http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-16

"นิธิ-พนัส-กิตติศักดิ์" ตอบโจทย์กรณี "อากง-ม.112" เมื่อสังคมไทยอยู่ในยุคสมัยเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่

.

"นิธิ-พนัส-กิตติศักดิ์" ตอบโจทย์กรณี "อากง-ม.112" เมื่อสังคมไทยอยู่ในยุคสมัยเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ( มีคลิปรายการ )
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:10:00 น.


เมื่อวันที่ 12-14 ธันวาคมที่ผ่านมา รายการ "ตอบโจทย์" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมีภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้จัดเวทีสนทนาหัวข้อ "คดีอากง กับ มาตรา 112" โดยมี นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน นักประวัติศาสตร์, พนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาระบบเลือกตั้ง อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอดีตอัยการ และ กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงทัศนะ ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจมากมาย อาทิ

ข้อเสนอของนิธิที่ว่า "ความยุติธรรม" ไม่ได้ลอยอยู่บนฟ้า และไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ "ความยุติธรรม" เป็นความเห็นของมนุษย์ในแต่ละยุค, แต่ละสมัย, แต่ละแห่ง ซึ่งกรณี "อากง" กำลังแสดงให้เห็นว่า มาตรฐาน "ความยุติธรรม" ในสังคมไทย กำลังเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ นิธิ และ กิตติศักดิ์ ยังมีความเห็นสอดคล้องคล้ายคลึงกันว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์" และ เสรีภาพของการแสดงออกตาม "ระบอบประชาธิปไตย" ถือเป็นคุณค่าสำคัญ 2 ประการ สำหรับสังคมไทย เราจึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างคุณค่า 2 อย่างนี้ให้ดีอยู่เสมอ และไม่ควรทำให้คุณค่าทั้งสองมีความขัดแย้งกัน

นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของสังคมไทยเสนอด้วยว่า ถ้าปล่อยให้กม.หมิ่นฯ อยู่ในวินิจฉัยของคนมากเกินไป มันจะล่วงล้ำเข้าสู่สำนึกของคน กระทั่งกลายเป็น "อาชญากรรมของสำนึก" เช่น การที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตำหนิผู้ต้องคำพิพากษา ในเรื่องที่เป็น "ความนึกคิดจิตใจของคน" ซึ่งกฎหมายไม่สามารถควบคุมได้ และไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในตัวบทกฎหมาย

ตามความเห็นของนิธิ ประเด็นอาชญากรรมของสำนึกนี้ ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ


สำหรับการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ประเด็นที่ถูกอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในรายการตอบโจทย์ ก็ได้แก่ การมอบหมายให้องค์กร/คนกลาง องค์กร/คนใดองค์กร/คนหนึ่ง เป็นผู้ฟ้องร้องคดีดังกล่าว มิใช่ให้สาธารณชนเป็นฝ่ายฟ้องร้องดังที่ผ่านมา

ซึ่งกิตติศักดิ์ระบุว่า ที่ผ่านมา มีข้อเสนอให้ อัยการสูงสุด หรือ สำนักราชเลขาธิการ/สำนักพระราชวัง เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการฟ้องร้องคดีหมิ่นฯ

อย่างไรก็ตาม นิธิแสดงความเห็นแย้งว่า ถ้าจะมีหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่ดังกล่าว 1. หน่วยงานที่ว่าต้องไม่มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกับสถาบันฯ เพราะนั่นจะเท่ากับว่าสถาบันฯ กลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีที่ฟ้องร้อง และ 2. ผู้รับหน้าที่เช่นนั้น ต้องมี "ความรับผิดชอบทางการเมือง" และสามารถถูกซักฟอกวิพากษ์วิจารณ์ได้

สอดคล้องกับพนัสที่เห็นว่า ผู้จะมารับผิดชอบตรงจุดนี้ ต้องมี "ความรับผิดชอบทางการเมือง" และต้องเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะกรณีคดีหมิ่นฯ มักเป็นเรื่อง "ทัศนะของสังคม" ซึ่งประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยอดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้ยกโมเดลของ "คณะกรรมการลูกขุนใหญ่" อันประกอบด้วยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ทำหน้าที่พิจารณาสั่งฟ้องคดีสำคัญๆ ในสหรัฐอเมริกา มาอธิบายประกอบ



เมื่อถูกถามถึงอนาคตของสังคมไทย นิธิกล่าวว่า สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปเกินกว่าที่เราจะสามารถรักษาโครงสร้างแบบเก่าเอาไว้ได้แล้ว

ขณะที่สำหรับกิตติศักดิ์ นอกจากจะกล่าวถึงภยันตรายที่อาจเกิดกับสถาบันฯ เมื่อมีการใช้กฎหมายอย่างเกินกว่าเหตุ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นภัยมาจากผู้ที่เป็น "ราชาธิปไตย" ยิ่งกว่าองค์ราชันเสียเองแล้ว เขายังเสนอว่า ในสังคมใด หากคุณค่าเรื่องสัจจะ เหตุผล และสติปัญญา ไม่เจริญ สังคมนั้นก็จะต้องตัดสินปัญหาต่างๆ ด้วยอำนาจ หรือ การใช้กำลัง ทั้งที่สถาบันการเมืองต่างๆ ไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัยเรื่องอำนาจแต่เพียงประการเดียว

ด้านพนัสเห็นตรงกันกับกิตติศักดิ์ว่าสังคมต้องการสัจจะ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเขา ขณะนี้ สังคมไทยกลับถูกปกคลุมไว้ด้วยความกลัว


ช่วงท้ายรายการในเทปที่ 3 ภิญโญสรุปว่ากรณี "อากง" อาจเป็นเพียง "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" ของปัญหาต่างๆ ในสังคมไทย เขาจึงถามผู้ร่วมรายการทั้งสามว่า ภูเขาน้ำแข็งทั้งลูกที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทยคืออะไร? และควรทำอย่างไรจึงจะสามารถหลบหลีกภูเขาน้ำแข็งดังกล่าวไปได้พ้น? ในช่วงเวลาที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ นิยามว่า เป็น "ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย"


ค้นหาคำตอบและรับฟังรายละเอียดการสนทนาทั้งหมด ได้จากคลิปวิดีโอต่อไปนี้


www.youtube.com/watch?v=2K4-lk9RoVo
ตอบโจทย์ คดีอากงกับ ม.112 ตอนที่1 12-12-54



www.youtube.com/watch?v=CybZFcZegm0
ตอบโจทย์ คดีอากงกับ ม.112 ตอนที่2 13-12-54



www.youtube.com/watch?v=ygwebsk_igQ
ตอบโจทย์ คดีอากงกับ ม.112 ตอนที่3 14-12-54




+ + + +

. . เค้าจะ "รา-ควัน" แทนที่จะ "รา-ไฟ" . . เก๊งเก่ง ที่คิดทำลายความอยากรู้อยากเห็นด้วยอำนาจ..แทนที่จะด้วยเวทีสัจจะปัญญา . .

ย้ำเตือน!!! อย่ากด′ไลค์-ฟอลโล่′เว็บหมิ่น อย่าค้นหาคำที่ไม่เหมาะสม ?
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 13:45:03 น.


ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมด้วยคณะทำงาน แถลงที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงความคืบหน้าของการทำงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายกรัฐมนตรีก็เห็นชอบที่จะให้จัดซื้อเครื่องมือตัดสัญญาณ มูลค่า 400 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปราบปรามเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมแล้ว ถือว่าคุ้มค่า เนื่องจากในประเทศที่พัฒนาแล้วแทบทุกประเทศมีเครื่องมือนี้ใช้กันทั้งหมด

พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ในฐานะคณะทำงาน กล่าวว่า ในวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ไอซีทีได้ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงทั้งหมด 126 URL และศาลได้ออกหมายค้น 5 เป้าหมาย ซึ่งทางคณะทำงานได้เข้าตรวจค้นและรวบรวมข้อมูล 2 เป้าหมายแต่ไม่ได้มีการจับกุม

พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้กำกับกลุ่มงานตรวจสอบศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี กล่าวว่า จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไอซีทีประกาศหลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูล ตามมาตรา 26 ปัจจุบันข้อมูลดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะระบุตัวเป้าหมายและเก็บหลักฐานไว้พิสูจน์ จึงจำเป็นต้องจัดหาเครื่องมือมาช่วย ซึ่งระบบดังกล่าวต้องทำภายใต้กรอบกฎหมายและไม่กระทบเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่อยากย้ำเตือนประชาชน หากพบเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ควรไปเผยแพร่หรือเขาไปดูหลายๆ ครั้ง สำหรับเฟซบุ๊ก (www.facebook.com) ก็ไม่ควรไปกดไลค์ (LIKE) หรือหากเป็นทวิตเตอร์ (www.twitter.com) ก็ไม่ควรไปฟอลโล่ต่อ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปค้นหาคำที่ไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นการเพิ่มเรตติ้งให้เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัว

นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ได้เข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม พร้อมเรียกร้องให้เร่งดำเนินการจัดการเว็บหมิ่นสถาบัน โดยสภาทนายความจึงขอเรียกร้องให้ ผบ.ตร.และ รมว.เทคโนโลยีฯจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเพื่อติดตามตรวจสอบ สืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดดังกล่าว



.