http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-02

แถลงการณ์ ม.เที่ยงคืน กรณีอากงฯ, 'สนนท.' ย้ำต้องปฏิรูประบบตุลาการ

.
บทความถัดไป
'สันติประชาธรรม' วอนให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีหมิ่น เตือน 'เพื่อไทย' ถลำสู่เกม 'คลั่งเจ้า'
‘ความอยุติธรรมทางศีลธรรม’ และกรรมของ ‘อากง’ โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
กวี : อากง...คือก้านไม้ขีดไฟ โดย เพียงคำ ประดับความ และ
โพสต์หลังบทความหลัก เป็นลิ้งค์ 'บทความ "คดีอากง" และ "บัญญัติแห่งความตาย" ที่เสนอมาแล้ว, ข่าวสารสะท้อนความล้าหลังของระบบตุลาการไทย '

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *



แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรณีอากงและกฎหมายหมิ่นฯ

ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 17:30:00 น.


แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


ในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งในการเมืองไทยมีความรุนแรงมากขึ้น กฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการใส่ร้ายป้ายสีบรรดาผู้คนที่ยืนอยู่ในฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งนำไปสู่การลงโทษอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง อันมีผลทำให้ความขัดแย้งยิ่งบานปลายออกไปมากขึ้น

โดยที่กฎหมายนี้มีปัญหาและข้อบกพร่องปรากฏอยู่อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะทั้งในด้านของเนื้อหาสาระของกฎหมายและกระบวนการในการดำเนินคดีดังกล่าวนี้

ในด้านของเนื้อหา จะพบว่าในแง่ของการริเริ่มคดีที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้สามารถที่จะริเริ่มคดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันนำมาซึ่งการกล่าวโทษกันอย่างง่ายดายและกว้างขวาง บทลงโทษของการกระทำความผิดฐานนี้ซึ่งเป็นการแสดงออกประเภทหนึ่งแต่มีโทษจำคุกรุนแรงถึง 15 ปี

ในด้านของกระบวนการ จะพบว่านับตั้งแต่ขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาจะพบกับความยุ่งยากในการประกันตัว และชั้นพิจารณาคดีก็จะต้องเผชิญกับความยุ่งยากในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่มักถูกให้เหตุผลก็คือเป็นคดีที่มีโทษรุนแรงหรือเป็นคดีที่กระทบต่อสถาบัน และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงมักจะทำให้การวินิจฉัยคดีอยู่ภายใต้แรงกดดันหรือความเชื่อซึ่งอาจนำไปสู่การวินิจฉัยที่ละเลยหรือตีความที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย


ด้วยปัญหาที่กล่าวมาจึงทำให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ใช่เพียงเครื่องมือใส่ร้ายป้ายสีระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ในทางการเมืองเท่านั้น หากยังขยายรวมออกไปถึงประชาชนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องได้รับโทษจากกฎหมายนี้อย่างไม่เป็นธรรม กรณีคำวินิจฉัยใน "คดีอากง" เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กระทำต่อประชาชนได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดการใช้กฎหมายนี้อย่างฟุ่มเฟือยโดยมีวาระทางการเมืองแอบแฝง และหากเปรียบเทียบกับการลงโทษที่เกิดขึ้นในหลายคดีที่แม้เป็นการฆาตกรรมต่อชีวิตของบุคคลอื่นก็ยังไม่ได้รับโทษเทียบเท่ากับกรณีนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นบทลงโทษที่รุนแรงและไม่สอดคล้องกับการกระทำที่ได้บังเกิดขึ้น

การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับกรณี "อากง" ส่งผลให้คนจำนวนมากในสังคมรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจเพราะผลการวินิจฉัยนั้นขัดแย้งกับสามัญสำนึกแห่งความยุติธรรม ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเนื่องไปถึงสถาบันฯ อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่าหากไม่ต้องการที่จะเปิดโอกาสให้การใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้คนดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นมา จำเป็นที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงการป้องกันผู้บริสุทธิ์จากการรังแกของกฎหมายเพียงอย่างเดียว หากจะเป็นการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นในสังคมประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น


1 ธันวาคม 2554



++

'สนนท.' ย้ำต้องแก้ไขกม.หมิ่นฯ -ปฏิรูประบบตุลาการ
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Wed, 2011-11-30 21:34


'สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย' ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 แจงแนวทางแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ร้องผู้อำนาจต้องเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางในสาธารณะ พร้อมยกเลิกการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพียงด้านเดียวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งตั้งคณะกรรมการที่มาจากประชาชนเพื่อทบทวนและแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้ สนนท. ยังชี้ว่าต้องให้มีการปฏิรูประบบตุลาการเพื่อให้มีความโปร่งใสและมีอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นด้วย

-------------------------

แถลงการณ์ฉบับที่ ๒
สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา ๑๑๒


ด้วยสภาพปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปัจจุบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ซึ่งเกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมในช่วงหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๑ นำมาสู่การนำไปใช้ทำลายคู่ต่อสู้การเมือง และนำไปสู่ความขลาดของระบบตุลาการจนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ในที่สุด จนละเลยหลักการประชาธิปไตยสากล

จากสภาพการณ์ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ดังกล่าว พวกเราได้มองเห็นปัญหาดังนี้

๑. ปัญหาที่มาของกฎหมาย ดังที่กล่าวมาแล้วว่ากฎหมายนี้เกิดมาจากคำสั่งคณะปฎิรูปการปกครองในปี ๒๕๑๙ บ่งบอกว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย เนื่องมาจากกฏหมายนี้ถูกบัญญัติโดยกลุ่มคนที่กระทำรัฐประหารซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักประชาธิปไตย ไม่มีประเทศใดในโลกที่ยอมรับการยึดอำนาจของประชาชนเช่นนี้

๒. การแช่แข็งปัญหาเรื่อยมาของตัวกฎหมาย อันนำมาสู่การใช้ข้อหานี้มาโจมตีผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง เสมือนเป็นเครื่องมือเพื่อรับใช้ระบอบเก่า และสิ่งเหล่านี้ถูกทำให้รับรู้แต่เพียงวงแคบในสังคม ทำให้กฎหมายนี้ถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งผู้ที่เห็นต่างอย่างไม่เป็นธรรม โดยในสภาพปัจจุบันที่ความคิดของผู้คนมีความหลากหลายจนเกิดการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหมิ่นฯ ยิ่งเป็นผลให้กฎหมายดัง
กล่าวถูกนำไปใช้ในการปิดหูปิดตาและปิดปากคนเหล่านี้ยิ่งขึ้น อันเห็นได้จากสถิติการพิพากษาคดีด้วยมาตราดังกล่าวในรอบ ๕ ปีที่มีจำนวนสูงกว่า ๕๐๐ คดี

๓. ปัญหาความไร้เสถียรภาพ อันนำมาสู่ความอ่อนแอและความขลาดของระบบตุลาการในประเทศไทย เมื่อกระบวนการได้มาของตัวแทนประชาชนในการพิพากษาคดีไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน จึงทำให้ระบบตุลาการถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโดยกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มที่สถาปนาตัวเองให้มีอำนาจเหนือกว่าประชาชน สิ่งเหล่านี้ทำให้ระบบตุลาการไร้เสถียรภาพในด้านการบริหารงานของตัวผู้พิพากษาที่จะพิจารณาคดีด้วยความโปร่งใส นำมาสู่ความอ่อนแอของตุลาการไทย ที่ไม่มีความกล้าในการทำให้คดีมีความโปร่งใสและยุติธรรม อันนำมาซึ่งการตีความของศาลที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล

๔. การละเลยหลักการประชาธิปไตยสากลของกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เพราะองค์ประกอบของหลักประชาธิปไตยนั้นต้องประกอบไปด้วย หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลักความเสมอภาค หลักสิทธิเสรีภาพ หลักนิติรัฐ และหลักการเสียงข้างมากแต่ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย หลักการเหล่านี้เป็นหลักสากลที่มนุษย์ทุกคนพึงมี แต่กฎหมายหมิ่นฯมาตรา ๑๑๒ ได้ละเลยหลักการดังกล่าวไปอย่างสิ้นเชิง เห็นได้จากการกำหนดโทษของกฎหมายที่สูงเกินจริง และการตีความของกฎหมายที่มีลักษณะครอบจักรวาล อีกทั้งกระบวนการประกันตัวก็ยังคลุมเครือและไม่เท่าเทียม


ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าว ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จึงขอเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออกให้กับสังคมไทยเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งอันนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ ดังนี้

๑. เราขอเรียกร้องให้มีการทบทวนและแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ อย่างจริงจัง ทั้งนี้การทบทวนและแก้ไขควรมีการทำประชาพิจารณ์จากภาคประชาสังคม และควรตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทางภาครัฐและภาคประชาชน โดยผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนดังกล่าว ต้องมาจากการทำประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการทบทวนและแก้ไขกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศอันเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทย

๒. เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งเร้าและผลักดันให้ปัญหานี้ออกสู่สาธารณะชนอย่างกว้างขวางโดยเร็ว เนื่องด้วยการกดขี่ของผู้ที่ใช้อำนาจนอกระบบยังดำเนินอยู่ในสังคมไทยอย่างไม่ลดละ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนอย่างรุนแรง การใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ มาโจมตีผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองนับวันยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้น เราได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และเห็นควรว่าถ้าปัญหาเหล่านี้ไม่ถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณะโดยเร็ว ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนยากเกินจะแก้ไขเยียวยา และอาจนำไปสู่การนองเลือดอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ไทยครั้งแล้วครั้งเล่า การผลักดันปัญหาเหล่านี้ให้เป็นไปตามข้อที่หนึ่งจึงมีความจำเป็นยิ่ง เพื่อลดความขัดแย้งของสังคมไทยที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

๓. เราขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบตุลาการ โดยการทำให้ระบบตุลาการมีความยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งกระบวนการสรรหาและการตีความทางกฏหมายของระบบตุลาการต้องคำนึงหลักสิทธิเสรีภาพสากล และต้องมีความโปร่งใสในการที่จะตรวจสอบได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมอีกทั้งต้องตั้งอยู่บนหลักนิติรัฐนิติธรรม มิใช่ตัดสินโดยใช้อคติส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงหลักสากล ทั้งนี้รวมไปถึงสิทธิการประกันตัว และสิทธิอื่นๆที่ผู้ต้องหาพึงได้รับ

๔. เราขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ เปิดพื้นที่ทางความคิดเพื่ออภิปรายประเด็นปัญหาอันแหลมคมนี้อย่างกว้างขวางทั้งในสื่อ และวงการการศึกษากระแสหลัก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักรู้ถึงปัญหา อีกทั้งยังจะช่วยให้เกิดการถกเถียงอภิปรายอย่างเป็นรูปธรรมในทางสาธารณะ มิใช่เอาแต่ปิดกั้นและริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขอให้เลิกการให้ข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียวอันจะนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมไทย การนำประเด็นปัญหาเหล่านี้ออกสู่สาธารณะจะเป็นการเปิดพื้นที่ทางความคิด เสริมสร้างการเรียนรู้ทางด้านสิทธิเสรีภาพและหน้าที่พลเมือง อันจะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาในสังคมไทยอย่างแท้จริง

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาและข้อเสนอข้างต้นจะได้รับการพิจารณาจากทางภาครัฐและภาคประชาชนทุกภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างจริงจัง และนำไปสู่เส้นทางแห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มิใช่การปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดอย่างที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน มิใช่การจำกัดสิทธิพลเมืองและไร้ซึ่งความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรม ความยุติธรรมที่ตั้งอยู่บนหลักสิทธิเสรีภาพสากลจะต้องบังเกิดในประเทศที่อ้างว่าปกครองระบอบประชาธิปไตยเสียที


ด้วยจิตคารวะ

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เชิญอ่านต้นฉบับและข้อคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2011/11/38095



++

'สันติประชาธรรม' วอนให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีหมิ่น เตือน 'เพื่อไทย' ถลำสู่เกม 'คลั่งเจ้า'
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Mon, 2011-11-28 23:47


28 พ.ย.54 เครือข่ายสันติประชาธรรมออกแถลงการณ์ เรื่อง ‘สิทธิและความยุติธรรมสำหรับนักโทษ 112 หายไปไหน?’ ชี้กรณี ‘อากง’ ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทย ในขณะที่บทบาทและอำนาจทางการเมืองของระบบตุลาการทรงพลังและกว้างขวางอย่างยิ่ง การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล กลับไม่สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา

ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัว หรืออย่างน้อยที่สุด อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคน ทบทวนสถานะที่แตะต้องไม่ได้ของระบบตุลาการไทย ผลักดันให้มีการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลอย่างจริงจัง และพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองทั้งหลายต้องยุติการใช้ข้อหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อขจัดผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเตือนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องยุติการถลำตัวเข้าเล่นเกมคลั่งเจ้า แต่ต้องแสดงความกล้าหาญผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ และแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ยึดโยงกับประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนโดยเร็ว ซึ่งมีรายละเอียดในแถลงการณ์ ดังนี้

-------------------------

แถลงการณ์
‘ สิทธิและความยุติธรรมสำหรับนักโทษ 112 หายไปไหน? ’

เครือข่ายสันติประชาธรรม
28 พฤศจิกายน 2554


กรณีนายอำพล (สงวนนามสกุล) หรืออากง ชายวัย 61 ปีต้องคำพิพากษาจำคุก 20 ปี ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ 4 ครั้ง คดีนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับหลักฐานและการใช้เหตุผลในการพิจารณาคดี แต่ยังเป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทยดังต่อไปนี้

1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ได้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความหวาดกลัวมากกว่าเพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม ผู้ถูกกล่าวหามีแนวโน้มจะถูกลงโทษรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับว่าพวกเขาเป็นฆาตกรอำมหิต บรรดาผู้มีส่วนร่วมในการใช้กลไกดังกล่าวเพื่อปราบปรามผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง โปรดตระหนักด้วยว่า การกระทำเช่นนี้ไม่เพียงตอกลิ่มความแตกแยกและความเกลียดชังในสังคมให้รุนแรงมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันกษัตริย์ได้เลย แท้ที่จริงแล้วพวกท่านกำลังช่วยกันทำลายสังคมในนามของสถาบันกษัตริย์

2. คดีนายอำพลได้ก่อให้เกิดการข้อกังขาเกี่ยวกับวิธีการพิจารณาคดีของกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่สังคมก็ไม่สามารถวิจารณ์ระบบตุลาการของไทยได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา สังคมไม่สามารถวิจารณ์ข้อเท็จจริงที่ว่าหมายเลขโทรศัพท์ของนายอำพลเป็นคนละหมายเลขที่ใช้ส่งข้อความ, หมายเลข IMEI อันเป็นหลักฐานหลักที่ศาลใช้ตัดสินว่านายอำพลมีความผิด เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดายและซ้ำซ้อนกันได้, นายอำพลยืนยันวาตนมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และไม่รู้วิธีส่งข้อความทางโทรศัพท์

เราไม่สามารถวิจารณ์ข้อวินิจฉัยของศาลที่ว่า “แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวไปยังโทรศัพท์ เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ” แต่ศาลกลับลงความเห็นได้ว่านายอำพลกระทำความผิดจริงและพยายามปกปิดความผิดของตน เราไม่สามารถตั้งคำถามได้ว่า อะไรคือความสมเหตุสมผลของข้อวินิจฉัยดังกล่าว

เราไม่สามารถประท้วงการลงโทษนายอำพลและผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯคนอื่น ๆ ว่ารุนแรงเกินไปหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับคดีความอื่น ๆ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับอภิสิทธิ์ชนทางการเมือง

ประการสำคัญ เราไม่สามารถตั้งคำถามว่า ระบบตุลาการไทยกำลังบอกกับสังคมว่า เราควรปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมืองโดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม เมตตาธรรม และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานใช่หรือไม่

3. ในขณะที่บทบาทและอำนาจทางการเมืองของระบบตุลาการทรงพลังและกว้างขวางอย่างยิ่ง การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล กลับไม่สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา เพราะมีกฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลเป็นเกราะป้องกันศาลให้ปลอดพ้นจากการตรวจสอบของสังคม แต่คำถามที่สังคมไทยควรถามก็คือ ในขณะที่อำนาจบริหารและนิติบัญญัติถูกตรวจสอบและถ่วงดุลด้วยกลไกต่าง ๆ ได้ เรามีกลไกอะไรที่สามารถควบคุม ตรวจสอบ และลงโทษผู้ที่ใช้อำนาจตุลาการในลักษณะที่ก่อให้เกิดปัญหาได้บ้าง? ศาลมีความกล้าหาญที่จะรับผิด (Accountability) ต่อการกระทำของตนเองหรือไม่ คำถามเช่นว่านี้เป็นคำถามที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะในสังคมประชาธิปไตย อำนาจพึงถูกตรวจสอบและถ่วงดุลอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจนั้นบิดเบี้ยว (Corrupt) จนส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมของผู้คนในสังคม

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี่เอง พวกเราในฐานะประชาชนผู้ต้องการเห็นกระบวนการตุลาการไทยคำนึงถึงหลักความยุติธรรม มนุษยธรรม ประชาธิปไตย และสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริง จึงขอเรียกร้องสังคมได้ช่วยกันต่อสู้เพื่อผลักดันประเด็นต่อไปนี้

1.ให้ปล่อยตัว หรืออย่างน้อยที่สุด อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคน

2.ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวนสถานะที่แตะต้องไม่ได้ของระบบตุลาการไทยอย่างแท้จริง และต้องผลักดันให้มีการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลอย่างจริงจัง

3.พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองทั้งหลายต้องยุติการใช้ข้อหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อขจัดผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องยุติการถลำตัวเข้าเล่นเกมคลั่งเจ้าเช่นกัน แต่ต้องแสดงความกล้าหาญผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ และแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ยึดโยงกับประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนโดยเร็ว

ท้ายนี้ พวกเราใคร่วิงวอนให้กลุ่มการเมืองทั้งหลายโปรดตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รุนแรงอย่างถอนรากถอนโคนในหลายสังคมมักมีสาเหตุสำคัญคือ 1. ผู้มีอำนาจปฏิเสธที่จะรับฟังเสียงประท้วงต่อความอยุติธรรมของประชาชน 2. ความเกลียดชังระหว่างประชาชนหยั่งรากลึกจนไม่ต้องการอยู่ร่วมกันอีกต่อไป ซึ่งนี่คือสภาวะที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่และมีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะ


เครือข่ายสันติประชาธรรม

1 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา
2 พนัส ทัศนียานนท์ อดีตวุฒิสมาชิกและคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
3 นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ
4 กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล
5 อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
6 ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน
7 พวงทอง ภวัครพันธุ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8 เวียงรัฐ เนติโพธิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9 จักรกริช สังขมณี รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10 เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
11 ขวัญระวี วังอุดม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
12 ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท
13 ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการ วารสาร “อ่าน”
14 คำ ผกา นักเขียนและสื่อมวลชนอิสระ
15 มุกหอม วงษ์เทศ นักเขียนอิสระ
16 ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
17 ประจักษ์ ก้องกีรติ รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
18 ยุกติ มุกดาวิจิตร สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
19 อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
20 ธนศักดิ์ สายจำปา นศ.ปริญญาเอก รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
21 อรอนงค์ ทิพย์พิมล ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
22 จีรนุช เปรมชัยพร สำนักข่าวประชาไท
23 ภัควดี วีรภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปล
24 ไชยันต์ รัชชกูล นักวิชาการ
25 ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
26 Tyrell Haberkorn มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
27 พฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
28 ศรายุธ ตั้งประเสริฐ สำนักข่าวประชาไท
29 วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
30 วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระ
31 ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
32 นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
33 เชษฐา พวงหัตถ์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
34 โกวิทย์ แก้วสุวรรณ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
35 ชาญณรงค์ บุญหนุน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
36 บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
37 พิพัฒน์ สุยะ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หมายเหตุ สามารถลงชื่อเพิ่มเติมได้ที่ facebook อากง เหยื่อ112:Ah Kong, Victim of Art.112

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เชิญอ่านต้นฉบับและข้อคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai3.info/journal/2011/11/38066



++

‘ความอยุติธรรมทางศีลธรรม’ และกรรมของ ‘อากง’
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Tue, 2011-11-29 22:20


ในหมู่ชาวพุทธบ้านเรา เวลาเกิดปัญหาหรือเรื่องร้ายๆ ในชีวิตและสังคม ผู้คนมักจะพูดว่าเป็นเรื่องของ “กรรม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษิณที่ต้องระหกระเหินไปอยู่ต่างประเทศก็บอกว่าเป็นเรื่องของกรรม อาจจะเป็นทั้งกรรมในชาติปัจจุบัน หรืออดีตชาติก็ว่ากันไป ความขัดแย้งแบ่งสีก็บอกเป็นกรรมของสังคม น้ำท่วมใหญ่ก็บอกเป็นกรรมที่มนุษย์ทำกับธรรมชาติ ฯลฯ

แน่นอนว่าเรื่องของ “อากง 20 ปี” ก็ไม่พ้นที่จะพูดกันว่าเป็นเรื่องของ “กรรม” เช่น อากงเองก็พูดถึงการติดคุก 20 ปี ของตนเอง (ขออนุญาตนำข้อความบนสเตตัสของ คุณอานนท์ นำภา มาเผยแพร่ต่อ) ดังข้างล่างนี้


ขณะที่เลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็บอกว่าที่ตนต้องแจ้งความ เพราะจำเป็นต้องเลือก “ความถูกต้อง” และกรณีนี้มันก็เป็นเรื่อง “กรรมใดใครก่อ”

บางคนอาจมองว่าเรื่องความเชื่อ หรือ “คำทางศาสนา” ไม่ควรนำมาเกี่ยวโยงกับเรื่องทางสังคมการเมืองเพราะมันมีความหมายเฉพาะสำหรับใช้กับชีวิตทางศาสนามากกว่า แต่ถ้าเรามองตามข้อเท็จจริง “คำทางศาสนา” ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ หากแต่ถูกหยิบมาใช้ในบริบททางสังคมการเมือง หรือถูกตีความรับใช้สภาพสังคมการเมืองในยุคสมัยต่างๆ มากบ้าง น้อยบ้างเสมอ ไม่เช่นนั้นความเชื่อหรือคำทางศาสนาอาจหายไปจากโลกแล้วก็ได้

โดยเฉพาะในสังคมไทย “คำทางศาสนา” เข้ามาป้วนเปี้ยนกับการเมืองแทบในทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องดี-ชั่วของตัวบุคคลทางการเมือง เรื่องน่าพึงประสงค์ไม่พึงประสงค์ของระบบการเมือง ไปจนถึงเรื่อง “ชะตากรรม” ของบ้านเมืองเป็นต้น ฉะนั้น การตั้งคำถาม หรือวิพากษ์การใช้คำทางศาสนาในทางสังคมการเมืองจึงมีความจำเป็นอยู่ไม่น้อย

กล่าวเฉพาะคำว่า “กรรม” ที่นิยมใช้กันในบ้านเรามักใช้ในความหมายประมาณนี้ เช่น

1) ใช้เจาะจงกับเรื่องราว หรือเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม เช่น มันเป็นกรรมของอากง เป็นเวรกรรมของแผ่นดิน เป็นกรรมของสังคมไทย ฯลฯ

2) ใช้อธิบายความเป็นไปของชีวิตในปัจจุบันและอนาคตว่าถูกกำหนดอย่างแน่นอนตายตัวโดย “กรรมเก่า”

3) ใช้อธิบายว่า มันยุติธรรมแล้วที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น “กรรมใดใครก่อ”

4) ใช้ปลอบใจตัวเอง (และคนอื่น) ให้ยอมรับชะตากรรม หรือยอมจำนน เช่น “มันเป็นกรรมของเราเอง”

5) ใช้ปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งของตนเอง เช่น อ้างว่า กรรมใดใครก่อ” เพื่อปฏิเสธความรู้สึกผิดที่ตนเองไปแจ้งความ ทำใช้ชายแก่คนหนึ่งต้องติดคุก 20 ปี (ทั้งที่ถ้าเขามีความเข้าใจว่ากฎหมายไม่ยุติธรรม และข้อความนั้นก็เป็นเพียง “ข้อความ” ที่ปรากฏในโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของเขาเท่านั้น เขาก็ย่อมแสดงความรับผิดชอบต่ออิสรภาพของคนอื่นได้ด้วยการไม่ไปแจ้งความ) และปฏิเสธที่จะเรียกร้องความรับผิดชอบจากคนอื่นที่กระทำผิดต่อตนเอง เช่น ลูกถูกรถชนตายก็ไม่เรียกร้องความรับผิดชอบทางกฎหมายจากคู่กรณีอย่างเต็มที่ นึกเสียว่าเป็นการ “ใช้เวรใช้กรรมที่เคยมีต่อกัน” จะได้จบๆ ไม่จองเวรจองกรรมกันอีกต่อไป


การใช้กรรมในความหมายดังกล่าวเป็นต้นนี้ ไม่น่าจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าใช้ หากศึกษาจากคำสอนเรื่องกรรมในพระไตรปิฎก เราจะพบว่า การใช้คำสอนเรื่องกรรมมีการใช้ภายใต้หลักคิดสำคัญประมาณนี้ เช่น

1) ใช้ปฏิเสธระบบชนชั้น ที่ถือว่าความประเสริฐไม่ประเสริฐของมนุษย์ถูกกำหนดเอาไว้แล้วอย่างตายตัวโดยชนชั้นที่คนได้มาโดยกำเนิด เช่น คุณเป็นผู้ประเสริฐโดยชาติ (การเกิด) ถ้าคุณเกิดในวรรณะกษัตริย์ หรือวรรณะพราหมณ์ เป็นสามัญชนถ้าเกิดในในวรรณะแพศย์ และเป็นคนชั้นต่ำถ้าเกิดในวรรณะศูทร สถานะทางชนชั้นโดยการเกิดนี้ถูกกำหนดโดยการเกิดจากพระพรหมอีกที เช่น พราหมณ์เกิดจากปาก กษัตริย์เกิดจากแขน แพศย์เกิดจากสะดือ ศูทรเกิดจากเท้า ของพระพรหม จึงมีสถานะสูง-ต่ำลดหลั่นกันตามโครงสร้างทางร่างกาย (Organism) ของพระพรหม

พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยกับความเชื่อนี้ จึงใช้เหตุผลโต้แย้ง (arguments) อย่างตรงไปตรงมา สรุปสาระสำคัญได้ 3 ประการ คือ (1) พระพรหมไม่มีจริงเพราะไม่มีใครเคยเห็นพระพรหม (2) คนทุกวรรณะต่างเกิดจากโยนีของมารดา (3) ระบบวรรณะเกิดจากวิวัฒนาการทางสังคม เริ่มจากสังคมก่อนมาเป็นสังคมการเมือง และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ทางสังคม มีการสร้างความเชื่อสร้างจารีตประเพณีขึ้นมากำกับความคงอยู่ของระบบวรรณะ

จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าอ้าง “ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์” หรือใช้เหตุผลแบบ “ประสบการณ์นิยม” (empiricism) เพื่อปฏิเสธระบบชนชั้น แล้วจึงเสนอว่า “ความประเสริฐไม่ประเสริฐ” หรือคุณค่าของคนขึ้นอยู่กับ “กรรม” หรือการกระทำของคนแต่ละคน

2) ใช้ “กรรม” เพื่อยืนยันความยุติธรรม ตามหลักคิดเรื่องกฎแห่งกรรมที่ว่า “ทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น” ความยุติธรรมตามความหมายนี้มีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ (1) ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อกระผิดหรือถูกในสิ่งเดียวกัน ก็ย่อมผิดหรือถูกเสมอภาคกัน เช่น กษัตริย์ฆ่าคน ศูทรฆ่าคนก็ผิดศีลข้อ “ปาณาติบาต” เหมือนกัน เป็นต้น ความยุติธรรมในความหมายนี้เป็นการปฏิเสธ “ระบบอภิสิทธิชนทางศีลธรรม” ของระบบชั้นนั้น และถือว่ามนุษย์มี “ความเสมอภาคทางศีลธรรม” (2) การกระทำสิ่งที่ผิดน้อยย่อมได้รับโทษเบา ทำผิดมากย่อมได้รับโทษหนัก

หากพิจารณาตามความหมายของความยุติธรรม 2 ประการตามหลักคิดเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ดังกล่าว การออกกฎหมายที่กำหนดให้ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือเพื่อมนุษย์คนอื่น ย่อมเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม การตัดสินลงโทษคนตามกฎหมายเช่นนั้น เช่น กรณีตัดสินจำคุก 10-20 ปี สำหรับ “กรรมเบา” หรือการกระทำทางศีลธรรมที่มีความผิดเบามาก อย่าง “กรรมทางวาจา” (วจีกรรม) ที่หมิ่นประมาทบุคคลอื่น จึงเป็นการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมตามกฎแห่งกรรม หรือเป็นการตัดสินที่ “ไม่ยุติธรรมในทางศีลธรรม”

พึงตระหนักว่า เมื่อพระพุทธเจ้าใช้หลัก “กรรม” ปฏิเสธระบบวรรณะ” ย่อมมีความหมายสำคัญว่าระบบวรรณะไม่ใช่ระบบที่มีความยุติธรรมตามทัศนะของพระองค์ หลักที่ยุติธรรมกว่าคือหลักกรรม ฉะนั้น สังคมที่มีความยุติธรรมกว่าสังคมระบบชนชั้น คือสังคมที่สร้างกติกาการอยู่ร่วมกันให้สอดคล้องกับความยุติธรรมตามกฎแห่งกรรมทั้ง 2 ประการดังกล่าว

คำถาม ณ ที่นี้คือ ทำไมสังคมไทยที่อ้างว่าสังคมตนเองเป็นสังคมพุทธ และถึงขนาดบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” จึงมีกฎหมาย เช่น ม.112 เป็นต้น ที่ขัดแย้งกับหลักความยุติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และมีการใช้กฎหมายนั้นลงโทษประชาชนอย่างขัดต่อหลักความยุติธรรมทางศีลธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า สังคมนี้ควรเลิกประกาศว่าเป็น “สังคมพุทธ” หรือควรยกเลิกกฎหมายที่ขัดกับคำสอนของพุทธศาสนาดี!

3) ใช้ “กรรม” ปฏิเสธ “ลัทธิกรรมเก่า” (ปุพฺเพกตวาท) ที่เชื่อว่าความเป็นไปทุกอย่างของชีวิตในปัจจุบันและอนาคตถูกกำหนดเอาไว้แล้วอย่างแน่นอนตายตัวโดย “กรรมเก่า” พระพุทธเจ้าถือว่าความหมายสำคัญของหลักกรรมอยู่ที่คนแต่ละคนมีเสรีภาพในการเลือกกระทำ และเวลาปัจจุบันคือเวลาที่เราแต่ละคนมีอำนาจตัดสินใจเลือกมากที่สุดว่าจะทำอะไร เช่น องคุลีมาลย์มีอำนาจตัดสินใจเลือกว่าจะฆ่าคนต่อไป หรือจะเลือกทางชีวิตแบบพระภิกษุ เป็นต้น ฉะนั้น การกระทำในปัจจุบันคือสิ่งสำคัญที่สุดที่กำหนดความเป็นไปในปัจจุบันและอนาคตของชีวิต (และสังคม) ของเรา

จะเห็นว่าการยืนยันความสำคัญของ “กรรมปัจจุบัน” ย่อมสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าอ้างเหตุผลเชิงประจักษ์ หรือ “ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้” เพื่อปฏิเสธระบบวรรณะ

ฉะนั้น ถ้าพระพุทธเจ้าปฏิเสธว่าพระพรหมไม่มีเพราะไม่มีใครเคยเห็น แต่กลับยืนยันว่าชีวิตปัจจุบันและอนาคตขึ้นอยู่กับ “กรรมเก่า” ที่ไม่มีใครมองเห็น ย่อมเป็นการยืนยันที่ขัดแย้งในตัวเอง ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงปฏิเสธ “ลัทธิกรรมเก่า” และยืนยืนความสำคัญของ “กรรมปัจจุบัน” ที่พิสูจน์ความเป็นเหตุเป็นผลได้ในเชิงประจักษ์

แต่การสอนเรื่องกรรมในยุคต่อมา รวมทั้งที่นิยมสอนกันมากในบ้านเราเช่นเรื่อง “แก้กรรม” เป็นการสอนตาม “ลัทธิกรรมเก่า” ที่พระพุทธเจ้าเคยปฏิเสธมาก่อน

4) ใช้กรรมเพื่อยืนยัน “ความรับผิดชอบ” โดยปฏิเสธ “ลัทธิอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ลัทธิรอผลดลบันดาล” พระพุทธเจ้าเรียกตนเองว่าเป็น “กรรมวาที” คือผู้ยืนยันว่าการกระทำด้วยความเพียรของตนเองคือสิ่งที่ทำให้บรรลุความสำเร็จ กรรมในความหมายนี้มีลักษณะ active คือลักษณะของความเป็น “ผู้กระทำ” เพื่อกำหนดการเปลี่ยนแปลงชีวิต (และสังคม) ให้ก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะ passive คือความเป็น “ผู้ถูกกระทำ” หรือถูกกำหนดชะตากรรมโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (หรืออำนาจกรรมเก่า) ตามลัทธิรอผลดลบันดาล


ความเป็น “กรรมวาที” หรือความเป็นผู้ริเริ่มกระทำสิ่งที่ดีเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต (และสังคม) ให้ดีขึ้นแสดงถึง “ความรับผิดชอบ” ต่อชีวิต (และสังคม) นี่คือสาระสำคัญของคำสอนเรื่อง “กรรม” ในพุทธศาสนา แต่ในบ้านเรากลับอ้างคำสอนเรื่องกรรมเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบ มันจึงกลับตาลปัตรกับที่พระพุทธเจ้าสอน

ฉะนั้น ในกรณีของ “อากง” หากเรามีความรับผิดชอบ (หรือมีความเป็น “กรรมวาที” ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าเป็น) ความรับผิดชอบนั้นย่อมแสดงออกด้วยการคัดค้านการลงโทษที่อยุติธรรมแก่อากง ด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 และยกเลิกกฎหมายใดๆ ก็ตาม ที่สนับสนุนความอยุติธรรมทางชนชั้นซึ่งขัดกับหลัก “ความยุติธรรมทางศีลธํรรม” ตามคำสอนเรื่องกรรมโดยพื้นฐาน

ปัญหาคือ เมื่อเรายืนยันว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมนี้เป็นชาวพุทธ และสังคมนี้เป็นสังคมประชาธิปไตย เราพร้อมที่จะเป็นชาวพุทธตามที่พระพุทธเจ้าสอน และพร้อมที่จะเปลี่ยนสังคมให้เป็นประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศหรือยัง? หรือจะอยู่กันแบบนี้ ซาบซึ้งกับ “การหลอกตัวเอง”

เช่นนี้ไปชั่วกัลปาวสาน!


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เชิญอ่านต้นฉบับและข้อคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2011/11/38082
ตัวอย่าง เช่น

Submitted by กูเองแหละ (visitor) on Wed, 2011-11-30 17:30. .."ด่าว่าทุกกระทู้ซ้ำซาก"

พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยกับความเชื่อนี้ จึงใช้เหตุผลโต้แย้ง (arguments) อย่างตรงไปตรงมา สรุปสาระสำคัญได้ 3 ประการ คือ (1) พระพรหมไม่มีจริงเพราะไม่มีใครเคยเห็นพระพรหม (2) คนทุกวรรณะต่างเกิดจากโยนีของมารดา (3) ระบบวรรณะเกิดจากวิวัฒนาการทางสังคม เริ่มจากสังคมก่อนสังคมการเมืองมาเป็นสังคมการเมือง และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ทางสังคม มีการสร้างความเชื่อสร้างจารีตประเพณีขึ้นมากำกับความคงอยู่ของระบบวรรณะ

จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าอ้าง “ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์” หรือใช้เหตุผลแบบ “ประสบการณ์นิยม” (empiricism) เพื่อปฏิเสธระบบชนชั้น แล้วจึงเสนอว่า “ความประเสริฐไม่ประเสริฐ” หรือคุณค่าของคนขึ้นอยู่กับ “กรรม” หรือการกระทำของคนแต่ละคน------------------------------------------------------------------------ <<< ----- มึงเอามาจากไหน ?

ข้างบ้นนี้ตัวอย่าง มึงเอามาจากไหน อย่ามามั่วยกตัวเต็มมาบทความในไตรปิฏกนะ คัมภีรืไร เล่มเท่าไหร่


Submitted by สุรพศ ทวีศักดิ์ (visitor) on Wed, 2011-11-30 19:05.

อัคคัญญสูตร พระไตรปิฎกเล่ม 11และในที่อื่นๆที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกรรม หรือในงานของ ป.อ.ปยุตฺโต (หัดอ่านอย่างวิเคราะห์ สังเคราะห์บ้าง อย่าดีแต่เอาสีข้างเข้าถู เซ็งว่ะ!)

ฯลฯ



++

กวีตีนแดง:อากง...คือก้านไม้ขีดไฟ
โดย เพียงคำ ประดับความ
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Wed, 2011-11-30 21:24


อากงสู้...พวกเราก็จะสู้
ให้โลกรู้เสรีภาพไม่ผิด
มีหัวใจหรือเปล่ารอยัลลิสต์
สร้างโลกวิปริตคิดกักขัง

รอยัลลิสต์ไม่มีหัวใจ
รักเอาตายไล่ล่าอย่างบ้าคลั่ง
สร้างอนุสาวรีย์แห่งความชัง
บูชายัญสิ่งล้าหลังอย่างโง่งม

รอยัลลิสต์ไม่มีหัวใจ
เราจะอยู่กันอย่างไรเมื่อโลกขม
ชายชรากับข้อหาโสมม
ดูซินั่น! สายลมยังร้าวราน

อากง...ยืนยันสู้ด้วยใจซื่อ
แม้คุกอาจคือแดนประหาร
โลกอาจหยุดนิ่งตั้งแต่นั้น
ทุกข์ท้อทรมานบั้นปลาย

เพียงชายชราสามัญ
ปลุกจิตวิญญาณขึ้นขานไข
อากง...คือก้านไม้ขีดไฟ
แสงสว่างเกิดขึ้นใน...ใจเราแล้ว!!!


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ฯลฯ
Submitted by สามัญชน (visitor) on Thu, 2011-12-01 10:10.

*แม้จะเป็นเพียงก้านไม้ขีดไฟ
ที่ลุกไหม้ได้เพียงแต่ชั่วครู่
แม้เป็นคนเล็กน้อยไม่น่าดู
แต่ก็เป็นครูใหญ่ให้หลายคน


______________________________________________________________________________________________________________

บทความ "คดีอากง" และ "บัญญัติแห่งความตาย" ที่เสนอมาแล้ว
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/11/snnt-ak.html

www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11403745/P11403745.html
โดย แมวน้ำสีคราม
กด *#06# หมายเลขอีมี่จะขึ้นมา จดไว้ ..แล้วเปิดหลังเครื่องดูว่าตรงกันมั้ย
อย่าลืมจดไว้ล่ะ กันเหนียว..เครื่องหายเมื่อไหร่จะได้รู้ครับ..

ข่าวสารสะท้อนความล้าหลังของระบบตุลาการไทย
www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1322643220&grpid=&catid=no&subcatid=0000
www.prachatai.com/journal/2011/12/38130
www.prachatai.com/journal/2011/12/38131
http://www.tci.or.th/newshot_detail.php?id=234#newsevent

www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11379386/P11379386.html
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11382449/P11382449.html
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11385892/P11385892.html
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11403667/P11403667.html



.