โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1632 หน้า 80
ระหว่างที่ฉันกำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ ตัวละครก็คุยกันขึ้นมาว่า หลายๆ สิ่งที่บางคนได้เลือกที่จะทำลงไปนั้น มันน่าจะมาจากปมบางอย่างในใจ
ในเรื่องที่ฉันอ่านนั้น ตัวละครระบุไว้ว่าคือ "ปมแบทแมน"
อธิบายพอคร่าวๆ ได้ว่า ผู้มีปมนี้ ยามเมื่อประสบพบเห็นเรื่องเดือดร้อนของผู้ที่รู้จัก แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องใกล้ชิด ก็จะพาตัวเองไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาให้เขาจนกว่ามันจะสำเร็จลุล่วงไปจนได้ แม้ตัวเองจะต้องประสบปัญหามากมาย ไปจนถึงกระทั่งการต้องสูญเสียคำตอบและความเชื่อบางอย่างในชีวิตไปก็ตาม
เหมือนเป็นการชดเชยบางอย่างลึกๆ ที่สะสมอยู่ในใจ บางอย่างที่มากกว่าความเป็นพลเมืองดีและมนุษยธรรม
คนบางคนก็ถูกขับเคลื่อน และประสบกับคำตอบที่ทำให้เส้นทางของชีวิตต้องหักเหไปด้วยปมแบบนี้
ฉันเองก็คงมีปมอะไรในชีวิตอยู่เหมือนกัน
ปมที่ผลักให้ฉันต้องการพิสูจน์ถึงคุณค่าในสิ่งที่ฉันเป็น ความไม่มั่นใจบางอย่าง การต้องการความรักและการยอมรับบางรูปแบบ
ส่วนใหญ่ปมในชีวิตของเราๆ นั้นจะสะสมมาตอนวัยเยาว์ ในช่วงเริ่มต้นชีวิต
เรื่องที่ดูเหมือนไม่มีเหตุผลในการกระทำแต่ละอย่างของเรานั้นมักจะมีที่มาที่ไปเสมอ แม้มันจะดูไร้เหตุผลขนาดไหนก็ตาม
ที่จริงฉันสมัครใจจะเรียกว่ามันเกิดจากอิทธิพลของอารมณ์ มากกว่าสารเคมีในสมอง สิ่งแวดล้อมหรือการเลี้ยงดู เพราะมันดูรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองมากกว่าจะโยนให้คนอื่นๆ แม้มันจะดูเป็นเหตุนามธรรมพอๆ กัน
ผู้ที่ศึกษามาด้านจิตและอารมณ์มนุษย์ รวมถึงด้านมานุษยศาสตร์อาจระบุชื่อทฤษฎีต่างๆ ที่ถูกต้องและได้รับการพิสูจน์แล้วออกมาได้เป็นกลุ่มอาการต่างๆ
ทฤษฎีทางฟิสิกส์บางทฤษฎีสามารถระบุอะไรในธรรมชาติได้หลายๆ อย่าง
แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่าง
หนึ่งในสิ่งที่ระบุและทำนายผลได้ยากที่สุดฉันว่าน่าจะเป็นมนุษย์
มนุษย์, ซึ่งเป็นผู้ตั้งทฤษฎีขึ้นมานั่นเอง
มันอาจมีพลังงานหรืออำนาจอะไรบางอย่างเหนือเราขึ้นไปอีก ที่จะสามารถอธิบายถึงความเป็นไปหลายๆ อย่างบนโลกนี้ บางอย่างซึ่งจะต้องเกิดขึ้น จนกระทั่งมีมนุษย์เข้ามาแทรกแซงจนกระบวนการนั้นๆ บิดเบี้ยวไป
บางที, ความเป็นมนุษย์ก็อาจจัดให้เป็นตัวแปรหนึ่งในสมการที่เหมือนกับแรงโน้มถ่วง, ค่าพลังงาน หรือตารางธาตุ
แต่อะไรๆ ก็ดูจะแน่นอนกว่ามนุษย์ทั้งนั้น
เลยยังไม่มีใครแทนค่ามนุษย์เข้าไปในสมการของปรากฏการณ์บนโลกนี้
ถ้ามี, มันอาจถูกเรียกว่าค่าความน่าจะเป็น, การเบี่ยงเบน หรือความเป็นไปได้ที่จะแหกกฎกระมัง
ฉันเองก็ไม่มีความรู้ในด้านนั้น
และบางทีทฤษฎีอะไรก็ไม่เพียงพอต่อการอธิบายความเป็นคนแบบที่เราเป็น
คนในแบบหนึ่งไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว
สังคมไม่อาจบรรจุไปด้วยคนเพียงแบบเดียว พวกเดียว ประเภทเดียว
หากมีคนประเภทเดียวแล้ว เราจะเกลียดใคร? จะรักใคร? จะยึดถือใคร? จะเทิดทูนบูชา หรือเหยียดหยามใครกันได้เล่า?
ความรู้สึกในความต่างของมนุษย์ไม่ใช่หรือที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและเป็นไป
เคยมีคนพยายามจัดกลุ่มและกำหนดประเภทให้มนุษย์แล้ว พยายามทำมันออกมาให้เป็นรูปธรรม
ลองนึกถึงสงครามในยุคที่อเมริกาแบ่งเป็นฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือสิ ยุคที่คนบางกลุ่มถือเอาสีผิวของมนุษย์เป็นเครื่องวัดความต่างและคุณค่าของคน
ลองนึกถึงความฝันและความตั้งใจในการสร้างอาณาจักรไรส์ที่ 3 ในยุคนาซีดูด้วยก็ได้
มีเผ่าพันธุ์และผู้คนที่ "แตกต่าง" มากมายถูกฆ่าและกำจัด
ยิว, ยิปซี, พวกผิวสี, คนพิการ, ฝาแฝด
หรือจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ระหว่างชาวทุตซีและฮูตูในรวันดา, ทุ่งสังหารของเขมรแดง, สงครามดาร์ฟูร์ในซูดาน การก่อการร้ายที่ปะทุขึ้นอยู่เสมอจากความต้องการให้มีเพียง"เรา", "พวกเรา", "เหมือนเรา"
ผู้เป็นเจ้าของความคิดเหล่านั้นเขามีปมอะไรกันนะ
เขาเชื่อถือในอะไรบ้าง
ในเมื่อเราไม่อาจวัดค่าของมนุษย์ได้ด้วยเครื่องชั่งใดๆ
สีผิว, อายุ, เพศ
รวมไปถึงการศึกษา
เราอาจอธิบายได้ เราอาจจัดลำดับขั้นได้ เราอาจดูถูกดูแคลนหรืออาฆาตมาดร้ายใครได้
เราอาจเหนือกว่า เราอาจต้อยต่ำกว่า
ความต่างที่ถูกสร้างขึ้นย่อมมีประโยชน์บางอย่าง
จะเป็นอะไรฉันเองก็ไม่อาจจะระบุได้อย่างชัดเจน
แต่สิ่งที่นึกออกเป็นอย่างแรกๆ ก็คือ
มันทำให้เราลดและเพิ่มความเป็นตัวเรา เพื่อที่เราจะได้เห็นความสำคัญของคนอื่น เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล
และหากเราสำคัญตนได้น้อยลงบ้าง เราจะได้มีสายตาไปมองเห็นอะไรอื่นๆ ในชีวิต หลายสิ่งหลายอย่างที่สำคัญมากกว่าการจัดกลุ่มมนุษย์รอบตัวเรา
* * * * * * * * * * * * * * *
* หนังสือ " เครื่องปรุงจักรวาล " เขียนโดย Mister Tompkin ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม, 2554 โดย สำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์
++
เรา...ล้วนเป็นศาสดาของตัวเอง
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1590 หน้า 79
1.ฉันเพิ่งโดนตั้งคำถามว่า
"ทำไมถึงได้มาเป็นเสรีชน หรืออะไรอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ในฐานะที่เป็นดารา เป็นคนของสังคมชนชั้นกลาง และไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับประชาชน"**
2."อะไรที่เป็นที่เป็นสิ่งบันดาลใจมันไม่เคยแจ้งให้รู้ล่วงหน้าหรอก"*
เรามักนึกไม่ค่อยออกว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เรากำลังเป็นอยู่ มันอาจเป็นภาพที่ผ่านตา คำพูดบางคำ ความทรงจำที่เชื่อถือไม่ได้ หรือนิยายบางเรื่อง แต่รวมๆ แล้วฉันพอสรุปได้ว่าอดีตของเรานี่เอง ที่หล่อหลอมให้เราเป็นอย่างที่เป็นอยู่
ฉันเคยทำอะไรอย่างที่คนอื่นคิดให้มาแล้ว ทำในสิ่งที่คนคิดว่าเรา "น่าจะเป็น" (ถ้าคุณนึกไม่ออกว่าฉันเคยทำเมื่อไหร่ ก็ผลงานเพลงอัลบั้มแรกของฉันนั่นไง...)
ใช่, มันไม่ดัง และฉันว่าฉันโชคดีที่มันไม่ดัง
เพราะต่อให้มันไม่โด่งดังยังไงยังไง ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งจำมันได้อยู่ดี และเมื่อมีการพูดถึงมันขึ้นมา ฉันก็ยังคงสั่นไหวทุกครั้ง
มันเจ็บปวด, มันอับอาย
มันทำให้ฉันไม่นับถือตัวเอง และความรู้สึกนี้ไม่มีทางหายไป มันยังคงกลับมาหลอกหลอนฉันเสมอ กลับมาในรูปแบบของเรื่องที่เอามาพูดเล่นๆ
บางทีฉันก็ขำบ้าง
แต่ส่วนใหญ่แล้ว ฉันไม่ตลกกับมัน
อาจด้วยเหตุนี้, ฉันเลยรู้สึกเจ็บปวดเสมอ เวลาเห็นใครโดนตัดสินโดยไม่มีโอกาสแม้แต่จะบอกเล่าเรื่องของตัวเอง ใครที่ตายไปโดยไม่มีคนคิดแทน หรือลองกลับด้านกันสักนิดว่าถ้าเราเป็นเขา
เราจะทำอะไรได้ดีไปกว่านั้นหรือไม่
3.จะเอาจริงๆ เลยคือฉันไม่รู้ว่าฉันเป็นเสรีนิยม แบบ "เสรีนิยม" จริงๆ หรือเปล่า
เสรีนิยม ในแบบที่หมายถึงทัศนะทางการเมือง ซึ่งจัดให้เสรีภาพและความเสมอภาคของปัจเจกบุคคลเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด
ฉันอาจเป็นแค่คนบ้าที่ได้ยินเสียงดนตรีอยู่แค่ในหูของตัวเองก็ได้
แต่ฉันไม่รู้จะพยายามเป็นอะไรอย่างที่คนเขาชอบไปทำไม เพราะถึงอย่างไร มนุษย์เราต่างก็ตั้งแง่ เพื่อจะได้หมั่นไส้หรือไม่ชอบใครบางคนอยู่แล้ว
ดังนั้น ฉันจึงเป็นฉัน เพื่อที่อย่างน้อยที่สุด ต่อให้ไม่มีใครบนโลกนี้ชอบฉันเลย
ฉันก็ชอบตัวเอง
ฉันรักตัวเอง รักเหตุผลที่มอบให้แก่การกระทำของตัวเอง
4.ไม่รู้ว่าเพราะอะไรฉันถึงได้มาเป็นนักแสดง
ความเชื่อเริ่มต้นของฉันคือ, ถึงยังไงมนุษย์ก็ต้องทำอะไรบางอย่างอยู่แล้ว ถ้าเราสามารถทำงานที่เลี้ยงตัวเองได้ เราก็จะพึ่งพาคนอื่นน้อยลง และทำอะไรตามใจตัวเองได้มากขึ้น
แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ต่อให้เราทำงานมากมายแค่ไหน เราก็ยิ่งต้องเออออตามใจคนรอบๆ ตัวมากขึ้นด้วยกลัวว่าเขาจะไม่รักไม่ชอบเรา
ก็แปลกดีเหมือนกัน
สรุปก็คือ, ฉันได้ทำงานที่ฉันชอบ คือการได้เป็นคนอื่นตลอดกาล เพราะถึงอย่างไร, มนุษย์ก็ไม่มีสิทธิ์เป็นตัวเองได้โดยสมบูรณ์อยู่แล้ว เรายังคงต้องใส่หน้ากากบางบ้าง หนาบ้าง บางคนก็ใส่โดยไม่เคยถอด บางคนก็ไม่เชื่อว่าตัวเองใส่
ดังนั้น การเป็นนักแสดงของฉันคือการทำในสิ่งที่มนุษย์ต้องทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว และเลี้ยงตัวเองได้จากการนี้
ฉันขายตัว แม้จะเป็นการขายตัวที่เป็นคนละมิติกับโสเภณี แต่มันก็คือการนำตัวเองมาเร่ขาย แถมในบางครั้ง งานของเธอเหล่านั้นก็ต้องใช้ทั้งร่างกาย จิตใจ ประกอบกับความสามารถทางการแสดงเยอะกว่าฉันเสียด้วยซ้ำ
ฉันไม่ใช่คนสำคัญ ชื่อของฉันอาจไม่มีใครสนมากไปกว่าบทบาทที่ฉันได้รับ
5.ฉันชอบลอง ฉันปล่อยตัวเองไปตามที่เหตุการณ์และเวลาจะเอื้ออำนวย ฉันลองสิ่งใหม่ๆ และเก็บผลของมันเอาไว้เป็นข้อมูล และความสนุกก็เป็นเหตุผลเพียงพอในตัวของมันที่จะส่งให้ฉันลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ฉันคิด ฉันสงสัย และไม่อาจมีใครมาห้ามฉันได้
ฉันมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าฉันชอบหรือไม่ และทุกคนควรได้รับสิทธิ์นี้
ฉันว่าทุกวันนี้คนสนใจจะตอบตัวเองน้อยลง แต่อยากตอบสังคมให้มากขึ้น
ไม่ใช่ตอบแทนด้วยการคืนอะไรแก่สังคม แต่พยายามทำตัวให้ตอบโจทย์ในสังคมที่ตัวเองอยากอยู่ ตอบให้ถูกใจคนรอบตัวเสียมากกว่า
มนุษย์ที่ถูกจับอัดกรอบด้วยความน่าจะเป็นเช่นนี้เสียแล้วไม่มีวันน่าสนใจได้เลย
คนธรรมดาทั่วไปต่างหาก ที่เป็นคนพิเศษในตัวของตัวเอง
6.ในเมื่อเราเป็นคนเท่าๆ กันแล้ว เราจะเอาอะไรมาตัดสินว่าใครดีกว่าใคร
คนจบ ป.4 ที่มากวาดถนน กับคนที่เรียนจบปริญญาเอกและไม่มีงานทำนั้นใครสำคัญกว่ากัน
เด็กปั๊มที่เติมน้ำมันรถซึ่งตัวเองไม่มีวันได้ขับ กับคนที่ขับรถสปอร์ตราคาแพงที่ไม่เคยรู้ว่ายางอะไหล่รถอยู่ตรงไหนนั้น ใครเก่งกว่ากัน
เราอาจรู้ในเรื่องหนึ่ง แต่ไม่มีวันรู้ทุกอย่าง ความรู้ของเราอาจมีประโยชน์ในเวลาหนึ่ง แต่อาจไร้ค่าในบางโอกาส
เราทุกคนล้วนเป็นศาสดาของตัวเราเอง
เราเดินด้วยขาของเราเอง เราสร้างความสุขในแบบของเราเอง เราสร้างปัญหาให้ตัวเราเอง เราแก้ปัญหา เราทำความเข้าใจ และเรายอมรับมันได้ในวิถีทางของเราเอง แล้วเราจะไปนับถือผู้ที่มาบอกในสิ่งที่ยังไงเราก็ต้องคิดเองได้อยู่แล้วหากให้เวลากับตัวเองมากพอไปทำไม
ฉันไม่ได้บอกว่าวิธีคิดของฉันนั้นดีที่สุด ถูกที่สุด
แต่ก็ไม่มีใครจะมาตัดสินได้ว่าฉันผิด
เพราะเขาจะมาตัดสินแล้วจากไป ก่อนจะทิ้งฉันไว้ให้อยู่กับความรู้สึกว่าตัวเองโง่เง่าตลอดกาลไม่ได้
ฉันไม่ยอม
7.ทั้งหมดที่เขียนมานี่คือคำตอบต่อคำถามนั้นหรือเปล่า?
ฉันไม่รู้
มันอาจจะใช่
หรือมันอาจจะไม่ตอบอะไรเลยก็ได้เช่นกัน
* * * * * * * * * * * * * * *
*ข้อความจากเรื่องสั้น "ความทรงจำอันสำส่อน" เขียนโดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
**คำถามจากเพื่อนใน Facebook ผู้ใช้ชื่อว่า Jun Priteva
รวมเรื่องสั้นโนเบลชุดที่ 6 "ความทรงจำอันสำส่อน" เขียนโดย ซาอูล เบลโล, นากิบ มาห์ฟูซ, นาดีน กอร์ดิเมอร์, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ และ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ แปลโดย นิรัติศัย หล่ออรุโณทัย ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์นาคร พฤศจิกายน, 2553
+++
บทความปีที่แล้ว (2553 )
" ก็ไพร่นี่คะ! "
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1577 หน้า 79
หนึ่งในคอลัมน์ที่ฉันเชื่อว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งในมติชนสุดสัปดาห์นั้น ฉันว่าต้องมีคอลัมน์ของ "คำ ผกา" ติดโผอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะอ่านแล้วนิยมเชียร์ หรือจะอ่านแล้วนิยมชังก็เถิด
ฉันนั้นเป็นพวกแรก, คือเป็นพวกนิยมเชียร์ เพราะอ่านไปก็ปลื้มใจไปว่าผู้หญิงพูดจาตรงไปตรงมานี้ ย่อมไม่ได้มีเพียงฉันคนเดียว ดังนั้น ใครที่มากดดันให้ฉันเปลี่ยนนิสัยควรเลิกล้มความตั้งใจเสียที
หนังสือ "ก็ไพร่นี่คะ" เป็นการรวมเอาบทความที่เธอเคยเขียนไว้ในสารพัดประเด็น ตั้งแต่รองเท้าส้นสูงไปยัน จอร์จ ออร์เวล มาไว้ในเล่มเดียวกัน
แม้บางเรื่องจะเคยอ่านผ่านตามาแล้ว แต่ฉันว่าพอเอามาเรียงให้ได้อ่านกันยาวๆ รวดเดียวแบบนี้มันสนุกดีพิลึก
คำ ผกา บอกว่าเธอนั้นเป็น "ผู้หญิงนิสัยไม่ดี ขี้อิจฉาขี้หมั่นไส้ บอกให้ไปเหนือจะเดินลงใต้ บอกจะให้ไปขวาก็จะหันหน้าไปทางซ้าย "*
ซึ่งสำหรับฉันแล้ว นิสัยต่างๆ เหล่านี้ฉันเรียกว่าเป็นความสามารถพิเศษต่างหาก
ฉันก็เป็นคนรั้นคนหนึ่ง จึงย่อมเข้าข้างคนรั้นด้วยกัน
ในที่นี้คำว่า "รั้น" นั้นไม่ได้หมายความยาวไกลไปถึงการรู้ว่าผิดก็ยังฝืนตะแบงทำ แต่เป็นรั้นในความหมายของคำว่า "ขี้สงสัย"
ใครมาบอกให้เชื่ออะไรก็ต้องขอไปลองไปเห็นก่อนถึงจะยอมเชื่อ ไอ้อยู่ๆ มาสั่งว่า "ต้อง" อย่างนั้น "ต้อง" อย่างนี้ ฉันก็จะแปลงร่างเป็นเครื่องหมายคำถาม เอาแต่สงสัยอยู่ร่ำไปว่าทำไมต้องเชื่อ? เหตุผลคืออะไร? อธิบายหน่อยสิจ๊ะ
แล้วก็ให้บังเอิญว่าประเทศนี้มีแต่เรื่องที่ห้ามสงสัยเต็มไปหมด หรือถึงจะสงสัยก็ไม่มีใครให้คำตอบที่แท้จริงได้ อาการเช่นนี้ของฉันมันเลยยังไม่หายไป สงสัยมากๆ เข้าก็กลายเป็นขวางโลกเสียอย่างนั้น
ประหลาดเสียจริง
ไม่คิดก็ว่าโง่ พอคิดก็หาว่าขวางโลก
หลายคนระบุว่า, คำ ผกา เป็นคน-แรง-
แรงในที่นี้ มีความหมายว่าอย่างไรสำหรับคนอื่นฉันไม่ทราบ แต่แรงอย่าง คำ ผกา นั้นเป็นสิ่งที่ฉันเรียกว่า "ชัดเจน" ไนยุคที่คนพร้อมใจกันอ่อนนุ่มและคลุมเครือ
ฉันก็เคยโดนนิยามอยู่บ่อยๆ ว่า "แรง" โธ่เอ๋ย...ช่างมานิยามไม่ถามกันบ้างเลย ฉันก็อยากเป็นนะ อยากเป็นสาวสวยซอฟต์ เข้าใจอะไรง่ายๆ ได้เหมือนคนอื่นๆ เหมือนที่ใครต่อใครเขาชื่นชมคนบุคลิกแบบนี้กัน แต่ฉันดันเกิดมาเป็นคนไม่ฉลาด
ครั้นไม่ฉลาดมันก็อดถามอดสงสัยไม่ได้ ถามไปก็หวังว่าจะได้คำตอบเป็นความรู้มาประดับสมองน้อยๆ ของฉันนี้ แต่ก็บ่อยไปที่โดนตอบกลับมาทุกทีว่า "ก็เค้าเป็นอย่างงี้กันตั้งนานแล้ว"
อ้าว
หมดกัน
ก็ถ้ามันมีผลเช่นนี้ มันก็ย่อมมีเหตุที่ให้กำเนิดขึ้นมาซี จะมาด้วนๆ กุดๆ ตัดบทกันพรรค์นี้มันไม่เห็นจะแฟร์ แถมไม่แฟร์แล้วยังมาว่าฉันอีกว่ารั้นแรง
หนอยแน่ะ
แค่ผู้หญิงอย่างฉันรู้ทันตัวเอง ทำนั่นทำนี่เองได้ ดูหนังก็ไปคนเดียว เวลาใครมาถามว่าอยากกินข้าวที่ไหนก็ระบุชื่อร้านไปไม่ช้าที ไม่มามัวอ้ำอึ้งอย่างหญิงสาวส่วนใหญ่ ที่เหมือนท่องคาถาประจำตัวมาตั้งแต่เกิดว่า "ก็แล้วแต่ค่ะ" "ไม่รู้สิคะ" "ยังไงก็ได้ค่ะ" มันทำให้ฉันเป็นคนแรง แล้วดูเป็นผู้หญิงน้อยลงเลยงั้นหรือ?
ก็รู้ตัวและมีคำตอบชัดเจนแล้วมันจะทำไมล่ะ
แต่ไม่ว่าจะแรงหรือไม่ จะรั้นหรือเปล่า หรือใครจะเข้าใจเธอไปว่าอย่างไรก็ตาม,
สิ่งที่ฉันชอบในงานเขียนของ คำ ผกา ก็คือการเคารพเพศตัวเอง ภูมิใจในความเป็นสตรี รู้เท่ารู้ทันอำนาจของเพศ แต่ไม่ตั้งแง่โกรธเคืองเห็นผู้ชายเป็นหมาไปเสียถ้วนหน้า
เพราะแนวคิดเช่นนั้น นอกจากฉันจะรู้สึกว่าไม่เป็นเฟมินิสต์ ไม่เป็นนักสิทธิสตรี (เหมือนที่น่าจะเป็น) แล้ว ยังทำให้น่าสงสัยเสียด้วยว่าคนคิดต้องมีปมพลาดหวังเกี่ยวกับผู้ชายในชีวิตเป็นแน่
ถึงได้ตีเหมาว่าเพศตรงข้ามเป็นเช่นนั้นไปเสียหมด
อีกอย่างก็คือ การชำแหละ แหวะ เปิด โครงสร้างหลายๆ โครง ชนิดที่ว่า ถ้าใครใจแคบคงต้องกรีดร้องออกมาแล้วเอาหน้ากระดาษที่พิมพ์คอลัมน์ เธอไปเผาเสียทันที ซึ่งคนที่ฉันรู้จักก็มีหลายๆ คนที่รับคำ ผกาไม่ได้เลยเช่นกัน
ก็เป็นเสียอย่างนี้ ขวัญอ่อนร้องหวีดกันตั้งแต่ยังไม่ทันจับใจความ
ฉันก็ยังเคยบอกผู้จิตอ่อนเหล่านั้นไปว่า ก็เพราะไม่มีใครสนใจจะชำแหละ แหวะ หรือตั้งคำถามนี่ล่ะ ถึงได้มีคนทำอะไรประหลาดๆ กับสังคมได้สบายๆ เพราะเชื่อว่าไม่มีใครหน้าไหนมัน กล้ามาเอะใจสงสัยอย่างแน่นอน กลายเป็นว่าความสุภาพหรือการยอมรับของเรานั้นเปิดช่องทางให้ผู้หาประโยชน์เข้าตัวเองสบายใจกันไป
ครั้น ฉันอธิบายแบบนี้ ก็จะมีคนเถียงขึ้นมาอีกว่า, แล้วทำไมจะต้องใช้ภาษาดุเดือดโดดเด่นเน้นอวัยวะและอารมณ์ขนาดนั้น เป็นนักเขียนควรเลือกใช้ภาษาสวยๆ ได้สิ
เออ มันก็ได้อยู่หรอก แต่นักเขียนนั้นก็คนธรรมดา
สิ่งที่เราตั้งข้อสงสัยกับสังคมก็เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนๆ กับที่ชาวบ้านร้าน ตลาดทั่วไปเขาสงสัยกัน
แล้วทำไมจะพูดจา ใช้ภาษาอย่างบ้านๆ ไม่ได้
เพราะถึงภาษาจะไพร่ ก็คิดเองได้นะคะ !
* * * * * * * * * * * * * * *
*ข้อความจากหนังสือ " ก็ไพร่นี่คะ ! " เขียนโดย คำ ผกา ฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2553 โดย สำนักพิมพ์อ่าน
+++
การเดินทางเที่ยวสุดท้ายของเรือปีศาจ
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1565 หน้า 79
-รำพึงรำพันของอินทิรา ขณะเธอเหม่อมองดูสายฝนที่กำลังตกในนิวเดลลี-
1.
ฉันไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน
ฟ้านั้นยังแจ่มกระจ่างจ้า แต่กลับมีลมรุนแรงที่พัดหมุนเวียนเป็นวงกลมนั้นหอบเอาเศษกระดาษและฝุ่นผงตามตัวมันมาก่อนจะพบเหยื่อชิ้นใหม่ที่น่าสนใจกว่าเช่นผ้าปูโต๊ะสีชมพูอ่อนจางเนื้อแน่นข้างนอกนั่น มันคายกระดาษหนังสือพิมพ์ทิ้งอย่างไม่ไยดีเหมือนคู่รักที่หมดความผูกพันกันแล้วอย่างสิ้นเชิง ก่อนลดลงไปหอบเอาผ้าปูโต๊ะนั่นมาโอบกอดต่อผ้าปูโต๊ะกับสายลมเต้นระบำร่วมกัน ต้นไม้โอนเอนค้อมลู่ เหมือนกำลังบรรเลงดนตรี จากนั้นสายฝนก็กระหน่ำลงมา
"แล้วฝนมันก็เทลงมาล่ะทีนี้ ท้องฟ้ากลับกลายเป็นมวลสารบ้าอะไรอย่างหนึ่งของมันไปได้อย่างไรก็ไม่รู้ ซึ่งยืดหยุ่นและกระพือกระเพื่อมได้ยังกะวุ้นสีทึมเทาจัด โบกโบยพึ่บๆ พั่บๆ อยู่เหนือหัวเราขึ้นไปสักชั่วแขนเดียวเท่านั้นเอง"
2.
"ฝนตกสม่ำเสมอเรื่อยมาอีกตลอดทั้งบ่าย หลั่งเทลงมาอย่างเงียบเชียบและเป็นงานเป็นการ ในความเงียบสงบและเป็นงานเป็นการของมันนั้น เราแทบจะได้ยินไปว่ามีกระแสธาระถะถั่งฉาดฉานลงมาเรื่อยไปทีเดียว เหมือนอย่างเวลาที่นั่งรถไฟไปไกลลิบโลก แล้วอ้ายเสียงรถไฟมันก็ดังมาให้ได้ยินอยู่ตลอดเวลานั่นล่ะ..."
นิว เดลลี กำลังเปลี่ยนเสื้อผ้าขนานใหญ่ เหมือนหญิงสาวที่กำลังจะได้ออกงานเปิดตัวครั้งแรก
เธอบีบตัว กดหน้าท้องเพื่อรัดทรงให้สวยสง่า นิว เดลี ก็ทุบตึกและสร้างนั่งร้านขึ้นโครงระเกะระกะตา
เธอวุ่นวายกับการทำผมให้เรียบร้อย นิว เดลี ก็รื้อหลังคาออกมาเป็นชิ้นๆ
เธอค่อยๆ แต่งหน้าช้าๆ อย่างประณีต นิว เดลี ก็ทาสีใหม่
เธอแต่งกายงดงาม นิว เดลี ก็ห่มคลุมเมืองด้วยป้ายโฆษณาและผ้าใบคลุมตึก
อาจต่างกันเพียงนิด ที่หญิงสาวมักเขินอายและไม่มั่นใจในการเตรียมตัวก่อนออกสู่โลก แต่ นิว เดลลี เปิดเผยตัวตนท้าทายสายตาใครต่อใครโดยไม่รู้สึกผิด ถลกตัวเองเปลื้องเปลือยให้เห็นว่าข้างใต้ถนน ในตรอกซอกซอยนั้นซุกซ่อนสิ่งใดเอาไว้บ้าง
3.
"ก็ตอนนั้นเอง เป็นเวลาที่ข่าวสารจากภายนอกได้แพร่เข้ามาถึงเรา ไม่มีใครนำมันมาหรอก มันมาของมันเอง กระจ่างชัด มีลักษณะเฉพาะตัวโดดเด่น ถูกนำพามาโดยกระแสน้ำโคลนสีดำที่ไหลหลากมาตามถนน ซึ่งลากเอาข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนติดมาด้วยนั่นเอง ชิ้นแล้วชิ้นเล่า เศษสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของหายนภัยในที่ไกล รวมทั้งขยะมูลฝอยต่างๆ นานา และซากสัตว์ตายประดามี เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ เมื่อฝนยังเป็นแต่เพียงการป่าวประกาศการมาถึงของฤดูกาล..."
ขอทานข้างถนนเปลี่ยนกระดาษปูนอนจากหนังสือพิมพ์ภาษาฮินดี เป็นไทมส์ภาคภาษาอังกฤษ สายตาเขาก้มลงมองน้ำฝนค้างพื้นถนนที่ค่อยๆ ซึมเข้าไปในที่นอนของเขา-ก็กระดาษหนังสือพิมพ์บางๆ นั่นล่ะ-ก่อนจะปูกระดาษทับอีกชั้น เพื่อรอให้น้ำซึมเข้ามาอีกจะได้วางหนังสือพิมพ์ทับลงไปเรื่อยๆ
เขาไม่เคยรีบร้อน หรือคิดอีกที, เขาไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน
เพราะระหว่างนั้น เขาก็กวาดสายตาดูข่าวบนหน้ากระดาษไปด้วย เขาอมยิ้มดูสนุกสนาน ไม่มีใครรู้ว่าเขาสนุกกับข่าวหรือสนุกกับสิ่งต่างๆ ในชีวิต
เขาไม่สูบบุหรี่-เปล่า-ใช่ว่าห่วงสุขภาพ เพราะเขายังเคี้ยวยาเส้น หากเป็นเพราะบุหรี่นิวเดลีนั้นแพงกว่าข้าวหนึ่งมื้อ
เขาไม่กินเหล้า-เปล่า-ใช่ว่าไม่มีเงิน เพราะเขายังเรียกความคึกครึ้มใจได้ด้วยหมากที่ขายเกลื่อนกลาดริมถนน หากเป็นเพราะความเชื่อทางศาสนา เขาจึงไม่ดื่ม
เขาดูสุขสบายดี และอาจกำลังคิดสมเพชเรา, นักท่องเที่ยวผู้ร่อนเร่กะเร้อกะรังมาจากเมืองไกล การสบตากับพวกเขานานเกินไป อาจทำให้คุณรู้สึกขึ้นมาว่าชีวิตคุณนั้นไม่ได้น่าอิจฉาอย่างที่เคยเข้าใจ คุณอาจมั่งมี แต่การมีของคุณก็ซื้อสิ่งที่เขามีไม่ได้
นั่นคือ เวลาที่มีเหลือเฟือและความสบายใจในชีวิต
4.
ฝนยังตกอยู่ที่ข้างนอกนั่น แต่พระอาทิตย์ก็สาดแสงส่อง ลมอ่อนแรงลงไปมากแล้ว ผ้าปูโต๊ะสีชมพูทิ้งตัวลงแนบพื้นเปียกเหมือนดอกไม้ฟกช้ำ
เราอาจจะเขียนถึงเรื่องราวของเมืองเมืองหนึ่งได้มากมายร้อยแปด แต่เราไม่สามารถจะอธิบายถึงจิตวิญญาณของมันได้
สิ่งที่ทำให้เราลุ่มหลงนั้น อาจไม่ใช่ความดีพร้อมสมบูรณ์แบบ แต่เป็นความแหว่งวิ่นขาดไร้ เพราะความไม่สมบูรณ์แบบนั้นจับต้องได้ง่ายและเข้าใจได้จริง ด้วยว่าเราทุกคนก็ต่างเป็นผู้ไม่สมบูรณ์แบบกันทั้งนั้น นิว เดลี จึงไม่ข่มเราให้เล็กจ้อยเหมือนเมืองอื่นๆ ในโลก แต่มันเดินไปข้างๆ เรา พร้อมกับหันมาสบตาขอความเห็นใจในความไม่สมบูรณ์แบบของมัน
เมื่อเรากลับมาถึงบ้าน เราจะเอา นิว เดลี ติดตัวมาด้วยและจำต้องขัดถูมันออก
แต่เพียงอีกไม่นาน
เราก็จะเริ่มคิดถึงมัน
* * * * * * * * * * * * * * *
* แรงบันดาลใจและข้อความตัวเอนจากเรื่องสั้น "รำพึงรำพันของอิซาเบล ขณะเธอเหม่อมองดูสายฝนที่กำลังตกในมาคอนโด" จากหนังสือรวมเรื่องสั้น "การเดินทางเที่ยวสุดท้ายของเรือปีศาจ" เขียนโดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม 2553
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
www.youtube.com/watch?v=ZzDm2vMHabE
Maroon 5 - She Will Be Loved (Boyce Avenue feat. Tiffany Alvord acoustic cover) on iTunes
.