http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-26

มุกดา: ระเบิด..ปล้น..ปรับ ครม. ลับฯ..พราง, สรกล: คิดใหม่-ทำใหม่

.
บทความที่ 3 - "คนมีอำนาจคือคนกลุ่มเดียวกับคนที่มีโอกาสมากกว่าในสังคม " โดย นายดาต้า
บทความที่ 4 - ตลาดนัดจตุจักร ตลาดค้ากำไรเกินควร โดย จำลอง ดอกปิก

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


ระเบิด...ปล้น...ปรับ ครม. ลับ...ลวง...พราง
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 20


ข่าวใหญ่ในช่วงปลายปีที่แทรกอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ คือ การปล้นเงินที่ไม่มีเจ้าของ การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีและการวางระเบิด 2 ครั้ง

พอเกิดเหตุผู้คนที่รู้ข่าวก็คาดเดากันไปตามทิศทางข่าวสารที่ได้รับ และสรุปตามจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง

แต่ทุกเรื่องมีความซับซ้อน เบื้องหลังที่เป็นสาเหตุและความต้องการจริงๆ มีผู้รู้อยู่ไม่กี่คน เป็นความลับของบางคนที่รู้กันในกลุ่ม หรือบางเรื่องรู้กันเฉพาะคู่กรณี รู้แล้วก็พูดไม่ออกบอกไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ห้ามคนอื่นรู้

เมื่อต้องการปิด...ความลับ...จึงมีการ...ลวง...ให้หลงทิศผิดทางและ...พลาง...จุดมุ่งหมายหรือความจริงไว้ เพราะถ้าความลับเปิดเผยก็จะพังกันเป็นแถบ

สำหรับพวกที่ชอบรู้ความเป็นไปและเบื้องหลัง เหตุการณ์ต่างๆ สิ่งที่ทำได้คือหาข่าวให้มากที่สุด จากหลายทาง วิเคราะห์ให้รอบด้านก็พอจะคาดเดาได้ว่าอะไรเป็นอะไร และน่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

บางเรื่องเวลาผ่านไปก็พิสูจน์ได้ว่าเราคาดเดาถูกต้อง เช่น มีเลือกตั้งแน่นอน ใครชนะ

แต่บางเรื่องไม่สามารถพิสูจน์ได้จะยังเป็นการคาดเดาไปอีกนาน แต่จุดยืนทางการเมืองอาจทำให้คิดไม่เหมือนกัน

เช่น...


ข่าวการปล้นเงินครั้งใหญ่

เรื่องนี้ทำท่าจะแผ่วลงไป จึงอยากเตือนให้ทุกคนจับตาดู ไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้ ยังมีคนที่ใส่แว่นสีออกมาวิจารณ์ไปตามจุดยืนของตัวเองได้หลายทิศหลายทาง

พวกที่ใส่แว่นแดงบอกว่า เงินก้อนใหญ่ที่ถูกปล้น เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของเงินทอนจากพรรคการเมืองที่เอามาฝากไว้ บ้างก็ว่าเอามาใช้ตอนเลือกตั้งและใช้ไม่หมด พอรู้ว่าจะแพ้ เลยไม่จ่ายต่อ ผู้รักษาเงินไม่ยอมคืนเงินที่เหลือ เลยมีเรื่อง

ข่าวยังแจ้งว่าเงินก้อนนี้โยกย้ายมาเพิ่มเติมที่นี่เนื่องเพราะปัญหาน้ำท่วมในต่างจังหวัด ทำให้มีมากกว่าที่พวกโจรคาดไว้

ส่วนพวกที่ใส่แว่นเหลืองบอกว่านี่เป็นการปล้นแล้วยัดเงินของกลางเพิ่มให้มากขึ้นเพื่อจะได้โจมตีพรรคการเมืองบางพรรค บางข่าวก็ว่าเงินก้อนนี้เบิกออกมาเพื่อเตรียมไว้ซื้อตำแหน่ง

ผู้วิเคราะห์บอกว่ายังดีที่สายรัดเงินระบุวันเวลาที่เบิกเงินออกมาว่าอยู่ในยุคสมัยไหน มิฉะนั้น รัฐมนตรีชุดนี้ก็จะกลายเป็นเหยื่อไปด้วย เพราะสายรัดเงินบอกได้ว่าเงินเหล่านี้มีความเป็นมาอย่างไร เหตุเกิดในช่วงเวลาไหน ช่วงเวลานั้นใครทำอะไร

นอกจากคนที่ใส่แว่นสีจะวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ ยังมีกลุ่มผู้สนใจการเมือง ได้วิเคราะห์กันต่อไปว่าการเบิกเงินก้อนนี้ในปลายปี 2552 น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเงินทอนจากโครงการใหญ่และเนื่องจากเป็นเงินก้อนใหญ่ การเบิกเงินในลักษณะนี้จึงมีการเบิกต่อเนื่องไปถึงปี 2553

แม้ในช่วงที่มีการชุมนุมเรียกร้องในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 เงินก็ยังถูกเบิกออกมา ช่วงนั้นคาดกันว่าเงินน่าจะถูกเบิกออกมามากที่สุด

เรื่องนี้ผู้วิเคราะห์บอกว่าใครๆ ก็อยากได้เงินยกเว้นคนที่ถูกปล้น ดังนั้น เงินที่ออกไปจะไม่กลับมาอีก ถ้า ปปง. จะตามการเบิกเงินก็พอได้เพราะการเบิกเงินจำนวนมากแต่ละครั้งน่าจะเกิน 2 ล้าน พนักงานธนาคารคงรู้จักคนเบิก แต่เจ้าของเงินคงไม่พูดต่อว่าเอาไปทำอะไร

เรื่องนี้จึงอาจจบแบบเรื่องสั้น ที่คนดูเดาเบื้องหลังได้ ว่าหัวหน้าใหญ่ของผู้ร้ายเป็นใคร และผู้ที่ทำให้เงินหลวงไหลลงใต้ดินมีอำนาจมากขนาดไหน

หลายคนที่เคยพูดได้ทุกเรื่อง โต้ได้ทุกฉาก เรื่องนี้เงียบกริบ เงียบกริบทุกคน เพราะถูกสั่งไว้ไม่ให้พูดไม่ให้โต้ หวังจะให้เรื่องเงียบไปเอง

เรื่องนี้ลวงไม่ได้ มีแต่ใช้ความเงียบ...พราง...เพียงแต่เงียบจนผิดปกติ แต่เรื่องอาจยังไม่จบเพราะคนที่ตามเรื่องนี้ ไม่ได้ชื่อก็ได้เงิน



ข่าววางระเบิด

ย้อนหลังกลับไปปี 2553 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปีที่แล้วมีระเบิดที่ซอยรางน้ำ, 1 มกราคม 2554 เกิดที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หลังจากหายไปนาน ปลายปี 2554 ก็มีข่าววาง (แต่ไม่) ระเบิดขึ้นมาอีก 2 ครั้งในกรุงเทพฯ

เหตุการณ์อย่างนี้ก่อผลสะเทือนทางการเมือง เป็นเรื่องที่น่ากลัวถ้าไม่รีบแก้ไข ปล่อยให้มีอีกจะส่งผลสะเทือนทางเศรษฐกิจ มาซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่

หันกลับมาดูสถานการณ์การเมืองวันนี้ ยังมีนักโทษการเมืองถูกขังคุกเป็นร้อย เรื่องคนตายและบาดเจ็บก็ยังไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบได้ คนบาดเจ็บแม้แผลที่กายหายไป แต่แผลที่ใจไม่มีวันหาย ความขัดแย้งยังสูงอยู่ เมื่อมีข่าวนี้เกิดขึ้น คนก็มองไปที่คู่ขัดแย้งหลัก

แต่ผู้วิเคราะห์ดูจากสถานการณ์การเมืองปัจจุบันแล้วบอกว่า เป็นระเบิดที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีที่มาที่ไป ช่วงนี้การใช้ระเบิด ไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายใดทั้งสิ้น การโจมตีคู่แข่งทางการเมืองในเวลาแบบนี้คือพุ่งเข้าใส่จุดอ่อนทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ทำให้คู่ต่อสู้แพ้ทางการเมืองและเสียคะแนนนิยม ซึ่งฉะกันผ่านสื่อทุกวัน

ข่าวเรื่องการวางระเบิดจึงเป็นเรื่องที่แปลกมากและที่แปลกตามมา คือการตามจับผู้ต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว ผู้ต้องสงสัยก็มีความเป็นมาที่สับสน บางข่าวว่าเป็นเสื้อแดง บางข่าวว่าเคยเป็นเสื้อเหลือง

ถ้าเคยเป็นเสื้อแดงก็น่าจะเป็นเรื่องแปลกมากเพราะไม่มีเหตุผลที่จะมาวางระเบิดก่อกวนรัฐบาลที่พวกเขาปั้นมากับมือ

ส่วนข่าวอีกสายหนึ่งที่ไม่แปลกเลยคือมีกลุ่มอำนาจเก่าอยู่เบื้องหลังจะเป็นคนมือสั่นขาสั่น หรือคนแก่คนหนุ่ม แต่ก็มีเป้าหมายเพื่อล้มรัฐบาลในปีหน้า ก่อนที่บ้านเลขที่ 111 จะออกมาช่วยเสริมทีมรัฐบาล


ถ้าวิเคราะห์กันตามจังหวะการเมือง กลุ่มอำนาจเก่ามองเห็นจุดอ่อนของรัฐบาลในเชิงการบริหาร จุดอ่อนที่จะเกิดในโครงการต่างๆ มีมากมาย ซึ่งพวกเขาสามารถโจมตีขยายแผลให้ลุกลามจนมีผลทางการเมืองได้ ไม่มีความจำเป็นต้องไปใช้ระเบิด

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาธิปไตยก็มองเห็นจังหวะรุกของตัวเองที่สามารถรุกเข้าไปในช่องทางการแก้รัฐธรรมนูญ การรุกในคดีสังหารประชาชน 91 ศพ และการขุดคุ้ยการทุจริตในโครงการเก่าๆ ขึ้นไปโจมตีฝ่ายตรงข้าม เหล่านี้คือช่องทางการปะทะที่ทำให้คู่ต่อสู้แพ้ทางการเมือง

ในขณะที่...ระเบิด...จะทำให้มีแต่เรื่องเสียกับเสีย การใช้ระเบิดเพื่อมุ่งหวังผลทางการเมืองในวันนี้จึงมีแต่คนโง่กับโง่ที่สุดเท่านั้นที่จะนำมาปฏิบัติ

และถ้ายังคิดจะกระทำการโง่ๆ แบบนี้ต่อไป ไม่ว่าจะไปอยู่ข้างไหน ก็จะส่งผลให้ฝ่ายนั้นแพ้อย่างรวดเร็ว

ทุกสิ่งเป็นอาวุธได้และเมื่อเป็นอาวุธก็จะทำลายทั้งศัตรูและตัวเองถ้าใช้ไม่เป็นทั้งคำพูดและระเบิด

ระเบิดเป็นสิ่งที่ทำลายการปรองดอง ไม่ว่าจะมาจากใคร

ปัญหาของฝ่ายประชาธิปไตย คือจะมีแนวทางปรองดองอย่างไรจึงจะให้กลุ่มมวลชนเสื้อแดงและคนกลางๆ เห็นด้วย

ทั้ง ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยจะต้องอธิบายให้ประชาชนยอมรับ ถ้าไม่สามารถจูงใจคนเสื้อแดงให้สำเร็จ ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศต้องการครองอำนาจรัฐบนซากศพของเพื่อนร่วมอุดมการณ์

และขณะนี้คนบางส่วนคิดว่าถ้าถูกปล้นอำนาจอีกครั้งก็จะสู้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟันและจะต้องได้รับชัยชนะ ทั้งยังสามารถแก้แค้นให้กับเพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้ว ความหวาดระแวงยังมีอยู่และมีเหตุผล

คำถามของพวกเขา คือทำไมเมื่อชนะเลือกตั้งแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับที่คนรู้สึกได้ว่า ความยุติธรรมที่หายไปหลังรัฐประหารได้กลับคืนมา

คำตอบ คือโครงสร้างประชาธิปไตย ยังไม่ได้รับการปรับปรุง ที่สำคัญคือการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งมีผลต่อโครงสร้างการใช้อำนาจยุติธรรม


ผู้วิเคราะห์มองปัญหาระเบิด ข่าวการวางระเบิดสองครั้งอาจจะไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน

คนที่คิดวางระเบิดครั้งที่สองอาจจะได้ความคิดมาจากข่าว กระเป๋าระเบิดที่ราชดำเนิน

แต่ทั้งสองเหตุการณ์ได้สะท้อนถึงความคิดทางการเมืองที่อ่อนด้อยของคนที่กระทำการนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่รู้จังหวะการเมืองมิได้เป็นปฏิบัติการที่...ลวง และ...พราง...แต่ประการใด

แต่เป็นการกระทำไปตามอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง ไม่สนใจว่ามีผลสะเทือนทางการเมืองไปกระทบกับคนกลุ่มไหนหรือทำให้ใครเดือดร้อน

ไม่ว่าคนแบบนี้จะอยู่ฝ่ายไหน ก็จะสร้างปัญหาให้กับขบวนใหญ่ และคนที่ไม่รู้เรื่อง เช่น การมอบตัวของ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เวลานี้ขอประกันตัวยากขึ้นไปอีกเพราะข่าวระเบิด



การปรับ ครม.

กระแสข่าวปรับ ครม. แรงมาก จนคนที่ได้รับข่าวสารคาดกันว่าหลังปีใหม่เกิน 10 วัน น่าจะมีการปรับ ครม. ขนาดเล็ก

แต่ข่าวที่ทีมวิเคราะห์ ซึ่งผู้เขียนได้รับฟังมาแจ้งว่า ไม่น่าจะเร็วขนาดนั้น ถ้าไม่มีอะไรร้ายแรงเป็นพิเศษเกิดขึ้นกับบุคคลในคณะรัฐมนตรี การปรับ ครม. จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพราะกำหนดการเดิมคือ ครม. ทุกคนควรได้ทดลองทำงาน 6 เดือน นั่นหมายถึงต้องเป็นปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555

และถ้าสามารถลากไปได้ถึงเดือนมิถุนายนก็จะดีที่สุดเพราะจะมีตัวเลือกจากบ้านเลขที่ 111 มาช่วยเสริมทีม

เป้าหมายการปรับ ครม. ที่สำคัญคือกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งอยู่ในอำนาจของพรรคชาติไทยพัฒนา ทางพรรคเพื่อไทยอยากจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งระบบ นั่นหมายความว่าจะต้องดึงกระทรวงเกษตรเข้ามาควบคุมเอง แต่จะต่อรองและแลกเปลี่ยนการบริหารกันอย่างไร จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ลงตัว

นี่เป็นความยุ่งยากซับซ้อน ที่จะทำให้การปรับ ครม. ต้องยืดออกไป แต่ข่าวการปรับ ครม. ก็มีข้อดีคือทำให้ผู้รับผิดชอบทุกกระทรวงต้องเร่งสร้างผลงานและทำงานอย่างระมัดระวัง

ปัญหาใหญ่ของการปรับ ครม. ในช่วงนี้คือต้องหาคนที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งที่ปรับเปลี่ยนให้ได้ เพราะถ้าปรับแล้วแย่กว่าเดิม ก็จะถูกด่าหนักขึ้น

คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องบริหารได้ ไม่โกง แถมยังต้องเป็นการเมืองซึ่งไม่ใช่จะหาง่าย แต่คนที่มีคุณสมบัติไม่ถึงและอยากเป็นก็จะมาแก่งแย่งตำแหน่งที่มีน้อยเหล่านี้จนเกิดทะเลาะกันและมีปัญหาเรื่องความสามัคคีตามมา

ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็น ผู้บริหารพรรคทุกพรรค ผู้จัดการรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีไม่มีใครอยากปรับ ครม. เร็วเกินไป

ข่าวที่ออกมาน่าจะมาจากคนที่อยากได้ตำแหน่ง ปล่อยออกมาหนักมากจนรู้สึกว่าจะปรับในวันพรุ่งนี้ ทุกคนจึงออกแรงวิ่งเต้นแบบไม่ยอมแพ้กัน นี่เป็นการปล่อยข่าวลวงตัวเอง และคนรอบข้าง

วันนี้ทีมวิเคราะห์สรุปว่า การปรับ ครม. มีแน่ แต่ข่าวการปรับ ครม. ในวันเด็กปี 2555 ยังเร็วเกินไป



++

คิดใหม่-ทำใหม่
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยด้วยการแก้ไขมาตรา 291 ให้มี ส.ส.ร.3 ขึ้นมาโดยผ่านการเลือกตั้ง

ส.ส.ร.3 ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็นำร่างเข้าสภา

ถ้าผ่านสภาก็ลงประชามติ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่

เพราะได้ยินได้ฟังจากพรรคเพื่อไทยมานานแล้ว

โดยเฉพาะตอนหาเสียงเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เมื่อ "เพื่อไทย" ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงท่วมท้นเกินกึ่งหนึ่งของสภา พรรคเพื่อไทยก็มีความชอบธรรมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"รัฐธรรมนูญ" ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แก้ไขไม่ได้

ยิ่งรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร ยิ่งมีความชอบธรรมที่จะแก้ไข


พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้วเมื่อปลายปี 2553

เป็นผลจากเหตุความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2553 "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด

มีทั้งคณะกรรมการชุด "คณิต ณ นคร" เกี่ยวกับเรื่องการปรองดอง

ชุด "สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"สมบัติ" เสนอให้แก้ไข 6 ประเด็น

"อภิสิทธิ์" เคยให้สัมภาษณ์จากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2553 ถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าคำถามหนึ่งที่ต้องตอบประชาชนให้ได้หากไม่มี ส.ส.ร.และใช้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการ คือไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองต้องการ แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการ

"ดังนั้น ใจของผมคือไม่ตั้ง ส.ส.ร.ก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้มีการทำประชามติหลังจากที่รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว"

ฟังเหมือนว่าใจจริงของ "อภิสิทธิ์" อยากให้มี ส.ส.ร.และการลงประชามติ

เหมือนที่พรรคเพื่อไทยเสนอในวันนี้

แต่สุดท้ายเมื่อ "อภิสิทธิ์" นำผลการศึกษาของคณะกรรมการชุด "สมบัติ" เข้าที่ประชุม ครม. จาก 6 ประเด็นก็ตัดเหลือเพียงประเด็นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

จากนั้นก็เสนอเข้าสภาพิจารณากันเลย

ไม่มีการทำประชามติด้วย



ในปี 2553 เมืองไทยก็เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่นครราชสีมาและหลายจังหวัด

น้ำท่วมใหญ่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม

กว่าน้ำจะแห้งหมดก็ประมาณเดือนพฤศจิกายน

รู้ไหมครับว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ของรัฐบาล "อภิสิทธิ์" เข้าสภาเมื่อไร

23 พฤศจิกายน 2553

หลังน้ำแห้งไม่นาน

ถ้าคิดแบบ "อภิสิทธิ์" ใน พ.ศ.2554 ก็ต้องบอกว่ารัฐบาลควรจะใช้เวลาทุ่มเทกับเรื่องการฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมมากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ปี 2553 "อภิสิทธิ์" คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำคัญไม่แพ้การฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบน้ำท่วม

ดังนั้น จึงเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ อีกไม่กี่วันก็เข้าสู่ปี 2555 แล้ว

เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่อีกครั้ง "อภิสิทธิ์" จะคิดแบบเดิมอีกหรือเปล่า



+ + +

"คนมีอำนาจคือคนกลุ่มเดียวกับคนที่มีโอกาสมากกว่าในสังคม "
จากต้นฉบับ ชื่อ หรือแค่"ไพร่กลายพันธุ์"
โดย นายดาต้า คอลัมน์ เมนูข้อมูล
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 21


การเมืองเข้าสู่ "โหมดปรองดอง" มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะลดความแตกแยกของคนในชาติ

เหตุเนื่องจากทุกฝ่ายเห็นแล้วว่า ปัญหาและอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาประเทศ คือคนไทยไม่มีเอกภาพ

อย่างไรก็ตาม รูปธรรมของการแก้ปัญหาที่เป็นข่าวอยู่ ไม่ว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแก้เชิงการเมือง แต่เป็นที่รู้กันว่าต้นธารของปัญหาที่แท้จริงเป็นเรื่อง "ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ"

สังคมทุนนิยม ที่คนมีเงินทุน มีอำนาจมีโอกาสมากกว่าคนทั่วไป กลายเป็นสังคมมือใครยาวสาวได้สาวเอา

คนรวยยิ่งมีโอกาสยิ่งมีอำนาจและยิ่งรวย แต่คนจนยิ่งไร้สิทธิ ไร้เสียง และยิ่งจน

สภาพเช่นนี้เป็นสังคมที่สร้างความคับแค้น และนำมาซึ่งความแตกแยก

ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้แก้ปัญหานี้กันมาตลอด

แต่ดูเหมือนไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น


สํานักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน ช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) 2554 ออกมาแล้ว

รายได้เฉลี่ยครอบครัวคนไทยอยู่ที่ 23,544 บาท ส่วนรายจ่ายอยู่ที่ 17,861 บาท

หากมองจากตัวเลขนี้ถือว่าไม่เลว เพราะมีรายได้เฉลี่ยมากกว่ารายจ่ายเฉลี่ยถึงครอบครัวละ 5,713 บาท เหมือนกับว่ามีเงินเก็บเงินออมกันพอสมควร

แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะผลสำรวจเรื่องหนี้สินของครัวเรือนกลับพบว่า มีครัวเรือนที่เป็นหนี้เกินกว่าครึ่งคือร้อยละ 56.9 ของครอบครัวคนไทย หนี้สินเฉลี่ยอยู่ที่ 136,562 บาท

ร้อยละ 36.4 เป็นหนี้ผ่อนบ้าน ร้อยละ 36.1 ผ่อนเครื่องใช้อุปโภคบริโภค

หมายความว่าแม้โดยเฉลี่ยจะมีรายได้มากกว่ารายจ่าย แต่ส่วนใหญ่ยังหนี้ท่วมหัวอยู่ดี

และเมื่อลงไปในรายละเอียดเปรียบเทียบครอบครัวที่เป็นหนี้จะมีแนวโน้มลดลง คือจากร้อยละ 64.4 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 56.9 ในปี 2554 แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้กลับเพิ่มขึ้น จาก 82,485 ในปี 2545 เป็น 136,526 ในปี 2554



หากจะพูดว่าการมีหนี้สินเป็นเรื่องปกติ การเข้าถึงแหล่งทุนได้น่าจะเป็นเรื่องที่ดีของการพัฒนา ย่อมถูกต้อง

แต่อย่างที่รู้กันว่า ปัญหาของประเทศอยู่ที่ช่องว่างรายได้ของประชาชนมันห่างกันมากเหลือเกิน มีการเรียกร้องกันทุกยุคทุกสมัยให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้

แก้ได้แค่ไหน ดูจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในหัวข้อ การเปรียบเทียบการกระจายรายได้ครัวเรือน

วิธีการของสำนักงานสถิติแห่งชาติคือ แบ่งครัวเรือนในประเทศเป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กันตามรายได้มากไปสู่น้อย

หมายความว่ากลุ่มหนึ่งมีร้อยละ 20 ของครัวเรือนทั้งหมด

ปรากฏว่าร้อยละ 20 แรก มีส่วนแบ่งรายได้สูงถึงร้อยละ 48.6 ขณะที่ร้อยละ 20 สุดท้ายมีส่วนแบ่งรายได้แค่ร้อยละ 6.6

ห่างกันมากมาย

นี่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าหากแบ่งเป็น 10 กลุ่ม กลุ่มละร้อยละ 10 ของครัวเรือนทั้งหมด กลุ่มแรกจะมีส่วนแบ่งไปเท่าไร

คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน เป็นสภาพที่เกิดขึ้นอย่างเป็นอมตะ

ทั้งนี้ สาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ เพราะคนมีอำนาจคือคนกลุ่มเดียวกับคนที่มีโอกาสมากกว่าในสังคม และเข้าไปใช้อำนาจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

แม้จะมีหลายครั้งที่มีคนจากลุ่มที่มีโอกาสน้อยกว่าไต่เต้าขึ้นไปมีอำนาจ แต่บางคนดังกล่าวก็เพียงแต่คิดใช้อำนาจขยับฐานะตัวเองจากคนที่เสียเปรียบทางสังคมไปเป็นผู้ได้เปรียบในสังคมคนใหม่

ยังไม่มีใครใช้อำนาจเพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบในสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง



+ + +

ตลาดนัดจตุจักร ตลาดค้ากำไรเกินควร
โดย จำลอง ดอกปิก คอลัมน์ ระหว่างวรรค
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


ไม่ว่าปมปัญหาตลาดนัดจตุจักรจะเป็นความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัวธรรมดา หรือเป็นปัญหาการเมืองระหว่างพรรคเพื่อไทยที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นหน่วยงานใต้สังกัดเป็นเจ้าของพื้นที่ กับกรุงเทพมหานครผู้เช่า ที่มีผู้ว่าฯมาจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือ 2 เรื่องรวมกัน

โดยความเป็นจริง ตลาดนัดจตุจักรมีปัญหาแทบทุกล็อกหลืบมานาน ถึงเวลาแล้วต้องชำระสะสาง และยกระดับตลาดนัดใหญ่ที่สุดของประเทศอันมีชื่อเสียง เป็นเป้าหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่งนี้

รฟท.และกรุงเทพมหานคร จึงน่าจะฉกฉวยจังหวะที่สัญญาอันทำไว้ระหว่าง 2 ฝ่าย สิ้นสุดลงในวันที่ 1 มกราคม 2555 นี้ ทำการปรับรื้อขนานใหญ่

หากยังคิดไม่ตก จะปรับ แก้ไขอย่างไรดี ข้อเรียกร้องของผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร อาจเป็นแนวทางได้ในบางข้อ อาทิ 1.ขอราคาค่าเช่าเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ค้าอยู่ได้ 2.การต่อสัญญาเช่าผู้ค้า ต้องลงนามกับหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น 3.การบริหารจะต้องมีหลักธรรมาภิบาลและให้ผู้ค้ามีส่วนร่วม

ทั้ง 3 ข้อนี้ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับค่าเช่าหลัก โดยนับแต่ปี 2524 เป็นต้นมานั้น รฟท.คิดค่าเช่าพื้นที่จาก กทม.ปีละ 79 ล้านบาท และขอปรับเพิ่มค่าเช่าสัญญาใหม่ปีละ 1.1 พันล้านบาท (และลดลงเหลือ 420 ล้านบาท) กระทั่งไม่สามารถตกลงกันได้ และ รฟท.วางแผนตั้งบริษัทลูกหรือไม่ก็จ้างบริษัทเอกชนเข้ามาบริหารแทน

ฝ่าย กทม.กล่าวอ้างเหตุผลไม่ยอมรับอัตราค่าเช่ารายปีใหม่นี้ เนื่องจากผู้ค้าส่วนหนึ่งรับไม่ได้ เพราะเมื่อคิดคำนวณทอนเป็นค่าเช่ารายเดือนแล้ว สูงกว่าที่ กทม.จัดเก็บกว่า 1 เท่าตัว คือจากเดือนละ 1,200 บาท เป็น 2,800 บาท ค่าเช่าสูงย่อมกระทบต่อทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค

ขณะที่ รฟท.มองเรื่องความเป็นธรรมในมิติแตกต่างออกไป นั่นคือความเป็นธรรมที่ รฟท.ควรได้รับ เป็นค่าเช่าจากทำเลทอง ตลาดยอดนิยมแห่งนี้

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ตลาดนัดจตุจักรมีผู้ค้าร่วม 9 พันราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.ย้ายมาจากสนามหลวงตั้งแต่แรกเมื่อ 30 ปีก่อน เช่าแผงอัตราขั้นต่ำสุด 500 บาท 2.กลุ่มเช่าช่วงต่อ ต่ำสุดประมาณ 7 พันบาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาทขึ้นอยู่กับทำเล และ 3.กลุ่มนายทุน ขาใหญ่มีอำนาจราชการและการเมืองคุ้มครอง ใช้อภิสิทธิ์ในการรวบรวมแผงมาอยู่ในมือจำนวนมาก และนำมาปล่อยเช่าต่อราคาแพง บางแผงเดือนละ 2-3 หมื่นบาท

โดยสรุปแล้วพ่อค้าแม่ค้าตัวจริงถูกบวกต้นทุนเช่าสูงมาก มีการเซ้งและให้เช่าช่วงไม่รู้กี่ต่อ แม้ค่าเช่าแพง ผู้ค้าก็ยอมสู้ราคาเพราะคุ้มค่าต่อการลงทุน

ไม่เพียงผู้บริโภคเท่านั้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถูกผลักให้รับภาระต้นทุนมืดนี้ ฝ่ายรัฐเองก็สูญเสียผลประโยชน์จากเม็ดเงินค่าเช่านอกระบบเช่นกัน

การคิดทบทวนค่าเช่า โดยพิจารณาให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำเลการค้า และความนิยมจึงเป็นเรื่องถูกต้องตามหลักการแล้ว ปัญหามีอยู่เพียงว่า ควรเป็นเท่าใด? และจะแก้ปัญหาขาใหญ่ การให้เช่าช่วงต่ออันเป็นตัวการทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมและรัฐเสียประโยชน์ อย่างไร

ปัญหาหลักนี้ สะท้อนออกมาเป็นข้อเรียกร้องกลุ่มผู้ค้าชัดเจนยิ่ง ขณะที่ปัญหาอื่นๆ นั้น อาจมีความสำคัญน้อยกว่า แต่ก็จำเป็นที่รัฐต้องเข้ามาบริหารจัดการเช่นกัน เพื่อให้ตลาดนัดจตุจักรสะอาด ทันสมัย โดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์อันเป็นจุดขายดั้งเดิม

ในท้ายที่สุด กทม.จะได้บริหารต่อหรือเปลี่ยนมือมาเป็น รฟท. นั่นย่อมไม่สำคัญ เท่ากับการล้างคราบสกปรก อันเป็นปัญหาหมักหมมมานาน และการจัดวางระบบการบริหารตลาดใหม่ให้โปร่งใส ไม่ให้กลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มพวก

โดยในกรณี รฟท.ให้ กทม.เช่าดำเนินการต่อนั้น จำเป็นต้องตั้งเงื่อนไขไว้ในสัญญาฉบับใหม่ บังคับให้แก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง และกรณีนำพื้นที่มาทำเอง ก็ต้องลุยรื้อ จัดระเบียบใหม่ทั้งหมด

มิใช่แค่การเปลี่ยนมือ เปลี่ยนผู้คุมขุมทรัพย์ใหม่เท่านั้น โดยฝ่ายรัฐและผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด



.