http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-11

สื่อกำลัง"จมน้ำ" และกระบวนการใช้สื่อปั้นข่าวเพื่อเพิ่มผลต่อรองจากทุกฝั่งอำนาจ

.
มีโพสต์ จม.ของศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก ปฏิเสธมูลข่าวกรณี นสพ.กรุงเทพธุรกิจที่อ้างกองทัพประเมิน 12 เหตุผลให้นายกฯสอบตก

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
รู้สู้ flood ep.7 : รู้ให้ครบ ระบบน้ำใช้
http://www.youtube.com/watch?v=P7xSgSuzh_U


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


สื่อกำลัง "จมน้ำ"
โดย รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


นํ้าท่วมคราวนี้ได้เห็น "ฝีมือ" ของสื่อมวลชนหลายแห่ง แต่ก็เป็นโอกาสได้เห็นบทบาท "แปลกๆ" ของสื่อมวลชนเช่นกัน

ประการแรก เราได้เห็นคนทำงานสื่อหลายคนขอบคุณบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้ให้ความช่วยเหลือสื่อให้พ้นจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือ "เฉพาะบุคคล" ไม่ใช่การช่วยเหลือ "สาธารณะ" เช่น คนทำงานสื่อขอบคุณหน่วยงาน ก. ที่ช่วยเอากระสอบทรายไปกันน้ำที่บ้านส่วนตัวของสื่อ

คำถามคือ หากบุคคลที่หน่วยงานเข้าไปช่วยเป็น "ชาวบ้านธรรมดา" ไม่ใช่ "สื่อ" จะได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วหรือมีประสิทธิภาพมากเท่านี้หรือไม่ เพียงใด

ที่น่าสนใจคือ คนทำงานสื่ออาจไม่รู้ตัวว่ากำลังสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อยังประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งขัดต่อจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ

คนทำงานสื่อ (ที่ดี) นั้น ถูกฝึกมาว่าต้องถือประโยชน์สาธารณะ ละเว้นอภิสิทธิ์หรือประโยชน์ส่วนตัวเสมอ (เว้นแต่สื่อจะได้รับอภิสิทธิ์ก็ต่อเมื่อกำลังทำหน้าที่ "แทน" สาธารณะ เช่น ได้ผ่านเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เพื่อสัมภาษณ์นักการเมือง ฯลฯ)


ประการถัดมาคือ การทำหน้าที่ของสื่อในการระดมและบริหารจัดการของบริจาคให้แก่ผู้ประสบภัย

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ในภาวะวิกฤต ใครช่วยอะไรได้ก็ต้องทำ รวมทั้งการลงมือลงแรงของสื่อในเรื่องงานบริจาค เพราะความโกลาหลและรุนแรงของเหตุการณ์

ดังนั้น เราจึงได้เห็นสื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองในการระดมของบริจาค และประชาสัมพันธ์ตัวเองในการกระจายของบริจาคไปยังผู้ประสบภัย

คำถามคือ ในการทำงานประชาสัมพันธ์ "เชิงรุก" ดังกล่าวนั้น สื่อได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องน้ำท่วมแก่ประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจหลักของสื่อได้ดีเพียงพอหรือยัง

เช่น เวลาสื่อรายงานว่า มวลน้ำขนาดใหญ่กำลังหลากลงมาถึงแม่น้ำสายนั้น คลองสายนี้ ประตูน้ำบานโน้น... คิดว่าประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจหรือรู้เรื่องมากน้อยเพียงใด และข้อมูลเหล่านั้นช่วยให้ประชาชนประเมินโอกาสเสี่ยงได้แม่นยำเพียงใด

จะดีกว่าไหม หากสื่อนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปทำหน้าที่ด้านข้อมูลข่าวสารตามภารกิจ "การสื่อสาร" ของตัวเอง

หรือหากสื่อยังสนใจจะช่วยเรื่องการบริจาคก็น่าจะนำเสนอในเชิงข้อมูล เช่น พื้นที่ไหนได้รับของบริจาคซ้ำซาก หรือพื้นที่ไหนของบริจาคยังไปไม่ถึง ฯลฯ


ประการที่สาม คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ข้อมูลข่าวสารเรื่องวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้สับสนวุ่นวายจริงๆ

ข้อมูลส่วนหนึ่งเป็นเรื่อง "การวิเคราะห์" ของนักวิเคราะห์ที่มีข้อมูลน้ำ และวิธีการวิเคราะห์ที่ต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ย่อมได้ผลการวิเคราะห์ที่ต่างกัน

ในด้านนี้จึงเป็นหน้าที่ของสื่อใช่หรือไม่ ในการย่อยการวิเคราะห์อันยุ่งยากเหล่านั้นให้เป็นเรื่องง่าย ชี้ให้เห็นว่านักวิเคราะห์แต่ละคนหรือแต่ละสำนักมีการวิเคราะห์ต่างกันอย่างไร เพราะอะไร แล้วทิ้งให้ประชาชนได้คิดต่อเพื่อประเมินว่าประชาชนควรจะเชื่อถือใคร อย่างไร และจะตัดสินใจดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร

ต้องยอมรับว่าการช่วยย่อยข้อมูลเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ในเมื่อมีอาชีพเป็น "สื่อมวลชน" ก็ย่อมหลีกเลี่ยงภาระนี้ไม่ได้


ประการสุดท้ายคือภารกิจของสื่อในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล หากรัฐบาลทำดีก็ต้องชื่นชมให้กำลังใจด้วยความสุจริต หากรัฐบาลออกนอกลู่นอกทางก็ต้องท้วงติงชี้แนะโดยคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก

แต่ในช่วงน้ำท่วม เรายังเห็นสื่อ "เลือกข้าง" ตามความเสน่หา

ข้างหนึ่ง ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็ดีไปหมด หรือหากรัฐบาลทำไม่ดีจนยากจะปฏิเสธ เช่น การแถลงข่าวการอพยพที่สับสน หรือการปล่อยให้ของบริจาคจำนวนมากจมน้ำที่ดอนเมือง ฯลฯ สื่อสายนี้ก็จะคอยหา "คำอธิบาย" มากลบเกลื่อนให้เสร็จสรรพ

อีกข้างหนึ่ง ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็ผิดไปหมด นายกฯน้ำตาคลอ ก็ถูกตีความว่าอ่อนหัดอ่อนแอ

กรณีสื่อเลือกข้างนี้ เป็นผลพวงควบคู่มาจาก "การเมืองเรื่องสี"



ใช่หรือไม่ว่า โดยหลักการแล้ว เราควรประเมินคนจาก "เจตนา-พฤติกรรม" ว่าชอบหรือมิชอบ มากกว่าจะมองว่า "ใคร" เป็นคนทำ

มิฉะนั้นแล้ว อคติก็จะบังตา

มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า สื่อจำนวนไม่น้อยกำลังใช้วิธีประเมินจาก "ใคร" ทำ มากกว่าประเมินจาก "สิ่งที่ทำ"

เราจึงได้เห็นสื่อกลุ่มหนึ่งที่ชมรัฐบาลเรื่อยเปื่อย และอีกกลุ่มหนึ่งที่ด่ารัฐบาลเรื่อยเจื้อย

ความน่าเชื่อถือของสื่อกำลังจมดิ่งลงไปพร้อมกับสายน้ำอันเชี่ยวกราก



++

'ข่าวร้าย' ที่มากกว่าเรื่องน้ำ
โดย ปราปต์ บุนปาน
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ท่ามกลางเหตุการณ์น้ำท่วมที่ยังคงดำเนินไป

ดูเหมือนจะมี "ข่าวดี" ทยอยเกิดขึ้นมาบ้าง

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเปิดเผยให้เห็นถึงระบบบริหารจัดการน้ำที่จำเป็นต้องถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และได้รับการแก้ไขปรับปรุงแล้ว

อุทกภัยครั้งนี้ยังช่วยตอกย้ำ "แผลเรื้อรัง"

นั่นก็คือ "ความขัดแย้งทางการเมือง" ที่เกิดขึ้น คลี่คลาย ขยายใหญ่ และปรับตัว จนสามารถดำรงตนอยู่ได้ในบริบทอันผันแปรมาร่วมครึ่งทศวรรษ


ความเห็นแตกต่างทางการเมืองที่ฉากหน้าเป็นเหตุน้ำท่วม

คล้ายจะมี "สังเวียน" เดือดระอุอยู่ในโลกออนไลน์

ซึ่งมีผู้กุมอำนาจเป็นกลุ่มคนในสังคมเมือง ที่กำลังเต็มไปด้วยตื่นตาประหลาดใจ (exotic) และหวั่นไหวอยู่กับอุทกภัยอันเยื้องกรายเข้าสู่กรุงเทพมหานครมากยิ่งขึ้นทุกที

แต่ในกระแสฟอร์เวิร์ดเมล์หรือการแชร์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์อันเชี่ยวกราก

สิ่งที่น่าหวาดกลัวพอๆ กับ "น้ำ" ก็ได้แก่ "เรื่องเล่า" ทั้งที่ถูกสำแดงผ่านข้อความและภาพ

ซึ่งคล้ายจะพยายามนำเอา "รัฐบาล" กับ "กองทัพ" มา "เปรียบมวย" กัน

ทำนองว่า "รัฐบาล" ของนายกฯหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งชนะการเลือกตั้งได้เพราะ "พี่ชาย" ทำงานไม่เป็น พูดไม่รู้เรื่อง ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

ขณะที่พี่ๆ "ทหาร" "ใจเกินร้อย" และ "แมนมากๆ" สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างเป็นระบบระเบียบ เปี่ยมศักยภาพ รวมทั้งมิได้เป็นแค่ "รั้วของชาติ" เพียงอย่างเดียว

แน่นอน การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ว่าทำหน้าที่ขาดตกบกพร่องด้านใดบ้างในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ย่อมถือเป็นเรื่องชอบธรรม

ส่วนการชื่นชมการปฏิบัติภารกิจของทหารในสภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องชอบธรรมเช่นเดียวกัน

ทว่าการนำทั้งสองสิ่งมาเชื่อมโยงกันให้มีนัยยะแหลมคมทางการเมือง

กระทั่งเกิดเค้าลาง "รัฐประหารน้ำ" หรือ "วารีภิวัตน์" ขึ้นในจินตนาการของผู้คนนั้น

ถือเป็นสิ่ง "พึงระวัง"



เหมือนกับที่ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์

เตือนเอาไว้ว่า วิวาทะชนิดพูดกัน "คนละเรื่อง" "คนละภาษา" ในประเด็นอุทกภัย

แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระดับ "มูลฐาน"

ระหว่างการจะยอมรับ "อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง" เป็นอำนาจนำของประเทศ

หรือจะยังคงยืนยันให้ "อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" เป็นอำนาจนำต่อไป

สมศักดิ์วิเคราะห์พร้อมกับแจ้ง "ข่าวร้าย" ว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ความขัดแย้งลักษณะ "มูลฐาน" เช่นนี้ ไม่เคยนำไปสู่จุด "ลงเอย" อย่างประนีประนอม

แต่มัก "ยุติ" ลงด้วยการที่ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง

ต้อง "พัง" ลงไป


เชื่อว่าหลังจากมวลน้ำก้อนใหญ่ไหลลงสู่ทะเล

พวกเราหลายคนคงวาดหวังกันว่า

ความขัดแย้งทางการเมืองอันยืดเยื้อและคลุมเครือจะไม่นำพาสังคมไทยไปสู่ "บทสรุป" เช่นนั้น

ได้แต่ "หวัง" และ "คลำทาง" กันต่อไป

แม้น้ำจะลดแล้วก็ตาม



++

2 ท่าที ความเห็น ทหาร และ ประชาธิปัตย์ ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


ท่าทีต่อการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กับการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เป็นเส้นแบ่งอย่างสำคัญ

เป็น "เส้นแบ่ง" ในทาง "ความคิด"

ขณะที่มีกระแสเรียกร้อง เร่งเร้า กดดัน รุนแรง เข้มข้น มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับให้ประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมาจากสื่อมวลชนบางคน บางฝ่าย

แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับเลือกประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550

ขณะที่มีกระแสเรียกร้องให้ใช้ "ความเฉียบขาด" ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมาจากสื่อมวลชนบางคน บางฝ่าย แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเฉพาะตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับเลือกหนทางการเจรจาและทำความเข้าใจ

กระแสเรียกร้องในเรื่องการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับเมื่อมีแนวโน้มที่ กทม.จะจมอยู่ใต้สายน้ำอันตีโอบล้อมมาจากปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม

เป็นความเรียกร้องที่เพิ่มความรุนแรงถึงขั้นอาจเป็นปัจจัยชี้อนาคต น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แรกที่พรรคประชาธิปัตย์เคลื่อนไหวเรียกร้อง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยประสานกับพันธมิตรอันเป็นสถาบันทางธุรกิจ อุตสาหกรรม และสื่อมวลชน บางคน บางฝ่าย

มีการโยนหินถามทางและสร้างข่าวในลักษณะที่ทำให้มองเห็นว่า ฝ่ายของทหาร ฝ่ายของกองทัพ ก็มีความต้องการอย่างเดียวกัน

ถึงกับสื่อบางฉบับพาดหัวข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอต่อรัฐบาลแล้ว


กระนั้น นับจากเดือนตุลาคมจนเข้าถึงเดือนพฤศจิกายน ก็เริ่มมีความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่าทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.มิได้เรียกร้องต้องการพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ตรงกันข้าม กลับเห็นชอบด้วยกับแนวทางของรัฐบาลในการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550

นี่ย่อมเป็นเรื่องชนิด "โอละพ่อ"

สะท้อนให้เห็นว่าเพียงได้ลิ้มรส พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยเฉพาะในสถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 พรรคประชาธิปัตย์ก็บังเกิดความเสพติดกระทั่งมองเห็นเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก

ขณะที่ ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเก็บรับบทเรียนได้อย่างรวดเร็ว

บทเรียนของทหาร บทเรียนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้เป็นบทเรียนจากกรณีการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 เพียงอย่างเดียว

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากยังเป็นบทเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

"ถ้าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ก็ถูกบังคับให้ต้องทำ ท้ายที่สุดก็จะต้องตีกับประชาชนและจะได้อะไรมา แต่ผมว่าไม่ได้ เมื่อติดคุกก็จะต้องมีการประกันตัวสถานการณ์ก็จะกลับไปวงรอบเก่า"

ในความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา "สิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้กับประชาชน"

นี่คือหลักการ "การเมืองนำการทหาร" อย่างที่พูดกันมาตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2523 อันเป็นแนวทางเอาชนะทางการเมือง

เมื่อเอาชนะทางการเมือง เอาชนะทางความคิดได้ก็กำชัยได้อย่างเบ็ดเสร็จ


ความเฉียบขาดอาจมีความจำเป็นเมื่อเข้าสู่ห้วงแห่งการจลาจล ห้วงแห่งสงครามการสู้รบที่แต่ละฝ่ายถืออาวุธเข้าประจันหน้ากัน แต่กับสภาวะอันน้ำไหลบ่าเข้ามาและประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำเป็นต้องเอาน้ำเย็นเข้าลูบ

ก็อย่างที่ ผบ.ทบ.เคยกล่าว "จะให้เอาปืนไปไล่ยิงน้ำหรือ"

ความเฉียบขาดเป็นเรื่องสำคัญในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่การเจรจาและทำความเข้าใจเพื่อให้คิดอย่างเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งกว่า

แนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นอย่างเดียวกัน

กระบวนการแก้ปัญหาน้ำท่วมและพื้นฟูประเทศยังดำเนินต่อไปและอยู่ในการตรวจสอบอันเข้มข้น

แม้ความไม่พอใจต่อวิธีวิทยาของรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินต่อไป แต่กระบวนการในการประเมินผลวัดค่าอย่างถูกต้องก็มีความจำเป็น

ตราบที่เรายังมีรัฐธรรมนูญ ตราบที่เรายังอยู่ในร่มเงาแห่งระบอบประชาธิปไตย



++

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกขอความร่วมมือ "กรุงเทพธุรกิจ" ในการเสนอข่าว
ในเวบไซต์ ประชาไท www.prachatai.com/journal/2011/11/37805
Thu, 2011-11-10 14:49

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก ทำหนังสือถึง บก.กรุงเทพธุรกิจ แจงการรายงานข่าวโดยอ้าง "แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพ" โดยมิได้ระบุชื่อทำให้ผู้อ่านข่าวเข้าใจผิด ยันกองทัพมิได้มีการหารือใดๆ และกองทัพบกเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล

หมายเหตุ: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานวันนี้ (10 พ.ย. 54) ว่าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพบก ได้ส่งหนังสือเลขที่ กห.0407.24/545 ถึง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เรื่อง ขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าว หลังหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 7 พ.ย. 54 ตีพิมพ์ข่าวหัวข้อ "กองทัพประเมิน 12 เหตุผล ขาดภาวะผู้นำ การเมืองครอบงำ นายกฯ สอบตก แก้น้ำท่วม" โดยมีรายละเอียดดังนี้


ที่ กห 0407.24/545
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก
กองบัญชาการกองทัพบก
เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

7 พฤศจิกายน 2554

อ้างถึง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2554 หน้า 16 หัวข้อข่าว "กองทัพประเมิน 12 เหตุผล ขาดภาวะผู้นำ

เรื่อง ขอความร่วมมือในการเสนอข่าว

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

อ้างถึง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2554 หน้า 16 หัวข้อข่าว "กองทัพประเมิน 12 เหตุผล ขาดภาวะผู้นำ การเมืองครอบงำ นายกฯ สอบตก แก้น้ำท่วม"

ตามที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้เสนอข่าว โดยอ้าง "แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพ" วิเคราะห์ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาอุทกภัย รายละเอียดตามอ้างถึงนั้น

กองทัพบก ขอเรียนว่า ข้อมูลที่ถูกนำเสนอในรายงานพิเศษดังกล่าวเป็นการอ้างว่ามาจากแหล่งข่าวระดับ สูงของกองทัพ ซึ่งมิได้ระบุว่าเป็นบุคคลใด ขณะเดียวกันก็เป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์ที่พยายามเชื่อมโยงความคิดเห็นส่วน บุคคลกับการบริหารงานของรัฐบาลและกองทัพ อาจส่งผลให้ผู้รับข่าวสารเกิดความเข้าใจผิดว่ากองทัพมีการหารือในประเด็นดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงกองทัพมิได้มีการดำเนินการใดๆ ในเรื่องดังกล่าวทั้งสิ้น ทั้งนี้ กองทัพเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลที่ปฏิบัติตามนโยบายในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในขณะนี้ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กองทัพ ส่วนราชการ และภาคประชาชน มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และได้ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างเต็มที่ ดังนั้นในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนการจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารใดๆ ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ประเทศชาติต้องการความรักความสามัคคี และความเข้าใจเพื่อร่วมกันผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์น้ำในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน ถูกต้อง อ้างอิงได้ในที่มาของข่าวและแหล่งข่าว

กองทัพบกในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายรวมถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหารและรัฐบาล ทั้งนี้ในทุกภารกิจกองทัพบกจะดำเนินงานภายใต้กรอบกฎหมาย ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนและสังคมโดยรวมเป็นหลัก ควบคู่ไปกับความพยายามในการสร้างความเข้าใจกับสังคมถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการ และยังคงยึดมั่นในจุดยืนดังกล่าวมาโดยตลอด เช่นเดียวกับการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนในการนำเสนอหรือแสดงทัศนะใดๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงของประเทศควรอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง อ้างอิงได้ ไม่มีอคติหรือเจตนาแอบแฝง หรือเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากการประมวลผลโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มิได้มีข้อเท็จจริงครบถ้วน หรือไม่ได้เข้าไปรับรู้ในเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นด้วยตนเอง เพราะอาจไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับองค์กรที่ถูกกล่าวถึง แต่จะรวมถึงประเทศชาติและสังคมไทยเป็นส่วนรวมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพบกห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงใคร่ขอความร่วมมือจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้แก้ไขข่าวพร้อมนำเสนอ ข่าวที่ถูกต้องที่ได้รับการแก้ไขแล้ว รวมถึงนำข้อมูลที่ได้ชี้แจงมาข้างต้นเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย

ขอแสดงความนับถือ

พลตรี

(พลภัทร วรรณภักตร์)
หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ตัวอย่างการ"ตั้งคำถามสรุปคำตอบ"เป็นกระบวนการโดยลำดับ

1. www.komchadluek.net/detail/20111107/114192/กองทัพสับ'ปู'สอบตกแก้น้ำท่วม.html
2. www.komchadluek.net/detail/20111110/114547/ปชป.อัดปูอย่าใช้น้ำตาบริหารปท..html
3. www.komchadluek.net/detail/20111110/114531/รัฐบาลไม่ประกาศหยุดทั้งที่เคลียร์น้ำท่วมไม่ได้.html
4. www.komchadluek.net/detail/20111107/114185/น้ำยังไม่ลดอย่าปัดความรับผิดชอบ.html
5. www.komchadluek.net/detail/20111106/114180/แฉรบ.จ้างออร์แกไนซ์ให้ปูลุยน้ำท่วม.html
6. www.komchadluek.net/detail/20111102/113807/มาร์ควอนแม้วหยุดเล่นการเมือง.html
7. www.komchadluek.net/detail/20111102/113685/อุปสรรคของทหารป้องกันภัยน้ำท่วม.html
ฯลฯ
"อภิสิทธิ์"ชี้ปัญหาบิ๊กแบ็กศปภ.ดำเนินการเองได้ ปัญหามวลชนมาจากนักการเมือง
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=539180&lang=T&cat=

สื่อมวลชนกับ hate speech พึงสังวรไว้ โดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
Wed, 2011-11-02 23:25
http://www.prachatai.com/journal/2011/11/37717

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


++

วาฬ-สู้-ฟัด (รู้สู้Flood) ลอยเด่นเหนือ "สื่อ" ที่กำลัง จมน้ำ
โดย OLDBOY บางคูวัด Sompratana08@yahoo.com คอลัมน์ หนังช่างคิด
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 15:00:00 น.


“วาฬ”(ซึ่งไม่ใช่ปลา) หรือ Whale มักปรากฎตัวในบทบาทที่สร้างความตื่นเต้น ระทึกใจ ในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ผ่านโลกเซลลูลอยด์ ไม่ว่าจะใน “MOBY DICK พันธุ์ยักษ์ใต้สมุทร” หรือ “ORCA ปลาวาฬเพชรฆาต”(เก่ามากตามเคย)

หากใน พ.ศ.นี้ วาฬสีฟ้าน่ารัก กลายเป็นนักแสดงหลักจากซีรี่ส์ “รู้สู้ Flood” ที่คนไทยชื่นชอบและอดหลงรักไม่ได้ ในอารมณ์เดียวกับที่เคยปันใจให้ วาฬเพชรฆาต นิสัยดีใน “FREE WILLY” ทั้ง 2 ภาคมาแล้ว

คอลัมน์นี้อยากร่วมเชิดชูทั้งตัวสื่อที่ออกมาทำหน้าที่ได้ประโยชน์มหาศาลแก่คนไทยที่ได้ชม ตลอดจนทีมงานที่ผลิตสื่อสร้างสรรค์อย่างมีชั้นเชิง แถมยังบรรลุวัตถุประสงค์ในการ “ให้ข้อมูล” สำหรับการตัดสินใจ การเตรียมตัวรับสถานการณ์ “น้ำท่วม” อย่างมี “สติ”

เพราะทั้งประเด็นการให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง นำไปใช้สำหรับการปฏิบัติตนได้อย่างเกิดประโยชน์นั้น กลายเป็นบทบาทที่เหือดหายไปจากสื่อกระแสหลัก... ซะงั้น!!

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับบทความ “สื่อ กำลังจมน้ำ” ของ รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1320320077&grpid=no&catid=02 โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า สื่อกระแสหลักทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ต่างก็หลงประเด็น มิได้ทำหน้าที่ “สื่อสารมวลชน” ที่ควรคัดกรอง, แปรความหมาย, สร้างความเข้าใจอย่างง่าย ฯลฯ ให้กับ ประชาชนผู้รับสื่อ

เนื่องเพราะแต่ละสื่อต่างก็มุ่งแข่งขันกันในเชิง “ปริมาณ” จำนวนข้อมูลมากๆ ความยาก ความแปลก น่าสงสารสะเทือนใจ ฯลฯ ต้องเยอะเข้าไว้

นั่นกลายเป็นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ภาพยนตร์ชุด “รู้สู้ flood” โดดเด่น เด้งออกมาแบบ outstanding โดนใจชาวประชาผู้ที่ต่างก็มึนงง สับสน จับต้นชนปลาย ลำดับอะไรก่อนหลังกันไม่ถูก ทั้งๆ ที่เวลาก็ผ่านมานานกว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม



ในมุมมองของผม ปัจจัยที่ซีรี่ส์ “รู้สู้ flood” ประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ (ep.1 มีคนคลิกดูใน youtube แล้วกว่า 900,000 ครั้ง) เป็นเพราะ 1.กลวิธีเล่าเรื่องที่สนุก 2.ความฉลาดในการจัดเรียงข้อมูล 3.ความสามารถในการย่อยข้อมูล แสดงผลเชิงเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย 4.พลังความคิดสร้างสรรค์

ทั้งๆ ที่จุดเริ่มต้นมาจากอารมณ์ประมาณ “คันมือ” ของคนรุ่นใหม่กลุ่มเล็ก ที่อยากประมวลข้อมูล สิ่งที่ควรรู้ และนำไปใช้ประโยชน์ มาบอกเล่า ให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยคำถามเริ่มต้นแบบพื้นๆ ว่า ทำไมน้ำท่วม, ท่วมเพราะอะไร, ท่วมมากขนาดไหน, ท่วมแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ ฯลฯ (รู้จักทีม รู้สู้ flood ให้ดีขึ้นอ่านนี่เลย www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1320647260&grpid=09&catid=&subcatid ) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ควรรู้ หรือมีประโยชน์มากกว่าเรื่องของ งูเขียวแมมบ้า, พรรคนั้นขัดขาพรรคนี้, มีคนทุกข์ยากในซอยลึกยังไม่ได้ถุงยังชีพ, ชาวคลองนี้จะทะเลาะกับคลองนั้น ฯลฯ แน่นอน


ไม่น่าเชื่อว่า อะนิเมชั่นแบนๆ 2 มิติ รูปทรงง่ายๆ เมื่อนำมาทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหว ใส่ประกอบข้อมูลพร้อมเรียงลำดับเรื่องอย่างเหมาะสม ภาพยนตร์สั้นๆ อันประกอบไปด้วยตัวแสดงหลักเป็น “มนุษย์หัวกลม” (กลวง?) เมื่อบรรจุเอาเครื่องหมายคำถาม, เครื่องหมายตกใจ ฯลฯ กลับกลายเป็นตัวละครที่น่ารัก น่าเอ็นดู และสะท้อนภาพตัวตนของ คนเมือง คนกรุง ได้เป็นอย่างดี

การนำเอาตัวละครอย่าง วาฬ หรือเรียกกันสะดวกปากในซีรี่ส์นี้ว่า “ปลาวาฬ” สีฟ้าสดใสมาแทนมวลน้ำนั้น ถือเป็นการแปลงข้อมูลที่แสนฉลาดและได้ผล อย่างน้อยก็ชวนให้คนดูและเกิดความเข้าใจได้มากขึ้นเกี่ยวกับ “น้ำ” ที่มา ที่ไป การไหลลงสู่ทะเล ฯลฯ

และที่น่าชมเชยมากที่สุดนั่นคือ ในกระบวนการเล่าเรื่องนั้น ทีมงานไม่ละเลยความสำคัญของ “ข้อมูล” ที่มีตัวเลขมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เพียรพยายามทำความเข้าใจ และแปลงออกมาเป็น “อินโฟกราฟิก” ที่เข้าใจง่าย ทั้งจะด้วยชุดตัวเลขที่โฟกัสตรงเป้า, การเปรียบเทียบที่นึกตามได้ง่าย, การใช้แผนภาพ ระดับสูงต่ำของพื้นที่(ภาพ 2 มิติ แนวตัด) มาอธิบาย สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาในการใช้ “อินโฟกราฟฟิก” ที่เคลียร์ ชัดเจน ตอบโจทย์ในการบอกเล่าข้อมูลได้พร้อมกับความเป็นระบบ สวยงามตามสมควร


ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น กลับพบได้ยากในสื่อกระแสหลักที่ยังคงเชื่อมั่นอยู่ในพลังของ “ภาพข่าว” ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวก็ตาม

ท้ายที่สุด ตลอดทั้งชุดของซีรี่ส์ รู้สู้ flood ยังสอดแทรกไว้ด้วย อารมณ์ขัน เพื่อสร้างความเป็นมิตร ผ่อนคลายในการสื่อสารกับผู้ชม ขณะเดียวกันก็แอบจิกกัด ปล่อยของ เสียดสีด้วยลีลาตลกร้ายซ่อนอยู่เป็นระยะ (ep.6 แอบเห็นเชฟหมีด้วยนะเออ)ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมสติแตกของคนกรุง การบริโภคข้อมูลข่าวสารมากเกินไป, ทำตามไปทุกเรื่องที่แชร์กันในสังคมออนไลน์ ไปจนถึงความไร้ระเบียบ เห็นแก่ตัวในการกักตุนสินค้า เอาตัวรอดสารพัดวิธี

นั่นจึงทำให้ “รู้สู้ flood” ลอยเด่น โดดเด้ง เหนือสื่ออื่นๆ ในท่ามกลางกระแสน้ำท่วมทุกวันนี้ ด้วยพลังสร้างสรรค์ และ “สื่อสาร” อย่าง “สติ” ซึ่งเป็นประโยชน์ สร้าง “ปัญญา” ให้กับผู้ชมได้แม้จะเป็นเพียงแค่กลุ่มอาสามือสมัครเล่นก็ตาม โดยไม่ต้องง้อ กรมประชาสัมพันธ์หรือ สถาบันสอนวิชาสื่อสารมวลชน/นิเทศน์ศาสตร์ ผมขอมอบรางวัลจากใจให้ไปเลย “รู้สู้ flood” คุณคือสุดยอดสื่อสร้างสรรค์ในสถานการณ์ครั้งนี้อย่างแท้จริง



++

บทบาทของ "สื่อ" พลังจาก รัฐประหาร 2549 ต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1630 หน้า 8


การออกมาเยาะเย้ยหยามหยัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในแบบของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่หยิบยืมคำคม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่ว่า

"โง่แล้วขยัน "

หรือที่หญิงเหล็กจากแพร่ระดับ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ซึ่งออกมาคอมเมนต์ "แท้จริงแล้ว ผู้หญิงเหนืออ่อนแอ ขี้แย ร้องไห้ สำออย ทำอะไรไม่ได้ก็ร้องไห้ ใช้มารยาหญิงผิดที่ผิดทางหรือไม่ "

ต้องกลายเป็นเรื่องจิ๊บๆ จ้อยๆ ขึ้นมาโดยพลัน

เมื่อประสบเข้ากับการจัดเต็ม จัดหนัก โดยการประสานแหล่งข่าว "ระดับสูงในกองทัพ" เข้ากับแหล่งข่าว "สมาชิกบ้านเลขที่ 111"

นำไปสู่ความล้มเหลวในการบริหารจัดการกับปัญหาน้ำท่วมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นำไปสู่ข้อเสนออันโน้มไปในทางที่จะให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หรือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่แล้ว ทุกอย่างก็เสมอเป็นเหมือนกับ "โคมลอย" ใบโต

เมื่อปะเข้ากับ 1 แถลงปฏิเสธจากกระทรวงกลาโหม และ 1 แถลงปฏิเสธจากศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก

และ 1 คำชี้แจงนุ่มๆ จากอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สมาชิกบ้านเลขที่ 111



ที่ว่าการประสาน 2 แหล่งข่าว อันได้แก่ 1 แหล่งข่าว "ระดับสูงในกองทัพ" กับ 1 แหล่งข่าว "สมาชิกบ้านเลขที่ 111" ต้องถือว่าจัดหนัก จัดเต็ม

เพราะ "กองทัพ" เป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตของรัฐบาลทุกรัฐบาล

ไม่ว่ารัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ล้วนไปเพราะกองทัพเมื่อปี 2543 ไม่ว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ล้วนไปเพราะกองทัพเมื่อปี 2549

ขณะเดียวกัน กล่าวสำหรับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีความเปราะบาง

เพราะหากการสนับสนุนจาก "กองทัพ" มีน้อย และสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ไม่เอาด้วยเสียแล้ว ก็ยากที่จะดำรงอยู่ได้

การนำเอา 2 รากฐานทางการเมืองมาประสานเข้าด้วยกันจึงสะท้อนความเขี้ยว

เป็นความเขี้ยวในทางการทหาร เป็นความเขี้ยวในทางการเมือง หากสังเกตการนำเสนอข่าวของสื่ออย่างมองเห็นความสัมพันธ์ ยึดโยง ต่อเนื่อง นับแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

ก็จะมองเห็นการอ้างแหล่งข่าวจาก "ทหาร" และ การอ้างแหล่งข่าวจาก "สมาชิกบ้านเลขที่ 111" อยู่อย่างไม่ขาดสาย

เพียงแต่ยังไม่บรรลุจุดอันเป็นจริงในเชิงปฏิบัติการเท่านั้นเอง



ไม่มีใครชี้ขาดได้ว่า การดำรงอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะดำเนินไปยาวนานเพียงใด

ตราบใดที่ "พลัง" ของผู้ที่เคยก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ยังคงมีอยู่

ตราบใดที่การคัดค้านต่อต้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เท่ากับการคัดค้านต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในทางเป็นจริง

"พลัง" นี้ มิได้สำแดงผ่านพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น หากแต่สามารถสัมผัสได้ผ่าน "สื่อ"

เพราะว่า "สื่อ" เองก็มีบทบาทร่วมอย่างสำคัญในการปูทางสร้างเงื่อนไขอันนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อย่างคึกคัก

"พลัง" นี้จึงยังสำแดงบทบาทของตนต่อไปโดยอัตโนมัติ



.