http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-19

"รธน."ฉบับอันตราย..โดย มุกดา, ประชาชนต้อง "รู้ทัน" โดย นายดาต้า

.
มีโพสต์บทความที่สะท้อนการเลือกระหว่างเป้าหมายกับ 'การประคองตัว '
- ยุติ การเคลื่อนไหว รัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม เท่ากับ ตัด "เงื่อนไข"
- จับตา "เพื่อไทย" ดึงเกม "แก้ รธน.-นิรโทษ-พ.ร.บ.กลาโหม" ตกผลึก "รอมชอม" หรือ "บังเอิญ"

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


"รัฐธรรมนูญ" ฉบับอันตราย สร้างความตายและนักโทษการเมือง
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 20


โลกเปลี่ยนแปลงในทางที่ก้าวหน้า แต่ประเทศไทยมีคนพยายามจะหมุนการเปลี่ยนแปลงให้ย้อนกลับหลัง ทำให้เกิดสิ่งแปลกประหลาดในการเมืองของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

คือ มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้คนกลุ่มเล็กๆ มีอำนาจมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ ผู้ต่อต้านจะมีความผิดกลายเป็นนักโทษการเมือง

ตัวอย่างคือพวกที่ติดคุกปีครึ่ง เพราะมาร่วมชุมนุมต่อต้านอำนาจจากการรัฐประหารซึ่งขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ส่วนพวกที่ทำรัฐประหารและผู้สนับสนุนก็ได้ดิบได้ดี มีความสุขกับโครงการหมื่นล้าน แสนล้านร่ำรวยกันจนต้องกองเงินไว้ตามตู้ ตามพื้น

เคล็ดวิชาที่ใช้ในการย้อนการเปลี่ยนแปลง คือ บังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ต่อไป ถ้ามีการต่อต้านมากๆ ให้ร้องตะโกนว่า "ระวัง...ทักษิณ มาแล้ว"



รัฐธรรมนูญ 2550
ผลพวงของการรัฐประหาร
ที่เป็นอันตรายต่อสังคม

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งกำลังจะครบ 80 ปี ในอีกไม่กี่เดือนนี้ ทำให้เรามีรัฐธรรมนูญที่ใช้นำร่องฝ่าคลื่นลมเผด็จการมาหลายฉบับ แม้จะถูกฉีกทิ้ง ก็ร่างใหม่ ถูกฉีกอีกสลับกันไป เราเคยมีรัฐธรรมนูญที่คิดว่าดี เช่น ฉบับ พ.ศ.2475, พ.ศ.2489, พ.ศ.2517, พ.ศ.2540

แต่หลังรัฐประหาร 2549 คณะรัฐประหารก็ยัดเยียดฉบับ 2550 มาให้ใช้ เพราะมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มอำนาจเก่าแปลงกายเตรียมสืบทอดอำนาจแม้คณะรัฐประหารจะสลายตัวลงไปแล้ว โดยใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่เปิดช่องทาง ให้ใช้อำนาจที่ยึดมา ผ่านองค์กรต่างๆ ได้ตลอดไป ตราบเท่าที่ยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้

ความขัดแย้งในสังคมจึงก่อตัวและขยายไม่หยุด จนถึงขีดอันตราย ขนาดมีสไนเปอร์มาดักยิงหัวผู้ต่อต้าน (แม้รองนายกฯ เฉลิม อยู่บำรุง จะบอกว่ารู้แล้วว่ามาจากหน่วยไหน แต่ผู้วิเคราะห์ข่าวทางนี้แจ้งว่า ทีมยิง เสธ.แดง ไม่ใช่ทีมยิงในคืนวันที่ 10 เมษายน แน่นอน) ในที่สุดก็มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก และจะยังไม่ยุติ จนกว่าจะแก้ไขต้นเหตุ

มีคนบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 คือ ฉบับ...ร่วมกันเขียน เวียนกันตั้ง เพื่อรั้งอำนาจไว้ ชั่วนิรันดร์


อำนาจ ชี้เป็น ชี้ตาย อยู่ที่ใครกันแน่?

ลักษณะเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คืออำนาจการแต่งตั้งจะอยู่ที่วุฒิสภา+ตุลาการกลุ่มหนึ่ง+ประธานองค์กรอิสระ

วุฒิสภามีสมาชิก 150 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน (เดิมมี 76 จังหวัด) มาจากการสรรหา 74 คน กรรมการสรรหามี 7 คน หมายความว่า คน 60 ล้านคนสามารถเลือกวุฒิสมาชิกได้ 76 คน และคน 7 คน ก็สามารถเลือกวุฒิสมาชิกได้ 74 คน

ผู้สรรหาทั้ง 7 ประกอบด้วย...

1. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ มาจากการคัดเลือกของตัวแทนผู้พิพากษา ศาลฎีกา 3 คน โดยคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน โดยการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์สองคน ด้านรัฐศาสตร์สองคนซึ่งเลือกโดยที่ประชุมวุฒิสภา รวมแล้วจะได้ศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน เลือกประธานได้ 1 คน

2. ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน สรรหาโดยประธานศาลฎีกาและที่ประชุมศาลฎีกา 84 คน เสนอชื่อให้วุฒิสภาเลือก ในเดือนกันยายน 2549 และคณะรัฐประหาร คปค. ให้ดำรงตำแหน่งต่อมาถึงปัจจุบัน

3. ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สรรหาโดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนฯ และผู้ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมศาลฎีกา ร่วมกันเสนอชื่อให้วุฒิสภาเลือก

4. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาจากการสรรหาโดยกรรมการคือ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนฯ ผู้นำฝ่ายค้าน แล้วเสนอชื่อให้วุฒิสภาเลือก

5. ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คปค. ตั้งแต่ 22 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ถ้ามีการสรรหาก็ต้องผ่าน ศาลและวุฒิสภาเช่นกัน

6. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย

7. ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย

จะเห็นว่า กรรมการสรรหาทั้ง 7 คนมีสิทธิ์เลือกสมาชิกวุฒิสภา และวุฒิสภาก็มีสิทธิ์เลือกกรรมการหรือรับรองกรรมการจากองค์กรต่างๆ



ตุลาการภิวัฒน์เริ่มที่นี่

ถ้าพิจารณาจากวิธีการเลือก จะพบว่า ประธานตุลาการในศาลต่างๆ จะมีบทบาทสูงในการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ สายตุลาการส่วนใหญ่จะมีเสียงเกินครึ่ง

แม้ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาสรรหา ดังนั้น เสียงส่วนนี้จะมีน้ำหนักในการตัดสินว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเกือบทุกองค์กร แม้จะมีการรับรองหรือเลือกขั้นสุดท้ายโดยวุฒิสภาแต่วุฒิสภาเกือบครึ่งหนึ่งก็มาจากการตัดสินใจเลือกของคณะตุลาการ

ลักษณะการเลือกแบบนี้จึงเป็นการมอบความไว้วางใจให้คนกลุ่มเดียวผลัดกันเลือก บุคคลที่ตนเองพอใจหรือเชื่อใจไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ทั้งยังเกิดความเกรงใจกัน เนื่องจากมีความสัมพันธ์ดั้งเดิมและเคยเลือก เคยตั้งกันมา

กระบวนการทั้งหมดจึงมีอำนาจหรือความประสงค์ของประชาชนเข้าไปเกี่ยวพันน้อยมาก

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550 ถูกนำมาใช้ ก็เท่ากับว่ากระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว สภาพที่เป็นจริงในวันนี้ เราจึงเห็นกระบวนการยุติธรรม ที่เริ่มจาก กกต. หรือ ป.ป.ช. แล้วก็ไปจบที่ศาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สอนทำกับข้าวออกทีวีของนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ยุบพรรคสมัยนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือคดีที่เริ่มจากการสอบสวนธรรมดาแต่เป็นเรื่องการเมือง ของกลุ่มเสื้อแดง เสื้อเหลือง ใครจะติดคุก ใครจะไม่ต้องติดคุก ใครจะรอลงอาญา ใครที่จะหมดอายุความ ชาวบ้านพอเดาได้

ผู้วิเคราะห์การเมืองยอมรับว่า ในเชิงการยุทธ์ผู้ที่ใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นอาวุธทีมนี้ถือว่ามีฝีมือ ทั้งคนคิด คนร่าง แม้ไม่ซับซ้อนแต่ก็ใช้ได้ผล

เพียงแต่พวกเขาลืมคิดไปว่า ความอยุติธรรมที่สร้างขึ้นหลายๆ ครั้งจะปลุกผู้รักความเป็นธรรมให้ลุกขึ้นสู้

ศัตรูซึ่งไม่น่าจะมีก็ถูกสร้างขึ้น จากหนึ่งคนเป็นหนึ่งกลุ่มและตอนนี้ก็ขยายไปเกินครึ่งประเทศแล้ว

แม้ที่ผ่านมาจะมีคนตาย และถูกจับไปเป็นนักโทษการเมือง แต่การต่อสู้ยังยืดเยื้อต่อไป จะจบแบบไหนไม่มีใครรู้



นักโทษการเมือง...คนที่คิดต่าง

แม้รัฐบาลเก่าจะไม่ยอมรับว่ามีนักโทษการเมือง แต่วันนี้ประเทศไทยจะปัดฝุ่น เช็ดถู คุกนักโทษการเมืองเพื่อใช้งานอีกครั้ง

นี่ก็เป็นการย้อนยุค

เพราะในอดีตมีการกักขังแยกนักโทษการเมืองออกจากนักโทษธรรมดามาหลายสิบปีแล้ว บางยุคถึงขั้นส่งไปอยู่เกาะ

ผู้วิเคราะห์รุ่นอาวุโสวัย 80 เล่าว่า เคยเป็นนักโทษการเมือง ในยุคเผด็จการจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี 2495 มีการกวาดจับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรวมทั้งพวกความคิดก้าวหน้า

เขาเล่าว่า ช่วงแรกถูกนำไปขังไว้ที่อาคาร ในกรมตำรวจ ใช้รั้วลวดหนามล้อม เรียกว่าเรือนจำพิเศษปทุมวัน ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งโรงพยาบาลตำรวจ หลังจากถูกขังอยู่ 84 วัน ก็ปล่อยส่วนที่ไม่ฟ้องออกไป ที่เหลือส่งไปขังไว้ที่คลองเปรม อยู่ในแดนพิเศษ และต่อมาก็ถูกย้ายไปแดน 6 คุกบางขวาง ได้รับการปล่อยตัวในประมาณปี พ.ศ.2500

ในยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ก็มีการกวาดจับนักโทษการเมืองครั้งใหญ่หลายร้อยคน นำมาขังไว้ที่คุกบางเขน แต่ต่อมาก็ย้ายไปขังในแดนพิเศษในเรือนจำลาดยาว

ช่วงหลังการมีนักโทษการเมืองเป็นเรื่องน่าอับอายของประเทศประชาธิปไตย หลายประเทศจึงปฏิเสธว่าไม่มีนักโทษการเมือง และพยายามอ้างว่าบุคคลที่ถูกขังเหล่านั้นได้ทำผิดในคดีอาญาต่างๆ ทั้งๆ ที่ต้นเหตุความขัดแย้งมาจากความขัดแย้งเชิงความคิดและอุดมการณ์หรือการชิงอำนาจ


สำหรับในประเทศไทยหลังการรัฐประหาร 2549 ความขัดแย้งทางการเมืองก็รุนแรงขึ้น มีการชุมนุม เดินขบวน ปิดถนน ยึดสถานที่ราชการ ยึดสนามบิน มีการปะทะและการปราบปรามจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก มีคนต้องติดคุกด้วย

สาเหตุจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้ มีคนถูกตั้งข้อหายังไม่ได้ถูกฟ้องร้องอีกเป็นจำนวนมาก

หากไม่มีการนิรโทษกรรม (ซึ่งทุกฝ่ายอ้างว่าไม่ต้องการให้มี) ก็จะมีคนถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุกมากพอสมควร นอกจากนี้ ยังมีนักโทษที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าทำผิดมาตรา 112 อีกจำนวนมาก

การมีสถานที่เฉพาะสำหรับนักโทษการเมืองเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนักโทษการเมืองไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นคนที่มีความคิดและอุดมการณ์ต่าง

เรือนจำชั่วคราวหลักสี่หรือคุกบางเขน ในยุคหลังก็เคยขังนักโทษการเมืองเช่น นักศึกษาที่ถูกจับในการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 พลตรีจำลอง ศรีเมือง ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เรื่องแบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหายอะไรกลับเป็นเรื่องดีที่คนทั่วไปจะได้รู้สภาพความเป็นจริงในสังคม

แต่สภาพนักโทษการเมืองบ้านเราในปัจจุบัน มีลักษณะกลับข้าง แบบผิดธรรมชาติ



มีแต่นักโทษการเมืองที่เชียร์รัฐบาล

ผู้วิเคราะห์รุ่นอาวุโสที่เคยเป็นนักโทษการเมือง บอกว่าแทบทุกแห่งในโลก แม้ในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ นักโทษการเมืองก็ล้วนอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

แต่วันนี้พวกเสื้อแดงที่เชียร์รัฐบาลยังถูกขังอยู่ในคุก เป็นนักโทษการเมือง ส.ส. บางคนของรัฐบาลทำท่าจะถูกถอดถอน และอาจติดคุกเปลี่ยนฐานะเป็นนักโทษการเมือง

การมอบตัวของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ก็ไม่ได้รับการประกันตัว

ฝ่ายตรงข้ามแม้จะเคยยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ก็ยังมีความสุขอยู่นอกคุก ไม่ต้องเป็นนักโทษการเมือง

คนที่เคยหวังว่าทั้งสองกลุ่มจะไปติดคุกอยู่ด้วยกันและกลับมาดีกันคงต้องคอยอีกนาน

การให้หัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน มาเป็นประธานกรรมาธิการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ คงไม่มีผลอะไร เพราะไร้อำนาจทางทหารแล้ว

เหตุการณ์ทั้งหมดได้บ่งบอกว่า การพัฒนาทางการเมืองแม้ไม่หมุนกลับแต่ก็จะหยุดชะงัก การได้เป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมาย แต่ไร้อำนาจ ถ้าไม่รู้ว่าฐานอำนาจจริงๆ อยู่ที่ไหนและจะนำมาใช้อย่างไร ก็จะต้องเป็นนักโทษการเมืองไปตลอดชีวิต


ผู้วิเคราะห์อาวุโสประเมินสถานการณ์ในบ้านเมืองเราแล้วสรุปว่า มีแต่ทางออกที่เสียมากกับเสียน้อย และวันนี้มีทางเลือกสามทางที่อริสมันต์ทำให้ดูแล้วคือ ทางแรก หนีไปต่างประเทศ ทางที่สอง กลับมาติดคุก ส่วนทางที่สาม เป็นทางออกที่ต้องทำให้อีกฝ่ายติดคุก

ถ้าจะปรองดองต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับอันตราย มิฉะนั้น ก็ต้องมีคนตายและนักโทษการเมือง



++

ประชาชนต้อง "รู้ทัน"
โดย นายดาต้า คอลัมน์ เมนูข้อมูล
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 21


หลังน้ำท่วมใหญ่ ทุกฝ่ายเห็นว่าเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มจะย่ำแย่ลง แม้จะเชื่อว่าเริ่มจากไตรมาสแรกของปีหน้าจะดีขึ้น แต่ทุกสถาบันวิเคราะห์ ล้วนตั้งเงื่อนไขไว้ว่า "การเมืองต้องไม่เป็นอุปสรรค"

ทุกครั้งที่มีการประเมินความเป็นไปด้านเศรษฐกิจ หรือแนวโน้มของปัญหาสังคม เมื่อถึงหัวข้อที่มองกันถึงเงื่อนไขที่จะเป็นอุปสรรคมักลงที่ "การเมือง"

หาก "การเมือง" ไม่มีปัญหาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

ตรงนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า

ในกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

เศรษฐกิจที่ดี สังคมมีความสุข เป็นเป้าหมาย

นั่นหมายถึงต้องเกิดขึ้นจากการสร้างผลงานของผู้มีหน้าที่บริหารประเทศ

เราเลือกที่จะบริหารประเทศด้วยระบบประชาธิปไตย นั่นหมายความว่าเรายอมรับการมีสถาบันหลักที่รับผิดชอบในการนำพาประเทศไป คือ รัฐบาลดูแลในเรื่องบริหาร รัฐสภาดูแลในเรื่องนิติบัญญัติ และศาลผู้แลในเรื่องตุลาการหรือความยุติธรรม

หากกลไกเหล่านี้ประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งทำหน้าที่ให้เป็นไปตามเป้าหมาย การพัฒนาประเทศจะประสบความสำเร็จ

การบริหารประเทศจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ศักยภาพของคนในสถาบันทั้ง 3 นี้

แม้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ "สถาบันตุลาการ" ยังวางสถานะตัวเองไว้เป็น "ข้าราชการ" แต่หากมองเชิงโครงสร้างประชาธิปไตย อย่างไรเสียคนใน 3 สถาบันหลักคือ "นักการเมือง" เพราะเป็นหลักในกลไกหนึ่งของประชาธิปไตย

เมื่อกลไกที่มีหน้าที่บริหารเศรษฐกิจและสังคมให้มีประสิทธิภาพกลับกลายเป็นถูกมองว่าเป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหาประเทศในทุกด้านเสียเอง

จึงสมควรต้องมาทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นกับจึงทำให้สถาบันหลักที่มีหน้าที่พัฒนาประเทศกลับเป็นตัวปัญหาเสียเอง



การเมืองมีปัญหา เพราะความแตกแยก

ว่ากันแบบสั้นๆ ประเทศเราแตกแยกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือผู้ที่ไม่เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย

กลุ่มสอง เป็นผู้เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย

กลุ่มที่สาม คือพวกไม่มีหลักการอะไร พร้อมจะเข้ากับพวกไหนก็ได้ หากมีประโยชน์กับตัวและพร้อมจะเข้าได้

สองกลุ่มแรกหนักหน่วงโดยกลุ่มที่ 3 ควรปรับเปลี่ยนจุดยืนไปตามสถานการณ์ที่จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายตัว

เมื่อมองจากจุดนี้จะพบว่าปัญหาทางการเมืองอยู่ที่ แม้จะประกาศตัวเป็นประเทศประชาธิปไตย การเมืองที่เป็นจริงยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กลไกประชาธิปไตยยังถูกต่อต้านจากฝ่ายที่นิยมอำนาจแบบเผด็จการ โดยมีกลุ่มที่สามร่วมสมคบกับเผด็จการเป็นบางครั้ง

ความไม่ต่อเนื่องของประชาธิปไตยเป็นปัญหาการเมืองที่กลายเป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศ

เหตุที่ "เผด็จการ" กลับมาได้เสมอเพราะข้ออ้างที่ว่า "ประชาชน" เบื่อหน่ายเอือมระอากับฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งในความเป็นจริงฝ่ายนี้ก็มีจุดอ่อนสารพัด

แต่ประเด็นอยู่ที่จริงหรือที่จะประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายกับกลไกประชาธิปไตย



ผลสำรวจเอแบคโพลล์ล่าสุด ในเรื่อง "ความคิดเห็นต่อการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย" ร้อยละ 89.7 เห็นว่าค่อนข้างดีถึงดีมาก มีเพียงร้อยละ 10.3 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่ค่อยดีถึงไม่ดีเลย

ในคำถามที่ลงลึกไประดับ "ควาสมคิดเห็นต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยยังดีกว่าในรูปแบบอื่น ถึงแม้จะมีปัญหาคอร์รัปชั่นและความไม่เป็นธรรมในสังคม" ประชาชนมากถึงร้อยละ 91.5 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง มีแค่ร้อยละ 8.5 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

นั่นหมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดเลือกจะบริหารประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย

ไม่จริงที่ว่าประชาชนไม่เอาประชาธิปไตย

การเมืองที่วุ่นวาย เพราะนักการเมืองส่วนหนึ่งไม่ยอมรับความจริงนี้ และยังมีพรรคการเมืองบางพรรคที่สวมเสื้อประชาธิปไตยหลอกลวงประชาชน ขณะที่จิตสำนึกลึกๆ พร้อมจะร่วมมือกับเผด็จการล้มล้างประชาธิปไตย

ความอ่อนแอทางการเมืองเกิดขึ้นเพราะนักการเมืองในเสื้อคลุมประชาธิปไตยพวกนี้ยังหลอกลวงประชาชนได้

ประชาชนยังแยกแยะไม่ออกว่า พรรคการเมืองแบบไหนยึดมั่นในประชาธิปไตยแท้จริง

พรรคการเมืองแบบไหนที่อาศัยประชาธิปไตยเป็นเสื้อคลุม แต่จิตสำนึกจริงๆ ยึดมั่นในโอกาสของผลประโยชน์ตัวเองมากกว่าประชาธิปไตย



+++

ยุติ การเคลื่อนไหว รัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม เท่ากับ ตัด "เงื่อนไข"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 8


ขณะที่ด้านหนึ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม

"ผมมีความกังวลในสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้ไป 3 ประเด็น

ประกอบด้วย (1) มีกระบวนการที่จะแก้กฎหมายในลักษณะที่เปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะทหารมีหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน ไม่ใช่กองทัพของคนใดคนหนึ่ง

(2) มีความพยายามผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งหากมีการดำเนินการจริง เชื่อว่าประชาชนไม่สามารถรับได้

(3) ความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง "

ผ่านไป 6 วัน

ภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า

ในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนิติบัญญัติในวันที่ 21 ธันวาคม ฝ่ายกฎหมายของพรรคได้แนะนำว่า ขณะนี้ยังติดเรื่องการพิจารณางบประมาณและอยู่ในระยะการฟื้นฟูความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย จึงขอให้พรรคชะลอการนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.การบริหารกระทรวงกลาโหม เข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไว้ก่อน

นี่ย่อม "สวน" กับความกังวลของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อย่างสิ้นเชิง


ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ วันเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยประชุม ส.ส. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยี่ยมและสนทนากับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ณ กองบัญชาการกองทัพไทย

จากนั้นได้ให้สัมภาษณ์ค่อนข้างยาวเหยียด

"ดิฉันดีใจและภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับกองทัพ ดิฉันเป็นผู้หญิง การทำงานร่วมกับกองทัพครั้งแรกถือเป็นเรื่องที่ยาก แต่หลังจากเราพูดคุยกันต้องขอบคุณกองทัพที่ให้เกียรติ เชื่อว่าจะทำงานร่วมกันได้บนพื้นฐานความเข้าใจเดียวกัน ที่สำคัญ เราต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศให้เกิดความปรองดอง ความสงบสุขของคนในชาติ"

มีการถามถึงความพยายามจากบางส่วนในพรรคเพื่อไทยในการแก้ไข พ.ร.บ.การบริหารกระทรวงกลาโหม

"รัฐบาลยังไม่ได้หารือ" เป็นคำตอบจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

"จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาและสรุปในเรื่องนี้ จึงไม่อยากให้นำประเด็นนี้ขึ้นมา ขอทำงานร่วมกับกองทัพในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก่อน"

ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนกับที่โฆษกพรรคเพื่อไทยแถลง



ประเมินในทางการเมือง ท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ท่าทีของพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าเรื่องอันเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเรื่องอันเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ว่าเรื่องอันเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การบริหารกระทรวงกลาโหม

นี่คือการตัดเงื่อนไข

เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่เคลื่อนไหว เมื่อรัฐบาลไม่เคลื่อนไหว ก็เท่ากับหมดเงื่อนไข หมดเหตุปัจจัยอันจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้าน ต่อต้าน

ไม่ว่าจะมาจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มเครือข่ายหลากสี ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์

ไม่ว่าจะมาจากคนมือสั่น ปากสั่น หน้าเดิม-เดิม



++++

จับตา "เพื่อไทย" ดึงเกม "แก้ รธน.-นิรโทษ-พ.ร.บ.กลาโหม" ตกผลึก "รอมชอม" หรือ "บังเอิญ"
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 11


ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ใน 24 ชั่วโมง ของวันที่ 13 ธันวาคม น่าสนใจยิ่ง

เคลื่อนไหวแรก คือการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพไทย

ภายใต้การต้อนรับอบอุ่นของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

รวมทั้งผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหม

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวภายหลังจากตรวจเยี่ยมว่า "วันนี้ไม่หวาดระแวงกองทัพ เราทำงานด้วยกัน เชื่อใจกันค่ะ"

เมื่อถูกถามถึงความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า

"รัฐบาลยังไม่ได้หารือ แต่ยืนยันว่าทุกอย่างยึดหลักการ อะไรที่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปและมีความเหมาะสมก็ต้องดำเนินการ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาและสรุปในเรื่องดังกล่าวจึงไม่อยากให้นำประเด็นดังกล่าวขึ้นมา ขอทำงานร่วมกับกองทัพในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก่อน"

ขณะที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ แสดงความรู้สึกต่อรัฐบาล ว่า "กองทัพพร้อมสนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลเต็มขีดความสามารถเพื่อความสงบสุข ความปรองดอง ความก้าวหน้าของประเทศ ขอให้สบายใจได้ ผมมั่นใจว่ารัฐบาลจะสร้างความปรองดองได้ นายกฯ ทำงานไม่มีวันหยุด กองทัพทำงานให้ด้วยความทุ่มเท เราทำงานมากกว่าหน้าที่เพื่อให้ส่วนรวมเดินไปข้างหน้าได้ ที่ผ่านมารัฐบาลใช้กองทัพตามวิถีทางครรลองระบบธรรมเนียมที่ถูกต้อง"

ท่าทีทั้งของนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดูราบรื่น สอดประสานกันมากขึ้น


ความเคลื่อนไหวที่สอง เป็นคำแถลงผลการประชุม ส.ส. พรรคเพื่อไทย ของ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ที่ระบุว่า

"ในการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 21 ธันวาคม พรรคได้รับคำแนะนำจากฝ่ายกฎหมายว่าควรยุติการนำเสนอกฎหมายต่างๆ อาทิ การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.กลาโหม รวมทั้ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เอาไว้ก่อน เพราะยังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูและเยียวยาปัญหาน้ำท่วม"

"อีกทั้งฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเพื่อให้เกิดความรอบคอบก่อนเสนอเข้าสู่สภาต่อไป โดยที่ประชุม ส.ส. เพื่อไทยครั้งหน้าจะหารือในที่ประชุมอีกครั้งว่าจะเสนอให้ขับเคลื่อนกฎหมายฉบับใดบ้าง"

มติของที่ประชุม ส.ส. เพื่อไทย ที่ยอมรับฟังข้อเสนอแนะของฝ่ายกฎหมายพรรค

ทำให้กระแสเคลื่อนไหวของ ส.ส. เช่น นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม ที่บอกว่าจะต้อง "รุกเร็ว" ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม และแก้ พ.ร.บ.กลาโหม ลดต่ำลงทันที


ซึ่งก็สอดคล้องกับ ความเคลื่อนไหวที่สาม

เป็นความเคลื่อนไหวของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน ที่มีการประชุมในวันที่ 13 กรกฎาคม เช่นกัน

โดย นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ออกมาแถลง ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ ว่า

"อยากให้พรรคเพื่อไทยยุติการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเสนอแนวทางนิรโทษกรรมทางการเมืองรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ชั่วคราว เพราะต้องการให้กรรมาธิการปรองดองทำงานพิจารณาเสนอแนวทางให้แล้วเสร็จก่อน เพื่อป้องกันความสับสนและให้เป็นฐานในการพิจารณาสร้างความปรองดองในอนาคต"

"หากพรรคเพื่อไทยขยับก่อนพวกตนที่อยู่ในกรรมาธิการจะทำงานลำบาก ถูกแขวะเอาว่าเป็นแค่หุ่นเชิดทั้งที่ความจริงไม่ใช่ ไม่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นอีก การดำเนินการใดๆ ควรให้กรรมาธิการมีความเห็นอย่างเป็นทางการออกมาก่อน"


ความเคลื่อนไหวที่สี่ เป็นการออกมาเผยจังหวะก้าวของคนเสื้อแดง ในปีกของ นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรฯ ที่ระยะหลังแสดงตนอย่างชัดเจนถึงแนวทางประนีประนอมยืดหยุ่น พร้อมทั้งแสดงจุดยืนปกป้องสถาบันอย่างเอาการเอางาน

นายขวัญชัย ระบุว่า ความจริงแล้ว พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กับ พ.ร.บ.ปรองดอง ก็เหมือนกัน แต่เปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.ปรองดองเพราะเกิดแรงกระเพื่อมน้อยกว่าแต่จุดหมายยังเหมือนเดิมและน่าจะไปได้ดีกว่า เนื่องจากสภารวมถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ลงมาเล่นด้วย น่าจะเดินไปได้ มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รับผิดชอบยกร่างซึ่งมีความคืบหน้าบ้างแล้ว"

"ส่วนกระบวนการคงให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอแล้วมีเสียงประชาชนสนับสนุน ขณะนี้ผมเริ่มล่ารายชื่อประชาชนที่ จ.อุดรธานีได้กว่า 1 หมื่นคนแล้ว หลังเทศกาลปีใหม่ ร.ต.อ.เฉลิม จะเริ่มเดินสายในต่างจังหวัดพบปะประชาชน และดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดซึ่งจะเสนอเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าไปด้วย"

ตามคำพูดของนายขวัญชัย ชัดเจนว่า เรื่อง "ปรองดอง" จะเคลื่อนไหวในนามคณะรัฐมนตรี

ซึ่งก็เป็นไปตามขั้นตอน โดยมีมวลชนหนุนหลัง

คนเสื้อแดง ไม่ได้เข้าไปกดดันหรือเคลื่อนไหวโดยตรง



จากท่าทีที่สอดคล้องกัน ระหว่าง นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการในสภา และแกนนำคนเสื้อแดง ในช่วงหนึ่งวัน คือวันที่ 13 ธันวาคม นั้น

สะท้อนให้เห็นความยืดหยุ่น รอมชอม และแสวงหาแนวร่วมมากขึ้น ของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ซึ่งอาจไม่แจ่มชัดนักว่า เป็นการสรุปบทเรียนจากการเผชิญแรงต่อต้านรุนแรง อันเนื่องจาก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ, ความพยายามคืนพาสปอร์ตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

แต่ท่าทีของคนเพื่อไทย ที่อ่อนลง พร้อมจะรอคอย

ขณะเดียวกัน การแสดงท่าทีที่เป็นมิตรกับกองทัพ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังกล่าว

น่าจะช่วยลดแรงเสียดทานทางการเมืองลงได้ไม่น้อย

ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ท่าทีอันสอดประสานกันนี้ ผ่านการพูดคุยหารือจนตกผลึก นำไปสู่การเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน

หรือเป็นแค่ความบังเอิญที่มาสอดประสานกันเท่านั้น และหลังจากนี้ต่างฝ่ายก็ต่างขับเคลื่อนตามความคิดและความเชื่อของตัวเองต่อไป ทำให้สะเปะสะปะ ต่างคนต่างทำ เหมือนช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาหลังการขึ้นครองอำนาจของพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์



.