http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-05

"ประวัติศาสตร์ปกปิด".., บวชลูกแก้วฯใส่แว่นดำ?, พระเจ้าเปิดโลกฯ โดยเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

"ประวัติศาสตร์ปกปิด" กับ "ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้าง"
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 76


ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ความทรงจำ กับข้อเท็จจริง เป็นพื้นที่ที่ถูกกระชับยึดครองกันมาทุกยุคสมัย ระหว่างสามัญชนไพร่ชาวบ้านทั่วไป กับพี่ใหญ่ "Big Brother" ที่มีเหล่าสมุนอำมาตย์ ต่างแย่งชิงกันประพันธ์ให้เป็นอาภรณ์ประดับอำนาจของตน

ไม่น่าแปลกใจที่ประวัติศาสตร์ใหญ่หรือประวัติศาสตร์กระแสหลักในแบบเรียนของเด็กประถมจะเต็มไปด้วยเรื่องราวอันพิจิตรน่าพิสมัยไร้มลทินของชนชั้นปกครอง

ซึ่งตรงกันข้ามกับประวัติศาสตร์เล็กๆ ที่ชาวบ้านจดจำเล่าขานมักจะเต็มไปด้วยสีสัน คราบเลือด ราคีคาวจนน่าตกใจ

แท้จริงประวัติศาสตร์ทุกหน้าคือรอยจารึกแห่ง "หยาดเลือดและหยดน้ำตา" ของทุกชนชั้น ไม่ว่าจะมีการปกปิดบิดเบือน แสร้งเลือน เกลื่อนกลบ รอยเลือดก็ไม่เคยจางร้างไปจากความทรงจำของผู้คน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เลือดของราชวงศ์ต่างๆ ที่เข่นฆ่ากันเองในหมู่เครือญาติ

เรื่องเล่าที่มีความพยายามทำให้ถูกลืมของกรณี "พ่อฆ่าลูก" หรือจะเรียกให้วิจิตรสวยหรูว่า "ราชบุตรพิฆาต" นั้น มิได้มีเพียงแค่ในตำนานของศาสนาฮินดูตอนที่พระศิวะประหารมาณพน้อยพระคเณศ หรือเทพนิยายกรีกตอนซุสฆ่าลูกทั้ง 12 เท่านั้น

หากแต่เหตุการณ์ทำนองนี้ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ กับตัวจริง เสียงจริง ของพระญามังราย ผู้มิใช่สามัญชน แต่เป็นถึงพระปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา


"กู่ยิง" เวียงพร้าว
ซากอนุสรณ์ "พ่อฆ่าลูก! "

เรื่องนี้จะว่าไปแล้วก็อยู่ในประเภท "บุราณวิกีลีกส์" ที่ลึกแต่ไม่ลับ และลับแต่ไม่เร้น แม้ว่าจะมีการปกปิดเร้นซ่อน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครรู้เสียทีเดียว หนังสือประวัติศาสตร์ล้านนาเกือบทุกเล่มไม่มีการกล่าวพาดพิงถึงแต่อย่างใด

บางคนเห็นว่า "จะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บเยียะอันหยัง" เรื่องมันแล้วไปแล้วก็ให้มันแล้วไป ในเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว คุณงามความดีที่พระญามังรายกระทำไว้ต่อแผ่นดินล้านนามีมากมายมหาศาล เกินคณนาเสียยิ่งกว่าการลงมือประหาร "ลูกในไส้ที่ชั่วช้าสารเลวเพียงคนเดียว" เป็นไหนๆ

หลายคนจงใจหลีกเลี่ียงที่จะไม่ตอกย้ำเรื่องนี้ ด้วยเป็นห่วงภาพลักษณ์ไม่อยากให้พระองค์ท่านต้องแปดเปื้อนมลทิน

เมื่อกระแส "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" ฉบับอาจารย์ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" กำลังมาแรง ความลับใดๆ ที่ถูกหมายไว้ว่ามีปรัศนีย์ จักเปิดม่านบังตาที่กำลังมืดมัวของสังคมไทยได้อย่างไรเล่า การเปิดเผยข้อมูล การค้นหาข้อเท็จจริงต่างหากคือแก่นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมร่วมสมัย

ทำไงได้ในเมื่อหลักฐานด้านโบราณสถานมันยังตั้งอยู่อย่างเด่นหรากลางเวียงพร้าว หรือปัจจุบันคืออำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่เสียด้วยสิ ซึ่งคนเมือง "ป๊าว" ต่างรู้กันดีว่า ซากเจดีย์แห่งนี้คืออนุสรณ์สถานที่พระญามังรายสร้างขึ้น ภายหลังจากที่ทรงสลดพระทัยเมื่อได้ยิงพระราชโอรสพระองค์หนึ่งด้วยหน้าไม้

ชาวบ้านเรียกกู่แห่งนี้สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า "กู่ยิง"

แม้ว่าภายหลัง จักได้มีผู้พยายามบิดเบือนตำนาน โดยแผลงชื่อบ้านนามเมืองเสียใหม่จาก "กู่ยิง" มาเขียนเป็น "กู่ญิง" แถมสร้างเรื่องราวว่าเป็นกู่ที่เกี่ยวข้องกับ "แม่ญิง" เพื่อกลบเกลื่อนบาดแผลของโศกนาฏกรรมฉากนั้นก็ตาม

แต่คนเฒ่าคนแก่และชาวเมืองป๊าวแทบทุกคน ต่างก็รับรู้กันโดยนัยว่าแท้จริงแล้วมันคือ "กู่ยิง" อยู่วันยังค่ำ ต่อให้ไม่ต้องมีการเขียนป้ายติดประกาศใดๆ



พระญามังรายกระทำ "ราชบุตรพิฆาต" ทำไม?

แน่นอนว่าพระญามังรายคงต้องมีเหตุผลแน่นหนักเพียงพอที่จะกระทำการ "ราชบุตรพิฆาต" (ภาษาบาลี-สันสกฤต ต้องแปลจากหลังไปหน้า แปลว่า การพิฆาตราชบุตร) เพราะหากคนที่ไม่วิตถารขั้นอสุรกายแล้วล่ะก็ เหตุการณ์เช่นนี้คงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

ดังนั้น หากพ่อไม่วิปริตผิดมนุษย์มนา ก็ย่อมแสดงว่าลูกคนนั้นต้องชั่วได้ใจเหลืออดเหลือทนจนถึงขั้นบีบบังคับให้พ่อต้องกลั้นใจประหัตประหาร

พระญามังรายมีพระราชโอรสอยู่สามองค์ องค์โตชื่อว่าขุนเครื่อง องค์กลางชื่อว่าขุนคราม (องค์นี้เป็นบุตรหัวแก้วหัวแหวนที่มีผลงานเข้าตาพระราชบิดามาโดยตลอด ต่อมาได้ครองราชเป็นกษัตริย์ลำดับที่สองแห่งราชวงศ์มังราย มีพระนามว่า พระญาไชยสงคราม) และองค์เล็กสุดมีชื่อว่าขุนเครือ

องค์ที่ถูกฆ่าคือองค์โต "เจ้าขุนเครื่อง" ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คาดฝัน เพราะตามธรรมเนียมแล้ว ลูกชายคนหัวปีย่อมมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งรัชทายาทผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นลำดับแรก เกิดการผิดพลาดทางเทคนิคอะไรหรือเปล่า จึงต้องมาตายก่อนวัยอันควร ซ้ำชวดเชยบัลลังก์ที่พึงจะได้ จะว่าน้องชายคนรองยุยงพ่อให้ฆ่าพี่ก็เกินวิสัยจะให้เราปรักปรำเด็กน้อยวัย 10 ขวบ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่พระญามังรายทรงมีพระชนมายุได้ 37 พรรษา กำลังรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยให้เป็นปึกแผ่น จึงได้วางแผนให้อ้ายฟ้าเป็นไส้ศึกไปทำการป่วนอาณาจักรหริภุญไชย และมอบหมายให้เจ้าขุนเครื่องรักษาเมืองเชียงรายราชธานีไว้ สำหรับตัวพระองค์นั้นได้ย้ายลงมาบัญชาการรบที่เมืองฝางหรือนครไชยปราการ เพื่อสะดวกต่อการกระชับพื้นที่โจมตีเมืองลำพูนได้ง่ายขึ้น

เจ้าขุนเครื่องนั่งเมืองเชียงรายตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มีพระชนมายุเพียง 13 ชันษา จึงถูกพวกเสนามาตย์นิสัยไม่ซื่อทูลยุยงให้คิดช่วงชิงราชสมบัติจากพระราชบิดา อำมาตย์ตัวพ่อมีชื่อว่าขุนใสเรียง ได้วางแผนให้เจ้าขุนเครื่องเตรียมซ่องสุมประชุมพลเพื่อเตรียมยกทัพจากเชียงรายไปตีเมืองฝาง

ยังไม่ทันที่พ่อกับลูกจะได้รบกัน ข่าวรั่วไหลไปเข้าหูของพระญามังรายเสียก่อน ทรงตระหนักพระทัยว่า

"ตัวกูผู้เป็นพ่อยังมิทันจะไปสู่ปรโลก มิหนำซ้ำกำลังแผ่อานุภาพปราบศัตรูทั่วทิศานุทิศ ดังฤๅเจ้าขุนเครื่องมันหากบุญน้อยด้อยวาสนา จะมาคิดชิงเมืองกับกูผู้เป็นพ่อ ฉันนี้จักละไว้มิได้แล้ว เจ้าคนชั่วคิดคดต่อราชบัลลังก์"

พระญามังรายจึงมีรับสั่งให้ขุนนางที่ไว้วางพระราชหฤทัยชื่อ ขุนอ่อง วางแผนแต่งกลอุบายรีบมุ่งหน้าไปเชียงรายแล้วเพ็ดทูลอุบายหลอกเจ้าขุนเครื่องว่า พระราชบิดาทรงสุบินนิมิตเห็นเจ้าขุนเครื่องเกิดมีปีกบินไปในอากาศกับฝูงนกแหลว (นกตระกูลแร้้งเหยี่ยว) แล้วก็ไปจับซากผีอยู่ ทรงปริวิตกถึงราชบุตรจึงอัญเชิญให้เสด็จไปเข้าเฝ้าที่เมืองฝาง เพื่อจะได้ผูกข้อมือเรียกขวัญให้เป็นสิริมงคลสืบไป

พระยุพราชในวัยเพียง 13 ฟันยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม มิทันได้เฉลียวใจ ว่าพระราชบิดาจักเตรียมแผนหนามบ่งหนามไว้อย่างเนียนสนิท ด้วยการตรัสให้ขุนแม่นธนูนายหนึ่งชื่ออ้ายเผียนเอาหน้าไม้ปืนยาว หรือลูกธนูอาบยาพิษ ไปดักซุ่มอยู่ริมทางที่เจ้าขุนเครื่องจะต้องผ่านมา

เหตุการณ์ก็เป็นไปตามนั้น ขุนอ่องคุมเจ้าขุนเครื่องมุ่งหน้าไปยังนครไชยปราการ ณ จุดผ่านเวียงพร้าว ยังมิทันได้เห็นบิดามารับขวัญผูกข้อมือ ลูกธนูอาบยาพิษของอ้ายเผียนดอกนั้นก็พุ่งตรงมาปักร่างเจ้าราชบุตรจนสิ้นพระชนม์ในทันที

จากนั้นพระญามังรายมีรับสั่งให้เคลื่อนศพไปประชุมเพลิงที่เวียงเชียงราย เสร็จแล้วก็ตัดสินพระทัยประทับเสวยราชสมบัติอยู่ที่ราชธานีนั้นอีกโดยไม่หวนกลับเมืองฝาง

จากบทเรียนที่สอนให้พระองค์เรียนรู้ว่า หากไม่จำเป็นไม่ควรทิ้งเมืองหลวงไปปักหลักที่ไหนนานเกินไป เพราะแม้แต่ลูกในไส้ยังคิดกำแหงแย่งชิงราชบัลลังก์ได้ แล้วสำมะหาอะไรจะให้ไว้วางใจขุนนางอำมาตย์หน้าไหนได้

หลายคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อฆ่าเจ้าขุนเครื่องตายจากไปแล้ว ยังจะมีแก่ใจมาอาลัยอาวรณ์สร้างเจดีย์ "กู่ยิง" หรือ "วัดเวียงยิง" ให้เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงลูกชายคนนี้ให้สะเทือนใจเปล่าๆ ไปทำไม น่าจะลืมๆ มันเสีย

ลืมได้จริงล่ะหรือ แสดงว่าพระองค์ก็น่าจะทรงเศร้าสลดพระทัยมิใช่น้อย เพราะลูกทั้งคนต่อให้เลวแสนเลว มีพ่อคนไหนบ้างจะไม่รัก แต่ด้วยความเป็นกษัตริย์ ซึ่งกำลังอยู่ในห้วงสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน มีพระราโชบายที่จะแผ่ขยายอำนาจสร้างอาณาจักรล้านนาให้เป็นปึกแผ่น พระองค์จำต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

ประวัติศาสตร์กระแสหลักมักจะให้ความสำคัญกับตัว "พระเอกหรือฮีโร่" เป็นอันดับแรก แล้วมองการหลั่งเลือดของสายโลหิตที่คิดกบฏเป็นผู้ก่อการร้ายที่สมควรตาย เหตุการณ์ "ราชบุตรพิฆาต" ของพระญามังรายจึงไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ

ย้อนมองประวัติศาสตร์ของการปล้นอำนาจขึ้นสู่บัลลังก์ หรือการปกป้องพิทักษ์ขาเก้าอี้ไม่ให้โดนเลื่อยจากผู้ช่วงชิงนั้น ในอดีตมีตัวอย่างให้เห็นมากมายหลายรูปแบบ กรณีของพม่าพระเจ้าธีบอก็ฆ่าทั้งพี่ทั้งน้องของตัวเองหมด

หรือกรณีของพระเจ้าติโลกราชมหาราชอีกองค์แห่งล้านนาก็ทรงปล้นอำนาจและเนรเทศพระราชบิดา (พระญาสามฝั่งแกน) ให้ไปอยู่แดนกันดารจนสิ้นพระชนม์

ข้างฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาเองนั้นเล่า กว่าจะครองราชสมบัติก็ต้องวางแผนกลซ้อนกลหลอกล่อทั้งพ่อ-อา-พี่ชายให้ติดกับดัก

เรื่องราวของ "พ่อฆ่าลูก" "ลูกฆ่าพ่อ" "พี่ฆ่าน้อง" "น้องฆ่าพี่" "ลูกน้องรัฐประหารลูกพี่" เพื่อแย่งชิงตำแหน่งหมายเลขหนึ่งนั้น เกิดขึ้นแทบทุกยุคทุกสมัย มีทั้งปกปิดลับๆ ล่อๆ และมีทั้งเปิดเผยดังเช่นกรณีของพระญามังราย ที่ตำนานบันทึกไว้ว่าทรงสลดพระทัยถึงกับสร้าง "กู่ยิง" ไว้เป็นอนุสรณ์ให้ดูต่างหน้า

คนที่ฆ่าหรือมีส่วนสมคบคิดในการฆ่าคน ไม่ว่าจะร่วมสายเลือดหรือร่วมชาติ ถึงแม้จะลอยนวลหนีกระแสกรรมไปได้บางช่วงเวลา แต่เส้นทางของประวัติศาสตร์ย่อมจักกระชากหน้ากากที่แท้จริง เปิดเผยรอยแผลเป็นที่อุตส่าห์ซุกซ่อนไว้ว่า "ไผเป็นไผ" แท้จริงแล้วเป็น "นักบุญหรือคนบาป" ในที่สุด



++

บวชลูกแก้ว-ปอยส่างลอง ปรัศนีเณรขี่ม้า แต่งหน้า ใส่แว่นดำ?
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 76


ยามเห็นภาพการบวชเณรของชาวล้านนาที่ีให้เณรน้อยขี่ม้า เขียนคิ้วปัดแก้มแดงแจ๋ แถมใส่แว่นกันแดดสีดำแห่แหนเข้าวัดเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร เชื่อว่าหลายคนเกิดคำถามอยู่ในใจว่าเหตุไฉนต้องทำเช่นนั้น

ไม่ต่างอะไรไปจากการบวชพระของทางภาคกลางและภาคอีสานบางพื้นที่ที่มีการจับนาคมานั่งแคร่แล้วโยนขย่มขึ้นกลางอากาศร่วมชั่วโมง - สองชั่วโมงจนอ่วมอรทัย เพื่อพิสูจน์ความแข็งแกร่งทั้งทางกายและทางใจ

"พื้นที่สงวนของชาวบ้าน" ก่อนที่จะผันแปรสภาพไปอยู่ใน "พื้นที่เฉพาะของชาววัด" นั้น มีนัยยะที่ชวนฉงนไม่น้อย ว่าการจะก้าวข้ามพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่นั้น ประดิษฐกรรมทางประเพณีเหล่านี้เกิดขึ้นได้ บนพื้นฐานความคิดเช่นไร



ปอยส่างลอง-บวชลูกแก้ว
ประเพณีของใคร?

ในการรับรู้ของสังคมวงกว้างเข้าใจว่าประเพณีบวชสามเณรแบบ "ปอยส่างลอง" นี้เป็นอัตลักษณ์ของชาวแม่ฮ่องสอนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงพลอยเข้าใจไปว่า "ปอยส่างลอง" เป็นประเพณีเฉพาะของชาว "ไทใหญ่" หรือชาวไต ที่มีรากเหง้ามาจากรัฐฉานในพม่าและเข้ามาเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อใช้ฐานความคิดเช่นนี้ พอไปเห็นการบวชเณรน้อยในลักษณะขี่ม้าแต่งหน้าใส่แว่นดำที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ จึงมักเหมามองว่า นี่เป็นการลอกเลียนแบบประเพณีของชาวไทใหญ่แม่ฮ่องสอนมาทำเพื่อหวังผลประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวชัดๆ

หากใครยังเชื่อเช่นนั้นอยู่ขอให้ท่านล้มเลิกอคตินั้นเสียเถิดเพราะเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ประเพณีการบวชลักษณะนี้เป็นวัฒนธรรมร่วมที่เป็นสากลของกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ในแถบลุ่มน้ำโขง - สาละวิน ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่เพียงชาวไทใหญ่กลุ่มเดียวเท่านั้น หากกระจายแทรกซึมไปทั่วในกลุ่มคนชาติพันธุ์ไทลื้อ ไทยอง ไทเขิน รวมทั้งไทโยน (โยนก-ล้านนา)

หลายท่านอาจเถียงว่า "ไม่จริง" เป็นไปไม่ได้ หากปอยส่างลองเป็นประเพณีร่วมของวัฒนธรรมล้านนามาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว ทำไมช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาราว 30-40 ปี เราจึงพบเห็นวัฒนธรรมนี้ดำรงอยู่แต่เพียงแค่ในแม่ฮ่องสอนจังหวัดเดียวเท่านั้น ในขณะที่ีเขตอื่นๆ ในล้านนาเพิ่งจะมาเห็นกันอย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง

มิใช่ว่าเมื่อแม่ฮ่องสอนประสบความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวสามารถขายวัฒนธรรมปอยส่างลองได้ ทำให้จังหวัดอื่นๆ พลันหันมาเอาอย่างตามหรอกล่ะหรือ

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตประเพณี "บวชลูกแก้ว" นั้น เคยมีอยู่จริงทั่วล้านนา กระจายอยู่ในกลุ่มชนชาวโยน ลื้อ ยอง เขิน รวมทั้งไทใหญ่

แต่ต่อมาเมื่อความเจริญของชาวสยามลุกล้ำเข้ามาเบียดแทรกพื้นที่ในทุกๆ มิติของสังคมเมืองเหนือ ไม่เว้นแม้แต่มิติด้านการพระศาสนา ความนิยมในการบรรพชาสามเณรด้วยรูปแบบดั้งเดิมพลันค่อยๆ สูญหายไปทีละน้อย ด้วยเหตุผลสองประการ

ประการแรก ผู้นำการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมล้านนาเห็นดีเห็นงามกับผู้นำชาวสยาม จึงมองว่าเป็นเรื่องน่าอับอายยิ่ง หากชนพื้นถิ่นยังดำรงไว้ซึ่งวิธีประเพณีของตนที่แตกต่างไปจากชาวสยาม

เชื่อว่าในบริบทเช่นนั้นยุคที่ชาวล้านนาถูกรัฐบาลกลางบีบคั้นกดดัน ถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามดูถูกดูแคลนอย่างหนักหน่วง

ผลักดันให้แกนนำชาวล้านนาหลายคนลุกขึ้นมาปฏิวัติด้วยการยกเลิกวัฒนธรรมพื้นถิ่น เพื่อประกาศกับชาวสยามว่า ตัวข้าก็ศิวิไลซ์เหมือนพวกท่าน

ประการที่สอง เหตุเพราะประเพณีการบวชลูกแก้วหรือปอยส่างลองนั้น ต้องใช้งบประมาณในการจัดอย่างมหาศาล สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปกับความอลังการของขบวนแห่

ฉะนั้น เมื่อย้อนหลังกลับไปราวช่วง พ.ศ.2510 สังคมล้านนาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เมื่อชาวสยามเสนอทางเลือกใหม่ในรูปแบบการบวชเณร "อุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน" ที่เรียบง่ายสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

เริ่มต้นจากสำนักจิตภาวันจนถึงธรรมกาย ทำให้ชาวล้านนาต่างเห็นดีเห็นงาม และค่อยๆ ละทิ้งประเพณีโบราณไปโดยปริยาย (ไม่ต่างไปจากการค่อยๆ ยกเลิกประเพณีสลากย้อมของแม่ญิงยอง หรือการยกเลิกประเพณีเผาศพด้วยนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเคยกล่าวมาแล้วในตอนก่อนๆ)

หลายท่านอาจย้อนถามว่า อ้าว! แล้วทำไมชาวแม่ฮ่องสอนจึงยังรักษาประเพณีไว้ได้เพียงจังหวัดเดียว ไม่เห็นยกเลิกแล้วเลียนแบบชาวสยามเหมือนที่อื่นๆ

คำตอบก็คือ ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของแม่ฮ่องสอนที่ถูกห้อมล้อมด้วยหุบเขาห่างไกล เราต้องยอมรับว่าการเดินทางไปแม่ฮ่องสอนในอดีตนั้นไม่ง่ายเหมือนปัจจุบัน ไม่มีเครื่องบิน เส้นทางรถยนต์ก็ขรุขระทุรกัรดาร

การอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวและห่างไกลความเจริญเช่นนี้เอง ที่เป็นปราการด่านสำคัญช่วยปกป้องมิให้วัฒนธรรมต่างถิ่นสามารถรุกล้ำทำลายประเพณีดั้งเดิม

ดังนั้น จึงไม่ควรแปลกใจเลยว่า เมื่อเราย้อนมองภาพอดีตช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมานี้ จึงเหลือแม่ฮ่องสอนเพียงหวัดเดียวที่ยังคงยืนหยัดรักษาประเพณีบวชลูกแก้วหรือปอยส่างลองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ขอขอบคุณชาว "ไต" เมืองแม่ฮ่องสอน ที่เป็นดั่งกระจกสะท้อนจารีตเก่าแก่ที่ยังไม่สูญหาย สร้างแรงบันดาลใจให้ชาวไทล้านนาเกิดอาการหวลหาอดีต ในยุคที่ทุกชนเผ่าชาติพันธุ์มีสิทธิ์เสรีที่จะประกาศอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นของตัวเองได้โดยไม่ตกอยู่ภาตใต้อาณัติของรัฐสยาม



ไม่ใช่ยี่เก
แต่เดินตามรอยเจ้าชายสิทธัตถะ

การที่ "ปอยส่างลอง" มีอีกชื่อว่า "บวชลูกแก้ว" นั้น ความหมายด้านภาษาของคำทั้งสองหมายถึงอะไร

"ปอย" แปลว่างานมงคลทางศาสนา "ส่าง" แปลว่าสามเณร "ลอง" หมายถึงเทวดาหรือผู้วิเศษ มาจากคำเต็มว่า "อลอง" ดังเช่นชื่อของกษัตริย์พม่าหลายองค์มีคำว่า "อลอง" เช่น อลองพญา อลองสินธู ฯลฯ

คำว่า "ส่างลอง" เป็นภาษาของชาวไทใหญ่ ที่มีความหมายตรงกันกับคำว่า "ลูกแก้ว" ในภาษาล้านนา คือคนล้านนามองเณรน้อยว่าเป็นสิ่งสูงค่าดั่งแก้วตาดวงใจ เทียบได้กับเทวบุตรเทวดา เหตุเพราะเชื่อว่าการบวชของลูกชายที่ก่อนจะมีภรรยานั้น บุญกุศลย่อมตกถึงบิดา - มารดาผู้ให้กำเนิดเลี้ยงดูแบบเต็มๆ

มีข้อน่าสังเกตว่า ชาวล้านนาจะไม่ให้ความสำคัญต่อการอุปสมบทเป็นพระภิกษุของชายหนุ่มวัยฉกรรจ์เท่าใดนักเมื่อเทียบกับการบวชของเป็นเณรน้อย หากแต่งงานมีลูกเมียแล้ว พ่อแม่ก็ยิ่งถือว่าตนแทบจะเป็นส่วนเกินของลูกชาย บุญอานิสงส์ในการบวชทั้งหมดนั้นจะตกเป็นของภรรยามากกว่าบุพการี

ด้วยเหตุนี้ คำว่า "ปอยส่างลอง" ก็ดี หรือ "บวชลูกแก้ว" ก็ดี เป็นชื่อที่สามารถอธิบายภาพความยิ่งใหญ่และความสำคัญของเณรน้อยในมุมมองของชาวล้านนาไว้อย่างชัดแจ้ง ว่าเปรียบเสมือนการบวชเณรให้แก่ลูกของเทวดาหรือพระเจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือมนุษย์

สอดคล้องกับประเด็นที่ว่าทำไมต้องขี่ม้า แต่งหน้า ใส่แว่นดำ จะไปเล่นยี่เกกันที่ไหนหรือ

เปล่าเลย การขี่ม้านั้นเป็นการจำลองม้ากัณฐกะที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงขี่ในค่ำคืนที่หนีออกมาจากปราสาทสามฤดู เหตุที่ชาวล้านนามองว่า การบวชของลูกชายนั้น เป็นการเดินตามรอยการทรงผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะบรรลุพระสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า จึงเห็นว่าพาหนะที่จะนำพาผู้บวชไปสู่จุดมุ่งหมายก็คือ "ม้า"

ในบางหมู่บ้านหาม้าไม่ได้ ก็มักจะใช้คนแทนม้า โดยให้ลูกแก้วขึ้นนั่งบนบ่า เรียกคนผู้นั้นว่า "ม้าขี่" อันเป็นตำแหน่งที่เนื้อหอม ชายฉกรรจ์ของแต่ละหมู่บ้านมักจะอาสาแย่งชิงกันเป็นม้าขี่ นอกจากจะได้บุญใหญ่แล้ว ยังมีวาระซ่อนเร้นคือเมื่อเป็นม้าขี่ก็สะท้อนว่าเขาผู้นั้นต้องเป็นชายชาตรีที่มีร่างกายกำยำแข็งแรง

การไปยืนอยู่เคียงข้างลูกแก้ว เท่ากับสร้างจุดเด่นให้เป็นหมายปองของสาวๆ ในหมู่บ้านไปโดยปริยาย

ส่วนหนุ่มๆ ที่แย่งเป็นม้าขี่ไม่ทันก็จะแย่งตำแหน่ง "นายฉันนะ" ด้วยการไปมะรุมมะตุ้มกุมบังเหียนม้า

ส่วนการแต่งหน้าแต่งหน้าเขียนคิ้วทาปากจนดูคล้ายยี่เกนั้น แท้ที่จริงก็คือการตกแต่งลูกแก้วให้มีความงดงามผิดมนุษย์ทั่วไป สมฐานะกับที่เป็นเทวดาหรือเจ้าชายสิทธัตถะ

ดังนั้น หากปล่อยให้หน้าซีดหน้าเซียวมอมแมมตามประสาเด็กก็จะดูไม่สมเกียรติกับการขนานนามว่า "ส่างลอง"

ประเด็นสุดท้ายที่ชวนให้สงสัยมากที่สุด ยิ่งกว่าปริศนาว่าทำไมต้องขี่ม้าหรือแต่งหน้าก็คือ การใส่แว่นดำ ทั้งๆ ที่มีคนกางกลดกางจ้องให้อยู่แล้ว จะร้อนแสบตาอะไรกันนักกันหนาหรือ?

เปล่าเลย แว่นตาดำที่สวมนี้มีนัยยะว่า ลูกแก้วผู้นั้นกำลังฝ่าข้ามชีวิตจากฝ่ายโลกียะ เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเณษกรมยามราตรี และกลายร่างเป็นสมณเพศจวบรุ่งสาง เช่นเดียวกัน แว่นดำจะทำให้โลกของลูกแก้วนั้นมืดสนิทอยู่ในห้วงนิศากาล เป็นโลกที่ไร้สีสัน

ตราบเมื่อทำพิธีในพื้นที่เฉพาะของชาวบ้านเสร็จ ถอดแว่นดำออกก็จะพบกับโลกอีกใบหนึ่งที่รออยู่ คือโลกที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะสู่ฟ้าสางเส้นทางใหม่แห่งโลกุตระ

ในอดีตนั้นไม่มีแว่นดำให้สวมใส่ จึงใช้ผ้าปิดตามัดให้แน่น น่าจะยิ่งช่วยสร้างบรรยากาศของยามรัตติกาลให้แก่ลูกแก้วบนหลังม้าได้ดีกว่าการเปลี่ยนมาเป็นแว่นดำ เพราะเห็นเณรหลายคนเมื่อสวมแว่นดำที่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ลอดแว่นได้นั้น ยังเฮฮาปาร์ตี้สนุกสนานหัวร่อร่า

ผิดกับลูกแก้วสมัยก่อนที่ต้องทนอยู่ในโลกส่วนตัวอันมืดมิดนั่งสงบนิ่งระคนใจตุ้มๆ ต่อมๆ บนหลังม้าอย่างวังเวง



ปัจจุบันประเพณี "ปอยส่างลอง" หรือ "บวชลูกแก้ว" ได้ประยุกต์ใหม่เพื่อให้สอดรับกับวัฒนธรรมจัดตั้งเพื่อการท่องเที่ยว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเข้ามาสนับสนุนในรูปแบบการเชิญชวนเด็กนักเรียนที่อยากบวชแบบประเพณีโบราณนี้ ทว่ายากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มาร่วมบรรพชาสามเณรหมู่ช่วงปิดเทอมภาคเรียนฤดูร้อน ประมาณปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนก่อนปี๋ใหม่เมือง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการบอกบุญแก่คณะศรัทธาให้มาเป็นเจ้าภาพร่วมกันจากหลายฝักหลาายฝ่าย งานนี้สาวน้อยสาวใหญ่ สาวแก่แม่ม่าย ที่ไม่มีลูกชาย แค่ร่วมบริจาคปัจจัยคนละร้อยสองร้อย ก็อิ่มเอิบบุญ เพราะแม่ยกทั้งหลายเชื่อว่าพวกเธอได้โอกาสเกาะหางม้าไปสวรรค์แล้ว

พื้นที่ของชาวบ้านที่เคยมีๆ หายๆ ตามสภาพสังคมเศรษฐกิจ พลันค่อยๆ หดแคบลง อำนาจและวัฒนธรรมของรัฐใหญ่ที่ตั้งตนเป็นศูนย์กลางได้เข้ามาครอบงำทุกครั้งไป ครั้งหนึ่งอำนาจนี้ได้ออกคำสั่งชี้นิ้วให้ประเพณีบวชลูกแก้วต้องอันตรธานหายสูญ นิ้วมือเดียวกันนี้วันดีคืนดีจู่ๆ ก็มาออกคำสั่งกระชับพื้นที่อีกครั้ง ให้ชาวบ้านเอาประเพณีดั้งเดิมนั้นกลับคืนมาเพื่อรองรับเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว

ในขณะที่ชนส่วนน้อยต้องทนก้มหน้าใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว แปลกแยก ฤๅแว่นสีดำนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการไม่รู้จักและปฏิเสธตนเอง



++

พระเจ้าเปิดโลก แหวกนรกว่ายสวรรค์
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1629 หน้า 76


เขียนแต่เรื่องปิดๆ ติดต่อกันมาแล้วสามฉบับ นับแต่พระปิดตา-ควัมปติ ประวัติศาสตร์ปกปิดของกู่ยิง มาจนถึงเณรน้อยปิดตาใส่แว่นดำงานปอยส่างลอง

ปริศนาโบราณคดีฉบับนี้จึงขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเขียนเรื่องอะไรที่เปิดๆ บ้าง เพื่อให้เข้ากับเทศกาลออกพรรษาตักบาตรเทโวซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปได้ไม่นาน

จึงอยากนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ "พระเจ้าเปิดโลก"

ให้เผอิญว่าเหตุการณ์ของพระพุทธเจ้าตอนเปิดโลกนั้น อยู่ตรงกลางระหว่างสองเหตุการณ์สำคัญพอดี คือก่อนเปิดโลกต้องเสด็จไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และหลังจากเปิดโลกก็คือการเสด็จกลับสู่มนุษยภูมิ

บทความชิ้นนี้จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงทั้งสามเหตุการณ์พ่วงตามไปด้วยชนิดแยกกันไม่ออก



พระพุทธมารดาอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต
เหตุไฉนจึงเสด็จไปโปรดชั้นดาวดึงส์

เป็นธรรมเนียมของพระพุทธมารดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ภายหลังจากให้กำเนิดมหาบุรุษแล้ว มักเสด็จสู่สวรรคาลัยภายใน 7 วัน ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะทรงอธิษฐานจิตมาเพื่อทำหน้าที่ฟูมฟักครรโภทรนี้เป็นการเฉพาะ แม้ดูเหมือนจะสิ้นอายุขัยก่อนวัยอันควร ยังมิทันได้ลิ้มพระธรรมรสจากพระราชบุตรเหมือนใครๆ หากแต่บุพกรรมก็หนุนเนื่องให้พระนางสิริมหามายาจุติเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต เฝ้ารอวันที่ทารกน้อยเติบใหญ่ได้บรรลุสัมโพธิญาณแล้วจักได้ขึ้นมาเทศนาโปรดเสด็จแม่

การณ์ก็เป็นไปตามนั้น เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรมได้ในพรรษาที่ 7 ด้วยพระชนมายุ 42 หลังจากที่ทรงเทศนาโปรดสัตว์โลกมาหลายหมู่เหล่า ทรงรำพึงถึงการทดแทนคุณต่อพุทธมารดาที่พระองค์ทรงทราบโดยญาณว่ากำลังบำเพ็ญเพียรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต อันเป็นสวรรค์ชั้นที่ 4 ในบรรดาสวรรค์ทั้งหมด 6 ชั้น โดยนับเรียงจากชั้นแรกสุดคือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี

แล้วไยพระพุทธองค์จึงไม่ทรงเสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตโดยตรงเลยเล่า ไฉนจึงต้องอัญเชิญให้สิริมหามายาเทวบุตรเสด็จลงมาพบกันครึ่งทางที่สวรรค์ชั้นที่ 2 คือดาวดึงส์

เรื่องนี้มีมูลเหตุอยู่ว่า

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นเป็นที่ตั้งของเขาพระสุเมรุ ที่ชื่อว่า ดาวดึงส์ หรือ ตาวติงสาภูมิ เพราะเป็นที่อยู่ของเทพผู้ปกครองภพถึง 33 องค์ โดยมีสมเด็จอมรินทราธิราช (พระอินทร์ หรือท้าวสักกเทวราช) เป็นประธาน และที่สำคัญมีพระธาตุเจดีย์จุฬามณีประดิษฐานอยู่ ซึ่งทุกวันเหล่าเทวดานางฟ้าจะมาประชุมกันที่สุธรรมาเทวสภาเพื่อรับฟังโอวาทจากท้าวสักกะ

กล่าวให้ง่ายก็คือ สวรรค์ชั้นนี้มีบรรยากาศแห่งการกระหายใฝ่รู้พระธรรมที่ค่อนข้างคึกคักมากเป็นพิเศษ

และหากพระพุทธองค์เสด็จไปเทศนาธรรมบนสวรรค์ชั้นสูงๆ ขึ้นไปกว่านี้ เทวดาในชั้นต้นๆ ก็ไม่สามารถตามขึ้นไปฟังธรรมได้ เนื่องจากสู้แสงจากรัศมีกายและทิพยสมบัติของเทวดาชั้นที่เหนือกว่าไม่ได้

สะท้อนให้เห็นว่าพระพุทธเจ้ามิได้ทรงคำนึงถึงแต่เพียงการโปรดเทศนาแด่พระพุทธมารดาเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น หากแต่ยังทรงมีเมตตาเผื่อแผ่ถึงอินทร์พรหมยมยักษ์นักสิทธิ์ฤๅษีคนธรรพณ์อีกด้วย

เมื่อเสด็จมาถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่โคนต้นปาริฉัตร (บ้างก็ว่าปริชาติ-ปาริกชาติ บ้างว่าหมายถึงต้นทองหลาง) บนแท่นแผ่นหินที่ปูลาดด้วยผ้ากัมพลสีแดง เรียกว่า "บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์" ท้าวสักกเทวราช จึงเสด็จไปตามพระสิริมหามายาเทวบุตร ณ ดุสิตพิภพ เพื่อให้มาฟังธรรมของพระพุทธองค์

เมื่อสมเด็จพระชินสีห์ได้พบพระพุทธมารดา พลางดำริว่า "พระคุณแห่งมารดาที่ทำไว้แก่ตถาคตนี้ยิ่งใหญ่นัก สุดที่จะคณานับได้ว่า กว้างหนาและลึกซึ้งปานไหน มีธรรมอันใดเล่าที่ควรค่าแก่การทดแทนพระคุณได้ พระอภิธรรมปิฎก และพระสุตตันตปิฎกก็ยังน้อยนัก มิเท่าคุณแห่งพระมารดา เห็นควรแต่พระอภิธรรมปิฎกเท่านั้นที่จะพอยกขึ้นชั่งน้ำหนักเท่ากันได้"

ดำริดังนี้แล้ว ทรงกระทำการตรัสอภิธรรมปิฎก 7 คัมภีร์ ให้สมควรแก่ปัญญาบารมี มีสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และมหาปัฏฐาน

สรุปแล้วสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาตลอดพรรษากาล เมื่อธรรมเทศนาจบลง องค์พระสิริมหามายาเทวบุตร พลันได้ดวงตาเห็นธรรม ทรงบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด

ส่วนเทวดานางฟ้าอีกจำนวนมาก ก็ได้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยแห่งตน



พระเจ้าปางเปิดโลก
แหวกนรกว่ายสวรรค์

เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาโปรดพุทธมารดา ก็ถึงเวลาออกพรรษา จึงลาพุทธมารดาเพื่อเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหตุการณ์ตอนนี้พระพุทธองค์ทรงกระทำ "โลกวิวรณปาฏิหาริย์"

ในทางประติมาณวิทยา พระเจ้าปางเปิดโลกแสดงออกด้วยพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืนบนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า บางครั้งพระหัตถ์สองข้างกรีดนิ้วในท่าคล้ายจับจีบจีวร อันเป็นกิริยาของการแหวกนรก-ว่ายสวรรค์

ในงานพุทธศิลป์ยุคโบราณนั้น ไม่พบว่ามีการทำพระพุทธรูปปางนี้ในประเทศอินเดียนับแต่สมัยคันธารราษฎร์จนถึงปาละ หรือแม้แต่ยุคทวารวดี ศรีวิชัย หริภุญไชย ลพบุรี ก็แทบไม่พบ แต่กลับได้รับความนิยมอย่างสูงมากในงานพุทธศิลป์ของประเทศพม่าช่วงปลายอาณาจักรพุกามราวพุทธศตวรรษที่ 17 และต่อมาได้ส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปกรรมสมัยสุโขทัย ล้านนา

ผิดกับความนิยมในการทำพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ที่มีคติการทำมาแล้วตั้งแต่ยุคโบราณของอินเดียรวมทั้งทวารวดี และจัดเป็นปางสำคัญที่สุดหนึ่งในแปดปางสากลของการนำพุทธประวัติไปถ่ายถอดในเชิงประติมาณวิทยา

ก่อนเปิดโลกพระศาสดาประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ทรงทอดพระเนตรแลดูภพภูมิข้างบนตลอดจนถึงพรหมโลกแล้ว ก็ทรงเพ่งพินิจแลดูภูมิข้างล่างจนถึงก้นบึ้งอเวจี จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีไปทั่วปริมณฑล 36 โยชน์นับแต่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ทรงบันดาลให้สรรพสัตว์มองเห็นซึ่งกันและกัน คือชาวมนุษย์มองเห็นชาวสวรรค์และสัตว์นรก ชาวสวรรค์มองเห็นชาวมนุษย์และสัตว์นรก

แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานที่กำลังแหวกว่ายเพลิงเถ้าอยู่ในกระทะทองแดง หรือคนตาบอด-หากแม้นใจยังไม่มืดบอดสนิทก็ย่อมจักได้รับเห็นแสงแห่งพระพุทธองค์ ส่งผลให้สรรพสัตว์เหล่านั้นต่างก็ปรารถนาพุทธภูมิด้วยกันทั้งสิ้น



หลังโลกวิวรณ์ ก็เสด็จลงจากดาวดึงส์

หลังจากกระทำการเปิดโลกแล้ว เพื่อให้งานประติมาณวิทยามีความสมบูรณ์แบบ ช่างโบราณมักทำพระพุทธรูปอีกปางหนึ่ง เรียกปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 โดยท้าวโกสีย์แห่งเทวโลกได้เนรมิตซึ่งบันไดทิพย์ทั้ง 3 คือบันไดทองคำ บันไดเงิน และบันไดแก้วมณี

เชิงบันไดเหล่านั้นทอดลงไปยังประตูสังกัสสนคร

หัวบันไดนั้นตั้งอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ

บันไดทองจัดตั้งเบื้องขวาสำหรับเหล่าเทวดา

ส่วนบันไดเงินอยู่เบื้องซ้ายเพื่อมหาพรหมทั้งหลาย

และบันไดแก้วมณีได้มีในท่ามกลาง สำหรับองค์พระตถาคต

ด้วยเหตุนี้พระเจ้าเปิดโลก ณ วัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นการจำลองศิลปะพม่าจากยุคพุกาม เช่น อานันทเจดีย์ มาสร้างนั้น จึงได้ทำบันไดแก้วทอดยาวเชื่อมลานประทักษิณชั้นบนลงมาสู่เบื้องล่าง หมายถึงหลังจากเปิดโลกแล้วพระศาสดาก็เสด็จลงจากดาวดึงส์พร้อมด้วยบริวาร และหยุดประทับอยู่ที่ประตูสังกัสสนคร

การทำพระเจ้าเปิดโลกสี่องค์ในซุ้มจระนำของเจดีย์ทั้งสี่ทิศที่วัดพระยืนนี้ มีการระบุชัดในโคลงนิราศหริภุญไชยว่าหมายถึง การเปิดโลกของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้แก่ กกุสันโธ โคนาคม มหากัสสปะ และโคตมะ

ส่วนพระศรีอาริยเมตไตรย์นั้นเป็นพระอนาคตพุทธเจ้าที่ยังไม่มาบังเกิด จึงยังมิอาจสร้างในท่าเปิดโลกได้ ในทางประติมาณวิทยาจึงทำสัญลักษณ์เป็นรูปสถูป ณ ยอดบนสุด อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมอย่างมากในพม่าและภาคเหนือของไทย

อนึ่ง ตอนที่เขียนบทความเรื่องพระปิดตาควัมปตินั้น ได้อธิบายเรื่องพระเจ้าทั้งห้าว่า ชาวมอญโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 นั้นมีความเชื่อตามพุทธศาสนานิกายมูลสรวาสติวาสว่า พระกกุสันโธเกิดจากแม่ไก่ พระโคนาคมเกิดจากแม่โค พระมหากัสสปะเกิดจากแม่เต่า พระโคตมะเกิดจากแม่สิงห์ และพระเมตไตรยะเกิดจากแม่นาคนั้น ได้มีผู้ทักท้วงไถ่ถามดิฉันว่าทำไมจึงไม่เหมือนกันกับตำนานของคนไทย

กล่าวคือของไทยนั้นกกุสันโธ กับมหากัสสปะเกิดจากแม่ไก่และแม่เต่าถูกต้องแล้ว แต่โคนาคมเกิดจากแม่นาค โคตมะเกิดจากแม่โค และเมตไตรยะเกิดจากแม่สิงห์ จึงขอเรียนชี้แจงมา ณ ที่นี้ว่าเรื่องพระเจ้าทั้งห้าในเวอร์ชั่นมอญโบราณนั้นมีความเก่าแก่มาก การผูกเรื่องให้พระเมตไตรยะเกิดจากไข่นาคเหตุเพราะต้องการเชื่อมโยงกับพระควัมปติที่มีร่างอ้วนเป็นรูปไข่นาคเช่นกัน จึงได้มีการสลับสัตว์สามชนิดที่เป็นมารดาของพระโพธิสัตว์เพื่อให้สอดรับกับความเชื่อพื้นถิ่นของชนชาติตน

อ้าว! ฉบับนี้ตั้งใจจะเขียนเรื่อง "เปิด"ๆ ไปๆ มาๆ ก็ต้องมาจบลงด้วยเรื่อง "ปิด"ๆ เข้าอีกจนได้



.