.
มองบ้านผมเอง
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 25
พาผู้อ่าน มองบ้านมองเมืองมานาน มองทั่วบ้านทั่วเมืองมาแล้ว คราวนี้ขออนุญาตมองบ้านตัวเอง ด้วยเหตุว่า ช่วงภัยพิบัติที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปดูบ้านดูเมืองได้
บ้านหลังนี้ หนุ่มเมืองจันท์เคยพูดถึงนานมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากนัก
แค่เล่าเรื่องแปลกว่า สถาปนิกออกแบบให้นกบินผ่านบ้านได้เท่านั้น
บ้านหลังนี้ อยู่ตรงถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เคยเล่าไปแล้วว่า ถนนใหม่สายนี้แบ่งหมู่บ้านเก่าออกเป็นสองฟาก จากหมู่บ้านที่เงียบสงบและลี้ลับ กลายเป็นย่านร้านอาหาร บาร์เหล้าที่คึกคักและวุ่นวาย เนื่องจากอยู่ใกล้กับเขตธุรกิจสาทรและสีลม
บ้านหลังนี้ เดิมเป็นอาคารสงเคราะห์ เป็นบ้านจัดสรรรุ่นแรกของไทย บ้านจึงเก่า และระดับบ้านจึงต่ำกว่าถนนทั่วๆ ไป
ตอนที่ย้ายเข้ามาอยู่เมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น ทุนทรัพย์หมดพอดี ไม่มีปัญญารื้อบ้านเก่าสร้างบ้านใหม่ เลยได้แต่ซ่อมแซมให้พออยู่ได้ โดยสิ่งแรกที่คิดคือ แก้ปัญหาน้ำท่วม
ด้วยความรู้ที่เรียนมา จึงออกแบบคันกั้นน้ำรอบบ้าน ใช้ความรู้ด้านการออกแบบ เปลี่ยนแนวกำแพง เป็นธรณีประตูขนาดใหญ่บ้าง ยกพื้นเฉลียงให้สูงบ้าง ก่ออิฐทำม้านั่งบ้าง กลายเป็นเขื่อนที่ดูสวยงามและใช้สอยได้
ที่สำคัญ ทำให้มั่นใจว่าสู้ภัยน้ำท่วมได้แน่ๆ
และแล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด คงจะเป็นปี พ.ศ.2538 หลังจากที่ฝนตกหนักต่อเนื่องกันมาหลายวัน น้ำในท่อระบายน้ำจึงเอ่อล้นขึ้นมาท่วมถนนในหมู่บ้าน คืบคลานเข้ามาในรั้วบ้าน และในที่สุด ก็ท่วมไปทั่วทั้งบริเวณ
ความภูมิใจในความสามารถของตนเองหมดไป เมื่อมีน้ำผุดขึ้นมากลางบ้าน จากรูระบายน้ำที่พื้นห้องครัวและห้องน้ำ และจากรอยร้าวของพื้นบ้านเดิมที่กระเบื้องเซรามิกปิดบังไว้
น้ำเริ่มถ่ายเทตามหลักวิทยาศาสตร์จนได้ระดับเดียวกับน้ำภายนอกบ้าน
จำได้ว่า น้ำหลากมาตอนห้าโมงเย็น เริ่มซึมเข้าบ้านตอนทุ่ม พอห้าทุ่มน้ำบนถนนในรั้วบ้าน ระบายลงท่อ ลงคลองช่องนนทรี ลงเจ้าพระยาไปหมดแล้ว เหลือแต่น้ำในบ้านที่ยังคงอยู่เต็มเท่าเดิม
เขื่อนที่สร้างไว้แข็งแรง จนไม่ยอมให้น้ำออก เจ้าของบ้านต้องระดมผู้คนวิดน้ำออกจนถึงตีสามตีสี่
จำได้ว่า ก่อนหลับตานอนด้วยความอ่อนล้า สัญญากับตัวเองว่า บ้านที่จะสร้างในวันข้างหน้า ต้องเปลี่ยนยุทธวิธีสู้กับน้ำ
บ้านใหม่หลังนี้ จึงเป็นบ้านสองชั้นแต่สูงยี่สิบสามเมตร แบบว่า สูงสุดตามที่เทศบัญญัติจะอนุญาต โดยคิดเผื่อว่า ถ้าเกิดเหตุเภทภัยดังคำทำนายว่า ทะเลจะหนุน ไปจนถึงลพบุรี เจ้าของบ้านก็คงดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะระดับห้องนอนอยู่ที่ระดับยี่สิบเมตร ระดับเฉลียงพักผ่อนอยู่ลงมาที่ระดับสิบเจ็ดเมตร
ส่วนน้ำท่วมประจำปี ก็ออกแบบให้ชั้นล่างระดับถนน เป็นเพียงพื้นที่โล่ง แค่จอดรถและวางสมบัติไร้ค่า ห้องครัว ห้องแม่บ้าน ก็ยกระดับเหนือขึ้นไปอีกชั้น แม้แต่ลิฟต์ ก็ให้หยุดตรงชานพักก่อนถึงชั้นล่าง
นับแต่นั้นมา ไม่ว่าน้ำฝนเท น้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุนอย่างใด ก็ไม่มีปัญหา เพราะยอมให้น้ำไหลเข้ามาทางไหน ก็ออกไปทางนั้น ไม่ปกป้อง ไม่ขัดขืน ยอมอ่อนโอน
ตอบรับและนอบน้อม
ที่สำคัญ ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะไม่มีอะไรจมน้ำ ยกเว้นต้องล้างพื้นให้สะอาดเท่านั้น
ตอนที่สร้างเมื่อสิบปีที่แล้วนั้น งบประมาณมีจำกัด ชั้นที่อยู่เหนือจากห้องครัว ไปจนถึงชั้นที่เป็นเฉลียงพักผ่อน จึงโล่ง ไม่มีพื้น ไม่มีเพดาน ไม่มีผนัง เป็นที่มาของบ้านที่นกบินผ่านได้ กลายเป็นบ้านประหลาดที่ช่างก่อสร้างขอสิทธิไปแนะนำออกรายการตามไปดูคนที่ผ่านไปมามักจะจอดรถดูบ้าน พร้อมกับความฉงนว่าทำไม
หลายปีต่อมา เมื่อมีทุนทรัพย์พอ จึงเติมพื้น เพดาน ผนัง หน้าต่าง จนชั้นที่เคยโล่ง กลายเป็นห้องพักให้เช่า เป็นทุนทรัพย์ไว้ดูแลตนเองในปีหน้าที่จะเกษียณราชการ
บ้านที่โล่งโปร่ง แม้จะกลายเป็นห้องพัก แต่ก็ยังเปิดช่องให้นกบินผ่านได้อยู่ดี แต่ที่ภูมิใจ ก็ตอนที่กองทัพน้ำจากทางเหนือบุกภาคกลาง บ้านหลังนี้ยังไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด
ที่สำคัญ ช่วยตอบคำถามที่คาใจผู้คนมาเนิ่นนาน
++
สถาปัตยกรรมแนวใหม่
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 75
สวนเกษตรของคนไทยที่ทำกันตลอดมา คือ การยกร่องสวนหรือขุดคูน้ำ อันเนื่องมาจากพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางมีระดับต่ำ เมื่อน้ำเหนือหลาก น้ำฝนตก และน้ำทะเลหนุนจะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ การขุดคูน้ำก็จะได้ดินมาถมที่ให้สูง ให้พืชพันธุ์ไม้อยู่รอดและเจริญเติบโต พื้นที่ไหนสูงคูน้ำจะตื้นและแคบ แต่ถ้าพื้นที่ไหนต่ำมาก คูน้ำก็จะลึกและกว้างมากขึ้น
วิธีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างชาญฉลาดนี้ ยังส่งผลให้ตะกอนที่มาจากน้ำท่วมตกค้างอยู่ในท้องร่อง เมื่อรวมกับหน้าดินที่ทลายไหลลงก็กลายเป็นปุ๋ยชั้นดี
การขุดลอกยกร่องสวนใหม่ จึงเป็นกิจกรรมประจำปีของชาวสวน พืชพันธุ์ไม้ล้วนเจริญงอกงาม ออกดอกออกผลตามฤดูกาล
ยังไม่นับการปล่อยปลาเลี้ยงสัตว์น้ำในท้องร่อง ที่เสมือนเป็นตลาดสดหรือตู้เย็นประจำบ้าน สามารถจับหามาประกอบอาหารได้ทุกวัน
คงเป็นเพราะวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ ปัจจุบัน ไม่ได้พึ่งพาผลไม้พืชผักจากสวนหรือสัตว์น้ำจากท้องร่อง เพราะการซื้อหาจากซูเปอร์มาเก็ตหรือซูเปอร์สโตร์ง่ายกว่ามาก
คนกรุงเทพฯ จึงลืมภูมิปัญญาชาวบ้าน และผจญกับปัญหาน้ำท่วมขังอย่างน่าสงสาร
หลังน้ำท่วมใหญ่คราวนี้ ใครคิดจะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คงต้องคิดใหม่ทำใหม่ ใช้หลักการเดียวกันกับร่องสวน
การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่อไป หากจะถมที่ยกระดับบ้านให้สูง ต้องไม่เอาดินจากแหล่งอื่นมาถม หากใช้ดินที่ขุดขึ้นมาในพื้นที่บริเวณบ้านเท่านั้น ระดับที่จะสูงต่ำเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ให้ขุดบ่อน้ำลึก
ทุกบ้านจึงมีบ่อน้ำสำหรับระบายน้ำ และรองรับน้ำฝน เป็นเสมือนแก้มลิงตามพระราชดำริ
รูปแบบบ้านเรือนคงจะเปลี่ยนไป ภูมิทัศน์บ้านเมืองคงจะแปลกตา ผังเมืองคงจะต่างไปจากปัจจุบัน
นักวิชาการอาจอ้างได้ว่า ปฏิบัติตามทฤษฎีฝรั่งเรื่องความยั่งยืน Sustainable สถาปัตยกรรมสีเขียว Green Architecture หรือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นก็คงได้ รวมทั้งเป็นการสร้างอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมในประเทศไทย
คงต้องเริ่มต้นที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยเพิ่มกฎระเบียบควบคุมการก่อสร้างอาคาร นอกจากแนวถอยร่นอาคาร สัดส่วนอาคารคลุมดิน สัดส่วนพื้นที่อาคารรวมแล้ว ต้องเพิ่มสัดส่วนพื้นที่แก้มลิงหรือบ่อหน่วงน้ำ
ที่สำคัญต้องเน้นระบบระบายน้ำให้ชัดเจน ไม่คิดเฉพาะพื้นที่บ้าน โดยไม่สนใจว่าจะไปเชื่อมต่อได้อย่างไร
กรุงเทพมหานคร จะต้องกำหนดพิกัดและระดับพื้นที่มาตรฐาน ไม่ปล่อยให้เกิดสงครามถมที่ ที่แต่ละบ้านผลัดกันแพ้ชนะ จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งบ้านแห้งกับบ้านจมน้ำ
หมู่บ้านแห้งกับหมู่บ้านจมน้ำ ที่จะนำไปสู่ปัญหาชนชั้น (ถมดิน) สูง กับชนชั้น (ถมดิน) ต่ำ ที่สำคัญ เวลาเกิดเหตุน้ำท่วม จะได้ไม่ต้องเปิดฮอตไลน์ ถามระดับน้ำท่วมกันให้สับสนวุ่นวาย
สมาคมสถาปนิกสยามฯ ต้องปรับแนวคิดบรรดาสมาชิก เลิกเชิญสถาปนิกดาราต่างด้าวมาบรรยายประจำปี หากเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาแนะนำวิถีไทยแทน มุ่งหาวิธีออกแบบที่ไม่สร้างปัญหาหรือได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จะได้ไม่มีอาคารสำนักงานหรู โรงแรมหรา บนถนนสีลม ที่สร้างกำแพงกันน้ำโง่ๆ หน้าอาคารให้อายนักท่องเที่ยว
ที่สำคัญ โรงเรียนสถาปัตย์ในเมืองกรุง จะต้องปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพราะถ้ายังสอนออกแบบด้วยวิธีเดิมๆ ต่อให้ได้เกรด Leed และผ่านมาตรฐานอเมริกัน คนกรุงเทพฯ ก็จะเจอะเจอปัญหาน้ำท่วม กรุงเทพฯ ก็จะจมน้ำเป็นเดือน
ประเทศชาติก็จะย่อยยับอีกต่อไป
++++
บทความของปีที่แล้ว ( 2553 )
ราชประสงค์ที่เคยหายไป
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1576 หน้า 70
ข่าวป้ายสี่แยกราชประสงค์หายไป เคยเป็นเรื่องใหญ่ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันหลายเรื่องหลายประเด็น ในฐานะที่นำพาไปมองบ้านมองเมืองเป็นประจำ จึงขออนุญาตมองย้อนอดีต
อันที่จริง ราชประสงค์นั้นหายไปนานแล้ว เพราะราชประสงค์เป็นชื่อของสะพานข้ามคลองราชดำริ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าหายไปเมื่อไหร่ แต่เดาได้ว่า หายไปเมื่อมีการขยายถนนพระรามหนึ่ง ถนนเพลินจิต และถนนราชดำริให้กว้างขวางเช่นในปัจจุบัน เดิมทีนั้น ถนนสองสายคือ พระรามหนึ่งและเพลินจิต ถูกแบ่งกั้นด้วยแนวคลองราชดำริที่คู่ขนานกับถนนราชดำริ
คลองราชดำริ เป็นคลองระบายน้ำ เชื่อมต่อคลองแสนแสบกับคลองสีลม ที่เริ่มจากศาลาแดง ไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบางรัก เช่นเดียวกับถนนราชดำริ ที่เริ่มต้นทางตอนใต้เชื่อมต่อกับถนนสีลม ขึ้นเหนือถนนพระรามหนึ่งและถนนเพลินจิตไปถึงสะพานเฉลิมโลก 55 เชื่อมกับถนนราชปรารภที่ขึ้นเหนืออ้อมซ้ายไปจนถึงถนนพญาไท ที่ปัจจุบันเป็นวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วตัดตรงไปตามถนนราชวิถี
ถ้าหากเชื่อมต่อถนนทั้งสี่สายที่กล่าวถึง คือ ถนนราชวิถี ที่เริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือ ตรงสะพานซังฮี้ (ชื่อเดิมของถนนราชวิถี) แล้ววนอ้อมมาถนนราชปรารภ ลงใต้ตามถนนราชดำริไปเชื่อมต่อกับถนนสีลมจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา แนวถนนโค้งดังกล่าว จะคู่ขนานกับคลองผดุงกรุงเกษม คลองคูเมือง (คลองบางลำภูและคลองโอ่งอ่าง) และคลองคูเมืองเดิมที่อยู่ชั้นในสุด
คลองทั้งสามที่กล่าวถึงนั้น ล้วนมีความสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองของกรุงเทพฯ ด้วยเป็นแนวเขตพระนครเดิม เริ่มจากคลองคูเมืองเดิมนั้น เป็นแนวเขกรุงธนบุรีเมื่อครั้งเป็นราชธานีของไทย ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ย้ายพระนครมาฝั่งกรุงเทพฯ ราชธานีจึงมีการขุดคลองคูเมือง (ใหม่)
พอถึงสมัยรัชกาลที่ 4 บ้านเมืองเจริญ ผู้คนเพิ่มมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม เป็นทั้งแนวป้องกันข้าศึกและแนวเส้นทางสัญจร มาถึงรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง แม้เส้นทางน้ำเริ่มเสื่อมความนิยม และถนนเข้ามาแทนที่ แต่ก็ยังมีคลองเพราะเป็นที่มาของดินถมถนน ดังเช่นถนนสีลม ถนนราชดำริ และอีกหลายๆ คลอง ที่ต่อมาถูกถมเพื่อขยายผลจราจร
จะเห็นว่า แนวถนนสีลม ราชดำริ ราชปรารภ และราชวิถี จึงเป็นแนวเขตเมืองใหม่ในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่แสดงถึงการเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับถนนรัชดาภิเษก และกาญจนาภิเษก เป็นแนวเขตเมืองในรัชกาลปัจจุบัน
กลับมาบริเวณจุดตัดถนนราชดำริ กับถนนพระรามที่หนึ่งและถนนเพลินจิต ที่เดิม มีคลองราชดำริกั้นอยู่ เพื่อให้ถนนทั้งสามสายเชื่อมต่อกัน จึงเป็นที่มาของสะพานราชประสงค์
การถมคลองราชดำริในเวลาต่อมา สะพานราชประสงค์จึงหมดหน้าที่ไป และหายไป มีคำเรียกขานใหม่ว่า สี่แยกราชประสงค์ ที่กลายเป็นย่านการค้าธุรกิจ บันเทิง การท่องเที่ยว และโรงแรม
เริ่มจากการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ (ต้นกำเนิดของท้าวมหาพรหม) ปัจจุบันเป็นโรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ ต่อเนื่องกับอัมรินทร์พลาซ่า ศูนย์การค้าราชประสงค์ ที่เป็นเพียงห้องแถวสองสามแถว ล้อมห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทย คือ ไดมารู พื้นที่ไม่ได้ใหญ่โตนัก น่าจะเท่ากับลานเอนกประสงค์หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน ศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ มาแทนที่ศูนย์การค้าราชประสงค์ โดยขยายพื้นที่ครอบคลุมวังเพชรบูรณ์เดิม ไปจนถึงวัดปทุมวนาราม เขต (ที่มีคนไม่) อภัยทาน และกลุ่มศูนย์การค้าตระกูลสยาม ยังมีย่านบันเทิงเกษร ที่ปัจจุบันหายไป กลายเป็นศูนย์การค้าเกสร ที่ต่อเนื่องกับโรงแรมและศูนย์การค้าของครอบครัวศรีวิกรม
เอาเป็นว่า ถ้าใครที่เคยโวยวายเรื่อง (สะพาน) ราชประสงค์หายไปไหน ก็ต้องโทษคนที่ถมคลองราชดำริ ส่วนคนที่เคยโวยวายเรื่องป้ายสี่แยกราชประสงค์หายไปไหน ก็คงรู้แล้วว่า กทม. ถอดไปทำความสะอาดแค่นั้นเอง (ฮา)
++++
ราชประสงค์
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1577 หน้า 73
ขออนุญาตพาไปมอง ราชประสงค์ อีกครั้ง ด้วยกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งใหม่ของไทย
การชุมนุมประท้วง เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมาที่เริ่มต้นกันตั้งแต่ สนามหลวง ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และลานพระบรมรูปทรงม้านั้น สถานที่ดังกล่าว ล้วนถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ และเป็นพื้นที่สาธารณะ เหมาะแก่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนตลอดมา
แม้ว่า ลานพระบรมรูปทรงม้า จะเหมาะสมในด้านพื้นที่ที่มีขนาดกว้างขวาง แต่เมื่อถูกล้อมรอบด้วยเขตพระราชฐาน ทำให้การเข้าถึง (หรือการกระจายออก) เป็นไปได้ยากจึงมักใช้สำหรับการชุมนุมชั่วคราว
หากเป็นการชุมนุมยืดเยื้อ ทำเลถนนราชดำเนิน จะเหมาะสมกว่า เพราะมีแนวอาคารขนาบสองข้าง ที่เสมือนกำแพงกั้นคุ้มภัยผู้ชุมนุม และช่วยสะท้อนเสียง ให้ก้องกังวาน สร้างความระทึกใจ ในขณะที่ ช่องว่างระหว่างอาคารและแนวถนนหลังอาคารที่มีอยู่เสมือนเป็นทางเข้าออก ส่งกำลังบำรุง กำลังกองหนุน และทางฉุกเฉินเมื่อต้องกระจายตัว ยังมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่จะใช้สื่อสัญลักษณ์ ตามแต่ผู้นำจะอ้างอิง
สรุปได้ว่า มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเจริญก้าวหน้า ข่าวสารเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เหตุการณ์บ้านเมืองไทยรับรู้ไปทั่วโลก ข่าวการชุมนุมต่อต้านในกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ผู้ประท้วงจำต้องหาสถานที่ใหม่ที่เข้ากับยุคสมัย
ทุกวันนี้ ชาวต่างชาติรู้จักพื้นที่บริเวณราชประสงค์ ในฐานะที่เป็นย่านการค้า ย่านโรงแรม ย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน อีกทั้งพื้นที่ถนนกว้างขวาง รองรับ
จำนวนผู้ชุมนุมได้ไม่แพ้ถนนราชดำเนิน อาคารศูนย์การค้าและโรงแรมทั้งสองฝั่งถนน ก็ทำหน้าที่คล้ายกันคือเป็นทั้งแนวกำแพงป้องกันและสะท้อนเสียง ทางบริการระหว่างอาคาร รวมทั้งส่วนบริการในศูนย์การค้าทั้งหลาย เป็นทั้งทางส่งกำลังบำรุงและทางออกฉุกเฉิน
ประการสำคัญอยู่ในแนวระบบขนส่งมวลชน ที่รับส่งผู้ชุมนุมแบบชั่วคราวได้ตลอดทั้งวัน ยันเที่ยงคืน
สำหรับเวทีหรือศูนย์กลางของการชุมนุม การเลือกเอาแนวรถไฟฟ้าและทางเดินเท้าสกายวอล์คที่ซ้อนทับกันหลายชั้น ดูจะเป็นสัญลักษณ์ที่ทันสมัย สะท้อนการเคลื่อนไหว และฉายภาพโลกใหม่ของไทย ยังไม่นับขบวนรถไฟฟ้าที่วิ่งไปมา คล้ายจะช่วยเพิ่มกระแสพลังให้กับผู้คนด้านล่าง
ภาพลักษณ์ของการชุมนุมตรงราชประสงค์ที่แพร่ออกไปทั่วโลก ยังประกอบด้วยแสงไฟกระพริบของป้ายโฆษณา เงาสะท้อนของแสงสีบนผนังกระจก ทำให้ดูคึกคักไม่แพ้ ไทม์สแควร์นิวยอร์ก
ภาพรถไฟลอยฟ้าที่วิ่งไปมา ทำให้นึกถึง ชิคาโกหรือซิดนีย์
ทางเดินยกระดับ ทำให้นึกถึง สิงคโปร์หรือฮ่องกง
อาคารศูนย์การค้าทั้งหลาย ดูละม้ายคล้ายกับ ปารีสหรือลอนดอน
คงไม่แปลก หากการชุมนุมทางการเมืองครั้งต่อไป จะเป็นที่ราชประสงค์อีกทาง กทม. คงจำเป็นต้องติดตั้งแปรงทำความสะอาดป้ายแบบถาวร เหมือนที่ปัดน้ำฝนรถยนต์
จะได้ไม่ต้องถอดป้ายไปทำความสะอาด ให้กลายเป็นข่าวลือต่างๆ มากมาย (ฮา)
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย