http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-16

15 นักวิชาการเสนอตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิด ม.112

.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ข่าวสารบทความถัดไป
- เปิดตัวหนังสือ "ก้าวข้ามความกลัว" นักวิชาการชี้ต้องยกปัญหาม.112 สู่สาธารณะเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง
- สถานทูตสหรัฐ แถลงยืนยันเคารพสถาบันกษัตริย์ไทย ย้ำเสรีภาพการแสดงออก"สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์"
- เครือข่ายรักสถาบันเดินสายจี้ UN ขอโทษอย่าวิจารณ์ ม. 112 - ยื่นสอบ "ยิ่งลักษณ์" หมิ่นสถาบันฯ
_______________________________________________________________________________________________________


"ดร.ชาญวิทย์" นำทีม 15 นักวิชาการ เสนอตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดมาตรา112
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 15:45:18 น.


วันนี้ นักวิชาการ 15 คนนำโดยดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้เผยแพร่เอกสารเรื่อง ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

เนื่องจากในขณะนี้ มีการขยายตัวอย่างมากของการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสำเร็จประโยชน์ของหลายฝ่าย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ทั้งต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ต่อผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องตกเป็นเหยื่อโดยมิได้เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่ง และต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ยังทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวขึ้น และเกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของพลเมืองจนความเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทยถดถอยลงไป ส่งผลให้สังคมการเมืองไทยสูญเสียโอกาสที่จะใช้ความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างความเป็นธรรมในสังคมไปอย่างน่าเสียดาย

เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยมิชอบ ในบริบทที่หลายฝ่ายยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันและยังคงถกเถียงกันเกี่ยวกับการคงไว้หรือการยกเลิกมาตราดังกล่าว ผู้มีรายชื่อข้างล่างนี้ใคร่ขอเสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" ที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย เช่น ข้าราชการที่เป็นตัวแทนฝ่ายบริหาร, ส.ส. และ สว. ที่เป็นตัวแทนจากรัฐสภา, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อัยการ, นักวิชาการ, ผู้นำชาวบ้าน, ผู้แทนจากสหภาพแรงงาน ฯลฯ คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กลั่นกรองทุกคดีที่ฟ้องร้องกันในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเลือกสรรเฉพาะคดีที่เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการฯ เห็นว่ามีมูล เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

กระบวนการกลั่นกรองคดีความที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังกล่าวข้างต้นนี้ จะช่วยป้องกันมิให้ผู้ใดสามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อย่างสะดวก และยังเอื้อให้เกิดพื้นที่ทางสังคมที่ปลอดภัยสำหรับการถกเถียงทางวิชาการอย่างกว้างขวางเพื่อหาทางออกให้แก่ความขัดแย้งในเรื่องนี้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งรัดให้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" โดยเร็วที่สุด

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
รองศาสตราจารย์ ฉลอง สุนทราวาณิชย์
รองศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ
รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรัตน์ โหราชัยกุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์
ศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์
รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
รองศาสตราจารย์ ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปะกุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย
อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง
อาจารย์สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์
อาจารย์ชาญกิจ คันฉ่อง



++

เปิดตัวหนังสือ "ก้าวข้ามความกลัว" นักวิชาการชี้ต้องยกปัญหาม.112 สู่สาธารณะเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 15:50:28 น.


ในงานเปิดตัวหนังสือ ก้าวข้ามความกลัว (Thailand ?s Fearlessness : Free Akong) และนิทรรศการภาพถ่ายฝ่ามืออากง ณ ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา

นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์และเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ กล่าวว่า กฎหมายหมิ่นพระบบรมเดชานุภาพหรือกฎหมายมาตรา 112 นี้ จะต้องถูกยกให้เป็นประเด็นสาธารณะ และหากสื่อมวลชนกระแสหลักยังทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างน้อยลงไปทุกที อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดและความเชื่อ 2 ชุด จนนำไปสู่ความรุนแรงได้ โดยส่วนตัวเชื่อว่า วิธีการที่ดีสุดตอนนี้เท่าที่เป็นไปได้คือ ต้องยกประเด็นและปัญหามาตรา 112 เข้าสู่เวทีสาธารณะ จะต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรกลางที่มีความน่าเชื่อถือ มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นกลางและสังคมยอมรับ

ทั้งนี้บุคคลที่จะยกประเด็นนี้เข้าสู่เวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ยังคิดไม่ออกว่าควรจะเป็นใคร แต่น่าจะเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดหรือทำงานอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเวลานาน และมีแนวคิดเน้นการปฎิรูปมากกว่าเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม ส่วนจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวเชื่อว่า คงเป็นไปได้ยากเพราะรัฐบาลเพื่อไทยคงไม่สามารถเป็นองค์กรหลักในการยกประเด็นกฎหมายมาตรา 112 เข้าสู่เวทีสาธารณะได้เพราะที่ผ่านมาก็มีนโยบายเหมือนกับรัฐบาลชุดที่แล้วคือ ทำเป็นมองไม่เห็นปัญหา แล้วมักจะบอกกับสื่อมวลชนเสมอว่า ไม่มีนโยบายที่จะแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ คงเป็นไปได้ยากที่จะมีองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ริเริ่มเสนอประเด็นกฎหมายมาตรา 112 สู่เวทีสาธารณะ

นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวถึงกระแสที่มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งไปโพสต์ลงในข้อความในหน้าเฟซบุ๊กของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยมีเนื้อความเป็นลักษณะไม่เห็นด้วยที่สหรัฐอเมริกากล่าวพาดพิงถึงปัญหามาตรา 112 และมีบางข้อความใช้ถ้อยคำที่หยาบคายว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวและยังต้องพึ่งพาเรื่องสิทธิมนุษยชนจากต่างประเทศ กรณีที่สหรัฐอเมริกาแสดงความไม่เห็นกับปัญหาและโทษของมาตรา 112 ที่รุนแรงเกินไปนั้น ทำให้เห็นว่า ต่างชาติก็เห็นปัญหาของกฎหมายนี้ ถ้ากลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ก็ควรจะยกเหตุผลว่าเหตุใดไม่ควรจะแก้ไขกฎหมายมาตรามาตรา 112 แต่การออกมาด่าทอหรือกล่าวหากลุ่มบุคคลที่เสนอให้แก้ไขกฎหมายนี้เป็นพวกล้มเจ้าคงไม่ถูกต้องเพราะหลายครั้งการพูดถึงกฎหมายมาตรา 112 เป็นการพูดถึงในแง่กฎหมายทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมหรือประเพณีแต่อย่างใด ดังนั้นที่ดีที่สุดแล้ว เราควรจะโต้แย้งประเด็นนี้ด้วยเหตุผล นี่จะเป็นทางออกที่จะไม่นำความขัดแย้งทางความคิดของคนสองกลุ่มไปสู่ความรุนแรงได้

"หลังจากนี้ผมคงจะหาแนวร่วมจากองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความตื่นตัวและแสดงให้ถึงปัญหาของกฎหมายมาตรา 112 เพราะองค์กรกลางที่ทำเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 ในประเทศยังไม่เพียงพอ ผมไม่ได้ต้องการการกดดันจากต่างประเทศ แต่ในที่สุดแล้วสื่อจากต่างประเทศจะต้องไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยอยู่ดี การตื่นตัวจากต่างประเทศจะทำให้คนในประเทศเห็นถึงปัญหาของกฎหมายมาตรา 112 มากขึ้น แล้วนั่นอาจจะนำไปสู่การยกประเด็นนี้เข้าสู่เวทีสาธารณะได้" นายปวินกล่าว


นางสาวสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. และเป็นหนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์กล่าวว่า เหตุที่กรณีอากงมีความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 สร้างผลกระทบจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเนื่องจากอายุของอากงมาก และอัตราโทษมีสูงมากถ้าเทียบกับความผิดที่กระทำลงไป รวมถึงพยานหลักฐานต่าง ๆ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าท้ายที่สุดแล้ว อากงเป็นคงส่งข้อความจากมือถือของตัวเองจริงหรือไม่ และตามกฎหมายแล้วหากโจทก์ไม่สามารถทำให้ 'สิ้นข้อสงสัย ' กับข้อกล่าวหาที่มีต่อจำเลย โดยหลักการแล้วจะต้องยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลยไป แต่นี่กลายเป็นว่าจำเลยถูกตัดสินจำคุก 20 ปี แล้วกรณีอากงจะทำให้เกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่า ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเป็นบุคคลที่ส่งข้อความหรือไม่ แต่กลับถูกตัดสินจำคุก 20 ปี อาจจะสร้างผลสะเทือนของการบังคับใช้กฎหมายนี้มากขึ้น

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวต่อไปว่า กรณีอากงนั่นแสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเริ่มมีลักษณะเป็นวงกว้างขึ้น ไม่ได้จำกัดแต่จะต้องเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงอีกต่อไปเพราะมีหลักฐานและคำยืนยันชัดเจนว่า อากงก็เป็นบุคคลที่ศรัทธาและเลื่อมใสในสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนบุคคลทั่วไป ไม่เคยมีความคิดฝักใฝ่พรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งเลยแสดงให้เห็นว่า กฎหมายมาตรานี้เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นทุกที บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายมาตราดังกล่าวก็จะเริ่มแสดงความไม่พอใจมากขึ้นเพราะพื้นที่ในการแสดงออกของพวกเขาน้อยลงแต่ปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายนี้มันมีมากขึ้น

ส่วนผู้ที่เห็นว่า ไม่ควรแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก็อาจจะต้องเริ่มตระหนักแล้วว่า การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 สามารถเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องฝักใฝ่แนวคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง

"คดีนี้มีคุณูปการที่ทำให้กลุ่มคนที่ไม่รู้หรือไม่เคยพูดถึงการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เริ่มแสดงตัว ออกมาพูดถึงปัญหาจากกฎหมายดังกล่าวมากขึ้น ส่วนรัฐบาลเพื่อไทยที่มีท่าทีเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ไปในทางที่ทำเป็นมองไม่เห็นปัญหา โดยส่วนตัวคิดว่า ไม่ได้เหนือความคาดหมาย แน่นอนตอนหาเสียงพรรคเพื่อไทยต้องการฐานเสียงจากกลุ่มคนเสื้อแดง จึงมักหาเสียงด้วยการเปิดพื้นที่สำหรับเสียงที่แตกต่าง แต่พอมาเป็นรัฐบาลกลับเป็นหัวหอกในการปิดพื้นที่ทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงเสียเอง เหมือนกับตอนที่พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่พอมาเป็นรัฐบาลก็ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ " นางสาวสาวตรีกล่าว

สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์กล่าวปิดท้ายว่า หากต่างฝ่ายต่างปิดพื้นที่ทางการเมืองของกลุ่มคนที่เห็นต่างจากตัวเองด้วยข้อหาที่ไม่เป็นธรรมและไม่สามารถโต้แย้งด้วยเหตุผลอย่างข้อหา 'ล้มเจ้า' ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ความผิดได้ หรือการที่ไม่มีองค์กรขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยเข้ามาเปิดพื้นที่สำหรับกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง สุดท้ายแล้วสังคมคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากความขัดแย้งทางความคิดได้ หากต่างฝ่ายต่างปิดหู ปิดตา ไม่เปิดใจยอมรับความแตกต่างทางความคิด



++

สถานทูตสหรัฐ แถลงยืนยันเคารพสถาบันกษัตริย์ไทย ย้ำเสรีภาพการแสดงออก"สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์"
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 13:45:10 น.


เมื่อเวลา 11.00 น. เฟซบุ๊กของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่คำแถลง ที่ยังคงแสดงความยืนยัน เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์และวัฒนธรรมของประเทศไทยอย่างสูงสุด ย้ำสนับสนุนให้มีเสรีภาพในการแสดงออกทุกประเทศทั่วโลก ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

"ดังที่เอกอัครราชทูตเคนนีย์ได้กล่าวแล้ว รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์และวัฒนธรรมของประเทศไทยอย่างสูงสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านประธานาบดีโอบามา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคลินตัน และสถานเอกอัครทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 84 พรรษา

ประเทศไทยเป็นมิตรเก่าแก่ที่สุดในเอเซียของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ จะยังคงยืนเคียงข้างประชาชนไทยตลอดไป เราเคารพกฎหมายไทย และสำหรับเรื่องกิจการภายในของประเทศไทยนั้น สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดทั้งสิ้น สหรัฐฯ สนับสนุนให้มีเสรีภาพในการแสดงออกในทุกประเทศทั่วโลก และถือว่าเสรีภาพฯ นี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์"



++++

เครือข่ายรักสถาบันเดินสายจี้ UN ขอโทษอย่าวิจารณ์ ม. 112 - ยื่นสอบ "ยิ่งลักษณ์" หมิ่นสถาบันฯ
จาก www.prachatai.com/journal/2011/12/38360 . . Fri, 2011-12-16 17:49 . . ที่มาภาพ: Bus Tewarit


"ตุลย์-บวร" ระดมพล "เครือข่ายคนรักสถาบัน" สองสาย บุกยื่นหนังสือสหประชาชาติ หลังออกมาวิจารณ์กฎหมายหมิ่นสถาบัน จี้ขอโทษ - ยื่นวุฒิสภาสอบ “ยิ่งลักษณ์” โพสต์ภาพเฟซบุ๊ครูป ร.8 ชี้เข้าข่ายหมิ่น

16 ธ.ค. 54 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าน.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี ได้เดินทางมาหน้าองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อตัวแทนองค์การสหประชาชาติ เกี่ยวกับกรณีที่สหประชาชาติ ได้แสดงความคิดเห็นว่า กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 ของไทย มีโทษหนักเกินไป และผิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดย น.พ.ตุลย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเข้ามาละเมิดอธิปไตยทางกฎหมายของไทย จึงขอให้ทางสหประชาชาติยุติเรื่องดังกล่าว และหากเป็นไปได้ ก็อยากให้ออกมาขอโทษประเทศไทย

พร้อมทั้งยืนยันว่า ทุกประเทศมีกฎหมายปกป้องประมุขของตนเองทั้งนั้น และกฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้ขัดต่อกติการะหว่างประเทศ โดยได้ยกกติการะหว่างประเทศมาตรา 19 มายืนยันต่อสื่อมวลชนที่มารอทำข่าว และหลังจากนั้น ทางภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี จะเดินทางไปยื่นหนังสือในเรื่องเดียวกันต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยต่อไป


เครือข่ายอาสาปกป้องฯ ยื่นวุฒิสภาสอบ “ยิ่งลักษณ์” โพสต์ภาพเฟซบุ๊ครูป ร.8 ชี้เข้าข่ายหมิ่น

ด้านเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าวันนี้ (16 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบัน พระมหากษัตริย์ วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบกรณีที่เฟชบุ๊ค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เขียนข้อความเพื่อถวายพระพรเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 3 ธ.ค. ว่า “ 5 ธันวา รวมพลังคนไทย รวมหัวใจถวายพระพรชัยมงคล” แต่แทนที่จะใช้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 แต่กลับใช้พระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้า ร.8 แทนจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพื่อให้นายรัฐมนตรีออกมาชี้แจงกับสังคมต่อไป


ภาคีสยามสามัคคีจี้รัฐแสดงจุดยืนยึดมั่นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่าที่โรงแรมสยามซิตี้ภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ออกแถลงการณ์จากกรณีรักษาการโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และผู้แทนระดับสูงสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคง เรียกร้องให้ไทยแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในฐานะที่ไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อันสืบเนื่องจากคดีหมิ่นเบื้องสูงของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง และ นายเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ หรือ โจ กอร์ดอน

ทั้งนี้ ทางภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากการรับฟังข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงไม่เข้าใจจารีตประเพณี วัฒนธรรม ความผูกพันอันแนบแน่นระหว่างประชาชนไทยและพระมหากษัตริย์ จึงไม่เข้าใจที่มาของกฎหมาย และไม่ตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมา ซึ่งความเห็นขององค์กรระหว่างประเทศดังกล่าวอาจมาจากการแสดงออกของรัฐบาลไทยที่ปล่อยให้มีขบวนการละเมิดกฎหมายและละเมิดกระบวนการยุติธรรม ทำลายความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยมุ่งเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น

ทางภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่า การเรียกร้องของบุคคลดังกล่าว เป็นกระบวนการเพื่อล้มล้างความเป็นมาตรฐานสากลของกระบวนการยุติธรรมไทย และทำลายความเชื่อมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในไทย ไม่เคารพสิทธิ ความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และอาจทำให้เกิดความเกลียดชังในชาติ ยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

ทางภาคีเครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงออกถึงการยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ชี้แจงให้บุคคลดังกล่าวและนานาประเทศเข้าใจและยอมรับการปกครองของไทย โดยให้มีหนังสือชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแห่งคดีที่เกิดขึ้น ตลอดจนความสำคัญของกฎหมาย และผลร้ายที่จะตามมาหากมีการละเมิด พร้อมขอให้รัฐบาลทำหนังสือประณามการแทรกแซงกิจการภายใน ลบหลู่กระบวนการยุติธรรมของไทย และการแสดงออกที่มีผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทย

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. ภาคีเครือข่ายฯ จะไปยื่นหนังสือที่องค์การสหประชาชาติ และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อให้เข้าใจในเรื่องดังกล่าว และจะจัดเสวนาช่วงเย็นที่สวนลุมพินี เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องนี้ด้วย

นพ.ตุลย์ ยืนยันว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และตรงตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่



.