นวงกว้างในสังคมไทยครั้งนี้ อาจจะเทียบเคียงได้กับกรณีที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาสึนามิ ซึ่งบทเรียนการจัดการปัญหาของญี่ปุ่นน่าจะเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้ในอนาคต
ปัญหาต่างๆ เช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะต้องแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพและมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการประเทศในยามวิกฤตได้ มิฉะนั้นแล้วกลุ่มอนุรักษนิยมจะฉวยโอกาสโฆษณาว่า รัฐบาลอำนาจนิยมจัดการกับปัญหาภัยคุกคามทางธรรมชาติได้ดีกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย (?)
อย่างไรก็ตาม แม้ในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นนี้อาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดรัฐประหาร แต่ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแล้ว กระแสรัฐบาลเลือกตั้งก็อาจถูกกระแสน้ำหลากพัดพาไป จนอาจจะเกิดอาการ "ปูจมน้ำ" ได้ไม่ยากนัก
เพราะอย่างน้อยตอนนี้เราก็เห็นภาพ "ปูสำลักน้ำ" แล้ว!
++
วิกฤตน้ำ-วิกฤตความมั่นคง -วิกฤตรัฐบาล!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1629 หน้า 36
"น้ำไม่มีเขตจังหวัด...
เขาจะไปในที่ที่เขาอยากไป "
ปราโมทย์ ไม้กลัด
คำสัมภาษณ์ Voice TV
ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า สังคมไทยปัจจุบันจะต้องเผชิญกับอุทกภัยขนาดใหญ่ดังที่กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อข่าวสำคัญไปทั่วโลก
แม้ในช่วงปลายปี 2547 เราต้องพบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่จากกรณีสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย แต่หลังจากนั้นแล้ว ก็มีการทำแผนต่างๆ รองรับ ตลอดรวมถึงระบบเตือนภัย จนก่อให้เกิดความมั่นใจว่า หากเกิดสึนามิขึ้นจริงในมหาสมุทรอินเดียอีกครั้ง เราน่าจะเตรียมตัวอพยพผู้คนและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ หรืออย่างน้อยก็น่าจะป้องกันความเสียหายได้มากกว่าครั้งก่อน
จนถึงเมื่อเกิดพายุพัดดินถล่มหรือกรณีน้ำป่าหลากในหลายพื้นที่ เช่น กรณีของจังหวัดอุตรดิตถ์ก็มีการตระเตรียมระบบเตือนภัยล่วงหน้ารองรับในเวลาต่อมา
สิ่งเหล่านี้คือหลักประกันว่า ปัญหาเก่าจะต้องไม่ซ้ำรอยเดิมในการสร้างความเสียหายไม่ว่าจะเกิดแก่ชีวิตผู้คน ตลอดรวมถึงทรัพย์สินของพวกเขา
แม้นาฬิกาปลุกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติภายในสังคมไทยจะเริ่มส่งสัญญาณให้เราได้ยินเป็นระยะ ประกอบกับหากพิจารณาดูจากสถานการณ์ในภูมิภาคในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นถึงการก่อตัวของพายุในทะเลจีนใต้ที่ถี่มากขึ้น และขณะเดียวกันก็รุนแรงมากขึ้น
ภาพข่าวที่ปรากฏถึงความเสียหายแก่ประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์เป็นคำยืนยันที่ดีในกรณีนี้ หรืออย่างน้อยกรณีพายุนาร์กีสจากทางด้านมหาสมุทรอินเดียที่เกิดแก่พม่าก็คือคำเตือนในกรณีเดียวกัน
เรื่องราวเหล่านี้หากพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะประสบปัญหาเช่นเดียวกับกรณีของประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีอยู่ค่อนข้างมาก
หรือหากพิจารณาย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษสุดท้ายก่อนปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) สหประชาชาติเองก็ตระหนักถึงปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่จนถึงกับมีการระบุให้ทศวรรษของคริสต์ศักราช 1990 (พ.ศ.2533) เป็น "ทศวรรษสากลเพื่อการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ" (The International Decade for Natural Disaster Relief) [ดูมติสมัชชาสหประชาชาติที่ 46/182, ค.ศ.1989]
ดังนั้น หากพิจารณาในบริบทดังกล่าวข้างต้น ก็คือคำตอบอย่างดีว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐและสังคมไทยควรจะหันมาใส่ใจกับการเตรียมตัวรับกับปัญหาภัยคุกคามในลักษณะเช่นนี้มากขึ้น
แม้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถูกวิจารณ์อย่างมากถึงความอ่อนแอของการบริหารจัดการปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในครั้งนี้
ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ถึงความจริงของความอ่อนแอดังกล่าว แต่ก็คงจะต้องคิดต่อไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ถึงข้ออ่อนและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ "สรุปบทเรียน" เพื่อการก้าวเดินไปสู่อนาคต ที่มิใช่การฉวยโอกาสเพื่อใช้สถานการณ์เช่นนี้เพื่อการทำลายทางการเมือง หรือเพื่อการแย่งชิงทางการเมือง !
หากจะทดลองสรุปปัญหาภาพรวมของรัฐบาลในสถานการณ์ปัจจุบันก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องของขีดความสามารถใน "การบริหารจัดการวิกฤต" (หรือที่เรียกในทางทฤษฎีว่า "Crisis Management")
ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลในอนาคตจะต้องเรียนรู้ เพราะในทุกสังคมมีโอกาสเกิดวิกฤตการณ์ขนาดใหญ่ได้เสมอ
และดังได้กล่าวแล้วว่า คำว่า "วิกฤต" นี้ อย่าคิดติดอยู่กับเพียงเรื่องของปัญหาประเทศถูกกองทัพข้าศึกบุกในแบบโลกความมั่นคงเก่าเท่านั้น หากต้องคิดถึงวิกฤตในกรอบกว้างโดยเฉพาะในบริบททางสังคม
การบริหารวิกฤตเป็นการบริหารในภาวะที่ไม่ปกติ หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ การบริหารสถานการณ์ "ผิดปกติ" และเป็นความผิดปกติขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในวงกว้าง จึงไม่ใช่เรื่องที่จะคิดกันแบบเล่นๆ หากแต่จะต้องมีการเตรียมการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแบบแผนของการทำงาน การจัดความสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ตลอดรวมถึงสายการบังคับบัญชาและการสั่งการ
แม้รัฐบาลในภาวะวิกฤตอาจจะดูเหมือนมีการรวมอำนาจ หากแต่ในความเป็นจริงก็คือ "การรวมศูนย์การสั่งการ เพื่อทำให้การบังคับบัญชาและการสั่งการมีประสิทธิภาพ และขณะเดียวกันก็จะต้องมีอำนาจทางกฎหมายที่ชอบธรรมรองรับ เพราะในสถานการณ์ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น ระบอบการเมืองยังคงมีสถานะเป็นระบอบประชาธิปไตย
การรวมศูนย์สั่งการและบังคับบัญชาจึงมิได้มีนัยหมายถึงการอาศัยสถานการณ์วิกฤตเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลอำนาจนิยม หากแต่เป็นการจัดตั้งองค์กรการบังคับบัญชาที่รวมศูนย์เพื่อใช้ในการสั่งการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตเฉพาะหน้า
เช่น อาจจะมีการจัดตั้ง "คณะรัฐมนตรีชุดเล็ก" หรือ "ครม. เฉพาะกิจ" โดยนำเอารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ เข้ามาอยู่ในที่ประชุม เพื่อสังการโดยตรงกับหน่วยงานภายใต้การบังคับบัญชาของตน
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยท่ามกลางภัยจากน้ำขนาดใหญ่นั้น การบริหารจัดการวิกฤตเช่นนี้ต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ 8 ประเด็น ได้แก่
1) การบริหารจัดการข่าวสาร การนำเสนอข่าวสารถึงประชาชนในสถานการณ์วิกฤตเป็นประเด็นสำคัญ เพราะหากการสื่อสารของรัฐบาลไม่ถึงประชาชน (ผู้รับสาร) หรือถึงแต่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจและ/หรือก่อให้เกิดความสับสนแล้ว จะทำให้การสื่อสารของรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือลงทันที
ฉะนั้น จึงต้องตระหนักว่าในภาวะวิกฤตนั้น หากข้อมูลของรัฐบาลไม่ก่อให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนแล้ว ก็ย่อมจะทำให้สถานะของรัฐบาลประสบความสั่นคลอนได้ไม่ยากนัก และอาจนำไปสู่การหมดเครดิตของรัฐบาลตามไปด้วย ซึ่งก็คือวิกฤตที่เกิดขึ้นกลายเป็นวิกฤตการเมืองของรัฐบาลนั่นเอง
2) การบริหารจัดการความตื่นตระหนก ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนเป็นจำนวนมากจะมีอาการ "ตื่นตระหนก" (panic) กับสถานการณ์วิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข่าวสารของรัฐบาลไม่เอื้อให้เกิดความมั่นใจแก่สาธารณชน
ดังนั้น การบริหารความตื่นตระหนกจึงเป็นประเด็นสำคัญในทางจิตวิทยา เพราะมิฉะนั้นแล้วในท้ายที่สุด ความตื่นตระหนกของสังคมจะกลายเป็นวิกฤตในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออาจจะเรียกประเด็นนี้ว่าเป็นการบริหารสภาวะทางจิตใจของประชาชนในสถานการณ์ "ผิดปกติ"
3) การบริหารจัดการความขาดแคลน ในสภาวะวิกฤตทางสังคมนั้น ย่อมตามมาด้วยปัญหาความพยายามในการเก็บสะสม/กักตุนสิ่งของจำเป็น เช่น อาหารและน้ำดื่ม ตลอดรวมถึงของใช้ที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ดังนั้น ข่าวสารที่ไม่ชัดเจนจากรัฐบาลมีมากเท่าใด ความตื่นตระหนกก็มีมากขึ้นเท่านั้น เพราะเกิดความเชื่อว่ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ และขณะเดียวกันก็นำไปสู่การกว้านซื้อสิ่งของต่างๆ
ดังนั้น ตราบเท่าที่รัฐบาลสร้างความมั่นคงทางจิตใจไม่ได้ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความขาดแคลนได้
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จะต้องลดความตื่นตระหนกของผู้คนลงให้ได้ เพื่อทำให้การซื้อสิ่งของจำเป็นต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างปกติ ไม่ใช่เพื่อการเก็บสะสม บนพื้นฐานของความกังวลต่อชีวิตในระยะสั้นๆ
4) การบริหารจัดการระบบคมนาคมขนส่ง ในยามวิกฤต การบริหารจัดการระบบคมนาคมขนส่งเป็นอีกปัญหาที่สำคัญ เพราะความตื่นตระหนกของผู้คนย่อมส่งผลกระทบต่อการเดินทางขนส่ง หรือในอีกด้านหนึ่งสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตเช่นปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอาจจะทำลายเส้นทางคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญได้ ซึ่งย่อมกระทบโดยตรงต่อระบบขนส่งทางบก
ผลเช่นนี้ย่อมจะทำให้เกิดความขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้ง่าย
ดังนั้น การจะลดความขาดแคลนในอีกด้านหนึ่งก็คือ จะต้องหาทางลดความเสียหายที่เกิดแก่ระบบคมนาคมขนส่งให้ได้ หรือทำให้ระบบนี้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
5) การบริหารจัดการระบบงานสาธารณสุข ในกรณีที่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่นั้น ปัญหาอีกประการหนึ่งที่จะต้องนำมาคิดคำนึงในการบริหารของรัฐบาลก็คือ ปัญหาเชื้อโรค ปัญหาโรคระบาด เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในสภาพที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติขนาดใหญ่มักจะตามมาด้วยโรคระบาด
ดังนั้น การบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งที่จะต้องถูกตระเตรียมขึ้นเพื่อรองรับต่อปัญหาดังกล่าว มิฉะนั้นแล้ว หลังภัยธรรมชาติจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาภัยคุกคามอีกแบบหนึ่ง
6) การบริหารจัดการความสงบเรียบร้อย ปัญหาความตื่นกลัวในสถานการณ์วิกฤต มักจะทำให้เกิดความโกลาหลและวุ่นวาย และขณะเดียวกันก็มักจะถูกผสมโรงด้วยการฉวยโอกาส เช่น ในเรื่องของการปล้นสะดม ซึ่งลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลกเมื่อประเทศต้องเผชิญกับวิกฤต
การรักษาความสงบเรียบร้อยทางสังคมเป็นเรื่องที่รัฐบาลเพิกเฉยไม่ได้ เพราะถ้าประชาชนไม่มั่นใจในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เช่น ความขาดแคลนอาหารจะนำไปสู่การปล้นร้านค้า เป็นต้น
7) การบริหารจัดการองค์ความรู้ ในวิกฤตแต่ละครั้ง มีความหลากหลายของปัญหาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสิ่งที่ต้องการอย่างมากก็คือ การมี "องค์ความรู้" เพื่อให้รัฐบาลใช้ในการบริหารจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น
สิ่งที่รัฐบาลจะต้องตระหนักอยู่เสมอก็คือ สถานการณ์วิกฤตเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วประกอบกับมีความรุนแรงของสภาพปัญหานั้น การคิดแก้ปัญหาโดยปราศจากความรู้และความเข้าใจอาจจะทำให้ปัญหาแก้ไขได้ลำบากมากขึ้น
ดังนั้น ในยามวิกฤต จะต้องคิดถึงการจัดตั้ง "ศูนย์ความรู้" ในลักษณะที่เรียกกันเล่นๆ ว่าเป็น "ทิ้งก์แท้งก์" (Think Tank) เพื่อเป็นฝ่ายอำนวยการในการนำเสนอถึงข้อพิจารณาต่างๆ
เพราะในท้ายที่สุด รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ซึ่งก็อาจจะเทียบเคียงได้กับระบบงานฝ่ายอำนวยการของทหารในการนำเสนอข้อพิจารณาให้แก่ผู้บังคับบัญชา เพื่อใช้ในการตัดสินใจทำแผนการรบ เป็นต้น
ในกรณีเช่นนี้ ฝ่ายการเมืองจะต้องตระหนักอีกด้วยว่า เขาไม่ใช่คนที่มีความรู้ในเรื่องที่เป็นวิกฤต แต่นายกรัฐมนตรี หรือ "ครม. เฉพาะกิจ" จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ไขปัญหาจากข้อเสนอของ "ศูนย์ความรู้" ที่ถูกจัดตั้งขึ้น
ดังนั้น ฝ่ายการเมืองอาจจะเป็นผู้ชี้แจงแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหา แต่เมื่อเป็นเรื่องทางเทคนิคแล้ว ควรจะให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นในการอธิบายแก่ประชาชน เพราะเมื่ออธิบายบนพื้นฐานของความไม่รู้และไม่เข้าใจแล้ว ก็อาจจะก่อให้เกิดความสับสนและอาจจะทำให้สาธารณชนเกิดความตื่นตระหนกได้มากขึ้น
8) การบริหารจัดการทางการเมือง ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะต้องพิจารณาเสมอในการแก้ปัญหาวิกฤตก็คือ การบริหารจัดการทางการเมือง กล่าวคือ นักการเมืองจะต้องตระหนักไว้เสมอว่า วิกฤตคือสถานการณ์ที่เป็นความเป็นความตายของประเทศชาติ
ความพยายามที่จะใช้วิกฤตเป็นเครื่องมือของการบ่อนทำลายทางการเมือง เป็นสิ่งอันตรายและจะกลายเป็นวิกฤตในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในท้ายที่สุดการกระทำเช่นนี้ก็คือการทำลายตัวเองนั่นเอง
สุดท้ายนี้สิ่งที่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติจากน้ำท่วมในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็น "วิกฤต" ของภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งก็คงจะต้องใช้ระยะเวลาการฟื้นฟูอีกพอสมควร
แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องถือเป็น "โอกาส" ของการคิดทบทวนในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของ "การบริหารจัดการน้ำ" ของประเทศ
และก็คงต้องยอมรับว่าถึงเวลาที่จะต้องคิดกันอย่างจริงจังแล้ว
เพื่อก่อให้เกิด "ความมั่นคงของน้ำ" ขึ้นในสังคมไทยในอนาคต
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย