http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-28

ฯกฤษฎีกาอภัยโทษ,ให้ก่อนรับ,"กล่องยังชีพ" โดย มุกดา,สุวพงศ์,สรกล

.


พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ โยนหิน ถามแนวทาง...กลางสายน้ำ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1632 หน้า 20


ถ้าโยนหินลงไปในขณะที่น้ำท่วมก็คงจมหายไปเฉยๆ ข่าวพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ จึงไม่ใช่การโยนก้อนหิน แต่เป็นการโยนระเบิดลงไป

ในน้ำท่วมพอระเบิดแตกออกก็จะเห็นน้ำพุ่งเป็นลำสูงกระจายออกไปรอบๆ

แรงระเบิดทำให้กระต่ายทั้งหลายออกมาเต้นส่งท้ายปี ทั้งกระต่ายเหลือง กระต่ายแดง และกระต่ายหลากสี

มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจนเมื่อมีข่าว พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ผ่านทางสื่อต่างๆ ทำให้ดูออกว่า การต่อสู้ทางการเมืองไม่ลดระดับลง

ง่ายๆ ยังไม่เห็นทางปรองดอง แต่มีท่าทีว่าน่าจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

น้ำไม่ทันลด เส้นทางเดินก็โผล่แล้ว แต่ถ้าเดินตามแนวทางนี้ที่รออยู่คือความพินาศ

มีผู้วิเคราะห์ทางการเมืองกรณี ข่าว พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ดังนี้...


1. พ.ร.ฎ.อภัยโทษครั้งนี้รัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว ต้องเป็นวาระลับและต้องทำให้เสร็จก่อน 4 ธันวาคม 2554 ไม่ว่าจะมีเรื่องของทักษิณอยู่หรือ

ไม่ก็ตาม คุณเฉลิม อยู่บำรุง ได้ประกาศว่าจะนำ ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านเมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งแต่ไม่ได้บอกว่าจะนำกลับมาเมื่อไรและอย่างไร

การพิจารณา พ.ร.ฎ.อภัยโทษทำโดยประกาศว่าเป็นเรื่องลับ คนที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากห้องประชุม ก็เหมือนการประกาศว่า "โปรดฟังอีกครั้ง เรากำลังจะมีการพิจารณาเรื่องลับ" ดังนั้น เรื่องลับจึงถูกเปิดเผยในทันที เพราะมีผู้อยากรู้อยากเห็นก่อนการประชุมจะสิ้นสุดเสียอีก

และผู้ที่ได้ข่าวก็สรุปว่า... เพื่อทักษิณ...ทั้งที่ไม่รู้รายละเอียด

2. ในความเป็นจริงประเทศนี้มีเจ้าของ ถ้าเป็นบริษัทมหาชนก็ต้องบอกว่ามีผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่สามกลุ่มซึ่งมีหุ้นรวมกันถึง 60% อีก 40% เป็นของประชาชนผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีความเห็นไม่เหมือนกัน ดังนั้น เรื่องใดๆ ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะผ่านมติที่ประชุม

เรื่องแบบนี้จึงเหมือนการถามใจ อีกฝ่ายว่าคิดอย่างไร (แหล่งข่าวยืนยันว่าไม่เคยมีการตกลงกันในเรื่องนี้ ในระดับบนมาก่อนที่จะมีข่าวทางสื่อ)

3. แนวคิดเรื่องการขออภัยโทษ... มีผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวแบบนี้ มาหลายปี โดยเข้าใจว่านี่เป็นวิธีปรองดอง แต่ถ้าคุณทักษิณคิดว่าตนเองไม่ผิด ก็คงไม่ยอมเข้าคุกแม้แต่วันเดียว และก็ไม่รู้จะขออภัยเรื่องอะไร พวกเสื้อแดงบางส่วนก็คิดแบบนี้ ถือว่าเป็นเรื่องเสียศักดิ์ศรีและยังคิดว่าถ้าทักษิณยอมรับว่าผิด ยอมรับการอภัยโทษ ก็คือการเลิกคิดต่อสู้ พวกเขาก็จะต่อสู้ต่อไปด้วยตนเอง

ในขณะที่เสื้อแดงบางกลุ่มก็คิดว่า การได้รับการอภัยโทษเป็นเรื่องดี จะได้กลับมาช่วยกันทำงาน ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วหลังเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ทักษิณคิดอย่างไร?

4. ฝ่ายตรงข้ามทักษิณต้องต่อต้าน พ.ร.ฎ.อภัยโทษสุดกำลังเพราะคิดว่าถ้าทักษิณกลับเข้ามาได้ หลายคนหลายกลุ่มต้องถูกล้างแค้นแน่จึงต้องออกแรงแสดงความเห็นคัดค้าน บางคนไปจนกู่ไม่กลับถึงขนาดเรียกร้องให้ ทหารทำการรัฐประหาร เพื่อปิดประตูไม่ให้ทักษิณกลับเข้าประเทศไทย ส่วนการจะเอาเรื่องนี้ไปอภิปรายในสภาคงไม่มีผลอะไรนอกจากขยายความขัดแย้งให้มากขึ้น

5. ผลสุดท้ายแม้ทุกอย่างจะจบลง ว่า พ.ร.ฎ.อภัยโทษไม่เกี่ยวอะไรกับทักษิณ แต่ทุกฝ่ายจะมีข้อสรุปของตนเอง ฝ่ายต่อต้านก็จะรู้สึกว่านี่เป็นการหลอกล่อและอาจจะมีการทำอีก

ฝ่ายเสื้อแดงก็จะมีข้อสรุปที่ต่างกันหลายระดับแล้วแต่ว่าจะเป็นแดงส้ม แดงชมพู แดงธรรมดา หรือแดงดำ

ตัวทักษิณเองก็จะได้รับข้อสรุปที่ลึกซึ้งเช่นกัน แต่วันนี้มีเขาทางเลือกเดียวคือ สู้ตายร่วมกับคนเสื้อแดงต่อไป กลุ่มเสื้อแดงก็จะยิ่งขยายกำลังมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมองเห็นปัญหาความยุติธรรมที่มีสองมาตรฐาน ในขณะที่คนเสื้อแดงต้องติดคุก คนเสื้อเหลืองไม่ต้องอยู่ในคุก

ความหวังเดิมของคนเสื้อแดงคือการเลือกตั้ง คิดว่าเมื่อชนะแล้วจะได้ความยุติธรรมคืนมา สุดท้ายเมื่อรู้ว่าแม้ได้เป็นรัฐบาลก็ไม่มีอำนาจจริง

แถมอาจจะยังโดนโค่นล้มได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการหลากหลาย ความเชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภาก็จะสั่นคลอน และเริ่มคิดหาแนวทางอื่น



ข้อสรุปเรื่องความคิดการเมือง
ในขณะเกิดมหาอุทกภัย ปรองดองหรือแตกแยกมากขึ้น

เมื่อประเทศไทยมาถึงจุดที่มีนายกฯ หญิงซึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงเกินครึ่ง แต่ฝ่ายที่ไม่เลือกส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ บังเอิญเป็นส่วนหนึ่งที่มีฐานะทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง

เพียงเริ่มต้นรัฐบาลก็พบกับปัญหามากมาย เพราะเมื่อเสียงนกหวีดดังขยับตัวจะออกวิ่ง น้ำก็ท่วมถึงหน้าอก จึงต้องเปลี่ยนจากนักวิ่งเป็นนักว่ายน้ำ คิดเอาเองก็แล้วกันว่าจะเป็นอย่างไร

แม้มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นจะกำลังทำลายส่วนหนึ่งของประเทศ แต่การต่อสู้ทำลายล้างกันทางการเมืองยังรุนแรงกว่า สู้กันทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ผู้นำของแต่ละฝ่ายหรือแกนนำ แต่ความขัดแย้งได้ถูกฝังลึกในจิตใจของพวกลูกหาบ ลูกสมุนและในมวลชนทุกระดับ

มีตัวอย่างความคิดบางเรื่อง...

1. การประเมินสาเหตุมหาอุทกภัยในมิติของการเมือง

ฝ่ายเสื้อแดงส่วนใหญ่คิดว่ามีการกักน้ำและตั้งใจปล่อยน้ำลงมาท่วมเพื่อทำลายรัฐบาล โดยดูจากสถิติการเก็บและปล่อยน้ำของเขื่อน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีโอกาสวางแผนป้องกันใดๆ ทั้งสิ้นเพราะเมื่อรับตำแหน่งน้ำก็ท่วมแล้ว การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในพื้นที่กว้างก็ไม่สามารถทำได้ทั่วถึงและการฟื้นฟูเยียวยาซึ่งจะมีหลังน้ำลด ก็จะเกิดข้อผิดพลาดอย่างมากมายเนื่องจากมีจำนวนผู้เดือดร้อนเป็นล้านครอบครัว

ดังนั้น รัฐบาลจะถูกโจมตีจากฝ่ายค้านและกลุ่มที่ต่อต้านอย่างหนัก ซึ่งก็เป็นไปตามเกมการเมือง แต่ยิ่งทำให้กลุ่มเสื้อแดงมั่นใจว่า นี่คือแผนปล่อยน้ำท่วมเพื่อล้มรัฐบาล จึงต้องเตรียมต่อสู้ทุกรูปแบบ

2. ความรู้สึกไม่เท่าเทียมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กับความคิดพึ่งกำลังของชุมชนตนเอง

การกักน้ำไม่ให้ไหลลงทะเลอย่างธรรมชาติเพราะว่ากลัวว่าจะเข้าไปท่วมเขตใจกลางเมือง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงิน ศูนย์เศรษฐกิจ ทำให้คนจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่รอบนอกต้องจมอยู่ในน้ำเน่านานหลายเดือนแต่ในความเป็นจริงแม้ยอมปล่อยน้ำเข้ามาในระบบคูคลองโดยไม่ยอมให้ท่วมพื้นที่ชั้นในก็จะช่วยระบายน้ำได้น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ตกค้างอยู่ทางตอนเหนือ ถ้าจะให้ระบายเร็วก็ต้องปล่อยให้น้ำหลากไหลผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำท่วมแบบสมัยโบราณ ซึ่งหลายฝ่ายคิดว่าได้ไม่คุ้มเสีย

ดังนั้น เราจะเห็นการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดของประชาชนทั้งที่เลือกรัฐบาลและไม่เลือก พวกเขาอาศัยอยู่ในสภาพน้ำท่วมขังหลายเดือน จึงเกิดการรวมตัวต่อรองเพื่อรื้อคันกั้นน้ำจนกระทั่งไปถึงรูปแบบการแอบรื้อ แอบเจาะ แอบกรีด เพื่อให้น้ำไหล น้ำจะได้ไม่เน่าเสีย

นี่เป็นธรรมชาติของการต่อสู้ชนิดหนึ่งและก็จะทำให้น้ำไหลเข้ากรุงเทพฯ ชั้นในแบบธรรมชาติซึ่งก็คงจะไม่มากมายจนกระทั่ง กทม. ป้องกันไม่ได้

สำหรับรัฐบาลก็ขอให้คิดว่าการดิ้นรนต่อสู้ของประชาชนเป็นการลดแรงกดดันทางความรู้สึก เป็นทั้งการระบายอารมณ์และระบายน้ำลงสู่ทะเล


ข้อดีทางการเมือง จากมหาอุทกภัยครั้งนี้ คือการที่ชุมชนต่างๆ ได้ร่วมมือสู้กับอุทกภัย และสู้กับคนทั้งกับรัฐบาล อำนาจท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้แต่ชุมชนที่มีผลประโยชน์และความคิดไม่เหมือนกัน

ที่ดีอย่างยิ่งก็คือทุกฝ่ายพยายามเจรจาหาเหตุผล และสร้างข้อตกลงอย่างละเอียด ระดับเป็นเซนติเมตร คนในชุมชนบางแห่งอยู่กันมาตั้งนานเพิ่งจะรู้จักกันในช่วงน้ำท่วม และกระแสน้ำก็ได้สร้างผู้นำชุมชนขึ้นอีกหลายคน

วันนี้ทั้งสีแดง สีเหลือง และสีอื่นๆ ก็จะได้บทเรียนว่า ความสำคัญของคน สถานที่ และองค์กร ไม่เท่ากัน เมื่อจำเป็นต้องเลือกบางคน บางแห่ง จึงต้องมี ...ผู้เสียสละ...ถ้าคิดว่าไม่ยุติธรรมก็ต้องรู้จักเรียกร้อง

พวกเสื้อแดงอาจจะแอบยิ้มอยู่ในใจ แล้วบอกว่า... บ้านเมืองนี้ไม่มีมาตรฐานเรื่องความยุติธรรมมาหลายปีแล้ว ทำไมจะต้องมามีตอนน้ำท่วมปีนี้ละ

สถานการณ์ทางการเมืองวันนี้ความขัดแย้งจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้น เหมือนการสะสมน้ำในเขื่อน ระดับน้ำสูงขึ้นไปเรื่อยๆ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ก็เหมือนการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนลดแรงดันได้ระดับหนึ่ง แต่น้ำก็ถูกปล่อยได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะมีคนหลายกลุ่มไม่ต้องการให้ปล่อยน้ำต่อไป

ดังนั้น น้ำจะถูกสะสมให้มีระดับสูงขึ้น ปริมาณมากขึ้นไปอีก แรงดันที่มีต่อเขื่อนจะมีมากมายมหาศาล เขื่อนจะทนได้อีกนานเท่าไร?



แนวทางปรากฏ
ถ้าน้ำลดจะยิ่งเห็นชัด

หลังเลือกตั้งได้เกิดกรณีมหาอุทกภัย ซึ่งเป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกัน แต่เวลา 3 เดือนที่ผ่านไปในสายน้ำ กลับมองไม่เห็นว่าทั้งสองฝ่ายได้ใช้โอกาสนั้นสร้างความปรองดอง มีแต่การขยายเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่

เมื่อมีข่าว พ.ร.ฎ.อภัยโทษ แม้ยังไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนการต่อต้านก็เริ่มแล้ว ถึงขนาดเรียกร้องให้ใช้อำนาจปืนมาล้มรัฐบาล

หลังน้ำลดถ้ารัฐบาลทำงานบริหารเรื่อง เยียวยา ฟื้นฟู บูรณะได้ดี ก็จะถูกโจมตีแบบพอรับไหว แต่ถ้ามีข้อผิดพลาดใหญ่ๆ ก็มีโอกาสถูกถล่มจนเสียหายได้ การปะทะหนักจะเริ่มหลังปีใหม่


วันนี้เหยี่ยวเหลืองและกลุ่มอำนาจเก่ากำลังหัวเราะเพราะคิดว่ารัฐบาลคิดว่าฐานรากของรัฐบาลถูกน้ำเซาะจนเสียหาย ไม่น่าจะอยู่ได้นานแล้ว ถ้าเพิ่มแรงกดดันและหาเรื่องที่รัฐบาลทำงานพลาดสักสองสามเรื่องซ้ำเติมเข้าไป โอกาสที่จะล้มก็เป็นไปได้สูง

อีกมุมหนึ่งพวกเหยี่ยวแดงก็ลุ้นว่าถ้าทักษิณยังถูกไล่เหยียบจากกลุ่มอำนาจเก่าอย่างไม่ปรานี เช่นเดียวกับคนเสื้อแดง และการเคลื่อนไหวเรื่องความยุติธรรมเรื่องสองมาตรฐานทำไม่สำเร็จในระบบปกติ ก็จะยกระดับเป็นการเคลื่อนไหวให้ใหญ่ขึ้น บีบบังคับให้หาตัวผู้รับผิดชอบ กรณี 91 ศพ โดยไม่กังวลกับความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น

สิ่งที่พวกเขาไม่กลัวคือการรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะพวกเขาคิดว่าถ้าเกิดการรัฐประหารขึ้น ทุกอย่างจะจบลงในยกเดียว ไม่น่าเชื่อว่าเหยี่ยวทั้งสองฝูงต้องการสิ่งเดียวกัน

ดังนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอด 5-6 ปี ที่ผ่านมา จะถูกกำหนดแนวทางแก้ไขแบบธรรมชาติ ทั้งสองฝ่ายจึงมีความเห็นเหมือนกัน นั่นคือการใช้ความรุนแรง เป็นเครื่องตัดสินว่าใครจะได้รับชัยชนะเด็ดขาด

การท้าดวลครั้งนี้จะพัฒนาเป็นสงครามได้ช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหนุน และสถานการณ์อื่นที่แทรกซ้อน ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดจะเหลืออยู่เป็นกลุ่มสุดท้าย ซึ่งอาจจะไม่ใช่สองกลุ่มหลักที่ขัดแย้งกันอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ได้

แต่ครั้งนี้อาจไม่ได้เห็นเลือดนองแผ่นดินเพราะมันจะมีแต่ ...น้ำและน้ำ... ไม่มีใครที่จะมีเรี่ยวแรงออกมารบกันได้มากนักเพราะไม่มีข้าวกิน

อยู่ก็ยากลำบากเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ ถึงวันนั้นต้องมาวัดกันว่า ใครจะทนอยู่ได้นานกว่ากัน แต่ทุกคนจะได้รับความยากลำบากเป็นผลตอบแทน เหมือนกัน

(โอกาสหน้าจะบรรยายความทุกข์ยากแบบนั้นให้ฟังอย่างละเอียด ถ้าไม่เกิดมหาอุทกภัยคงเข้าใจยากแต่วันนี้เจอครั้งเดียวบรรยายง่ายขึ้นเยอะ)



++

ให้ก่อนรับ
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:24 น.


ปรากฏการณ์ กรณีพระราชกฤษฎีกาของพระราชทานอภัยโทษ ที่มีกระแสคัดค้านสูง จนรัฐบาลเพื่อไทยต้องถอยนั้น

ไม่ว่าจะ ถอยแบบถอยจริงๆ

หรือถอยแบบสับขาหลอก ก็ตาม

แต่การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องมานั่งเขียนจดหมายด้วยลายมือถึงคนไทย เพื่อ "ยุติเรื่อง"

แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณรู้ดีว่า เรื่องนี้ละเอียดอ่อน และไม่อาจปล่อยให้เรื่องนี้ "บานปลาย" ออกไปได้

เพราะอาจ "เลยเถิด" เหนือการควบคุมได้

อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ กับการยุติเรื่องดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่รักชาติบ้านเมือง รู้จักคำว่า FORGIVE AND FORGET ด้วยนั้น

ประเด็นนี้น่าพิจารณา

เพราะถือเป็น "การร้องขอ" ต่อสังคมโดยตรง


แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งน่าจะรวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคนเพื่อไทยด้วยน่าจะรู้ดีว่า การร้องขอดังกล่าวยังอยู่ห่างไกลความจริงนัก

ความรู้สึกของคนในสังคมจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะ "ขาประจำ" ไม่ได้ลดราวาศอกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แม้แต่น้อย

แน่นอนคงเป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวใจ "ขาประจำ" ให้ยอมอภัยและลืมทุกสิ่งทุกอย่างลงเสีย

แต่ก็อาจไม่ยากจนเกินไปนักที่จะดึงเอาฝ่ายที่ไม่ใช่ "ขาประจำ" มาผนึกรวมกับมวลชนที่พร้อมจะให้การสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณและเพื่อไทย มากระชับพื้นที่ "ขาประจำ" ที่ว่าให้กลายเป็นเสียงส่วนน้อยเสีย

ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ พ.ต.ท.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ไม่อาจเป็นเพียง "ผู้ร้องขอ" FORGIVE AND FORGET เท่านั้น

แต่ต้องโชว์การเป็น "ผู้ให้" ที่ดี "ผู้ให้" ที่จริงจัง แก่สังคมโดยรวมก่อน

เพราะมีแต่การ "ให้" ก่อนเท่านั้น จึงจะสามารถ "รับ" เป็นการตอบแทนได้


น่าเสียดาย 3 เดือนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่อาจเล่นบทบาท "ผู้ให้" อย่างที่หลายคนคาดหมายได้

ตรงกันข้าม กลับมีเสียงเย้ยไยไพ ว่า "ดีแต่โม้" "โง่ทำไม่เป็น" อีกต่างหาก

และที่เสียหายหนักสุด ก็คงไม่พ้นเรื่องน้ำท่วม

ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นอกจาก "ความตั้งใจ" แล้ว เรื่องอื่นๆ สอบตกหมด

ระยะแรก อาจพอแก้ตัวได้ว่าที่จับต้นชนปลายเรื่องน้ำท่วมไม่ถูกเพราะไม่คิดว่าจะเป็นมหาวิกฤตเช่นนี้ การบริหาร การแก้ไข จึงเต็มไปด้วยความสับสนและมากด้วยปัญหา

แต่ในตอนหลังซึ่งควรตั้งตัวได้แล้ว แต่กลับอยู่ในภาวะมะงุมมะงาหราเหมือนเดิม

ไม่สามารถสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการได้

ยังแตกเป็นเสี่ยงทั้ง ศปก.,กทม., ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด

จนรัฐบาลตกอยู่ในภาวะที่ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่น ว่าจะนำพาชาวบ้านและประเทศชาติออกจากวิกฤตได้



ปรากฏการณ์ที่ม็อบออกมาจัดการปัญหา "น้ำท่วม"-"น้ำขัง" ด้วยตนเอง ภายใต้ความโกรธ ความเคียดแค้น

คือสิ่งที่แสดงให้เห็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาลชัดเจน

และตอกย้ำว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่อาจดำรงสถานะ "ผู้ให้" ประชาชนอย่างแท้จริงได้

ดังนั้น การที่จู่ๆ มาเล่นบท "ผู้รับ" อย่างเรื่องอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แรงสนับสนุนจึงไม่เพียงพอ

แถมถูกตั้งคำถามมาฉวยจังหวะ "รับ" ในขณะที่ชาวบ้านกำลังจมน้ำตายอีกด้วยหรือ

ไร้ความชอบธรรมยิ่ง

นี่จึงเป็นคำตอบว่า การเรียกร้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ FORGIVE AND FORGET จะเกิดขึ้นจริงเมื่อใด

แน่นอนคำว่า "ให้" (ประชาชน) จะต้องเกิดขึ้นก่อน

เกิดขึ้นจริง

เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น

พ.ต.ท.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเพื่อไทยถึงจะ "ได้รับ" โดยชอบธรรม



++

"กล่องยังชีพ"
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


เป็นข่าวที่มีสีสันที่สุดข่าวหนึ่งในรอบหลายปี

นั่นคือ ข่าวการปล้นบ้าน "สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" ปลัดกระทรวงคมนาคม

การปล้นครั้งนี้ ถือเป็นการปล้นที่แปลกมาก

ประการแรก "เจ้าทุกข์" ไม่อยากให้เป็นข่าว

และแจ้งทรัพย์สินที่ถูกปล้นต่ำกว่าความเป็นจริง คือแค่ 5 ล้านบาท

แต่แค่เงินที่ "ตำรวจ" ไล่ล่ามาได้ตอนนี้เกือบ 20 ล้านบาทแล้ว

มากกว่าที่ "เจ้าทุกข์" แจ้งความไว้

ประการที่สอง ทรัพย์สินที่ปล้นไปจากบ้านไม่ใช่ "เพชร-ทอง" หรือของมีค่าอื่น

แต่เป็น "เงินสด"

แค่ที่รวบรวมได้ตอนนี้เกือบ 20 ล้านบาท ก็ถือว่ามากแล้ว

แต่ "ตำรวจ" บอกว่าน่าจะถึง 100 ล้านบาท

ว่ากันว่าไม่มีใครเก็บ "เงินสด" ไว้ในบ้านมากมายขนาดนี้หรอกครับ

ยกเว้นคนที่ต้องการปกปิดร่องรอยทางการเงิน ไม่อยากฝากแบงก์ให้มีหลักฐาน

กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเก็บเงินสด จ่ายเงินสด ส่วนใหญ่ที่เคยได้ยินจะเป็น "นักการเมือง"

เป็นครั้งแรกที่เพิ่งรู้ว่าข้าราชการระดับสูงก็มี "เงินสด" เก็บในบ้านถึง 100 ล้านบาทเหมือนกัน

ไม่แปลกที่ใครจะคิดต่อว่าขนาด "ปลัด" ยังขนาดนี้

แล้ว "รัฐมนตรี" จะขนาดไหน


ประการที่สาม เป็นการปล้นครั้งแรกที่ "เจ้าบ้าน" มี "เงินสด" มากจนสร้างความทุกข์ให้กับโจร

เพราะ "ยกไม่ไหว-ขนไม่หมด"

ประการที่สี่ แซวกันว่า "ปลัดสุพจน์" นั้นต่อไปห้ามเรียกชื่อเขาเป็นภาษาไทย

ต้องเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษจึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริง

เพราะฝรั่งจะเอานามสกุลขึ้นก่อนชื่อ

...มิสเตอร์ทรัพย์ล้อม สุพจน์

ประการที่ห้า ตามปกติเมื่อตำรวจจับโจรและยึดทรัพย์ที่ปล้นมาได้

"เจ้าทุกข์" ต้องดีใจ

แต่คดีนี้น่าจะเป็นคดีเดียวที่ "เจ้าทุกข์" ภาวนาอย่าให้ตำรวจจับโจรได้

เพราะรู้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

ครับ สุดท้ายผลต่อเนื่องจากคดีนี้นอกจาก "สุพจน์" จะถูกโยกไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว

ป.ป.ช.ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน "สุพจน์"

ปปง.ตรวจสอบการเงิน

นั่นคือ ผลกระทบโดยตรงกับ "สุพจน์"

แต่ผลต่อเนื่องในทางการเมือง คนที่ได้รับผลสะเทือนโดยตรง คือ "โสภณ ซารัมย์" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม



อยู่ดีๆ "ส้ม" ก็หล่นมาเข้าทางพรรคเพื่อไทยที่กำลังถูกซักฟอกเรื่อง "ถุงยังชีพ"

กระทู้สดเรื่องการปล้นบ้าน "สุพจน์" จึงเป็นการชงเรื่องให้ "เฉลิม อยู่บำรุง" อภิปรายไม่ไว้วางใจ "อภิสิทธิ์-โสภณ"

ปูเรื่องเหมือนกับตั้งกระสอบทรายตีกันไว้ก่อน ทั้งเรื่องความรับผิดชอบของ "นายกรัฐมนตรี" ต่อพฤติกรรมของข้าราชการประจำ หรือมูลค่าของการทุจริตคอร์รัปชั่น

"ประชาธิปัตย์" ถล่มเมื่อไรก็เทียบเคียงได้ทันที

ประมาณว่า "ข้าเลว-เอ็งก็เลว"

นี่คือ "ความเก๋า" ทางการเมือง

แต่เป็น "ความเก๋า" ที่แสดงว่าการเมืองไทยยังต้อง "ตัวช่วย"

"อีเอ็มบอล" สักแสนลูกไม่รู้ว่า "เอาอยู่" หรือเปล่า



.