http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-20

การเมืองศิลปะของความรู้สึก โดย กำพล, "ชาญวิทย์" ชี้ชนชั้นนำไทยมีปมด้อย

.
มีบทความหลังบทความหลัก
- น่าอับอายแทนประเทศไทย? โดย ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล
- ใต้เท้าขอรับ: ยิ่งลักษณ์พูด...“ใคร”ฟัง โดย พิณผกา งามสม ( ..ไม่ลืมว่า ใครเป็นคนฟัง ฟังแล้วเข้าใจและรู้สึกดีด้วยหรือไม่ )

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -



การเมืองศิลปะของความรู้สึก
โดย กำพล จำปาพันธ์
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


เมื่อคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร้องไห้ขณะปราศรัยกับประชาชนชาวนครสวรรค์ หลังน้ำลดและเข้าสู่แผนฟื้นฟูเป็นจังหวัดแรก ก็มีคนจำนวนหนึ่งเอาการร้องไห้นี้ไปแปรความว่าแสดงถึงความอ่อนแอ บ้างก็ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่มีภาวะความเป็นผู้นำ บ้างก็ว่าเป็นการจัดฉากโดยทีมที่ปรึกษาแนะให้ทำ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเอาข้อมูลวงในขนาดนั้นมาจากไหน

ขณะที่อีกกระแสหนึ่ง ก็ออกมาโต้ในทำนองว่าไม่เห็นเป็นไร ไร้สาระที่เอาการร้องไห้ในลักษณะนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง อย่างไรก็ตามแม้มีแนวโน้มเห็นด้วยตามกระแสอย่างหลังนี้ แต่ก็ทำให้ผมได้คิดว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็มีประเด็นให้ต้องฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้เหมือนกัน


"น้ำตา" เป็นอะไรได้บ้างในวัฒนธรรมความคิดทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน ?!

แน่นอนว่าไม่ต้องอ้างคำกล่าวของปราชญ์ลือชื่อท่านใด เราก็ทราบกันดีว่า "ร้องไห้" เป็นเรื่องของการแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับว่ามีการนิยามขอบเขตของการแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ในภาพกว้างอย่างไรด้วยเหมือนกัน ตั้งแต่การยิ้ม การขมวดคิ้ว แลบลิ้นปลิ้นตา กัดฟัน ขบกราม ฯลฯ ล้วนถือเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก ละเอียดกว่านั้นอีกก็คือแววตา เรามักอ่านจิตใจกันผ่านสีหน้าแววตา ยิ่งกว่าคำพูดและการกระทำ ตรงข้ามหากคำพูดและการกระทำไม่สอดคล้องกับสีหน้าแววตา ก็อาจถูกมองได้ว่ามีระดับความจริงใจกันมากน้อยแค่ไหน นั่นหมายถึงว่าเราใช้ร่างกายส่วนใบหน้าโดยคิดว่าสามารถเป็นสื่อนำไปสู่ "ความจริง" จนทำให้ใบหน้ามีลักษณะเป็น "ภาษา" อย่างหนึ่งที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มีไวยากรณ์ที่มองไม่เห็นกำกับอยู่


"น้ำตา" กับ "ความเป็นหญิง" ถูกมองเป็นของคู่กัน ทั้งที่ก็ใช่ว่าผู้ชายจะร้องไห้ไม่เป็นเสียเมื่อไร สิ่งที่เรียกว่า "มารยาหญิง" นั้น หากจะเป็นความอ่อนแอก็เป็นความอ่อนแอของผู้ชายมากกว่า เพราะถ้าทำสำเร็จก็หมายถึงความพ่ายแพ้และไม่รู้เท่าทันของผู้ชายต่อร้อยเล่มเกวียนอันนั้น และเมื่อนายกหญิงร้องไห้ มีคนเอาไปขยายว่าแสดงถึงความอ่อนแอ ก็เป็นความอ่อนแอของผู้ที่เอาไปขยายเองมากกว่า เพราะอาจจะสืบเนื่องมาจากเคยชินอยู่แต่กับนายกผู้ชาย จนนำเอามาเป็นมาตรฐานไปโดยไม่รู้ตัว และโดยหลงลืมไปแล้วว่าตามหลักประชาธิปไตยสมัยใหม่ ผู้หญิงก็มีสิทธิอันชอบโดยธรรมที่จะเข้าทำหน้าที่เป็นนายกได้เหมือนกัน และผมก็ออกจะเห็นด้วยกับคำกล่าวว่านายกที่ร้องไห้เพราะเห็นประชาชนได้รับความทุกข์ยากลำบากนั้น ย่อมเป็นนายกที่ดีกว่านายกที่ไม่เสียน้ำตาแม้หยดเดียวเมื่อใช้อำนาจเข่นฆ่าประชาชนอย่างเข้มแข็ง


หากจะว่ากันตามหลักวัฒนธรรมจารีตนิยมแบบไทยๆ อารมณ์ความรู้สึกถือเป็นเครื่องสะท้อนกิเลสราคะ ที่ต้องถูกกำจัด ควบคุม และเก็บกดปกปิดเอาไว้ ไม่แสดงออก สำหรับผู้นำยิ่งต้องควบคุมอย่างเข้มงวด เพราะเดี๋ยวจะหมายถึงว่าผู้นำคนดังกล่าว ยังเป็นแต่เพียงมนุษย์ธรรมดา หาได้เป็นผู้มีบุญบารมีอะไรมากมายไม่ ในยุคจารีต "ความเป็นมนุษย์" ถือเป็นความต่ำต้อยครับ ทุกคนที่ไม่ได้เป็นอรหันต์ล้วนเป็นสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิด "ความเป็นสัตว์" จึงเป็นภาวะที่จริงแท้และเป็นธรรมชาติมากกว่า "ความเป็นมนุษย์" ซึ่งมีจำนวนเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายบรรดามีในชมพูทวีป หิมพานต์ และแม้ทั่วทั้งสากลจักรวาล สิ่งที่มนุษย์มีไม่เท่าเทียมกันก็คือบุญบารมี ซึ่งยึดถือตามลำดับชั้นทางสังคม ชั้นสูงก็คือมีบุญมาก ชั้นล่างก็มีบุญน้อย ต่ำศักดิ์ลดหลั่นกันไป ไม่มีความสลับซับซ้อนแต่อย่างใด


อารมณ์ความรู้สึกซึ่งถูกใช้สำหรับสื่อความถึงระดับกิเลสราคะนั้นเอง คือสิ่งตรงข้าม ที่สามารถย้อนแย้งความเป็นผู้มีบุญนั้นได้ ใบหน้าของยักษ์กับพักตร์ของเทพเทวา แตกต่างกันฉันใด ผู้เต็มไปด้วยกิเลสราคะกับผู้มีชั้นบุญสูงส่ง ก็แตกต่างกันฉันนั้น ใบหน้าอย่างนี้ไม่ได้หมายถึงใบหน้าที่เป็นแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่สามารถแลเห็นด้วยตาเปล่า แต่เป็นใบหน้าของภาพประทับที่มีอยู่เดิมหรือ "ใบหน้าทางความคิด" ฉะนั้นแม้ผู้ต่ำศักดิ์อาจจะมีใบหน้าทางกายาที่แลดูงดงามจำเริญตายิ่งกว่าใบหน้าของชนผู้สูงศักดิ์ ผู้ต่ำศักดิ์ก็จะถูกมองว่า 'ด้อยกว่าเพราะมีความคิดที่กำกับและส่งเสริมให้เหนือกว่าอยู่ตลอดเวลา' นั่นเอง (ใบหน้างามๆ ไม่น่าใจดำเลยแก้วตา)

ทั้งนี้ยักษ์กับเทพต่างหนุนเสริมการดำรงอยู่ของกันและกัน ไม่มียักษ์ก็ไม่มีเทพ สิ่งนี้เป็นที่มาของวิธีคิดในการจำแนกประเภทคนออกเป็นคู่ตรงข้ามอย่างหนึ่งในสังคมไทย และในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมานี้ วิธีจำแนกแบบนี้ถูกใช้ในการเมืองไทยอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าคุณทักษิณ ชินวัตร นั้นถูกทำให้เป็นยักษ์มารในหมู่เหล่าทวยเทพไปแล้ว


กรณีที่ผู้นำจารีตแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกอย่างเห็นได้ชัด ก็จะหมิ่นเหม่ต่อการถูกมองว่าไม่ถึงพร้อมด้วยบุญบารมี ผู้นำจารีตจึงถูกเสี้ยมสอนให้รู้จักทำสีหน้าเคร่งขรึม วางท่าเรียบเฉย อยู่ในกิริยาอาการสำรวม สิ่งนี้มีความสำคัญยิ่งกว่าประเด็นว่าบริหารราชกิจได้ดีหรือยังประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ได้มากน้อยแค่ไหนเสียด้วยซ้ำ หรือต่อให้บริหารงานไม่ได้เรื่อง ลุ่มหลงนารี เสวยน้ำจัณฑ์เป็นนิจ บำรุงคนผิดคนพาลให้ได้ดีมีชอบอย่างไร ก็จะยังถือเป็นผู้นำตามวิธีคิดแบบจารีตดังกล่าวนี้ นี่คือโครงสร้างความคิดของอนุรักษ์นิยมไทย ที่กลุ่มอำมาตย์ใช้เป็นพลังขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองของพวกตนอยู่ในปัจจุบัน และเป็นวิธีคิดแนวเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตลอดช่วงที่ผ่านมา ฉะนั้นฝ่ายประชาธิปไตยจะประมาทว่าไม่มีอะไรไม่ได้ จำเป็นต้องรู้เท่าทันอยู่เหมือนกัน

เมื่อเป็นดังนี้ ก็จึงไม่ต้องประหลาดใจอีกต่อไป สำหรับการที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ออกทีวีแถลงข่าวพร้อมน้ำตาที่ไม่สามารถปกป้องกรุงเทพฯ ให้รอดพ้นจากน้ำท่วมไปได้ จึงไม่ถูกตำหนิว่าอ่อนแอหรือประพฤติไม่เหมาะสมกับภาวะผู้นำแต่อย่างใด เพราะฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่เป็นคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย มิได้มีวิธีคิดที่จะนำเอาเรื่องนี้มาทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง นั่นก็ส่วนหนึ่ง

แต่ที่สำคัญอย่าลืมว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ท่านมีอีกสถานะหนึ่ง เป็นสถานะทางวัฒนธรรมจารีตเสียด้วย คือท่านเป็น "เจ้า" ถ้าหากฝ่ายตรงข้ามของท่านหันมาใช้พลังของจารีตบ้าง คงจะหนาวกันเป็นแถบ แต่นั่นก็จะส่งผลเสียหายต่อขบวนการประชาธิปไตยในระยะยาว


ขณะที่สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับสังคมที่เป็นสมัยใหม่ ว่ากันตามหลักการซึ่งเรามีสิทธิที่จะคิดจะผลักดันไปให้ไกลสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การจะยึดถือปฏิบัติตามวิธีคิดดังกล่าวย่อมไม่เหมาะไม่ควร เพราะความเท่าเทียมกันจะเป็นจริงได้บ้าง ก็ต้องไม่มีใครพิเศษสูงส่งกว่าใคร และความเป็นมนุษย์ที่สามารถแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกถือเป็นแกนกลางของเรื่องสิทธิเสรีภาพเลยก็ว่าได้ แนวคิดสมัยใหม่แย้งจารีตนิยมในประเด็นสำคัญว่า "มนุษย์" ต่างหากล่ะ ที่เป็นศูนย์กลางของโลกและสรรพสิ่ง หาใช่อินทร์พรหมยมยักษ์หรือครุฑาพญานาคที่ไหนไม่ คำถามสำคัญก็คือว่าในสังคมไทยเราเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเท่าเทียมกันมากน้อยแค่ไหน หรือเราคุ้นชินแต่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจอุปถัมภ์ จนหลงลืมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กันไปหมด ?!

โดยระบบหลักการดังกล่าวนี้ก็ทำให้ผู้นำต้องมารับผิดชอบต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผ่านการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ โดยไม่สำคัญแต่อย่างใดเลยว่า จะแต่งหน้าทำผมยังไง กระเป๋า, รองเท้า, เสื้อผ้า ยี่ห้ออะไร แบรนด์เนมหรือเปล่า และยิ่งไม่เกี่ยวว่าหัวเราะหรือร้องไห้ยังไง ตรงนี้จะมีความสำคัญน้อยกว่าความสามารถในการบริหาร (ย้ำว่า "บริหาร" ไม่ใช่ "ปกครอง") หรือก็ไม่บังควรนำมาใช้เป็นประเด็นเลยด้วยซ้ำ แต่หากใช้เมื่อไรก็จะเป็นปัญหาของผู้ใช้เอง อาจถูกมองย้อนกลับได้ง่ายว่าไม่สามารถตำหนิในเรื่องอื่นๆ ที่มีความสลักสำคัญจริงๆ ได้ ถึงได้ใช้ประเด็นขี้เล็บอย่างนี้ แต่เรื่องเล็กๆ ที่เรามักมองข้ามนี่แหล่ะ มีอะไรที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ


จริงอยู่ว่า แนวคิดสมัยใหม่ในทางปรัชญาให้ความสำคัญกับสิ่งที่นิยามเรียกว่า "เหตุผล" แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เข้าใจว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนนั้นสามารถผลักดันเหตุผลได้เหมือนกัน ถ้าไม่รู้สึก ต่อให้มีเหตุผลหนักแน่นเพียงใด ก็ไร้ความหมาย หรือถ้ารู้สึกแต่อัดอั้นเสียจนไม่สามารถแสดงเป็นเหตุผลออกมาได้ ก็ไร้ความหมายอีก หรือแสดงออกมาได้แต่ในลักษณะ "ระเบิด" ก็จะเป็นความก้าวร้าวรุนแรง มีความหมายอีกแบบหนึ่งไป การบริหารความรู้สึกให้สมดุลกับเหตุผล จึงเป็น "ศิลปะของความเป็นมนุษย์" ที่ไม่ง่ายแต่อย่างใดเลย

อีกทั้งก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมสมัยใหม่จะไม่มีมุมมองต่อการควบคุมการแสดงอารมณ์ความรู้สึก เมื่อโกรธหรือไม่เห็นด้วยกับใครขึ้นมา จึงไม่ได้หมายความว่าสังคมจะอนุญาตให้ลุกขึ้นชกหน้าหรือใช้ความรุนแรงในรูปแบบใดๆ ไม่ใช่จะวีนใครสุ่มสี่สุ่มห้าได้อย่างเท่าเทียมกัน หรือเมื่อเห็นใครได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจจะมาทำหัวเราะหรือยิ้มแก้มปรี่อยู่ก็หาใช่ที่ และถ้ามีกรณีไม่เหมาะสมเช่นนี้เกิดขึ้น ก็สุ่มเสี่ยงจะถูกกล่าวหาว่า "กวนตีน" มิใช่น้อย

ใบหน้า, แววตา, ร่างกาย ในทางสังคมศาสตร์และ(อ)มนุษยศาสตร์ ล้วนถูกศึกษาได้ในฐานะ "พื้นที่ทางสังคม" ที่สื่อความหมายประเภทหนึ่ง และเป็นเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรมทางความคิด มิใช่เรื่องของธรรมชาติและ/หรือเอกลักษณ์เฉพาะของใคร ไม่ว่ายิ้ม, หัวเราะ, ร้องไห้, ยักคิ้วหลิ่วตา หรือทำแอ๊บแบ๊วตาแป๋ว เมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่น นั่นคือการที่เราส่งภาษาสื่อสารไปยังคนอื่นว่าเราเป็นอย่างไร สุข, ทุกข์, เศร้า, เริงร่า หรือต้องการความสนใจจากใครเป็นพิเศษ การ "อ่าน" ใบหน้าและกิริยาท่าทางของคนแวดล้อมเรา ก็เป็นทักษะความสามารถอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่จะเรียนรู้กันง่ายๆ เหมือนกัน

และในกระบวนการอ่านความรู้สึกกันนั้น บางทีก็ไม่ใช่ว่าเห็นใบหน้าแล้วถึงค่อยมาตีความว่าคนนั้นคนนี้มีความรู้สึกหรือภาวะจิตใจเป็นอย่างไร แต่กลับอ่านกันโดยมีความรู้สึกของตัวผู้อ่านเองกำกับชี้นำอยู่ก่อนแล้วว่าคนผู้นั้นเขารู้สึกหรือคิดเห็นในใจเป็นอย่างไร ไม่ว่าหมองคล้ำหรือใสกิ๊ก เมื่อรักชอบก็อาจอ่านด้วยจิตพิศวาส แค่มองตาก็รู้ใจกันแล้ว แต่หากเกลียดกันขึ้นมา ไม่ว่าจะเห็นเขาเธอหัวเราะหรือร้องไห้ ก็อาจอ่านด้วยจิตพิฆาต คนอะไรจะหวังดีต่อชาติบ้านเมืองจริง เป็นแค่ละครที่เอาไว้หลอกล่อพวกควายแดงเท่านั้นแหละ แต่ทั้งวิธีอ่านด้วยจิตพิศวาสกับอ่านด้วยจิตพิฆาต ต่างก็สุดโต่งกันคนละแบบ และมีโอกาสอ่านผิดได้ง่าย

นั่นเป็นกรณีการอ่านในกระบวนการสื่อสาร 2 ทาง แค่มีฉันกับเธอหรือมึงกะกู แต่หากเป็นกรณีการอ่านมากกว่า 2 ทางขึ้นไป เราต้องถามตัวเองซะก่อนว่าละเลยใบหน้าใครไปอย่างไม่น่าอภัยหรือเปล่า เช่น มุ่งอ่านแต่น้ำตาคุณยิ่งลักษณ์ จนหลงลืมไปหรือเปล่าว่าชาวบ้านนครสวรรค์ที่ฟังปราศรัยอยู่ ณ ที่นั้น มีความรู้สึกหรืออยู่ในภาวะจิตใจเป็นอย่างไร ในกรณีนี้นอกจากชาวบ้านจะถูกทำให้เป็นชายขอบที่ไร้เสียงแล้ว ยังถูกทำให้ไร้ใบหน้าไปอีกด้วย

ใครบอกจิตมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง ก็เล่นอ่านจิตใจกันเป็นชีวิตประจำวันเสียขนาดนี้!

กล่าวโดยสรุป ในพื้นที่สาธารณะการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของคนนั้น มีขอบเขตคือต้องไม่ 1.นำมาปะปนกับภาวะความเป็นผู้นำ (เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเป็นแบบยุคจารีต) 2.ขัดแย้งกับอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นๆ ที่กำลังสื่อความด้วย หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่ละเมิดอัตลักษณ์ตัวตนของคนอื่น และต้องระวังที่จะไม่ละเลยพิจารณาภาวะจิตใจของคนอื่นๆ ที่ถูกทำให้เป็นชายขอบหรือไร้ใบหน้าไป 3.นำไปสู่การใช้ความรุนแรง 4.และอื่นๆ (อาจมีอย่างอื่นอีก ที่ผมยังคิดไม่ถึงก็ได้)



จริงอยู่ครับ อารมณ์ความรู้สึกอาจเป็นเรื่องของ "การแสดง" ได้ในบางกรณี แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ใช่จะเป็นสิ่งชั่วร้ายเสมอไป บางกรณีความสามารถในการแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึก ถือเป็นพลังสร้างสรรค์ได้ด้วย เป็นที่มาของศิลปะแขนงต่างๆ งานเพลง ภาพวาด วรรณกรรม รูปปั้น และอะไรอย่างอื่นอีกมากมาย ตรงข้ามการตีสีหน้าเรียบเฉยหรือทำยิ้มแย้มแจ่มใสได้ ทั้งที่เพิ่งสั่งฆ่าคนตายกลางเมือง ไม่เพียงไม่สร้างสรรค์ แต่ยังต้องถามว่าอ้ายอีผู้นั้นมันยังเป็น "คน" กันอยู่หรือเปล่า และเมื่อเกิดเหตุอย่างนี้ขึ้น กลับไม่ถูกอ่านในแง่ความอยุติธรรม ก็ต้องถามว่าสังคมนี้กำลังป่วยไข้อะไรกันอยู่หรือเปล่า ?!

ศิลปะกับประเด็นทางศีลธรรมในสังคมสมัยใหม่นั้นไม่ควรเข้าใจไขว้เขวปะปนกัน การตำหนินายกเรื่องร้องไห้ในลักษณะที่กล่าวมา จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นการเอาวิธีคิดทางศีลธรรมแบบจารีตนิยม มาใช้เป็นมาตรฐานอย่างผิดยุคสมัย
อย่างนี้ภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่า "เชยระเบิด" และหรือ "เกรียนเว่อร์" ใช่หรือไม่ ?!



++

"ชาญวิทย์" ชี้ชนชั้นนำไทยมีปมด้อย หลงเชื่อว่าการพูดอังกฤษที่ดีคือต้องใช้สำเนียงมาตรฐาน
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.


เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์บทความขนาดสั้นชื่อ "Thai elite and the English language" (ชนชั้นนำไทยและภาษาอังกฤษ) ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

อีลีด (ชนชั้นนำ - มติชนออนไลน์) ไทย เป็นพวกมีปัญหา มีปมด้อย เรื่องภาษาอังกฤษ อีลีดไทย "หลงเชื่อ" ว่าคนไทย ที่พูดอังกฤษได้ดี ก็ต้องพูดแบบ "Queen?s English" (ภาษาอังกฤษสำเนียงมาตรฐาน - มติชนออนไลน์) (อย่างคึกฤทธิ์ อานันท์ อภิสิทธิ์...) ... หรือบรรดา wogs = westernized oriental gentlemen (สุภาพบุรุษชาวตะวันออกที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก - มติชนออนไลน์)

จะมีคนไทย สักกี่คน ที่ "คาบช้อนทอง" มาเกิด พ่อแม่ส่งไป "ชุบตัว" เป็น "นักเรียนนอก" แต่เล็กๆ บางคน หากไปถึงอังกฤษ เมืองแม่ ไม่ได้ ก็ขอไปอดีตอาณานิคม อย่างฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินเดีย ก็ยังดี

นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า dont worry, just speak, speak lah (ไม่ต้องกังวล แค่พูดออกไปเรื่อยๆ - มติชนออนไลน์) "แล้ว เธอ ก็จะเก่งไปเอง" ล่ะ



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น ในวันที่ 18 พฤศจิกายน นายชาญวิทย์ยังได้เขียนบทความขนาดสั้นอีกสองชิ้น ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

CUT THE ROPE AND BE FREE (ตัดเส้นเชือกพันธนาการ แล้วเป็นอิสระ - มติชนออนไลน์):

ปัญหา การเรียนอังกฤษ ใน "สยามประเทศไทย" เรา คือ
ครู อาจารย์ ตั้งตน เป็น นักภาษาศาสตร์ หรือ "ผู้รู้" มากไป
"สั่งสอน" กับ "อธิบาย" ไวยากรณ์ ทฤษฏี (เว่อร์)
น่าเบื่อหน่าย ไม่น่าเรียน ตั้งแต่ระดับประถม/มัธยม เสียแล้ว
แทนที่จะเป็น ภาคปฏิบัติ


พูดไปเลย เขียนไปเลย
ให้เยาวชน คุ้นเคย
ไม่เกิดโรคประสาท กลัวพูดผิดๆ ถูกๆ
(พูดได้ ไม่ดี เหมือน "นักเรียนนอก")

ที่จริงแล้ว "ผิดๆ ถูกๆ" นั่นแหละ "เป็นครู"
นำไปสู่ "ความเก่ง" ภาษาได้


วิธีแก้ปัญหาหนึ่งของเรา คือ
ต้องสอน "ครู อาจารย์" กันใหม่ ให้เก่งๆ
จะได้ไปสอน "นักเรียน" ให้ เก่ง ได้

(เรื่องนี้ ใหญ่ ระดับชาติ ขอส่งต่อให้ นรม. กับ รมต. "นักเรียนใน" ทั้งหลาย ที่ภาษาอังกฤษ "อ่อนแอ" พิจารณา ครับ)
แต่ มีเรื่องเล็กๆ ระดับ เราๆ ท่านๆ (ที่ทำได้ ทันที) คือ
ก็ต้องเลิกพูด เลิกคิด ว่า
ที่ คนไทยเรา ไม่เก่ง ภาษาอังกฤษ
เพราะไม่เคยเป็น "เมืองขึ้น"
(เรื่องนั้น มันตั้งร้อยปี มาแล้ว)
ยิ่งพูด ยิ่งเป็นลบ เป็นอุปสรรค
เป็น "ข้อแก้ตัว" ปิดประตู (ปลอบใจ) ตนเอง (สร้างทั้ง "ปมเขื่อง" และ "ปมด้อย" ไปในเวลาเดียวกัน)
แทนที่จะเป็น บวก หรือสร้างสรรค์


สร้าง ความฝัน ความบันดาลใจ และ สติปัญญา ครับ

------

"ถ้าไม่ได้ ชุบตัว ผมจะหัวร่อ ออกไหม"
สิ่งที่ ผมพบ ด้วยตนเอง ในเส้นทางแสวงหา ความรู้
คือ ความเป็น อีลีต/elitist กทม. ของตนเอง
กว่าจะสลัดได้ ก็ยากแสนยาก
...

ดังนั้น ก็เคย หัวร่อ เรื่อง Queen Elizabeth Taylor
กับคุณบรรหาร นรม. มาแล้ว
แต่เมื่อนึกว่า หากตน ยังอยู่บ้านโป่ง (ลาดลี/โพลาม)
ไม่ได้กลายเป็น อีลีต กทม.
ไม่ได้ไป "ชุบตัว" เป็น "นักเรียนสวน" เป็น "นักเรียนนอก"
ผมจะ "หัวร่อ ออก" ไหม (แย่จัง) ครับ


"อันอ้อยตาล หวานลิ้น แล้วสิ้นซาก
แต่ลมปาก หวานหู ไม่รู้หาย
อันเจ็บอื่น หมื่นแสน พอแคลนคลาย
เจ็บจนตาย เพราะเหน็บ ให้เจ็บใจ"

Beware (ระวัง - มติชนออนไลน์): วันหนึ่ง ที่เขาๆ และเธอๆ อาจมา "เอาคืน" ครับ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ก่อนหน้านี้ นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชน ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ว่า ฟังคำแถลงของท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ที่ตอบรัฐมนตรี ฮิลลารี คลินตัน และพบว่าภาษาอังกฤษของนายกฯยิ่งลักษณ์ใช้สื่อสารเป็นทางการไม่ได้เลยพอๆ กับภาษาไทย ในการสื่อสารกับต่างประเทศเป็นทางการ นายกฯยิ่งลักษณ์ควรพูดภาษาไทย เพราะภาษาอังกฤษใช้การไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่องและอาจผิดพลาดจนประเทศไทยเสียหาย

ส่วนการสื่อสารกับคนไทยเป็นภาษาไทย นายกฯยิ่งลักษณ์ก็จำเป็นต้องฝึกซ้อมทำความเข้าใจกับเรื่องที่พูดหรืออ่านบท แล้วฝึกการอ่านออกเสียงให้พร้อมก่อน นายกฯยิ่งลักษณ์จะไปประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลี น่าห่วง จะพูดอะไรกับผู้นำอาเซียนอีก 9 ชาติ และผู้นำชาติ+8 ขอให้ใช้ล่ามกระทรวงการต่างประเทศดีกว่า ก่อนไปบาหลีขอให้กระทรวงการต่างประเทศให้ความรู้เรื่องอาเซียนแก่นายกฯยิ่งลักษณ์ให้ครบถ้วน และตามช่วยให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ท่านทุกย่างก้าว กลัวพลาดเรื่องการต่างประเทศ ไม่มั่นใจในพื้นความรู้ของนายกฯยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีการต่างประเทศสุรพงษ์จริงๆ ทั้งห่วงทั้งกลัวว่าจะพลาดพลั้งแล้วแก้ไขไม่ได้



+ + + +

น่าอับอายแทนประเทศไทย?
โดย ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์, Simon Fraser University
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


เหมือนเช้าทุกๆ วัน เมื่อผมตื่นขึ้นมาเมื่อวานสิ่งแรกๆ ที่ผมจะทำก็คือเปิดเฟซบุคเพื่อดูความเคลื่อนไหวและข่าวสารต่างๆ ตลอดวันในเมืองไทย และประเด็นร้อน ที่เพื่อนบนเฟซบุคของผมพร้อมใจกันแชร์ ก็คือคลิปการแถลงข่าวร่วมระหว่างนายกฯ และ Hillary Clinton จาก youtube พร้อมกับคำโปรยต่างๆ นานา จับความได้ว่า "นายกฯ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง น่าอับอายแทนประเทศไทย ฯลฯ"

เมื่อฟังคำวิจารณ์เหล่านี้ผมก็เกิด "คัน" ขึ้นมา นึกสนุกอยากทดสอบว่าถ้าให้คนต่างชาติฟังเขาจะฟังรู้เรื่องกันกันรึเปล่า จึงทดสอบโดยการแชร์คลิปการแถลงข่าวร่วมนั้น และตั้งคำโปรยเพื่อเชิญเพื่อนซึ่งไม่ใช่คนไทยให้มาดูคลิป แล้วตอบว่าเข้าใจที่นายกฯ แถลงหรือไม่

ผมทิ้งแชร์เอาไว้หนึ่งวัน มีเพื่อนมาตอบทั้งหมด 6 คน เกือบทั้งหมดใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก และมิได้มีเพื่อนเป็นคนไทยนอกจากผมเท่านั้น (นั้นหมายความว่าไม่ได้คุ้นเคยกับสำเนียงแบบไทยๆ) ทุกคนตอบเป็นทิศทางเดียวกันว่า "เข้าใจแถลงการณ์ที่นายกฯ พูดได้เป็นอย่างดี มีปัญหาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น" เช่น บางคนตอบว่าเข้าใจ 95% บางคนตอบว่าไม่เข้าใจเฉพาะช่วงต้นๆ ของสุนทรพจน์ แต่โดยรวมเข้าใจได้ดี

จากผลการทดสอบนี้ รวมกับข้อสังเกตของผมเอง ผมขอสรุปดังนี้ครับ

1) เป็นความจริงที่ว่าอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์พูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้นเพราะอดีตนายกฯ ใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นระยะเวลานานกว่า (แต่แน่นอนว่าแม้แต่อดีตนายกฯ ก็ยังมีสำเนียงไทย เมื่อพูดภาษาอังกฤษเช่นกัน)

2) แต่จากผลการทดสอบก็ยืนยันว่าคนต่างประเทศสามารถเข้าใจสุนทรพจน์ของนายกฯ ได้ ฉะนั้นภาษาอังกฤษของนายกฯ ถือว่าไม่มีปัญหาครับ มาตรฐานการพูดภาษาอังกฤษในปัจจุบันนั้นถือ จุดประสงค์สำคัญคือการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ ส่วนการพูดติดสำเนียง (accent) นั้นมิได้ถือเป็นปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นธรรมชาติที่เมื่อภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาสากลมากกว่าภาษาประจำชาติ การพูดติดสำเนียงจึงถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งท่ามกลางกระแสค่านิยมการไม่เลือกปฏิบัติ (nondiscrimination) ด้วยแล้ว มาตรฐานในโลกตะวันตก (อย่างน้อยก็เป็นมารยาทในสังคม) คือ การพูดติดสำเนียงไม่เป็นปัญหา แต่การดูถูกคนที่พูดติดสำเนียงนั่นแหละเป็นปัญหา

3) ย้อนกลับมาดูวิถีปฏิบัติของประเทศไทยเราเองบ้างก็จะเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมหลายๆ คนถึง "อายแทนประเทศไทย" กับกรณีการพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยของนายกฯ คนไทยเรายังยึดค่านิยมว่า "สำเนียงกลางเท่านั้นที่ถูกต้อง" อย่างแข็งขัน เราเห็นตลกล้อเลียนภาษาไทยสำเนียงอื่นบ่อยครั้ง และที่แน่ๆ เราจะไม่มีทางได้เห็นพิธีกร ผู้ประกาศข่าว หรือแม้แต่นักแสดงพูดด้วยสำเนียงอื่นนอกจากสำเนียงมาตรฐานเลย (ยกเว้นมุ่งให้เกิดความตลก) น่าสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าคนกรุงเทพฯ เอาวิธีวัด "ความถูกต้องทางภาษา" เช่นนี้ไปขยายผลกับ "ความถูกต้อง" ในกรณีอื่นๆ ด้วย

4) ถ้าจะเอาประเด็นเรื่องสำเนียงการพูดไปตัดสินคุณสมบัตินายกฯ ยิ่งไม่สมเหตุสมผลมากขึ้นไปอีกครับ ถ้าใช้ตรรกะเดียวกันแล้ว นายกหู จิ่น เทา ของจีนสอบตกการเป็นนายกฯ ตั้งแต่อยู่ที่มุ้งเลยครับ เพราะท่านมิได้พูดภาษาอังกฤษแม้แต่คำเดียวในพิธีการที่ต้องเกี่ยวข้องกับต่างชาติ ท่านจะใช้ล่ามตลอด แต่นายกฯ หู ก็ยังเป็นที่ยอมรับของคนจีนจำนวนมาก แน่นอนว่าการพูดภาษาอังกฤษได้แบบไม่ติดสำเนียงเลยย่อมถือเป็น "โบนัส" แต่จะถือเป็นคุณสมบัติจำเป็นของนายกฯ ไม่ได้ครับ


5) สุดท้ายแล้ว จากมุมมองที่คนต่างประเทศ เขาไม่ได้เห็นว่าสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์พูดไปในการแถลงการณ์ร่วมนั้นเป็นสิ่งที่น่าอับอายของประเทศไทยเลย "ความน่าอับอาย" นั้นเป็นสิ่งที่คนไทย "คิดไปเอง" โดยการเอาค่านิยมของตัวเองเป็นตัวตั้งครับ

ป.ล. ตามไปดูผลการทดสอบได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ครับ
http://www.facebook.com/natt.hongdilokkul/posts/312848618725340

. . At Vancouver, Canada, Nov 18, 2011, 5:42 pm (GMT -8:00)



+ + + +

ใต้เท้าขอรับ: ยิ่งลักษณ์พูด... “ใคร” ฟัง
โดย พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าว
จากเวบไซต์ http://www.prachatai.com/journal/2011/11/37954
Sun, 2011-11-20 23:10


การโจมตียิ่งลักษณ์ในฐานะที่เธอ “พูดไม่เป็น” ทั้งในพากย์ไทยและอังกฤษนั้น เป็นสิ่งที่ถูกนำมาเป็นประเด็นโจมตีนับตั้งแต่เธอก้าวเข้าสู่สนามการเมือง

นักสื่อสารย่อมเห็นตรงกันว่า การสื่อสารของยิ่งลักษณ์นั้นติดขัด แต่เธอ “ล้มเหลว” ในการสื่อสารหรือไม่ แนวทางที่วิเคราะห์วิจารณ์ที่ผ่านมามุ่งไปที่ตัวยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้พูด

แต่เมื่อประเด็นการโจมตียิ่งลักษณ์ “ขายไม่ออก” จึงน่าสนใจว่า ในการสื่อสารทางการเมือง คงไม่อาจมองที่ตัวผู้ส่งสารแต่เพียงอย่างเดียว

ในวันเดียวกับที่ยิ่งลักษณ์พูดภาษาอังกฤษในการแถลงข่าวร่วมกับฮิลลารี คลินตัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ บัน คีมุน ก็แถลงข่าวด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงเกาหลีซึ่งเชื่อได้ว่า สื่อไทยและคนไทยไม่คุ้นชิน แต่ก็ไม่มีใครพูดถึง ผู้นำในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกน้อยคนที่จะพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่ดี มีผู้เสนอและยกตัวอย่างว่าผู้นำเหล่านี้ใช้ล่ามในงานพิธีการ ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งลักษณ์ก็ควรจะทำเช่นเดียวกัน แต่ยิ่งลักษณ์ควรใช้ล่ามในงานพิธีการหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักที่สังคมไทยถกเถียง และเป้าหมายหลักของการวิพากษ์วิจารณ์ก็มิใช่เพื่อเสนอแนะทางเลือกให้ดีขึ้น หากแต่เพื่อดูถูกเหยียดหยาม ปรามาสเธอในฐานะผู้นำที่น่าอับอายต่างหาก

การชี้วัดคนจากสำเนียงภาษาเป็นเรื่องคร่ำครึ ยิ่งเมื่อโลกติดต่อกันบนพื้นฐานของการเคารพในความแตกต่างหลากหลายและความเท่าเทียม

และการเป็นผู้นำ มิใช่การมีคุณสมบัติเลิศลอยกว่าประชาชนของตัวเอง ผู้นำยิ่งมีคุณสมบัติวิเศษ ยิ่งอยู่ห่างจากประชาชนของตนเองมากเท่านั้น สื่ออังกฤษอย่างไทมส์ เคยวิพากษ์วิจารณ์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไว้ในแง่มุมนี้ และวิพากษ์กระทั่งว่า ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดที่เขามี (จบการศึกษาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ผลิตผู้นำให้กับหลายประเทศ ซ้ำยังเกิดที่อังกฤษอีกด้วย) เขาจึงเหมาะสมที่จะเป็นนักการเมืองอังกฤษเสียยิ่งกว่าจะเป็นนายกของไทย คำวิพากษ์วิจารณ์ทำนองนี้ ฟังดูเหมือนคำชมหรือคำเหน็บแนมกันแน่ ความรู้สึกบวกหรือลบที่ได้ คงช่วยตอบได้ว่าคุณคือกลุ่มเป้าหมายของผู้นำแบบไหน

ยิ่งลักษณ์คือภาพที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ใช่จากพี่ชายหรือจากพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่จากประชาชนจำนวนหนึ่งที่ต้องการส่งเสียงยืนยันสิทธิทางการเมืองของตน โดยมิได้สนใจว่าผู้นำของตนคือ “ใคร” มากเท่ากับ ผู้นำคนนั้นเข้าสู่อำนาจ “อย่างไร” การมีเธออยู่นั้นเพียงพอแล้ว แต่เธอจะอยู่แล้วพูดอะไรอย่างไร เป็นเรื่องรองลงไป

มากไปกว่านั้น ประชากรกลุ่มใหญ่ที่ยิ่งลักษณ์สื่อสารได้สัมฤทธิ์ผล ก็อาจเป็นเช่นเดียวกับยิ่งลักษณ์หรือหนักข้อกว่า คือไม่ได้พูดภาษาไทยกลาง และไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ มิพักต้องไปหวังถึงสำบัดสำนวนสละสลวยแสดงไหวพริบปฏิภาณ ลำพังพูดให้รู้เรื่องยังยาก ซึ่งคือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ภาษาหรือสำเนียงที่ยิ่งลักษณ์ใช้จึงไม่ได้สลักสำคัญอะไรกับผู้ฟังกลุ่มนี้

ผู้มีการศึกษาดี ภาษาดีแต่ไม่นิยมกติกาการเลือกตั้ง ถ้าไม่ยอมเข้าใจปรากฏการณ์นี้ ก็ย่อมไม่มีวันเข้าใจได้ว่าทำไมตนจึงเป็นผู้แพ้ทุกครั้งที่ออกไปลงคะแนนเสียง

.......................................

Submitted by ชาวบ้าน-1 (visitor) on Mon, 2011-11-21 00:24.
ผู้มีการศึกษาดี ภาษาดี แต่ไม่มีเมตตา/ความจริงใจ ต่อประชาชนส่วนใหญ่
ก็ย่อมไม่มีวันเข้าใจได้ว่า ทำไมตนจึงเป็นผู้แพ้ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง.

Submitted by กบฎชนชั้นกลาง (visitor) on Mon, 2011-11-21 02:29.
อธิบายได้สั้น ๆ เข้าใจง่ายดีค่ะ
เรื่องที่เข้าใจง่าย ๆ อย่างนี้ บางคนที่ได้ชื่อว่าเพียบพร้อมทั้งคุณสมบัติ รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และสติปัญญากลับยากที่จะเรียนรู้และเข้าใจ
ปัญหาเรื่องเหล่านี้ก็คงเป็นปัญหาหลักของคนที่ไม่ได้เลือกคุณยิ่งลักษณ์เท่านั้นแหละ
ก็ปล่อยเค้าเหอะ แค่เทวดาของพวกเค้าแพ้ตลอดก็เครียดจะแย่
ให้เค้าได้ระบายบ้าง ไม่งั้นวัน ๆ คงอกแตกตาย

Submitted by talisman (visitor) on Mon, 2011-11-21 06:48.
เรื่องนี้ผมเห็นอย่างนี้นะครับ คนที่วิจารณ์คุณยิ่งลักษณ์เรื่องการใช้ภาษา ส่วนใหญ่เป็นคนที่ยืนตรงข้ามทางการเมืองกับคุณยิ่งลักษณ์และวิจารณ์การใช้ภาษาของนายกฯ บนอคตินั้น

ส่วนคนที่แย้งแทนคุณยิ่งลักษณ์ ก็แย้งคนที่วิจารณ์นายกฯว่า วิจารณ์อย่างมีอคติทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม การใช้ภาษาของคุณยิ่งลักษณ์ก็บกพร่องในระดับที่ใครไม่ว่าจะอยู่สีไหนก็ตามวิจารณ์ได้นะผมว่า มีเห็นผลอะไรหรือที่เราจะวิจารณ์นายกรัฐมนตรีเรื่องคุณสมบัติในการสื่อสารมิได้มิทราบ

ว่ากันตามตรง ทักษะการสื่อสารของคุณยิ่งลักษณ์น่ะ ไม่ต้องภาษาอังกฤษหรอกครับ เอาแค่ภาษาไทยก็ต่ำกว่ามาตรฐานของข้าราชการระดับสูงแล้ว ไม่พักต้องพูดถึงคนที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ

ไม่ต้องเทียบกับอภิสิทธิ์ก็ได้ถ้าเกลียดกันนัก เอาแค่ระดับจาตุรนต์ จักรภพ คุณยิ่งลักษณ์ก็เทียบไม่ได้แล้ว

แต่ก็จะมีคนเถียงอีกแหละว่่า นายกฯ ต้องดูที่ผลงานไม่ใช่สักว่าดีแต่พูด อันนี้ไม่จริง ผมยืนยันนั่งยันและก็นอนยัน นายกฯ ต้องเป็นมากกว่าคนทำงานเป็น เพราะนายกฯไม่ได้เป็นตำแหน่งที่พูดกับคนที่เลือกพรรคของตัวเท่านั้น นายกฯ ต้องสื่อสารกับคนไทยทั้งหมด และเป็นตำแหน่งที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศด้วย

ผมเห็นด้วยว่า ถ้าไม่ถนัดในการพูดภาษาที่ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ ก็ใช้ล่ามสิครับ ไม่ต้องอาย แล้วจะพูดจะจาเป็นการส่วนตัวกับฮิลลารี่กับโอบาม่าก็ให้คนซ้อมให้ เขียน script ไว้ก่อนก็ได้ ว่าถามว่างี้จะตอบยังไง เรื่องใดตอบได้ตอบไม่ได้ ไม่ใช่อะไรก็โอเค โนโนเยสเยส snake snake fish fish

ส่วนที่บทความนี้กระแนะกระแหน่ตอนท้ายถึง "ผู้มีการศึกษาดี ภาษาดีแต่ไม่นิยมกติกาการเลือกตั้ง" นี่ออกทะเลไปเลยครับ logic ไม่มีเลย พูดก็พูดเถอะ ทำไมคนที่ไม่นิยมการเลือกตั้ง แต่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จะวิจารณ์คนที่ได้รับการเลือกตั้งไม่ได้

นี่ผมตั้งคำถามให้เถียงมานะครับ
ผมก็นิยมการเลือกตั้งอย่างคุณๆ ท่านๆ นั้นแหละ แต่คำถามคือ สิทธิการวิจารณ์เกิดผ่านการเลือกตั้งเท่านั้นล่ะหรือ? หรือเกิดจากรัฐธรรมนูญที่เปิดให้มีการวิจารณ์ ไม่ว่าจะนิยมการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ?

Submitted by Maximus (visitor) on Mon, 2011-11-21 08:43.
พวกกระจอกไม่มีอะไรจะคิด ในหัวมีแต่ขี้เลื่อย ติฉินนินทาผู้อื่นในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
ทั้ง Obama และ Clinton ต่างยิ้มแย้มแจ่มใสเมื่อสนทนากับนายกฯยิ่งลักษณ์
เป็นภาพที่ยากจะพบในชาวตะวันตก
ฝรั่งเจ้าของภาษาแท้ๆเขายังเข้าใจได้ดี

มีแต่พวกสลิ่มปัญญานิ่ม ที่ตัวเองนั้นพูดภาษาอิงลิชยิ่งกว่างูๆปลาๆ คอยนินทาท่านนายกฯ

********
ฯลฯ



.