http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-22

"บก.ลายจุด" หนุนเวทีถกเถียง ม.112, "ปวิน" ถาม "ผบ.ทบ." ไล่คนออกนอกประเทศแล้วจะแก้ปัญหาได้หรือ?

.
มีโพสต์ถัดไป " ความเป็นไทยคล้ายมนุษย์ต่างดาว " โดย ปราปต์ บุนปาน ที่อ้างอิงกลอนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ
_________________________________________________________________________________________________________

วันที่ 20ธ.ค. ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า . . กรณีที่มีกลุ่มคนออกมาเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 นั้น ถ้าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ก็ไม่ควรพูดถึงและไม่อยากให้เลยเถิด หากคิดว่ากฎหมายไทยไม่เท่าเทียม หรือรุนแรง ก็ให้ไปอยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ขอให้คนไทยเลิกทะเลาะกัน ไม่ควรขัดแย้งภายในเพื่อสร้างความเข้มแข็ง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *



"บก.ลายจุด" หนุนเวทีถกเถียงมาตรา112 – แย้งผบ.ทบ.สั่งหุบปาก อาจยิ่งบานปลายเป็นปัญหาสากล
จากมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:05:00 น.


นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ระบุว่าไม่ควรพูดถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และหากใครรับไม่ได้กับมาตรานี้ก็ควรไปอยู่ต่างประเทศ ว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ และส่วนตัวเห็นว่าการอภิปรายถึงกฎหมายนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพราะขณะนี้มีคนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก กลายเป็นข้อถกเถียงเยอะ ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมวัฒนธรรม ในขณะที่กฎหมายแต่ละฉบับ จะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

"กฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นอีกมาตราที่น่าถกเถียงระหว่างคนที่คิดแตกต่าง ไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะมีการแก้ไขหรือไม่ เพราะหากขาดการอภิปรายให้เห็นปัญหาที่สะสมมานาน ก็จะมีสภาพเหมือนกระสอบทรายคันกั้นน้ำที่กั้นน้ำไว้สูงจนเกินไป สักวันก็จะล้มระเนระนาด น้ำทะลักแรงกว่าปกติ ผมมองเรื่องนี้อยู่ว่าต้องเปิดโอกาสให้คนคุยเรื่องหลักการจะเป็นประโยชน์ต่อทุกสถาบันและทุกฝ่าย แต่หากจะมาไล่จับกัน ก็อาจไม่เป็นเพียงเรื่องภายในประเทศอีกต่อไป เพราะจะกลายเป็นเรื่องระดับสากล ผบ.ทบ. ควรจะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ปกติ แม้แต่ทูตสหรัฐ ยังมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน" นายสมบัติกล่าว



++

"ปวิน" ถาม "ผบ.ทบ." ไล่คนออกนอกประเทศแล้วจะแก้ปัญหาได้หรือ ?
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:30:00 น.


"ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์" นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ สนทนากับ “มติชนออนไลน์” กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เห็นว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นสิ่งไม่ควรพูดถึงและหากใครรับไม่ได้กับมาตรานี้ก็ควรไปอยู่ต่างประเทศ


อาจารย์คิดว่า การไม่พูดถึงมาตรา 112 จะทำให้สังคมมีเอกภาพ ได้จริงหรือไม่ หรือมีผลแง่บวก-แง่ลบอย่างไร

ผมไม่เชื่อว่าจะทำให้สังคมมีเอกภาพ ท้ายที่สุดสังคมยังถูกปิดปากอยู่ดี และประชาชนยังไม่สามารถแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาได้ ผมเห็นมีแต่แง่ลบเท่านั้น เรื่องมาตรา 112 และ กฎหมายหมิ่นฯ มันมาถึงจุดวิกฤต และหากเราไม่เปิดใจพูดกันวันนี้ นอกจากจะทำให้สังคมมีความแตกแยกมากขึ้นแล้ว ยังจะส่งผลต่อสถาบันโดยตรงด้วย


อาจารย์อยู่ต่างประเทศอยู่แล้ว เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 หรือไม่ ในแง่ไหน การไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ทำให้ปลอดภัยจากมาตรานี้หรือไม่

ใครก็ตามที่อยู่ต่างประเทศก็ยังได้รับผลกระทบจากกฎหมายหมิ่นฯ อยู่ดี ดูอย่างกรณี Joe Gordon เพียงแค่แปลและโพสต์หนังสือเล่มนั้นออนไลน์ ไม่ได้ดูหมิ่นใคร ก็ยังถูกจับ เราไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก ดังนั้น ถึงผมจะอยู่ต่างประเทศ ผมก็ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้


การออกนอกประเทศ ควรจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่คิดเห็นแตกต่าง จากการบัญญัติเนื้อหาและวิธีพิจารณา คดีอาญามาตรา 112 หรือไม่

เป็นความคิดและข้อเสนอที่ทุเรศที่สุดตั้งแต่ผมทำแคมเปญเรื่องนี้ ใครมีสิทธิมาไล่พวกเราออกนอกประเทศ เราก็เป็นเจ้าของประเทศเช่นเดียวกัน และจริงๆ แล้ว ไล่คนออกนอกประเทศแล้วจะแก้ปัญหาได้หรือ เพราะการแสดงออกความเห็นจากต่างประเทศก็ยังถูกไล่ล่าอยู่ดี


อาจารย์คิดว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค ต่อการอยู่ร่วมกันด้วยการยอมรับความคิดอันแตกต่างหลากหลายในสังคมไทย

จุดอยู่ที่ว่า หลายๆ คนใช้สถาบันเป็นเครื่องมือในการปกป้องผลประโยชน์ของตนในหลายๆ ด้าน กฎหมายหมิ่นฯ จึงมีขึ้นเพื่อใช้ปกป้องผลประโยชน์เหล่านั้น หากคิดเช่นนี้ เราก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะพวกเขาคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าความอยู่รอดของสังคมและสถาบัน


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"ปวิน" สวน ผบ.ทบ. แนะให้คนต้านปฏิรูป ม.112 ไปอยู่ต่างประเทศหรือดาวเคราะห์ดวงอื่น
จากมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 00:25:25 น.

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. แสดงความไม่เห็นด้วยกับกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และพูดถึงบางฝ่ายที่อ้างว่าต่างประเทศมีการแก้ไขกฎหมายลักษณะดังกล่าวว่า "ก็ให้เขาไปอยู่ต่างประเทศก็แล้วกัน" นั้น

ล่าสุด นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ผู้ริเริ่มโครงการ "ฝ่ามืออากง" และรณรงค์ให้มีการปฏิรูปแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อปกป้องสถาบันเบื้องสูงอย่างแท้จริง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า " ในฐานะที่เป็นหนึ่งในแกนนำขับเคลื่อนให้มีการปฏิรูปกฏหมายมาตรา 112 ผมขอประกาศตรงนี้ว่า ใครไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์นี้ ขอให้ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ หรือดาวนพเคราะห์ดวงอื่น อย่าทำตัวเป็นสิ่งปฏิกูลของประชาธิปไตยในประเทศนี้เลยครับ "



+++

ความเป็นไทยคล้ายมนุษย์ต่างดาว
โดย ปราปต์ บุนปาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


"สังคมใดนับถือธรรมเนียมของตนอันสืบต่อมาแต่หลัง ย่อมทำให้ฐานะของสังคมนั้นแข็งแรงและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การยึดมั่นและปฏิบัติประการใดๆ ก็ดี หากเป็นไปในทางที่จะยกย่องธรรมเนียมแห่งสังคมของตนแล้ว ย่อมเป็นกำลังสำคัญที่จะยืดอายุให้แก่อารยธรรมแห่งสังคมนั้น...ธรรมเนียมดังว่านี้ท่านผู้ใหญ่ท่านลงทุนไว้หนักหนาที่จะสร้างขึ้นไว้ ฉะนั้น หากการดำรงธรรมเนียมเหล่านี้จะเป็นเหตุให้หมดเปลืองไปสักเพียงไร ก็ต้องยอมสละให้จงได้"

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในบทความชิ้นสำคัญซึ่งนิพนธ์โดย "พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร" หรือ "พระองค์เจ้าธานีนิวัต"

อันมีพลังอย่างสูงต่อการอธิบาย-ทำความเข้าใจ "สังคมการเมืองไทย" หรือ "ความเป็นไทยกระแสหลัก" นับแต่ช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา

แม้คนรุ่นหลังจะไม่รู้จักพระองค์ธานีฯมากนัก และงานเขียนของพระองค์อาจเริ่มลดอิทธิพลลง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับบริบท ชุดคำอธิบาย รวมถึงชุดคำถามของสังคมสมัยใหม่

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ แม้งานเขียนของพระองค์ธานีฯจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของขนบธรรมเนียมประเพณีไทยแต่โบราณ ซึ่งสืบทอดมาจากความเชื่อพราหมณ์-พุทธ

ทว่า สำหรับข้อความที่ปรากฏตรงตอนต้นคอลัมน์ พระองค์ธานีฯกลับทรงอ้างอิงมาจากผลงานวิชาการของ "โบรนิสลาฟ มาลินอฟสกี้" นักมานุษยวิทยาคนสำคัญใน "โลกตะวันตก" ยุคร่วมสมัยกับพระองค์

เมื่อพิจารณาในแง่นี้ "ความเป็นไทย" จึงมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว

หากบางครั้งก็ต้องพึ่งพาพลังของคำอธิบายระดับ "สากล" บางประการ

โดยที่ผู้สร้างคำอธิบายชุดดังกล่าว อาจมิได้มีความรู้ความเข้าใจในสังคมไทยอย่างเฉพาะเจาะจงและถ่องแท้ลึกซึ้งแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามที่จะแบ่งแยก "ความเป็นไทย" ออกมาจาก "หลักการสากล" สำคัญๆ เช่น หลักสิทธิมนุษยชน

ยังอาจส่งผลทำให้ "ความเป็นไทย" มีพลานุภาพลดน้อยถอยลง

อันเนื่องมาจาก "ความแปลกแยกตัดขาด" ออกจากวิถีสามัญปกติที่มนุษย์ในสังคมโลกยุคนั้นๆ ยึดถือ


"ความเป็นไทย" จึงเต็มไปด้วย "กระบวนการปรับประสานต่อรอง"

ทั้งระหว่างปัจจัย ความคิด "ภายใน" สังคมไทยเอง กับปัจจัย "ภายนอก" อันเป็น "สากล" ดังได้กล่าวไปแล้ว

ตลอดจนการเจรจาถกเถียงอย่างมีเหตุผลและสันติ

ระหว่าง "คนไทย" ผู้มีทรรศนะต่อ "ความเป็นไทย" ผิดแผกแตกต่างกัน

ไม่ใช่การมองอีกฝ่ายหนึ่งเป็น "ศัตรู"

หรือเป็น "คนนอก" ไม่ใช่ "คนใน" และสมควรไปอยู่ต่างประเทศ

มิฉะนั้น อาจถูกสวนกลับมาว่า "ให้ย้ายไปอยู่ดาวนพเคราะห์ดวงอื่น" ได้เหมือนกัน

นี่ก็ทำให้นึกถึงวรรคหนึ่งในกลอนของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 18 ธันวาคม ที่ว่า

"ความเป็นไทยคล้ายมนุษย์ต่างดาว"

ขึ้นมาตะหงิดๆ



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ถ้อยคำข้างต้น "ความเป็นไทยคล้ายมนุษย์ต่างดาว " มาจากกลอนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ
จากมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16:00:00 น.

คนทั้งโลกมองเห็นเป็นสีดำ
แต่เจ้ากรรมมองเห็นเป็นสีขาว
ความเป็นไทยคล้ายมนุษย์ต่างดาว
ไม่เหมือนชาวโลกนี้ที่เป็นคน

สุจิตต์ วงษ์เทศ



.