http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-08

สิ่งที่ถูกทิ้งในยามไม่ทิ้งกัน, ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ-โปรตุเกส โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

บทกวี "น้ำท่วม " โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


เสียสละเพื่อประเทศชาติ

องอาจกลางน้ำเน่ากระหน่ำ

ถูกบงการให้ต้องรอรับกรรม

ของพวกอำนาจที่ทำระยำไว้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สิ่งที่ถูกทิ้งในยามไม่ทิ้งกัน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


หลายคนพูดถึงความงดงามที่หายไปจากสังคมไทยได้กลับคืนมาในน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งก็เป็นความงดงามจริง

เราได้เห็นภาพผู้คนส่งความช่วยเหลืออย่างล้นหลามแก่ผู้ประสบภัย อีกหลายคนลงไปช่วยด้านแรงงาน นับตั้งแต่บรรจุถุงทราย ไปจนถึงเอารถบรรทุกไปช่วยขนส่ง บางคนช่วยพายเรือรับส่ง อีกไม่น้อยนำเอาสกู๊ตเตอร์น้ำซึ่งซอกซอนได้ดีจากพัทยาไปช่วยนำน้ำและอาหารไปถึงบ้านเรือนด้านใน หลายบ้านตั้งโรงครัวแจกจ่ายอาหารฟรี ไกลไปถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังอุตส่าห์ขนเสบียงมาตั้งโรงครัว หรือส่งน้ำและอาหารมาจุนเจือ ฯลฯ

(แต่ก็เหมือนกับรัฐไทยที่เป็นอย่างนี้ตลอดมา กล่าวคือ ไม่เคยสามารถจัดองค์กรทางสังคมเพื่อทำให้ความช่วยเหลือเหล่านี้กระจายไปถึงผู้เดือดร้อนอย่างเป็นระบบ รัฐบาลที่เก่งคือรัฐบาลที่สามารถจัดองค์กรภาครัฐในยามเกิดภัยพิบัติได้เก่ง แต่ไม่ว่าจะเก่งอย่างไร ก็ไม่เคยสามารถจัดองค์กรภาคสังคมให้มีประสิทธิภาพได้สักรัฐบาลเดียว)

ภาพของสังคมไทยที่ดูเหมือนกำลังแตกสลายลงใน 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงกลับมาแสดงพลังของความผูกพันระหว่างกันให้เห็นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางความพยายามอย่างหนักของนักการเมืองฝ่ายค้านและบริวารในสื่อ ที่จะใช้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหนทางกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า มีภาพอัปลักษณ์ให้เห็นในน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้อยู่ไม่น้อย


ในวันที่ 7 ตุลาคม เมื่อน้ำเริ่มหลากลงสู่อยุธยา ทีวีทุกช่องเสนอภาพความเดือดร้อนของผู้คนจากนครสวรรค์ลงมาถึงอ่างทองและบางส่วนของอยุธยา อยู่ทุกรายการข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้เลือกที่จะเสนอตัววิ่งจากเอสเอ็มเอสที่ผู้ชมส่งเข้ามาในรายการข่าวตอนเที่ยงว่า "แม่น้ำเจ้าพระยาลงโทษพวกเสื้อแดง" ผู้ส่งใช้นามว่า "มหานทีสีทันดร"

ที่ผมบอกว่าสถานี "เลือก" ที่จะเสนอความเห็นจากผู้ชมท่านนี้ ก็เพราะผมเข้าใจว่า ผู้ส่งเอสเอ็มเอสแสดงความเห็นในรายการข่าวของทุกช่อง คงมีมากเกินกว่าจะนำเสนอได้หมด ฉะนั้นถึงอย่างไรก็ต้อง "เลือก" นอกจากนี้สถานีไทยพีบีเอสยังเสนอข้อความดังกล่าวซ้ำถึงสองหนในรายการข่าวเดียวกันด้วย

แน่นอนก็เป็นความเห็นหนึ่ง ซึ่งควรมีพื้นที่แสดงออกได้ในสังคมของเรา ไม่มีใครผิดหรอกครับ แต่ท่ามกลางความทุกข์ยากของผู้คนแทบเลือดตากระเด็นนี้ คงปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ความเห็นนี้อัปลักษณ์


ยังไม่พูดถึงสงครามคันกั้นน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อันเป็นความอัปลักษณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากจิตใจของผู้คน แต่เกิดขึ้นจากการไม่มีข้อมูลข่าวสารต่างหาก

บ้านใครก็ตามที่แช่น้ำมาเป็นเดือน ต้องรู้ว่าจะแช่ไปทำไม ในเมื่อฝั่งตรงข้ามแห้งสนิท คำปลอบใจให้ "เสียสละ" ทั้งไม่เพียงพอและไม่ทำให้เข้าใจอยู่นั่นเองว่าเสียสละทำไม และเสียสละให้ใคร

จำเป็นที่เขาต้องรู้ภาพรวมว่า การบริหารจัดการให้น้ำไหลลงทะเลอย่างรวดเร็วนั้นเป็นอย่างไร ที่แช่บ้านเขาอยู่ในน้ำนั้น จะเป็นผลดีแก่ส่วนรวมอย่างไร หรือการรื้อคันกั้นน้ำ นอกจากไม่ช่วยให้เขาพ้นจากภัยพิบัติอย่างจริงจังแล้ว ยังทำให้คนอื่นเดือดร้อนโดยไม่จำเป็นอย่างไร

ทุกคนจึงเข้ามาบริหารจัดการน้ำเอง จากข้อมูลที่ตัวมีในท้องถิ่นแคบๆ ของตัว ไม่ใช่จากภาพรวม เพราะไม่มีใครรู้ว่าภาพรวมเป็นอย่างไร (แต่ก็หวังว่า ศปภ.จะรู้)

ความงดงามและความอัปลักษณ์ยืนอยู่เคียงข้างกันตลอดเวลาในวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้...ทำไม ?



ก่อนที่ผมจะเสนอความเห็นที่เป็นคำตอบของปัญหา ผมขอพูดถึงความงดงามและความอัปลักษณ์อีกบางอย่างที่แตกต่างจากความงดงามและความอัปลักษณ์ที่ได้กล่าวไปแล้ว

รายการข่าวทีวีช่องหนึ่งซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าช่องไหน เสนอเหตุการณ์อันหนึ่งในปทุมธานี ซึ่งแช่น้ำมาหลายสัปดาห์แล้ว

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปไกลจากตัวเมือง และได้พบคุณลุงคนหนึ่ง ซึ่งดูจากการแต่งเนื้อแต่งตัวแล้ว ก็น่าจะเป็นคนชั้นกลางที่ไปสร้างบ้านอยู่ในเขตไกลเมืองเมื่อเลิกทำงานแล้ว คุณลุงกำลังลุยน้ำเพื่อต่อเรือและรถหลายทอดเข้ามาสู่ตัวเมืองปทุมธานี คุณลุงเล่าว่า จำเป็นต้องเข้ามาหาซื้ออาหาร เพราะน้ำท่วมสูงจนหาซื้ออะไรไม่ได้ นอกจากที่ตัวเมือง ก่อนหน้านั้นคุณลุงเคยออกล่าหาอาหาร กว่าจะมาถึงตัวเมืองก็กินเวลาไปกว่า 4 ชั่วโมง วันนั้นได้อาหารแล้วฟ้าก็มืดลง ไม่สามารถหารถ-เรือกลับบ้านได้ จึงต้องนอนค้างที่ตัวเมือง และกลับวันรุ่งขึ้น (ผมได้แต่หวังว่า ยังสามารถติดต่อกับบ้านทางโทรศัพท์ได้ ไม่อย่างนั้นทางบ้านคงห่วงกันจนนอนไม่หลับ เพราะไม่รู้ว่าตาแก่คนหนึ่งซึ่งเป็นเสาหลักของบ้าน ถูกกระแสน้ำพัดไปทางไหน)

คุณลุงบอกผู้สื่อข่าว ซึ่งให้คุณลุงอาศัยนั่งรถกลับบ้านว่า บ้านซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองไปประมาณ 20 กิโลเมตรนั้น มีคนอาศัยอยู่หลายคน เมื่อรถของผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึงที่สุดเท่าที่รถกระบะจะลุยเข้าไปได้ ก็ต้องให้คุณลุงลุยต่อหรือหาเรือกลับบ้านเอาเอง ผู้สื่อข่าวซึ่งนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายระหว่างทำข่าวด้วย จึงมอบถุงยังชีพให้คุณลุงอีกหลายถุง เพราะเห็นว่าอยู่กันหลายคน แต่คุณลุงขอรับไปเพียงถุงเดียว ด้วยเหตุผลว่า "ยังมีคนอื่นที่เขาต้องการอีกมาก"

นี่เป็นความงดงามแน่ แต่ไม่เหมือนกับความงดงามของความช่วยเหลือนานาชนิดที่คนไทยทุ่มเทลงไปช่วยผู้ประสบภัย ไม่เหมือนอย่างไร จะพูดถึงข้างหน้า

แม่ค้าขายอาหารสำเร็จคนหนึ่งในเชียงใหม่ เตือนลูกค้าซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยว่า น้องสั่งอาหารแต่พอกินเถิด เช่นมีกับสักอย่างเดียวหรือสองอย่างก็พอ อาหารกำลังเริ่มขาดแคลนทั้งในเชียงใหม่และในประเทศไทย ถ้าน้องไม่กินทิ้งกินขว้าง ก็จะมีอาหารเหลือแก่คนอื่นๆ ได้อีกทั้งประเทศ

ในทรรศนะของผม นี่ก็เป็นความงดงามอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากความงดงามที่เกิดขึ้นจากความช่วยเหลือส่วนใหญ่

ความงดงามของคุณลุงและคุณพี่แม่ค้านี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการกักตุนอาหารอย่างเอาเป็นเอาตายของผู้คน จนกระทั่งเกิดขาดแคลนอาหารบางอย่าง เช่นไข่ไก่และน้ำดื่ม เป็นต้น ผู้อพยพมาสู่เชียงใหม่ทำให้ชั้นวางของในซุปเปอร์ว่างลงเหมือนกรุงเทพฯ แม้จะติดป้ายให้ซื้อน้ำมันได้รายละไม่เกิน 6 ขวด น้ำ, ไข่ไก่, มาม่า, ฯลฯ ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ ก็มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยใช้วิธี "เวียน" ซื้อ จนชั้นวางของว่างลง



ผมเชื่อว่า ผู้กักตุนอาหารเหล่านี้คงเต็มใจแบ่งปันน้ำดื่มหรืออาหารให้แก่เพื่อนบ้านฟรีๆ หากได้รู้ว่าเพื่อนบ้านกำลังจะอดตาย คนที่ต่างหนีเอาตัวรอดเหล่านี้ไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำมาจากไหน แต่คือคนไทยใจดีที่เราคุ้นเคยนั่นแหละ มีอุดมคติของความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หากเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ทางตรง (direct contact)

เช่นเดียวกับความกระตือรือร้นของคนไทยอีกมาก ที่สู้ลำบากลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเลย แต่ลักษณะของความเสียสละเหล่านี้ คือเสียสละบนฐานของความสัมพันธ์ทางตรง (ช่วยอพยพผู้คน, นำอาหารและถุงยังชีพไปแจกจ่าย, นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล, อุ้มคนแก่ ฯลฯ) จริงอยู่ ผู้ให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้รู้จักมักจี่กับผู้รับความช่วยเหลือมาก่อน แต่ก็เป็นความช่วยเหลือที่กระทำกันโดยตรงอยู่นั่นเอง

แตกต่างจากคุณลุงและคุณพี่แม่ค้า ที่กำลังให้ความช่วยเหลือแก่ "สังคม" ไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์ทางตรงกับใคร แต่กระทำด้วยสำนึกว่า มี "คนอื่น" ที่ร่วมอยู่ใน "สังคม" ซึ่งการกระทำส่วนบุคคลของแต่ละคน ย่อมมีผลกระทบในทางดีหรือทางร้ายแก่เขาเหล่านั้น คนที่เราไม่มีทางรู้จักตลอดชีวิตนี้ แต่มีอยู่จริงและเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเอง "คนอื่น" ที่ไม่มีตัวมีตน แต่มีอยู่

"คนไทยไม่ทิ้งกัน" แน่ครับ แต่เราไม่ทิ้งคนไทยที่เป็นคนๆ หรือคนไทยที่เป็นองค์รวมนามธรรม ซึ่งไม่มีใครอาจสัมผัสได้ แต่ทุกคนก็สำนึกว่ามีอยู่จริง "คนไทย" ในมิตินามธรรม หรือ "สังคมไทย" นี่ต่างหากที่ขาดหายไปจากสำนึกส่วนใหญ่ ไม่ว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วม

คงไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งคนปฏิเสธการซื้อหาหรือรับของเกินจำเป็น เพราะเกรงว่า "คนอื่น" จะขาดแคลน พยายามใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง เพราะเกรงว่าไฟฟ้าจะไม่พอใช้กันทั่วถึง ฯลฯ

ผมไม่ได้คิดว่า สำนึกถึง "คนอื่น" ที่เราไม่รู้จักหน้าค่าตา และทั้งชีวิตก็คาดได้ว่าจะไม่มีอะไรเกี่ยวกับเขาเลยนั้น ไม่มีในหมู่คนไทยปัจจุบัน สำนึกนี้มีแน่ แต่เป็นสำนึกที่ได้สร้างและปลุกเร้ากันมานานในนามของ "ชาติ" รัฐได้จับจองสำนึกนี้ไว้เป็นของตนแต่ผู้เดียว ในขณะที่คนไทยซึ่งต้องสัมพันธ์กันผ่านระบบที่ซับซ้อนขึ้นของเศรษฐกิจ-สังคมสมัยใหม่ ไม่ได้มีสำนึกอย่างนี้ในหมู่พวกเรากันเองโดยไม่เกี่ยวกับรัฐ


พูดอีกอย่างหนึ่งคือคนไทยมีแต่สำนึกร่วมในความเป็นชาติ แต่ไม่มีสำนึกร่วมในความเป็นสังคม ถ้าจะนับว่ามี ก็เป็นสำนึกร่วมทางสังคมของชุมชนขนาดเล็กซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความสัมพันธ์ทางตรง ไม่ใช่สังคมสมัยใหม่ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสสัมพันธ์ทางตรงต่อกันอีกแล้ว

ความเข้าใจนี้ ทำให้ผมเห็นใจความอัปลักษณ์ต่างๆ ที่เกิดในสังคมไทยได้ดีขึ้น เห็นใจคุณ "มหานทีสีทันดร" เห็นใจผู้บริหารทีวีไทย เห็นใจการกักตุนอาหารอย่างบ้าคลั่ง เห็นใจคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ฟูมฟายกับซากโรงหนังและช็อปปิ้งเซ็นเตอร์มากกว่าซากศพของผู้คน เห็นใจการเรียกร้องความจงรักภักดีต่อบุคคลยิ่งกว่าสถาบัน เห็นใจตุลาการที่ให้ความสำคัญแก่กฎหมายอาญายิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ ฯลฯ



++

ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ-โปรตุเกส
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1629 หน้า 28


ปีนี้เป็นปีที่เขาฉลองความสัมพันธ์กับโปรตุเกสครบ 500 ปี จึงมีการจัดสัมมนาและนิทรรศการเกี่ยวกับไทย-โปรตุเกสอยู่บ้าง

ผมเป็นคนหนึ่งที่ถูกเกณฑ์ให้เขียนบทความเกี่ยวกับการขยายอำนาจเข้ามาเอเชียของโปรตุเกส ทำให้ผมต้องไปหาประวัติศาสตร์โปรตุเกสมาอ่าน

ขอสารภาพเลยครับว่าไม่เคยอ่านมาก่อน และผมอยากเดาว่าส่วนใหญ่ของนักเรียนประวัติศาสตร์ในเมืองไทยก็ไม่เคยอ่าน เพราะโปรตุเกสเป็นบ้านนอกคอกนาของยุโรปตลอดมา ถึงเราเรียนประวัติศาสตร์ยุโรปมาบ้าง ก็ไม่มีครูคนไหนสนใจจะพูดถึงโปรตุเกสให้ฟัง

ยิ่งอ่านก็ยิ่งสนุกครับ เพราะมันช่างเปรียบเทียบได้กับประเทศสยามเสียนี่กระไร โปรตุเกสอาจเป็นประเทศยุโรปประเทศเดียวกระมังที่น่าจะศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เปรียบเทียบกับสยามได้

ผมเลยขอนำเอาประวัติศาสตร์โปรตุเกสมาเล่าภายใต้ฉายาของประวัติศาสตร์สยาม



"ศักดินา" โปรตุเกส

ดินแดนที่เป็นโปรตุเกสในปัจจุบันนั้น กษัตริย์ของแคว้นหนึ่งในฝรั่งเศส ยกให้แก่อัศวินที่มาช่วยกันรบขับไล่มุสลิมออกไป จนในที่สุดก็ตั้งราชวงศ์ขึ้น ดังนั้น กษัตริย์โปรตุเกสจึงปกครองประเทศในฐานะที่เป็นราชสมบัติส่วนพระองค์

ทั้งเพราะความจำเป็นในการทำสงคราม และเพราะไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก กษัตริย์ก็พระราชทานที่ดินให้แก่เหล่า "อำมาตย์" ไปหาประโยชน์ และเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ในระบบศักดินาของยุโรปทั่วไป "อำมาตย์" เหล่านี้มีอำนาจที่จะเกณฑ์แรงงาน, เก็บภาษี และบริหารการยุติธรรมแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บนที่ดินนั้น แต่จะเอาที่ดินไปขายต่อไม่ได้ ในบางกรณีที่ดินเหล่านั้นยังยกให้เฉพาะชั่วชีวิตของผู้รับ หมายความว่าสืบมรดกก็ไม่ได้

แม้ว่าขายที่ดินไม่ได้ แต่ให้เช่าได้ นอกจากที่ดินซึ่งมี "ไพร่" อยู่แล้ว "อำมาตย์" ยังเอาที่ดินไปให้ชาวนารายเล็กเช่าอีกด้วย ฉะนั้น จึงมีชาวนากึ่งอิสระที่เช่าที่ทำกินอยู่มากในโปรตุเกส และทำให้ศักดินาโปรตุเกส แตกต่างจากศักดินาฝรั่งโดยทั่วไป กล่าวคือมีทาสติดที่ดิน (serf) ไม่มาก ซ้ำยังหมดไปก่อนด้วย

"ไพร่" ทั้งที่อยู่ในที่ดินมาแต่เดิม และที่เช่านาเขาทำนี้มีภาระหนัก นอกจากต้องแบ่งผลผลิตให้ "อำมาตย์" แล้ว อีกส่วนหนึ่งก็ต้องเสียภาษีให้แก่หลวง และยังต้อง "บริจาค" ในอัตราที่แน่นอนแก่วัด ทั้งนี้ ยังไม่นับการที่ต้อง "พึ่ง" เหล่า "อำมาตย์" ซึ่งได้พระราชทานที่ดินมาจากกษัตริย์ เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นผู้กุมกระบวนการยุติธรรมแทนกษัตริย์ และความยุติธรรมนั้นย่อมต้อง "ซื้อ" เป็นธรรมดา

ความแตกต่างจากศักดินาฝรั่งอีกอย่างก็คือ โดยเปรียบเทียบแล้ว "อำมาตย์" โปรตุเกสเป็นอิสระจากกษัตริย์น้อยกว่า "อำมาตย์" ของฝรั่งเศส, เยอรมนี, สเปน, อังกฤษ ฯลฯ ในสมัยกลาง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือกษัตริย์โปรตุเกสมีความเป็นราชาธิราชสูงกว่ากษัตริย์ประเทศอื่นในสมัยเดียวกัน

แม้กระนั้นก็อาจกล่าวได้ว่าอำนาจใหญ่สามอย่างในโปรตุเกสโบราณคืออำนาจของกษัตริย์ - อำมาตย์, พระ และชุมชน เนื่องจากโปรตุเกสผลิตอาหารได้ไม่พอกิน จึงทำให้เศรษฐกิจตลาดพอจะแพร่หลายในโปรตุเกสมาแต่โบราณ เศรษฐกิจตลาดนำมาซึ่งนายทุนเงินกู้ (ส่วนใหญ่คือยิว), พ่อค้า, และคนในเมือง กลายเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่อำนาจอื่นต้องคำนึงถึงและเข้าไปจัดการต่อรอง (บางครั้งก็จัดการด้วยวิธีฆ่าทิ้ง หรือเนรเทศ)

โดยสรุปก็คือโปรตุเกสนั้นเป็น "รัฐราชสมบัติ" มากกว่าศักดินาฝรั่งทั่วไป หมายความว่ารัฐเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์ เพราะทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด


แม้ว่า "ศักดินา" ไทยไม่ได้มีฐานคิดอย่างเดียวกับฝรั่ง แต่ก็ใช่จะเปรียบเทียบในทางปฏิบัติกันไม่ได้เสียเลย ในทางทฤษฎี (ตามที่กล่าวไว้ในกฎหมายตราสามดวง) พระมหากษัตริย์ไทยก็เป็นเจ้าของที่ดินทั่วพระราชอาณาจักรเหมือนกัน เจ้าเมืองต่างๆ ได้รับแต่งตั้งจากเมืองหลวง แม้ว่าในทางปฏิบัติไม่อาจแต่งตั้งคนอื่นได้นอกจากคนในตระกูลที่เป็นชนชั้นนำของท้องถิ่น (เช่นเดียวกับกษัตริย์โปรตุเกส ก็ไม่ได้ซี้ซั้วพระราชทานที่ดิน แต่ให้แก่ "อำมาตย์" ที่มีอำนาจในท้องถิ่นอยู่แล้ว)

ในทางปฏิบัติ "อำมาตย์" ไทยก็มีอำนาจทำนองเดียวกัน แม้ว่าต้องเก็บภาษีส่งหลวง แต่ก็เม้มไว้จำนวนมากโดยเรียกเก็บมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ การ "พึ่ง" เจ้าเมืองในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการยุติธรรม ก็ต้อง "ซื้อ" เหมือนกัน "อำมาตย์" ไทยคือผู้เกณฑ์ไพร่มาร่วมกองทัพในการศึกสงคราม ซึ่งก็เป็นทางหารายได้อย่างหนึ่ง เพราะการตกสำรวจก็ต้อง "ซื้อ" เหมือนกัน และในยามปรกติ ก็อาจเกณฑ์เอาไปใช้งานส่วนตัวได้โดยเมืองหลวงจับไม่ได้ หรือไม่อยากจับให้ได้

ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อที่ดินไม่เป็นของใครนอกจากของกษัตริย์ จึงไม่มีใครอยากจะพัฒนาที่ดิน ยกเว้นในล้านนาซึ่งภูมิประเทศบังคับให้ต้องทำเหมืองฝายแล้ว ไม่มีพระมหากษัตริย์หรือเจ้าเมืองใดที่สร้างระบบชลประทาน คูคลองที่ขุดในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ล้วนทำเพื่อการคมนาคม โดยเฉพาะเพื่อเก็บภาษี (แม้แต่ระบบคลองรังสิต ก็ทำเพื่อเปิดที่นาให้ข้าวไหลเข้าโรงสีได้สะดวก มากกว่าเพื่อนำน้ำไปถึงที่ดิน ก่อนมีประตูน้ำซึ่งสร้างด้วยเงินหลวง ถึงหน้าแล้ง น้ำในคลองก็แห้งหมด)

แม้ว่าเศรษฐกิจตลาดได้ขยายตัวในโปรตุเกสมาก่อนสยามนาน โปรตุเกสส่งออกเหล้าองุ่น และผลไม้ให้ตลาดยุโรป แต่สินค้าทั้งสองชนิดก็หาได้เป็นสินค้าคุณภาพไม่ ที่จริงโปรตุเกสมีโอกาสพัฒนาเหล้าองุ่นของตนให้มีชื่อเสียงได้เท่าฝรั่งเศสไม่ยาก เพราะภูมิอากาศส่วนหนึ่งของประเทศก็ไม่ต่างจากตอนใต้ของฝรั่งเศส (พูดอย่างคนกินไวน์ไม่เป็นนะครับ จึงเอาชื่อเสียงเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่คุณภาพจริงๆ)

ผมคิดว่าในรัฐราชสมบัติซึ่งรวมสยามด้วยนั้น โอกาสที่กระฎุมพีหรือคนชั้นกลางจะกลายเป็นกลุ่มคนอิสระเกิดขึ้นได้ยากมาก กระฎุมพีทั้งในโปรตุเกสและไทย ต่างต้องพึ่งอำนาจของกษัตริย์และ "อำมาตย์" ค่อนข้างสูง

วิธีที่ปลอดภัยกว่าสำหรับกระฎุมพีคือกลืนตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของ "อำมาตย์" ในประเทศไทยคนจีนและมุสลิมจากอินเดีย - ตะวันออกกลางสามารถทำได้มานานแล้ว ในโปรตุเกสยังทำไม่ได้ทันที ต้องทนต่อการเบี้ยวหนี้และอื่นๆ หรือบางครั้งก็ถูกเผาในศาลศาสนา หรือต้องถูกเนรเทศออกไป แต่ในที่สุดก็สามารถกลืนไปได้เหมือนกัน

จนกล่าวกันว่า ในบรรดาสกุล "อำมาตย์" โปรตุเกสในปัจจุบัน แทบจะหาสกุลที่ไม่มีเชื้อยิวปนอยู่ไม่ได้เลย



สมบูรณาญาสิทธิราชย์โปรตุเกส

กษัตริย์ที่เป็นเหมือน ร.5 ของโปรตุเกสคือพระเจ้าจอห์นที่ 2 (Joao II-1481-95) ซึ่งได้รวมอำนาจเข้าศูนย์กลางครั้งแรก และสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นในระยะต้น อาจก่อนเราหลายร้อยปีก็จริง แต่มีอะไรเหมือนกันไม่น้อย

"อำมาตย์" ใหญ่ๆ ที่ครองที่ดินอย่างใหญ่อยู่ถูกกำจัดหรือกำราบให้ยอมอยู่ในบังคับบัญชาโดยตรงของกษัตริย์ แล้วก็ทรงขยายระบบราชการส่วนกลางให้ใหญ่โต ตั้งขุนนางส่วนกลางให้มีอำนาจมากๆ ลดบทบาทของสภาฐานันดรหรือ Cortes ลง เพราะในช่วงนี้กษัตริย์โปรตุเกสมีแต่จะมั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการขยายอำนาจไปต่างแดน จึงไม่ต้องเรียกเก็บภาษีเพิ่ม และไม่ต้องเรียกประชุมสภา

การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น ทำให้รายได้ของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทั้งสองประเทศ (ด้วยปัจจัยที่ต่างกันระหว่างสยามกับโปรตุเกส) แต่ก็ยังรักษาลักษณะสำคัญบางประการของรัฐราชาธิราช ที่รัฐยังเป็นราชสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์ไว้ตามเดิม เหมือนกันในสองประเทศ

ผมมีอะไรที่น่าเปรียบเทียบกันได้ดี ลิสบอนในศตวรรษที่ 16 นั้นเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรไอบีเรีย พอมาถึงศตวรรษที่ 17 ตอนต้น ลิสบอนก็กลายเป็นเมืองใหญ่ที่สามในยุโรปตะวันออก รองปารีสกับเนเปิลส์เท่านั้น ฟังดูก็ไม่แปลกนะครับ ยกเว้นแต่ต้องระลึกไว้ด้วยว่า โปรตุเกสในช่วงนั้นมีประชากรไม่เกิน 1 ล้าน 5 แสนคน เล็กกว่าสเปน 4 เท่าตัว อย่าไปเทียบกับอังกฤษ, ฝรั่งเศส, หรือรัฐเยอรมนีเลย

แสดงว่า "ราชธานี" กระจุกเอาความมั่งคั่งทั้งหมดไว้กับตัว ปล่อยให้เมืองท่าเล็กๆ ตามชายฝั่งเหี่ยวเฉาไป แล้วลองเอามาเทียบกับความเติบโตของกรุงเทพฯ หลังสนธิสัญญาเบาริง ก็จะพบว่าไม่ต่างกันนัก ในขณะที่จันทบูร, นครศรีธรรมราช, สงขลา และปัตตานี ซึ่งเคยเป็นเมืองท่านานาชาติมาก่อนเหี่ยวเฉาลงไปหมด

ความเป็นรัฐราชสมบัติอย่างเหนียวแน่นเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการทำให้โปรตุเกสไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไปสู่การเติบโตของรัฐสมัยใหม่เหมือนอังกฤษ, ฝรั่งเศส และรัฐเยอรมันได้

เพราะนี่เป็นระยะเริ่มแรกที่โปรตุเกสจะได้เงินมหาศาลจากการเสี่ยงภัยในดินแดนอื่น นับตั้งแต่หมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก, แอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน - ญี่ปุ่น และบราซิลในละตินอเมริกา แต่การค้ากับแดนไกลเหล่านี้เป็นสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์ ฉะนั้น ส่วนใหญ่ของกำไรที่ได้จึงตกเป็นของราชสำนัก ไม่ได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของกระฎุมพีอย่างจริงจังนัก

กำไรมหาศาลที่ได้เหล่านี้ กษัตริย์โปรตุเกสนำไปใช้เพื่อซื้อ "อำมาตย์" ให้มาอยู่ใต้อำนาจมากขึ้น และบำรุงบำเรอชีวิตของชนชั้นสูงอย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ราชสำนักโปรตุเกส - ประเทศที่เล็กนิดเดียว - มีพระราชวังที่ใหญ่โตหรูหราไม่แพ้ใครในยุโรปเหมือนกัน

อันที่จริง มีอะไรให้เปรียบเทียบได้อีกแยะ แต่หน้ากระดาษหมดลงแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากชวนให้ผู้อ่านไปเปรียบเอาเองก็คือ โปรตุเกสก็มี "14 ตุลา" เหมือนกัน ซึ่งเกิดหลังเราเพียงปีเดียว แต่ประชาธิปไตยโปรตุเกสไม่ได้ลงเอยเหมือนเราและยังสืบเนื่องมาอย่างค่อนข้างเข้มแข็งถึงปัจจุบัน

ทำไม?



.