.
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ : มุมมองด้านความมั่นคง
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 40
"ภัยคุกคามจากภายนอกต่อมนุษย์ได้ลดลง และขีดความสามารถของรัฐบาล
ในการปกป้องประชาชนของตนเองจากศัตรูที่ไม่ใช่มนุษย์ก็ลดลงด้วยเช่นกัน"
Peter Hough
Understanding Global Security (2008)
หลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นแล้ว เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะมองในบริบทของรัฐหรือสังคมก็ตาม ล้วนแต่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภัยคุกคามแบบเก่าที่ถูกวางไว้กับปัญหาของการคุกคามทางทหารของรัฐข้าศึกลดความสำคัญลงอย่างเห็นได้ชัด
อย่างน้อยประเด็นสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นจากความสัมพันธ์ของรัฐในบริบทของสงครามและความขัดแย้งก็คือ สงครามแบบเก่าที่มีความหมายถึงสงครามระหว่างรัฐกับรัฐลดบทบาทลงอย่างมาก
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐทั้งหลายล้วนเผชิญภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ภัยคุกคามภายนอกด้วยอำนาจกำลังรบของกองทัพข้าศึก หากแต่ภัยใหม่มีลักษณะเป็นปัญหาที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของมนุษย์มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสำคัญก็คือ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural disaster) ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงใหม่ ไม่ว่าจะมองจากความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น หรือจากความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้างก็ตาม ล้วนแต่บ่งบอกถึงภยันตรายขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้น และแทบไม่มีรัฐบาลใดรับมือกับปัญหาเช่นนี้ได้เลย แม้จะเป็นรัฐบาลของประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตกอยู่ในสถานะของ "ผู้ถูกกระทำ" ไม่แตกต่างจากรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนา
วิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ของสังคมไทยปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ และสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจาก "อภิมหาอุทกภัย" ครั้งนี้เป็นปัญหาความมั่นคงในตัวเอง
หรือหากกล่าวในกรอบทางทฤษฎี ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า นักความมั่นคงไทยจะต้องสนใจกับ "ปัญหาภัยคุกคามทางธรรมชาติต่อความมั่นคง" (Natural threats to security) ให้มากขึ้น
ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐไทย เพราะจากความคุ้นเคยแบบเก่า ภัยความมั่นคงมักจะถูกตีกรอบอยู่ในบริบททางทหารเป็นด้านหลัก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของความง่ายในการกำหนดภัยคุกคาม เพราะอย่างน้อยบุคคลและ/หรือองค์กรที่จะต้องทำหน้าที่ประเมินภัยนี้ สามารถตอบได้ง่ายจากจำนวนรถถัง เครื่องบิน เรือรบของฝ่ายตรงข้าม
แต่หากต้องกำหนดให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นภัยคุกคามแล้ว เราจะนับจากอะไร หรืออย่างน้อยก็ตอบไม่ได้ในแบบเก่าว่า แล้วจะนับจำนวนอะไรเป็น "ตัวชี้วัด" ที่จะบ่งบอกถึงการเป็นภัยคุกคามของปัญหานี้
การเปิดประเด็นเช่นนี้ก็เพื่อนำเสนอว่า รัฐและสังคมไทยอาจจะต้องพิจารณาถึงปัญหาความมั่นคงในกรอบ/บริบทที่กว้างขวางมากขึ้น
เพราะความกลัวการเปิดการโจมตีทางทหารของกองทัพข้าศึกของนักความมั่นคงทางทหารของไทย ด้วยการจัดตั้งกองพลทหารราบใหม่ (พล. ร.7) และกองพลรถถังใหม่ (พล.ม.3) อาจจะมีค่าเพียงเพิ่มยอดตัวเลขในบัญชีกำลังรบของกองทัพไทย หรือเอาไว้จัดงานวันเด็กที่เชียงใหม่และที่ขอนแก่นตามลำดับนั้น อาจจะไม่มีศักยภาพอะไรเลยกับการต้องต่อสู้กับปัญหาความมั่นคงใหม่
หรือบางทีอาจจะต้องถามกันว่า กองพลทหารราบใหม่หรือกองพลรถถังใหม่ที่เกิดขึ้นจะเอาไว้สู้กับข้าศึกที่ไหนหรือจากชาติใด ?
ถ้ามองวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ในบริบทของสงคราม เราอาจจะเรียกสิ่งที่สังคมไทยต้องเผชิญว่า "สงครามน้ำ" ซึ่งหากข้าศึกเป็นน้ำ และเป็นน้ำมวลใหญ่อย่างที่เห็นแล้ว เราอาจจะต้องยอมรับในความเป็นจริงว่า โอกาสที่จะได้รับชัยชนะในสงครามเช่นนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก
เพราะสัจธรรมในความเป็นไปของโลกไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใดก็คือ มนุษย์ไม่ได้แข็งแรงเกินกว่าพลังของธรรมชาติที่พวกเขาต้องเผชิญเลย
และยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับอำนาจในการทำลายล้างของธรรมชาติ ในรูปแบบของภัยพิบัติแล้ว มนุษย์มีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง และบางทีต้องยอมรับความจริงที่สำคัญอีกประการว่า เพราะความเปราะบางของมนุษย์เองมิใช่หรือที่ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติกลายเป็นภยันตรายใหญ่ในทุกยุคทุกสมัย
หากย้อนกลับไปในอดีตก็จะเห็นชัดในอีกมุมหนึ่งว่า ภาคใต้ไทยเคยต้องเผชิญกับการคุกคามของพายุที่มีความรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง แต่อาจจะเป็นเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีความจำกัดในบริบทของพื้นที่ ที่ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นในขอบเขตที่กว้างขวาง เราจึงไม่ค่อยนำเอาประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาในบริบทของปัญหาความมั่นคงของประเทศ
หรือปัญหาดินถล่มในจังหวัดภาคเหนือ (อันเป็นผลจากฝนตกหนักต่อเนื่องกัน) ก็มีสภาพคล้ายคลึงกันที่เราอาจจะไม่ได้นำเอาเรื่องเช่นนี้มาคิดในกรอบงานความมั่นคง
ในขณะที่นักความมั่นคงใหม่ในเวทีสากลถือว่า พายุใหญ่หรือกรณีดินถล่มนั้นเป็นตัวแบบของปัญหาความมั่นคงชุดใหม่ เป็นต้น
แต่สังคมไทยอาจจะยอมรับมากขึ้นว่าปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นปัญหาความมั่นคงจากกรณีสึนามิในมหาสมุทรอินเดียในปี พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติครั้งนั้น หรือกรณีสึนามิที่เกิดขึ้นแก่ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นตัวอย่างที่บ่งบอกถึงปัญหาในทำนองเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปัญหาเช่นนี้ในภาพรวม ใช่ว่าจะมีแต่ประเด็นเรื่องของภัยคุกคามจากธรรมชาติเท่านั้นที่เป็นปัญหาความมั่นคง หากแต่ยังได้นำพาปัญหาความมั่นคงอื่นๆ ให้เกิดขึ้นคู่ขนานด้วย
ถ้าจะกล่าวว่าปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) ก็คงไม่ผิดอะไรนัก เพราะเห็นได้ชัดเจนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมาก เช่น ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากกรณีสึนามิในปี 2547 นั้น แทบไม่น่าเชื่อว่า มีจำนวนสูงถึง 230,000 คน โดยประมาณ และเป็นผู้คนจากประเทศต่างๆ เป็นต้น
ปัญหาความมั่นคงที่เป็นผลผลิตโดยตรงจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในอีกมุมหนึ่ง ได้แก่ ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economic Security) เพราะการทำลายจากภัยธรรมชาตินั้นก่อให้เกิดความยากจน
ซึ่งความยากจนนี้ถือว่าเป็นปัญหาใจกลางของปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ และอีกด้านหนึ่งก็เป็นปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย
ปัญหาเช่นนี้ยังผูกโยงกับประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ความอดอยาก (famine) เพราะในหลายๆ กรณีจะพบว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ทำลายพื้นที่เกษตรที่เป็นแหล่งผลิตอาหารของสังคมนั้นๆ โดยตรง อันนำไปสู่ความขาดแคลนด้านอาหาร
หรือกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาในเรื่องของ "ความมั่นคงด้านอาหาร" (Food security) ที่ประชาชนเป็นจำนวนมากไม่มีความสามารถในการได้รับอาหารเพียงพอแก่ความต้องการ
ไม่ว่าปัญหานี้จะเกิดจากการไม่มีขีดความสามารถทางเศรษฐกิจเพียงพอในการซื้อหา หรือเกิดจากการไม่มีขีดความสามารถในการผลิตให้เพียงพอแก่ความต้องการของสังคม
อีกทั้งปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติก็ยังส่งผลกระทบต่อการกระจายอาหาร หรือการเข้าถึงแหล่งอาหารของผู้คนในสังคมอีกด้วย ตลอดรวมถึงความขาดแคลนที่เกิดจากระบบคมนาคมขนส่งถูกทำลายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น อันทำให้การขนส่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ด้านหนึ่งนำไปสู่ปัญหาความขาดแคลนอาหารหรือก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร และอีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดความอดอยาก ซึ่งก็แล้วแต่จะตีความว่าเป็นปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ หรือเป็นภาพสะท้อนของปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำลงจนนำไปสู่ความขาดแคลนอาหารและความอดอยาก
ซึ่งประเด็นเช่นนี้ล้วนแต่บ่งบอกถึงปัญหาความมั่นคงใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นภัยคุกคามร่วมสมัย
ปัญหาความขาดแคลนเช่นนี้ใช่ว่าจะเป็นแค่เรื่องของอาหารเท่านั้น หากจะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมในเรื่องของน้ำสะอาดที่สามารถใช้ในการดื่มในชีวิตประจำวันด้วย เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น นอกจากทำลายแหล่งของการเพาะปลูกในทางเกษตรแล้ว อาจจะทำลายแหล่งน้ำสะอาดที่ใช้สำหรับชีวิต ไม่ว่าแหล่งน้ำนี้จะเป็นในธรรมชาติหรือเป็นการผลิตในทางอุตสาหกรรมก็ตาม
ดังนั้น ในภาวะวิกฤตทางธรรมชาตินั้น ความขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นคู่กัน และต้องการการแก้ไขอย่างรวดเร็ว เพราะความขาดแคลนเช่นนี้ย่อมจะทำให้เกิดอีกปัญหาหนึ่ง ได้แก่ "ปัญหาความมั่นคงด้านสุขภาพ" (Health security)
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ และทั้งยังอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโรคอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนน้ำสะอาดที่ใช้ดื่มกิน อาจจะนำไปสู่ปัญหาโรคท้องร่วงได้ไม่ยากนัก
ฉะนั้น ในสภาพที่สังคมต้องเผชิญกับภัยทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมใหญ่นั้น ก็มักจะนำพาโรคระบาดมาด้วย เช่น ในกรณีของโรคตาแดง โรคฉี่หนู เป็นต้น หรือโรคที่เกิดจากสภาพของน้ำท่วมขังจนกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เช่น โรคน้ำกัดเท้า หรือเป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดที่มากับน้ำเน่าเสีย
ในอีกด้านหนึ่งคงต้องยอมรับว่า พื้นที่ที่ประสบภัยพิบัตินั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขอนามัย อันอาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ประชาชนที่ยากจนในพื้นที่เช่นนี้มักจะไม่อพยพไปสู่ที่อยู่อาศัยอื่นได้ หากแต่ต้องยอมทนอยู่กับพื้นที่เดิมที่เป็นปัญหา
ดังนั้น การสร้างความมั่นคงในสถานการณ์ภัยพิบัติเช่นนี้จะต้องคำนึงอย่างมากในเรื่องของการให้บริการทางการแพทย์ ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาและบริการของแพทย์ได้ อันจะทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ได้ และจะเป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพแก่ประชาชน
ภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นมักจะควบคู่กับปัญหา "อุบัติภัย" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือภัยคุกคามจากอุบัติเหตุ (Accidental threats) เช่น การจมน้ำเสียชีวิต บ้านพังทับเสียชีวิต ถูกไฟฟ้าช็อตเสียชีวิต เป็นต้น และอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมแบบไทยๆ ว่า ในกรณีที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมถูกจระเข้ที่หลุดมาจากฟาร์มกัดเสียชีวิต หรือถูกงูเขียวแอฟริกากรีน แมมบากัดเสียชีวิต ควรจะจัดอยู่ในภัยคุกคามแบบใด?
ในสภาวะที่สังคมต้องเผชิญกับภัยธรรมชาตินั้น มักจะเกิดปัญหาความอดอยาก ความหิว ความขาดแคลน ซึ่งปัจจัยทั้งสามนี้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอาชญากรรม เช่น การปล้นสะดมร้านขายของ หรือการปล้นเพื่อประสงค์ทรัพย์จากบุคคล เป็นต้น หรือในอีกด้านหนึ่งสภาวะทางสังคมที่เป็นวิกฤตจากการถูกทำลายจากภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น อาจทำให้การเคารพกฎหมายถูกละเลย
หรือในบางกรณีที่สุดโต่งก็อาจจะก่อให้เกิดภาวะ "อนาธิปไตย" ได้ไม่ยากนัก
กล่าวคือ บุคคลเป็นจำนวนมากปฏิเสธที่จะยอมรับกฎหมาย และไม่คำนึงถึงความสงบเรียบร้อย โดยพยายามรักษาชีวิตของตนเองภายใต้ "สัญชาตญาณดิบ" เพื่อความอยู่รอดโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใดๆ ทางสังคม
อีกทั้งในสภาวะเช่นนี้ สังคมอาจจะต้องเผชิญกับอาชญากรธรรมดาที่ฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์จากความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ
ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ ปัญหาความมั่นคงอีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ "ภัยคุกคามจากอาชญากรรม" (Criminal threats)
จากที่กล่าวแล้วในข้างต้นจะเห็นได้ว่า วิกฤตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในแทบทุกสังคม ใช่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยคุกคามทางธรรมชาติเท่านั้น
หากแต่ยังมีภัยคุกคามอื่นๆ เกิดขึ้นคู่ขนานในรูปแบบต่างๆ ด้วย
และยังไม่รวมว่าปัญหานี้ในสุดท้ายแล้วจะกลายเป็น "ภัยคุกคามทางการเมือง" สำหรับความอยู่รอดของรัฐบาล
ตลอดรวมถึงความเชื่อถือทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย!
++
ของขวัญปีใหม่แด่รัฐบาลยิ่งลักษณ์
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 41
"แม้แผนจะเป็นสิ่งไร้ค่า แต่การวางแผนก็เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง"
Dwight D. Eisenhower
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจจะเรียกว่าเป็น "ทุกขลาภ" ก็คงไม่ผิดนัก
เพราะนับตั้งแต่รับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นมา รัฐบาลก็ถูกโหมกระหน่ำอย่างรุนแรงจากปัญหาวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ในสังคมไทย
จนดูเหมือนรัฐบาลแทบจะยังตั้งตัวไม่ติดกับปัญหาต่างๆ ที่ยังโถมทวีเข้าหารัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และปัญหาหนึ่งที่หลีกหนีไม่พ้นก็คือ ปัญหาความมั่นคง
แต่หากพิจารณาจากการจัดตั้งบุคคลในตำแหน่งด้านความมั่นคงให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า รัฐบาลนี้มีลักษณะที่อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความมั่นคงเท่าใดนัก
ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลไม่มีบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงเช่นที่มีในรัฐบาลอื่นๆ
และรองนายกฯ ที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคงก็ถูกแบ่งงานออกจากกัน ซึ่งมีทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ จนไม่สามารถบ่งบอกความชัดเจนได้ว่า รองนายกฯ ที่ต้องรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงคือใคร
เพราะแม้ พล.ต.อ.โกวิท จะถูกแบ่งงานให้รับผิดชอบและกำกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) แต่ดูจากบทบาทในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่เห็นการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงเท่าใดนัก
จนถูกวิจารณ์ว่าเป็น รองนายกฯ ที่ "จม" หายไปกับสายน้ำหลากของวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้
ในขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม แม้จะกำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กลับมีบทบาทด้านความมั่นคงมากกว่า
ปรากฏการณ์เช่นนี้ให้คำตอบง่ายๆ ว่า รัฐบาลอาจจะมองไม่เห็นความสำคัญของปัญหาความมั่นคง
และในขณะเดียวกันก็อาจจะคิดเอาเองแบบง่ายๆ ว่า ปัญหาความมั่นคงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะของรัฐบาล เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาการเมือง
เพราะบรรดานักประเมินสถานการณ์ล้วนมีความคิดคล้ายๆ กันว่า สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญหลังจากการได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็คือ การเผชิญกับภัยคุกคามทางการเมืองจากการต่อต้านจากปีกอนุรักษนิยมของการเมืองไทย
แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับต้องเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามจากธรรมชาติ จนกลายเป็นประเด็นที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลอย่างมาก
และสิ่งที่รัฐบาลดูจะไม่ตระหนักเท่าใดนักก็คือ สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความมั่นคงใหม่และต้องการบริหารจัดการใหม่
แต่ประเด็นสำคัญก็คือไม่ว่าจะเป็นปัญหาความมั่นคงเก่าหรือใหม่ก็ตาม ล้วนต้องการบริหารจัดการไม่แตกต่างกัน เพราะปัญหาของประเทศที่รัฐบาลต้องเผชิญนั้น หากขาดเสียซึ่งการบริหารจัดการแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลจะเอาชนะต่อปัญหาดังกล่าวได้
และไม่ใช่แค่เพียงความต้องการในการบริหารจัดการเท่านั้น หากแต่ยังต้องเป็นการบริหารจัดการที่ดีด้วย เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวลดความรุนแรงลงจนไม่มีสถานะเป็นภัยคุกคาม ซึ่งประเด็นนี้เป็นลักษณะทั่วไปของการบริหารจัดการความมั่นคงของทุกประเทศ และเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีจะต้องทำความเข้าใจ
แต่นอกเหนือจากปัญหาน้ำท่วมที่กลายเป็น "ภัยคุกคามใหญ่" ต่อชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมากแล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาในบริบทของประเทศหรือบริบทของรัฐบาล สังคมไทยมีปัญหาความมั่นคงสำคัญที่ต้องการแก้ไข หรือในกรอบของความเป็นรัฐบาลก็คือ ต้องการการกำหนดนโยบายและแนวทางยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาการสังหารลูกเรือจีนในบริเวณลำน้ำโขง
และปัญหาศาลโลกกับเขาพระวิหาร
ตลอดรวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงท่าทีของรัฐบาลวอชิงตันต่อกรณีพม่า (ยังไม่รวมปัญหาความมั่นคงไทยกับประชาคมอาเซียนในอนาคต)
ตัวอย่างของปัญหาทั้ง 4 ประการเช่นนี้เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้หนีหายไปแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะขอหยิบยกปัญหาความท้าทายด้านความมั่นคงแค่เพียง 4 ประการเท่านั้น แม้จะมีปัญหาความมั่นคงอื่นๆ ดำรงอยู่ แต่อย่างน้อยปัญหาทั้ง 4 ประการเป็นประเด็นที่ต้องการความชัดเจนจากรัฐบาลในกรอบของยุทธศาสตร์และนโยบาย
และในความเป็นรัฐบาลจะต้องตอบให้ได้ว่า จะกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายในการบริหารจัดการปัญหาเหล่านั้นอย่างไร
จะคิดเป็นรัฐบาลแบบ "หนีปัญหา" ไม่ได้
เพราะเรื่องทั้งสี่ดังกล่าวกระทบต่อสถานะของประเทศโดยตรง หรือจะคิดว่าเป็นรัฐบาลสนใจแค่ปัญหาเศรษฐกิจ โดยหวังว่าเศรษฐกิจแบบประชานิยมจะสร้างฐานเสียงให้รัฐบาลเข้มแข็ง และไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับปัญหาความมั่นคง ก็คงจะเป็นประเด็นคิดที่ง่ายเกินไป !
ทั้งรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรีปัจจุบันเองอาจจะไม่ตระหนักว่า ความเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น เริ่มต้นมีอาการ "รวน" จากปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผลของความพยายามในการควานหาปืนที่ถูกปล้นจากค่ายทหารในค่ำคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 แทนที่จะจับ "ปลา" ออกจาก "น้ำ" ในสนามรบของสงครามการเมืองในภาคใต้ กลับทำให้ "น้ำขุ่น" จนควานหาได้แต่ "โคลน" และก็เป็นเช่นนี้ในรัฐบาลต่อๆ มาไม่แตกต่างกัน
ขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวไม่เคยสนใจว่า รัฐบาลกรุงเทพฯ เป็นใคร... ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสุรยุทธ์ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย รัฐบาลอภิสิทธิ์ จนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การก่อเหตุยังคงดำเนินต่อไป
จนอาจจะต้องยอมรับว่า รัฐบาลกรุงเทพฯ "ติดหล่ม" กับสงครามก่อความไม่สงบในภาคใต้อย่างถอนตัวไม่ได้
ในขณะที่ปีเก่ากำลังจะปิดฉากลงพร้อมๆ กับปีใหม่ 2555 กำลังจะเริ่มขึ้น อันเป็นการเริ่มต้นปีที่ 9 ของการก่อความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งก็ชัดเจนว่า เรายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แต่อย่างใด และขณะเดียวกันก็ไม่ชัดเจนว่ายุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในการบริหารจัดการปัญหาความรุนแรงในภาคใต้คืออะไร?
ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องตอบปัญหาแล้ว แต่ถ้าไม่ยอมตอบ ก็มีปัญหาอื่นๆ รออยู่เช่นกัน...
รัฐบาลไทยจะทำอย่างไรกับเจ้าหน้าที่ทหารไทยที่มีส่วนโดยตรงกับการสังหารลูกเรือจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำอย่างไรที่คดีนี้จะไม่ถูกทำให้กลายเป็นคดี "เพชรซาอุฯ 2" กล่าวคือทำคดีกันอย่างยาวนาน แต่ลงเอยด้วยความไม่ชัดเจนในกรณีการอุ้มฆ่าบุคคลของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย และกลายเป็น "หนาม" เสียบคารัฐบาลไทยมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งดูท่าทีของรัฐบาลจีนด้วยการเปิดเกมรุกแบบต่างๆ เห็นได้ชัดว่า จีนคงไม่ยอมให้คดีนี้ "จม" หายไปกับสายน้ำในลำน้ำโขงอย่างแน่นอน
คดีเรือจีนนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการความมั่นคงไทยแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความมั่นคงในลุ่มน้ำโขงอย่างชัดเจนอีกด้วย
จนบางทีปีใหม่ 2555 อาจจะเป็นปีที่ต้องคิดถึงเรื่องความมั่นคงชุดนี้ให้จริงจังมากขึ้น
ปัญหานี้ยังตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาเก่า ไม่ว่าจะเป็นการค้ายาเสพติด บทบาทของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดน ตลอดรวมถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่ไทยที่ถูกตั้งคำถามว่า มีความเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดกับขบวนการค้ายาเสพติดตามแนวชายแดน
รัฐบาลจะสะสางปัญหาในบ้านอย่างไรเพื่อให้สามารถเดินหน้าสู้กับปัญหานอกบ้านได้
แต่ประเด็นใหม่ก็คือ การขยายบทบาทของจีนผ่านเส้นทางคมนาคมและการค้าของแม่น้ำโขง ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจีนได้จัดกองกำลังติดอาวุธคุ้มกันขบวนเรือสินค้าดังกล่าว ซึ่งก็ดูจะคล้ายคลึงกับการคุ้มกันขบวนเรือเพื่อป้องกันโจรสลัดในทะเลหลวง
ดังนั้น ประเด็นของปฏิบัติการคุ้มกันเพื่อป้องกันและปราบปรามโจรสลัดในลำน้ำโขงจะเป็นประเด็นความมั่นคงที่สำคัญของประเทศในลุ่มน้ำนี้ในปีใหม่นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลจะต้องคิดมากขึ้นในการวางท่าทีของประเทศ และยังมีความเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคของลุ่มน้ำนี้ด้วย
นอกจากนี้ผลของความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาที่เกิดขึ้นจากกรณีปราสาทพระวิหารในรัฐบาลก่อน ทำให้รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจส่งคำพิพากษาของศาลโลก (ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ) ในปี 2505 ให้มีการ "ตีความ" ซึ่งการตีความเช่นนี้ย่อมมีผลผูกมัดรัฐบาลไทยอย่างหนีไม่พ้น จะใช้ยุทธศาสตร์แบบ "ยืนกระต่ายขาเดียว" แบบไม่ใส่ใจกับผลของการตีความที่เกิดขึ้นไม่ได้
ยิ่งผู้นำกองทัพไทยบางส่วนที่พยายามจะเล่น "มุข" ด้วยการไม่ยอมรับผลดังกล่าว คงจะต้องทบทวนความรู้และความเข้าใจเรื่องผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ
และฝ่ายอำนวยการจะทำตัวแบบ "เอาใจนาย" ด้วยการให้ความเข้าใจตาม "ธง" ที่นายตั้งไว้ไม่ได้ เพราะจะทำให้บรรดานายทั้งหลายกลายเป็น "ตัวตลก" ในเวทีระหว่างประเทศ และอาจจะกลายเป็นผลเสียต่อสถานะของกองทัพไทยเอง ดังเช่นที่เกิดขึ้นจากกรณีการเปลี่ยนท่าทีของกองทัพไทยที่ไม่ยอมรับผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียที่ผ่านมา
ถ้าต้องปรับกำลังทหารของไทยออกจากพื้นที่ที่เป็นปัญหาดังคำคุ้มครองของศาลโลก ก็คงจะต้องนำกำลังของตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เข้าพื้นที่ดังกล่าวแทน ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะเกิดกับกัมพูชาเช่นเดียวกัน มิใช่แค่ปรับกำลังทหารเฉพาะฝ่ายไทยเท่านั้น
ผลสืบเนื่องจากกรณีนี้ก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำอย่างไรในประเด็นต่อไปนี้
1) รัฐบาลจะชี้แจงให้สังคมไทยเข้าใจในกรณีนี้อย่างไร
2) รัฐบาลจะทำอย่างไรกับกระแสอนุรักษนิยม-ชาตินิยมที่จะออกมา "ถล่ม" รัฐบาลเมื่อมีการปรับกำลังทหารออกจากพื้นที่ที่เป็นปัญหา
3) รัฐบาลจะออกคำสั่งแก่กองทัพอย่างไร และจะสร้างความเข้าใจกับผู้นำกองทัพอย่างไรเพื่อไม่ให้กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง
ว่าที่จริง ข้อ 3 ไม่ยาก เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการ
แต่ข้อ 1 และ 2 นั้น ไม่ง่ายเลย และจะเป็นปัญหาการเมืองประการหนึ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2555 อย่างแน่นอน
เพราะกรณีพระวิหารจะยังคงเป็นโอกาสที่จะทำให้กลุ่มอนุรักษนิยม-ชาตินิยมใช้เป็นประเด็นในการโจมตีรัฐบาลดังเช่นที่ผ่านมา
ส่วนปัญหาท่าทีใหม่ของรัฐบาลวอชิงตันต่อรัฐบาลทหารย่างกุ้ง ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่รัฐบาลกรุงเทพฯ จะต้องขบคิดให้มากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบอย่างมากต่อการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์
ปีใหม่ 2555 จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลไทยจะต้องพิจารณาปัญหาความมั่นคงชุดนี้อย่างจริงจังแล้ว เพราะเท่ากับบ่งบอกถึงการเปิดการ "รุก" ของวอชิงตันด้วยนโยบายใหม่ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับการแซงก์ชั่นรัฐบาลทหารพม่า เพื่อยับยั้งการขยายตัวของอิทธิพลปักกิ่งในภูมิภาค
รัฐบาลอเมริกันกำลังเปลี่ยนนโยบาย การเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคือคำตอบรูปธรรมในกรณีนี้
แล้วนโยบายของรัฐบาลไทยต่อกรณีนี้คืออะไร... หรือเมื่อรัฐมนตรีหญิงอเมริกันเยือนแล้ว ก็น่าที่นายกฯ หญิงของไทยจะไปเยือน และหาโอกาสพบกับว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงของพม่าในอนาคตบ้าง
แต่การจะทำความหวังให้กลายเป็นรูปธรรมได้นั้น ยุทธศาสตร์ นโยบาย องค์กร และผู้นำทั้งในระดับนโยบายและระดับนำของฝ่ายปฏิบัติของไทย คงจะต้องคิดและทำให้ "เป็นเรื่องเป็นราว" มากกว่านี้
และที่สำคัญก็คือ นายกรัฐมนตรีจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้ให้ได้ จะคิดแต่เพียงเดินสายโชว์ตัวอย่างเดียวไม่ได้แล้ว...
สิ่งเหล่านี้คือของขวัญปีใหม่สำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ !
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย