http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-07

อนาคต...อย่าฝากไว้กับคันดิน, ..ศรัทธาที่เหือดหาย, ความเชื่อและความจริง: โดย มุกดา,เทศมองไทย,นิ้วกลม

.

มีโพสต์หลังบทความหลัก คือ "วิกฤตน้ำท่วม 2554" กลยุทธ์ในการรับมือ และสร้างโอกาสยิ่งใหญ่ให้ชีวิต โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

รู้สู้ flood ep.6 : ตุนอย่างมีสติ
http://www.youtube.com/watch?v=28h5i7Dz0bc


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


อนาคต...อย่าฝากไว้กับคันดินและกระสอบทราย วันนี้...อยู่ให้ได้ในสายธาร
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1629 หน้า 20


คําแนะนำที่มากับกระแสน้ำ...สำหรับประชาชน และรัฐบาล

2 เดือนที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าไม่มีคันดินและกระสอบทรายเมืองไหน นิคมอุตสาหกรรมใด จะต้านกระแสน้ำได้ แม้แต่ของสนามบินดอนเมือง สำหรับคน กทม. นี่เพิ่งจะเป็นการเริ่มต้นของความยากลำบาก ซึ่งน่าจะกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ เมื่อน้ำได้ไหลเข้าบางพื้นที่ แต่เมื่อเทียบกับคนอยุธยาและคนปทุมธานี จะเบากว่าเยอะ

แต่เพื่อนจากนครสวรรค์บอกให้เตรียมพร้อมไว้ เขาให้เหตุผลว่าแนวคันกั้นน้ำในกรุงเทพฯ ยาวถึง 80 ก.ม. ต้องคอยเฝ้าตลอด 1 เดือนเพื่อไม่ให้มีปัญหา แต่อุบัติเหตุที่ทำให้คันกันน้ำพังจะเกิดตรงไหนก็ได้ เกิดกลางวันหรือกลางคืนได้ทั้งสิ้น

กรณีคันกั้นน้ำที่บางพลัดพังลง เพื่อนอีกคนเล่าว่ากำลังทานอาหารอยู่ในบ้าน น้ำพุ่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว ถึงโต๊ะอาหาร ลุกแทบไม่ทัน ต้องหนีออกจากบ้านอย่างทุลักทุเล อุทกภัยครั้งนี้มีคนจำนวนมากที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในน้ำมานานนับเดือน บางคนเกือบสามเดือนแล้ว ต้องยอมรับว่านี่เป็นชะตากรรมร่วมกัน แม้คนที่ไม่ถูกน้ำท่วมก็จะได้รับผลทางอ้อมเพราะมีลูกหลานที่ตกงานหลายแสนคนจากการที่นิคมอุตสาหกรรมจมน้ำ ปัจจุบันยังมีอีกน้ำ 10,000 ล้าน ลบ.ม. ต้องไหลลงสู่ทะเล ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นเดือน

และบางแห่งอาจหลายเดือน



Living with flood
ต้องยืนหยัดอยู่ในสายธาร ให้ได้นานเป็นเดือน

วันนี้ถ้าดูจากปริมาณน้ำที่ยังอยู่ทางทิศเหนือของ กทม. โอกาสที่น้ำจะเข้า กทม. ทั้งฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรีมีแน่นอน แม้ กทม. จะบอกว่ามีประมาณ 20 เขตที่จะไม่มีน้ำท่วม แต่ผู้เขียนคาดว่าไม่น่ารอดเกิน 10 เขต แต่หลายเขตอาจมีน้ำท่วมที่ไม่สูงมากนัก จะมีเส้นทางที่ รถยังวิ่งได้บ้างและบางแห่งวิ่งไม่ได้เลย

ความหนาแน่นและจำนวนของประชากรที่มีถึง 6 ล้านคน ทำให้ทั้งรัฐบาลและ กทม. จะต้องจัดระบบบริหารอย่างดี มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหามากมายตามมา เพราะคนส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์จะยังคงเฝ้าสมบัติอยู่ในบ้านและบางส่วนยังทำงานอยู่ในเมือง

มีการเตรียมพร้อมแบบที่ตนเองคิดว่าพร้อม โดยประเมินจากการคาดการณ์ของรัฐบาล ว่าน้ำจะท่วมสูงประมาณ 0.5 เมตร-1.5 เมตร พวกที่อยู่บ้าน 2 ชั้นหรือตึกแถว 4 ชั้น เกือบทุกหลังคิดว่าสู้ไหว

ที่จริง รัฐบาลไม่สามารถรองรับการอพยพของคนจำนวนมากได้อยู่แล้ว ดังนั้น การอพยพต้องเป็นวิธีสุดท้าย และควรแจ้งประชาชนให้ชัดเจนน้ำสูงแค่ไหนจึงควรอพยพ ไม่มีความจำเป็นต้องอพยพทั้งเขต ทั้งอำเภอ

การให้ประชาชนพักอยู่ในบ้าน เป็นเรื่องที่บริหารง่ายที่สุดและเป็นธรรมชาติ ถ้าจะให้คนจำนวนหลายล้านทั้ง กทม. และต่างจังหวัดอยู่ได้โดยไม่เกิดความวุ่นวาย



รัฐบาล องค์กรท้องถิ่น และประชาชนต้องช่วยกัน
สร้างระบบการดำรงชีวิตให้เดินต่อไปในสายน้ำ

1. ต้องรักษาระบบสาธารณูปโภค คือ น้ำ กับ ไฟฟ้า ตามรูปแบบเดิมไว้ให้นานที่สุด เพราะจะมีคนอพยพออกจากบ้านไปอยู่ตามศูนย์ที่จัดเตรียมไว้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ คนเหล่านี้จำเป็นต้องไปเพราะบ้านถูกน้ำท่วมจนอยู่ไม่ได้จริงๆ แต่ส่วนใหญ่จะสู้ตาย อยู่ที่เดิม ขอเพียงไม่ตัดน้ำไม่ตัดไฟ คนที่อยู่บ้านก็จะพออยู่ได้ ดังนั้น การตัดไฟฟ้าควรตัดเฉพาะจุดที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ระบบน้ำประปาไม่ควรตัด แต่ทำให้ดีที่สุด ถึงดื่มไม่ได้ก็ต้องใช้ได้

2. รัฐจะต้องสนับสนุนระบบค้าขายอาหารให้เกิดขึ้นโดยดัดแปลงจากระบบตลาดเดิม จะต้องสนับสนุนเรื่องเส้นทางลำเลียงอาหารเข้ามายังจุด ขายส่งและขายปลีก ที่เป็นตลาดเดิมซึ่งยังสามารถเปิดอยู่ได้ สนับสนุนให้มีตลาดย่อย และสนับสนุนให้มีรถหรือเรือออกเร่ขายไปตามชุมชนต่างๆ ที่มีน้ำท่วม

รัฐไม่ควรเน้นการควบคุมราคาในสถานการณ์อย่างนี้เพราะจะทำให้ไม่มีพ่อค้าที่เร่ขายของ คนชั้นกลางในเมืองยังพอมีกำลังซื้อ ส่วนสินค้าราคาถูกของรัฐก็ควรนำออกขายควบคู่กันไป

ในจุดที่รถเมล์ ขสมก. วิ่งได้ รัฐควรใช้รถเมล์หรือรถบรรทุกวิ่งไปตามถนนใหญ่และมีจุดขายที่จะทำให้เอกชนรับซื้อไปขายต่อในหมู่บ้านหรือในซอยลึกๆ ด้วยรถ หรือเรือ ในต่างจังหวัดที่น้ำยังท่วมอยู่ก็น่าจะทำได้

ถ้ารู้ว่าระบบตลาดยังมีอยู่ การกักตุนจะมีน้อย ที่สำคัญ กำลังการผลิตนอกเขตน้ำท่วมยังมากพอ และต้องการตลาดระบายสินค้า ขอเพียงดำรงระบบตลาดให้ต่อเนื่อง

ส่วนการแจกของ พยายามเลือกทำตามจุดที่ประชาชนมีสภาพเศรษฐกิจที่ยากลำบากเพราะในความเป็นจริง คงไม่มีศูนย์ช่วยเหลือที่ไหนทำอาหารออกแจกประชาชนวันละหลายล้านคนได้

3. รักษาระบบคมนาคมและการสื่อสาร รัฐบาลควรจะรักษาระบบคมนาคมไว้ให้มากที่สุด ควรใช้รถ ขสมก. หรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ วิ่งอยู่ในเส้นทางเดิมเท่าที่ทำได้ ถ้ายากลำบากก็ลดจำนวนเที่ยวลงเพราะรถส่วนตัวและรถขนาดเล็กจะออกมาวิ่งตามท้องถนนได้ยากลำบากมาก ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือจะต้องรักษาเส้นทางที่จะออกนอกเมืองไปยังแหล่งที่น้ำไม่ท่วม เพราะจะเป็นเส้นทางที่จะไปรับเสบียงอาหารเข้ามาสู่เมือง ถ้าไม่มีทางให้รถวิ่งจะอดตายกันทั้งเมือง การขนส่งทางน้ำควรถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อทั้งการขนส่งคน เสบียงอาหารและวัสดุอุปกรณ์ทั้งจาก กทม.ไปต่างจังหวัด และต่างจังหวัดเข้ามา กทม.

รักษาระบบสื่อสาร ทั้งระบบโทรศัพท์ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ซึ่งแน่นอนว่าต้องพึ่งระบบไฟฟ้า

4. ระบบรักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากระบบกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลไม่สามารถทำงานได้ในภาวะน้ำท่วม รัฐจะต้องให้คำแนะนำกับประชาชนในการร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ถ้าแต่ละวันเราใช้กล่องโฟมใส่อาหารเพื่อความสะดวกวันละล้านกล่อง ถ้าปล่อยทิ้งเป็นขยะครบ 1 เดือนจะทำลายยากมากแต่ถ้าล้างและนำมาเก็บไว้ ส่งไปเป็นขยะรีไซเคิลก็จะเป็นเรื่องง่ายหรือบางคนคิดจะดัดแปลงไปทำชูชีพก็ได้

เรื่องสำคัญคือ คนไม่สามารถใช้ส้วมได้ตามปกติ รัฐจะต้องแนะนำวิธีเก็บปฏิกูลโดยไม่ทิ้งลงน้ำ

5. มีระบบบัญชาการใหญ่และย่อย การตั้งศูนย์บัญชาการของรัฐบาลอยู่ใน กทม. เป็นเรื่องถูกต้องแต่ต้องมีระบบงานย่อย ศปภ.ของรัฐบาลตั้งที่ดอนเมืองเพื่อใช้เป็นแนวหน้าที่เคลื่อนไหวช่วย อยุธยาและจังวัดใกล้เคียงได้รวดเร็ว และเมื่อน้ำไหลเข้า กทม. ดอนเมือง ศูนย์บัญชาการจะย้ายเข้ามาอยู่กลางเมืองก็ได้ แต่น่าจะมีศูนย์ที่สองอยู่ทางฝั่งธนบุรี และจะให้ดีก็ควรมีระบบเดินทางด้วยรถไฟฟ้าซึ่งจะไม่มีปัญหาเวลาน้ำท่วม

ระบบงานน่าจะแบ่งให้ชัดเจน เช่น งานระบายน้ำลงทะเล งานช่วยเหลือฉุกเฉิน และอพยพ งานด้านอาหาร งานสาธารณสุข งานสาธารณูปโภค และคมนาคม งานป้องกันพื้นที่เฉพาะ งานรักษาความปลอดภัย ซึ่งทุกงานต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงจะผ่านวิกฤตได้ เช่น การขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน เป็นเรื่องชีวิต ไม่ควรให้อาสาสมัครลุยน้ำเข้าไป 2 ชั่วโมงเพื่อให้ไปช่วยยกตู้เย็น สิ่งที่รัฐต้องเร่งสนับสนุนคืออุปกรณ์ ต่างๆ เช่น เรือ

การจัดตั้งหน่วยย่อยตามพื้นที่จะลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน และหน่วยงานกับประชาชน หรือระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ ทำให้นายกฯ ไม่ต้องลงไปแก้ไขเอง

ถ้าทั้งรัฐและประชาชนร่วมกันรักษาระบบ ชีวิตจะดำเนินต่อไปได้แม้จะต้องอยู่อย่างครึ่งบกครึ่งน้ำนานนับเดือน แต่เมื่อน้ำลดเราก็เดินต่อสร้างสิ่งที่สูญไปขึ้นมาใหม่



รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ควรฝากอนาคตของประชาชนทั้งประเทศไว้กับ
ฝน...คันกั้นน้ำ...และกระสอบทราย

ไม่น่าเชื่อว่าเมืองหลวงอย่าง กทม. และจังหวัดใกล้เคียงซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่เกิน 12 ล้านคน จะฝากอนาคต ฝากความมั่นคงในชีวิต ไว้กับคันกั้นน้ำที่มีทั้ง ปูนซีเมนต์ ดิน และกระสอบทราย จะเป็นเพราะความประมาท การด้อยความรู้หรือเหตุอื่นๆ

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะคนไทย ยังมี ฝรั่ง ญี่ปุ่น จีน ที่มาสร้างโรงงานเป็นหลายพันแห่งในนิคมอุตสาหกรรม พวกเขาทำเหมือนกับคนไทยคือกั้นนิคมและโรงงานไว้ด้วยคันดินกับกระสอบทราย ทุกคนรู้ดีว่าโรงงานตั้งอยู่ในที่ลุ่มเป็นทางน้ำผ่านมาแต่โบราณ และก็รู้ดีว่าโรงงานของตนเองมีมูลค่าเป็นพันล้าน มีกำลังผลิตปีละเป็นหมื่นล้านแต่ก็ยังปล่อยให้เป็นแบบนี้มานานนับสิบปี บางแห่งถึง 30 ปี

แม้ในช่วงหลังจะมีสัญญาณจากธรรมชาติส่งมาเตือนหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครขยับตัวหนีเหมือนกับจะคิดว่ากรุงเทพฯ มีคนหลายล้านอยู่ได้ทำไมเมืองใกล้ๆ จะอยู่ไม่ได้

เมื่อเกิดมหาอุทกภัยขึ้นความเดือดร้อนและความเสียหายจึงเกิดขึ้นทุกเมือง และ 7 นิคมอุตสาหกรรมที่น้ำผ่าน ไม่เพียงมีผลกระทบต่อเจ้าของโรงงานแต่ยังส่งผลถึงคนงานไม่น้อยกว่า 7 แสนคนและส่งผลกระทบไปถึงครอบครัวที่กระจายกันอยู่ทั่วทั้งประเทศ กระทบกับการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ความเสียหายรวมกี่แสนล้านบาทยังไม่มีใครประเมินได้ และอาจจะเกิดซ้ำอีกในปีต่อๆ ไป

อดีตนายกฯ ทักษิณเคยมีโครงการพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ แต่ยังไม่ทันได้เริ่มก็ถูกรัฐประหาร มีข่าวว่าหลังจากนั้นก็มีการทำงบประมาณด้านนี้ต่อมาอีก 4-5 ปี ใช้เงินไปเป็นแสนล้าน แต่เราก็ยังเห็นกระสอบทรายและคันดินเรียงรายอยู่รอบเมือง รอบโรงงานต่างๆ เหมือนเดิม ต้องตามไปตรวจสอบดูว่าเอาไปทำอะไรบ้าง

สำหรับปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ รัฐบาลจะต้องมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว แต่ต้องทำทันที ต่อให้ลงทุนหลายแสนล้านก็คุ้ม

เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำไม่ควรฝากอนาคตของประเทศไว้กับฟ้าฝน... ฝากไว้กับคันดินและกระสอบทราย... น้ำมีวงจรตามธรรมชาติของมัน แปรปรวนตามสภาพภูมิอากาศ สามารถขับไล่กองทัพพม่าได้เมื่อ 250 ปีที่แล้ว วันนี้น้ำกำลังจะขับไล่นักลงทุนต่างชาติและคนไทยที่อยู่ในที่ลุ่ม ต้องแก้ไขทันที



คำถามจากประชาชนทั่วทั้งเมืองคือ
ทำไมเกิดน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้ ?

ประเทศอื่นเขาก็ฝนตกเหมือนเราแต่ของเขาไม่มีคนปล่อยน้ำจากเขื่อนมาเพิ่มให้มิดหัว ยิ่งไปดูรายงานปริมาณน้ำฝนย้อนหลังยิ่งเจ็บใจ เพราะปริมาณน้ำฝนปี 2554 สูงกว่าทุกปี ถ้าดูสถิติย้อนหลัง 5 ปีโดยเปรียบเทียบเดือนต่อเดือน คือพฤษภาคม, มิถุนายน, กรกฎาคม, สิงหาคม และในปี 2553 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่มาแล้ว

คนทำงานที่เขื่อนคงไม่ใช่เพิ่งเข้ามาทำงานก็รู้อยู่แล้วว่าปริมาณน้ำที่ปล่อยในฤดูฝนแล้วไม่ทำให้เกิดน้ำท่วม ควรจะอยู่ที่ ไม่เกิน 20 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เมื่อดันสะสมน้ำไว้จนเกือบเต็มเขื่อนแล้วปล่อยมา 100 ลบ.ม. ต่อวันน้ำต้องท่วมใหญ่แน่นอน นี่เฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์น้ำก็ถูกปล่อยออกมาเช่นกัน ถ้ามีเขื่อนแก่งเสือเต้นในสภาพแบบเดียวกัน ก็ต้องปล่อยน้ำออกมาท่วมตอนล่าง

หลังน้ำลดรัฐบาลต้องตอบประชาชนให้ได้ว่า สาเหตุมาจากปัจจัยอะไรบ้าง ?


รัฐบาลจะอยู่หรือจากไปพร้อมสายน้ำก็ด้วยสาเหตุจากอุทกภัยครั้งนี้ ดังนั้น ภาระเร่งด่วนที่จะต้องทำหลังน้ำลดคือ

1. หาสาเหตุของอุทกภัยครั้งนี้ให้ได้

2. หาวิธีแก้ไขระยะยาว ที่ทำให้คนเชื่อมั่นว่าทำได้จริง ในเวลาไม่นานเกินไป จะสร้างทางผันน้ำยักษ์ จะย้ายนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ แต่ต้องรีบทำ

3. มีการเยียวยา แก้ไข บูรณะให้กับผู้ประสบอุทกภัย ทุกกลุ่ม อย่างยุติธรรมและสุจริต

ถ้าทำได้ดีทั้งสามข้อ ความบกพร่องในการบริหารเพื่อแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต คนส่วนใหญ่ก็จะให้อภัย

คะแนนเรื่องความตั้งใจทุ่มเททำงานได้ใจคนอยู่แล้ว แต่ทุกคนต้องการความหวังที่เป็นจริง พวกเขาไม่ต้องการเสี่ยงกับกระสอบทรายและคันดินอีกแล้ว จึงหวังว่าจะต้องมีคนเก่งหาสาเหตุและวิธีแก้ไขได้โดยเร็ว

คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลก็หวังว่าจะให้แก้ปัญหายากๆ แบบนี้แหละ ใครจะคิดก็ไม่ว่า ขอให้ทำแล้วสำเร็จ ให้ประชาชนได้ประโยชน์ก็ใช้ได้



++

"น้ำ" ที่ "สามวา" กับศรัทธาที่เหือดหายไป
คอลัมน์ เทศมองไทย ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1629 หน้า 102


นํ้ามาคราวนี้ บอกอะไรได้หลายอย่างทีเดียว บอกได้ดีกว่าตอนที่ "น้องน้ำ" ไม่เดินทางมาหา "พี่กรุง" แบบทะลักทลายหลายเท่านัก

ตอนน้ำทะลักท่วมโดยรอบปริมณฑล เพื่อนต่างชาติที่พักอยู่ใน กทม. แบบ "แห้งๆ" โทรศัพท์มาชวนคุยถึง "น้ำใจ" ของคนไทยที่มีมากมายเหลือหลาย ตอนนั้นเขาบอกกับผมว่า เขาไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ มาเป็นสิบๆ ปี ไม่เคยรู้ว่า ในระดับชุมชนของ กทม. นั้น มีการจัดตั้งชุมชนที่เป็นระบบน่าสนใจอย่างมาก

ผมบอกไปว่า ผมเองก็เพิ่งรู้เอาอีตอนที่ "น้องน้ำ" มาจ่อๆ อยู่ที่คอหอย "พี่กรุง" นี่แหละ

เพื่อนชวนคุยต่อว่า เขาประทับใจอย่างมากกับความเหนียวแน่นของความสัมพันธ์ของชุมชนเมืองหลายๆ ชุมชน ที่ชื่นชมเป็นพิเศษเห็นจะเป็นชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ ที่รวมตัวกันจัดการหลายต่อหลายอย่าง ตั้งแต่เตรียมเนื้อเตรียมตัวรับมือกับภัยธรรมชาติ และหยัดยืนต่อสู้กับภัยธรรมชาติโดยการพึ่งตัวเองได้อย่างน่ายินดียิ่ง

ผมเข้าใจเอาว่าเพื่อนหมายถึงกลุ่มชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ที่ตอนนี้น้ำมิดบ้านไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังใช้โรงเรียนในชุมชนเป็นที่หลบภัย ถูกตัดน้ำตัดไฟ ก็สามารถช่วยเหลือกันเองได้ พึ่งพาซึ่งกันและกันได้ จนน่าจะกลายเป็นชุมชนตัวอย่างในการพึ่งพิงตัวเองอย่างที่สุด

ผมเองคอยติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขา พลอยลุ้นพลอยเอาใจช่วยไปด้วยครับ

เพื่อนรายนี้ยังคุยให้ฟังถึงประสบการณ์ที่เขาพบเห็นคนไทยหลายคนที่ทุ่มเทแรงใจแรงกายช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนอย่างชนิดไม่คิดหน้าคิดหลัง เขาบอกว่า นี่น่าจะเป็นคุณลักษณะพิเศษของคนไทยที่ควรสงวนรักษาเอาไว้ ส่งเสริมให้ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นหลักให้กับสังคมไทยในอนาคต

เขาย้ำกับผมว่า กลับไปบ้านเกิดเมืองนอนเมื่อไหร่ จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับน้ำและน้ำใจหนนี้ให้ผู้คนในประเทศเขารับฟังเป็นอุทาหรณ์อย่างแน่นอน



เวลาผ่านไปไม่ทันครบสัปดาห์ เพื่อนรายเดียวกัน โทรศัพท์กลับมาบอกว่า ชักไม่แน่ใจเสียแล้วว่า คนไทยรับมือกับน้ำท่วมครั้งนี้และพยายามเอาชนะด้วยน้ำใจกับความอดทน ต่อกรกับมันด้วยความเข้าใจและพึ่งพาตัวเองได้จริงหรือ

เขาพูดถึงปัญหาประตูระบายน้ำที่ "คลองสามวา" ที่มีการระเบิดอารมณ์เข้าใส่กันจนแทบกลายเป็นสงครามระหว่างคน "น้ำมาก" และคน "น้ำน้อย" แล้วในที่สุดก็แทบกลายเป็นปัญหาระดับชาติไป เพราะกลายเป็นการคุกคามต่อนิคมอุตสาหกรรมที่อาจกลายเป็นเหยื่อน้องน้ำเป็นแห่งที่ 8

เขาเล่าให้ฟังถึงข่าวที่ได้ยินมาจากเวียดนามที่น้ำท่วมใหญ่เหมือนกับในไทยว่า เขาก็มีคันกั้นน้ำเหมือนๆ กัน ที่นั่นไม่เคยมีปัญหาเพราะคน "มีน้ำ" กับคน "น้ำแห้ง" เขาถือเป็น "ภาระ" ของทุกๆ คนเหมือนกันว่าจำเป็นต้อง "รักษา" คันดินกั้นน้ำนั้นเอาไว้

ด้านหนึ่งจะแห้ง อีกด้านหนึ่งท่วม ก็ต้องรักษา ถือเป็น "หน้าที่" ของแต่ละคน ทุกคนเหมือนกันหมด

ผมพยายามจะบอกเขาว่า มองอีกด้านหนึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะคนน้ำมากนั้น ไม่ได้น้ำมากอย่างเดียว แต่ยังเป็นคน "น้ำนาน" อีกต่างหาก คือต้องแช่น้ำในระดับสูงๆ อยู่นานมาก

คำตอบของเขาก็คือ ถ้าพวกเขามี "ศรัทธา" มีความเชื่อว่า ในที่สุดพวกเขาจะได้รับการแก้ไข ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมจากทางการ จากรัฐบาล จะ "น้ำนาน" ขนาดไหนก็น่าจะถือว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยให้ "ประเทศชาติ" อยู่รอด ไม่ใช่ชุมชนอยู่รอดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ผมไม่มีคำตอบให้เขาในเรื่องนี้



อีกวันให้หลังอ่านบทความแสดงความคิดเห็นของ ไนเจล ลิลเบิร์น เขียนถึงความขัดแย้งในภาวะน้ำมหาศาลอย่างตอนนี้ไว้ใน "ไชน่า เดลี่ เอเชีย วีกลี่" เล่มล่าเอาไว้ว่า ในระดับเล็กๆ ระหว่างชุมชนระหว่างคันกั้นน้ำ มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า "พวกนั้นมีอะไรเป็นพิเศษกันหนอถึงได้แห้งอยู่อย่างนั้น?"

เขาบอกว่า เสียงถามคำถามที่ว่านี้ เริ่มขยายวงออกไปเรื่อยๆ กลายเป็นคำถามที่ว่า "กรุงเทพฯ มีอะไรพิเศษหรือถึงต้องอยู่แห้งๆ? "

ลิลเบิร์น ที่อาศัยเมืองไทยเป็นที่พักพิงมานานนับสิบปีแล้ว ไม่มีคำตอบให้กับคำถามที่ว่านั้น เขาเพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับนายกฯ หญิงของเมืองไทยที่เห็นว่า ภาวะอุทกภัยหนนี้เป็น "วิกฤต" ของประเทศ ในขณะที่ในทัศนะของเขาเองนั้นเชื่อว่า ตอนนี้เมืองไทยกำลังเผชิญกับ "มหาวิบัติ" เป็นอย่างน้อย ถ้าหากไม่ใช่ "หายนะ"

เขาเตือนรัฐบาลไทยเอาไว้ตรงๆ ตอนท้ายของบทความเอาไว้ว่า ระวังน้ำท่วมหนนี้จะไม่เป็นเพียงแค่ภัยธรรมชาติเท่านั้น

แต่จะกลายเป็นปัญหาการเมืองเรื่องของภัยธรรมชาติตามมาอีกด้วยครับ!



++






ความเชื่อและความจริง: จากคนน้ำท่วมถึงคนที่ยังไม่ท่วม
โดย นิ้วกลม
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.



ความเชื่อ: "น้ำไม่ท่วมหรอก อยู่มา 60 ปียังไม่เคยท่วมเลยสักครั้ง"

ความจริง: ดูสนามบินดอนเมืองสิครับ ใครจะไปเคยคิดว่าน้ำจะท่วม แค่จะจินตนาการยังนึกไม่ออกเลย แต่วันนี้น้ำปริ่มถึงท้องเครื่องบินแล้ว และตอนนี้หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก็มีสิ่งที่คนไม่เคยคิดว่าจะเห็นเกิดขึ้นมากมาย เราอาจไม่สามารถคาดการณ์ "อนาคต" โดยใช้ "อดีต" ได้


ความเชื่อ: "ท่วมไม่เยอะหรอก เดี๋ยวมันก็ลง"

ความจริง: จากที่เห็นมา แยกเกษตร วันแรกน้ำแห้ง วันที่สองน้ำเอ่อ วันที่สามเอว วันที่สี่น้ำยังเท่าเอวโดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ถ้ามันลงเร็วก็ดีใจด้วยครับ แต่การคิดเผื่อว่ามันจะท่วมนานกว่านั้นก็น่าจะทำให้เราเตรียมตัวรับมือปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาได้ดีขึ้น


ความเชื่อ: "หมู่บ้านเราสูบน้ำออกได้"

ความจริง: การสูบน้ำออกจากหมู่บ้านอาจพอทำได้ในวันแรกๆ แต่ถ้าน้ำนอกหมู่บ้านเอ่อขึ้นสูงและมาเยอะมาก เครื่องสูบน้ำในหมู่บ้านอาจสู้ไม่ไหว อาจต้องคิดเผื่อไว้ด้วยครับ


ความเชื่อ: "บ้านเราสูบน้ำออกได้ ดูสิข้างในยังแห้งอยู่เลย"

ความจริง: หากน้ำในบริเวณนั้นไม่ท่วมมากก็อาจจะรอดครับ แต่ถ้าน้ำนอกบ้านท่วมหนัก น้ำจะเริ่มผุดจากท่อในบ้าน และเอ่อล้นบ้าน การสูบน้ำด้วยเครื่องอาจทำให้น้ำในบ้านแห้งได้ แต่ถ้าน้ำขึ้นเยอะอาจต้องระวังอันตรายจากไฟฟ้าที่ใช้กับเครื่องสูบน้ำด้วย เพราะถ้าบ้านแห้งแต่เจ้าของบ้านถูกไฟดูดก็อาจไม่คุ้มกัน และถ้าน้ำสูงขนาดต้องตัดไฟชั้นหนึ่งนั่นแปลว่าระดับน้ำในบ้านก็จะค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องคิดแผนเตรียมไว้ด้วยครับ


ความเชื่อ: "ถ้าน้ำมา 30-50 ซ.ม. ก็น่าจะอยู่ได้"

ความจริง: น้ำระดับนั้นอาจไม่สูงมากนักเมื่อมองจากตัวเลข แต่มันก็มากพอที่จะทำให้ชีวิตเปลี่ยน เมื่อรถวิ่งไม่ได้ รถเมล์ก็จะไม่มี รถสองแถว วินมอเตอร์ไซค์จะหายไปหมด ในซอยลึกจะออกยากมาก การเดินในน้ำนั้นเมื่อยกว่าที่เราคิดไว้ ถ้าลึกมากเด็กๆ และคนแก่อาจเดินไม่ไหว ถ้าบ้านอยู่ในซอยลึกไกลๆ จะลำบากมาก ไม่ต้องนับว่าการออกมาแต่ละครั้งจะขนของเข้าบ้านได้น้อยมาก เพราะมีแค่สองมือที่ถือไหว หรืออย่างมากก็หนึ่งกะละมังลอยน้ำ ไม่นับน้ำดื่มที่จะซื้อเข้าบ้านซึ่งหนักเกินกว่าจะถือได้เยอะ ออกมาแต่ละครั้งจึงเหนื่อยและใช้เวลานานมาก มิเพียงเท่านั้น อีกสองวันของหมดก็ต้องออกมาอีก


ความเชื่อ: "ยังไม่ต้องอพยพหรอก รอมันขึ้นถึงระดับที่ไม่ไหวค่อยอพยพ"

ความจริง: ถ้ายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่มีลูกเล็ก ไม่มีพ่อแม่แก่ชรา ไม่มีหมาแมวหลายตัว ก็น่าจะพอไหวครับ แต่ถ้ามีคนและสัตว์ที่เรารักและห่วงใยที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เราอาจต้องเตรียมที่ทางไว้สักหน่อย บ้านญาติมิตรที่ไหนที่พอจะฝากได้ก็น่าจะรีบย้ายออก เพราะถ้าน้ำท่วมถึงระดับที่รถวิ่งไม่ได้ การขนย้ายคนแก่ เด็ก และสัตว์จะทำได้ยากมาก แม้จะมีเจ้าหน้าที่กู้ภัย ทหาร ตำรวจ ฯลฯ มาช่วยเคลื่อนย้ายก็จริง แต่ผู้ประสบภัยมีเยอะมาก จนเจ้าหน้าที่เท่าไหร่ก็ไม่พอ เท่าที่ถามเจ้าหน้าที่กู้ภัยมา เขาบอกว่า "ถึงเอวก็ควรอพยพคนแก่ เด็ก และสัตว์แล้วครับ" สำหรับตัวท่านเองที่ยังพอฝ่าน้ำระดับเอวระดับอกออกมาไหว ให้เตรียมเอกสารและของมีค่าเฉพาะที่สำคัญไว้เพียงหนึ่งกระเป๋าเท่านั้น เพราะมากกว่านั้นอาจจะถือไม่ไหวและขนย้ายไม่สะดวก


ความเชื่อ: "เราอยู่ได้ ก็แค่ซื้อของยากหน่อยเท่านั้นเอง"

ความจริง: ในบางพื้นที่ เซเว่นฯ และห้างสรรพสินค้าใกล้บ้านทั้งหลายค่อยๆ ทยอย "ของหมด" กันไปทีละแห่ง การออกมาซื้อของกินของใช้จะลำบากขึ้น และไกลขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลายที่ยืนยันตรงกันว่า "ไม่มีคนมาส่งของแล้ว" หากบ้านไหนตุนของไว้เยอะพอก็อาจจะอึดไหว แต่หากบ้านไหนมีของไม่พออาจต้องคิดแผนสองไว้ด้วยก็ดี ว่าถ้าน้ำท่วมอีกเป็นเดือนจะอยู่อย่างไร จะได้เตรียมตัวขั้นต่อไปได้ หรืออย่างน้อยก็เฉลี่ยข้าวของในบ้านในแต่ละวันโดยการกินและใช้ให้ประหยัดขึ้นได้บ้าง


ความเชื่อ: "ก็แค่น้ำท่วมจะไปกังวลอะไรมากมาย"

ความจริง: ก็จริงครับ มันก็แค่น้ำที่ไหลมาอยู่บนถนน แต่สิ่งที่มาพร้อมน้ำก็คือกลิ่นที่เหม็นเน่า และกองทัพยุงระดับที่จะกินเลือดกินเนื้อ (สิ่งจำเป็นอีกอย่างคือยาทากันยุง) นอกจากตะขาบ งู จระเข้ แล้ว สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างคือ อย่าเดินเข้าใกล้เสาไฟฟ้า และระวังบ้านในซอยเดียวกับท่านที่เขายังไม่ตัดไฟชั้นหนึ่ง ช่วยกันบอกให้ตัดไฟน่าจะปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย และเมื่อออกไปลุยน้ำมาก็รีบขัดถูร่างกายทำลายเชื้อโรคโดยไว หากป่วยตอนนี้จะยิ่งลำบากครับ


ความเชื่อ: "ท่วมไม่นานหรอก อีกสามสี่วันก็ยุบ"

ความจริง: อันนี้เป็นความเชื่อล้วนๆ ความจริงน้ำจะท่วมนานแค่ไหนไม่มีใครรู้ ถ้าโชคดีมันอาจจะยุบจริง (ผมก็ภาวนาให้เป็นอย่างนั้น) แต่ถ้าเราดูภาพถ่ายดาวเทียมก็จะเห็นว่ามวลน้ำมันมหึมามหาศาลจริงๆ และถ้าดูจากพื้นที่ที่เขาโดนไปก่อนเรา ไม่ว่าจะเป็นอุทัยธานี ลพบุรี อยุธยา ก็ยังท่วมอยู่เป็นเดือนๆ หรือกระทั่งรังสิต ดอนเมือง ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะลดลงแบบปึบปับ ทุกคนก็อยากให้น้ำลงไวๆ กันทั้งนั้น แต่ในความหวังเราก็ต้องดูความจริงด้วย การตัดสินใจและวางแผนชีวิตจาก "ความเชื่อ" กับการตัดสินใจและวางแผนจาก "ความจริง" นั้นให้ผลต่างกัน หากจะตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อไป ย้ายไปอยู่บ้านญาติ อพยพไปอยู่ศูนย์อพยพ หรือไม่อย่างไร เราน่าจะตัดสินใจจาก "ความจริง" มากกว่า "ความเชื่อ" ครับ


ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่โดนน้ำท่วมไปแล้ว และขอเอาใจช่วยคนที่ยังไม่ท่วมให้บ้านแห้งจะได้มีเรี่ยวแรงช่วยเหลือคนอื่นต่อไป บ้านผมท่วมแล้ว และน้ำก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่เขียนมาทั้งหมดมาจากความหวังดีล้วนๆ ครับ เพราะเชื่อว่าในวิกฤตแบบนี้ สิ่งที่แต่ละคนพอจะทำได้คือการแชร์ข้อมูลที่มีประโยชน์ให้กัน เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ ^ ^



+ + + +

"วิกฤตน้ำท่วม 2554" กลยุทธ์ในการรับมือ และสร้างโอกาสยิ่งใหญ่ให้ชีวิต
บทความพิเศษ โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ www.siamintelligence.com
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1629 หน้า 35


วิกฤตน้ำท่วมในปี 2554 ย่อมเป็นเรื่องที่สร้างความหวาดหวั่นและตื่นตระหนก

หากสิ่งที่ดีกว่า คือ การพัฒนาสติและปัญญา คิดทั้งในและนอกกรอบ เพื่อค้นหาทางออกที่สูญเสียน้อยที่สุด

และอาจได้รับประโยชน์ในช่วงหลังน้ำลดอีกด้วย



1. ชีวิตสำคัญกว่าทรัพย์สิน

การสะสมเสบียงอาหารและน้ำดื่ม การจัดเรียงกระสอบทรายและก่ออิฐฉาบปูน ย่อมเป็นการตระเตรียมตัวที่ดีเยี่ยม

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการคิดที่ไม่รอบด้านเพียงพอ เพราะมุ่งแต่การเฝ้าบ้านของตัวเองอย่างสุดกำลัง ซึ่งอาจถูกกักขังให้อยู่นานหลายเดือน

หากทว่าการสละบ้านชั่วคราวเพื่อไปเช่าอาศัยห้องพักที่น้ำไม่ท่วมอาจเป็นทางเลือกที่ดียิ่งกว่าก็เป็นได้

"ต้นทุน" นับเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินทางเลือกเพื่อรับมือวิกฤตน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารน้ำดื่ม ค่าอิฐค่าปูน ค่าเช่าที่พักอาศัย ไปจนกระทั่งค่าเสียโอกาสในการทำงานหารายได้เพราะติดหล่มน้ำท่วมหลายเดือน ความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นจากการพักอาศัยในศูนย์อพยพที่แออัดไปด้วยมนุษย์

แต่ละคนย่อมมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป จึงควรประเมินรายจ่ายและค่าเสียโอกาสให้ดีที่สุด โดยไม่ละเลยที่จะผนวกเรื่องความเครียด ความเจ็บป่วย และอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปในสมการด้วย



2. มิตรภาพสำคัญกว่าความรู้

สื่อกระแสหลักและหน่วยงานภาครัฐย่อมเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข่าวสารที่แจ้งให้กับประชาชนก็ยังไม่ชัดเจนและเอาแน่เอานอนไม่ได้ ซึ่งก็อาจมีสาเหตุมาจากประสิทธิภาพในการจัดการของระบบราชการ หรือบางทีอาจเป็นเรื่องการเมืองที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น เราจึงไม่ควรฝากชีวิตไว้ในมือของฝ่ายปกครอง

Social Media ก็อาจเป็นเครื่องมือที่ดีกว่า เพราะมีความหลากหลายให้เลือกสรร ที่สำคัญคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในหลากหลายเขตพื้นที่ ก็กลับมีผลประโยชน์แอบแฝงที่น้อยกว่าคนใหญ่คนโต จึงทำให้สามารถพูดความจริงได้ดียิ่งกว่า

แน่นอนว่า บางคนก็อาจมีเรื่องของอารมณ์และความตื่นตระหนกมาเกี่ยวข้อง หากเราก็ยังสามารถคัดกรองได้มากกว่าสื่อกระแสหลักที่มีตัวเลือกจำกัดเพียงไม่กี่สิบช่องสถานี

"เพื่อนสนิท" ที่เราคบหาผูกพันมายาวนาน ย่อมผ่านการพิสูจน์ความจริงใจมาแล้วระดับหนึ่ง จึงเป็นแหล่งข้อมูลที่ไว้ใจได้มากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีมิตรภาพกับผู้คนในหลากหลายวงการ ก็ย่อมแสวงหาข่าวสารได้ดีที่สุด เพื่อนำมาใช้วางกลยุทธ์ในการรับมือได้ดีที่สุด

ยิ่งกว่านั้น เพื่อนสนิทไม่เพียงแต่เป็นแหล่งข้อมูลเหมือนในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกเท่านั้น หากยังสามารถช่วยเหลือเอื้อเฟื้อได้มากมาย ทั้งการให้ที่พักพิงชั่วคราว การจัดยานพาหนะรับส่ง การตระเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว จนกระทั่งถึงการให้กำลังใจและคำปลอบประโลมใจ

มนุษย์คนใดที่มีเพื่อนน้อยก็อย่าพึ่งน้อยใจ แต่พึงจดจำวิกฤตครั้งนี้ให้รุนแรงขึ้นใจ เพื่อว่าหลังน้ำลดแล้วจะได้เร่งสร้าง "เพื่อนสนิท" ให้มากที่สุดทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อที่จะรับมือวิกฤตในครั้งหน้าได้อย่างสบายใจ

ที่สำคัญยังสามารถพลิกแพลงไปใช้ในเชิงธุรกิจและการทำงานได้อย่างหลากหลายอีกด้วย



3. ระยะยาวสำคัญกว่าระยะสั้น

วิกฤตน้ำท่วมในปี 2554 สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยยังมีจุดอ่อนในหลายด้าน ทั้งในภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน หากทว่า การก่นประณามฟ้าดินและโทษคนอื่นไปทั่วก็คงไม่ได้ประโยชน์อันใด หากสิ่งสำคัญคือ การกลับมาทบทวนตัวเองอย่างลึกซึ้ง

ฟ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่า ในปี 2555 น้ำจะท่วมอีกครั้งหรือไม่?

เราไว้ใจใครไม่ได้แล้ว เราไม่อาจปล่อยโชคชะตาของเราไว้ในมือผู้อื่นอีกต่อไป

เวลา 1 ปีข้างหน้า จะว่าสั้นก็สั้น จะว่ายาวก็ยาว เราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราให้ดีที่สุด โดยอาศัยวิกฤตน้ำท่วมในปีนี้เป็นครูบาอาจารย์ที่เข้มงวดดุดันที่สุด

การเลือกทำเลบ้านในที่สูงและมีทางเข้าออกได้หลายทาง การมีบ้านสำรองไว้หลายหลัง การแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตนเองและสร้างรายได้ให้มากกว่าเดิม เพื่อจะได้ไม่หวาดกลัวและยึดติดกับทรัพย์สินที่ต้องเสียไปจากวิกฤตน้ำท่วม การรู้จักควบคุมอารมณ์และเปิดใจกว้าง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอย่างหลักแหลมแยบยล

ชีวิตมนุษย์แสนสั้นนัก จงใช้ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เพื่อเป็นโอกาสในการตักเตือนตนเอง ให้รู้จักบริหารเวลา 24 ชั่วโมง ของแต่ละวันอย่างรู้คุณค่า เพราะวิกฤตสามารถมาเยือนเราได้เสมอ

วิกฤตและโอกาสผ่านไปดุจสายน้ำ ทั้งไหลเรื่อยเฉื่อยชาและโถมทะลักรุนแรง มนุษย์จึงควรหยิบฉวยและตักตวงให้ทันท่วงที อย่าปล่อยให้สิ่งดีงามที่ล่องลอยมากับห้วงเวลา ได้ผ่านพ้นไปอย่างไม่มีวันหวนคืน



.