โพสต์บทความปีที่แล้ว "เจ้าชายน้อยยืน "ชี้ฟ้า-ชี้ดิน" ขอกำเนิดเป็นพระชาติสุดท้าย โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ "
..มีโพสต์บทร้อยกรองเพิ่ม - เพ็ญ ภัคตะ : คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า?
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
รฦกพระเจ้าตาก ปริศนาวันประสูติ-สวรรคต ถอดรหัสหางม้าทรงพระบรมรูป
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 76
ปริศนาวันประสูติ-สวรรคต
วันที่ 28 ธันวาคม ถูกกำหนดให้เป็นวันพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นวันประสูติหรือวันสวรรคตกันเล่า? เพราะตามธรรมเนียมแล้ว การกำหนดวันของบุคคลสำคัญนั้นมักถือเอาวันใดวันหนึ่งระหว่่างวันเกิดกับวันตายเสมอ
ให้เผอิญว่าวันสวรรคตของพระเจ้าตากสินเต็มไปด้วยความคลุมเครือไร้ข้อสรุป ว่าเป็นวันใดกันแน่ระหว่าง วันที่ 6, 7 หรือ 10 เมษายน 2325 อย่าลืมว่าเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงนั้นชุลมุนชุลเกยิ่งนัก เจ้าพระยาจักรีกำลังปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์หลังจากที่ยึดราชบัลลังก์ของพระเจ้าตากในสภาพสมณเพศได้แล้ว
หลักฐานฝ่ายไทย อาทิ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับโรงพิมพ์หมอบลัดเล ระบุว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกเพชฌฆาตลากตัวไปตัดศีรษะ (ไม่ใช่การทุบด้วยท่อนจันทน์) ถึงแก่พิราลัยในวันที่ 6 เมษายน
ทว่า จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39 ที่เขียนขึ้นตามคำเล่าลือหลังจากเกิดเหตุโศกนาฏกรรมสดๆ ร้อนๆ ไม่ถึง 9 เดือน กลับยืนยันว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตในวันที่ 7 เมษายน
แต่แล้วข้อมูลจากจดหมายเหตุโหรในประชุมพงศาวดารภาค 8 กลับระบุว่า วันสวรรคตของพระเจ้าตากตรงกับวันแรม 13 ค่ำ เดือน 5 หลังจากวันที่เจ้าพระยาจักรีกลับมาถึงเมืองธนบุรีได้เพียง 4 วัน ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศกล่าวว่า เจ้าพระยาจักรีเสด็จกลับมาถึงกรุงธนบุรีในวันที่ 6 เมษายน ถ้าเชื่อตามนี้พระเจ้าตากก็ต้องสวรรคตในวันที่ 10 เมษายน
เมื่อพินิจพิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็น วันที่ 6 เมษายนนั้น ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีของราชวงศ์ใหม่ อาจเป็นไปได้ว่าวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตากอาจถูกกำหนดให้เลื่อนถอยออกมาหลังจากนั้นเล็กน้อย
อย่่างไรก็ตาม ไม่ว่าวันสวรรคตจะเป็นวันที่ 6 หรือ 7 หรือ 10 เมษายน รัฐก็คงละอายใจทีเดียว ที่จะให้ยึดเอาวันที่ยังอยู่ในห้วงเวลาของการเฉลิมฉลองวันจักรีมาเป็นวันรำลึกถึงพระเจ้าตากสินประกบคู่กันอีกวัน
ส่วนวันประสูติของพระองค์นั้นก็สับสนไม่แพ้กัน บ้างระบุว่า 17 เมษายน 2277 แต่หลายท่านเห็นว่าน่าจะเขยิบขึ้นไปเป็นเดือนมีนาคมก่อนหน้านั้นสักสามสัปดาห์ แต่อย่างไรก็ไม่พ้นราศีเมษ หากไม่ใช่วันที่ 22 ก็ต้องเป็น 23 มีนาคม
คือถ้าเชื่อว่าสวรรคตวันที่ 6 เมษายน ก็ต้องประสูติ 22 มีนาคม แต่หากสวรรคต 7 เมษายน ก็ต้องเขยิบวันประสูติเป็น 23 มีนาคม ทั้งนี้ ยังไม่นับว่าหากสวรรคตวันที่ 10 เมษายน แล้วคงจะต้องเลื่อนวันประสูติออกไปอีก 3-4 วัน
การใช้ตรรกะเช่นนี้ เหตุเพราะพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อมีพระชนมายุได้ 48 ปี กับ 15 วัน ในเมื่อไม่มีพงศาวดารฉบับไหนระบุถึงวันประสูติ เราจำเป็นต้องคิดคำนวนย้อนหลังกันเองโดยยึดเอาวันสวรรคตเป็นตัวตั้ง
ปัจจุบันแนวโน้มที่ทำให้คนทั่วไปเชื่อว่าพระองค์ท่านทรงประสูติในวันที่ 23 เมษายน 2277 ก็เพราะวันนั้นตรงกับวันอังคาร ต้องโฉลกถูกจริตกับมหาบุรุษที่เกิดมาเป็นชายชาตินักรบ เพราะดาวอังคารคือเทพเจ้าแห่งสงคราม
ในเมื่อไม่มีความแน่ชัดของวันประสูติและวันสวรรคต ถ้าเช่นนั้นวันที่ 28 ธันวาคม จะเป็นวันอื่นใดไปไม่ได้ นอกเสียจากวันที่พระเจ้าตากสินทรงขึ้นครองราชสมบัติในปี พ.ศ.2310 อันเป็นวันเดือนปีที่ไม่มีข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักของชาวไทยเลยแม้แต่น้อย
มีข้อน่าสังเกตว่าพระเจ้าตากทรงเฉลิมพระนามในพระสุพรรณบัตรว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 อันเป็นนามที่สืบต่อจากสาย "สมเด็จพระบรมราชาธิราช" แห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีมาแล้วสามองค์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชาที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 (เจ้าสามพระยา) และสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระบรมไตรโลกนาถ) ซึ่งเป็นสายราชวงศ์สุพรรณภูมิผสมกับสุโขทัยทางเหนือ หาใช่ราชวงศ์อู่ทองสาย "สมเด็จพระรามาธิบดี" ที่ใช้สัญลักษณ์รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ อันเป็นสายที่สืบต่อมายังราชวงศ์จักรีไม่
พิจารณาให้ดี นาม "สมเด็จพระบรมราชา" นี้สะท้อนถึงความพยายามที่พระองค์ต้องการฟื้นฟูและสืบต่อราชวงศ์ธรรมิกราชาของกรุงศรีอยุธยาที่มีรากเหง้ามาจากสุโขทัยนั่นเอง เนื่องด้วยพระองค์ท่านทรงมีความผูกพันกับเมืองตากและกำแพงเพชร
เห็นได้ว่าพระองค์ท่านมิได้คิดหักหาญตั้งตัวเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ใหม่ ส่วนการที่มาเรียกพระองค์ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ดี หรือพระเจ้าตากสินนั้น เป็นการมาเรียกขึ้นภายหลัง
ถอดรหัสจากหางม้าทรงพระบรมรูป
อนุสรณ์เครื่องรฦกถึงวันพระเจ้าตาก ก็คืออนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ผลงานการออกแบบของ "อาจารย์ฝรั่ง" สุภาพบุรุษแห่งเมืองฟลอเรนซ์ มีชื่อไทยว่า ศ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
น่าแปลกไหม อนุสาวรีย์หล่อตั้งแต่ปี 2480 ยุคพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่กว่าจะได้ติดตั้งต้องใช้เวลาต่อสู้กับกลุ่มอำมาตย์เก่าอยู่นานถึง 17 ปี มาสำเร็จเอาในปี พ.ศ.2497 ยุครัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
และแม้จะทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์อย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่ก็ยังไม่วายถูกขุนนางผู้ดีในยุคนั้นทั้งสายสถาปนิก นักวิจารณ์ศิลปะ และสัตวแพทย์หลายท่านเอาชนะคะคานโจมตีในเรื่องไม่เป็นเรื่องของม้าทรง
เหตุเพราะม้ายืนตรง แต่กลับทำหางชี้สูงไม่ลู่ลง เหล่า "อีหลีด" โวยวายจนเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งหลายฉบับว่า เป็นม้าที่ดูอุบาทว์ ประดักประเดิด สี่ขายืนสงบนิ่งไม่ได้ทำท่ากระโจนสักนิด แต่กลับยกหางสั่นเหมือนพวกขี้ครอกขึ้นวอ ท่าเช่นนี้เหมือนม้ากำลังจะขี้ (ขออภัย การตอบโต้ของอีหลีดยุคนั้นเขาใช้คำว่า "ขี้" ชัดเต็มปากเต็มคำ) อาจารย์ศิลป์โดนรุมประณามว่ามั่วนิ่มนั่งเทียนปั้น
อันที่จริงแล้ว มิใช่ว่าอาจารย์ศิลป์จักไม่รู้เรื่องกายวิภาคของม้าเลย ตรงข้ามท่านให้ความสำคัญกับม้าทรงชิ้นนี้เสียยิ่งกว่างานปั้นชิ้นใดๆ ถึงกับลงทุนปีนนั่งร้านที่มีความสูงกว่าสามเมตรขึ้นไปปรับแต่งแก้ไขปั้นดินจนถึงพอกปูนทุกขั้นตอนในโรงหล่อ หลังจากที่ให้ลูกศิษย์ช่วยกันหล่อปั้นตามแบบแล้ว เป็นเหตุให้ท่านพลัดตกลงมาจากนั่งร้าน จนแขนขาหักต้องเข้าเฝือกอยู่หลายเดือน
นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ศิลป์ยังครุ่นคิดถึงเรื่องสายพันธุ์ของม้า ว่าควรเป็นชนิดใด ต้องไม่ใช่ม้าอาหรับ ม้าออสเตรเลีย หรือม้านอร์แมน หากแต่ต้องเป็นม้าไทยเท่านั้น และเมื่อเป็นม้าไทย อาจารย์ศิลป์ก็ต้องกำหนดส่วนสัดให้แตกต่างไปจากม้าเทศที่เคยศึกษามาจากยุโรป
ปัญหาก็คือ พวกที่วิจารณ์นั้นคือกลุ่มผู้ลากมากดีสยามที่ดูถูกชาวจีนว่าเป็นคนต่างด้าว จึงจ้องแต่จะทับถมเกียรติภูมิของพระเจ้าตากสินผ่านการกดหางม้าทรงไว้มิให้เผยอผยองพองขน อาจารย์ศิลป์จึงถูกบีบให้กลายเป็นหนังหน้าไฟไปโดยปริยาย
ความตั้งใจแรกของอาจารย์ศิลป์นั้น ท่านต้องการนิรมิตม้าทรงของพระเจ้าตากในท่าผาดโผนโจนทะยานกำลังออกศึก เชื่อกันว่าหากไม่โดนกระแหนะกระแหนคอยจิกคอยตอดเป็นระยะๆ พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าตากสินนั้น คงจะต้องมีความงามสง่าสมชายชาติอาชาไนย ดุจเดียวกับอนุสาวรีย์ของพระเจ้านโปเลียนมหาราชที่กรุงปารีส หรือไม่ก็ต้องละม้ายกับรูปม้าทรงของจักรพรรดิทราจันแห่งกรุงโรม ณ ประเทศอิตาลี แผ่นดินมาตุภูมิของอาจารย์ศิลป์โน่นเทียว
ข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจากเอกสารต่างชาติก็คือ เมื่อครั้งที่มีการจ้างวานศิลปินชาวฝรั่งเศสหล่อพระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 นั้น ทางสยามต้องการให้ม้าทรงอยู่ในท่ายกขาหน้าเหมือนม้าของนโปเลียน แต่ทางโรงหล่อที่ยุโรปแย้งกลับมาว่า ท่าม้าเผ่นผยองหรือยกขาหน้าตามธรรมเนียมสากลมีไว้สำหรับจักรพรรดิที่เป็นนักรบเท่านั้น
โรงหล่อกรุงปารีสมีความเห็นว่า รัชกาลที่ 5 ไม่ใช่กษัตริย์นักรบยกทัพทำสงครามด้วยพระองค์เอง จึงไม่อาจสร้างรูปทรงม้าในท่าเผ่นโผนตอบสนองความต้องการของผู้จ้างได้ จึงปั้นในท่าขี่ม้าสงบนิ่งตามที่เราเห็น
แต่สำหรับพระเจ้าตากสินมหาราช อาจารย์ศิลป์ท่านเป็นคนยุโรป จึงย่อมเข้าใจเรื่องนี้ค่อนข้างดี เมื่อเริ่มต้นก็ได้ปั้นม้าผาดโผนโจนทะยานอย่างออกรสชาติ แต่แล้วสุดท้ายอำนาจพิเศษบางอย่างได้เข้ามากำกับ ไม่ต้องการให้มหาราชพระองค์นี้ดูโดดเด่นเกินหน้าเกินตาพระรูปทรงม้าที่มีอยู่เดิม ทำให้ต้องแก้ไขพิมพ์เขียวของม้าทรงถึง 5 ครั้ง
เมื่อไม่สามารถบันดาลให้ม้าทรงยกขาหน้าได้ดั่งที่ควรจะเป็น อาจารย์ศิลป์จึงแอบซ่อนรหัสนัยไว้ที่หางของมันให้ชี้ตระหวัดขึ้น เป็นภาพของม้าที่อยู่ในอิริยาบถเคร่งเครียด พร้อมที่จะออกวิ่งทะยานอยู่ทุกขณะ รอแต่ว่าเมื่อไหร่องค์จอมทัพจักกระชับบังเหียนให้สัญญาณเท่านั้น
พลันม้าทรงก็พร้อมที่จะกระโจนไปข้างหน้าอย่างไม่รั้งรอ ปากเผยอจนเห็นฟันและหางที่เป็นพวงชี้สูงนั้น นับว่าสอดคล้องแล้วกับความตื่นคะนองของม้าศึก
อุปมาดั่งนักมวยหรือเสือที่กำลังจ้องจับเหยื่อมักเขม็งเกร็งกล้ามเนื้อ ย่อมดูมีพลังดุดันน่ากลัวมากกว่าเมื่อมันตะปบเหยื่อได้แล้ว เหล่าอีหลีดจึงไม่ควรมาแหย่หาเรื่องตัดหางม้าทิ้ง เพื่อหล่อใหม่แล้วให้ท่อนหางของมันลู่ลีบยืนจ๋องอย่างไร้ศักดิ์ไร้ศรี
ควรพึงสำเหนียกไว้ด้วยว่า ม้าทรงตัวนี้กำลังประกอบวีรกรรมกอบกู้ชาติ หาใช่อนุสาวรีย์ของนายทัพที่นั่งผึ่งผายอยู่บนหลังม้าเพื่อรับคำสรรเสริญพระบารมีอย่างกึกก้องจากฝูงชนที่คับคั่งตามท้องถนนโห่ร้องต้อนรับผู้มีชัย ซึ่งม้าเหล่านั้นมักมีลักษณะสวยงามเหมือนม้าที่ฝึกในละครสัตว์
ภายใต้สภาวะที่ศิลปินถูกกดดันจาก "มือที่มองไม่เห็น" หางม้าทรงจึงเป็นสัญลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวที่ใช้เป็นเครื่องมือประกาศยกย่องฤทธานุภาพและความสง่างามของพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างสมบูรณ์แบบ
+ + + +
บทความเดือนธันวา ปีที่แล้ว ( 2553 )
เจ้าชายน้อยยืน "ชี้ฟ้า-ชี้ดิน" ขอกำเนิดเป็นพระชาติสุดท้าย
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1584 หน้า 75
โบราณวัตถุสองภาพนี้ ถือว่าพิเศษสุดในวงการโบราณคดีบ้านเรา เท่าที่พบในสยามมีเพียงสององค์เท่านั้น องค์หนึ่งพบที่สุโขทัย และอีกองค์เพิ่งค้นพบใหม่ไม่นานที่ลำพูน
น่าเสียดาย ที่ประติมากรรมสำริด ซึ่งพบในห้องกรุบนพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดมหาธาตุสุโขทัย อายุกว่า 700 ปีได้หายสาบสูญไปโดยมิจฉาชีพตั้งแต่หลังปี พ.ศ.2496 เล็กน้อย เหลือแต่ภาพถ่ายขาวดำเก่าๆ เพียงภาพเดียวที่อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 3 สุโขทัย มะลิ โคกสันเทียะ เคยขอถ่ายไว้จากพระปลัดบุญธรรม เจ้าอาวาสวัดตระพังทอง ครั้นเมื่อท่านสึกโบราณวัตถุก็สูญตามไปด้วย
เป็นประติมากรรมรูปเจ้าชายสิทธัตถะร่างอ้วนท้วน พระพักตร์กลมอิ่ม ตามรูปแบบศิลปะสุโขทัยยุคแรกสุด หรือที่นักโบราณคดีเรียกว่า "หมวดวัดตะกวน" คือรับอิทธิพลการทำพระวรกายอวบกลมมาจากทางลังกาเต็มๆ
ต่างกับอีกองค์หนึ่ง เป็นประติมากรรมสำริดรูปร่างผอมเพรียว ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2550 ซึ่งดิฉันเองได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่กำลังขุดแต่งบริเวณฐานชั้นล่างลึกจากพื้นดินราวเมตรเศษของพระเจดีย์เชียงยันด้านทิศเหนือ ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
ประติมากรรมสำริดยุคล้านนาสิบกว่าชิ้น กำหนดอายุได้ราวสมัยพระเจ้าติโลกราชคือราว 550 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย ทุกชิ้นล้วนแต่มีความโดดเด่นและสร้างปริศนาทัดเทียมกัน แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะรูปของเจ้าชายสิทธัตถะปางประสูติ ด้วยการยืนชี้ฟ้าชี้ดินเท่านั้น ในเมื่อที่สุโขทัยได้สูญหายไปอยู่ในมือพ่อค้าของเก่าแล้ว ประติมากรรมสำริดที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ย่อมกลายเป็นหลักฐานสำคัญของพระพุทธรูปปางประสูติเพียงองค์เดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในสยาม
และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางวัดคงช่วยกันรักษาเป็นอย่างดีมิให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยเดิม
ทําไมถึงได้พบน้อยเหลือเกินในประเทศไทย?
เหตุเพราะปางชี้ฟ้าชี้ดินนี้เป็นรูปแบบเฉพาะตามคติพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ทำขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน ราวพุทธศตวรรษที่ 11 ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในวัฒนธรรมอินเดียหรือลังกาในสายพุทธเถรวาท จากนั้น จีนได้ส่งอิทธิพลไปยังสายทิเบต เนปาล ญี่ปุ่น เกาหลี
โดยปกติการทำรูปเคารพปางประสูติของอินเดียและกลุ่มอุษาคเนย์ นิยมแสดงด้วยรูปพระนางสิริมหามายาเหนี่ยวกิ่งไม้สาละ มีพระโอรสน้อยคลอดออกจากพระปรัศว์ (สีข้าง) ด้านขวา หรือไม่ก็แสดงออกด้วยปาง "คชลักษมี" คือทำรูปพระพุทธมารดาประทับนั่งขัดสมาธิบนดอกบัวหว่างกลางช้างสอง (หรือสี่) เชือกที่กำลังสรงน้ำอวยพร
ดังนั้น จึงน่าสนใจยิ่งว่า ทั้งที่ลำพูนและสุโขทัย ต่างก็เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอันแข็งแกร่งของสายเถรวาทในอดีต แต่ไฉนกลับปรากฏประติมากรรมในรูปแบบเฉพาะของพุทธสายมหายาน
หรือว่าประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้ คือประจักษ์พยานแห่งการเผยแผ่อิทธิพลของพุทธศาสนาสายมหายานที่ปะปนแทรกเข้ามาในอาณาจักรล้านนาและสุโขทัยอย่างแยบยล?
ทําไมต้องชี้ฟ้าชี้ดิน?
คัมภีร์พุทธประวัติทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า ภายหลังจากที่พระนางสิริมหามายาทรงประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ กลางป่าที่ลุมพินีสถานแล้ว ทันทีที่เจ้าชายน้อยกำลังจะหย่อนพระบาทลงแผ่นดินพลันมีพุทธปาฏิหาริย์บังเกิดดอกบัวบานผุดขึ้นมารองรับให้ก้าวเดินจำนวนเจ็ดดอก
ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเหลือเชื่อนี้สร้างความสงสัยคลางแคลงใจให้แก่พุทธศาสนิกชนที่เคารพเหตุผลและไม่เชื่อเรื่องฤทธิ์อำนาจที่พิสูจน์ไม่ได้มาทุกยุคทุกสมัย
แต่ในท้ายที่สุด ก็โล่งใจได้ เมื่อมีคำอธิบายชุดที่ว่า "การย่างเดินทั้ง 7 ก้าว" นี้เป็นเพียง "บุคคลาธิษฐาน" ว่าพระพุทธองค์จะทรงประกาศศาสนธรรมไปทั่วทั้งจักรวาลถึงเจ็ดทิศา
ส่วนการชี้ฟ้าชี้ดินนั้นเล่า ทำไปเพื่ออะไร
ทรงชี้ฟ้าและดินพร้อมกับขณะย่างเดินบนดอกบัวทั้งเจ็ดก้าว พลางตรัสให้ฟ้า-ดินมาร่วมเป็นสักขีพยานว่า
"เราคือมหาบุรุษ และนี่จะเป็นพระชาติสุดท้ายของเราแล้ว!"
คัมภีร์ฝ่ายมหายานตีความว่า การแสดงพระหัตถ์เบื้องขวายกขึ้นชี้ฟ้า และพระหัตถ์เบื้องซ้ายเหยียดลงชี้แผ่นดินนั้น เนื่องจากเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งฟ้าแลดิน
ซึ่งตรงกับคำทำนายพระสุบินนิมิตคราวที่พระนางสิริมหามายาทรงฝันเห็นช้างเผือกก่อนทรงพระครรภ์ หมายถึง ผู้มีบุญญาธิการที่กำลังจะมาจุติพระองค์นั้นย่อมต้องเป็นมหาบุรุษ ถ้าไม่เป็นใหญ่ทางโลกในระดับพระจักรพรรดิราช ก็ต้องเป็นใหญ่ทางธรรมในระดับพระมหาศาสดา ประหนึ่งผู้หยั่งรู้ฟ้าแลดิน
นัยความหมายของ "ฟ้า" และ "ดิน"
นัยแห่ง "ฟ้า" นั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าสงสัยเท่ากับนัยแห่ง "ดิน" เพราะแผ่นฟ้านั้นบางเบา เทียบได้กับความร่มเย็นเป็นสุขและคุณธรรมที่จะทรงสั่งสอนแก่พุทธศาสนิกชน
ที่น่าสนใจคือนัยแห่ง "ดิน" มากกว่า
"พลิกแผ่นดินให้หงาย ทายแผ่นดินให้คว่ำ" เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในคำทำนายพระชะตาของเจ้าชายสิทธัตถะ ว่าทรงเกิดมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ จะเห็นว่าในทางประติมาณวิทยาได้ทำพระหัตถ์ซ้ายของเจ้าชายน้อยชี้ลงที่แผ่นดิน น่าจะหมายถึงการแผ่พระพุทธานุภาพให้แก่สรรพสัตว์ที่ร่วมสังสารวัฏ สัญลักษณ์ของดินหรือแผ่นดิน คือความหนักแน่น และยังหมายถึงสักขีพยาน เห็นได้จากอีกเหตุการณ์หนึ่งตอนใกล้ตรัสรู้ธรรม ขณะถูกมารผจญทรงชี้นิ้วเรียกแผ่นดินหรือพระแม่ธรณีให้มาร่วมเป็นพยานในการต่อสู้กับกิเลสมาร
กระทั่งมหากวีศรีอยุธยา "ศรีปราชญ์" ก่อนถูกประหารชีวิตยังต้องเรียกแผ่นดินมารับรู้ถึงความบริสุทธิ์ซึ่งถูกใส่ร้ายป้ายสีเช่นเดียวกัน เชื่อว่าการที่ศรีปราชญ์ได้อวดอ้างเอาธรณีนี่นี้มาเป็นพยานนั้น เป็นเพราะแตกฉานเรียนรู้เรื่องพุทธประวัติมาไม่น้อย
ภายหลังจากก้าวเดินได้เจ็ดก้าวแล้ว พญานาคสองตัวชื่อ "นันทะ" และ "อุปนันทะ" ได้เนรมิตบ่อน้ำทิพย์ขึ้นมาเพื่อ "สรงน้ำ" ถวายแด่เจ้าชายสิทธัตถะเป็นครั้งแรก
ฉากนี้ชวนให้นึกถึงพิธี Baptise ถือศีลจุ่มของพระเยซูในศาสนาคริสต์มากทีเดียว รวมไปถึงการที่มหาบุรุษของโลกล้วนแล้วแต่ประสูติกลางดินกลางทราย กลางป่า กลางกองฟาง ทั้งสิ้น ไม่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะ พระเยซู พระมะหะหมัดของศาสนาอิสลาม แทบไม่มีศาสดาองค์ไหนถือกำเนิดบนราชบัลลังก์ท่ามกลางกองเงินกองทองเลย แม้จะมีชาติตระกูลสูง สะท้อนว่า "ดินก้อนแรก" ที่มหาบุรุษต้องสัมผัสคือการเรียนรู้ชีวิตคนที่ต้อยต่ำตั้งแต่รากหญ้าหรือจากดินขึ้นไปจนถึงฟ้า โดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ
น้ำจากท่อทั้งสองที่นาคพ่นมาสรงนั้น ท่อหนึ่งคือน้ำร้อน อีกท่อคือน้ำเย็น น้ำร้อนเปรียบได้กับ ความทุกข์ความร้อนรุมสุมทรวง นั่นคือการต้องเรียนรู้จักกับ "ทุกรกิริยาทางกาย" ส่วนน้ำเย็นนั้นเปรียบได้กับ "วิริยะทางจิต" คือสุดท้ายต้องทรงใช้น้ำใสเย็นเข้าชำระสะสางกิเลสและมลทินให้หมดสิ้นไป
มีข้อน่าสังเกตว่า พุทธศาสนานิกายมหายาน เน้นเรื่องการพินิจความสมดุลและความขัดแย้งของ "คู่ที่อยู่ตรงกันข้าม" เพื่อมองทะลุให้เห็นโลกรอบด้าน เฝ้าสังเกตอนิจจลักษณ์อันผันแปรเปลี่ยนแปลงแบบ "หยิน-หยาง" เช่น กลางคืน-กลางวัน พระจันทร์-พระอาทิตย์ หญิง-ชาย ดิน-ฟ้า ร้อน-เย็น ทุกข์-สุข จน-รวย
ขึ้นอยู่กับภูมิธรรม-ภูมิปราชญ์ของแต่ละคน ว่าจะสามารถตีความคติปรัชญาของ "เหรียญสองด้าน" ที่ศาสนาพุทธสายมหายานซ่อนนัยไว้ได้ทราบซึ้งเพียงใด คนที่ "ทุกข์-ต่ำ-ดำ-มืด" ย่อมซึ้งรู้ชัดถึงสัจธรรมข้อนี้ดี เกรงแต่เพียงคนที่กำลังระเริงเสพสุขในวังวนของ "สุข-สูง-ขาว-สว่าง" นั้น จักหลงยึดติดว่าตนสามารถครอบครองโลกด้านบวกได้เป็นนิรันดร์
อวิชชาแท้ๆ!!!
+ + +
เพ็ญ ภัคตะ : คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า ?
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Tue, 2011-12-20 20:24
เพ็ญ ภัคตะ : คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า?
พวกเธอเป็นคนไทยใช่หรือเปล่า?
...อันข้าเจ้าชาวเหนือเชื้อเชียงรุ่ง
ลื้อปนเงี้ยวเขินยองล่องเชียงตุง
เกิดแต่กรุงเชียงใหม่กลายเป็นยวน
พวกสูเป็นคนไทยใช่หรือเปล่า?
...ข้อยเป็นลาวอีสานแคว้นแดนเชียงม่วน
เชื้อผู้ไทไดเวียดแกวกาวล้วน
หลากไทพวนลาวโซ่งโขงจามปา
พวกแกเป็นคนไทยใช่หรือเปล่า?
...ขยมเป็นขะแมร์เคล้าขมุข่า
เป็นลูกส่วยหลานกูยเหลนละว้า
โหลนกุลาร้องไห้ไร้มูนริน
พวกเจ้าเป็นคนไทยใช่หรือเปล่า?
...สายเลือดเราศรีวิชัยไทยทักษิณ
แขกลังกามลารัฐปัตตนิน
คนพื้นถิ่นมอร์แกนแดนซาไก
พวกเอ็งเป็นคนไทยใช่หรือเปล่า?
...ยังถือใบต่างด้าวเข้าเมืองใหม่
แม่เป็นจีนฮกเกี้ยนชื่อกิมไล้
พ่อกะเหรี่ยงปนไทใหญ่อ้ายโปธา
พวกหนูเป็นคนไทยใช่หรือเปล่า?
...หนูเลือดท้าวปนขุนรุ่นขี้ข้า
โคตรปู่ทวดบาทหลวงวิลันดา
โคตรยายย่าอำมาตย์มอญก่อนเสียเมือง
คุณท่านเป็นคนไทยไหมขอรับ?
...พาสปอร์ตกลับมะริกัน นั่นปมเขื่อง
เป็นไทยแท้แม้เติบใหญ่ยุโรปเรือง
อย่าแหย่เรื่องสัญชาติเสียว เดี๋ยวเข้าตัว!
- - - - - - - - -
มีผู้แต่งร้อยกรองร่วมส่วน ที่ www.prachatai.com/journal/2011/12/38407
.