http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-13

บทเรียนที่เรียนยาก, อากงกับ ม.112 โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

บทเรียนที่เรียนยาก
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


อุทกภัยครั้งใหญ่กำลังผ่านไป หลายคนพูดถึงบทเรียนที่จะเผชิญกับอุทกภัยครั้งต่อไป ซึ่งก็มีทั้งบทเรียนที่ภาครัฐและภาคประชาชนจะต้องเรียนรู้

แต่ภาคประชาชนเรียนรู้ได้ในเงื่อนไขที่จำกัด คือจำกัดอยู่ภายใต้การบริหารที่ส่วนกลางกำกับควบคุมอย่างใกล้ชิด ดังนั้นบทเรียนที่ภาครัฐควรเรียนรู้จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะกระทบต่อบทเรียนของภาคประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมเคยพูดและยังยืนยันความเห็นนั้นว่า รัฐบาลไหนๆ ก็จะจัดการกับภัยพิบัติใหญ่ๆ เช่นนี้ได้ในเชิงห่วยแตกเกือบจะเท่ากัน ความอ่อนแอในเชิงระบบมีผลต่อการจัดการมากกว่าความอ่อนแอของผู้นำ

ดังนั้นบทเรียนที่ผมสรุปได้จึงให้ความสนใจกับสิ่งที่"เรา" (ทั้งรัฐและประชาชน) จะแก้ไขปรับปรุงส่วนที่เป็นโครงสร้างอย่างไร เพื่อให้สังคมไทยสามารถเผชิญสาธารณภัยประเภทต่างๆ ได้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ไม่เฉพาะแต่ภัยธรรมชาติเท่านั้น

หากต้องรวมถึงภัยเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปรกติในยุคโลกาภิวัตน์


หลายคนพูดถึงโครงสร้างทางวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำผ่านที่เรียกว่าฟลัดเวย์ เขื่อน แก้มลิง แม่น้ำเจ้าพระยาสายสอง ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ฯลฯ ก็ล้วนมีส่วนช่วยบรรเทาอุทกภัยได้ทั้งสิ้น เพียงแต่จะคุ้มในทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงไร คงต้องชั่งน้ำหนักกัน

แต่ผมออกจะสงสัยว่า เมื่อใดก็ตามที่เราคิดแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยเทคโนโลยี (หรือเทคนิค) เพียงอย่างเดียว เราไม่รู้หรือเราไม่อยากจะไปจัดการแก้ไขอะไรในเชิงสังคม แล้วทอดชีวิตเราให้แก่พลานุภาพของเทคโนโลยี (หรือเทคนิค)จนสิ้นเชิง เพราะการเข้าไปจัดการเชิงสังคม ย่อมหมายถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เราคิดว่าเกินอำนาจของเราที่จะเปลี่ยนได้ หรือเกินความต้องการของเราที่จะปล่อยให้มันเปลี่ยน

แต่เทคโนโลยี(หรือเทคนิค) อย่างเดียวแก้ปัญหาชีวิตเราไม่ได้หรอกครับ นอกจากตัวมันเองทำให้เกิดปัญหาใหม่ที่ไม่มีทางออกแล้ว (เช่นผลกระทบเชิงนิเวศน์ของเทคโนโลยีนานาชนิด) ตัวมันเองยังตอบปัญหาเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ใช่ส่วนสำคัญสุดของปัญหาก็ได้

อย่างไรเสียในการแก้ปัญหาใหญ่ขนาดสาธารณภัยดังที่เราเผชิญมา ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องจัดการในเชิงสังคมด้วย และส่วนนี้แหละครับที่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยได้พูดถึงกันอย่างเพียงพอ ผมขอหยิบเอาความบกพร่องในเชิงระบบเหล่านี้มาพูดถึง เพื่อกระตุ้นให้หาทางปรับแก้กันต่อไป


1.การระดมความรู้และประสบการณ์ซึ่งมีอยู่ในสังคมนั้น ไม่เพียงพอหรือไม่เป็นผลให้เกิดการเตรียมการและการจัดการ

อันที่จริงเมื่อน้ำเริ่มท่วมหนักที่พิษณุโลกและพิจิตรนั้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะคาดการณ์ได้แล้วว่า ภาคกลางและกรุงเทพฯ จะเผชิญภัยพิบัติครั้งใหญ่

ผมเชื่อว่า แม้แต่ก่อนหน้านั้น ความรู้ด้านอุทกศาสตร์ในเมืองไทย (ทั้งที่อยู่กับบุคคลและหน่วยงาน) ก็เพียงพอที่จะคาดการณ์ภัยพิบัติได้แล้ว โดยคำนวณจากปริมาณน้ำฝน

และเมื่อคาดการณ์ได้ ก็ต้องรู้แล้วว่าเกินกำลังที่แต่ละจังหวัดจะจัดการได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องระดมกำลังของประเทศเข้าไปจัดการแต่ต้น มีแผนมาตั้งแต่ต้นนั้นแล้วว่า จะจัดการให้น้ำไหลลงทะเลอย่างไร กระทบใครบ้าง และจะเข้าไปช่วยเหลือหรือบรรเทาได้อย่างไร

ฉะนั้นหน่วยงานเช่น ศปภ.ก็ควรตั้งขึ้นมาตั้งแต่ได้รับคำเตือนแล้ว ไม่ใช่รอจนกระทั่งน้ำมาจ่อกรุงเทพฯ จึงค่อยเข้าไปบริหารจัดการ

รัฐควรสอบสวนว่า การที่ความรู้และประสบการณ์ที่มีในสังคมไทย ไม่ได้ไหลเข้าไปสู่การตัดสินใจของรัฐให้ทันการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นจากอะไร โดยไม่ต้องเอาผิดกับใครทั้งนั้น

เพราะเป้าหมายคือหาข้อบกพร่องเชิงระบบเพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุง ไม่ใช่เพื่อหาแพะ

เรื่องการตัดสินใจทางการบริหารและการเมืองด้วยความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่แต่เฉพาะเพื่อเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย

ก่อนจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 มีนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสไม่น้อยทีเดียว ที่ได้เตือนรัฐบาลสมัยนั้นว่า เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางในหลายเรื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดการยุบตัวทางเศรษฐกิจอย่างกะทันหันได้ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลใดฟัง (แค่ฟังแล้วเถียงก็ยังดีกว่าไม่ฟังเลย)

สังคมไทยนั้นมีความรู้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่ความรู้นั้นมักไม่กระจายไปสู่จุดที่ต้องตัดสินใจทางการเมือง

จะนั่งด่านักการเมืองอยู่อย่างเดียวก็ได้ แต่ไม่แก้ปัญหาอะไร ที่เราควรทำมากกว่าคือหันมาศึกษากระบวนการตัดสินใจทางการเมืองของนักการเมือง (ทั้งในระบอบเลือกตั้งและรัฐประหาร) เพื่อที่จะหาจุดอ่อนอื่นๆ ที่มากไปกว่าบุคลิกภาพของคน เพราะนั่นจะเป็นทางให้เราอุดช่องโหว่เหล่านั้นได้ในภายหน้า


2.พลังสำคัญที่สุดในการบริหารจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ คือการประสานงานกันอย่างกลมกลืน ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ และระหว่างภาครัฐกับภาคสังคม แต่นี่คือจุดอ่อนที่สุดในระบบราชการไทย และการเมืองไทย

การประสานงานในภาคสังคมด้วยกันเองนั้น พอจะมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่เช่นนี้ได้

แท้ที่จริงแล้วประสบการณ์ความร่วมมือกันของภาคประชาชนนั้นมีน้อย เพราะในแง่โครงสร้างการบริหาร ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างเป็นจริงเป็นจังนักตลอดมา ยิ่งร่วมมือกับรัฐโดยเท่าเทียมกัน ก็แทบไม่เคยมีประสบการณ์เลย เพราะรัฐไม่ยอมร่วมมืออย่างเท่าเทียมด้วย เอาแต่สั่งการอย่างเดียว

ทั้งหมดนี้มาจากโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการสาธารณะถูกรวมศูนย์มากเกินไป ชุมชนและท้องถิ่นมีทั้งอำนาจและทรัพยากรในมือน้อยเกินกว่าจะช่วยตัวเองได้ งานหลายด้านเช่นการเตรียมการ, การช่วยเหลือผู้ประสบภัย, การรักษาความสงบเรียบร้อย,

หรือแม้แต่การกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึง จึงทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ


ฐานของการประสานงานในภาคสังคมไม่มี แต่ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ ฐานของการประสานงานในภาครัฐเองก็ไม่มีเหมือนกัน ระบบราชการไทยทำงานกันโดยแบ่งส่วนอย่างเด็ดขาดตลอดมา นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งยังอาศัยระบบราชการเป็นฐานในการทำงานทางการเมือง จึงไม่พร้อมที่จะอำนวยการนำเพื่อการประสานงาน

ฉะนั้นในยามวิกฤต หน่วยงานกลางที่รัฐตั้งขึ้น จึงไม่ค่อยได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากย้ายสำนักงานหนีน้ำไปเรื่อยๆ แม้อยากทำให้เกิดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่กล้าทำ หรือทำไม่เป็น (รัฐบาลก็ทำไม่เป็น ระบบราชการก็ทำไม่เป็น ดังเช่นเรื่องกทม.ขอเครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทาน แต่ส่งหนังสือตามสายงานไปที่มหาดไทยก่อน เกือบจะเป็นตลกเรื่องเดียวกับนิทานกรุงแตกที่ว่า จะยิงปืนใหญ่ต้องกราบทูลพระกรุณาฯ ให้ทรงทราบเสียก่อน)

ร้ายยิ่งไปกว่าการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ก็คือ สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว สงครามคันกั้นน้ำไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนไทยขาดความสามัคคี เมื่อ 3-40 ปีก่อน คนไทยสามัคคีกันได้เพราะยอมรับความแตกต่างในด้านสิทธิของคนในช่วงชั้นทางสังคมที่ต่างกัน จะด้วยเหตุใดก็ตาม

คนไทยปัจจุบันยอมรับสิทธิที่แตกต่างเช่นนี้ได้ยากขึ้น แต่เริ่มมองโลกจากจุดยืนแห่งความเสมอภาคมากขึ้น จู่ๆ จะเอาบิ๊กแบ๊กไปกั้นโน่นกั้นนี่ เหมือนคนนอกคันกั้นน้ำมีสิทธิแห่งความเป็นคนน้อยกว่า จึงก่อให้เกิดความขึ้งเคียดเป็นธรรมดา "เอาน้ำแช่บ้านกูยังไม่พอ ยังเห็นเหมือนกูไม่ใช่คนเสียอีก"

นอกจากโครงสร้างทางวัตถุแล้ว ยังมีโครงสร้างทางสังคมซึ่งไม่เอื้อให้สังคมไทยสามารถเผชิญภัยพิบัตินานาชนิดของโลกสมัยใหม่ได้ นี่เป็นบทเรียนที่ต้องสรุปมาถึงตรงนี้ให้ได้ด้วย


3.ที่สาธารณะและทางน้ำถูกบุกรุกยึดครอง จนกระทั่งน้ำไม่อาจไหลผ่านได้

เรื่องนี้ปรากฏในทุกพื้นที่ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมบางแห่งอยู่บน"ทุ่งอุทัย"ซึ่งเป็นที่ประสูติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นทุ่งซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ แถวฝั่งธนฯ บางแห่งน้ำไหลไม่ได้ เพราะคลองเก่าถูกเอกชนยึดครองและถมไปเรียบร้อยแล้ว น้ำทะลักแถวจรัญสนิทวงศ์ เพราะเจ้าของบ้านเอกชนไม่อนุญาตให้ กทม.สร้างคันกั้นน้ำถาวร ฯลฯ

ทั้งหมดเหล่านี้อาจชี้นิ้วไปที่การทุจริตของราชการได้ ออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบบ้าง ออกใบอนุญาตสร้างนิคมอุตสาหกรรมโดยไม่ชอบบ้าง อนุมัติให้ตัดถนนโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องทางน้ำอย่างเพียงพอบ้าง ฯลฯ

แต่ผมคิดว่ามีปัญหาเชิงสังคมที่ลึกกว่าความไม่ซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ นั่นคือกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของไทยทั้งหมดนั้น (ยังไม่พูดถึงการบังคับใช้) ให้ความสำคัญแก่ทรัพย์สินของส่วนรวม น้อยกว่าทรัพย์สินของเอกชน

การหวงห้ามกรรมสิทธิ์ถึงกับทำอันตรายต่อประโยชน์สาธารณะ เช่นกรณี กทม.ไม่อาจสร้างเขื่อนกั้นน้ำได้นั้น เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้อย่างดี



ยังมีบทเรียนในเชิงสังคมอื่นๆ ที่ควรพูดถึงอีกมาก แต่ที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อชี้ให้เห็นว่า ความอ่อนแอเชิงระบบของเราในการเผชิญกับภัยพิบัติขนาดใหญ่นั้นอ่อนแอเพียงไร บทเรียนที่ทั้งรัฐและสังคมจะต้องเรียนรู้จากอุทกภัยครั้งนี้ จึงมีทั้งส่วนที่เป็นวัตถุและส่วนที่เป็นเชิงสังคม การแก้ไขอย่างแรกนั้นทำได้ง่ายกว่ากันมาก แต่การแก้ไขอย่างหลังนี้เป็นเรื่องยาก

และอาจไม่มีประโยชน์ทางการเมืองในระยะสั้นเพียงพอที่นักการเมืองอยากเข้ามายุ่งด้วย



++

อากงกับ ม.112
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 28


สัก 20 ปีมาแล้ว ผมถามเพื่อนนักกฎหมายที่จบมาจากฮาร์วาร์ด และสอบเป็นทนายความในประเทศไทยมา 20 ปีว่า ม.112 ในกฎหมายอาญานั้น มุ่งจะปกป้องพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคล หรือพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบัน

เขามองหน้าผมอย่างงงๆ สักพัก แล้วออกตัวว่า เขาถนัดแต่กฎหมายแพ่ง ไม่ถนัดกฎหมายอาญา แต่เขาคิดว่าน่าจะปกป้องพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคลมากกว่า

สอดคล้องกับที่ในระยะหลัง มีนักกฏหมายพูดว่าต้องมีกฎหมายปกป้องคุ้มครองประมุขของประเทศให้เหนือกว่าบุคคลธรรมดา ที่ไหนๆ เขาก็มีเหมือนกันทั้งนั้น

ผมก็เข้าใจอย่างนี้มาอย่างสองจิตสองใจสืบมา จนกระทั่งมาเจอคำพิพากษาจำคุก "อากง" 20 ปี จึงเกิดอาการช็อกจนต้องกลับไปเอาประมวลฯ มาอ่านเองใหม่อีกรอบ โดยไม่มีเพื่อนนักกฎหมายที่ไหนให้ปรึกษาเลย



ในฐานะชาวบ้านที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอาญาเหมือนคนอื่นๆ ผมน่าจะมีสิทธิ์ทำความเข้าใจกฎหมาย ตามความเห็นส่วนตัวบ้าง นักกฎหมายอาจชี้ให้เห็นได้ว่าความเข้าใจของผมผิดพลาดอย่างไร และต่อไปนี้ผมขออธิบายความเข้าใจของผมครับ

ผมเห็นว่า ม.112 ในกฎหมายอาญานั้น มุ่งจะปกป้องคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคลอย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. มาตรานี้จัดอยู่ในความผิดลักษณะที่ 1 คือความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พูดภาษาชาวบ้านแบบผมก็คือ การกระทำใดๆ ก็ตามที่จะล้มล้าง "ราชอาณาจักร" หรือรัฐที่มีพระราชาเป็นประมุข ภาษาขี้ประจบสมัยปัจจุบันคือระบอบประชาธิปไตย "อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"

ดังนั้น มาตราต่างๆ (ม.107-112) ในลักษณะความผิดนี้ จึงเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์, พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการทั้งนั้น นับตั้งแต่ปลงพระชนม์ (หรือฆ่า) ไปจนถึงประทุษร้ายด้วยวาจา

ชัดเจนนะครับว่า เจตนารมณ์คือปกป้องคุ้มครองสถาบัน เพื่อมิให้มีการเปลี่ยนรัฐจากราชอาณาจักรไปเป็นอื่น

2. โทษทัณฑ์ที่กำหนดไว้ในลักษณะนี้ ล้วนเป็นโทษฉกรรจ์ทั้งสิ้น นับตั้งแต่ประหารชีวิต, จำคุกตลอดชีวิต ไปจนถึงจำคุก 3-15 ปี (ในแต่ละกระทงความผิด) เพราะการประทุษร้ายนั้น ไม่ใช่กระทบต่อบุคคลเท่านั้น แต่หมายถึงการเปลี่ยนระบอบปกครองของรัฐทีเดียว พูดง่ายๆ คือ "กบฏ" นั่นเอง เป็นเรื่องของการปกป้องสถาบัน เพราะการประทุษร้ายนั้น หากกระทำต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งอาจเป็นสามัญชน ก็ต้องระวางโทษอย่างเดียวกัน

3. อันที่จริงการกำหนดให้บุคคลใน 4 ตำแหน่งได้รับความคุ้มครองตามลักษณะนี้ ก็ชัดอยู่แล้วว่ามุ่งไปที่การปกป้องสถาบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งพระราชินีก็ตาม รัชทายาทก็ตาม เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนั้นไม่ใช่ เพราะอาจปรับเปลี่ยนได้ตามพระราชอัธยาศัย การขยายความคุ้มครองไปยังผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ยิ่งชัดมากขึ้นว่า เป็นการคุ้มครองสถาบันไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์

4. การกำหนดว่า ใครๆ ก็สามารถแจ้งความเอาผิดกับผู้ละเมิดความผิดในลักษณะนี้ได้ โดยไม่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์, พระราชินี, รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เลย ก็เพราะความผิดลักษณะนี้เป็นความผิดต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดต่อบุคคล สอดคล้องกับการที่วางโทษไว้สูงในทุกมาตรา

ผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า ในทางสังคม เราแยกพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคลออกจากพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันได้ยาก แต่ในทางกฎหมายจำเป็นต้องแยกให้ชัด มิฉะนั้น กระบวนการยุติธรรม (นับตั้งแต่กล่าวหาไปจนถึงตัดสิน) ก็จะรวนเรหมด เช่น ลงโทษหนักเกินสัดส่วนแห่งความผิด


หากความเข้าใจผมไม่ผิด การดำเนินคดีใน ม.112 นับตั้งแต่ตำรวจ, อัยการ ขึ้นไปถึงศาล ต้องใช้บรรทัดฐานว่าข้อกล่าวหานั้นมุ่งไปที่การล้มเลิกระบอบปกครอง "ราชอาณาจักร" หรือไม่ "การหมิ่นประมาท, ดูหมิ่น, หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" ของผู้ต้องหา แม้เป็นการกระทำต่อบุคคล แต่มีเจตนาจะล้มเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเป็นเพียงการล่วงละเมิดต่อบุคคลเท่านั้น

การวินิจฉัยว่าคดีมีความร้ายแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้กระทำความผิดว่า มุ่งจะล้มล้างระบอบปกครองของรัฐหรือไม่ หากการกระทำนั้นไม่ส่อให้เห็นเจตนาดังกล่าว ในทัศนะของผม ก็ดำเนินคดีไม่ได้ตั้งแต่ขั้นตำรวจแล้ว (ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า)

อย่างคดีที่ คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยเผชิญมาทั้งหมดนั้น ผมคิดว่าไม่เข้าข่าย ม.112 สักครั้งเลย เพราะคุณสุลักษณ์ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนสืบเนื่องมาอย่างไม่เปลี่ยนแปลงว่า ประเทศไทยต้องเป็น "ราชอาณาจักร" และความเป็น "ราชอาณาจักร" นั้นให้ประโยชน์แก่ประเทศไทยมากกว่าไม่เป็น หากคุณสุลักษณ์จะทำผิดกฎหมายอาญามาตราอื่น เช่น ม.326 หรือ 328 นั่นก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง

อย่าว่าแต่คุณสุลักษณ์เลยครับ แม้คดี "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" (คำที่ไม่มีในกฎหมายนะครับ) อื่นๆ ที่ฟ้องร้องกันในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา หากเข้าใจ ม.112 เหมือนผม ตำรวจก็ไม่น่าจะรับแจ้งความมาแต่ต้นแล้ว เพราะไม่เข้าข่ายเสียเป็นส่วนใหญ่

ผมก็ไม่ทราบว่าข้อความที่ "อากง" ถูกกล่าวหาว่าส่งเอสเอมเอสนั้นคืออะไร แต่พฤติกรรมแค่ส่งเอสเอมเอสด้วยเงินส่วนตัวของคนที่ยากจนขนาดนั้น ย่อมไม่มีเจตนาที่จะล้มล้างระบอบปกครองของรัฐแน่ แม้ข้อความที่ส่งอาจ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ความผิดใน ม.112 อยู่นั่นเอง เพราะขาดองค์ประกอบสำคัญคือเจตนาที่จะล้มล้างระบอบปกครองของรัฐในฐานะ "ราชอาณาจักร"


ปัญหาที่ตามมาก็คือ ตามประมวลกฏหมายอาญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ (พระราชินี, รัชทายาท, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ในฐานะบุคคลไม่ได้รับความคุ้มครองจากการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น มากไปกว่าบุคคลทั่วไปเลย นั่นคือจะต้องฟ้องร้องกล่าวโทษตามกระบวนการแก่บุคคลที่กระทำเช่นนั้น บุคคลอื่นจะฟ้องร้องแทนไม่ได้

หมายความว่าพระมหากษัตริย์ แม้ในฐานะบุคคลก็ตาม ต้องลงมาสู้ความกับประชาชนในศาล อันไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวงแก่สถานะของประมุขประเทศ นอกจากนี้ยังดูไม่สอดคล้องกับมาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญด้วย เพราะห้ามมิให้ผู้ใดกล่าวโทษหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ แต่กลับเปิดให้พระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคลฟ้องร้องประชาชนได้ จึงดูไม่เป็นธรรม

ฉะนั้น จึงต้องจัดให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นโจทก์ในคดีหมิ่นประมาทแทนองค์พระมหากษัตริย์



กฎหมายหมิ่นประมาทสำหรับบุคคลทั่วไปยังมีข้ออ่อนอีกอย่างหนึ่งในการใช้กับองค์พระมหากษัตริย์ ประการแรกในฐานะบุคคลสาธารณะ ความที่ถือว่า "หมิ่นประมาท" ย่อมต้องจำกัดให้แคบลงเป็นธรรมดา ประการต่อมา ม.329 และ ม.330 จะยิ่งทำให้การต่อสู้คดีกระทบต่อพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันได้มาก

ในความเข้าใจของผม กฎหมายหมิ่นประมาทสำหรับองค์พระมหากษัตริย์โดยเฉพาะนั้น ยังไม่มีในประมวลกฎหมายอาญา และควรจะทำขึ้น

แต่จะต้องทำขึ้นด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. ต้องอิงกับหมวด 3 ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดโทษ, หรือน้ำหนักความร้ายแรงของคดี

2. ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฟ้องร้องแทนพระมหากษัตริย์ ในบางประเทศ ครม. ยังประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงวัง (หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ในทางการเมือง การดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานประเภทนี้

ในเมืองไทยควรเป็นหน่วยงานใด หรือต้องสร้างหน่วยงานขึ้นใหม่คงเถียงกันได้ แต่ผมมีความเห็นส่วนตัวดังนี้คือ หน่วยงานนั้นต้องไม่ใช่หน่วยงานที่พระมหากษัตริย์ทรงรับผิดชอบโดยตรง เช่น องคมนตรี, สำนักพระราชวัง, หรือกองงานในพระองค์ ที่เหมาะที่สุดควรเป็นฝ่ายการเมือง เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องใช้วิจารณญาณทางการเมืองโดยแท้ มีอำนาจตัดสินใจได้ว่า ควรหรือไม่ควรอนุญาตให้ดำเนินคดีในกรณีใดบ้าง บางกรณีไม่ดำเนินคดีกลับจะช่วยปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้มากกว่า ก็ไม่อนุญาตให้ตำรวจ อัยการดำเนินคดี นี่เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อสภาฯ และประชาชน

ยิ่งกว่านี้ หน่วยงานนี้ยังต้องรับผิดชอบต่อคำวิพากษ์วิจารณ์สถาบันและองค์พระมหากษัตริย์ทั้งหมด อธิบาย, ชี้แจง, ตอบโต้, ฟ้องร้อง, หรือถูกฟ้องร้อง แทนองค์พระมหากษัตริย์ จะเลือกวิธีใดก็เป็นวิจารณญาณทางการเมืองที่ต้องคิดให้ดี เพื่อปกป้องสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ตามรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าย่อมเป็นหน่วยงานที่จะถูกโจมตีทั้งในและนอกสภาแทนองค์พระมหากษัตริย์ด้วย

รัฐมนตรีที่ดูแลหน่วยงานนี้อาจถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา เพราะปกป้องสถาบัน อย่างโง่ๆ คือจับดะ, ฟ้องดะ, ปิดดะ, จนทำให้สถาบัน ถูกดูหมิ่นจากนานาชาติ เป็นต้น

โดยสรุปก็คือ หากไม่อยากแก้ ม.112 เลย ก็ต้องทำความเข้าใจว่า ม.112 ไม่ใช่กฎหมายหมิ่นประมาท แต่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของ "ราชอาณาจักร" การละเมิดกฎหมายมาตรานี้มีความร้ายแรงเท่ากับกบฏภายในพระราชอาณาจักร จึงไม่ใช่ความผิดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ส่วนกฎหมายหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์นั้นยังไม่มี และต้องทำขึ้น ด้านหนึ่งให้สมพระเกียรติยศ

แต่อีกด้านหนึ่ง ทำให้ทุกฝ่ายต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองต่อการกระทำหรือไม่กระทำของตนเองไปพร้อมกัน



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ชมภาพชุด การเดินขบวน "อภยยาตรา" รณรงค์ให้สังคมรับรู้ปัญหาของคดี "อากงส่งเอสเอ็มเอส"
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323532822&grpid=01&catid=&subcatid=
เช่น ...




การชุมนุมของ "เครือข่ายอากง" ที่จ.เชียงใหม่




.