http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-25

สนนท. :จาก'อากง'-รัฐควรยกเลิก ม.112, แพะเป็นจำเลยบริสุทธิ์ เพราะศาลเชื่อหลักฐานนี้ไปแล้ว !?

.
-โพสต์เพิ่ม " ข้อเสนอเกี่ยวกับการวางท่าทีต่อกรณีของ 'อากง SMS' สำหรับคนที่รักในหลวงทุกคน โดย ฟ้าใหม่ แก้วรัตนปัทมา "
- เตือน บัญญัติแห่งความตายของคนไทย "ะวังอย่าเผลอวางมือถือ หรือ ให้คนยืม หรือใช้แอคเคาน์อินเตอร์เนต เผลอๆ อาจจะติดคุก 20 ปี "

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -



ที่หน้าเวบไซต์ ประชาไท ขึ้น Quote of the Day
"
สังคมที่มีความเจริญทางจิตใจสูงขึ้นมา กว่าระดับพื้นๆ ของสัตว์เดรัจฉาน ไม่จำคุกคน 10-20 ปี เพียงเพราะ "คำ"
ข้ออ้างที่ว่า เพราะ "คำ" เหล่านั้น ทำร้าย "ความรู้สึก" ของ "คนส่วนใหญ่" [?]
ก็ต้องถามว่า "ความรู้สึก" ดังกล่าว จะมีคุณค่าอะไร ถ้าต้องใช้วิธีป่าเถื่อนเช่นนี้มาคอยปกป้องรักษาไว้ ? "
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากเฟซบุ๊ก

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


สนนท. แถลงกรณี 'อากง' ชี้รัฐควรยกเลิกมาตรา 112
ในเวบไซต์ ประชาไท
Thu, 2011-11-24 20:08


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ออกแถลงการณ์เนื่องในกรณีการตัดสินคดี 'อากง' ส่ง SMS ชี้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่เป็นประชาธิปไตย แนะควรแก้ไขหรือยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าว

สืบเนื่องจากกรณีการตัดสินคดีของอำพล (สงวนนามสกุล) ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเนื่องในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จึงได้ออกแถลงการณ์ว่าด้วยกรณีดังกล่าว โดยชี้ว่าการตัดสินดังกล่าวมีปัญหา เนื่องจากมีความคลุมเครือในการใช้พยานหลักฐาน ประกอบกับความไม่เป็นประชาธิปไตยของตัวบทกฎหมายของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีหลักพิจารณาและมีโทษสูงเกินความจำเป็น สนนท. จึงได้เรียกร้องให้ทำการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวด้วย


แถลงการณ์การตัดสินคดี ลุง sms มีความผิดหมิ่นสถาบันฯ จำคุก 20 ปี

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ศาลเทเลคอนเฟอร์เรนซ์อ่านคำพิพากษานายอำพล(สงวนนามสกุล) หรืออากงฐานส่งข้อความทางโทรศัพท์หรือ SMS อันอาจเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทั้งหมด 4 ครั้ง ผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) และ (3) ลงโทษกรรมละ 5 ปีรวมจำคุก 20 ปี

ซึ่งการตัดสินคดีดังกล่าวมีปัญหา 2 ประเด็น โดยในประเด็นแรกคือปัญหาในด้านการตัดสินของศาลและประเด็นสำคัญคือปัญหาของประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 โดยจะอธิบายอย่างชัดเจนดังต่อไปนี้

ปัญหาในด้านการตัดสินของศาลที่มีความไม่ชัดเจนและยังคงคลุมเครือ ดั่งสำนวนส่วนหนึ่งในคำพิพากษาคดีที่ว่า "..แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน.."

จากส่วนสำนวนคำตัดสินคดีข้างต้นดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแม้แต่ศาลยังยอมรับเองว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ซึ่งทุกคนล้วนรู้ดีว่าหลักพื้นฐานคดีอาญาคือการพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ถ้าทำไม่ได้ต้องยกให้เป็นประโยชน์ของจำเลย แต่สิ่งที่ศาลได้กระทำคือการตัดสินคดีที่ไร้หลักฐานที่เพียงพอ เพียงเพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือการจับขังนายอำพล แม้วิธีการจะไร้ซึ่งความชอบธรรมก็ตาม

ส่วนปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นตัวบทกฎหมายที่ใช้อ้างอิงสาระสำคัญหลักในคดีนี้จะพบว่าผิดทั้งที่มาและความชอบธรรม ด้วยด้านที่มากฏหมายมาตราดังกล่าวมิได้มีความยึดโยงกับประชาชนของรัฐแม้แต่น้อยซึ่งผิดตามหลักนิติรัฐ-นิติธรรมดั่งอารยประเทศที่มีที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับมีฐานที่มาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการรัฐประหารทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยแม้แต่น้อย ส่วนในด้านความชอบธรรมกฏหมายสองฉบับดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อปิดปากผู้ที่คิดแตกต่างจากรัฐเท่านั้นซึ่งผิดตามหลักสิทธิเสรีภาพพลเมืองเท่าที่ควร

การวิจารณ์เป็นส่วนหนึ่งของหลักสิทธิเสรีภาพซึ่งตั้งอยู่บนหลักของประชาธิปไตย ซึ่งการวิจารณ์ดังกล่าวต้องตั้งอยู่โดยเจตนาสุจริต มิได้เป็นการโจมตีหรือใช้ความเท็จทำให้เสื่อมเสียย่อมไม่สมควรโดนตั้งข้อหาเหมือนอาชญากร แต่หากการวิจารณ์นั้นทำไปโดยการจงใจให้เสื่อมเสียโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จ ก็สมควรได้รับโทษตามแบบโทษหมิ่นประมาททั่วไปไม่ใช่โทษอาชญากรเช่นเดียวกับโทษของประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ส่วนในด้านโทษของคดีดังกล่าวถือได้ว่าร้ายแรงเทียบเท่ากับคดีฆาตกรรมก็ว่าได้ เนื่องด้วยโทษจำคุกมากถึง 20 ปี ถือกันว่าเอากันตายเลยทีเดียว และเพียงการส่งข้อความทางโทรศัพท์หรือ sms ดังกล่าว ใครอาจส่งก็ได้ เช่น เพื่อน พ่อแม่และคนอื่นๆ ดังนั้นแล้วความชัดเจนของการตัดสินที่ยังคงคลุมเครือ

จากการตัดสินคดีดังกล่าว เราในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขอคัดค้านและขอประนามการกระทำดังกล่าวที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและหลักนิติรัฐ-นิติธรรม และมีข้อเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดังต่อไปนี้

1. ควรมีการพิจารณาตัดสินคดีที่มีความชัดเจนและไร้คลุมเครือ เช่น หลักฐานที่ใช้ประกอบคำตัดสิน เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีต่อไป เพราะจากคดีดังกล่าวที่มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครืออันจะนำไปสู่บรรทัดฐานที่ผิดในทางตุลาการไทย

2. จากโทษที่ใช้ในการตัดสินดังกล่าวเปรียบเสมือนดคีฆาตกรรมซึ่งมีความร้ายแรง ปรากฎจากศาลสั่งจำคุก 20 ปี ซึ่งเปรียบได้กับอีกครึ่งชีวิตที่ควรอยู่ ดังนั้นควรพิจารณาตัวบทกฏหมายใหม่และลดโทษในกฏหมายอื่นๆเพื่อเป็นแบบอย่างของประเทศที่เจริญในด้านการตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความศิวิไลซ์ของรัฐ

3. ควรยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเป็นมาตราที่มีปัญหาทั้งด้านที่มา ความชอบธรรม และการนำไปใช้ เพราะสามารถถูกนำไปใช้ทุกสถานการณ์ สามารถนำไปใช้กับศัตรูได้และการอ้างที่สามารถฟ้องโดยใครก็ได้ ทั้งที่หลักฐานประจักษ์พยานไม่เพียงพอก็สามารถฟ้องได้ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้จากวงการตุลาการไทยเลยแม้แต่น้อย

จากแถลงการณ์และข้อเสนอดังกล่าวจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคงตระหนักถึงความไม่สมบูรณ์ของวงการตุลาการซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และขอเป็นกำลังใจให้นายอำพลยืนหยัดสู้ต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
24 พฤศจิกายน 2554



++

ตั้งหัวเรื่องเป็น ..แพะเป็นจำเลยบริสุทธิ์ เพราะศาลเชื่อหลักฐานนี้ไปแล้ว !?
จากชื่อต้นฉบับ ; IMEI และอากงอำพล: หลักฐานที่ยืนยันความบริสุทธิ์ กลับถูกใช้ปรักปรำว่ามีความผิด
โดย TGS ในเวบไซต์ ประชาไท
Fri, 2011-11-25 02:20


เห็นหลายคนเอาไปแชร์ต่อ [กรณีอำพล หรือ 'อากง' ต้องโทษ 20 ปี - ประชาไท] แล้วมีบางคนต่อว่าทนายฝ่ายจำเลย เลยขอมาแก้ต่างแทนทนายฝ่ายจำเลยหน่อย

1. เรื่อง Check Digit ทนายฝ่ายจำเลยมีการแจ้งต่อศาลแล้ว และศาลก็ยังลองไปคำนวน IMEI ของมือถือตัวเองด้วย (27 กันยายน 2554)

1.1 ทาง DTAC อ้างว่าตนใช้มาตรฐานการเก็บหมายเลข IMEI แบบก่อนปี 2003 คือ ส่ง Check digit เป็นค่า 0 แทนที่จะเป็นค่าจริง

1.2 ทาง TRUE พบว่า Check Digit ในระบบมีทั้งเลข 0 และ เลข 2 ซึ่งค่า Check Digit ควรจะเป็น 0 เท่านั้น ซึ่งก็ทำให้ไม่ทราบว่า TRUE ใช้มาตรฐานในการเก็บหมายเลข IMEI แบบไหนกันแน่

2. ประเด็นเรื่องที่ว่าการแก้ไข ปลอมแปลง IMEI ได้มีการแจ้งต่อศาลแล้ว ให้การโดย คุณ พูนสุข [ทนายจำเลย] วันที่ 30 กันยายน 2554 เวลา 10.10 น. อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้ไขเลขอีมี่นี้ ศาลไม่ได้ทำการบันทึก เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

2.1 IMEI ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ เนื่องจากหมายเลข IMEI นั้น ไม่ใช่ Unique Number มีมือถือหลายเครื่องที่มี IMEI ซ้ำกันได้ ทั้งซ้ำกันมาตั้งแต่โรงงาน และซ้ำกันเพราะมาแก้ไข IMEI เองในภายหลัง (http://www.techcular.com/checking-mobile-phone-imei-number-is-original-and-valid/)

========

พอดีได้อ่านใน prachathai (http://prachatai.com/journal/2011/11/37991)

มีตอนนึงพูดถึงเรื่อง IMEI ครับ เมื่อผมไปตรวจสอบแล้วพบว่า คดีนี้หลักฐานชี้ชัดว่าอากงถูกใส่ร้ายชัดๆ แต่ศาลก็ตัดสินว่า อากงเป็นคนผิด

"สำหรับประเด็น สำคัญในคดีที่จำเลยตั้งประเด็นว่า หมายเลขอีมี่ หรือรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์อาจถูกปลอมแปลงได้นั้น จำเลยไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ส่วนประเด็นที่ว่า เอกสารในสำนวนฟ้องที่หมายเลขอีมี่หลักที่ 15 ไม่ตรงกับหมายเลขอีมี่ในเครื่องโทรศัพท์ คือในเอกสารบางจุดแสดงว่าเป็นเลข 0 บางจุดแสดงว่าเป็นเลข 2 ขณะที่ในเครื่องโทรศัพท์จริงๆ เป็นเลข 6 ศาลวิเคราะห์ว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญ ตาม ที่พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา จากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เบิกความและได้พิสูจน์ด้วยการใช้เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบเลขอีมี่แสดงให้เห็น ในศาลแล้วว่า เมื่อพิมพ์รหัส 14 หลักแรกตามด้วยรหัสสุดท้ายหมายเลข 6 จะปรากฏข้อมูลว่าเป็นเครื่องโทรศัพท์ยี่ห้อโมโตโรล่า ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับโทรศัพท์ของกลาง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเลข 0-5 และ 7-9 ทั้งที่ควรปรากฏว่าเป็นเครื่องรุ่นอื่น แต่จากการทดสอบในเว็บดังกล่าวกลับไม่ปรากฏว่าเป็นรุ่นใดเลย จึงยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่าหมายเลข 14 หลักแรกเท่านั้นที่ใช้ในการระบุตัว ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง"

เพราะเรื่องที่ พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา อ้างว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญนั้น ไม่เป็นความจริง เรื่องนี้ทำให้รู้สึกว่า ถ้าไม่เป็นเพราะระบบตุลาการไทยตามเทคโนโลยีไม่ทัน ก็ใช้ช่องว่างเรื่องความไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีของจำเลยเพื่อปรักปรำผู้บริสุทธิ์ แต่จะเป็นกรณีใดก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่าน


ทำไมนะเหรอครับ ?

หมายเลข IMEI มี 2 แบบ นั่นก็คือ IMEI (14 หลัก) และ IMEI/SV (16 หลัก)

ใน เลข IMEI แบบ 14 หลัก จะมีหลักที่ 15 เป็น optional ซึ่งทำหน้าที่เป็น Checksum โดยใช้ Luhn algorithm กลไกมันก็ง่ายๆ คือ เอา 14 หลักแรกมาบวกกัน โดยหลักคู่จะนำไปคูณ 2 ก่อน บวกได้เท่าไร ให้หาจำนวนที่ไปรวมกับเลขนั้น แล้วทำให้ผลรวมหารด้วย 10 ลงตัว เช่น

ถ้า 14 หลักแรก รวมกันได้ 81 หลักที่ 15 ก็จะเป็นเลข 9

ถ้า 14 หลักแรก รวมกันได้ 45 หลักที่ 15 ก็จะเป็นเลข 5

เพราะ ฉะนั้น มันเป็นไปไม่ได้ที่เลข 14 หลักแรกจะตรงกัน แต่หลักที่ 15 จะไม่ตรง ยกเว้นแต่ว่ามีการปลอม IMEI แล้วคนปลอมลืมแก้หลักที่ 15 ซึ่งเป็น Checksum ให้ตรงกับที่ควรจะเป็นด้วย

ว่าง่ายๆ คือ หลักฐานที่ทนายฝ่ายโจทย์อ้างขึ้นมาในชั้นศาล เรื่อง IMEI ตรงกันแค่ 14 หลักแรก ก็คือ หลักฐานที่บอกว่า อากงบริสุทธิ์นั่นเอง

การที่โทรศัพท์ของกลางมีเลขหลักสุดท้ายเป็น 6 นั่นก็แสดงว่าตัวเลข 14 หลักแรกรวมกันได้ x4 หรือ xx4 เมื่อเป็นอย่างนี้ การกรอกข้อมูลลงในเวปที่ตรวจสอบ IMEI เมื่อใส่เลขหลักสุดท้ายเป็น เลขใดๆ ที่ไม่ใช่เลข 6 นั้น ระบบย่อมต้องไม่สามารถระบุโทรศัพท์ได้ เนื่องจากเมื่อระบบตรวจ Checksum โดยใช้ Luhn algorithm แล้วพบว่าหมายเลข IMEI ผิด นั่นหมายความว่า อาจจะมีข้อมูลผิดพลาดที่จุดใดจุดนึง หรือมากกว่า 1 จุด หรือ อาจจะเป็นหมายเลข IMEI ที่ถูกปลอมขึ้นก็ได้ โดยคนปลอมลืมคำนวน Checksum ใหม่ ซึ่งตามหลักแล้ว คงไม่มีโจรคนไหนปลอม IMEI ให้ชี้มาที่มือถือที่ตัวเองใช้หรอกครับ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า คนที่ส่งข้อความจริงๆ แล้วเป็นคนอื่น แต่ว่าค่า IMEI ที่ระบบบันทึกนั้นผิดพลาด (Data Corrupt) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงการติดต่อสื่อสาร หรือ การบันทึกก็ได้

========

ตัวอย่างของ Luhn Algorithm นะครับ เช่น ถ้า IMEI เป็น 59115420323751
Luhn Algorithm จะ คูณ 2 เลขที่เป็นหลักคู่
5(18)1(2)5(8)2(0)3(4)3(14)5(2)

แล้วค่อยนำมารวมกันเป็น 5+1+8+1+2+5+8+2+0+3+4+3+1+4+5+2 = 54
เพื่อทำให้ 54 หารด้วย 10 ลงตัว ต้องเพิ่มไปอีก 6 เพื่อให้เป็น 54+6 = 60
เพราะฉะนั้น เลข IMEI 15 หลัก คือ 591154203237516

หากเลขหลักสุดท้ายเป็นเลขใดๆ ที่ไม่ใช่หมายเลข 6 นั่น เป็นเลข IMEI ที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่า Checksum ผิดซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะเรื่อง Checksum เนี่ย ถือเป็นความรู้พื้นฐานในวงการ IT เลยครับ แทบจะสอนกันในวิชา Introduction to Information Technology ด้วยซ้ำ

อ้างอิงจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/International_Mobile_Equipment_Identity
http://en.wikipedia.org/wiki/Luhn_algorithm
http://en.wikipedia.org/wiki/Checksum
Tags: บทความ สิทธิมนุษยชน EMEI sms พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
มาตรา 112 อากง อำพล

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เชิญอ่านต้นฉบับและข้อคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2011/11/38017



++

ข้อเสนอเกี่ยวกับการวางท่าทีต่อกรณีของ 'อากง SMS' สำหรับคนที่รักในหลวงทุกคน
โดย ฟ้าใหม่ แก้วรัตนปัทมา เสนอในเวบไซต์ ประชาไท
Thu, 2011-11-24 23:05


ก่อนอื่น-ออกตัว
เพื่อน ๆ ที่รู้จักกันคงเข้าใจเกี่ยวกับจุดยืนของผมที่มีต่อ "ในหลวง" ของเราได้เป็นอย่างดี
>>> ใช่ครับ ผมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่าผมเป็น Royalist (นิยมเจ้าฯ)

สำหรับผม สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่เราคนไทยควรรักและเทิดทูนไว้เหนือสิ่งอื่นใด และประเทศไทยโชคดีมากที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐถึงเพียงนี้ และแม้ว่าจะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีของอากง หรือได้ทำความเข้าใจกับมุมมองของฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม (พวกชอบหมิ่นฯ) ต่อกรณีนี้ หรือกรณีอื่น ๆ มามากแล้วก็ตาม ความรู้สึกของผมที่มี จุดยืนของผมที่มี ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใด (ยังคงมีน้ำเอ่อ ๆ ตรงเบ้าตาทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง)

ย้อนหลัง
สำหรับคนที่ยังไม่ได้รู้เรื่องราวที่ผ่านมาเกี่ยวกับกรณีของ อากง SMS สามารถสรุปได้สั้น ๆ คือเหตุการณ์นี้เป็นกรณีที่ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาจำคุกชายวัย 61 ซึ่งเป็น "อากง" ของหลาน ๆ จำนวน 4 คนเป็นระยะเวลา 20 ปีจากความผิดฐานส่งข้อความสั้น (SMS) ที่มีข้อความในลักษณะหมิ่นเบื้องสูง จำนวน 4 ข้อความ (ข้อความดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยในที่สาธารณะ) เรื่องราวของอากงสามารถดูเพิ่มเติมได้จาก Link ดังต่อไปนี้

http://blogazine.in.th/blogs/groomgrim/post/3310
http://www.prachatai3.info/journal/2011/11/37991

จริง-ไม่จริง / ถูก-ผิด >>> อย่างไรกันแน่
คงจะเป็นเรื่องเกินระดับสติปัญญาของผมที่จะสามารถชี้ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงอย่างไร หรือว่าใครถูก ใครผิด ใครสมควรได้รับคำตำหนิในกรณีดังกล่าวอย่างไรกันแน่สำหรับตัวละครทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น "อากง ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ทนาย หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ....." รวมถึงขอเพิ่มเติมในที่นี้ว่า ผมก็ไม่ได้อ่าน SMS ที่ว่าแต่อย่างใด และก็ไม่สนใจด้วยว่ามันเขียนว่าอะไร เพราะประเด็นที่ผมมองและเห็นว่ามีความสำคัญกว่าเรื่องดังกล่าวมากก็คือ

>>>> วิกฤต และ โอกาส ของสังคมไทยที่เกิดขึ้นตามมาจากกรณีของคดีนี้

หลักคิด
ต่อมุมมองที่เห็นทั้ง "วิกฤต" และ "โอกาส" ผมพยายามรวบรวมความคิดเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานที่เราควรยึดถือและนำมาเป็นกรอบในการคิดและกำหนดท่าทีที่เหมาะสม ดังนี้ (ซึ่งยังไม่ค่อยตกผลึกดีเท่าไหร่นัก)


1) ไม่ฆ่า-ไม่แกงกันดีที่สุด คงจะเป็นเรื่องน่าปวดใจทีเดียวถ้าเรื่องหมิ่นฯ สถาบันฯ จะกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเราต้องลุกขึ้นมาฆ่า-แกงกัน และคงเป็นเรื่องสะใจสำหรับฝ่ายที่ต้องการโจมตีสถาบันฯ ที่สามารถกล่าวอ้างได้ว่า สถาบันฯ เป็นชนวนเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเกลียดชังดังกล่าวขึ้นในสังคมไทย ดังนั้น พวกเราที่ต้องการปกป้องสถาบันต้องคิดกันให้ดีว่า การปกป้องจะสามารถทำอย่างไรที่ไม่เป็นการเติมเชื้อไฟของความขัดแย้ง เพราะยิ่งเราเอาเรื่องความจงรักภักดีมาเป็นประเด็นไล่บี้พวกเขา พวกเขาก็ยิ่งโหนกระแสกระพือความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้นอีก สุดท้ายสถาบันฯ ที่เรารักก็เป็นฝ่ายที่บอบช้ำเสียเอง การปกป้องสถาบันฯ ให้พ้นสถานะจากการเป็นคู่ขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่ดีสุดที่เราควรจะทำเพื่่อธำรงรักษาสิ่งที่เรารักเอาไว้ในระยะยาวตลอดไป ดังนั้น ถึงเราจะอยากปกป้องและหยุดยั้งการจวบจ้วง การโจมตีที่มีต่อสถาบันฯ ที่เกิดขึ้นมากในเวลานี้ เราก็ต้องคำนึงถึง "วิธีการ" ที่รอบคอบ เหมาะสม และยั่งยืนด้วย ซึ่งหมายถึงการมองถึงเป้าหมายการอยู่ร่วมกันได้ของทุกคนในสังคมในระยะยาว


2) จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้อง "เลือกข้าง (take side)" สำหรับกรณีนี้ อยากให้ลองคิดดูนะครับ ถ้าเราสรุปลงไปดื้อๆ เลยว่า "ใครที่ออกมาแสดงความเห็นใจอากง สงสารอากง เป็นพวกโจมตีสถาบันฯ หรือพวกชอบหมิ่นฯ ส่วนถ้าใครมีจุดยืนที่อยากปกป้องสถาบันฯ ต้องไม่เห็นใจอากง ไม่สงสารอากง ต้องบอกว่ากระบวนการยุติธรรมถูกต้องแล้ว" ผมคิดว่าสังคมเราคงจะล้มเหลวมากในการแยกแยะเรื่องของการใช้จุดยืนทางการเมืองในการกำหนดท่าทีต่อเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งอาการล้มเหลวดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั้ง 2 กลุ่มพอ ๆ กัน กล่าวคือ ฝ่ายปกป้องสถาบันฯ ก็สร้างกฏเกณฑ์ที่ตื้นเขินขึ้นมาใช้กำหนดกรอบหรือนิยามคำว่าการปกป้องสถาบันฯ ของพวกเขา เช่น ไม่เอาด้วยทุกประการ ต่อต้านในทุกกรณี ถล่มพวกจาบจ้วงให้จมธรณี ... ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นเรื่องของการใช้ประเด็นสถาบันฯ เป็นบันไดเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองไปซะอย่างนั้น

ส่วนฝ่ายที่โจมตีสถาบันฯ ก็ผูกขาดความสงสารของอากง เอากรณีของอากงมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองของตัวเอง (เหมือนหลาย ๆ กรณีที่ผ่านมา) สร้างกระแสให้สังคมต้องเลือกข้าง (take side) ซึ่งสุดท้ายคนที่ซวยก็คืออากงและครอบครัว ส่วนพวกพี่ ๆ ทั้งหลายนั้นก็ตีกินฟรีไปสบาย สบาย

สุดท้ายการที่เราเอาจุดยืนทางการเมืองไป apply ใช้กับเรื่องต่าง ๆ อย่างไม่แยกแยะ ก็เป็นเรื่องที่โง่เขลาและสร้างความเจ็บปวดให้กับทุกคนในสังคมของเรา ดังนั้น ความคิดของผมก็คือ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนเราก็มีใจเอื้ออาทร เป็นเดือดเป็นร้อน ต่อชะตากรรมของอากงได้เหมือน ๆ กัน และเท่า ๆ กัน เพราะเหตุผลที่ดีก็คือ ยิ่งสังคมเราฉลาดและเรียนรู้ที่จะแยกแยะเรื่องต่าง ๆ ออกจากกันได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสามารถคาดหวังถึงความผาสุขของการอยู่ร่วมกันได้เร็วขึ้นเท่านั้น


3) ไม่ควรปล่อยให้เป็นพระราชภาระ ต่อคำถามที่ว่าแล้วสังคมเราสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้างในกรณีนี้ สิ่งที่ผมคิดออกก็คือสังคมเรา (โดยเฉพาะฝ่ายที่รักสถาบันฯ) ไม่ควรปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นพระราชภาระของพระองค์ท่าน หรือปล่อยให้สถาบันฯ เป็นฝ่ายที่ต้องรับแรงกดดันจากปัญหานี้แต่เพียงฝ่ายเดียว ที่ผ่านมาเราปล่อยให้เรื่องการประคับประคองสังคมให้อยู่ร่วมกันได้ต้องตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายสถาบันฯ มากเกินควร

จริง ๆ แล้วสังคมเราอาจจะยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจอยู่ค่อนข้างมาก เพราะจากที่ผมได้อ่านข้อมูลมาบ้าง การที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในกรณีหนึ่ง ๆ นั้น ควรจะต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง "ทำงาน" กลั่นกรอง เรียบเรียงข้อมูล สอบทาน และถวายความเห็น อย่างเหมาะสมมาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งผมเชื่อได้เลยว่าถ้าสังคมเรามีท่าทีอย่างถูกต้อง และเหมาะสม อย่างน้อยก็ช่วยลดแรงกดดันให้กับคนทำงานเหล่านั้นได้มากทีเดียว การแสดงความเห็นอกเห็นใจ การกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือเยียวยา (ถึงแม้ว่าจะมีความผิดจริงก็ตาม) การยั้งปากที่วิจารณ์หรือโจมตีเกี่ยวกับเรื่องความจงรักภักดี ก็เป็นสิ่งที่สวยงามที่เราสามารถสร้างร่วมกันได้ในเวลานี้


ประเด็นข้อเสนอ
จากที่เรียบเรียงมาข้างต้น ผมจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับทั้ง 2 ฝ่ายต่อกรณีของ "อากง" ดังต่อไปนี้

1) สำหรับฝ่ายปกป้องสถาบัน ขอให้พวกเราก้าวข้ามเงื่อนไขทางการเมืองและให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคนๆ หนึ่งที่มีตัวตนอยู่จริง มีชีวิตอยู่จริงๆ และเขาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมของเรา ช่วยกันระมัดระวังการใช้อคติกระโดดเข้าไปตัดสิน หรือไม่เอาสีไปป้ายหัวใครต่อใครที่จะเข้าไปยื่นมือช่วย ถ้าไม่นิ่งดูดายก็ระดมสรรพกำลังหลายทางมาช่วยกันดูแล เยียวยา และประคองครอบครัวนี้ ถ้าใครมีปัญญาช่วยกันคิดต่อยอดมาตรการช่วยเหลือที่ดีกว่านี้ขอให้ช่วยกันเลยครับ

2) สำหรับฝ่ายไม่ปกป้องสถาบัน ขอให้เปิดใจกว้างและก็ขอให้ตั้งธงหลักอยู่ที่การเร่งช่วยเหลือ "อากง" เป็นลำดับแรก ถ้าท่านไม่ผูกขาดความช่วยเหลือ ไม่หาประโยชน์ทางการเมืองจากกรณีดังกล่าว ท่านย่อมมีโอกาสที่ดีในการใช้กรณีศึกษานี้เสนอแนะต่อสังคมด้วยท่าทีที่เป็นกัลยาณมิตร และสร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมเราพัฒนาสูงขึ้นไปอีกขั้น


ข้อทิ้งท้าย

ช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วย "อากง" ได้ก็คือการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ (เฉพาะราย) แต่ประเด็นก็คือจากวิธีการกลั่นกรองฎีกาที่ปฏิบัติกันอยู่นั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้กลั่นกรองข้อมูลและถวายความเห็นขึ้นไปเป็นลำดับ ซึ่งผู้มีสิทธิ์ถวายฎีกา คือตัวผู้ที่ประสบปัญหา หรือญาติมิตรที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น คนอื่น ๆ ก็ไม่ควรไปร่วมลงชื่อในฎีกาเพราะจะทำให้ต้องเสียเวลากลั่นกรองตรวจสอบรายชื่ออีกด้วย (เห็นได้จากตอนที่เสื้อแดงรวบรวมรายชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับทักกี้) แต่ควรส่งเป็นหนังสือแสดงความเข้าใจในสถานการณ์และแสดงท่าทีในการสนับสนุนการพระราชทานอภัยโทษด้วยความเคารพต่อความคิดเห็น (ไม่กดดัน) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักราชเลขาธิการ จะเป็นประโยชน์มากกว่า

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เชิญอ่านต้นฉบับและข้อคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2011/11/38015
ตัวอย่าง เช่น

Submitted by Boydkc (visitor) on Fri, 2011-11-25 00:00.

แม้ผมจะไม่ได้เป็น Royalist แต่ก็อยากเห็นคนเป็น Royalist แบบนี้ ที่มองภาพรวมของการเอาสถาบันกษัตริย์มาฟาดฟันกันทางการเมือง และมองขาดว่ายิ่งใช้ความกลัวไปข่มขู่คนอื่นให้เห็นด้วยกับ Royalist ยิ่งเป็นการทำลายสถาบันกษัตริย์โดยไม่รู้ตัว

สิ่งที่ Royalist ควรหันกลับไปมองในประวัติศาสตร์ก็คือ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มักจะเปิดใจรับฟังความเห็นรอบข้าง เพราะเขาเหล่านั้นใช้ความเห็นต่างๆ เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่าตัวเองมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร ซึ่งแน่นอนกระจกนั้นมันมีทั้งกระจกที่ลวงตา และกระจกที่ให้ภาพจริง แต่หากท่านไม่เคยคิดแม้กระทั่งส่องกระจก แล้วจะรู้หรือว่าสภาพตัวเองในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร

สิ่งที่ Royalist มากมาย (ผมบอกไม่ได้ว่าส่วนใหญ่หรือไม่เพราะไม่เคยมีใครไปทำสำรวจหรือให้ลงมติ) ทำพลาดก็คือ การยกกระจกที่สะท้อนอีกมุมหนึ่งออกไปไม่ให้สถาบันกษัตริย์ได้ใช้ตรวจสอบ แถมทำไปโดยไม่รู้ตัวคือยกแต่กระจกที่สะท้อนแต่ด้านดีไปไว้รอบตัวสถาบันกษัตริย์ ทำไปทำมา Royalist เหล่านั้นกลายเป็นผู้ทำร้ายสถาบันกษัตริย์ซะเอง

ผมอยากจะยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ให้ฟังสองเรื่อง

เรื่องแรก หากใครเคยอ่านประวัติศาสตร์จีนต้องเคยได้รู้จัก ถังไท่จงมหาราช ซึ่งนักประวัติศาสตร์จีนยกให้เป็นมหาราชที่มีผลงานยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน มีเหตุผลข้อหนึ่งที่พระองค์สมควรได้รับการยกย่องเช่นนี้ เพราะพระองค์เป็นนักฟังที่ดี พระองค์มีขุนนางนักขัดพระทัย ซึ่งเป็นศัตรูที่เคยคิดกำจัดพระองค์มาก่อน เช่น เว่ยเจิง พระองค์ไว้พระทัยแต่งตั้งเป็นขุนนางใหญ่มีหน้าที่คอยถวายคำทัดทาน ซึ่งอยากให้ลองนึกภาพว่ากษัตริย์ในสมัยก่อนมีอำนาจล้นมือจะฆ่าจะแกงใครอย่างไรก็ทำได้ แต่พระองค์ต้องมาทนฟังคำทัดทานของเว่ยเจิง (ซึ่งในประวัติศาสตร์เว่ยเจิงก็เป็นคนค้านแหลกด้วยถ้อยคำที่เสียดสีรุนแรง แต่ประกอบด้วยเหตุผลและบริสุทธิ์ใจ)

ด้วยความสามารถในการรับฟังของถังไท่จงมหาราช ทำให้พระองค์ได้ทรงเห็นภาพรอบด้าน แทนที่จะเห็นแต่ภาพสวยหรูที่ใครๆ ก็ป้อยอถวายให้ เป็นผลให้ผลงานของพระองค์โดดเด่นกว่ากษัตริย์องค์ใดๆของจีน

วันที่เว่ยเจิงเสียชีวิต พระองค์ทรงเสียพระทัยขนาดตรัสว่า "ฉันเสียกระจกวิเศษไปอีกบานหนึ่งแล้ว" ซึ่งก็เป็นจริงตามที่พระองค์ตรัสไว้ สิ้นเว่ยเจิงที่คอยสะท้อนภาพลักษณ์อีกมุมหนึ่งให้ถังไท่จง ก็เหลือแต่กระจกที่สะท้อนแต่ด้านดี ทำให้การตรัสสินพระทัยในช่วงท้ายรัชกาลผิดเพี้ยนไป ทั้งเรื่องสงครามที่ไปตีเกาหลีซี่งได้ไม่คุ้มเสีย การแต่งตั้งรัชทายาท ที่ได้กษัตริย์ไม่ได้ความ เนื่องจากพระองค์ต้องยอมตามคำปรึกษาของเหล่าขุนนาง (แน่นอนว่าเขาต้องเลือกรัชทายาทที่ไม่เอาไหนอยู่แล้ว เพื่อง่ายต่อการควบคุม) ช่วงท้ายชีวิตของพระองค์นั้นจบแบบช้ำๆ แม้จะสิ้นพระชนม์เองไม่ได้โดนปลงพระชนม์ แต่ผลงานเมื่อเทียบกับตอนเว่ยเจิงยังอยู่ ก็ต่างกันราวฟ้ากับดิน

เรื่องที่สองเป็นเรื่องของ อดีตประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ของอเมริกา จอร์จ วอชิงตันก่อนจะมาเป็นประธานาธิบดี เคยได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพสหพันธรัฐอเมริกามาก่อนในสงครามประกาศเอกราช แม้ในประวัติศาสตร์ จอร์จ วอชิงตัน จะได้รับเกียรติอย่างสูงในฐานะหนึ่งในกลุ่มผู้ประกาศอิสราภาพให้อเมริกา แต่ผลงานในการรบนั้นอยู่ในระดับที่ย่ำแย่ เพราะรบแพ้มากกว่าชนะ หากเทียบสถิติแล้วจะต้องเป็นฝ่ายถอยเป็นส่วนใหญ่

แต่เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จอร์จ วอชิงตัน เป็นแม่ทัพที่ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากผู้ใต้บังคับบัญชา เหตุผลเพราะตัวเขาเป็นผู้ฟังที่ดี ก่อนที่เขาจะตัดสินใจจะต้องฟังความเห็นจากผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วหลายครั้งเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอความเห็นที่ดีกว่าตน ตัวเขาก็พร้อมที่จะยอมรับและทำตามความเห็นนั้น ยังผลให้แม้จะแพ้ศึกแต่สุดท้ายตัวเขาและกองทัพสหพันธรัฐอเมริกาก็ชนะสงครามประกาศเอกราช

ตัวอย่างที่ยกมานี้อยากให้ Royalist เอาเก็บไปคิดว่า ตัวท่านทั้งหลายกำลังปกป้องสิ่งที่ท่านเทิดทูน หรือท่านกำลังทำร้ายสิ่งนั้นโดยไม่รู้ตัว ผมไม่ได้เสนอว่าให้ยกเลิก ม. 112 แล้วจะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างสาดเสียเทเสียอย่างไรก็ได้ เพราะคนเรามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน เราก็ควรเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นของคนอื่น (รวมทั้งบุคคลในสถาบันกษัตริย์ด้วย) แต่โทษในการป้องกันการกระทำที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นควรจะลดลงมาให้เท่าๆกับที่บุคคลทั่วไปได้รับ แล้วเปิดโอกาสให้การเสนอความเห็นที่เป็นไปโดยสุจริตและเคารพสิทธิความเป็นคนได้ส่งไปถึงสถาบันกษัตริย์ เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันได้เห็นภาพความจริง ความรู้สึกจริงๆ ของคนในสังคม ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะทำให้สถาบันปรับเปลี่ยนไปตามการยอมรับของสังคมที่ควรจะเป็น นั่นต่างหากเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์ไทยให้คงอยู่กับประเทศไทย

การใช้กฏหมาย ม.112 อย่างรุนแรงและเกินกว่าเหตุ (โดยการตีความว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมันคนละเรื่อง) ก็เหมือนการขับรถบนทางด่วนโดยเอากระจกมองข้าง และกระจกมองข้างหลังออก ท่านจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ท่านจะขับรถให้ถึงที่หมายโดยไม่ประสบอุบัติเหตุ?

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ฯลฯ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

โพสต์เตือน บัญญัติแห่งความตายของคนไทย " ระวังอย่าเผลอวางมือถือ หรือ ให้คนยืม หรือใช้แอคเคาน์อินเตอร์เนต เผลอๆ อาจจะติดคุก 20 ปี "

มีคำเตือน ใน http://www.tci.or.th/newshot_detail.php?id=234#newsevent
กสทช. เตือนผู้ใช้มือถือระวัง ซ้ำรอยคดี “อากงเอสเอ็มเอส”

และอ่านกระทู้ที่ติดตามความอัปลักษณ์ของคดีนี้
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11379583/P11379583.html
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11382449/P11382449.html

www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11379386/P11379386.html
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11378055/P11378055.html

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ระวังอย่าเผลอวางมือถือ หรือ ให้คนยืมเล่น เผลอๆ อาจจะติดคุก 20 ปี
โดย webkit จาก www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11377924/P11377924.html


ระวังอย่าเผลอวางมือถือ หรือ ให้คนยืมเล่น เผลอๆ อาจจะติดคุก 20 ปี
แบบที่ อากง เพิ่งโดนตัดสินไปเมื่อวันก่อน
http://news.voicetv.co.th/thailand/24053.html

แม้กระทั่งไม่มีหลักฐานชัดเจน หรือ พยาน ก็ยังสามารถลงโทษได้ถึง 20 ปี SMS ครั้งละ 5 ปี
โดยศาลไม่สงสัยเลยว่า อากง รู้เบอร์ เลขานายอภิสิทธิ์ได้ยังไง
ศาลแค่ใช้หลักฐานว่าส่ง SMS มาจากเบอร์ของใครคนนั้นก็ซวยไป แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนส่งจริงก็ตาม

ถ้าคุณลืมวางมือถือไว้ มีคนแกล้งส่ง SMS หมิ่นในหลวง ไปหา นายอภิสิทธิ์ ก็อาจจะซวยแบบ อากง คนนี้
ดังนั้นอย่าหลงวาง อย่าให้ใครยืม และถ้าเอามือถือไปซ่อมก็อย่าลืมเอาซิมออกด้วย

คุณเปิด Facebook หรือ Pantip ไว้แล้วลืม Logout
มีคนใช้ account ของคุณ ไป post ข้อความหมิ่น คุณก็ซวย
ตามบรรทัดฐานนี้ ศาลไม่สนใจ ศาลถือว่า จำเลยต้องหาทางปกปิดอยู่แล้ว
ดังนั้น ถ้ามีหลักฐานว่ามาจาก account ของใคร คนนั้นก็ซวยไป

ดังนั้นฝากเตือนเพื่อนๆ ทุกคนมีสิทธิ์โดนแบบอากงหมด
ถ้ามี SMS หมิ่นออกจากมือถือเรา หรือ จาก facebook ของเรา
1 ครั้ง ก็ 5 ปี ถ้า 10 ครั้ง ก็คง 50 ปี

จากคุณ : webkit [FriendFlock] [Bloggang] www.bloggang.com/mainblog.php?id=webkit
เขียนเมื่อ : 25 พ.ย. 54 01:17:14 A:223.206.219.97 X:



.