http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-10

การสงเคราะห์VSชดเชย, ต้องสังคายนา, จัดการน้ำทำไมจึงล้มเหลว, ฯไม่เหือดหาย หากไม่แก้ที่ต้นเหตุ

.
สองบทแรก โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด บทที่3 โดย กอบกุล รายะนาคร บทที่4เขียนก่อน โดย ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

น้ำท่วม : การสงเคราะห์ VS ชดเชย
โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:15:00 น.


ที่ว่ากันว่า มวลน้ำมหาศาลคราวนี้เป็นเรื่องที่มิคาดคิดมาก่อน จึงรับมือไม่ไหว

ความจริงก็คือ น้ำท่วมใหญ่นั้นมีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำก็คาดการณ์ไว้แล้ว เพราะน้ำท่วมใหญ่จะเกิดขึ้นซ้ำประมาณ 20-25 ปี ระหว่างคาบน้ำท่วมใหญ่จะมีน้ำท่วมน้อยและปานกลางคือ SMF (Small and Medium Floods)

น้ำท่วมใหญ่ครั้งก่อนคือ ปี พ.ศ.2538 มีการสูญเสียประมาณไว้ที่ 72,000 ล้านบาท (ซึ่งใหญ่กว่าปี พ.ศ.2549 ซึ่งเสียหาย 16,000 ล้านบาท) ครั้งต่อไปที่จะท่วมใหญ่คาดการณ์เอาไว้ก็คือ ปี พ.ศ.2561

น้ำท่วมปีนี้จึงถือว่าเป็นซ้อมใหญ่

ความจริงที่น่าเป็นห่วงก็คือ กองทัพน้ำจะต้องมาอีกและจะมาใหญ่กว่านี้ และจะมาในอีกไม่นานนี้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีการเตรียมตัวในการจัดการน้ำหลาก ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบทุลักทุเลเช่นนี้อีก

ในที่ราบลุ่มขนาดใหญ่เช่นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาจะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างบูรณาการซึ่งเราไม่มีระบบการจัดการในปัจจุบัน แต่ปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วถึงจะเข้าตะลุมบอนกับน้ำ (Flood Fighting) เสร็จแล้วก็เข้ากระบวนการเยียวยา (Flood Restoration) กันเลย พอเกิดน้ำท่วมใหม่ก็ตะลุมบอนกับน้ำกันใหม่ การเตรียมการระยะยาวนั้นยังแยกกันทำแบบกระทรวงใครกระทรวงมัน

การเตรียมการจะต้องมีการจัดตั้งองค์กรบริหารพื้นที่น้ำท่วม (Flood Plain Management Authority) ผู้เขียนได้ชี้แจงไว้แล้วในคอลัมน์กระแสทรรศน์ หน้า 7 ของมติชน เมื่อวันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2554

ในคราวนี้จะขอเสนอความเห็นเรื่องการเยียวยาและชดเชยที่มีผู้เริ่มพูดถึงในหน้าหนังสือพิมพ์ รวมถึงข่าวที่นักการเมืองจะเข้ามาโอบอุ้มผู้ประกอบการที่เสียหายเป็นแสนล้าน

ก่อนอื่นผู้เขียนขอแยกแยะระหว่างการสงเคราะห์และการชดเชย สำหรับผู้เขียนแล้ว การสงเคราะห์เป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยชั่วคราวให้จมูกพ้นน้ำ ส่วนการเยียวยาเป็นการฟื้นฟูระยะยาวให้ผู้ประสบภัยลุกขึ้นได้อีกครั้ง

แต่ทั้งหมดทำกันบนพื้นฐานของมนุษยธรรมและทำไปตามกำลังความสามารถของประเทศ

ที่เราพูดกันว่า เราคนไทยไม่ทิ้งกัน อะไรแบบนั้น แต่ การชดเชย ผู้เขียนขอเน้นว่า เป็นการตอบแทนที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน กล่าวคือ ผู้ประสบอุทกภัยเป็นผู้ยอมรับน้ำเข้าท่วมในพื้นที่ของตน ยอมรับการสูญเสียรายได้และความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีข้อตกลงที่จะได้รับการชดเชย เช่น พื้นที่เกษตรที่ยอมรับน้ำหลากน้ำขังแทน กทม. (พื้นที่แก้มลิง) โดยมีรัฐเป็นองค์กรกลางในการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมจากผู้ได้ประโยชน์และจ่ายค่าชดเชยตามเกณฑ์ ตามมาตรฐานที่ได้ตกลงกันไว้ก่อน

แต่ทุกวันนี้เรามั่วกันไปหมด เรารอให้เกษตรกรบางพื้นที่ (ที่การเมืองแข็ง) เกี่ยวข้าวก่อน แล้วจึงเอาน้ำลงพื้นที่ อย่างนี้ก็ไม่ต้องขอชดเชยเรื่องผลผลิตกันแล้ว

ส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ตัดสินใจไปเลือกพื้นที่ต่ำที่สุดของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะราคาที่ดินถูก แรงงานมากเพราะเก็งว่าน่าจะได้กำไรมาก ก็ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะเอาภาษีของประชาชนไปซื้อนิคมเหล่านี้ แต่ผู้ประกอบการก็น่าจะได้รับการลดหย่อนด้านสินเชื่อหรือพักหนี้ และได้รับการสงเคราะห์คนงานโดยใช้กองทุนประกันสังคมที่มีอยู่แล้ว และการเยียวยาโดยการปรับปรุงสาธารณูปโภคให้กลับมาใช้การได้เร็วที่สุด

ในรอบนี้เกษตรกรและประชาชนคงต้องได้ค่าสงเคราะห์และฟื้นฟูไปก่อน



การจัดหาพื้นที่แก้มลิง ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้วิจัยต้นแบบของการจัดการไว้แล้วตามโครงการตามแนวพระราชดำริแก้มลิงพื้นที่บางบาลของ ดร.ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล และคณะ แต่การพักน้ำต้องทำมาตั้งแต่ต้นทางใต้เขื่อนไม่ใช่มาทำที่อยุธยาเท่านั้น ซึ่งเมื่อเลือกพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่ที่ต้นทุนทางเศรษฐกิจต่ำมาเป็นพื้นที่แก้มลิง หรือพื้นที่ฝากน้ำได้แล้ว ประชาชนในพื้นที่นี้เท่านั้นจะเป็นผู้ได้รับการชดเชยจากการแบกรับภาระน้ำท่วม

สำหรับการชดเชยก็จะมีหลายวิธีด้วยกัน ใช้วิธีลดภาษีรายได้ของผู้ประสบภัยสำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือน สำหรับเกษตรกร จะใช้วิธีคำนวณผลผลิตที่สูญเสียไปคูณราคาตลาด (นี่ก็คือ นโยบายประกันราคาข้าว) หักด้วยรายได้เสริมจากการใช้แรงงานในกิจกรรมอื่นๆ เช่น เลี้ยงปลาในกระชัง จักสาน ฯลฯ

แต่ที่สำคัญก็คือ คนในแก้มลิงต้องรู้ว่าตนเองนั้นเป็นผู้รับภาระ และยินดีที่จะรับภาระการจัดการชุมชนจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับองค์กรนี้ อาจจะต้องมีการจัดระเบียบชุมชนใหม่ เพื่อรองรับการเป็นเมืองน้ำปีละ 3 เดือน ต้องมีระบบโลจิสติกส์ เช่น เรือเมล์ทางน้ำ

ใครจะไปรู้ได้ พื้นที่แก้มลิงอาจกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว "เมืองน้ำ" แบบวิถีไทย (ใหม่) ก็ได้

รัฐบาลต้องมีการเก็บภาษีน้ำจากคนที่ได้รับการป้องกันเพื่อไปชดเชยคนที่รับภาระน้ำท่วมในแก้มลิง การเก็บภาษีน้ำท่วมจะเป็นเครื่องมือใหม่ที่ต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งทางกระทรวงการคลังต้องเร่งนำร่าง พ.ร.บ. เครื่องมือการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะสามารถนำเก็บภาษีน้ำท่วม (ตามเขตพื้นที่ที่ได้รับการปกป้อง) ไปช่วยเงินงบประมาณอีกแรงหนึ่ง

สรุปว่า การสูญเสียของประชาชนทั่วไปอันเนื่องมาจากน้ำท่วมน้ำหลากจากภัยธรรมชาติ จะได้รับเงินสงเคราะห์ตามหลักมนุษยธรรม ตามเงื่อนไขของระบบประกันสังคมและเงินอุดหนุนสวัสดิการต่างๆ ซึ่งในอนาคต การขยายระบบประกันสังคมไปยังเกษตรกร หรือแรงงานนอกระบบ อาจจะต้องมุ่งที่เขตน้ำท่วมก่อน


ส่วนการชดเชยจะได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในแก้มลิงซึ่งเป็นผู้ที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนว่าจะขอรับภาระการแบกน้ำท่วมเอาไว้ ไม่ใช่ไปซี้ซั้วประชานิยมกับเงินชดเชยจะสร้างนิสัยไร้วินัยทางการเงินมาถึงรากหญ้า ความเสียหายจักไม่รู้จบสิ้น

หากเราจะลดวิกฤตน้ำท่วมได้ในอนาคต รัฐบาลจะต้องมีการเตรียมการที่ดี ตั้งแต่การประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำหลาก มีการบังคับใช้ผังเมืองอย่างเคร่งครัด ห้ามการตั้งถิ่นฐานและโรงงาน BOI จะต้องไม่ให้การสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องไม่ให้มีการก่อสร้างบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือถ้าสร้างก็ต้องมีเงื่อนไข เช่น ยกพื้นขึ้น 2 เมตร ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และการจัดการที่เป็นระบบ การเตรียมการที่ละเอียดรอบคอบ ครอบคลุม สามารถตอบคำถามประชาชนได้ทุกข้อในเรื่องการชดเชย ต้องมีระบบธรรมาภิบาลที่ดีกำกับ มิฉะนั้นผู้ประสบภัยจะอดอยากปากแห้ง แต่แร้งจะอิ่มหมีพีมัน เราต้องการคนที่จะเข้าใจ และมีอำนาจสั่งการเพื่อที่ให้จมูกของคนไทยในที่ราบภาคกลางพ้นน้ำได้อย่างยั่งยืน

เราจะมีสตรีขี่ม้าขาวมาช่วยจัดระบบใหม่ได้ไหมเนี่ย!



++

บทเรียนจากน้ำท่วมที่ต้องการการสังคายนา
โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


เช้านี้คุณได้ดูดัชนีน้ำหรือยัง?

อีกหน่อยเราคงได้ถามคำถามนี้กันทุกวันในฤดูน้ำหลาก แต่ในขณะที่น้ำกำลังท่วมอยู่นี้ เรามีข้อมูลมหาศาลจากสื่อต่างๆ ว่าน้ำจะท่วมที่ไหน อย่างไร แต่เรายังไม่มีดัชนีน้ำที่จะเตือนภัยให้ชาวกรุงเทพฯ ที่พอจะเข้าใจได้ว่าภัยใกล้ตัวแค่ไหน รุนแรงเพียงใด

บทเรียนจากน้ำท่วมคราวนี้มีอยู่หลายประการด้วยกัน เริ่มที่

หนึ่ง การสื่อสารกับประชาชน หน่วยราชการสื่อสารกับประชาชนโดยใช้ศัพท์ที่ประชาชนไม่สามารถโยงมาถึงตัวและการเตรียมตัวเพื่อบรรเทาทุกข์ที่จะมากับน้ำท่วมได้ ไม่มีใครอธิบายว่าอัตราไหลของน้ำที่เขื่อนชัยนาทและที่บางไทร ณ ระดับที่เท่าไหร่ จะหมายถึงว่า คนกรุงเทพฯ ต้องเตรียมพร้อมอพยพหรือไม่ เมื่อไหร่ ภายใน กทม.เองแต่ละพื้นที่ก็จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต่างกัน เพราะอยู่ในพื้นที่ลุ่มดอนต่างกัน หรือพูดภาษาวิทยาศาสตร์ก็คืออยู่เหนือระดับน้ำทะเลแตกต่างกัน

นอกจากนี้เราก็ยังไม่รู้อีกว่าน้ำจะเดินทางจากนครสวรรค์ ชัยนาท บางไทร จะมาถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลานานเท่าไหร่ คนกรุงเทพฯน้อยนักที่จะรู้ว่าตนเองอยู่ในเขตคุ้มครองน้ำท่วมที่มีแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ (King Dyke) หรืออยู่รอบนอก เว็บของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ก็ล่มบ่อยครั้ง ข่าวลือก็มาก

พูดง่ายๆ ว่าไม่มีการสื่อสารข้อมูลที่เป็นเอกภาพ เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย และไว้ใจได้ ทำให้คนไทยตกอยู่ในความโกลาหล มีการแจ้งเตือนที่ไม่ทันการณ์อยู่มาก หลังน้ำลดแล้วคงต้องสังคายนาระบบสื่อสารกันเป็นการใหญ่

สอง การจัดการน้ำที่ไม่เป็นระบบและไม่บูรณาการ การจัดการน้ำจะดูเป็นรายจังหวัดไม่ได้ เพราะน้ำวิ่งข้ามจังหวัดได้ ต้องดูกันทั้งระบบลุ่มน้ำ ดังนั้น การไปลุยน้ำดูโมเดลระดับพื้นที่จะใช้ได้เฉพาะกับน้ำท่วมสังเคราะห์และการเยียวยา แต่การจัดการบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมต้องมีการทำแผนกระจายก้อนน้ำเกลี่ยไปในพื้นที่ที่ใช้ฝากน้ำในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาทั้งระบบ มีการติดตามสถานการณ์น้ำตั้งแต่เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และการกระจายน้ำตั้งแต่เนิ่นๆ โดยให้มีผลน้อยที่สุดในการตระเตรียมที่ฝากน้ำหรือที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงขนานนามว่า "แก้มลิง" ไว้ตลอดทาง

ที่ฝากน้ำหรือแก้มลิงนี้ควรเป็นที่ลุ่มมีประชาชนอยู่น้อย ซึ่งต้องมีการเตรียมการประชาชนในพื้นที่แก้มลิงไว้ล่วงหน้า เพราะประชาชนเหล่านี้ต้องเข้าใจและเห็นชอบ ในช่วงน้ำท่วมอาจต้องมีการปรับวิถีชีวิต จัดระเบียบชุมชนใหม่ ปรับลักษณะที่อยู่อาศัยและห้องน้ำ มีระบบโลจิสติกส์ทางน้ำไว้รองรับ รวมทั้งอาชีพเสริมด้วย ผู้คนในพื้นที่แก้มลิงชะตาชีวิตจะดีกว่าทุกวันนี้

ชาวบ้านที่ยอมรับเป็นที่ฝากน้ำจะอยู่บ้านตัวเองได้ ทำนาไม่ได้แต่จะได้เงินชดเชย

ทั้งหมดนี้ต้องการวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและความอดทนในการจัดการ การจัดการมวลชนให้เข้าใจปัญหาในการบูรณาการการจัดการน้ำเป็นเรื่องใหม่และเรื่องยาก ส่วนราชการไทยไม่คุ้นเคยจึงไม่อยากทำ


ผู้เขียนดีใจที่ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ท่านนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปดูพื้นที่และเลิกลุยน้ำแล้ว ท่านต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดค่ะ จึงจะเข้าใจว่าการจัดการน้ำในที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ถ้าให้แต่ละพื้นที่แยกกันเอาน้ำออก

ผลลัพธ์ก็จะเป็นอย่างที่เราเห็นกันคราวนี้ ก็คือมัวรอให้สุพรรณบุรีเกี่ยวข้าวก่อน น้ำจึงลงไปอยุธยาและท่วมกันจนปางตาย เสียหายเป็นแสนล้าน ถ้ารัฐบาลรีบซื้อข้าว (ที่จะต้องถูกท่วม) แล้วปล่อยน้ำเข้าสุพรรณบุรี ก่อนที่น้ำจะลงมาท่วมอยุธยาก็ไม่เสียหายมากขนาดนี้ การจัดการแบบบูรณาการก็คือ การลดผลกระทบสุทธิให้ต่ำที่สุด โดยชาวบ้านที่อยู่ในเขตแก้มลิงต้องได้รับการชดเชยที่สมประโยชน์และเป็นธรรม

ชาวบ้านในเขตแก้มลิงไม่ควรถูกบังคับให้เสียสละ

ทุกวันนี้ มักมีคนพูดถึงการจัดตั้งกระทรวงน้ำใหม่แล้ว เอากรมน้ำ 4 กรมมารวมกันเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ถ้าทุกกรมยังคิดแบบเดิม ทำงานแบบเดิม ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น

องค์กรที่ต้องการก็คือ องค์การบริหารพื้นที่น้ำท่วม (Floodplain Management Authority) ที่งานหลักคือ แผนแม่บทการจัดการพื้นที่น้ำท่วม ประสานงานพยากรณ์อากาศ การปล่อยน้ำจากเขื่อน การระบายน้ำ จัดทำแผนที่ความเสี่ยง ระดับขั้นความเสี่ยง ออกแบบการจัดการและความเชื่อมโยงในแต่ละระดับความเสี่ยง ฯลฯ

มีอำนาจกำหนดและบังคับการใช้ที่ดิน จัดการมวลชนด้านความขัดแย้ง การหาที่พักน้ำ วางผังชุมชนในเขตพักน้ำ การกำหนดบทบาทและประสานงานกับหน่วยงานภูมิภาคและท้องถิ่นในกรณีเกิดน้ำท่วม จัดทำดัชนีเตือนภัยพิบัติด้านน้ำ ทำคู่มือและการถ่ายทอดกระบวนการทำงานตั้งแต่การเตรียมการก่อนน้ำท่วม การรับมือน้ำท่วม และการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ฯลฯ

องค์กรนี้ไม่เน้นการก่อสร้างเป็นหลัก แต่องค์กรนี้ต้องปลอดนักการเมือง ปลอดองค์อินทร์ร้อยสิบเอ็ด ขอมืออาชีพด้านน้ำ และด้านจัดการมวลชนจริงๆ องค์กรนี้จะต้องขึ้นตรงต่อนายกฯ ซึ่งต้องเป็นประธานคณะกรรมการที่ควบคุมองค์กรนี้อีกที เพราะเมื่อภัยพิบัติเกิดอยู่ในระดับรุนแรงเช่นคราวนี้ ต้องเสนอใช้แผนระดับสูงสุดซึ่งรวมถึงการระดมกำลังทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร

ความรู้ที่พูดมาทั้งหมดก็มีอยู่ในประเทศ เพราะเราตั้งมหาวิทยาลัยมาเกือบร้อยปีแล้ว ลองปรึกษา อ.ดร.ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้

ในสองประเด็นข้างต้นนี้ หากหน่วยราชการไหนหรือสภาอุตสาหกรรมสนใจร่วมกันสังคายนาระบบเพื่อให้ได้รูปแบบใหม่ ผู้เขียนในฐานะผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะที่ดี ของ ส.ส.ส. ยินดีจัดหานักวิชาการมาช่วยงานติดต่อได้ที่ www.tuhpp.net


สาม รัฐบาลควรไปจัดลำดับความสำคัญนโยบายประชานิยมเสียใหม่ ล้มเลิกโครงการแจกฟรีแท็บเล็ต รถคันแรก บ้านหลังแรก เอาเงินมาเยียวยาคนที่ตกเป็นเหยื่อน้ำท่วมคราวนี้ รวมทั้งปรับปรุงสาธารณูปโภคต่างๆ และให้เบี้ยเลี้ยงผู้ตกงานในนิคม รับรองคะแนนเสียงจะได้อีกมาก อย่าไปกู้เงินมาเลย รวมไปถึงการอบรมภายในทีมรัฐบาล ให้นักการเมืองเข้าใจว่า เวลาหน้าสิ่วหน้าขวานให้ข้าราชการหยุดงานไม่ได้ ประชาชนต้องมาก่อน!!!

โลกเริ่มเฮี้ยวกับเราแล้วนะคะ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ อย่างที่นายห้างดูไบท่านว่าแหละค่ะ!


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สามารถเข้าใจประชานิยมในแง่มุมอื่น ได้ที่

.., สัมภาษณ์"ภควดี"เรื่องประชานิยม
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/09/redpop.html

อาร์เจนตินาไม่ได้ล่มสลายเพราะ "ประชานิยม" ข้อโต้แย้งที่สื่อไทยควรรับฟัง โดย ธีรภัทร เจริญสุข
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/08/populism.html

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

++

จัดการน้ำท่วม ทำไมจึงล้มเหลว
โดย กอบกุล รายะนาคร สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


สถานการณ์น้ำท่วมวิกฤต สร้างความเสียหายมหาศาล

นี่คือข่าวจากสื่อทุกแขนงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์เลวร้ายลงตามลำดับ สร้างความทุกข์อย่างแสนสาหัสแก่ประชาชนนับแสน หรืออาจจะนับล้านไม่มีใครรู้ เราเห็นน้ำท่วมจังหวัดแล้ว จังหวัดเล่า ไล่ลงมาเหมือนโดมิโน ตั้งแต่สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง จนมาท่วมพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และจ่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ ณ ขณะนี้

ทำไมน้ำท่วมปีนี้จึงก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายมหาศาลนับแสนล้านบาท ทำให้คนตกงานนับแสน ยังไม่รวมความเสียหายต่อทรัพย์สิน และความทุกข์ยากทั้งทางกายและใจอย่างเหนือคณานับ ทั้งๆ ที่นักวิชาการต่างยืนยันว่ามวลน้ำในปีนี้มิได้มีมากกว่าเมื่อปี 2538

สาเหตุสำคัญคือ การจัดการน้ำอย่างผิดพลาดใช่หรือไม่

นักวิชาการด้านทรัพยากรน้ำต่างทราบกันดีว่า (และได้ชี้แจงข้อมูลให้นักการเมืองผู้บริหารประเทศทราบแล้วด้วย ก่อนที่หายนะดังที่เราเห็นอยู่นี้จะมาถึง) เมื่อมวลน้ำมากมายขนาดนี้กำลังเดินทางลงมา เราจะต้องกระจายน้ำออกสู่ทุ่งตะวันตก ทั้งโดยการเปิดประตูน้ำและเจาะคันดินกั้นน้ำ

แน่นอนว่า การกระทำดังกล่าวต้องก่อความเสียหายแก่ไร่นาและเกษตรกร แต่รัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจและยอมจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนาที่เกี่ยวข้าวไม่ทัน ซึ่งอาจหมายถึงต้องจ่ายเงินชดเชยนับหมื่นล้านบาท แทนที่จะปล่อยให้ความเสียหายบานปลายมากมายจนถึงขนาดนี้

มาถึงวันนี้แม้จะยอมให้กระจายน้ำออกไปด้านข้างได้แล้ว แต่ก็ไม่ทันการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนที่อยู่อาศัย และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมาสร้างอยู่ในพื้นที่รับน้ำและเป็นทางผ่านของน้ำ ก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท

หากเราได้วางแผนกระจายน้ำดีๆ มาตั้งแต่ต้น อยุธยาคงจะเสียหายน้อยกว่านี้ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ถนนสายเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ปทุมธานี และนนทบุรี ก็อาจจะรอดจากน้ำท่วมในครั้งนี้

ในขณะที่เรากำลังกระวนกระวายใจอยู่ว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ และต้องดูภาพความทุกข์ยากของคนที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่ริมน้ำกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 12 ล้านคน เราอย่าลืมว่ามวลน้ำประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ปล่อยจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ใน 20 วันที่ผ่านมา ซึ่งคิดรวมได้ประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร กำลังจะเดินทางลงมาสมทบกับน้ำที่ท่วมขังอยู่แล้วประมาณปลายเดือนนี้ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ความเสียหายจะเกิดอีกแค่ไหน

ธรรมชาติได้สอนให้เรารู้ว่า น้ำหลาก น้ำท่วมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่น้ำต้องมีที่อยู่และต้องมีที่ไป โดยธรรมชาติน้ำจะท่วมล้นตลิ่งทุก 3-5 ปี และจะเกิดอุทกภัยรุนแรงทุก 20 ปี ซึ่งหากนับจากปี 2538 ที่มีพายุนับสิบลูกและเกิดอุทกภัยรุนแรง ก็จะเวียนครบรอบการเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่อีกในช่วงประมาณปี 2560

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดถึงเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่รับน้ำ หรือการจัดการพื้นที่น้ำท่วมถึง (Floodplain Management) อย่างจริงจัง แทนที่จะปล่อยให้นักการเมืองที่เอาฐานเสียงของตนเป็นที่ตั้งมาเป็นผู้กำหนดว่าน้ำควรจะไปทางใด โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายแก่ส่วนรวม

นอกจากต้องอาศัยความรู้ทางวิศวกรรมทรัพยากรน้ำแล้ว การบริหารพื้นที่น้ำท่วมจะต้องอาศัยมาตรการทางสังคมและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาหนุนเสริม คงไม่สายเกินไปที่เราจะต้องออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้ที่ดินและสิ่งก่อสร้างในเขตพื้นที่รับน้ำอย่างจริงจัง

ผู้ที่ถูกน้ำท่วมจะต้องได้รับการชดเชย ชาวนาในพื้นที่รับน้ำต้องได้รับการประกันรายได้สำหรับการลดจำนวนครั้งของการปลูกข้าวในปีที่น้ำมาก เราต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวฟางลอยที่ให้ผลผลิตสูงขึ้น เพื่อให้ชาวนาในพื้นที่รับน้ำใช้ปลูก เราต้องลงทุนในระบบเพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่ที่ยอมให้น้ำท่วมเมื่อน้ำในตลิ่งเริ่มลดต่ำลง และเราอาจต้องคิดถึงภาษีน้ำท่วม เพื่อสร้างกลไกให้ผู้รับประโยชน์จากน้ำไม่ท่วมต้องจ่ายให้แก่คนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เป็นต้น

การพัฒนามาตรการต่างๆเหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลา รองศาสตราจารย์ ดร.ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ บอกว่า ประเทศอังกฤษเขาก็เคยมีปัญหาอย่างเรามาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 และกว่าจะตกลงกันจนได้มาตรการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนก็ทศวรรษ 1970

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะคุยเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่แก้มลิงอย่างจริงจัง แทนที่จะปล่อยให้นักการเมือง(..นักการปกครอง?..)นำเราไปตามยถากรรม



++

น้ำจะท่วมซ้ำซาก และน้ำตาจะไม่เหือดหาย หากไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
โดย ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 18:00:00 น.


ภัยพิบัติธรรมชาติเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลกใบนี้ สิ่งที่มนุษย์พยายามทำมาตลอด คือ การป้องกัน ลดผลกระทบของความเสียหาย และเยียวยาผู้ที่ประสบภัย อย่างไรก็ดี การจัดการกับปัญหาใดก็ตามจำเป็นต้องมีข้อมูลและองค์ความรู้ที่เจาะลึกถึงสภาพเงื่อนไขที่ทำให้เกิดภัยพิบัติและความรุนแรงของสถานการณ์

หากทบทวนการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนกระแสหลัก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งมาตรการของภาครัฐและการระดมความช่วยเหลือของภาคเอกชน จะเน้นไปที่การบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และการทำกิจกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรต่างๆ ควบคู่ไปด้วย แม้กิจกรรมดังกล่าวจะมีส่วนช่วยซับน้ำตาของผู้ประสบภัยอยู่บ้าง

แต่สิ่งที่เจ้าของปัญหาต้องการ คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ หรืออย่างน้อยควรมีมาตรการเตือนภัยล่วงหน้าให้เตรียมตัวกันดีกว่ามาตามแก้ไขทีหลังอย่างไม่รู้จักจบสิ้นทุกปี หรือบางปีก็หลายๆ รอบ

มาตรการแก้ไขภัยพิบัติธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีองค์ความรู้หลากหลายระดับซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการกับปัญหาอย่างยั่งยืน โดยกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายระหว่างประเทศจำนวนมากเกิดจากการถอดบทเรียนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสามารถเลือกมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย

มาตรการเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

1.มาตรการก่อนเกิดภัยพิบัติ เช่น การเตือนภัยล่วงหน้า แผนจัดการทรัพยากร ผังเมือง ฯลฯ

2.มาตรการหลังเกิดภัยพิบัติ เช่น การอพยพ การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การฟื้นฟู ฯลฯ

มาตรการเหล่านี้อาจกระทำโดยภาครัฐฝ่ายเดียว หรือกระทำร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งริเริ่มได้หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมและเงื่อนไขต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ และมีรายละเอียดปลีกย่อยไปตามช่วงระยะเวลาต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่ารัฐที่เผชิญภัยพิบัติซ้ำซากจะมีแผนทั้งระดับรัฐ ภูมิภาค ภูมินิเวศ รวมถึงมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ด้วย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทย คือ การใช้มาตรการหลังเกิดภัยพิบัติเสียมากกว่า กล่าวคือ มีการเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วตามมาด้วยคาราวานข้าวของที่ไปไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ และในบางกรณีก็เป็นความช่วยเหลือที่ไม่ตรงกับความปรารถนาของผู้ประสบภัย หรือมีความล้นเกินในบางจุดและขาดแคลนในบางจุด เพราะขาดการประสานข้อมูลและยุทธศาสตร์ร่วม

นอกจากนี้สิ่งที่แทบไม่ปรากฏข้อมูลข่าวสารเลย คือ สาเหตุที่แท้จริงของภัยพิบัติจากพื้นที่ในระดับภูมินิเวศ เช่น ป่าที่เคยซับน้ำป่า สภาพดินที่เคยดูดน้ำ การเก็บกักน้ำของลำธาร และฝายตามธรรมชาติ ฯลฯ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนป้องกันภัยพิบัติในระยะยาว และเป็นการป้องกันน้ำป่าและน้ำตาที่ไหลบ่ามาทุกฤดูน้ำหลาก

จากการทำวิจัยเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในระบบเกษตรพันธนาการ (Contract Farming) ทางทีมวิจัยพบว่า ป่าต้นน้ำที่เป็นทั้งพื้นที่ผลิตความชุ่มชื้นในหน้าแล้งและเก็บกักน้ำฝนส่วนเกินในฤดูน้ำหลากได้สูญสลาย หรือถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็น ป่าเศรษฐกิจ สวนยางพารา ดงข้าวโพด รวมถึงไร่ปลูกข้าวบาร์เลย์และอ้อย อย่างมากมายมหาศาล

พื้นที่เพาะปลูกทางเศรษฐกิจดังกล่าวขยายตัวอย่างกว้างขวางได้อย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่ทีมวิจัยมุ่งหาคำตอบ เกษตรกรและภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้ให้ข้อมูลว่า น่าจะมีอยู่ 2 ประการสำคัญ คือ มีการเข้ามากว้านซื้อสิทธิในที่ดิน (ที่ดินหลายแปลงไม่อาจออกเอกสารสิทธิได้ตามกฎหมาย เช่น ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) เพื่อนำไปปลูกพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยวโดยนายทุนระดับท้องถิ่น นายทุนจากที่อื่น และกลุ่มทุนระดับชาติ

กลุ่มคนเหล่านี้เป็นที่น่าอิจฉาของคนในพื้นที่เพราะสามารถกระทำการต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างสะดวกและไม่ถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

กลับกันพี่น้องเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมผสมผสานตามวิถีชีวิตของชุมชน และเป็นการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ กลับต้องเผชิญปัญหาจากภาครัฐ และกลุ่มอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง

เกษตรกรจำนวนมากมีเงื่อนไขด้านหนี้สินและความไม่มั่นคงในที่ดินรุมเร้า จึงหันมาเข้าร่วมกับกลุ่มนายทุนเหล่านั้น ในรูปของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายต่อให้กลุ่มทุน หรือรับจ้างทำการเพาะปลูกหรือเป็นนอมินีให้กับนายทุนเหล่านั้น เนื่องจากได้รับอิทธิพลมาเผื่อแผ่ปกป้องไม่โดนรบกวนจากเจ้าหน้าที่รัฐอีกต่อไป และมีรายได้ที่แน่นอนขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ต้องมีปัญหากับรัฐบ่อยๆ

ภาพที่ทุกท่านจะได้เห็นจากการขับรถชมทิวทัศน์บนยอดดอยและภูผาในภาคเหนือทางตะวันออกและภาคอีสานตอน คือ ไร่ข้าวโพด ต้นยางเข้าแถวเรียงราย ตามสองข้างทาง และบนภูเขาเดิมพื้นที่ ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ไม่ศักยภาพในการสกัดกั้นและดูดซับน้ำเช่นป่าธรรมชาติ เนื่องจากร่องแถวเป็นทางเดินน้ำที่สะดวก และพืชเหล่านี้มีอายุน้อยรากสั้น รวมทั้งขาดพืชอื่นปกคลุมหน้าดิน

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ น้ำที่มาจากยอดเขาจึงพัดผ่านต้นไม้และลากเอาหน้าดินลงสู่เบื้องล่างอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมหาศาลกว่าเดิม จนชาวบ้านที่เคยอยู่ชายเขาก็คาดคิดไม่ถึง จึงมีบทสัมภาษณ์หลายครั้งที่แสดงความตระหนกเพราะไม่เคยเกิดปรากฏการณ์เช่นว่ามาก่อนในช่วงชีวิตตน

นอกจากนี้เขื่อนซึ่งสามารถปิดช่องเขาหรือทางน้ำได้แบบตามฤดูกาล ก็ไม่อาจรองรับปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะน้ำมาจากทุกทิศทาง มิใช่ไหลมาตามลำธาร ช่องเขา แล้วลงสู่แม่น้ำ ดุจดังภูมิประเทศแบบเดิม หากจะสร้างเขื่อนกันจริง ต้องสร้างตั้งแต่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ไปจนสุดที่ จ.บึงกาฬ แบบไม่ขาดช่วงเลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วยต้นทุนหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะต้นทุนทางสังคมที่ต้องอพยพคนออกจากพื้นที่หลายล้านคน

ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้รับการตีแผ่ในสื่อกระแสหลักที่ต้องรับโฆษณาจากกลุ่มทุนซึ่งอยู่เบื้องหลังการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเหล่านี้ หากเฝ้าดูรายการเล่าข่าวทั้งหลายก็จะเห็นแต่ปรากฏการณ์ความสูญเสีย ไม่เห็นการพูดถึงสาเหตุทั้งที่นักข่าวเหล่านั้นย่อมรู้ข้อมูลที่แท้จริงจากพื้นที่

ดังนั้น จึงเป็นวาระของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนซึ่งไม่ตกอยู่อำนาจทุนที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ที่จะต้องลุกขึ้นมาผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ซับน้ำเหล่านั้นออกมา เพื่อวางมาตรการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติที่เกี่ยวพันกับชะตาชีวิตคนทั้งชาติ มากกว่าปิดบังข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนไม่กี่ตระกูล



.