http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-09

ยิ่งลักษณ์รีแพร์, เมื่อรัฐฯผูกขาดจัดการ“น้ำ”, จากหนองงูเห่าสู่ที่ราบสูง โดย ใบตองแห้ง,มนตรี,กานดา

.

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: ยิ่งลักษณ์รีแพร์
จากเวบไซต์ ประชาไท Mon, 2011-11-07 15:55


ตั้งหัวให้หวือหวาไปงั้น แฟนคลับนายกฯ คงไม่ว่ากัน ประเด็นคือ มหาอุทกภัยทำให้รัฐบาลบอบช้ำอย่างหนัก แถมไม่มีเวลาอยู่ไฟ น้ำยังไม่ลด สงครามการเมืองล้มรัฐบาลก็ก่อตัวขึ้นแล้ว ต้องรีบ “ยกเครื่อง” ปรับปรุงระบบการทำงานกันครั้งใหญ่ เพราะการทำงานในรูป ศปภ.เดือนเศษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานอย่างเป็นระบบ เรื่องความมีประสิทธิภาพ ต่ำกว่าที่ผู้คนคาดหวังว่าจะได้เห็น ห่างไกลคนละโยชน์กับรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

มวลชนเสื้อแดงแฟนคลับยิ่งลักษณ์-ทักษิณ ควรยอมรับว่ารัฐบาลมีปัญหาวิธีคิดวิธีการทำงาน มากกว่าจะไปตั้งแง่ว่าใครจงใจปล่อยน้ำเพื่อคว่ำรัฐบาล หรือไปตั้งแง่ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์วางยา ถ้าคุณเชื่อ “ทฤษฎีสมคบคิด” แบบนี้ คุณก็ไม่ต่างจากพวกสลิ่มที่เชื่อว่า ทักษิณสั่งกั้นน้ำไม่ให้ปล่อยไปสุพรรณ เพราะลงทุนทำนาอยู่กับโมฮัมหมัด อัลฟาเยด

มันไม่มีใครหรอกครับที่ชั่วร้ายถึงขนาดวางแผนให้เกิดมหาภัยพิบัติให้ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ เพียงเพื่อล้มรัฐบาล เช่นเดียวกับที่ทักษิณก็ไม่ได้ชั่วร้ายขนาดเห็นแก่ข้าว 3 พันไร่จนปล่อยน้ำท่วมกรุงล้มรัฐบาลน้องสาวตัวเอง มันเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครป้องกันได้ เพียงแต่เมื่อเกิดภัยขึ้นแล้ว ก็มีพวกฉวยโอกาสใช้เป็นเครื่องมือล้มรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องยอมรับว่าทำงานไม่เป็น ถ้าเป็นก็คงไม่เปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นงานซะบอบช้ำขนาดนี้

สิ่งที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจประชาชนคือ น้ำท่วมครั้งนี้ไม่มีใครป้องกันได้ เทวดาที่ไหนมาบัญชาการก็ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้ ภายใต้เงื่อนไขจำกัดที่เป็นอยู่ แต่ ศปภ.”สอบตก” ในแง่ของการประเมินสถานการณ์ผิด และการชี้แจงทำความเข้าใจประชาชน ดันไปบอกประชาชนว่า “เอาอยู่” ดันให้ความหวังแทนที่จะเตือนภัยให้อพยพเพื่อลดความเสียหาย

มีหลายคนตั้งแง่เรื่องการปล่อยน้ำของเขื่อน ของ กฟผ.กรมชลประทาน นั่นเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันหลังน้ำลด แต่เพื่อเป็นบทเรียนมากกว่าจ้องจับใครเป็นแพะ ส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่า มันเป็นปัญหาของระบบราชการ ที่ทำงานแบบตัวใครตัวมัน ทำตามนายสั่ง รับผิดชอบแค่งานรูทีนตรงหน้ากรู

ถ้าจำกันได้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ปลายเดือนมิถุนายน น้ำก็ท่วมเมืองน่าน มิถุนายนคือเพิ่งต้นหน้าฝนนะครับ ถัดจากนั้นฝนก็ตกหนักน้ำท่วมประปรายไปทั่วภาคเหนือตอนบนตอนล่าง ต้นเดือนสิงหาคม พายุนกเต็นพัดเข้ามาทำให้น้ำท่วมเชียงใหม่รอบแรก ตอนนั้นชาวนาภาคกลางก็กำลังจะเริ่มเก็บเกี่ยว ถามว่ามีช่วงเวลาไหนให้เขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์ปล่อยน้ำโดยไม่กระทบหรือซ้ำเติมชาวบ้านที่โดนฝนหนักอยู่แล้ว

ประเด็นที่น่าตั้งคำถามมากกว่าคือ กรมชลประทานรู้ไหม และรู้เมื่อไหร่ ว่าจะเกิดมหาอุทกภัย แล้วทำไมไม่แจ้งเตือนรัฐบาล (มีคนอ้างว่าเตือนแล้วแต่รัฐมนตรีบางคนเบรกไว้กลัวกระทบนโยบายจำนำข้าว ซึ่งถ้าจริงก็เซอะสิ้นดี ถ้ากรมชลบอกว่ามวลน้ำหลายหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรจะถล่มภาคกลาง คงไม่มีไอ้โง่ที่ไหนบอกให้ปิดปากไว้ รอจำนำข้าวก่อน)

เพราะถ้าเตือนรัฐบาลก็ยังอาจจะตั้งตัวรับมือทัน ลดความเสียหายในบางด้าน แต่นี่ดูเหมือนกระทั่งปลายเดือน ก.ย.รัฐบาล (และคนทั้งสังคม) ก็ยังไม่ตระหนักว่า มวลน้ำมากมายมหาศาลกำลังจะไหลท่วมหัว

ยิ่งไปกว่านั้น หลังตั้ง ศปภ.กรมชลประทานก็ยังให้ข้อมูลถูกมั่งผิดมั่ว อาทิ “มวลน้ำก้อนใหญ่ไหลลงทะเลแล้ว”

ที่พูดนี่ไม่ใช่จะบอกว่ากรมชลประทานวางยา ผมไม่คิดขนาดนั้น แต่ผมจะบอกว่า มันคือความห่วยของระบบราชการ ซึ่งทำงานแบบไม่มีหัวคิด คนที่ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตไม่ใช่คนมีความรู้และมีฝีมือ ถ้ากรมชลประทานประสานงานกับกรมอุตุ และนักวิชาการด้านน้ำของสถาบันต่างๆ ซักนิด ก็ต้องรู้ว่าน้ำจะมาก แต่นี่ ตามมติ ครม.5 กันยา (ที่อีกฝ่ายเอามาอ้างเพื่อโทษรัฐบาล) รายงานของกระทรวงเกษตรฯ ไม่บอกตรงไหนเลยนะครับว่าน้ำจะท่วมใหญ่ แถมบอกด้วยว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังรับน้ำได้อีกเกือบ 17,000 ลูกบาศก์เมตร

รัฐบาลถึงไม่ได้เตรียมรับมืออะไรเลยจนน้ำมาถึงนครสวรรค์ อยุธยา

ถามว่าถ้าบอกก่อนทำอะไรได้ไหม ก็คงเลี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ดี แต่ยังสามารถเตรียมแผนการระบายน้ำ ขุดลอกคลอง จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ พอบรรเทาไปบ้าง



สุดวิสัยแต่ก็ไร้ฝีมือ

ใครไม่ทราบเอาคลิปพระราชดำรัสในหลวงเมื่อปี 38 มาเผยแพร่ แล้วก็อ้างกันต่อๆ ไป เป็นที่เห็นชัดว่า เจตนาดิสเครดิตรัฐบาล ทั้งที่ในหลวงท่านไม่เกี่ยวข้องด้วย ก็ในหลวงเรียกนายกฯ เข้าเฝ้าฯ และทรงชี้แนะแล้ว นายกฯ ก็ทำตามที่พระองค์ท่านชี้แนะทุกประการ อย่างเช่นการผันน้ำไปฝั่งตะวันออกก็ทำแล้ว แต่น้ำมันไม่ไป เพราะอะไร เพราะน้ำต้องผ่านพื้นที่ที่เป็นดอน floodway ที่ในหลวงมีพระราชดำรัสไว้เมื่อปี 38 ผ่านมา 16 ปีก็ปล่อยปละละเลยกันจนกลายเป็นโรงงานเป็นบ้านจัดสรร คูคลองก็ตื้นเขินไม่ได้ขุดลอก เครื่องสูบน้ำที่คลองด่านรอแล้วรอเล่าน้ำก็ไม่ไป

นั่นคือเหตุทางภววิสัยซึ่งมันสุดวิสัย เพียงแต่ในการทำงานของรัฐบาล ของ ศปภ.ก็เละตุ้มเป๊ะเช่นกัน จึงทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก

อันดับแรกที่ทำให้เละ คือความไม่เป็นเอกภาพทางวิชาการ แล้วรัฐบาลก็ไม่รู้จะเชื่อใครดี ระหว่างกรมชลประทานกับหน่วยงานทางวิชาการต่างๆ ที่เข้าไปร่วมอยู่ใน ศปภ.ซึ่งต่างคนต่างก็ประเมินสถานการณ์ไปคนละอย่าง ขณะที่รัฐบาลและ ศปภ.ไม่มีความรู้เรื่องน้ำเลย จึงงงเป็นไก่ตาแตก ประเมินสถานการณ์ผิด โอเค รัฐบาลมือใหม่ อาจให้อภัยได้ใน 2-3 วันแรก แต่รัฐบาลก็ช้ามาก กว่ายิ่งลักษณ์จะตั้งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ ในวันที่ 22 ต.ค. โดยมีวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทานที่เกษียณแล้ว มาเป็นประธาน มี ดร.รอยล จิตรดอน ดร.สมบัติ อยู่เมือง เป็นคณะทำงาน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นเลขานุการ ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญให้เป็นเอกภาพ หลังจากมั่วมา 14 วัน (ตั้ง ศปภ.เมื่อวันที่ 8 ต.ค.)

ข้อแรกเป็นเรื่องการประเมินสถานการณ์ ข้อสองแย่กว่าอีก คือเป็นเรื่องการบริการจัดการ

จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่าทำไมยิ่งลักษณ์จึงตั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็น ผอ.ศปภ.ทั้งที่ยามเกิดภัยพิบัติร้ายแรงขนาดนี้ นายกรัฐมนตรีต้องนั่งหัวโต๊ะ ขนาบข้างด้วย รมว.มหาดไทยและ รมว.กลาโหม (โดยอาจต้องมี รมว.เกษตรฯ อีกคนเพราะเป็นเรื่องน้ำ)

หรือยิ่งลักษณ์จะเลียนแบบที่ไม่ควรเลียนแบบจากอภิสิทธิ์ ซึ่งตั้งสาทิตย์ วงศ์หนองเตย มาดูแลอุทกภัยเมื่อปี 53


ตั้ง พล.ต.อ.ประชามานั่งโดยสั่งการใครไม่ได้ รมว.มหาดไทย รมว.กลาโหม ก็เหมือนอยู่วงนอก ไม่เกี่ยวไม่ข้อง ทหารช่วยน้ำท่วมก็จริง แต่ช่วยสะเปะสะปะ แล้วแต่ใครขอมา ปอเต็กตึ๊งขอรถ ช่อง 3 ขอรถ ใครขอรถ ทหารไปหมด (บางทีมีญาติอยู่ซอยนั้นซอยนี้ ก็ไปหมด) แต่ดูเหมือนไม่มีการบัญชาการที่เป็นเอกภาพจาก ศปภ.

ตำรวจก็ไม่เกี่ยวไม่ข้อง แล้วแต่ตำรวจท้องที่ทำงานกันไป เพิ่งเมื่อวันเสาร์นี่เองที่เพรียวพันธ์เรียกตำรวจภูธรมาเสริมกำลังช่วยผู้ประสบภัย (ที่ผ่านมามัวหลับฉลองตำแหน่งอยู่ที่ไหนไม่ทราบ)

การตั้งบริษัทขึ้นมาบริษัทหนึ่ง นักบริหารอย่างยิ่งลักษณ์หรือทักษิณ ควรจะรู้ดีว่าคุณต้องแบ่งงานตามลักษณะของภารกิจ เช่น ขายมือถือต้องมีฝ่ายการตลาด ฝ่ายบริการหลังการขาย ฝ่ายบัญชีธุรการ การรับมือน้ำท่วมควรจะแบ่งแยกได้ง่ายๆ ว่าหนึ่งละ คุณต้องมีฝ่ายเตรียมการและเตือนภัย สำหรับพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วม แต่กำลังจะท่วม รวมไปถึงเตรียมการอพยพคน สอง เมื่อน้ำท่วม คุณต้องมีฝ่ายดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัย จะจัดส่งเสบียงอาหารถุงยังชีพอย่างไร จะดูแลคนในศูนย์อพยพอย่างไร ดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ดูแลคนเจ็บไข้ได้ป่วย สาม เมื่อน้ำลด คุณต้องมีฝ่ายวางแผนฟื้นฟู ออกมาตรการชดเชย ช่วยลดภาระความเสียหาย

แต่จำได้ไหมว่า ศปภ.ตั้งขึ้นมาลอยๆ มีประชาเป็น ผอ. มีปลอดประสพเป็นฝ่ายปฏิบัติการ มี พล.อ.อ.สุกำพลเป็นฝ่ายสนับสนุน เหมือนกับตั้งขึ้นมารับมือน้ำท่วมอยุธยาที่เดียวจบ ไม่ได้คิดถึงการรับมือมวลน้ำมหาศาลที่จะท่วมกรุงเทพฯเป็นเดือน

ความไม่เป็นระบบนี่แหละมันถึงทำให้เกิดสภาพ “ร่วมด้วยช่วยกันวุ่น” อย่างที่ผมเคยเขียนไป มีคนเล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ “ขาใหญ่” อย่างเก่ง การุณ เข้าไปมีบทบาทมากที่ ศปภ.ดอนเมือง เพราะที่นั่นคือดอนเมือง เก่ง การุณ พาคนในพื้นที่ไปช่วยงานแข็งขันตั้งแต่วันแรก ก็เลยมีบทบาทเยอะ ก็โอเค ถ้ามันเป็นช่วงฉุกละหุก 2-3 วันแรก แต่หลายวันผ่านไปคุณไม่ทำให้เข้าระบบ ก็กลายเป็นจุดอ่อนถูกโจมตี

พองานไม่เป็นระบบ ไม่มีองค์กรจัดตั้ง ประชาสั่งใครไม่ได้ (แถมยังทำงานแบบงุ่มง่ามตามระบบราชการ) ทุกอย่างก็รวมศูนย์ไปที่ยิ่งลักษณ์ รอนายกฯ ตัดสินใจแต่ผู้เดียว บางครั้งนายกฯ สั่งแล้วก็ไม่มีใครไปติดตามจี้งานให้ ก็เหมือนสั่งแล้วหาย ที่ร้ายกว่านั้นคือนายกฯ มือใหม่ พี่ชายพี่สะใภ้ไม่กล้าปล่อยให้ตัดสินใจ วางคนรอบข้างเต็มไปหมด ทั้งที่คนรอบข้างก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหรือผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองมาจากไหน ทำให้ข้อเสนอต่างๆ กว่าจะไปถึงการตัดสินใจก็ล่าช้า


งานใหญ่แบบนี้ นายกฯ ควรจะมีทีมที่ปรึกษามือเชี่ยวๆ ซัก 4-5 คน หารือแล้วก็ตัดสินใจกันตรงนั้น ไม่ต้องฟังใครไม่ว่านอกหรือในประเทศ นี่แหละอันดับแรกที่ต้อง “รีแพร์” ไม่งั้นจะมีปัญหาในการบริหารงานตลอด

ยิ่งลักษณ์เพิ่งจะมาออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการ 9 ชุด ตั้งแต่ฟื้นฟูเยียวยาไปถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การสื่อสารสาธารณะ การบริหารจัดการน้ำ (ซึ่งแปลว่าปล่อยให้ ศปภ.เดิมเป็นเจว็ด) นี่ก็สายไปร่วม 29 วัน

หวังว่าการสื่อสารสาธารณะที่มีธงทอง จันทรางศุ เป็นหัวเรือใหญ่ จะทันเกมการเมืองและฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนได้บ้าง จากที่ผ่านมาที่สื่อสารไม่เอาไหน ไม่บอกความจริงให้ประชาชนรู้ตัวเตรียมรับมือล่วงหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกด่ามากที่สุด


แต่...อย่าล้มรัฐบาลกรู

โชคดีของรัฐบาล คือในขณะที่ ศปภ.สอบตก กทม.ก็สอบไม่ผ่านเช่นกัน และในขณะที่รัฐบาลย่ำแย่ ปชป.ก็เล่นเกมการเมืองซ้ำเติม รวมทั้งพวกสลิ่มในเฟซบุค ทำให้คนสองสีที่เกลียดกันอยู่แล้วยิ่งเกลียดหนักเข้าไปอีก มวลชนเสื้อแดงที่น้ำท่วมมิดหัว หายใจผงาบๆ ก็ยังชูนิ้วกลางให้ ปชป.และชูนิ้วชี้เบอร์ 1 ให้ยิ่งลักษณ์ จะแย่ยังไงกรูก็ยังปกป้องรัฐบาลของกรู

ขอย้ำว่า กทม.ก็สอบไม่ผ่านนะครับ กทม.ทำอยู่อย่างเดียวคือประกาศเตือนประชาชนให้อพยพ ซึ่งก็อ่านสถานการณ์ง่ายแล้ว เพราะน้ำมาถึงลาดพร้าว สุทธิสาร สะพานควาย ของแหงๆ ว่าต้องไปถึงอนุสาวรีย์ชัย ที่เหลือนอกนั้น คุณชายสุขุมพันธ์ก็เอาแต่โวยวาย ศปภ. ไม่ให้ปล่อยน้ำเข้า กทม.แม้แต่หยดเดียว พอน้ำเข้าก็ไม่เห็นระบายได้ เดี๋ยวก็โวยเรื่องกระสอบทราย เดี๋ยวก็โวยเรื่องขอเครื่องสูบน้ำไม่ได้ คุณชายอาศัยแต่คันกั้นน้ำพระราชดำริเป็นหลังพิง แล้วก็ฝากความหวังกับอุโมงค์ยักษ์ (ที่สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ริเริ่ม) คูคลองใน กทม.ก็ใช่ว่าจะใช้การได้ดี บางแห่งไม่ได้ขุดลอกมาหลายปี บางแห่งยังแห้งผากอยู่เลย ขณะที่ตอนเหนือและฝั่งธนท่วมแทบตาย ศูนย์อพยพของ กทม.ก็ดูซิว่ามีใครเข้าพักสักกี่คน สภาพมันน่าพักซะเมื่อไหร่ ซ้ำน้ำท่วมขยะก็ลอยฟ่อ

การประเมินสถานการณ์ก็ใช่ว่า กทม.ถูก ศปภ.ผิด ก่อนหน้านี้ยังมีเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำออกมาฟันธง “เอาหัวเป็นประกัน” น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ ป่านนี้ยังมีหัวติดตัวอยู่หรือเปล่าไม่ทราบ

รัฐบาลต้องขอบคุณคนเหล่านี้ คืออภิสิทธิ์ สุขุมพันธ์ เอกยุทธ อัญชันบุตร สลิ่มเฟซบุค ตลอดจนบรรดาขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ (รวมทั้งมัลลิกา บุญมีตระกูล) ทีทำให้ฐานเสียงของตัวเองยังเหนียวแน่นด้วยความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม


เพื่อนผมรายหนึ่งธุรกิจฉิบหายหลายแสนไปกับน้ำท่วม โวยวายว่ารัฐบาลนี้เอาไว้ไม่ได้แล้ว ผมก็บอกว่ารัฐบาลทำงานห่วยจริง ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ หรือถ้าเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบแบบรีพับลิกันเดโมแครต ผมคงไล่รัฐบาลด้วย แต่ในสถานการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่ การไล่รัฐบาลมันไม่มีคำตอบว่าจะได้สิ่งที่ดีกว่า เพราะหนึ่ง ไม่มีใครเอาประชาธิปัตย์ (เพื่อนผมก็ไม่เอา) และสอง พวกที่จ้องล้มรัฐบาลอยู่ตอนนี้ ไม่ได้ต้องการรัฐบาลที่ดีกว่าในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วไปสู่รูปแบบอื่นเสียมากกว่า

ผมจึงบอกง่ายๆ ว่าถ้าไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วมีวิถีทางดีกว่าที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ที่ไม่ใช่รัฐประหาร ที่ไม่ใช่รัฐบาลพระราชทาน ผมจะเอาด้วย แต่ตราบใดที่ไม่มีใครเสนอทางออกที่ดีกว่า ผมก็ไม่เอาด้วย ผมก็จำเป็นต้องสนับสนุนให้รัฐบาลทำงานต่อไป พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ให้ทำงานดีขึ้น

มันเป็นสภาพบังคับที่น่าเศร้าเหมือนกันนะครับ หายใจผงาบๆ อยู่ใต้น้ำ แต่ยังต้องชูนิ้วเบอร์ 1 กระนั้นเราก็อย่าปกป้องกันจนไม่ลืมหูลืมตา ต้องต่อสู้ความคิดกันด้วย อะไรที่ต้องด่ากันตรงๆ ก็ต้องด่า เราถึงจะแตกต่างจากพันธมิตร แตกต่างจาก ปชป.

สงครามการเมืองหลังน้ำลดจะยิ่งรุนแรงและแตกแยก เพราะต้องยอมรับว่าจะมีคนไม่พอใจรัฐบาลจำนวนมาก ถึงรัฐบาลยังอยู่ได้ ด้วยมือ ส.ส.เพื่อไทย และด้วยพลังเสื้อแดง แต่แรงเสียดทานจะหนักหนาสาหัส เช่นการแก้ พ.ร.บ.ระเบียบกลาโหม คงไม่ง่ายเมื่อเจอบทพระเอกมิวสิควีดิโอของกองทัพบก ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงต้องยืดเยื้อออกไป


รัฐบาลจะต้องเร่งยกเครื่องทำ “รีแพร์” ตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไปช่วยผู้ประสบภัย เอาความตั้งใจจริงเข้าทดแทนความผิดพลาด (ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ยิ่งลักษณ์ยังได้คะแนนเห็นใจอยู่) หามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของคนที่น้ำท่วมอยู่ เช่น สั่งหยุดราชการและขอร้องให้เอกชนหยุด เพราะการไม่หยุดราชการทำให้คนพะวักพะวง บ้านน้ำท่วมอยู่ฝั่งธนยังต้องต่อรถ 3-4 ต่อมาทำงาน ดูแลการคมนาคม จัดรถเมล์ฟรี ทางด่วนฟรี (ไม่ใช่ฟรีแต่โทลเวย์ซึ่งขึ้นไปแล้วหาที่ลงไม่ได้มีแต่ลงน้ำ) เจ้าแห่งประชานิยมทำไมคิดไม่เป็น ตอนนี้อะไรฟรีได้ต้องฟรีให้เยอะเข้าไว้

แล้วที่สำคัญคือ การคิดเรื่องมาตรการฟื้นฟูชดเชยให้รอบด้าน เป็นธรรม อย่าทุ่มให้แต่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างเดียว (เสือกไปตั้งนิคมอุตสาหกรรมกลางทุ่งลุ่มต่ำก็ต้องรับกรรมบ้าง) ต้องคิดถึงทั้งเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนยากคนจน และคนกรุงคนชั้นกลาง นอกจากที่บอกว่าจะช่วย 30,000 บาท ยังควรมีมาตรการอื่นด้วย สมมติเช่น ลดภาษี ให้เงินกู้ซ่อมบ้านปลอดดอกเบี้ย เจรจาสถาบันการเงินยกเว้นส่งค่าผ่อนบ้านผ่อนรถชั่วคราว ควบคุมราคาวัสดุก่อสร้างหรือกระทั่งบีบลดราคา (ได้อยู่แล้วเพราะบริษัทพวกนี้จะมีกำไรมหาศาลหลังน้ำลด) ตลอดจนเก็บภาษีน้ำไม่ท่วมในรูปแบบของภาษีบ้านและที่ดินอัตราก้าวหน้า โดยระยะแรกยกเว้นให้คนถูกน้ำท่วมก่อน

รัฐบาลต้องตัดสินใจยกเลิกนโยบายประชานิยมเช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก (เปลี่ยนมาเป็นซ่อมรถ ซ่อมบ้าน) แต่ต้องคงไว้ในนโยบายสำคัญคือค่าแรง 300 บาท เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้คนยากคนจนฟื้นตัว ฟื้นกำลังซื้อ อย่ายอมตามแรงกดดันของภาคอุตสาหกรรม ส่วนนโยบายจำนำข้าว 15,000 หมดความหมายแล้ว เพราะน้ำท่วมข้าวเสียหายไปเยอะ ไม่ต้องจำนำข้าวก็แพงอยู่ดี

ข้อสำคัญที่สุดนะครับ คือต้องเก็บรับบทเรียนการบริหารสถานการณ์น้ำท่วมที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไปปรับปรุงการทำงาน เพราะขืนยังทำงานกันแบบนี้ ไปไม่รอดแน่ อย่าหวังแต่การปลุกมวลชนโทษโน่นโทษนี่อยู่อย่างเดียว

ใบตองแห้ง
7 พ.ย.54

ติดตามความคิดเห็นท้ายบทความนี้ที่ http://www.prachatai.com/journal/2011/11/37777



++

น้ำท่วม (ปาก): มนตรี จันทวงศ์ – เมื่อรัฐ-ผู้เชี่ยวชาญผูกขาดการจัดการ “น้ำ”
จากเวบไซต์ ประชาไท Tue, 2011-11-08 02:36

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ มีการการเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” มีวิทยากรได้แก่ มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียนและคอลัมน์นิสต์ และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยเริ่มแรกของการเสวนา เป็นการนำเสนอข้อมูลการจัดการน้ำในประเทศไทยโดย มนตรี จันทวงศ์ ซึ่งนำเสนอข้อสังเกต “น้ำท่วมตอผุด” 5 ประการในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมได้แก่ หนึ่ง ความไม่พร้อมของรัฐ กับการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ สอง ประสิทธิภาพของระบบการพยากรณ์ การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ และระบบการระบายน้ำ สาม ความเหลื่อมล้ำของการแก้ไขปัญหา และการนิยามความหมาย สี่ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสกับข้อเสนอเมกกะโปรเจกต์เรื่องน้ำ ห้า เรารู้จักชื่อคลอง มากพอๆ กับชื่อถนน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

ในระหว่างการอภิปรายมนตรีได้นำเสนอด้วยว่า การรักษาระดับในเขื่อนให้สูงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า มีผลทำให้เขื่อนไม่สามารถระบายน้ำได้ทันเมื่อมีปริมาณน้ำเข้ามาในอ่างเก็บน้ำสูงมากหลังมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทย และปล่อยน้ำไม่ทัน จึงต้องปล่อยน้ำผ่านทางสปริงเวย์และผ่านทางระบายน้ำสำหรับใช้กระแสไฟฟ้า โดยมนตรีชี้ว่ากรณีเขื่อนภูมิพลในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมมีการปล่อยน้ำกว่า 6,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำ 2 เท่าที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าเขื่อนมีการพร่องน้ำเสียตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนก็จะไม่เป็นปัญหา

“แต่เขื่อนภูมิพลยังคงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพราะฉะนั้นเขา พร่องน้ำไปมากกว่านี้ไม่ได้ ถ้าพร่องมากกว่านี้ระดับน้ำจะต่ำจนผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้ ความจริงแล้วเขื่อนภูมิพลสามารถปล่อยน้ำและรับน้ำมาได้เต็มอ่างถึง 13,462 ลบ.ม. แต่เขาปล่อยได้เต็มที่แค่ 9,662 ลบ.ม.เพราะต้องเก็บไว้เป็นน้ำตาย3,800 ลบ.ม.เพื่อไว้เป็นหัวน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า”

มนตรียังอภิปรายด้วยว่า มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หน่วยงานราชการเตรียมผลักดันเมกกะโปรเจกต์หรือโครงการขนาดใหญ่โดยใช้วิกฤตน้ำท่วม ใช้เหตุผลที่ว่าต้องแก้ไขปัญหาน้ำ จนทำให้ขาดกระบวนการตรวจสอบ กระบวนการตัดสินของประชาชน นอกจากนี้อาจมีการแก้กฎหมายหรือละเว้นการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือกฎหมายอีกหลายฉบับ เพื่อให้โครงการใหญ่ๆ เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงถามตอบในการอภิปราย มนตรียังมีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรเปิดช่องทางการเมืองให้มีกระบวนการของการมีตัวแทนทุกส่วนให้มาตัดสินใจเกี่ยวกับดูแลเขื่อนทุกเขื่อน ต้องมีพื้นที่พูดคุยในทางสาธารณะ และไม่ถูกครอบงำโดยเทคโนแครต (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน) ที่จะมาเสนอโครงการ โดยการปลดล็อกดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะเป็นการลดแรงกดดันของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แก้มลิงหรือพื้นที่น้ำท่วมเป็นประจำได้ โดยรายละเอียดการอภิปรายดังกล่าวสามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ประชาธรรม

โดย “ประชาไท” ขอนำเสนอคลิปการอภิปรายของมนตรี โดยแบ่งเป็น 2 ตอน มีรายละเอียดดังนี้

ตอนที่ 1 http://www.youtube.com/watch?v=mEdx9KRgFP0


ตอนที่ 2 http://www.youtube.com/watch?v=RxYxdMoHq8c


มนตรี จันทวงศ์ อภิปรายในงานเสวนา “อ่านออกเสียงเฉพาะกิจ” ตอน “น้ำท่วม (ปาก): หลากความคิดจากผู้ลี้ภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ” เมื่อ 5 พ.ย. 54 ที่ Book Re:public จ.เชียงใหม่


ติดตามข้อมูลละเอียดที่ http://www.prachatai.com/journal/2011/11/37785



++

กานดา นาคน้อย เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก : จากหนองงูเห่าสู่ที่ราบสูง
จากเวบไซต์ ประชาไท Thu, 2011-11-03 23:34

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
บทบาทของกองทัพ...ช่วยบรรเทาวิกฤตอุทกภัยนั้นเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่นั่นเป็นเพียงก้าวเล็กๆ...สัปดาห์นี้กองทัพบกเพิ่งเสนอให้กระทรวงการคลังขึ้นเบี้ยเลี้ยงรายวันของทหารเกณฑ์ที่ปฎิบัติการบรรเทาวิกฤตอุทกภัย โปรดสังเกตว่ากองทัพไม่พยายามลดงบประมาณซื้ออาวุธเพื่อขึ้นเบี้ยเลี้ยงให้ทหารเกณฑ์ และไม่มีท่าทีว่าจะยกเลิกระบบทหารเกณฑ์เพราะทหารเกณฑ์เป็นฐานอำนาจต่อรองที่สำคัญ ...

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


วิกฤตอุทกภัยไทยปีนี้โด่งดังในระดับนานาชาติ เพราะสื่อมวลชนต่างชาติแพร่ภาพนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งจมน้ำไปทั่วโลก คนไทยได้เรียนวิชาภูมิศาสตร์นอกหลักสูตรกระทรวงศึกษาฯพร้อมกับชาวต่างชาติผ่าน สื่อมวลชน ได้รู้ว่าไทยมีนิคมฯ ในพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัยมากมาย ได้เห็นภาพน้ำท่วมถึงท้องเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง ทำให้ต้องลุ้นกันว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะจมน้ำไหม?


กำเนิดสนามบินสุวรรณภูมิและนิคมอุตสาหกรรม

โครงการสนามบินสุวรรณภูมิเริ่มต้นเมื่อ 50 ปีที่แล้วในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ [1] กระทรวงคมนาคมเริ่มเวนคืนที่ดินในบริเวณที่เรียกกันว่า“หนองงูเห่า”ตั้งแต่ยุครัฐบาลสฤษดิ์ สนามบินแห่งใหม่จึงได้ชื่อว่า“สนามบินหนองงูเห่า” หลังเวนคืนและการก่อสร้างระยะแรกก็มีการทบทวนว่าจะสร้างสนามบินหนองงูเห่ากันจริงๆหรือไม่ ในที่สุดการก่อสร้างจริงจังก็เริ่มต้นในยุครัฐบาลอานันท์ 1 หรือรัฐบาลรสช.ซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวหลังคณะรสช.ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลชาติชาย การก่อสร้างแล้วเสร็จในยุครัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อต้นรัฐบาลทักษิณ 2 สนามบินใหม่ได้รับพระราชทานชื่อทางการว่า“สนามบินสุวรรณภูมิ” สนามบินใหม่เปิดบริการเต็มรูปแบบเพียง 9 วันหลังจากที่รัฐบาลทักษิณ 2 โดนรัฐประหาร

ภูมิศาสตร์ของหนองงูเห่าคือแอ่งน้ำ ความหมายของ“หนอง”อ้างอิงได้จากสุภาษิตที่ว่า“เรือล่มในหนองทองจะไปไหน” [2] แม้จะถมที่ดินก่อนสร้างสนามบินแล้ว สนามบินใหม่ยังเสี่ยงต่ออุทกภัยถ้าไม่ทำกำแพงกั้นน้ำสูงๆด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะที่ดินรอบสนามบินเป็นที่ต่ำซึ่งรองรับน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดคำถามว่าในอดีตบรรดาสถาปนิกไทยไม่ต่อต้านโครงการสนามบินใหม่กันหรือ? ดิฉันคิดว่าสถาปนิกจำนวนมากไม่น่าจะเห็นด้วยกับโครงการสนามบินหนองงูเห่าแต่ไม่กล้าต่อต้านเพราะหวาดกลัวอำนาจของรัฐบาลทหาร

ไม่ว่าภูมิศาสตร์ของสนามบินใหม่เป็นอย่างไร โครงการสนามบินใหม่เป็นจุดขายสำคัญของผู้พัฒนานิคมฯตั้งแต่ยังไม่เริ่มสร้างสนามบิน ด้วยเหตุนี้นิคมฯยุคแรกจึงอยู่ไม่ไกลจากหนองงูเห่า ผู้พัฒนานิคมฯคือบริษัทเอกชนและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลถนอม นิคมฯแห่งแรกของไทยคือนิคมฯนวนครของเอกชนในจ.ปทุมธานี (เปิดปี2514) [3] นิคมฯต่อมาเป็นนิคมฯของกนอ. กล่าวคือ นิคมฯบางชันที่เขตคันนายาวและมีนบุรี (เปิดปี 2515) นิคมฯบางปูทีจ.สมุทรปราการ (เปิดปี 2520) ส่วนนิคมฯภาคตะวันออกเริ่มจากนิคมฯแหลมฉบัง (เปิดปี 2525) ซึ่งพัฒนาควบคู่กับท่าเรือแหลมฉบังในจ.ชลบุรี [4]

นโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนานิคมฯที่สุดคือสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอ (BOI) หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งถือกำเนิดในรัฐบาลสฤษดิ์ อาทิ นโยบายยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล นโยบายยกเว้นหรือลดหน่อยอากรขอเข้าสำหรับเครื่องจักร ฯลฯ [5] ความสำเร็จของนิคมฯรุ่นแรกทำให้ราคาที่ดินใกล้นิคมฯรุ่นแรกปรับตัวสูงขึ้นและผลักดันให้นิคมฯรุ่นหลังห่างไกลจากหนองงูเห่ามากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีนิคมฯในหลายจังหวัดจากเหนือลงใต้ดังต่อไปนี้ ลำพูน พิจิตร อยุธยา นครราชสีมา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ ชลบุรี ราชบุรี ระยอง สมุทรปราการ สมุทราสาคร สงขลา และปัตตานี มีทั้งนิคมฯที่พัฒนาโดยกนอ. นิคมฯเอกชน และนิคมฯที่กนอ.พัฒนาร่วมกับเอกชน


นิคมอุตสาหกรรมในภาคอีสาน

ปัจจุบันภาคอีสานมีนิคมฯแห่งเดียวคือนิคมฯสุรนารีที่จ.นครราชสีมาซึ่งเป็นนิคมฯเอกชน ในอดีตกนอ.เคยพัฒนานิคมฯที่จ.ขอนแก่นร่วมกับเอกชนแต่กนอ.ถอนตัวไปเพราะขาดทุน เอกชนทำนิคมฯต่อไปแต่กลายเป็นนิคมฯร้าง โครงการนิคมฯของกนอ.มักโดนเอ็นจีโอต่อต้านด้วย 2 เหตุผล หนึ่งคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สองคือเรียกร้องให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมตัดสินใจ ดิฉันเห็นด้วยกับเหตุผลที่สอง ส่วนเหตุผลแรกนั้นดิฉันคิดว่าเอ็นจีโอตัดสินใจแทนคนท้องถิ่นไม่ได้ ผลดีจากนิคมฯที่ชัดเจนคือการสร้างงาน ถ้านิคมฯขอนแก่นประสบความสำเร็จก็อาจจะทำให้คนขอนแก่นบางกลุ่มเลิกเห็น“เขยฝรั่ง”เป็นบันไดไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต [6] [7]

ดิฉันไม่ทราบว่านิคมฯ(ร้าง)ที่ขอนแก่นจมน้ำเหมือนนิคมฯโรจนะและนิคมฯนวนครหรือไม่ แต่ขอนแก่นก็ไม่ได้รอดพ้นจากอุทกภัยครั้งนี้ จังหวัดอื่นในภาคอีสานที่รอดพ้นจากวิกฤตอุทกภัยน่าจะเหมาะต่อการสร้างนิคมฯมากกว่า เช่น สกลนคร และจังหวัดบนที่สูงระหว่างภาคอีสานและภาคเหนืออย่างเลยหรือเพชรบูรณ์ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากต่อความสำเร็จของนิคมฯคือระบบขนส่งสินค้า ขอนแก่นได้เปรียบสกลนคร เลย และเพชรบูรณ์ตรงที่สนามบินมีเทียวบินมากกว่า แต่ดิฉันคิดว่าไม่ควรใช้สนามบินเป็นจุดขายของนิคมฯเพราะขนาดของไทยไม่ใหญ่โตแบบสหรัฐฯและการขนส่งสินค้าด้วยเครื่องบินราคาแพง รถไฟฟ้ารางคู่แบบญี่ปุ่นเหมาะสมต่อการขนส่งสินค้าบนบกมากกว่าเครื่องบินและจะช่วยสร้างชุมชนด้วย ปัจจุบันสหรัฐฯอาศัยทั้งเครือข่ายรถไฟฟ้าและรถบรรทุกเพื่อขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือ นอกจากนี้จีนซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับสหรัฐฯก็พัฒนาระบบขนส่งระหว่างภูมิภาคด้วยรถไฟฟ้าเช่นกัน ทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลญี่ปุ่นสนใจสนับสนุนด้านทุนถ้าไทยหันมาพัฒนาเครือข่ายรถไฟฟ้าระหว่างภูมิภาคอย่างจริงจัง


อิทธิพลของสงครามต่อภูมิศาสตร์การพัฒนา

กองทัพญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟที่กาญจนบุรีเพื่อลำเลียงทหารและอาวุธไปตีพม่าในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ฉันใด รัฐไทยก็สร้างทางรถไฟและทางหลวงแผ่นดินสู่ภาคอีสานเพื่อรวมศูนย์อำนาจการเมืองฉันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทางรถไฟไปโคราชหลังเซ็นสนธิสัญญาเบาวริง หรือการสร้างทางหลวงแผ่นดินสู่ภาคอีสานในยุคสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนามร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ สนามบินมากมาย (ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งการเป็นสนามบินพาณิชย์แต่บางแห่งก็กลายเป็นสนามบินร้าง) ถือกำเนิดในยุคสงครามเย็นเพื่อลำเลียงปัจจัยให้กองทัพสหรัฐฯ แต่ในยุคสงครามเย็นสกลนคร เลยและเพชรบูรณ์ไม่มีบทบาททางเศรษฐกิจมากเพราะมีเขตที่จัดเป็น “พื่นที่สีแดง”ทำให้มีความเสี่ยงสูงและไม่ดึงดูดการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

สงครามเย็นจบลงตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว แต่รัฐไทยโดยเฉพาะกองทัพไทยยังไม่ปรับตัวเข้ากับสมดุลใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลก การก่อสร้างสนามบินใหม่ที่หนองงูเห่าซึ่งเป็นมรดกจากรัฐบาลเผด็จการทหารในอดีตและหยุดไประยะหนึ่งได้เริ่มต้นอีกครั้งด้วยมติครม.รัฐบาลอานันท์ 1 หรือรัฐบาลรสช.ซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวหลังรัฐประหาร ปัจจุบันทหารอากาศยังร่วมบริหารสนามบินสุวรรณภูมิในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการบริหารสนามบินดอนเมือง การบริหารดังกล่าวแตกต่างจากการบริหารสนามบินพาณิชย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะกองทัพในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ร่วมบริหารสนามบินพาณิชย์


มาสายดีกว่าไม่มา (Better late than never.)

บทบาทของกองทัพในการประสานงานกับรัฐบาลให้ทหารเกณฑ์และพลทหารระดับนายสิบช่วยบรรเทาวิกฤตอุทกภัยนั้นเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่นั่นเป็นเพียงก้าวเล็กๆสู่การปรับตัวของกองทัพในยุคหลังสงครามเย็นที่จบไปตั้ง 20 ปีแล้ว ปัจจุบันกองทัพยังไม่มีท่าทีว่าจะเลิกใช้ทหารเกณฑ์ต่อรองผลประโยชน์จากกระทรวงการคลัง สัปดาห์นี้กองทัพบกเพิ่งเสนอให้กระทรวงการคลังขึ้นเบี้ยเลี้ยงรายวันของทหารเกณฑ์ที่ปฎิบัติการบรรเทาวิกฤตอุทกภัย [8] โปรดสังเกตว่ากองทัพไม่พยายามลดงบประมาณซื้ออาวุธเพื่อขึ้นเบี้ยเลี้ยงให้ทหารเกณฑ์ และกองทัพไม่มีท่าทีว่าจะยกเลิกระบบทหารเกณฑ์เพราะทหารเกณฑ์เป็นฐานอำนาจต่อรองที่สำคัญ (ดิฉันจะอธิบายถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจของระบบทหารเกณฑ์แบบไทยๆในโอกาสหน้า)

สงครามเย็นจบไปแล้วดังนั้นไทยไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ไม่สายเกินไปที่ไทยจะเลิกนโยบาย“กรุงเทพฯคือประเทศไทย”ด้วยการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารางคู่เพื่อเชื่อมภาคอีสานกับท่าเรือแหลมฉบังในภาคตะวันออก โครงการดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายขนส่งสินค้าจากภาคเหนือและประเทศลาว(ซึ่งเชื่อมต่อกับจีน)ในอนาคต ปัจจุบันสนามบินเชียงใหม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างเชียงใหม่และเกาหลีใต้ เกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติที่ไม่น้อยหน้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะเที่ยวบินเข้าทวีปอเมริกา การขยายสนามบินเชียงใหม่ควบคู่กับการสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคตะวันออกน่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้มากกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ ถ้าไทยจะขุดคอคอดกระในอนาคตก็ใช้เรือเชื่อมท่าเรือแหลมฉบังกับคอคอดกระได้ นอกจากนี้การพัฒนาระบบขนส่งภาคอีสานจะช่วยถ่ายเทพลเมืองและความแออัดออกจากกรุงเทพฯและปริมณฑล

ที่สำคัญที่สุด บีโอไอควรเลิกสนับสนุนการลงทุนเพิ่มในพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัยโดยเฉพาะพื้นที่รอบๆสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ใต้เขื่อนขนาดใหญ่ บีโอไอน่าจะหันมาให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางคู่เพื่อเชื่อมภาคอีสานกับท่าเรือที่ภาคตะวันออก และให้สิทธิประโยชน์เพื่อการพัฒนานิคมฯที่จังหวัดทีมีพื้นที่สีแดงในอดีตแต่มีภูมิศาสตร์เหมาะสม ดิฉันไม่สนับสนุนให้ทั้งกนอ.และเอ็นจีโอเป็นผู้ตัดสินใจสร้างหรือไม่สร้างนิคมฯ พลเมืองในแต่ละจังหวัดควรมีสิทธิพิจารณาข้อเสนอจากกนอ.และตัดสินใจกันเอง

เราย้าย“มรดกเจ้าคุณปู่”อย่างสนามบินสุวรรณภูมิและนิคมฯในเขตอุทกภัยไปที่อื่นไม่ได้ ทำได้อย่างมากแค่ป้องกันอุทกภัยเพื่อทำกำไรจากสนามบินสุวรรณภูมิและนิคมฯให้นานพอที่จะคุ้มทุน ต้องคำนวณว่าค่าป้องกันอุทกภัยเท่าไรและต้องทำกำไรจาก“มรดกเจ้าคุณปู่”อีกกี่ปีถึงจะคุ้มทุน ส่วนนิคมฯเก่าที่คุ้มทุนแล้วบีโอไอควรให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนให้บริษัทในนิคมฯย้ายไปนิคมฯอื่นที่ปลอดอุทุกภัย

กานดา นาคน้อย
3 พฤศจิกายน 2554


หมายเหตุ
[1] ประวัติความเป็นมาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

[2] พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถานฉบับปี พศ. 2542 ซึ่งเกิดหลังสุภาษิตไทยให้คำจำกัดความของคำว่า”หนอง”ว่า (1) แอ่งน้ำ หรือ (2) นํ้าเลือดเสียกลายเป็นสีขาวข้นที่กลัดอยู่ตามแผลและฝี

[3] นิคมฯนวนคร

[4] ข้อมูลนิคมฯที่กนอ.มีส่วนร่วมพัฒนา

[5] สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

[6] กนอ.รุดรับฟังเหตุผลขอจัดตั้งนิคมฯขอนแก่น (19 มีนาคม 2553)

[7] "เขยฝรั่ง" มาร์ติน วีลเลอร์ เปิดอกโต้ข้อกล่าวหาต่างด้าว "แย่งที่ดิน" (30 มิถุนายน 2554)

[8] กองทัพเล็งเพิ่มเบี้ยเลี้ยงทหารช่วยน้ำท่วมเป็น 214บาทต่อวัน (1 พฤศจิกายน 2554)


อ่านเชิงอรรถ-หมายเหตุละเอียดและความคิดเห็นที่ http://www.prachatai.com/journal/2011/11/37730



.