http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-06

ข่าวลือ, +ภาวะการนำที่ต้องปรับ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.


ข่าวลือ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 28


ว่ากันว่า "ข่าวลือคืออาวุธของคนไร้อำนาจ"

ในโลกยุคปัจจุบันซึ่งข่าวลือสามารถแพร่ขยายไปได้กว้างไกลในพริบตา เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงสื่อใหม่ได้อย่างง่ายดาย ซ้ำยังมีการกลืนเข้าหากันระหว่างสื่อใหม่และสื่อเก่าอีกด้วย สิ่งที่ลือในทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก ก็อาจปรากฏเป็นข่าวในทีวี, วิทยุ, หนังสือพิมพ์ได้ คนไร้อำนาจจึงได้อาวุธที่ทรงประสิทธิภาพสูง

ข่าวลือคืออะไร ไม่จำเป็นว่าข่าวลือจะต้องไม่จริงเสมอไปนะครับ แต่ข่าวลือไม่สามารถบอกแหล่งที่มาของข่าวได้ชัดเจน (ด้วยเหตุผลต่างๆ) จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเท็จ

แต่ข่าวลือก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ โดยไร้สาเหตุ ไม่ใช่ลือส่งเดชนะครับ ข่าวลือต้องมีฐานจากเรื่องจริง - สภาพจริง, คนจริง, ความเป็นไปได้จริง ฯลฯ - อยู่ทั้งนั้น จะลือว่ามีมนุษย์ต่างดาวลงมาเยี่ยม โดยขาดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมรองรับนั้นไม่ได้ แต่เพราะนักวิทยาศาสตร์เองพูดว่า มีความเป็นไปได้ว่า มีสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญา (เหมือนหรือเหนือเรา) อยู่ในจักรวาล และหากมีจริง ก็เป็นไปได้อีกว่าเขาพยายามติดต่อกับเรา เหมือนที่เราพยายามติดต่อกับเขา

แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพียงเท่านี้ไม่พอ ยังต้องมีฐานทางวัฒนธรรมรองรับด้วย อย่างที่ครูผมท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ตามสถิติแล้ว มนุษย์ต่างดาวถูกลือว่าลงมาติดต่อกับคนอเมริกันมากที่สุด และรองลงมาในบัดนี้คือจีน

เพราะทั้งสองชาติต่างมีสำนึกว่าตัวเป็นศูนย์กลางของโลกน่ะสิครับ ผมเดาเอาว่ามนุษย์ต่างดาวไม่เคยลงมาติดต่อกับชาวทัสสะได (ประชาชนในเขตป่าของฟิลิปปินส์) หรือชนพื้นเมืองของปาปัวนิวกินีเลย (แต่อาจมีเทวดาลงมาพูดคุยกับพวกเขาเป็นประจำ - ก็เรื่องของฐานทางวัฒนธรรมอีก)

ดังนั้น ข่าวลือจึงเป็นอาวุธได้ เพราะมีฐานอยู่กับสิ่งที่คนเชื่อว่าจริงอยู่แล้ว การไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน หรือพิสูจน์ไม่ได้จึงเป็นเรื่องเล็ก


ยิ่งกว่านั้น ยังมีแนวโน้มว่าคนชอบ "ร่วม" ในข่าวลือ ผมใช้คำว่า "ร่วม" เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า "เชื่อ" คือไม่จำเป็นต้องเชื่อ แต่ชอบที่จะเข้าร่วม เช่น ลือต่อ หรืออ้างถึงโดยตรงหรือโดยอ้อม หรืออย่างน้อยก็แสดงว่ารู้นะว่าลืออะไรกัน

ทำไมหรือครับ? ก็เพราะการร่วมในข่าวลือคือการร่วมอยู่ในชุมชน ไม่ต่างจากการนินทา ร่วมวงนินทาเมื่อไร ก็เท่ากับได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ท่ามกลางความโดดเดี่ยวของชีวิตในเมือง การได้ร่วมอยู่ในชุมชนมีความสำคัญนะครับ

(อันที่จริง ข่าวลือและการนินทานั้นแตกต่างกันอย่างสำคัญคือ นินทาเป็นเรื่องของบุคคล (อื่น) ข่าวลือเป็นเรื่องสาธารณะ แต่ก็เหมือนกันตรงที่มันเกี่ยวกับอำนาจทั้งคู่)

นอกจากนี้ ข่าวลือยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาของสังคมอีกด้วย เช่น ที่ลือกันว่าโลกร้อนทำให้กรุงเทพฯ จมทะเลนั้น ในระยะแรกก็เป็นผลให้กลุ่มคนรวย พากันมาซื้อบ้านที่เชียงใหม่ ถึงจะดูขี้ตื่น แต่ก็จะเป็นเหตุให้เราค่อยๆ ร่วมกันคิดว่าจะแก้ปัญหากรุงเทพฯ ในภาวะโลกร้อนได้อย่างไรในอนาคต


อันที่จริง ถ้าขยันพอจะนั่งอ่านความเห็นเกี่ยวกับข่าวลือออนไลน์กันอย่างถ้วนถี่ (ผมไม่ได้ทำ แต่มีฝรั่งคนหนึ่งทำ) ก็จะพบว่ามีกระบวนการสร้างการเรียนรู้ในการถกเถียงอภิปรายข่าวลืออยู่หลายขั้นตอน นับตั้งแต่ตักเตือนให้ระมัดระวังอย่าเชื่อถือ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ตรวจสอบความจริง ฯลฯ จนถึงการให้ความหมาย (ทางการเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม) แก่ข่าวลือนั้น

และเพราะอาศัยสื่อออนไลน์ ข่าวลือสามารถทำได้ในวงกว้าง โดยผู้เข้าร่วมมีมากหน้าหลายตา ทั้งคนที่ (อ้างว่า) เป็นคนภายใน, คนที่ติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด, คนที่แสดงความคมคายในความคิดเห็น คนที่เอาหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่ามาค้าน หรือมาสนับสนุน ฯลฯ เมื่อข่าวลือนั้น "ตกผลึก" (ตามกระบวนการที่กล่าวถึงข้างบน) ข่าวลือนั้นก็กลายเป็นความรู้ของสังคมไปโดยปริยาย จริงเสียยิ่งกว่าจริงอีกครับ เพราะมันกลายเป็นความรู้ของคนจำนวนมากไปแล้ว และเมื่อเป็นความรู้ ก็ย่อมกำหนดพฤติกรรมของเขาในระดับหนึ่ง

และนี่คือเหตุผลอย่างหนึ่งที่สื่อเก่าทั้งหลาย เห็นเป็นหน้าที่ต้องรายงานข่าวลือด้วย คนแก่ที่ถูกสอนมาว่า อย่าไปเอาจริงเอาจังกับข่าวลือ ควรคิดใหม่ได้แล้วครับ



ยังมีอะไรที่น่าประหลาดเกี่ยวกับความรู้ที่มาจากข่าวลืออยู่เหมือนกันนะครับ ว่าเฉพาะประเทศไทย เอกสารในวิกีลีกส์กลับช่วยยืนยันข่าวลือที่ "ตกผลึก" แล้วอยู่มากทีเดียว ยืนยันโดยคนใกล้ชิด, คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ, หรือคนที่มีโอกาสรู้เห็น เป็นต้น ความรู้ที่ข่าวลือสร้างขึ้นด้วยกระบวนการ "ตกผลึก" ดังที่กล่าว จึงไม่ใช่ความรู้ที่เลื่อนลอยเลย

นี่ว่าเฉพาะประเทศไทยนะครับ ผมไม่ทราบว่าเป็นเงื่อนไขเฉพาะของประเทศไทย หรือเป็นอย่างนี้ในทุกสังคมที่ข่าวลือถูกเผยแพร่ออนไลน์เหมือนกันหมด เช่น อาจเป็นเพราะเกิดความแตกแยกภายในสถาบันหลักๆ ของสังคมไทยมากในช่วงนี้ จึงทำให้ข่าวลือทั้งหลายเกิดขึ้นจากการจงใจ "ปล่อย" ของคนในวงการเอง เป็นต้น

เมื่อข่าวลือเปลี่ยนสถานะไปด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ จนทำให้ข่าวลือกับข่าว "จริง" แยกออกจากกันไม่ได้เช่นนี้ จะว่าคนไร้อำนาจมีอาวุธที่ร้ายแรงขึ้นก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันคนมีอำนาจก็ได้อาวุธที่ร้ายแรงขึ้นในการต่อสู้กันเองไปพร้อมกัน

นักการเมืองรู้จักใช้ข่าวลือมาเป็นประโยชน์ทางการเมืองมานานแล้ว เกาติลยะผู้แต่งอรรถศาสตร์เมื่อสองพันปีก่อน ก็สอนพระราชาให้สร้างข่าวลือถึงกฤษฎาภินิหารต่างๆ ของพระองค์แก่ "พสกนิกร" อยู่เสมอ

ในเมืองไทย ข่าวลือที่เลื่องลือมากในประวัติศาสตร์ เห็นจะเป็นเรื่อง "ปรีดีฆ่าในหลวง" นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ปลุกปั่นข่าวลือนี้กับสถานทูตอังกฤษและอเมริกัน (ตามบันทึกรายงานของทูต) ส่วนในประเทศก็จ้างคนไปตะโกนข้อความนี้ในโรงหนัง สร้างบรรยากาศที่จะทำให้ทหารยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร โดยมีผู้ต่อต้านน้อยลง (และรองหัวหน้าพรรคก็เข้าไปอยู่ในกระทรวงกลาโหมคืนที่เขายึดอำนาจ ส่วนหัวหน้าพรรคก็ได้รับแต่งตั้งเป็น นรม.)

กลายเป็นสูตรสำเร็จในการยึดอำนาจหลังจากนั้นสืบมาจนปัจจุบัน นั่นคือต้องสร้างข่าวลือว่า เหยื่อที่จะถูกยึดอำนาจคุกคามพระมหากษัตริย์เสมอ

ข่าวลือที่เด็ดดวงของอเมริกันในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คงเป็นเรื่อง "กรณีอ่าวตังเกี๋ย" ที่ว่าเรือรบอเมริกันถูกเวียดนามเหนือโจมตีในทะเลหลวง ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ก็ลือกันจนทำให้ประธานาธิบดีได้อำนาจจากสภาในการตอบโต้ได้ไม่มีขีดจำกัด จนประธานาธิบดีพาอเมริกันไปจมปลักในเวียดนามอีกหนึ่งทศวรรษ

และเมื่อเร็วๆ นี้เอง ข่าวลือเรื่องอิรักมีอาวุธมหาประลัยในครอบครอง ซึ่งก็ไม่จริงอีกนั่นแหละ แต่เปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีได้อำนาจจากสภาทำสงครามกับอิรัก จน - กระทั่งอิรักยังเละไม่เลิกถึงทุกวันนี้

แม้ดูประหนึ่งว่า ข่าวลือเป็นอาวุธที่ผู้มีอำนาจใช้ห้ำหั่นผู้มีอำนาจด้วยกันเอง มากกว่าใช้เพื่อห้ำหั่นผู้ไร้อำนาจ แต่หากผู้ไร้อำนาจอาจหาญขึ้นเวทีไปแข่งอำนาจเมื่อไร ผู้มีอำนาจก็อาจใช้ข่าวลือเป็นอาวุธกับผู้ไร้อำนาจได้ทันทีเหมือนกัน เช่น "ชายชุดดำ" ซึ่งยังจับไม่ได้สักคนจนป่านนี้ เป็นต้น



ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ข่าวลือไม่ใช่เสียงกระซิบข้างหูอีกแล้ว และด้วยเหตุดังนั้นข่าวลือจึงกลายเป็นอาวุธที่ร้ายแรง ซึ่งถูกใช้โดยคนไร้อำนาจและมีอำนาจเหมือนๆ กัน ข่าวลือจึงสามารถกำหนดชะตากรรมของประเทศอาจจะมากกว่าข่าวจริงเสียด้วยซ้ำในบางกรณี

ระบอบปกครองทั้งระบอบ - ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ - ถูกท้าทายจนถึงกับล่มสลายได้ด้วยอาวุธข่าวลือ เพราะไม่มีสถาบันทางการเมืองและสังคมใดปลอดพ้นจากการโจมตีด้วยอาวุธชนิดนี้ได้

เราจะลดความเสี่ยงในการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางอาวุธร้ายแรงนี้ได้อย่างไร

วิธีที่โง่ที่สุดและไม่ได้ผลที่สุด คือวิธีที่ทำในประเทศไทย นั่นคือ ใช้อำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ หรือยืดไปจนกลายเป็นกฎหมายเถื่อน เพื่อกำจัดข่าวลือที่ผู้มีอำนาจไม่ชอบมิให้แพร่หลายได้ ดังกรณีตัวอย่าง ม.112 ของกฎหมายอาญา แม้ว่าจับดำเนินคดีกันปีละเป็นร้อยๆ แต่จนถึงทุกวันนี้ นักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังระบุว่า ที่ยังไม่ถูกจับก็มีอีกเป็นร้อยๆ เหมือนกัน แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าวิธีโง่ๆ นี้ไม่ได้ผล (แต่โดยตัวของคำเรียกร้องให้ปราบเอง ก็เป็นข่าวลืออีกชนิดหนึ่ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ใช้เป็นอาวุธทำร้ายฝ่ายตรงข้าม)

ตรงกันข้ามกับวิธีดังกล่าวก็คือ การทำให้ข่าวลือถูกพิสูจน์ความจริงได้ง่ายขึ้น เพราะข่าวลือนั้นมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะมันพิสูจน์ไม่ได้ล่ะสิครับ (เช่น ข่าวลือว่าคุณยิ่งลักษณ์ขึ้น ฮ.ตรวจน้ำท่วมด้วยการกินขนมหัวร่อต่อกระซิก ถูกพิสูจน์ในเวลารวดเร็วว่า เป็นภาพเมื่อครั้งไปหาเสียงต่างหาก ข่าวลือนั้นก็ตายลง)

ซ้ำวิธีโง่ๆ นี้ยังไปฝืนธรรมชาติของสื่อสมัยใหม่ เช่น ฝืนไม่ให้เกิดการกลืนระหว่างสื่อใหม่กับสื่อเก่า ข่าวลือบางเรื่องในสื่อใหม่นั้น สื่อเก่าไม่กล้าแตะเลย ไม่กล้าแม้แต่ลงไปเจาะเพื่อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ด้วยซ้ำ


ต้องเข้าใจนะครับว่า ข่าวลือในโลกอิเล็กทรอนิกส์นั้น มันมีชีวิตของมันเอง โตเอง แปลงร่างเอง และตายเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ให้กำเนิด ไปขจัดผู้ให้กำเนิดจึงไม่มีประโยชน์อะไรเลย กลับเติมพลังให้แก่ข่าวลือขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ

ข่าวลือจะเป็นอาวุธที่ร้ายแรงน้อยลงในสังคมเปิด โปร่งใสมองเห็นได้ทั่วกันในทุกซอกทุกมุม ไม่มีอะไรที่พูดไม่ได้รายงานไม่ได้ การโตและแปลงร่างของข่าวลือ จะถูกกำกับด้วยข้อเท็จจริงจำนวนมาก ถึงพิสูจน์ความจริงของข่าวลือไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำให้ความร้ายแรงของอาวุธข่าวลือทื่อลงไประดับหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม หากยิ่งเปิดยิ่งพิสูจน์ก็พบว่าข่าวลือนั้นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำอย่างไร ก็ตัวใครตัวมันสิครับ

ตัวใครตัวมันในที่นี้ก็คือ ใครทำอะไรที่ไม่ดีไว้ ก็รับผิดชอบเอาเอง เราไม่อยากอยู่ในสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้ใครมาหน้าไหว้หลังหลอกกันหรอกหรือครับ



+ + +

บทความเมื่อ 2ปีที่แล้ว (2552) ซึ่งกำลังเกิดผลดังได้เตือนไว้


ภาวะการนำที่ต้องปรับ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11391 หน้า 6


พลเอก อนุพงศ์ เผ่าจินดา ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.อธิบายว่า ที่ กอ.รมน.ต้องไปเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านในภาคเหนือและภาคอิสานมาฟังคำชี้แจง เกี่ยวกับการลุกขึ้นสู้ของคนเสื้อแดงในระหว่างสงกรานต์ ก็เพราะประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นอยู่ไกลปืนเที่ยง ย่อมได้รับข่าวสารข้อมูลไม่ครบถ้วน ทาง กอ.รมน.จึงจัดการประชุมเพื่อจะได้ชี้แจงให้ครบถ้วนกระบวนความ ประชาชนจะได้ไม่ไปร่วมมือกับคนเสื้อแดงอีก

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่บอกว่า ประชาชนในต่างจังหวัดมีค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องจัดโครงการไปปรับค่านิยมของคนต่างจังหวัด คุณสุเทพยกตัวอย่างจากอดีตว่า "ตัว-อย่างโครงการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องในอดีต อาทิโครงการลูกเสือชาวบ้านที่ทำให้แนวคิดคอมมิวนิสต์ยุติลง "

สรุปก็ คือ ประชาชนมีแนวคิดที่ไม่ตรงกับชนชั้นนำที่กุมอำนาจ ทำให้ประชาชนต่อต้าน จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดของประชาชนในต่างจังหวัดให้ "ถูกต้อง" คือตรงกับแนวคิดของชนชั้นนำ

ไม่แปลกอะไรนะครับ ชนชั้นนำในทุกสังคมก็คิดอย่างนี้แหละ นั่นคือจะ "นำ" สังคมได้ ก็ต้องทำให้ประชาชนยอมรับการ "นำ" ของตน จะยอมรับได้ก็ต้องเริ่มต้นที่มีแนวคิดอย่างเดียวกัน หรือที่คุณสุเทพเรียกว่าค่านิยมเดียวกันนั่นเอง


ว่ากันที่จริงแล้ว ประชาธิปไตยตะวันตกที่เรารู้จักในทุกวันนี้ ก็มาจากการปรับแนวคิด, วิธีการ, กระบวนการ, ฯลฯ ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนซึ่งเกิดสำนึกทางการเมืองขึ้นนั่นเอง จากสิทธิทางการเมืองที่จำกัดไว้เฉพาะคนซึ่งเสียภาษีที่ดินและทรัพย์สิน มาสู่ประชาชนผู้ชายทั่วไป จากประชาชนผู้ชายทั่วไป มาสู่ประชาชนทั้งชายและหญิง จากสิทธิทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมของคนผิวสี มาสู่สิทธิที่เท่าเทียมของคนทุกสีผิว ฯลฯ

การ "นำ" ที่จะอยู่ยั้งยืนยงที่ไหนๆ ในโลก ก็ต้องอาศัยการปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้ "ตาม" ทั้งนั้น

การปฏิรูปการปกครองในสมัย ร.5 ส่วนหนึ่งก็มาจากการปรับตัว เพราะราชบัลลังก์กำลังสูญเสียการ"นำ"ให้แก่ขุนนางบางตระกูล แต่เพราะชนชั้นนำในเวลาต่อมาหมดความสามารถในการปรับตัวได้อีก จึงต้องสูญเสียการ "นำ" (อย่างน้อยไปส่วนหนึ่ง) ให้แก่การปฏิวัติของคณะราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยขุนนางในระบบราชการแบบใหม่

น่าสังเกตด้วยว่า การปรับตัวที่ประสบความสำเร็จนั้นกระทำแก่ชนชั้นนำเป็นหลัก ไม่ใช่ทำกับประชาชนเป็นหลัก เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่สังคมซึ่งกระทบต่อประชาชนนั้น ไม่อาจแปรเปลี่ยนหรือขวางกั้นได้ง่ายๆ แม้แต่ในสังคมที่ปิดกั้นขัดขวางความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มงวด เช่นรัสเซียในสมัยราชวงศ์โรมานอฟ ก็ไม่ประสบความสำเร็จที่จะหยุดสังคมไว้กับที่ได้ต่อไป และเพราะไม่เข้าใจหรือไม่อยากเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ตนเองชิงชังนั้น ผลก็คือการปฏิวัติของบอลเชวิค ซึ่งทำลายล้างโรมานอฟลงจนสิ้นซาก


สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะใน"ต่างจังหวัด"ซึ่งชนชั้นนำยังหลงคิดว่าเหมือนเดิมทุกอย่าง ฉะนั้นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารด้วยการยัดเยียดข้อมูลของตัวฝ่ายเดียวจึงไม่สามารถสถาปนาการ"นำ"ของตนได้ต่อไป ปฏิกิริยาของกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเข้าร่วมประชุมที่เชียงใหม่ คือการประท้วงวิทยากรของ กอ.รมน.อย่างเปิดเผย และในที่สุดจำนวนหนึ่งก็ใช้วิธีเดินออกจากห้องประชุม ชี้ให้เห็นว่าวิธีการแบบเดิม คือยัดเยียดข้อมูลฝ่ายตนฝ่ายเดียวให้แก่ประชาชนเป็นวิธีการล้าสมัยที่ไม่ให้ผลอย่างเก่าอีกแล้ว

ประชาชนรับข้อมูลได้กว้างขวางกว่านั้นมาก ข้อมูลของกอ.รมน.ก็เป็นข้อมูลหนึ่งในหลายๆ กระแสที่ประชาชนได้รับ จึงเป็นไปไม่ได้ที่กระแสของ กอ.รมน.จะครอบงำกระแสอื่นๆ ได้หมด

"ต่างจังหวัด"ของไทยไม่เหมือนเมื่อสมัยที่ปลุกกระแสลูกเสือชาวบ้าน เราต้องไม่ลืมว่ากว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยเวลานี้อาศัยอยู่ในเขตที่เรียกว่า"เมือง" อันเป็นแหล่งที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลากหลายและปริมาณมาก ส่วนใหญ่ของประชากรไทยไม่ได้ทำเกษตร ส่วนที่ยังทำเกษตรอยู่ก็ทำในเชิงพานิชย์อย่างเข้มข้น นั่นหมายความว่าต้องการข่าวสารข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ และการจัดการไร่นา จะเห็นได้ว่าตลาด"ต่างจังหวัด"ของสื่อเชิงพาณิชย์ทุกประเภทเติบโตขึ้น แม้อย่างช้าๆ แต่ก็เติบโตขึ้น ยังไม่พูดถึงสื่อทางเลือกอื่นๆ นับตั้งแต่เว็บไซต์ไปจนถึงวิทยุชุมชน (และ D Station)


การช่วงชิงการ"นำ" เป็นศิลปะอันละเอียดอ่อน ซึ่งชนชั้นนำต้องเรียนรู้ และใช้ยุทธวิธีให้เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม วิธีการซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้ได้ผลในการครอบงำความคิดของประชาชน เมื่อสังคมเปลี่ยนไปแล้ว วิธีการนั้นก็ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

ความขัดแย้งทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรงดังที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นผลมาจากความไร้สมรรถภาพที่จะปรับตัวของชนชั้นนำไทย เพราะสาเหตุของความขัดแย้งอยู่ลึกกว่าการปะทะกันของเสื้อสองสี (หรือสามสี่สี) แต่เป็นเพราะประชาชนนอกวงของชนชั้นนำไม่ยอมรับการนำของชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ อีกต่อไป หรืออย่างน้อยก็ไม่รับการนำแบบเดิม ที่พวกเขาไม่มีส่วนในการกำกับควบคุมอีกต่อไป

ชนชั้นนำไทยยังคิดว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ เป็นความขัดแย้งในระหว่างกลุ่มต่างๆ ของชนชั้นนำ ซึ่งเกิดขึ้นเสมอมา ต่างชิงความได้เปรียบเสียเปรียบกันด้วยกลวิธีนานาชนิด ทั้งในรัฐสภา, ในกองทัพ, ในวงราชการ และในวงธุรกิจ กลวิธีใหม่เพียงอย่างเดียวคือการสร้างม็อบขึ้นเป็นแรงกดดันฝ่ายตรงข้าม

แต่ในม็อบของทุกสี ย่อมประกอบด้วยประชาชนซึ่งรวมพลังกดดันเป้าหมายอื่น นอกไปจากสิ่งที่แกนนำวางเอาไว้ตามที่ได้รับมอบหมายมาจากชนชั้นนำกลุ่มที่ใช้ตนเป็นเครื่องมือ พลังกดดันส่วนนี้ของประชาชนเริ่มปรากฏให้เห็นถนัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น "การเมืองใหม่" (ซึ่งอาจมีความหมายแตกต่างจากที่แกนนำเสนอ) หรือ "ล้มอำมาตย์" ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าอำนาจนอกระบบซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองของชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่ง



จะหยุดความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างไร? ไม่ใช่ด้วยการนำแกนนำของสีต่างๆ มาต่อรองกันอย่างเปิดเผย เพราะคนเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นนำกลุ่มที่กำลังต่อสู้กันอยู่ อย่างไรเสียก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ชนชั้นนำทุกกลุ่ม จะต้องหันมาทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย แล้วตกลงร่วมกันในการปรับเปลี่ยนการ "นำ" ของพวกตนใหม่ ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ไม่ใช่ด้วยวิธีปิดกั้นข่าวสารข้อมูล แต่ด้วยการร่วมกันมอง หากติกาที่ชนชั้นนำทุกกลุ่มพอรับได้ ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองขึ้นมาพอรับได้ด้วย

ตราบเท่าที่ ชนชั้นนำไทยยังไม่สำนึกถึงความเปลี่ยนแปลง และไม่พร้อมจะปรับการ "นำ"ของตนเสียใหม่ อย่างไรเสีย เราก็คงหนีความรุนแรงได้ยาก

ท่ามกลาง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคม ชนชั้นนำต้องเรียนรู้วิธีการใหม่ในการต่อสู้กันเชิงความคิด อำนาจที่จะพูดฝ่ายเดียว (monologue) ได้สูญเสียความชอบธรรมไปจนหมดแล้ว ฉะนั้นจึงต้องเรียนรู้การพูดเชิงเสวนา (dialogue)

มีคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้อย่างน้อย 4 อย่างในการพูดเชิงเสวนา

1. สิ่งที่พูดออกไปนั้นเปิดให้แก่การตรวจสอบได้ ไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์จนอยู่พ้นออกไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ศาสนายังต้องพร้อมจะเผชิญและตอบโต้กับการวิพากษ์วิจารณ์ (และทุกศาสนาในโลกสมัยใหม่ก็ได้ทำอย่างนั้นไปแล้ว) ในบางครั้ง วาทศิลป์อาจปลุกเร้าผู้ฟังให้เคลิ้มจนลืมตรวจสอบ แต่นั่นเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น ในเวลาไม่นานเขาก็จะกลับมาตื่นตัวตรวจสอบสิ่งที่วาทศิลป์เคลือบเอาไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2.ด้วยเหตุดังนั้น การท้วงหรือคัดค้าน จึงเป็นสิทธิของผู้ฟังที่ปฏิเสธไม่ได้ ถึงใช้อำนาจบังคับไม่ให้ท้วงหรือคัดค้าน อำนาจนั้นก็จะถูกถามหาความชอบธรรมโดยอัตโนมัติ และในโลกปัจจุบันไม่ให้ท้วงต่อหน้า ก็อาจไปท้วงลับหลังซึ่งให้ผลเท่ากัน เพราะสามารถกระจายประเด็นที่ท้วงออกไปกว้างขวางเหมือนกัน หรือยิ่งกว่าเสียอีก

3.การต่อสู้กันทางความคิดในโลกปัจจุบัน กระทำด้วยการหักล้างกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงที่เป็นประจักษ์พยาน อันอาจตรวจสอบได้ทั้งตรรกะที่ใช้ในการให้เหตุผล และตัวข้อเท็จจริง (ก็คือ"ความรู้"นั่นเอง) ไม่มีใครสามารถบีบบังคับให้ใครเชื่ออะไรด้วยอำนาจและสถานภาพที่สูงกว่าอีกแล้ว

4.บนเวทีการพูดเชิงเสวนา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการให้เกียรติกัน เมื่อใดก็ตามที่คิดว่าผู้ฟังคือเด็กที่ต้องได้รับการอบรมสั่งสอน ผู้ฟังก็จะรู้สึกว่าถูกหมิ่น และไม่พร้อมจะขึ้นมาแลกเปลี่ยนสนทนาด้วย ถึงเอากฎหมายหรือปืนมาควบคุม เขาก็จะนั่งหลับ และกลับไปนินทาที่บ้าน การประณามหยามเหยียดคือการทำลายเวทีโดยตรง เพราะทำให้ไม่มีใครกล้าตรวจสอบ, กล้าท้วงหรือค้าน และกล้าใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง เวทีการพูดเชิงเสวนากลายเป็นเวทีของคนพูดฝ่ายเดียว ซึ่งในระยะยาวแล้วจะมีผู้ฟังน้อยลงไปเรื่อยๆ

เพื่อจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางการเมือง ก็ได้แต่หวังว่าชนชั้นนำไทยจะเรียนรู้ทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และกล้าพอจะเรียนรู้วิธีการ "นำ" ที่เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ทัน



.